(๓) มรดกธรรมของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 23 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๑
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๕
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า ยทิทํ จตฺตาโร)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่อง มหาสติปัฏฐาน สืบต่อไป

    มหาสติปัฏฐานวันนี้ เป็นธรรมที่ชี้บอกวิธีปฏิบัติไว้อย่างละเอียดละออมาก เป็นธรรมโอสถขนานวิเศษสุดในพระพุทธศาสนา สามารถกำจัดอุปัทวะทั้ง ๔ เสียได้ คือ
    ๑. หทยสนิตาปภูตํ โสกํ กำจัดความเศร้าโศกอันยังหทัยให้เร่าร้อน
    ๒. วาจาวิปฺปลาปภูตํ ปริเทวํ กำจัดปริเทวะอันเป็นความบ่นเพ้อทางวาจา
    ๓. กายิกํ อสาตภูตํ ทุกฺขํ กำจัดทุกข์ อันไม่มีความสำราญทางกาย
    ๔. เจตสิกํ อสาตภูตํ โทมนสฺสํํ กำจัดโทมนัส อันไม่มีความสำราญทางใจ และนำมาซึ่งวิเศษทั้ง ๓ คือ
    ๑. วิสุทธิ นำมาซึ่งความบริสุทธิ์
    ๒. ญายํ นำมาซึ่งมรรค
    ๓. นิพฺพานํ นำมาซึ่งพระนิพพาน
    เพราะฉะนั้น ธรรมคือมหาสติปัฏฐานนี้ จึงเป็นข้อปฏิบัติอันพุทธบริษัทควรศึกษาเล่าเรียน ควรท่อง ควรจำ ควรน้อมนำไปปฏิบัติ และควรแนะนำพร่ำสอนกันต่อๆ ไป เพื่อให้ได้ผลดังกล่าวมา และเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้พระสัทธรรมทั้ง ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ดำรงเสถียรภาพอยู่ เป็นคู่บ้านคู่เมืองสืบต่อไปตลอดกัลปาวสานต์

    เฉพาะวันนี้ จะได้บรรยายเนื้อความตามพระบาลีชื่อว่า "ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา" เป็นต้นต่อไป

    ถ. คำว่า ยทิทํ นี้ แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. คำว่า ยทิทํ นี้เป็นนิบาต ใจความก็คือ เย + อิเม
    เย แปลว่า เหล่าใด เป็นพหุวจนะ บ่งถึงจำนวนมาก นับตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไป แต่ยัังไม่จำกัดชัดลงไปว่าได้แก่อะไร ดังนั้น จึงตรัสเน้นลงไปอีกให้ชัดเจนที่สุดว่า อิเม แปลว่า เหล่านี้้ คำว่าเหล่านี้ เป็นคำที่บ่งถึงของที่อยู่ใกล้ที่สุด และก็มีมากหลายสิ่งหลายอย่าง ได้แก่สติปัฏฐาน ๔

    ถ. คำว่า จตฺตาโร แปลว่าอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร?
    ต. แปลว่า ๔ เป็นคำศัพท์บอกให้ผู้เรียนธรรม ผู้ปฏิบัติธรรม รู้จำนวนว่า มีเพียง ๔ อย่างเท่านี้ มีประโยชน์ในการนับจำนวนให้เราทราบได้ว่ามีเพียง ๔ อย่างเท่านี้ ไม่ยิ่ง ไม่หย่อน ไม่ขาดและไม่เกิน

    ถ. สติปัฏฐาน แปลว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า ที่ตั้งของสติ ที่เกิดของสติ

    ถ. มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มี ๔ อย่าง คือกายานุปัสสนา ๑ เวทนานุปัสสนา ๑ จิตตานุปัสสนา ๑ ธัมมานุปัสสนา ๑

    ถ. สติปัฏฐานทำไมท่านจึงใช้คำเป็นพหูพจน์?
    ต. เพราะสติมีมาก

    ถ. สติมีมาก เพราะเหตุไร?
    ต. มีมาก เพราะความแตกต่างของอารมณ์

    ถ. มคฺโค ทำไมท่านจึงคำเป็นเอกพจน์?
    ต. เพราะอรรถว่า เป็นทาง หมายความว่า ถึงสติจะมี ๔ ก็รวมลงสู่ที่แห่งเดียวกัน อุปมาเหมือนคนเดินทางสายเดียวกัน ถึงจะมีคนสัก ๔ คน หรือ ๘ คน ก็เดินทางสายเดียวกันได้ ฉะนั้น คือทางเดินมีเส้นเดียว แต่ผู้เดินมีหลายคน ดังหลักฐานพระองค์ตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวาร หน้า ๑๑๘ ว่า
    "มารเสนปฺปมทฺทนํ โว ภิกฺขเว มคฺคํ เทสิสฺสามิ ตํ สุีี ีนาถ กตโม จ ภิกฺขเว มารเสนปฺปมทฺทโน มคฺโค ยทิทํ สตฺต โพชฺฌงฺคา"

    ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย เราจักแสดงทางเป็นที่ย่ำยีมารและเสนามารแก่ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงตั้งใจฟัง ทางเป็นที่ย่ำยีมารและเสนามารได้แก่อะไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย ได้แก่โพชฌงค์ ๗ ดังนี้ คำนี้ โดยใจความก็เป็นอันเดียวกัน ต่างแต่ตัวหนังสือ แม้คำว่าเอายนมรรค กับคำว่า สติปัฏฐาน ๔ ต่างกันแต่พยัญชนะ คือตัวหนังสือเท่านั้น ส่วนใจความเป็นอันเดียวกัน
    ถ. เพราะเหตุไร พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ เท่านี้ โดยไม่ยิ่งไม่เกินเลย?
    ต. เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์

    ถ. เวไนยสัตว์ คือบุคคลผู้เจริญสมถะและวิปัสสนานั้น เมื่อจะกล่าวโดยส่วนใหญ่แล้ว แบ่งเป็นเท่าไร?
    ต. แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ มันทบุคคล ได้แก่บุคคลผู้มีปัญญาอ่อน ๑ ติกขบุคคล ได้แก่บุคคลผู้มีปัญญากล้า ๑

    ถ. เวไนยสัตว์นั้น จะแ่บ่งให้ละเอียดกว่านี้ได้หรือไม่ แบ่งอย่างไร?
    ต. แบ่งได้ แบ่งออกเป็น ๔ จำพวก คือ
    ๑. จำพวกตัณหาจริต
    ๒. จำพวกทิฏฐิจริต
    ๓. จำพวกสมถยานิก
    ๔. จำพวกวิปัสสนายานิก
    ถ. แต่ละพวก จะแบ่งให้ละเอียดกว่านี้ได้หรือไม่ แบ่งอย่างไร?
    ต. แบ่งได้ แบ่งด้วยอำนาจแห่งปัญญาอ่อน และปัญญากล้า อย่างนี้คือ
    ๑. จำพวกตัณหาจริต แบ่งออกเป็น ๒ คือ
    ๑. ตัณหาจริตที่มีปัญญาอ่อน
    ๒. ตัณหาจริตที่มีปัญญากล้า
    ๒. จำพวกทิฏฐิจริต แบ่งออกเป็น ๒ คือ
    ๑. ทิฏฐิจริตที่มีปัญญาอ่อน
    ๒. ทิฏฐิจริตที่มีปัญญากล้า
    ๓. จำพวกสมถยานิก แบ่งออกเป็น ๒ คือ
    ๑. สมถยานิกที่มีปัญญาอ่อน
    ๒. สมถยานิกที่มีปัญญากล้า
    ๔. จำพวกวิปัสสนายานิก แบ่งออกเป็น ๒ คือ
    ๑. วิปัสสนายานิกที่มีปัญญาอ่อน
    ๒. วิปัสสนายานิกที่มีปัญญากล้า
    ถ. บุคคลประเภทที่เป็นตัณหาจริต มีปัญญาอ่อน ควรเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐาน ข้อต้น คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงจะได้ผลดี เพราะเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย และเหมาะกับอัธยาศัยของบุคคลผู้นั้น

    ถ. บุคคลประเภทที่เป็นตัณหาจริต มีปัญญากล้า ควรเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐานข้้อที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงจะได้ผลดี เพราะเป็นกรรมฐานละเอียด คนมีปัญญากล้าสามารถเห็นได้ง่าย และเหมาะกับอัธยาศัยของบุคคลเช่นนั้น

    ถ. บุคคลประเภททิฏฐิจริต มีปัญญาอ่อน ควรจะเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐาน ข้อที่ ๓ คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงจะได้ผลดี เพราะไม่หยาบ และไม่ละเอียดเกินไป พอเหมาะพอดีกับบุคคลเช่นนั้น

    ถ. บุคคลประเภททิฏฐิจริต มีปัญญากล้า ควรจะเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐานข้อที่ ๔ คือธัมมานุปัสสนา จึงจะได้ผล เพราะเป็นของละเอียดมาก เหมาะกับอัธยาศัยของบุคคลเช่นนั้น

    ถ. บุคคลประเภทสมถยานิก ที่มีปัญญาอ่อน ควรเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐานข้อต้น คือกายานุปัสสนา จึงได้ผลดี เพราะมีนิมตรที่จะพึงถึงได้โดยไม่ยากนัก

    ถ. บุคคลประเภทสมถยานิก ที่มีีปัญญากล้า ควรจะเจริญสติปัฏฐานข้อไหนจึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐาน ข้อที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนา จึงจะได้ผลดี เพราะไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์หยาบและเหมาะกับอัธยาศัย เหมาะกับภูมิแห่งปัญญาของบุคคลเช่นนั้น

    ถ. บุคคลประเภทวิปัสสนายานิก ที่มีปัญญาอ่อน ควรจะเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐาน ข้อที่ ๓ คือ จิตตานุปัสสนา จึงจะได้ผลดี เพราะมีอารมณ์ไม่หยาบ และไม่ละเอียดเกินไป พอเหมาะพอดีกันกับบุคคลเช่นนั้น

    ถ. บุคคลประเภทวิปัสสนายานิก ที่มีปัญญากล้า ควรจะเจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะได้ผลดี เพราะเหตุไร?
    ต. ควรเจริญสติปัฏฐาน ข้อที่ ๔ คือ ธัมมานุปัสสนา จึงจะได้ผลดี เพราะมีอารมณ์ละเอียดมาก เหมาะกับบุคคลเจ้าปํญญาเช่นนั้น

    ถ. เพราะเหตุไร พระพุทธองค์จึงตรัสสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ เท่านี้?
    ต. ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เพียง ๔ โดยไม่หย่อน ไม่เกิน ก็เพราะเหตุแห่งเวไนยสัตว์ ผู้จะรับปฏิบัตินั้น มีอยู่ ๔ จำพวกเท่านั้น คือ ตัณหาจริตจำพวก ๑ ทิฏฐิจริตจำพวก ๑ สมถยานิกจำพวก ๑ วิปัสสนายานิกจำนวนพวก ๑ ดังที่ได้บรรยายมาแล้วข้างต้น

    ถ. เหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ มีเพียงเท่านี้หรือ?
    ต. ยังมีอยู่อีก คือ การที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ ก็เพื่อละวิปัลลาส คือความเข้าใจผิด ๔ อย่าง ได้แก่
    ๑. สุภวิปัลลาส เข้าใจผิดคิดว่า ร่างกายเป็นของงาม
    ๒. สุขวิปัลลาส เข้าใจผิดคิดว่า ร่างกายเป็นสุข
    ๓. นิจวิปัลลาส เข้าใจผิดคิดว่า ร่างกายเป็นของเที่ยง
    ๔. อัตตวิปัลลาส เข้าใจผิดคิดว่า ร่างกายเป็นตัวตน
    ถ. อันที่จริง ร่างกายนั้น เป็นของงาม หรือไม่งาม สัตว์ทั้งหลายพากันเห็นอย่างไร?
    ต. อันที่จริง ร่างกายนั้นเป็นอสุภะ เป็นของไม่งาม เป็นเหมือนซากศพ แต่สรรพสัตว์เห็นเป็นสุภะ คือเป็นของสวย เป็นของงาม จึงได้พากันหลงติดอยู่ เมื่อหลงติดอยู่ไม่หลุดพ้นไปได้จากวัฏฏสงสาร

    ถ. เจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะละวิปัลลาสข้อต้น คือ สุภะได้ เพราะเหตุไร?
    ต. เจริญสติปัฏฐานข้อ ๑ คือกายานุปัสสนา จึงจะละสุภวิปัลลาสได้ เพราะเห็นตรงกันข้าม คือ เห็นว่าเป็นอสุภะ แปลว่าไม่สวย ไม่งาม คือเห็นว่าไม่มีสวย ไม่มีงามที่ไหนเลย มีแต่เป็นหลุมมูตรหลุมคูถอยู่ทั้งตัว เช่นขี้ตา ขี้หู ขี้จมูก ขี้ฟัน ขี้ไคล อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น

    ถ. เจริญสติปัฏฐานข้อไหน จึงจะละวิปัลลาสข้อที่ ๒,๓,๔ ได้ เพราะเหตุไร?
    ต. เจริญสติปัฏฐานข้อที่ ๒ จึงจะละสุขวิปัลลาสได้ เพราะเห็นว่า เป็นทุกข์
    เจริญสติปัฏฐานข้อที่ ๓ จึงจะละนิจวิปัลลาสได้ เพราะเห็นว่าไม่เที่ยง
    เจริญสติปัฏฐานข้อที่ ๔ จึงจะละวิปัลลาสข้อที่ ๔ ได้เพราะเห็นว่าเป็นอนัตตา

    ถ. ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ เท่านี้ ไม่ยิ่งไม่หย่อน?
    ต. เพราะเหตุว่า วิปัลลาส คือ ความเห็นผิด หลงผิด เข้าใจผิด สำคัญผิด ของสัตว์ทั้งหลายในโลก ก็มีเพียง ๔ เท่านี้ การที่พระพุืทธองค์ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ ก้เพื่อละวิปัลลาสทั้ง ๔ นั่นเอง

    ถ. นอกจากที่บรรยายมานี้ ยังมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่ เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔?
    ต. ยังมีอยู่อีก คือ การที่พระพุทธองค์ตรัสสติปัฏฐาน ๔ ไว้ ก็เพื่อละโอฆะ ๔ โยคะ ๔ อาสวะ ๔ คัณฐะ ๔ อุปาทาน ๔ อคต ๔ และเพื่อกำหนดรู้อาหาร ๔

    . สติปัฏฐาน ทำไมท่านจึงกล่าวเป็น เอกายนมรรคบ้าง ท่านกล่าวว่ามี ๔ บ้าง จะไม่ขัดกันหรือๆ อย่างไร?
    ต. ธรรมของพระพุทธองค์ไม่มีขัดกันเลย ที่เห็นขัดกัน ก็เพราะเรายังไม่เข้าใจดีพอ ที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นเอกายนมรรค แปลว่า ทางเส้นเดียวกัน ว่าโดยที่ประชุมคือ ประชุมลงสู่ที่แห่งเดียว ได้แ่ก่พระนิพพาน ที่ท่านกล่าวว่ามี ๔ นั้น ว่าด้วยประเภทแห่งอารมณ์

    ถ. ปัญหานี้ยังไม่ขาวดี คือยังไม่แจ่มแจ้งดี ขอให้ยกอุปมาอุปมัยมาประกอบอีก?
    ต. มีอุปมาอุปมัย ดังนี้ คือ
    ในเมืองหนึ่งมีประตู ๔ ด้าน บุคคลนำสิ่งของมาจากด้านทิศตะวันออก ก็ย่อมเข้าไปสู่เมืองทางประตูด้านทิศตะวันออกนั่นเอง เมื่อบุคคลนำสิ่งของมาจากด้านทิศตะวันตก ก็ย่อมเข้าไปสู่เมืองทางประตูด้านทิศตะวันตก เมื่อบุคคลนำสิ่งของมาจากด้านทิศเหนือ ก็ย่อมเข้าไปสู่เมืองทางประตูด้านทิศเหนือ เมื่อบุคคลนำสิ่งของมาจากด้านทิศใต้ ก็ย่อมเข้าไปสู่เมืองทางด้านทิศใต้
    เมื่อรวมความแล้ว คนทั้ง ๔ นั้น ย่อมถึงในเมืองด้วยกันทั้งนั้น ต่่างกันแต่ว่ามาคนละทิศละทางเท่านั้น ข้อนี้ฉันใด ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ฉันนั้น พระนิพพานเหมือนกับตัวเมือง โลกุตตรมรรค มีองค์ ๘ เหมือนกับประตู สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกับทิศทั้ง ๔

    ชนทั้งหลาย ที่กำลังลงมือปฏิบัติ ตามกายานุปัสสนา คือ เจริญกายานุปัสสนา ๑๔ อย่าง ย่อมประชุมลงสู่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น ด้วยอริยมรรคที่บังเกิดแล้ว เพราะอานุภาพแห่งการเจริญกายานุปัสนา

    ชนทั้งหลายที่กำลังลงมือปฏิบัติตามเวทนานุปัสสนา คือ เจริญเวทนานุปัสสนา ๙ อย่าง ย่อมประชุมลงสู่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น ด้วยอริยมรรคที่บังเกิดแล้ว เพราะอานุภาพแห่งการเจริญเวทนานุปัสสนา

    ชนทั้งหลายที่กำลังลงมือปฏิบัติตามจิตตานุปัสสนา คือเจริญจิตตานุปัสสนา ๑๖ อย่าง ย่อมประชุมลงสู่พระนิพพาแห่งเดียวเท่านั้น ด้วยอริยมรรคที่บังเกิดแล้ว เพราะอานุภาพแห่งการเจริญจิตตานุปัสสนา

    ชนทั้งหลายที่กำลังลงมือปฏิบัติตามธัมมานุปัสสนา คือ เจริญธัมมานุปัสนา ๕ อย่าง ย่อมประชุมลงสู่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น ด้วยอริยมรรคที่บังเกิดแล้ว เพราะอานุภาพแห่งการเจริญธัมมานุปัสสนา

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานนั้น พึงทราบว่า มีอย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งที่ประชุม ประชุมลงสู่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น และพึงทราบว่ามี ๔ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์

    ถ. จะกำหนดตรงไหนจึงจะถูกสติปัฏฐานทั้ง ๔?
    ต. กำหนดที่รูปกับนาม รูปนามอยู่ที่ไหนให้กำหนดลงไปในที่นั้น

    ถ. รูปนามนั้น ถ้าจะว่าโดยส่วนหยาบๆ แล้ว อยูที่ไหน?
    ต. อยู่ที่กาย กับ ใจของแต่ละบุคคลนี้เอง

    ถ. ถ้าจะว่าโดยส่วนละเอียดแล้ว รูปนามอยู่ที่ไหน?
    ต. อยู่ตามอายตนะภายในและอายตนะภายนอก

    ถ. อายตนะภายใน มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. อายตนะภายใน มี ๖ คือ
    ๑. จักขายตนะ อายตนะ คือ ตา
    ๒. โสตายตนะ อายตนะ คือ หู
    ๓. ฆานายตนะ อายตนะ คือจมูก
    ๔. ชิวหายตนะ อายตนะ คือ ลิ้น
    ๕. กายายตนะ อายตนะ คือ กาย
    ๖. มนายตนะ อายตนะ คือ ใจ
    ถ. อายตนะ ภายใน ๖ นี้ เป็นรูปเท่าไร เป็นนามเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. เป็นรูป ๕ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย เป็นนาม ๑ คือใจ

    ถ. อายตนะภายนอก มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. อายตนะภายนอก มี ๖ คือ
    ๑. รูปายตนะ อายตนะ คือ รูป
    ๒. สัททายตนะ อายตนะ คือ เสียง
    ๓. คันธายตนะ อายตนะ คือ กลิ่น
    ๔. รสายตนะ อายตนะ คือ รส
    ๕. โผฏฐัพพายตนะ อายตนะ คือ โผฏฐัพพะ
    ๖. ธัมมายตนะ อายตนะ คือ ธรรม
    ถ. อายตนะภายนอก ๖ นี้ เป็นรูปเท่าไร เป็นนามเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. เป็นรูป ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นทั้งรูป ทั้งนาม ๑ คือ ธัมมายตนะ ได้แก่ สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน ๑ รวมเป็น ๖๙ เรียกว่า ธัมมายตนะ หรือธัมมธาตุ ก็เรียก

    ถ. อายตนะเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อไร?
    ต. เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกสัมผัส ใจคิด ธรรมารมณ์

    ถ. ธรรมารมณ์ ธัมมายตนะ ธรรมธาตุ ต่างกันอย่างไร?
    ต. ต่างกันอย่างนี้ คือ
    ๑. ธรรมารมณ์ มี ๖ คือ ปสาทรูป สุขุมรูป จิต เจตสิก บัญญัติ นิพพาน
    ๒. ธัมมายตนะ กับธรรมธาตุ มี ๓ คือ สุขุมรูป เจตสิก นิพพาน
    ถ. จะกำหนดที่ไหน จึงจะถูกขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท?
    ต. ให้กำหนดตามสติปัฏฐาน ๔ หรือกล่าวโดยย่อๆ ก็คือ ให้กำหนดที่รูปกับนาม เช่นกำหนดที่พอง กับ ยุบ เป็นต้น

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่อง มหาสติปัฏฐานข้อที่ "ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา" มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.

    thx1

    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า ๒๑-๓๐










     

แชร์หน้านี้

Loading...