(๒) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 22 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๑๐
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๕
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า นิพฺพานสฺส -สจฺฉิกิริยาย ต่อ)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องการทำพระนิพพานให้แจ้ง ต่อไป

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๑ มีอธิบายโดยพิศดารเป็นอย่างไรบ้าง?
    ต. มีอธิบายโดยพิศดารเป็นอย่างนี้ คือ ธรรมดาพระอริยเจ้าผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว แต่ยังมีเบิญจขันธ์เหลือ คือ ยังมีรูปมีนามอยู่ ชีวิตประจำวันของท่านเหล่านั้นละองค์ ๕ ได้เด็ดขาด องค์ ๕ นั้น ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่
    ๑. กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในกามคุณ ๕
    ๒. พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น
    ๓. ถีนมิทธะ จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ท้อใจ อ่อนใจ
    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ
    ๕. วิจิกิจฉา สงสัยลังเลใจ
    นิวรณ์ ๕ นี้ พระอริยเจ้าผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ละได้อย่างเด็ดขาดแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของท่าน จึงเป็นอยู่อย่างไม่นิวรณ์ ๕ นี้เลย

    ถ. อริยวาสธรรมข้อที่ ๒ มีความพิศดารเป็นประการใดบ้าง?
    ต. มีความพิศดารเป็นอย่างนี้ คือ ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ประกอบด้วยองค์ ๖ ได้แก่

    ๑. เวลาเห็นรูปทางตา ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ มีใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะอยู่
    ๒. เวลาได้ยินเสียงทางหู ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ มีใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะอยู่
    ๓. เวลาได้กลิ่นทางจมูก ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ มีใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะอยู่
    ๔. เวลาลิ้มรสทางลิ้น ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ มีใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะอยู่
    ๕. เวลาถูกโผฏฐัพพะทางกาย ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ มีใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะอย่
    ๖. เวลารู้ธรรมารมณ์ทางใจ ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ มีใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะอยู่

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๓ มีอธิบายเป็นประการใดบ้าง?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ ที่ว่า "มีการรักษาอย่างเอกอุ" นั้น ได้แก่ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ในพระศาสนานี้ มีใจได้รับการรักษาด้วยสติเป็นอย่างดี หมายความว่าท่านผู้นั้น ได้เจริญสติปัฏญาน๔ บริบูรณ์แล้ว จะเดิน ยืน นั่ง นอน ทุกๆ อิริยาบถจะปรากฎว่า ท่านมีสติรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยและเต็ม ๑๐๐% อยู่เสมอ

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๔ มีอธิบายเป็นประการใดบ้าง?

    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารนี้ มีที่พัก ที่อาศัย ถึง ๕ อย่าง คือ

    ๑. สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ ท่านพิจารณาโดยรอบคอบ โดยแยบคายก่อนแล้ว จึงบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ ยาแก้ไข้ ตัวอย่างเช่น
    พิจารณาจีวรว่า "ปฏิสงฺขา โยนิโส จีวรํ ปฏิเสวามิ" เราพึงพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ใช้สอยจีวรเพียงเพื่อบำบัดหนาว บำบัดร้อน บำบัดสัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพื่อปกปิดอวัยวะที่ยั่วความอาย

    พิจารณาบิณฑบาตรว่า "ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ" เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันบิณฑบาตร ไม่ใช่ฉันเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อสดใส เพื่อเปล่งปลั่ง ฉันเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จักบำบัดเวทนาเก่า และไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น รูปนามก็จะเป็นไปได้ ไม่มีโทษ เป็นอยู่ด้วยความผาสุก

    พิจารณาเสนาสนะ คือ ที่อยู่อาศัยว่า "ปฏิสฺงขา โยนิโส เสนาสนํ ปฏิเสวามิ" เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ใช้สอยเสนาสนะ เพื่อบำบัดหนาว บำบัดร้อน บำบัดสัมผัส เหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู และยินดีในการหลีกเร้น

    พิจารณายาแก้ไข้ ว่า "ปฏิสฺงขา โยนิโส คิลานปจฺจยเภสชฺชปริชารํ ปฏิเสวามิ" เราพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้ยาแก้ไข้ เพื่อบำบัดเวทนามีอาพาธต่างๆ เป็นมูล ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่ให้มีความลำบากเป็นอย่างยิ่ง
    ๒. สงฺขาเยกํ อธิวาเสติ พิจารณาโดยรอบคอบ โดยแยบคายก่อนแล้วจึงรับปัจจััย ๔
    ๓. สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ พิจารณาโดยรอบคอบ โดยแยบคายก่อนแล้วจึงเว้นปัจจัย ๔
    ๔. สงฺขาเยกํ วิโนเทติ พิจารณาโดยรอบคอบ โดยแยบคายก่อนแล้วจึงบรรเทา

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๕ มีอธิบายอย่างไร?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านละความเห็นผิดต่างๆ ได้หมดสิ้น เช่น เห็นผิดว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกไม่มีที่ิสิ้นสุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนี้ ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ เหล่านี้ เป็นต้น

    ถ. อริยวาสธรรม
    ข้อที่ ๖ มีอธิบายอย่างไร?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านละการแสวงหาได้หมดสิ้นแล้ว เช่นการแสวงหากาม ท่านก็ละได้หมดแล้ว การแสวงหาภพ ท่านก็ละได้หมดแล้ว การแสวงหาพรหมจรรย์ ก็สงบระงับแล้ว

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๗ มีอธิบายอย่างไร?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีความดำริไม่ขุ่นมัว เพราะท่านละความดำริในกามได้หมดแล้ว ละความดำริในพยาบาทได้หมดแล้ว ละความดำริในการเบียดเบียนได้หมดแล้ว

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๘ มีอธิบายอย่างไร?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านละสุข ละทุกข์ โ่ทมนัส โสมนัส ในก่อน ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านเข้าถึงฌานที่ ๔ ซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ มีอุเบกขา มีสติบริสุทธิ์อยู่

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๙ มีอธิบายอย่างไร?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตหลุดพ้นจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ ได้หมดสิ้นแล้ว

    ถ. อริยวาสธรรม ข้อที่ ๑๐ มีอธิบายอย่างไร?
    ต. มีอธิบายอย่างนี้ คือ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านละราคะ ละโทสะ และโมหะ ได้หมดสิ้นแล้ว ท่านถอนรากทั้งหมดดุจบุคคลถอนรากตาลทั้งต้น ฉะนั้นเป็นอันว่า ราคะ โทสะ โมหะ ในขันธสันดานของท่านไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

    พระอริยเจ้าทั้งหลายในอดีตกาลก็อยู่ในอริยวาสธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้มาแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายในอนาคตก็จักอยู่ในอริยวาสธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้ พระอริยเจ้าทั้งหลายในปัจจุบัน ก็ย่อมอยู่ในอริยวาสธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้

    ถ. พระนิพพาน มีรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร มีสีสรรอย่างไร มีลักษณะประมาณเท่าไร?
    ต. ปัญหาข้อนี้ พระนาคเสนได้ตอบปัญหาของพระยามิลินท์ไว้แล้วว่า
    "อปฺปฏิภาคํ มหาราช นิพฺพานํ น สกฺกา นิพฺพานสฺส รูปํ วา สณฺฐานํ วา อวยวํ วา ปมาณํ โอปมฺเมน วา การเณน วา เหตุนา วา นเยน วา อุปทสิสิตุํํั"(เหนือตุมี ํ อยู่ แต่จะพิมพ์ให้มี ํ ด้วยทำไม่เป็น)
    ดูกร มหาบพิตร พระนิพพานนั้นไม่มีที่เปรียบ ไม่สามารถจะแสดงรูปร่างสัณฐาน อวัยวะ หรือประมาณของพระนิพพานให้เห็นได้ ทั้งโดยข้อเปรียบเทียบ ทั้งโดยเหตุ โดยปัจจัย หรือโดยนัย เพราะพระนิพพานไม่มีสีสรรอย่างไร ไม่มีลักษณะสัณฐาน ไม่มีที่เปรียบเทียบ และบอกไม่ได้ว่า จะเปรียบเทียบเหมือนอะไร

    ถ. ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าจะรู้ได้อย่างไรว่าถึงพระนิพพาน?
    ต. พระนาคเสน ตอบว่า
    ตสฺส ตํ อปราปรํ มนสิกโรโต ปวตฺติ สมติกฺกมิตฺวา อปฺปวตฺติ โอกฺกมติ อปฺปวตฺตมนุปฺปตฺโต มหาราช สมฺมาปฏิปนฺโร นิพฺพานํ สจฺฉิกโรตีติ วุจฺจติ

    เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม กำหนดพิจารณาอยู่ซึ่งรูปนามนั้น อันเกิดๆ ดับๆ ติดต่อกันไปไม่ขาดสาย ก้าวล่วงรูปนามที่เกิดดับไม่ขาดสายแล้ว หยั่งลงสู่สภาพที่ตรงกันข้ามกับรูปนาม คือ ไม่ใช่รูปนาม ไม่มีอีกแล้ว
    อุปมาเหมือนที่ตรงกันข้ามกับมืด คือสว่าง ตรงกันข้ามกับสว่าง คือมืด ตรงกันข้ามกับร้อน คือเย็น ตรงกันข้ามกับเย็น คือร้อน ตรงกันข้ามกับข้างล่าง คิอข้างบน ตรงกันข้ามกับข้างบน คือข้างล่าง ตรงกันข้ามกับขวา คือซ้าย ตรงกันข้ามกับซ้าย คือขวา ตรงกันข้างกับรูปนามที่ปรากฎเลื่อมอยู่โดยไม่ขาดสาย ก็คือไม่มีรูปนามที่ปรากฏเสื่อมอยู่โดยไม่ขาดสายนั่นเอง มีสภาพสงบนิ่ง อารมณ์หรือความรู้สึกถึงความสงบ เหมือนไฟที่กำลังลุกแล้วดับไป ฉะนั้น อย่างนี้ คือพบซึ่งพระนิพพาน
    ดูกร มหาบพิตร ผู้ใดปฏิบัติตามทางถูก ผู้นี้ย่อมถึงสภาพตรงกันข้ามกับรูปนาม นิพฺพานํ สจฺฉิกโรตีติ วุจิจติ นี้ เรียกว่า ผู้กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน


    ถ. ผู้ที่จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น จะต้องปฏิบัติอย่างไร?
    ต. ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔

    ถ. สมัยทุกวันนี้ จะปฏิบัติได้ไหม? เพราะเหตุไร?
    ต. ปฏิบัติได้ เพราะสติปัฏฐาน ๔ ยังมีอยู่

    ถ. ชาวพุทธส่วนมากก็รู้สติปัฏฐาน ๔ คืออยู่ด้วยกันทั้งนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่เพราะเหตุไรกิเลสจึงไม่หมดไม่สิ้นไปเล่า?
    ต. เพราะว่ารู้เฉยๆ คือ รู้ตามตำรา แต่ยังไม่เห็น

    ถ. ทำไม จึงไม่เห็น?
    ต. เพราะไม่มีปัญญา

    ถ. ทำไมจึงไม่มีปัญญา?
    ต. เพราะยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔

    ถ. อุปมาเหมือนอย่างไร
    ต. เหมือนบุคคลรู้อยู่แล้วว่า หนทางนี้จะไปถึงไหน แต่ยังไม่ได้เดินทาง ตัวอย่างเช่น รู้อยู่ว่า รถไฟที่สถานีหัวลำโพงนั้น มีอยู่หลายขบวน ไปจังหวัดหนองคายก็มี ไปจังหวัดเชียงใหม่ก็ดี ไปอรัญยประเทษก็มี ไปสุไหงโกลกก็มี แต่ยังไม่ได้ขึ้นรถไฟไปดูจนถึงสถานีปลายทาง ถึงแม้เจ้าหน้าที่การรถไฟจะเขียนป้ายตัวโตๆ ติดประกาศบอกไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ออกจากสถานีต้นทางเวลาเท่านั้น ถึงสถานีปลายทางเวลาเท่านั้น ถ้าเราจะไม่ขึ้นรถไปดูจริงๆ เราก็ย่อมจะไม่ถึงสถานีปลายทางได้เป็นอันขาด และก็จะไม่รู้สภาพความจริงของสถานีนั้นๆ ของจังหวัดนั้นๆ เลย

    ถ. ผู้ที่เรียนรู้ ท่องได้ จำได้ สวดได้จนคล่องปาก จะไม่ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา หรือ เช่น ท่องได้ว่า "กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ" ดังนี้ เป็นตัวอย่าง
    ต. ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาเหมือนกัน

    ถ. เมื่อมีปัญญาแล้ว ทำไมจึงยังละกิเลสไม่ได้เล่า?
    ต. ปัญญาที่จะละกิเลสนั้น แตกต่างจากปัญญาอย่างนี้มาก

    ถ. ถ้าอย่างนั้น ปัญญาก็มีอยู่หลายชั้น หลายอย่างใช่ไหม?
    ต. ปัญญามี ๒ อย่างก็มี คือ โลกียปัญญา ปัญญาพาคนวนอยู่ในโลก ๑ โลกุตตรปัญญา ปัญญาเหนือโลก ได้แก่ปัญญาละกิเลส ปัญญาทำลายกิเสลนั้นเอง ๑
    ปัญญามี ๓ อย่างก็มี คือ สุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เกิดจากการเรียน เกิดจากการดูหนังสือ เกิดจากการท่องการจำได้ จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการนึกคิด เช่นคิดทำรถยนต์ รถไฟ เรือบิน ระเบิด เป็นต้น ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔
    ปัญญามี ๔ อย่างก็มี คือ
    ๑. สุตมปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับตรับฟัง เป็นต้น
    ๒. ววัตถานปัญญา ปัญญาเกิดจากการเริ่มลงมือเจริญสติปัฏฐาน ๔
    ๓. สัมมสนปัญญา ปัญญาเกิดจากการพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ มีอยู่ ๑๓ ชั้น
    ๔. อภิสมยปัญญา ได้แก่ปัญญาทำลายกิเลส ละกิเลสได้เด็ดขาด ซึ่งเป็นผลของการเจริญสติปััฏฐาน ๔ ชั้นสูงสุด
    ถ. ในปัญญาทั้งหลายเหล่านี้ ปัญญาชนิดไหนเล่า ละกิเลสได้?
    ต. โลกุตตรปัญญา กับ อภิสมยปัญญา เท่านั้น จึงจะละกิเลสได้เด็ดขาด

    ถ. ภาวนามยปัญญา ก็เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน จะทำลายกิเลสไม่ได้หรือ?
    ต. ทำลายได้ก็มี ทำลายไม่ได้ก็มี

    ถ. หมายความว่าอย่างไร ขอฟังอธิบาย?
    ต. หมายความว่า ภาวนามยปัญญานั้น มี ๑๓ ขั้นคือ
    ๑. ปัญญาเห็นความเกิดดับของรูปนาม ซึ่งเรียกว่า อุทยัพพยญาณ
    ๒. ปัญญาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม ซึ่งเรียกว่า ภังคญาณ
    ๓. ปัญญาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว ซึ่งเรียกว่า ภยญาณ
    ๔. ปัญญาเห็นทุกข์โทษของรูปนาม ซึ่งเรียกว่า อาทีนวาญาณ
    ๕. ปัญญาที่เบื่อหน่ายรูปนาม ซึ่งเรียกว่า นิพพิทาญาณ
    ๖. ปัญญาที่อยากพ้นจากรูปนาม ซึ่งเรียกว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ
    ๗. ปัญญาที่พิจารณาพระไตรลักษณ์ซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอ ซึ่งเรียกว่า ปฏิสังขาญาณ๘. ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม ซึ่งเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ
    ๙. ปัญญาที่เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ
    ๑๐. ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชน คือตัดขาดจากโคตรของปุถุชนเข้าสู่อริยโคตร ซึ่งเรียกว่า โคตรภูญาณ
    ๑๑. ปัญญาที่ตัดกิเลส ละกิเลสได้เด็ดขาด เรียกว่า มรรคญาณ
    ๑๒. ปัญญาที่เป็นผลของมรรค เรียกว่า ผลญาณ๑๓. ปัญญาที่กลับไปพิจารณากิเลสที่ละ ที่เหลือ พิจารณามรรค ผล นิพพานที่ได้ผ่านมาแล้ว เรียกว่า ปัจจเวกขณญาณ

    ปัญญาทั้ง ๑๓ ขั้นนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นผลของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น ที่ละกิเลสได้เด็ดขาดมีอยู่ข้อเดียวเท่านั้น คือมรรคญาณ นอกนั้นละไม่ได้เด็ดขาด

    ถ. โลกุตตรปัญญา ต่างจากมรรคญาณอย่างไร?
    ต. เป็นอันเดียวกัน

    ถ. อภิสมยปัญญา กับมรรคญาณ ต่างกันหรือเหมือนกัน?
    ต. ต่างกันแต่ตัวหนังสือ ส่วนความหมายเป็นอันเดียวกัน คือมรรคญาณนั่นเอง

    ถ. ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกมาจบแล้ว แต่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ จะเอาปัญญาที่เรียนจบพระไตรปิฎกนั้นมาพิสูจน์สภาวะของภาวนามยปัญญาเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุไร?
    ต. เอามาพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นปัญญาคนละชั้น อุปมาง่ายๆ เหมือนคลื่ีนวิทยุ ถ้าคลื่นไม่ตรงกัน ก็รับกันไม่ได้ แม้โทรทัศน์ก็เหมือนกัน เช่น เปิดช่อง ๔ จะไปรับช่อง ๗ ก็ไม่ได้ เปิดช่อง ๗ จะไปรับช่อง ๔ ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน หรืออุปมาหนึ่งก็เหมือนนักเรียนอนุบล จะไปพิสูจน์ความรู้ชั้นมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเด็ดขาด เพราะพื้นความรู้ไกลกัน ต่างกันมาก ถ้าขืนไปพิสูจน์ ตายเปล่า ไม่มีวัน ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสจะพิสูจน์ได้เลย

    ถ. ขอให้ยกตัวอย่างในสมัยพระพุทธเจ้ามาประกอบอธิบาย?
    ต. ตัวอย่างได้แก่ พระโปฐิละ ซึ่งปรากฎอยู่ในธรรมบทภาค ๗ หน้า ๖๕ ความว่า

    เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อว่า โปฐิละ ท่านพระโปฐิละนั้น เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ สอนธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป พระศาสดาทรงดำริว่า ภิกษุนี้ไม่มีความคิดที่จัดทำการสลัดออกจากกิเลสแก่ตน เราจักยังเธอให้สังเวชสลดใจ จำเดิมแต่นั้นมา เวลาท่านมาผ้า พระพุทธเจ้าตรัสกะท่านว่า มาเถิด คุณใบลานเปล่า, นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า, แม้ในเวลาท่านลุกไป ก็ตรัสว่า คุณใบลานเปล่าไปแล้ว ท่านจึงคิดว่า เราทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถาสอนธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า คุณใบลานเปล่า พระองค์ตรัสเรียกเธออย่างนี้ ก็เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้ ท่านมีความสังเวชสลดใจเกิดขึ้น จึงคิดว่า "บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่า ทำสมณธรรม คือเจริญกรรมฐาน จึงจัดแจงบาตรจีวรเอง เมื่อสอนธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว พอองค์สุดท้ายออกไป ก็เป็นเวลาใกล้รุ่งแล้ว ท่านออกเดินทางไปหาสำนักปฏิบัติธรรม เข้าไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งไหว้พระสังฆเถระแล้ว กล่าวว่า "ภณฺเต อาวสฺสโย เม โหถ" ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พี่งของกระผมด้วยเถิืด

    พระสังฆเถระพูดว่า คุณ คุณเป็นพระธรรมกถึก ธรรมอะไรๆ ที่พวกเราทราบได้ก็เพราะอาศัยคุณ ทำไมคุณพูดอย่างนี้

    พระโปฐิละตอบวา ท่านผู้เจริญ ขอท่านอย่างทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่กระผม

    พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ส่งท่านไปสู่สำนักพระเถระผู้น้อย เพราะเห็นว่า ท่านเรียกมาก มีมานะมาก แม้พระเถระผู้น้อยก็ส่งท่านต่อไปโดยทำนองเีดียวกัน จนถึงสำนักของสามเณรน้อย มีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น ซึ่งบวชทีหลังเพื่อน กำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ ท่านพระโปฐิละได้ลดมานะลงไปมาก จนถึงกับต้องประคองอัญชลีในสำนักของสามเณรน้อย กล่าวว่า "อาวสฺสโย เม โหหิ สปฺปุริส" ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พี่งแก่กระผมด้วยเถิด

    สามเณรพูดว่า ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้น ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นพหูสูตร ธรรมอะไรๆ ผมควรรู้ในสำนักของท่าน

    พระโปฐิละกล่าววิงวอนว่า ท่านสัตตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พี่งของกระผมให้ได้เถอะ

    สามเณรกล่าวว่า ท่านขอรับ ถ้าท่่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ กระผมจะเป็นที่พึ่งของท่าน

    พระโปฐิละกล่าวตอบว่า ผมอดทนได้ ท่านสัตตบุรุษ แม้ถึงท่านจะบอกให้ผมเข้าไปสู่กองไฟ แม้ก็จักไปได้ในทันทีเลย

    ลำดับนั้น สามเณรน้อยจึงกล่าวกะท่านว่า ท่านขอรับ ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ จงลงไปสู่สระนี้ จริงอยู่ สามเณรนั้นก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า ท่านห่มจีวรถึง ๒ ชั้น ล้วนแต่มีราคามากทั้งนั้น แต่ที่บอกให้ลงสระเช่นนั้น ก็เพื่อจะทดลองดูว่า ท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้จริงหรือไม่ พอพูดขาดคำ ท่านก็ลงไปในสระทันที พอชายจีวรท่านเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า "เอถ ภฺนเต" มาเถิดท่านขอรับ พอได้ยินคำพูดของสามเณร ท่านก็รีบขึ้นมาทันที สามเณรกล่าวกะท่านผู้ที่กำลังยืนอยู่ว่า "ท่านผู้เจริญ จอมปลวกแห่งหนึ่ง มีอยู่ ๖ ช่อง มีเหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในภายในทางช่องๆ หนึ่ง บุคคลผู้ประสงค์จะจับเหี้ย จึงอุดช่องทั้ง ๕ นั้นเสีย ขุดตามช่องที่ ๖ ต่อไป ก็สามารถจับเหี้ยนั้นได้ตามใจ ข้อนั้นฉันใด ทวารทั้ง ๖ ก็ฉันนั้น ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ เสียแล้ว จงรีบเจริญกรรมฐานทางใจ ด้วยนัยที่สามเณรให้มาเพียงเท่านี้ ท่านได้มีความแจ่มแจ้งดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งประทีป ฉะนั้น เพราะท่านเป็นพหูสูตร

    พระโปฐิละกล่าวว่า ท่านสัตตบุรุษ คำสอนเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว ต่อจากนั้นท่านก็เี้ริ่มเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามนัยแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔

    ขณะนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์ ประทับอยู่ในที่ไกลประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ทอดพระเนตรดูภิกษุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า

    ยเถวายํ ภิกฺขุ ภูริปญฺโญ, เอวเมว เตน อติตานํ ปติฏฺจาเปตุํํํํ วฏฺฏติ

    ภิกษุนี้จะเป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ด้วยประการใด การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นนั่นแล ย่อมสมควร ดังนี้ ทรงเปล่งพระรัสมีไปประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้นแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า
    โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
    เอตํ เทฺธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
    ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ

    ปัญญาย่อมเกิดเพราะการทำกรรมฐาน ปัญญาสิ้นไปเพราะไม่ทำกรรมฐาน บัณฑิตรู้ทางสองแพร่ง แห่งความเจริญและความเสื่อมนี้แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้

    พระโปฐิละปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ ตามนัยที่สมเด็จพระชินสีห์ทรงแนะนำพร่ำสอน ไม่ช้าไม่นานเลย ท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์

    เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้เ่ด่นชัดที่สุดแล้วว่า ผู้ที่จะพิสูจน์สภาวะธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนานั้น ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ เพียงปริยัติพิสูจน์ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น นักปราชญ์จึงได้แสดงหลักธรรมใหญ่ๆ ไว้เป็น ๓ ประการ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    วันนี้ ได้บรรยายอริยวาสธรรม ๑๐ ประการ พร้อมทั้งปกิณณกธรรมอื่นๆ มาก็นับว่า พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่าน้น

    thx1

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ป.ธ.๙)
    หน้า ๑๐ - ๒๐


    หมายเหตุ: ขอรบกวนผู้รู้ช่วยแนะนำวิธิ พิมพ์ข้อความที่มี ุ และ ํ อยู่ร่วมอักษรเดียวกัน เช่น คำว่า
    อุปทสิสตุ และ ปติฏฺฐาเปตุ จะเป็นพระคุณยิ่ง







     

แชร์หน้านี้

Loading...