“จุติสถาน ๖” คือ สถานที่ดวงจิตละสังขารแล้วไปจุติทั้ง ๖ ประเภท

ในห้อง 'ภพภูมิ-สวรรค์ นรก' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 29 กันยายน 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,896
    เมื่อสัตว์ (ชีวิตินทรีย์ที่มีจิต) ตายลงจิตดวงสุดท้ายในภพนั้นๆ เรียกว่า “จุติ จิต” คือ จิตที่จะเกิดการเคลื่อนออกจากร่างนั้นๆ ปกติแล้ว “จุติจิต” จะไม่เกิดขึ้นระหว่างยังมีชีวิตอยู่ เพราะชาติภพยังไม่หมดสิ้น อายุขัยยังไม่ดับ ดังนั้น ในกรณีของผู้ฝึก “มโนมยิทธิ” หรือกรณีตายแล้วฟื้นนั้น แท้แล้วจิตไม่ได้เคลื่อนออกจากกายเพื่อเข้าสู่ภพอื่นใด เพียงแต่จิตนั้นกำหนดจดจ่อการรับรู้ไปยังภพภูมิอื่น จึงได้รู้สึกเหมือนว่าตนเองไปยังภพนั้นๆ มาแล้ว ดังนั้น การกล่าวว่าถอดจิตหรือถอดกายทิพย์ไปยังภพอื่นๆ ได้ขณะยังมีชีวิตอยู่นั้นจึงไม่จริง เพียงแต่จิตกำหนดจดจ่อการรับรู้ไปเท่านั้นเอง จิตจะเคลื่อนออกจากกายสู่ภพใหม่ได้ก็ต่อเมื่อ “สิ้นชีวิต” และ “ชาติภพสิ้น” หรือ “อายุขัยหมด” เท่านั้นเอง ซึ่งก็ต้องตายสถานเดียว ในกรณีทางการแพทย์ที่ระบุว่า “ตายแล้วฟื้น” นั้น ปกติไม่มี “การตายแล้วฟื้น” เป็นเพียงการสูญสิ้นการทำงานของสังขาร แต่ “ขันธ์ห้ายังไม่ทันดับ” เท่านั้นเอง จิตที่หลงไปจดจ่อยังภพอื่น ไม่ยอมฟื้นในระหว่างนั้น ไม่ได้เคลื่อนออกจากกาย เพราะขันธ์ทั้งห้ายังไม่ดับสลายลง ดังนั้น บางท่านแม้ไม่หายใจ, หัวใจหยุดเต้นแล้วแต่ร่างกายยังไม่แข็ง ยังอ่อนนิ่มอยู่ ยังไม่ได้ดับขันธ์ห้า จิตจึงยังไม่เคลื่อนออกไปสู่ภพใหม่ จึงยังไม่ตาย ที่เรียกว่า “ลมหายใจสิ้นแต่ยังไม่สิ้นลมปราณ” นั่นเอง ตราบเมื่อขันธ์ทั้งห้าดับลง จิตเคลื่อนออกจากกายสู่ภพใหม่แล้วเท่านั้น จึงจะตายจริง และจิตไปยังภพอื่นอย่างแท้จริง การถอดกายทิพย์นั้น จิตไม่ได้เคลื่อนออกไป ไม่ใช่ “จุติจิต” เพียงแต่ทำสมาธิแล้วเพ่งสติกำหนดการรับรู้ไปยังภพภูมิอื่นๆ หากจิตไม่มีการปรุงแต่ง มีความบริสุทธิ์มาก จิตมีกำลังญาณสูง ก็สามารถรับรู้เรื่องราวของภพภูมิอื่นๆ ได้ไม่ยากนัก โดยอาจไม่มีนิมิต หรือไม่มี “กายทิพย์” ปรากฏให้เห็นในอีกภพหนึ่งก็ได้ สำหรับ “กายทิพย์” ที่ปรากฏในภพอื่นในขณะยังมีชีวิตอยู่ในภพโลกนั้น เรียกว่า “อมโนปฏิสนธิ” เกิดจากจิตที่มีกำลังจิตมาก เนรมิตกายอีกกายหนึ่งจาก “ขันธ์ห้า” ชุดใหม่ หรือนำขันธ์ห้าเพียงบางส่วนในกายตนออกไป (ถอดกายทิพย์) โดยที่ “จิตหลัก” ไม่ได้ถอดหรือเคลื่อนออกไปด้วย ลักษณะแบบนี้เรียกว่า “มโนมยิทธิ” คือ ความมีฤทธิ์ทางใจ ใช้จิตหลักที่ยังอยู่ในกายในภพโลก ควบคุมการแสดงออกของ “กายทิพย์” อีกกายหนึ่ง ทั้งยังรับรู้ผ่านกายนั้นๆ ได้อีกด้วย ในกรณีที่สัตว์ได้ตายจากภพโลกแล้วจริงๆ จะมี “กระบวนการตาย” ตามลำดับ ดังนี้




    ๑. ขันธ์ห้าดับสลาย (ขันธ์ดับ)

    คือ การรับรู้สิ้นลง ไม่รู้สึกตัว ประสาทสัมผัสไม่ตอบโต้ เรียกว่า “รูป ขันธ์ดับ” (ผู้ตายไม่รับรู้สิ่งเร้าได้แล้ว), ความรู้สึกสุข-ทุกข์ ความรู้สึกใดๆ สิ้นลง เรียกว่า “เวทนาดับ” (ผู้ตายไม่รับรู้สึกสุขทุกข์หรือเจ็บปวด), ความทรงจำ หรือการจำได้หมายรู้ จะค่อยเลือนหายไปชั่วขณะ เรียกว่า “สัญญาดับ” (ผู้ตายจะจำอะไรไม่ได้ชั่วขณะเหมือนภาวะเข้าสู่ฌานสี่), ลมหายใจขาด หัวใจหยุดเต้น ใจหยุดทำงาน (คลื่นสมองหยุดนิ่ง) เรียกว่า “สังขารดับ” (แพทย์วินิจฉัยว่าตายแล้ว), จากนั้น จึงจะสูญสิ้นลมปราณเป็นลำดับสุดท้าย

    ๒. ธาตุสี่แยกออกจากกัน (ธาตุแตก)

    คือ ธาตุสี่ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ ในร่างกายจะสลายแตกแยกออก มีเลือดและของเหลวในทวารต่างๆ ไหลออกมา จากจมูกบ้าง, ปากบ้าง, หูบ้าง, ก้นบ้าง ฯลฯ และเน่าสลายเป็นดิน เรียก “ธาตุสี่ดับสลาย” ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการดับขันธ์ห้าแต่กินเวลานานกว่า

    ๓. จิตจุติออกจากภพเดิม (จิตจุติ)

    คือ จิตเปลี่ยนจาก “ภวังคจิต” ซึ่งมีภาวะ “ดับขันธ์ห้า” ไม่มีความจำได้หมายรู้ เหมือนอยู่ในฌานสี่ เหมือนภาวะ “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” อย่างนั้น มาเป็น “เคลื่อนออกจากร่างกายและภพเก่า” เรียกว่า “จุติจิต” นับวิถีจิตจาก “ภวังคจิต” เป็น “จุติจิต” นั่นเอง

    ๔. จิตปฏิสนธิในภพใหม่ (จิตปฏิสนธิ)

    คือ จิตที่ออกจากร่างและภพเก่าแล้วที่เรียกว่า “จุติ จิต” นั้น ก็เกิดขึ้นทันทีในชาติภพใหม่และสังขารใหม่ เช่น หากมีกรรมต้องไปเกิดเป็นไก่คิดถึงไก่ จิตก็จุติเคลื่อนไปปฏิสนธิในลูกไก่ทันที ไม่มีดวงจิตอื่นคั่นระหว่างนี้เลย (ดับแล้วเกิดทันทีไม่มีช่องว่างคั่น ตามหลักสันตติ) หากปฏิสนธิอีกก็จะเกิดใหม่อีกไม่รู้จบ หากไม่มีปฏิสนธิก็สิ้นภพชาติ คือ นิพพาน




    “จิต” เมื่ออยู่ในภาวะ “ภวังคจิต” (ดับขันธ์) ไปสู่ “จุติจิต” (เคลื่อนจากภพเก่า) แล้วไปสู่ “ปฏิสนธิจิต” (เกิดในภพใหม่) จะไม่หลุดพ้นสังสารวัฏ ไม่นิพพาน แต่หากจิตเมื่อตายลงวิถีจิตเปลี่ยนจาก “ภวังคจิต” ไปสู่ “จุติจิต” แล้วไม่เกิด “ปฏิสนธิจิต” อีก จึงจะเข้าสู่ภาวะนิพพานโดยแท้จริง ทั้งนี้ จิตไม่ว่าจะเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก ก็ไม่สูญสลายหายไปไหน แต่จะมี “สถานที่ประทับ” ที่แตกต่างกันไป หากบุคคลนิพพาน ก็มีสถานที่ประทับที่เดียวกับพระพุทธเจ้าองค์ที่บุคคลนั้นเป็นสาวก (ใครเป็นสาวกใครไปประทับกับผู้นั้น) หากยังไม่นิพพาน ก็ยังต้องมีสถานที่อื่นๆ อีก อันได้แก่ ระบบจัดการสามภพและอื่นๆ ๖ สถาน ดังนี้




    ๑) อสถาน (สถานทุกข์ไร้เส้นชัย)

    คือ สถานที่ที่ไม่ควร แต่ดวงจิตได้จุติไปแล้วด้วยกรรมบางประการ ทั้งยังมีกิเลสสะสม จึงอยู่นอกเหนือจากระบบการจัดการดวงจิตวิญญาณสามภพ คือ ไม่ได้อยู่ในสารระบบการจัดการเวียนว่ายตายเกิดของนรก, โลก, สวรรค์ กล่าวคือ ไม่มีรายชื่อในกระบวนการจัดการของพระยายม (ภพนรก), ไม่มีรายชื่อในกระบวนการจัดการของโลก (โดยพระอินทร์) และไม่มีรายชื่อในกระบวนการจัดการของสวรรค์ (โดยผู้จัดการบัญชีการจุติของสวรรค์ชั้นต่างๆ) ทำให้ดวงจิตเป็น “จิต วิญญาณเร่ร่อน” หรือ “สัมภเวสี” ไม่ได้ไปผุดไปเกิด ไม่มีคิวรอเกิดในภพใดๆ ต้องเร่ร่อนหิวโหยไปเรื่อยๆ บางดวงจิตวิญญาณอาศัยเล่ห์และอิทธิฤทธิ์หนีออกจากนรกหรือสวรรค์ ทำให้หลุดออกจากระบบการจัดการการเวียนว่ายตายเกิด จนไม่รู้ว่าคิวไหนถึงไหน ดวงจิตวิญญาณเหล่านี้ หากเร่ร่อนในโลกมนุษย์และก่อกวน เช่น หลอกหลอนผู้คน ก็จะรบกวนระบบปกติทั้งสามภพ หากเข้าแย่งคิวเกิด ก็จะถูกทำร้ายด้วยเจ้ากรรมนายเวรหรือสิ่งอื่นๆ ตั้งแต่อยู่เป็นตัวอ่อน เพราะขาดเทวดาปกป้องคุ้มครองในยามเป็นทารก จึงจัดเป็นการจุติของจิตวิญญาณไปยัง “อสถาน” คือ สถานที่ที่ไม่ควรไป ไม่อยู่ในระบบการจัดการ และจะไม่ได้รับการดูแลจากผู้ใดเลย บางดวงจิตวิญญาณอาจหลงทางไปไกลแสนไกล เช่น ในอวกาศจนหาโลกที่เหมาะสมแก่การเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้เลย และกลายเป็นเพียงเศษพลังงานที่หลุดหลง หลุดโลกไปเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเกิดเป็นคนอีก จำต้องทุกข์ทรมานไม่มีผู้ใดช่วยเหลือได้




    ๒) นรก (สถานทุกข์บนการรอคอย)

    คือ สถานที่ที่ไม่อยากไป ไม่มีความสุขเลย มีแต่ความทุกข์ทรมาน เป็นสถานที่ชดใช้เวรกรรมที่ทำมาให้เบาบางลง จึงรับผลกรรมที่เหลือน้อยลงเมื่อยามเกิดบนโลก หากไม่ชดใช้กรรมในนรก บางคนเกิดมาก็ตายในท้องทันที แล้วเกิดใหม่ก็ตายในท้องอีกหลายครั้งหลายครา เนื่องจากเวรกรรมหนักมาก ดังนั้น จำต้องมีนรกเพื่อชดใช้กรรมให้บรรเทาเบาบางลงไปก่อนที่จะถึงคิวมาเกิดใหม่ เมื่อดวงจิตวิญญาณไปจุติที่นรกแล้ว จะต้องถูกพิพากษาความผิดให้รู้ตัวก่อนว่าทำผิดมามาก เพื่อให้ดวงจิตยอมชดใช้กรรมเหล่านั้น ซึ่งเมื่อดวงจิตยอมรับกรรม ยอมรับว่าตนทำผิดแล้ว กรรมก็จะมารุมดวงจิตนั้นในนรกทันที ทำให้กรรมเบาบางลงเมื่อคราวเกิดเป็นคน หากดวงจิตไม่ยอมรับโทษ ปากแข็ง ดื้อดึง ก็จะรังแต่สะสมกรรมไว้ในอนาคตชาติข้างหน้า จนพอกพูนทับถมทวี แม้ได้เสวยผลบุญก็ไม่สามารถจะเสวยได้ เนื่องจากกรรมตัดรอนจนแทบไม่เหลือบ้าง หรือรับกรรมจนมีโอกาสเสวยผลบุญได้แต่เพียงเบาบางเท่านั้น ดังนั้น จิตวิญญาณของสัตว์นรกจะต้องถูกทรมานก่อนเพื่อให้ระลึกความผิดบาป และยอมละเลิก ตั้งจิตกลับตัวกลับใจเสียใหม่ แล้วรอคิวเกิดโดยจะถูกแยกกักขังไว้ในนรกยาวนาน กว่าจะถึงคิวได้เกิดอีกครั้ง ต้องทนทุกข์ทรมาน วันดีคืนดี แม้พ้นจากโทษทรมานแล้วก็ตาม อาจจะมีนายนิรบาลที่เกิดความโมโหมาระบายความโมโหใส่ ก็จับสัตว์นรกไปทรมานเล่นอีก ที่นรกนี้มีผู้ดูแล คือ “พญา ยมราช” หรือ “ท้าวกุเวร” ซึ่งเป็นเทวดาชั้นจตุมหาราชิกาที่ซ้อนทับกับพื้นผิวโลกมนุษย์ และเป็นหนึ่งในสี่ของราชาผู้ปกครองในสวรรค์ชั้นนี้ นรกจึงอยู่ใต้พื้นโลก และถูกพลังของเหล่าเทวดาชั้นจตุมหาราชิกาทั้งหลาย กดทับปิดไว้ ไม่ให้สัตว์นรกหนีออกมาได้ จำต้องแทรกกายอยู่ในลาวาร้อนระอุนานแสนนาน เพื่อรอคิวเกิดของตน โดยไม่เร่ร่อนหลงออกไปไหน ไม่หลงไปในอวกาศจนกลายเป็นเพียงเศษพลังงานที่หลุดหลงเท่านั้น




    ๓) โลก (สถานสุขบนความเสื่อม)

    คือ สถานที่ที่ได้รับการเพาะบ่มดูแลและเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต และดวงจิตต่างๆ โดยเริ่มจากดวงดาวที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตมาก่อน เมื่อมีภาวะที่เหมาะสม เหล่าดวงจิตที่มีความบริสุทธิ์แล้ว เช่น พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ต่างๆ ที่ตายไปแล้ว และไม่เกิดอีก ซึ่งพระเยซูจะเรียกว่า “พระเจ้า” นั่นเอง ดวงจิตบริสุทธิ์เหล่านี้ ก็จะช่วยกันถ่ายทอดพลังชีวิตลงไปหล่อเลี้ยงยังดวงดาวนี้ ที่เรียกว่า “วิญญาณาหาร” หรือ “ปราณชีวิต” หรือ “ออร่า” เมื่อดวงดาวเหล่านี้ได้รับพลังชีวิตมากๆ เข้า จึงเริ่มเกิดสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่มีจิตอาศัยขึ้น เรียกว่า “อมโนปฏิสนธิ” คือ การปฏิสนธิของสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยาชั้นต่ำที่ไม่มีดวงจิตอาศัย ได้แก่ พืชชั้นต่ำ, พืชชั้นสูงที่ไม่มีดวงจิตรุกเทวดาอาศัย, สัตว์ชั้นต่ำโบราณ เช่น ตัวเปรี้ยว (สามารถวิ่งได้ แต่ไม่มีจิต) ฯลฯ ในระยะนี้ในลองนึกถึง “สวนเอเดน” หรือ “ป่าหิมพานต์” โลกก็จะมีสภาวะอยู่คล้ายอย่างนั้น จนกระทั่งมี “อมโนปฏิสนธิ” หรือ “เรือนร่างกาย” ที่เหมาะแก่การจุติลงมาร่วมอยู่ของจิต ดวงจิตประเภทหนึ่งจะถูกเลือกให้มาอยู่ก่อน ได้แก่ ดวงจิตชั้นพรหม ที่เรียกว่า “อภัสสราพรหม” จากนั้น ความเป็นอยู่ของโลกก็เหมือนป่าหิมพานต์ที่มีแต่ฤษีเพศชาย ไม่มีเพศหญิง แม้มีเพศหญิงก็ไม่ใช่มนุษย์เพราะไม่มีจิต จวบจนกระทั่ง “พระโพธิสัตว์จุติ” ลงมา ก็จะสอนให้ฤษีรู้จักความรักความเมตตา และการหลุดพ้นกลับไปยังที่เก่าที่มีเหล่าจิตบริสุทธิ์สถิตอยู่ ช่วงนี้เรียกว่า “สวนเอเดน” คือ มีมนุษย์เพศชายและหญิงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ จากนั้น โลกมนุษย์ก็เกิดความเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ดวงจิตจากสถานที่ชั้นต่ำกว่าลงไปก็ถูกจัดการให้มาเกิดบนโลกมนุษย์ตามกรรมของ ตน เพื่อที่จะได้ชดใช้กรรมเก่า บำเพ็ญเพียร และพัฒนาจิตตนเอง กลับตัวกลับใจ แก้ตัวใหม่ ไปยังถานที่ถูกที่ควรอันเป็นที่สุด คือ สุขาวดีแดนนิพพาน ในจักรวาลนี้มีโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มากมาย ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้เป็นหลักหมื่น เรียกกันว่า “หมื่นโลกธาตุ” ซึ่งในจำนวนโลกทั้งหมดนี้ยังถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีของจักรวาลทั้งหมด และน้อยเหลือประมาณที่จะรองรับการเกิดของดวงจิตใหม่ๆ ได้ ดวงจิตของสัตว์มากมายล้นเหลือจึงถูกเก็บไว้ในสถานที่ต่างๆ เพื่อเพาะบ่มรอเวลามาจุติยังโลกมนุษย์ พระพุทธเจ้าเปรียบเปรยการได้เกิดเป็นมนุษย์ เสมือนเต่าที่นานๆ ครั้งจะโผล่ศีรษะมาบนพื้นทะเลอันกว้างใหญ่ แล้วบังเอิญมีผู้โยนห่วงเล็กๆ ลงคล้องคอเต่าได้พอดี เนื่องจากมีดวงจิตวิญญาณจำนวนมากเหลือคณานับที่รอคิวเกิดบนโลกมนุษย์ แม้แต่พระโพธิสัตว์ที่จะต้องลงมาเกิดเพื่อบำเพ็ญเพียรยังมีมากมายเท่าเม็ด ทรายในมหานที นี่เฉพาะพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีจิตใจสูงส่งมากยิ่งแล้ว หากรวมดวงจิตสรรพสัตว์ที่ต่ำทรามลงไปก็ไม่อาจคาดการณ์นับได้ การเป็นมนุษย์จึงต้องรอคิวนานเหลือเกิน




    ๔) สวรรค์ (สถานทิพยสุขบนความประมาท)

    คือ สถานที่พักของดวงจิตที่บำเพ็ญคุณงามความดีมากกว่าความชั่ว เพื่อรอการเกิดใหม่บนโลกมนุษย์ในการพัฒนาวิวัฒนาการทางจิตของตนให้สูงสุด (นิพพาน) สวรรค์เป็นภพที่มีความสวยสดงดงามและมีสุขมากกว่าโลกมนุษย์มากนัก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่คัดสรรค์แต่ดวงจิตประเภทเดียวกันมาจุติเท่านั้น และยังมีความเสื่อมน้อย ไม่ค่อยได้เห็นความแก่, เจ็บ, และตาย ในขณะที่โลกมนุษย์มีดวงจิตทุกประเภท จุติมาจากนรกก็มี จากสวรรค์ก็มี ทำให้โลกมีความเสื่อมเป็นระยะๆ ทว่า สวรรค์แม้สวยงามขนาดใดก็ตาม ไม่สามารถทำให้จิตวิญญาณมีความอิ่มสุขสงบ หรือ นิพพานได้ ดวงจิตจะถึงซึ่งนิพพานก็เมื่อดวงจิตนั้นปฏิบัติจิตของตนจนปราศจากกิเลส ซึ่งการทำให้กิเลสสิ้นไปนี่เอง ที่เรียกย่อๆ ว่า “นิพพาน” หรือชื่อเต็มว่า “กิเลสนิพพาน” ซึ่งมีความสุขแท้อย่างยิ่ง (เทวดาบนสวรรค์ก็มีทุกข์ได้เพราะกิเลสเผาใจให้เร่าร้อน เช่น หลงรักนางฟ้าบางตนแล้วไม่สมหวังก็มีทุกข์) ในการจุติของดวงจิตสัตว์ไปยังสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น มีความยาวนานของการรอคิวเกิดที่แตกต่างกัน และมีความสุขที่จะได้รับแตกต่างกันตามกรรมที่ทำมา แต่สำหรับสวรรค์บางชั้นแม้จะสูงและสวยงามมาก แต่เนื่องจากหากจุติไปแล้วจะมีอายุยืนยาวนานมาก ทำให้มีโอกาสมาเกิดใหม่ ไม่บ่อยนัก การสะสมบุญบารมีจึงทำได้ยาก ดังนั้น พระโพธิสัตว์ จึงไม่ไปพักยังสวรรค์ชั้นสูงเกินไป สวรรค์ในสารระบบมีทั้งหมด ๖ ชั้น ดังนี้




    เปรียบเทียบอายุในสวรรค์ชั้นต่างๆ ใน ๑ ชาติ (เวลารอบนสวรรค์ก่อนเกิดบนโลก)




    ๑ ชาติบน จตุมหาราชิกา เท่ากับเวลาบนโลกผ่านไป ๙ ล้านปี

    ๑ ชาติบน ดาวดึงส์ เท่ากับเวลาบนโลกผ่านไป ๓๖ ล้านปี

    ๑ ชาติบน ยามา เท่ากับเวลาบนโลกผ่านไป ๑๔๔ ล้านปี

    ๑ ชาติบน ดุสิต เท่ากับเวลาบนโลกผ่านไป ๕๖๗ ล้านปี

    ๑ ชาติบน นิมมานรดี เท่ากับเวลาบนโลกผ่านไป ๒,๓๐๔ ล้านปี

    ๑ ชาติบน ปรนิมมิตวสวัตดี เท่ากับเวลาบนโลกผ่านไป ๙,๒๑๖ ล้านปี




    ทั้งนี้ใช้สูตรคิด ๑ ชาติภพโลก คูณ ส่วนขยาย = ๑ ชาติภพสวรรค์ หมายถึงการจุติไปเกิดยังภพนั้นๆ จนหมดวาระ นับเป็น ๑ ชาติ ในภพนั้นๆ โดยนำอายุขัยของพระพุทธเจ้าซึ่งจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ที่มีอายุบนชั้นดุสิตเท่ากับ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ จะได้ส่วนคูณขยายเท่ากับ ๕๐ ปี นำตัวคูณ ๕๐ นี้ คูณเข้ากับ “ปีทิพย์” ในสวรรค์ชั้นต่างๆ สมมุติ ๕๐๐ ปีทิพย์ บนสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา (๑ ชาติบนจาตุมหาราชิกา) จะนับเป็นเวลาได้เท่ากับ




    ๕๐ ปี x ๓๖๕ วัน x ๕๐๐ ปีทิพย์ = ๙ ล้านปีมนุษย์




    จะ เห็นได้ว่า ๑ ชาติในภพสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา ต้องรอถึง ๙ ล้านปีมนุษย์ จึงจะเกิดใหม่ได้บนโลกมนุษย์อีกครั้ง ดังนี้ จึงมีรุกเทวดา และเทวดาชั้นจตุมหาราชิกาจำนวนมากที่ต้องอยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์ และได้รับผลกระทบอันยาวนานจากการกระทำของมนุษย์ เพราะต้องรอนานอยู่กับโลกถึง ๙ ล้านปีของโลกมนุษย์ เมื่อมนุษย์ตัดต้นไม้ใหญ่เพียงหนึ่งต้น เท่ากับ รุกขเทวดาผู้นั้นไม่มีที่อยู่อาศัยไปนานถึง ๒๐ ปี จนกว่าต้นใหม่จะขึ้นมาแทน และหากต้นใหม่ไม่ได้รับการปลูกทดแทน รุกขเทวดาจะต้องอยู่โดยไม่มีที่สถิตนานถึง ๙ ล้านปีมนุษย์ทีเดียว ในขณะที่มนุษย์ผู้ก่อกรรมตัดไม้ทำลายป่านั้นตายไปนานแล้ว




    ๕) พรหมโลก (สถานทิพยสุขบนความไม่รู้)

    คือ สถานที่พักของดวงจิตที่บำเพ็ญเพียรทางจิตขั้นสูงจนได้ฌาน หรือตายในขณะจิตมีวิถีแตกต่างจากปกติ กล่าวคือ วิถีจิตไม่ได้ดำเนินไปจาก “ภวังคจิต” (ดับขันธ์) ไปสู่ “จุติจิต” (เคลื่อนจากภพเก่า) ไปสู่ “ปฏิสนธิจิต” (ภพใหม่) แต่มีวิถีจิตอีกแบบหนึ่งได้แก่




    ๑) ฌานจิต คือ จิตขณะเข้าฌาน มีความพึงใจในภาวะ “การดำรงอยู่” (มีภพ)

    ๒) ดับขันธ์ คือ จิตขณะร่างกายสิ้นอายุขัยโดยไม่รู้ตัว ขันธ์ห้าดับขณะเข้าฌาน

    ๓) จุติจิต คือ จิตขณะเคลื่อนออกจากร่างเก่า ภพเก่า เพราะความเสื่อมอยู่ไม่ได้

    ๔) ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะร่วมอาศัยปัจจัยปรุงแต่งจากขันธ์ห้าชุดใหม่ภพใหม่




    สาเหตุที่เกิด “ปฏิสนธิ จิต” หลัง “จุติจิต” เพราะจิตขณะเข้าฌานนั้นมีการทรงสภาพ หรือการหล่อเลี้ยง “ชีวิตินทรีย์” เพื่อให้ภาวะฌานดำรงอยู่ เมื่อ “ขันธ์ห้าดับ” ฉับพลัน จิตยังทรงสภาพชีวิตินทรีย์อยู่ก็จะรักษาสภาพเดิมไว้ทันที จึง “ปฏิสนธิ” ทันทีในภพใหม่ คือ พรหมโลก หากจิตยังมีความอาลัยอาวรณ์ หรือจิตมีการพิจารณาสภาวะทรงสภาพนี้อยู่ต่อไป มีการเจริญหล่อเลี้ยงดวงจิตต่อไป จิตก็จะเกิดชาติภพใหม่เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ไม่ได้ซึ่งนิพพาน วิถีจิตที่จะเข้าสู่การนิพพาน คือ จิตที่ไม่อยู่ในภาวะ “รักษาสภาพฌาน” การ “ทรงฌาน” หรือ การหล่อเลี้ยง “ชีวิตินทรีย์” ของดวงจิตที่เข้าฌาน (ทำจิตให้เป็นฌานตั้งอยู่นานๆ) จิตต้องพิจารณา “อนิจจัง” การดับไปเท่านั้น ไม่พิจารณา, ไม่ยินดี, ไม่ส่งในการ “ตั้งอยู่” หรือ “เกิดขึ้น” ในภาวะสามนี้คือ เกิดขึ้น, ตั้งอยู่ ดับไป จิตต้องอยู่กับการ “ดับไปเพียงอย่างเดียว” เท่านั้น จิตจึงเข้าสู่ภาวะนิพพานแท้จริง ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป




    สำหรับ ผู้ไปปฏิสนธิเป็นพรหม จะมีอายุยืนยาวกว่าเทวดาบนสวรรค์มาก พรหมไม่มีเพศ ไม่มีการร่วมรัก ไม่มีการครองคู่ เป็นดั่งนักพรต หรือฤษีโดดเดี่ยวสงบสุขสมถะ มีความปราศจากกิเลสได้ชั่วคราว แต่ไม่ถาวร ตามกำลังสมถะที่ได้ฝึกจิตมา และจำจะต้องรอเวลานานมากกว่าจะได้เกิดอีกครั้ง ยาวนานเสียมากกว่าเหล่าเทวดาทั้งหลาย เนื่องจากเทวดายังมีความก้าวหน้าในการขยันทำบุญ ไม่นั่งเข้าฌานอยู่เฉย จึงเหมาะแก่การเกิดบ่อยๆ และช่วยสร้างสรรค์โลกมนุษย์ พรหมจะได้เกิดจึงไม่บ่อยเท่าเทวดา และจะต้องอยู่เป็นพรหมนานเหลือคณา (ซึ่งก็มีความสุขบ้างพอควรที่ได้อยู่สวรรค์ชั้นพรหมนานๆ) สุดท้ายพรหมก็หมดวาระในพรหมโลก ต้องจุติลงมายังโลกเพื่อเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ โดยปกติ จะมาเกิดเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ (มนุษย์เกิดจากพรหม) เป็นผู้แรกๆ ที่เข้ามาอยู่บนโลก ในภาวะที่โลกยังไม่มีสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอื่นๆ เนื่องจากพรหมมีความพร้อม อิ่มฌาน เข้าฌานเสมอ จึงอดอาหารได้ กินอาหารน้อย ถึงขั้นไม่กินเลยก็อยู่ได้ และมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวนานสมกับที่เคยเป็นพรหม ดังนั้น โลกในยุคแรกๆ จึงเต็มไปด้วยฤษี หรือ “มนุษย์ ถ้ำ” ที่ไม่นิยมออกไปไหน ไม่นิยมนุ่งผ้า มีผมและหนวดเครายาวรุงรัง ไม่มีเพศหญิงมีแต่เพศชายเป็นเบื้องต้น และจะเข้าฌานบำเพ็ญสมาธิในถ้ำอย่างสงบยาวนาน จวบจนได้เกิดความเสื่อมขึ้นในหมู่พรหม จนเกิดมนุษย์เพศหญิงบนโลก พร้อมทั้งการสืบพันธุ์ขึ้น ดวงจิตจากสถานต่างๆ จึงค่อยจุติมาตามวาระที่โลกพร้อมและเอื้อแก่กรรมของตนตามลำดับ ซึ่งยิ่งเสื่อมถอยลง มนุษย์ก็ต้องทำงานมากขึ้น หนักขึ้น มีเวลาพักน้อยลง ทั้งยังมีการแก่งแย่งแข่งขัน อาชญากรรม และความวุ่นวายมากขึ้นเป็นลำดับ




    ๖) สุขาวดี (สถานทิพยสุขบนปัญญา)

    คือ สถานที่ที่มีแต่ความสุขอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมด้วยปัญญา จึงเป็นสุขแท้ถาวรและเป็นทิพยสุข คือ ไม่เสื่อมแบบโลกมนุษย์ ซึ่งสถานที่นั้นไม่ใช่เครื่องกำหนดสุขหรือทุกข์เพราะสุขแท้ถาวรอยู่ที่ใจ นั้นปราศจากกิเลสต่างหาก ดังนั้น “สุขาวดี” มีแต่ความสุขอย่างเดียว เพราะดวงจิตเหล่านั้นปราศจากกิเลสนั่นเอง โดยจิตที่จุติสุขาวดีนี้มี ๒ ประเภท คือ




    ๑) ปฏิสนธิจิต (จิตที่มีการปฏิสนธิชาติภพใหม่)

    คือ จิตที่ปฏิสนธิในดินแดนสุขาวดี และเมื่อหมดวาระก็ต้องเกิดใหม่อีก ไม่สามารถพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ตามแต่ผลบุญและกรรมจะนำพาไป ไม่สถิตถาวร จึงต้องเกิดอีก หรือได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเกิดอีกเพื่อโปรดสรรพสัตว์ จึงสามารถเกิดได้อีกตามจิตปรารถนา หรือตามการร้องขอของปวงสรรพสัตว์ หรือตามการบัญชาขององค์พระพุทธเจ้าต่างๆ โดยปฏิสนธิจิตที่จุติไปยังสุขาวดีมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้




    ๑.๑) ปฏิสนธิจิตที่พ้นอวิชชา

    คือ ดวงจิตที่ปฏิบัติทางจิตจน “กิเลส นิพพาน” หรือ “บรรลุธรรม” แล้ว แต่ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะทำสิ่งดีงามต่อไป หรือเกิดความระลึกถึงการทรงอยู่, ตั้งอยู่ จิตจึงทรงสภาพชีวิตินทรีย์ต่อ เมื่อตายลงจึงไม่ได้เป็น “นิพพานจิต” แต่ได้เกิด “ปฏิสนธิจิต” ขึ้นใหม่ในภพสุขาวดี จิตเหล่านี้ได้ถือว่าพ้นเสียจากกิเลสแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยปัญญา ได้แก่ พระมหาโพธิสัตว์, พระอรหันต์โพธิสัตว์ทั้งหลาย เช่น เจ้าแม่กวนอิม, พระจี้กง, พระสังกัจจายน์ ฯลฯ ดวงจิตเหล่านี้สามารถเกิดใหม่เพื่อโปรดสัตว์ได้อีก



    ๑.๒) ปฏิสนธิจิตที่ปนอวิชชา

    คือ ดวงจิตที่ปฏิบัติทางจิตน้อย จึงยังไม่บรรลุธรรม แต่ได้บำเพ็ญบุญบารมีมาก และได้อาศัยผลบุญที่มากพอในการปฏิสนธิเป็นสัตว์ ( เทพ) ในสุขาวดีได้ จึงได้ตั้งจิตตรงมายังสุขาวดีด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ใน สุขาวดี หรือพระโพธิสัตว์ที่ประทับอยู่ที่สุขาวดีเมื่อสิ้นใจลง จิตจึงเคลื่อนมาปฏิสนธิยังสุขาวดีได้ ซึ่งในการปฏิสนธิยังสุขาวดีทั้งๆ ที่ยังกิเลสไม่สิ้นนั้น จำต้อง “ฟักตัว” ในดอกบัวก่อน ระหว่างนั้น จะได้ฟังธรรมของพระอมิตาภพุทธเจ้าจนกระทั่งได้บรรลุธรรม พ้นจากความทุกข์ทั้งมวลแล้ว จึงออกจากดอกบัวนั้นได้ และเป็น “โพธิสัตว์” โดยสมบูรณ์ ซึ่งสามารถเกิดใหม่ได้อีกด้วย



    ๒) นิพพานจิต (จิตที่ไม่มีการปฏิสนธิอีก จึงไม่เกิดอีกและไม่มีการตายอีก)

    คือ จิตที่ไม่มีการปฏิสนธิอีก ไม่เกิดอีก จึงไม่มีการตายอีก ไม่มีการดับขันธ์อีก เมื่อไม่มีการดับขันธ์อีก จึงไม่สามารถเกิดอีกได้ ไม่มี “ปฏิสนธิ” ใหม่ได้อีก จิตหลังจากเข้าสู่วิถีเมื่อสิ้นใจ จะสิ้นลงจากภพเก่าด้วย “จุติจิต” แล้วเคลื่อนมายัง “สุขาวดี” โดยไม่มีการปฏิสนธิ ดังนั้น สุขาวดี จึงเป็นที่ประทับของ “จิตอรหันต์” ทั้งหลาย ทั้งนี้ สุขาวดีมีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก ยิ่งกว่าพรหมโลก ประกอบด้วยดินแดนของพระพุทธเจ้าที่นิพพานแล้วทั้งหลายมากมาย เช่น ด้านทิศตะวันตก เป็นดินแดนของพระอมิตาภะพุทธเจ้า, ทิศตะวันออก เป็นดินแดนของพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ฯลฯ ทั้งยังมี “สาวก” หรือ “อรหันต์สาวก” ประทับอยู่ด้วย เมื่อถึงคราวโลกมนุษย์มีภัย และกรรมเปิดช่องโอกาสให้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ พระพุทธเจ้าจะทรงช่วยเหลือ โดยผ่านการบริหารพระอรหันต์สาวกต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับการบริหารและการปกครองของพระราชาทางธรรมองค์หนึ่งนั่นเอง




    ทั้งนี้ จิตที่ “นิพพาน” ไม่เกิดอีกจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการตั้งจิตมาเกิดที่สุขาวดี แต่เกิดจากการไม่ปรารถนาชาติภพใหม่ ไม่ปรารถนาการตั้งอยู่ของชีวิตินทรีย์ ปรารถนาความสิ้นไปของชาติภพ พอแล้ว หยุดแล้วซึ่งกิจใดๆ ต่อไปข้างหน้า ในขณะที่ “ปฏิสนธิจิต” คือ จิตที่จุติมาสุขาวดีแล้ว “ปฏิสนธิ” เพราะความปรารถนาการตั้งอยู่ของชีวิตินทรีย์ก็ดี, การปรารถนาชาติภพใหม่ก็ดี หรือแม้แต่ความปรารถนาในสุขาวดีก็ดี สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่ “ปฏิสนธิ” ใหม่ได้อีก แต่ด้วยการเทศนาสั่งสอนของพระอมิตาภพุทธเจ้า จิตที่ปฏิสนธิที่สุขาวดีจึงพ้นทุกข์ทั้งหมด ดังนั้น กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า “สุขาวดี” ประกอบด้วยดวงจิตสองประเภทเท่านั้น คือ จิตของผู้ที่นิพพานสิ้นชาติภพแล้ว และจิตของผู้ที่ปฏิสนธิใหม่พร้อมการบรรลุธรรม ดังนั้น หากปรารถนา “นิพพาน” จะต้องไม่ต้องการ ไม่ปรารถนาซึ่ง “ชาติภพ” หรือ “สถานที่” ใดๆ แต่หากปรารถนา “สุขาวดี” จึงต้องเพ่งจิตยังสุขาวดี และในท้ายที่สุดทั้งจิตที่นิพพานและจิตที่ปรารถนาสุขาวดี ก็มาประทับยังสถานที่เดียวกันได้




    ข้อสังเกตและบทส่งท้าย

    ๑. พรหมลิขิต “ไม่ มีจริง” เรื่องของการทำนายทายทัก เป็นเพียง “วิชาความรู้” ที่ช่วยให้ผู้ไม่มีปัญญาหยั่งรู้ ได้เห็นภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบุคคลหรือดวงจิตเท่านั้น เป็นเพียงแบบแผนคร่าวๆ ส่วนใหญ่เท่านั้น แต่สำหรับความเป็นจริงของแต่ละดวงจิตแล้ว จำต้องใช้ “ปัญญา” พิจารณาเป็นรายๆ ไป ไม่ใช่ “พรหมลิขิต”

    ๒. จิต เป็นผู้กำหนดเองทั้งหมด ไม่มีผู้ใดกำหนดว่าจะไปจุติยังสถานใดๆ แต่หากจิตมีความดื้อดึงไปจุติยังที่ไม่ควร ทั้งๆ ยังมีกิเลส จนหลุดออกจากสารระบบของการจัดการสามภพ ก็จะพบความทุกข์เอง รับกรรมนั้นเอง และจำต้องแสวงหาอาหารในแบบที่ตนคิดเอง ทดลองเอง ไม่มีอาหารทิพย์แบบที่เขาจัดไว้ให้

    ๓. กรรมเป็นเพียง “ปัจจัย ปรุงแต่ง” เท่านั้น ในความเป็นอยู่ของจิตนั้นๆ เมื่อไปปฏิสนธิแล้วในภพนั้นๆ มีความเป็นอยู่อย่างไร, กินอย่างไร, นอนอย่างไร ฯลฯ หากบุญมีน้อยแต่ไปอยู่ในภพที่สูงมากๆ เมื่อหมดบุญจำต้องอดและหิวโหยอยู่ในภพนั้นนานแสนนานกว่าจะสิ้นอายุขัยลงจาก ภพนั้นๆ ดังนั้น การกำหนดจิตไปเองด้วยความไม่รู้ว่าบุญมีเท่าไร จึงมีแต่ความเสี่ยง จำต้องผ่านการตรวจวัดบุญก่อน

    ๔. ระบบ การจัดการสามภพโดยผู้ปกครองสามภพ ได้แก่ พระอินทร์ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, พระยายม ผู้ปกครองนรก และเป็นหนึ่งในสี่ราชาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา และเทวราชาของสวรรค์และสถานทิพย์ต่างๆ เทวราชาทั้งหมดนี้ จะเป็นผู้ปกครองและบริหารการเวียนว่ายตายเกิดของดวงจิตแต่ละดวงทุกดวงจิต หากจะเกิดบนโลกได้จำต้องผ่านการจัดการของพระอินทร์ หากดวงจิตจะจุติที่สวรรค์-นรกชั้นใดจำต้องผ่าน บัญชีของเทวราชาที่ปกครองสวรรค์-นรกชั้นนั้นๆ โดยท่านเหล่านี้จะมีสมุดบันทึกบุญกรรมจึงล่วงรู้ได้ว่าดวงจิตควรจุติยังสถาน ที่ใด ซึ่งเป็นการจัดบันทึกคร่าวๆ ใกล้เคียงความจริง แต่ไม่ถึงกับ ๑๐๐% จำต้องใช้ปัญญาพิจารณาเป็นรายๆ ด้วย ดังนั้น ทำให้พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานไปโปรดสัตว์ในนรก ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณากรรม แก้ไขเป็นรายๆ ไป

    ๕.
    พระ พุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่สำเร็จธรรมนิพพานแล้ว และหมดสิ้นชาติใหม่แล้ว ไม่เกิดไม่ตายอีกแล้ว จะทรงมีสถานที่ประทับอยู่ ไม่สูญสลายไปไหน สถานที่ประทับนั้นแตกต่างกันออกไป ในพระสุตตันตปิฎกเคยกล่าวไว้ว่า สถานที่ประทับของพระสิขีพุทธเจ้า อยู่ที่พรหมโลก ในขณะที่พระอมิตาภพุทธเจ้าทรงอยู่ที่สุขาวดี ดังนั้น เรื่องของการหมดสิ้นการเวียนว่ายตายเกิด นั้น ไม่ได้แปลว่าสูญความเป็นตถตาแต่เดิม ตถตายังคงอยู่ สิ่งที่สูญไปคือชาติภพใหม่ และความเป็นตถาตานั้น จะมีที่ประทับสถิตอยู่ แตกต่างกันไปตามแต่ละพระองค์

    http://www.oknation.net/blog/print.php?id=144862
     
  2. ตั้งฉาก

    ตั้งฉาก เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2013
    โพสต์:
    495
    ค่าพลัง:
    +573
    ความเห็น บิดเบือน จากคำสอน ของพระพุทธเจ้า อย่างมาก

    พา ลง ทุ่ง กัน เหรอ ไง
     

แชร์หน้านี้

Loading...