(๒) ผจญมาร

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 28 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    เหตุที่ข้าพเจ้าถูกจับกุมคุมขัง

    การงาน ๓ ประการที่ข้าพเจ้าสร้างขึ้นมาใหม่ คือ
    ๑. การส่งพระภิกษุนักเรียนพุทธศาสนบัณฑิต ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
    ๒. ขอพระอาจารย์ชั้นธรรมจริยะจากประเทศพม่ามาให้ช่วยสอนพระอภิธรรมปิฎก
    ๓. ฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ คือตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เป็นแห่งแรก แล้วขยายแพร่ไปสู่ขั้นจังหวัดและขั้นอำเภอต่างๆ เกือบทั่วประเทศ
    การงานที้ง ๓ ประเภทนี้ ยังไม่มีใครสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย ถึงแม้ว่าคุณพี่หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน สำนักเรียนเดียวกัน จะได้กล่าวเป็นเชิงคำสุภาษิตไว้่ว่า
    จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
    ไม่มีใคร อยากจะเห็น เราเด่นเกิน
    ข้าพเจ้าก็มีความยินดีเต็มใจที่จะรับสนองผลนั้นด้วยความสมัครใจ ขอแต่ให้การงานนั้นๆ ซึ่งยังไม่มีให้มีขึ้น ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หมายความว่ายอมเสียสละทุกอย่างเพื่อแลกเอางานนั้น ดังเช่น พระภิกษุไทยเคยนิยมไปเรียนต่างประเทศ ประเทศไทยไม่เคยเปิดสอนพระพุทธวจนะชั้นพระอภิธรรมปิฎก ชาวพุทธไทยไม่เคยตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การงานทั้ง ๓ ประการนี้ บัดนี้ได้มีขึ้นแล้วในวงการพระพุทธศาสนาในเมืองไทย คือการงานทั้ง ๓ ประเภทนี้ได้มาเป็นสมบัติของชาวพุทธไทยแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ หากเราจะได้สูญเสียอะไรไปบ้าง ก็ควรจะยอมเสียด้วยความยินดี ไม่ควรจะเสียอกเสียใจเพราะเหตุนี้เลย

    อีกประการหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาและเป็นแม่กองธรรมสนามเหลวงครั้งกระโน้น ข้าพเจ้าได้พิจารณาเห็นประโยชน์แล้วได้นำเอาปัญหาธรรมและปัญหาธรรมศึกษาไปทำการเปิดสนามสอบที่ประเทศมาเลเซียเป็นครั้งแรก ทางการคณะสงฆ์ถือว่าเป็นการนำพระพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และเป็นมูลเหตุให้แม่กองธรรมต่อๆ มาต้องนำปัญหาไปทำการเปิดสอบสืบมาจนปัจจุบัน

    อีกประการหนึ่ง การนำพระพุทธศาสนาไปเผยแพร่ในต่างประเทศ เช่นประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศอังกฤษ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศอินเดีย จนในบางประเทศรัฐบาลไทยไปสร้างวัดวาอารามเป็นรากเป็นฐาน มีพระสงฆ์ไทยออกไปทำการเผยแผ่อยู่เป็นประจำ ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศาสนาอยู่เสมอเป็นนิจนั้น ก็เพราะเหตุที่คณะเราได้ไปวางแนวทางไว้ก่อนแล้วทั้งนั้น

    อีกประการหนึ่ง เมื่อคณะฟื้นฟูศีลธรรมลำดับโลกซึ่งเรียกย่อว่า เอ็ม.อาร์.เอ. มาเผยแผ่ศีลธรรมที่ประเทสไทย ตั้งแต่ครั้งเมื่อสมัย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต่อมาบุคคลากรคณะนี้ได้ อาราธนาพระเถระไทย ผู้ทรงคุณวุฒิให้ไปร่วมทำการเผยแผ่ศีลธรรมไปทั่วโลก ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรับนิมนต์ไปเผยแผ่ศีลธรรมไปในโลกร่วมกัน ๒-๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อพ.ศ.๒๕๐๑ คร้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ การเผยแผ่ศีลธรรมร่วมกันนั้น ไม่ยึดถือศาสนาไหนของใครว่าเป็นสำคัญ แต่ให้ยึดถือธรรม ๔ ประการหมือนกันคือ ๑. จริงที่สุด ๒. บริสุทธิ์ที่สุด ๓. อดทนที่สุด ๔. เสียสละที่สุด ซึ่งตรงกับฆราวาส ๔ ข้อของศาสนาพุทธ คือ ๑. สัจจะ ๒. ทมะ ๓. ขันติ ๔. จาคะ จึงเป็นโอกาสให้เราไม่ขัดข้องและปฏิบัติได้โดยสะดวก การที่ไปเผยแผ่ศีลธรรมร่วมกับคณะบุคคลเอ็ม.อาร์.เอ. นั้น ก็คือไปเผยแผ่ธรรมในพุทธศาสนานั่นเอง ดังนั้น เราจึงไปร่วมกันได้อย่างสนิทชิดชอบเหมือนอย่างพี่อย่างน้องตลอดกาล

    ปรากฎว่า สำหรับพระสงฆ์ไทยนั้น เขานิมนต์ไปร่วมเผยแผ่แต่ข้าพเจ้ารูปเดียว และการนิมนต์นั้น เขานิมนต์มาเกือบทุกปี แต่เราไม่มีโอกาสที่จะไปร่วมได้ทุกปี

    สมัยหนึ่ง เมื่อประเทศพม่าตกลงจะประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนาพระไตรปิฎก ที่มหาปาสาณคูหา กรุงย่างกุ้งนั้น ทางราชการประเทศพม่าได้อาราธนามายังคณะสงฆ์ไทย ขอให้ส่งพระคณะสังคีติการกะไปร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนาครั้งนี้ด้วย ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีพิจารณา ที่ประชุมส่วนมากเห็นว่าไม่ควรส่งพระคณะสังคีติการกะไปร่วมประชุม เพราะประเทศพม่าเพิ่งจะได้เอกราชใหม่ๆ การคิดจะกระทำฉัฏฐสังคายนาครั้งนี้ เป็นการคิดใหญ่เกินตัว บางท่านก็เห็นว่าควรส่งไปร่วม แต่เป็นเพียงไปสังเกตการ ไม่ไปร่วมประชุมลงมติ ครั้งนั้นมีข้าพเจ้ารูปเดียว ที่เห็นว่าควรส่งพระคณะสังคีติการกะไทยไปร่วมประชุมด้วย เพราะเป็นเรื่องของการพระพุทธศาสนาและมีความหมายสำคัญมาก ด้วยเป็นการตรวจชำระพระพุทธวจนะ คือพระไตรปิฎก อันเป็นพระพุทธศาสนา

    เรื่องนี้ ทางประเทศพม่า ได้เสนอเรื่องผ่านไปทางคณะรัฐบาลอีกทางหนึ่ง คณะรัฐบาลมีมติให้คณะสงฆ์ไทยจัดส่งคณะพระสังคีติการกะไปร่วม ตามที่ประเทศพม่าได้อาราธนามา จึงเป็นอันคณะสงฆ์ไทยต้องจัดส่งพระคณะสังคีติการกะไทยไปร่วมประชุมกระทำสังคายนาพระไตรปิำฎกจนกว่าจะสังคายนาเสร็จ

    โดยที่ข้าพเจ้ามีมติเห็นชอบเพียงรูปเดียวว่า การจัดส่งพระคณะสังคีติการกะไทยไปร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนานั้น พระเถระที่เป็นสังฆมนตรีในเวลานั้น ไม่ยอมรับเป็นประธานนำพระสังคีติการกะไปร่วมประชุมเลย ยกให้เป็นภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นประธานนำพระคณะสังคีติการกะไทยไปร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่าถึง ๑๒ ครั้ง จนกระทั่งกระทำฉัฏฐสังคายนาแล้วเสร็จ และทำการฉลองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ พอดี

    เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นตัวการในการไปร่วมกระทำฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่าครั้งนั้น รัฐบาลพม่าซึ่งมี ฯพณฯ อูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี มี ฯพณฯ เซอร์ส่วยใต้ เป็นประธานาธิบดี ในเวลานั้น จึงได้แต่งตั้งข้าพเจ้าให้เป็น "อัคคมหาบัณฑิต" เป็นองค์แรกพร้อมกับท่าเจ้าคุณสังฆนายกแห่งประเทศกัมพูชา นับเป็นครั้งแรกที่พระภิกษุไทยได้รับเกียรติในต่างประเทศ หรือได้รับสมณศักดิ์พิเศษ ต่อมาภายหลังสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงทรงได้ตำแหน่งสูงขึ้นไปอีก เรียกว่า "อภิธชะมหารัฏฐคุรุ" สมเด็จพระวันรัต กิตติโสภณมหาเถร สังฆนายก วัดเบญจมบพิตร จึงได้รับตำแหน่ง "อัคคมหาบัณฑิต" เป็นรูปที่ ๒ ครั้งแรกท่านว่าจะไม่รับเพราะอายพระพิมลธรรม ซึ่งเขาได้รับมาก่อนแล้ว แต่เนื่องด้วยเป็นการเมือง รัฐบาลไทยในเวลานั้นถวายความแนะนำให้รับสนองศรัทธาเขา ท่านจึงยอมรับ

    เท่าที่พรรณนามานี้ ก็พอจะมองเห็นได้อย่างรางๆ แล้วว่า เพราะเหตุไร ข้าพเจ้าจึงถูกจ้ับกุมคุมขัง สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลต่อเหตุการณ์ อาจจะมองไม่เห็นอย่างแจ่มชัด เพื่อให้เป็นปรากฎอย่างแจ้งชัดแก่บุคคลผู้สนใจใคร่จะทราบตามความจริง ข้าพเจ้าขอถือโอกาสพรรณนาต่อไปอีกดังต่อไปนี้

    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าที่แล้วมานั้น มีบุคคลจำพวกหนึ่งสำคัญผิดไปว่า เป็นเรื่องที่เกิดจากคณะรัฐบาลไทยเอง ซึ่งขณะนั้นเป็นโอกาสของรัฐบาลของ ฯพณฯ จอมพล สฤษฐ์ ธนะรัชต์ แต่ตามที่เป็นจริงนั้นหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ที่ปรากฎออกมาให้คนภายนอกทราบ โดยมากนั้น เป็นเพราะรัฐบาลต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ คือเมื่อมีคนนำเรื่องนี้ขึ้นไปร้องเรียนว่าจะเป็นภัยแก่ประเทศแล้ว รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง จำจะต้องสั่งการเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันประเทศให้เข้าไปสอบสวนหรือจับกุมคุมขัง แล้วแต่กรณี เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสอดส่องพิจารณาชี้ขาดลงไปว่าเป็นอย่างไรแล้ว รัฐบาลจึงจะอนุมัติให้ลงโทษผู้ที่กระทำผิด และอนุมัติให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมคุาขังซึ่งไม่มีความตามที่ถูกกล่าวหา ประการหลังได้แก่ข้าพเจ้าเอง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรของชาติ ได้จับกุมไปคุมขังไว้ในห้องขัง ณ บริเวณกรมตำรวจเป็นเวลานานถึง ๕ พรรษา คือตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๕ จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ ทั้งนี้ก็เพราะตำรวจของรัฐบาลตาถั่ว และรัฐบาลก็ไม่ทราบว่าตำรวจของรัฐบาลตาถั่ว ผลก็คือราษฎรเดือดร้อนเป็นธรรมดา

    การที่ข้าพเจ้าถูกปลดจากตำแหน่งและถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ มาแล้วนั้น ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลของชาติ หรือองค์พระมหากษัตริย์ของประเทศ แต่เกิดจากคณะสังฆมนตรีของสงฆ์ไทยโดยตรง คือโดยที่ข้าพเจ้าได้ใช้สติัปัญญาเท่าที่มีอยู่ ทะนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาที่มีอยู่แล้วให้เจริญวัฒนาขึ้นตามส่วนตามควรแก่โอกาส และพยายามต่อเติมเสริมสร้างสิ่งทียังไม่มีให้มีขึ้น ดังที่พรรณนามาแล้ว ทำให้พระมหาเถระชั้นผู้ใหย่บางท่านไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าขัดขวางโดยตรง โดยเฉพาะพระมหาเถระระดับสังฆนายกและสังฆมนตรีบางท่าน

    ความจริงข้อนี้ ดังจะเห็นได้ครั้งหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้นำพระภิกษุ ซึ่งจะส่งไปศึกษาเล่าเรียนต่อที่ต่างประเทศ ไปกราบลาท่านสังฆนายกในสมัยนั้น เพื่อรับโอวาทและอนุโมทนา แต่ท่านผู้เป็นสังฆนายกในขณะนั้น แทนที่จะให้โอวาทอันไพเราะ เพื่อเป็นกำลังใจแก่พระภิกษุนักศึกษา และอนุโมทนาอย่างน่าชื่นชมยินดี แต่ท่านกลับแสดงข้อขัดแย้งอันมีอยู่ในองค์ของท่านออกมาให้พระหนุ่มได้ฟังว่า "ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว"

    ต่อมา เมื่อพ.ศ.๒๕๐๒ ข้าพเจ้าได้รับลิขิตของสมเด็จสัังฆนายกในสมัยนั้น คือสมเด็จวันรัต กิตติโสภณมหาเถร เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม มีข้อความดังต่อไปนี้

    สังฆนายกตำหนิพระพิมลธรรม

    เรียน เจ้าคุณพระพิมลธรรม

    เวลานี้ ผมมีความอึดอัดใจในปฏิปทาของเจ้าคุณเป็นอย่างยิ่ง
    ๑. ในการที่เจ้าคุณทำสำนักกัมมัฏฐานให้งอกงามขึ้น ในด้านวัตถุวัดมหาธาตุก็สกปรกรกรุงรังไม่มีระเบียบ วิหารคต พระระเบียง ซึ่งสมเด็จพระอุปัชฌายะของเจ้าคุณทำไว้ สะอาดงดงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ก็กั้นห้องรุงรังไปหมด ไม่ใช่แต่ภิกษุสามเณรเท่านั้นที่เข้าไปอยู่ในวงวิหารคต แม้อุบาสิกาก็เข้าไปอยู่ในวงนั้น เวลาอาบน้ำก็แลเห็นกัน เป็นวิสภาครมณ์ที่น่ารังเกียจที่สุด แม้คฤหัสถ์สำนักวัดมหาธาตุที่เขาหวังดีตักเตือน เจ้าคุณก็ไม่นำพาแก้ไข แม้เรื่องอันไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก็กลบไว้ แถวนอกโพธิ์ลังกาก็มีกะต๊อบรุงรังไปหมด พื้นวัด รางน้ำของถนนสกปรก ใครเตือนก็ว่าเรื่องเล็ก ทำ ๒-๓ วันก็แล้ว แล้วก็ไม่ทำ เดี๋ยวนี้แถบในพระอุโบสถ หลังพระประธาน ก็กั้นห้องให้พระอยู่

    ๒. นี่หรือวัดท่านสังฆมนตรีปกครอง ไม่เห็นเป็นแบบอย่างอะไรได้ เจ้าคุณต้องการแต่ปริมาณมาก หาได้คำนึงถึงคุณภาพไม่ ในด้านกิจวัตรอันเนื่องด้วยพระวินัย การทำวัตรสวดมนต์ ที่สมเด็จพระอุปัชฌายะของเจ้าคุณกวดขัน เวลานี้เป็นอย่างไร พระลงอุโบสถขาดตั้งครึ่งวัด

    ๓. เจ้าคุณก็เห็นไม่สำคัญ ช่างไม่รักษามรดกของอุปัชฌายะ มีทิฏฐิวิปลาสไปหรือ มีคฤหัสถ์ชั้นสูงชั้นอิสรชนบางท่านพูดว่า วัดมหาธาตุเดี๋ยวนี้เป็นบ้านธาตุอย่างที่ผมเคยได้ยินมาแต่ก่อน ไม่รู้ว่าพระว่าผู้หญิงมีส่วนสัดกันอยู่อย่างไร

    ๔. เรื่องจังหวัดอยุธยา พระเขาก็ไม่พอใจเจ้าคุณปกครองมากนักหรอก เจ้าคุณถามเขาต่อหน้า เขาเกรงสังฆมนตรีปกครอง เจ้าคณะจังหวัด เขาก็ตอบไปอย่างนั้น เจ้าคุณก็หลงตน วิธีการปกครองเจ้าคุณโดยมากก็นิ่ง แช่เย็นกลบไว้*

    อาศัยเหตุการณ์ตามที่ประมวลมาพอสมควร ผมจึงมีความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคณะสังฆมนตรีฝ่ายเราก็อึดอัดใจไปตามกัน ฉะนั้น ถ้าเจ้าคุณหลีกทางลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ก็จะเป็นการเบาใจของเป็นอันมาก ทั้งป้องกันความเสื่อมศักดิ์ศรีของคณะสังฆมนตรีไว้ด้วย เพราะเวลานี้ คณะสังฆมนตรีถูกวิพากย์วิจารณ์จากหมู่ชนเป็นอันมาก เพราะเหตุแห่งเจ้าคุณ

    งานอื่นที่เจ้าคุณจะพึงกระทำก็ยังมีอีกมาก เช่นจัดวัดมหาธาตุให้แจ่มใส ปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้เรียบร้อยรุ่งเรืองเจริญ ก็จะเป็นเกียรติแก่เจ้าคุณต่อไป

    สมเด็จพระวันรัต
    สังฆนายก
    .......................................
    ๑. วิหารคตไม่มีมานานแล้ว พูดเพ้อเจ้อไปเอง ๒. ไม่เคยกั้นห้องในพระอุโบสถ กั้นแต่ในพระวิหาร เพราะว่าอยู่ว่างๆ ๓. ไม่เป็นความจริง

    ๒. เวลานี้ หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวครึกโครม ในเรื่องกิจการของมหาจุฬาฯ รัฐมนตรีก็ร้อนใจ บันทึกถามมา ผมก็บันทึกรอให้ตอบชี้แจง ก็นิ่งเฉยเสีย สังฆนายกเหมือนหลักตอ ไม่มีความสำคัญอะไร ให้สังฆมนตรีชี้แจง ก็นิ่งเฉยเสีย สังฆมนตรีชี้แจงอะไรก็ไม่ได้ ท่านปรารถนาจะตอบก็นิ่งเสีย *เรื่องทัศนะไม่ตรงกันจะทำอะไรได้ แต่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ให้ได้

    เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านลิขิตของท่านสังฆนายกฉบับนี้จบแล้ว คงช่วยให้ท่านได้เปลี่ยนความนึกคิดหรือความเข้าใจไปตามเหตุปัจจัยได้บ้างแล้ว ส่วนตัวข้าพเจ้าก็มิได้ลาออกจากตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ตามลิขิตแนะนำให้ลาออกของสมเด็จสังฆนายกนั้น ว่าตามที่เป็นจริง เืมื่อข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้น สมเด็จสังฆนายกท่านดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านมักมีความเห็นอยู่ว่า สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้นมีอำนาจมีอภินิหารมาก ท่านมีความใคร่จะดำรงตำแหน่งนี้มานานแล้ว ท่านเคยขอแลกเปลี่ยนกับข้าพเจ้า คือขอให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ซึ่งท่่านดำรงอยู่นั้น แล้วท่านจะได้ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านโดยเกี่ยงว่า ข้าพเจ้าไม่ถนัดไม่สันทัดในการศึกษาเท่าสมเด็จพระสังฆนายก ดังนี้เสมอมาทุกครั้ง

    ต่อมาถึีึง พ.ศ.๒๕๐๓ คณะสังฆมนตรีชุดเดิมก็หมดอายุลงตามกำหนดกาล สมเด็จพระวันรัต กิตติโภสภณมหาเถร สังฆนายก ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๓ และได้มีประกาศแต่งตั้งคณะสังฆมนตรีขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓ เช่นกัน โดยยกสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุฏฐายีมหาเถร วัดมกุฎกษัตริยาราม ขึ้นเป็นสังฆนายก ประกอบด้วย คณะสังฆมนตรี ๙ รูปคือ
    ๑. พระธรรมรัตนากร วัดสังเวชวิศยาราม เป็นสังฆมนตรีปกครอง
    ๒. พระธรรมวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสังฆมนตรีช่วยปกครอง
    ๓. พระธรรมคุณาภรณ์ วัดสามพระยา เป็นสังฆมนตรีศึกษา
    ๔. พระธรรมปาโมกข์ วัดราชผาติการาม เป็นสังหมนตรีช่วยศึกษา
    ๕. พระธรรมวโรดม วัดพระเชตุพน เป็นสังฆมนตรีเผยแผ่
    ๖. พระธรรมจินดาภรณ์ วัดราชบพิธ เป็นสังฆมนตรีช่วยเผยแผ่
    ๗. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดราชบพิธ เป็นสังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ
    ๘.พระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงคราม เป็นสังฆมนตรีช่วยสาธารณูปการ
    ๙. พระธรรมมหาีวีรานุวัตร วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นสังมนตรีลอย

    จะเห็นได้ว่าในคณะสังฆมนตรีคณะนี้ไม่มีพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ นับว่าพระพิมลธรรมได้พ้นจากตำแหน่งสังฆมนตรีว่า การองค์การปกครองเป็นอันสมพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้

    แม้เมื่อได้เปลี่ยนแปลงคณะสังฆมนตรีชุดใหม่ดังกล่าวแล้ว แทนที่จะใ้ช้นโยบายอ่อนโยนประกอบด้วยเมตตากรุณาในข้าพเจ้ากว่าแต่กาลก่อน หรือลดหย่อนอ่อนลงบ้าง แต่เพราะเหตุคณะสังฆมนตรีชุดใหม่นี้ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ไม่กี่รูป นโยบายที่จะกำจัดข้าพเจ้าให้พ้นจากตำแหน่งจากสมณเพศ จึงมีฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ดำเนินการให้ดำเนินไปอยู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม มีพระภิกษุที่รักและซื่อสัตย์สุจริตมากราบเรียนข้าพเจ้าว่า สมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถร วัดเบญจมบพิตรได้ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า "จะทำพระพิมลธรรมให้เป็นพระมหาอาจ แล้วจะทำพระมหาอาจให้เป็นนายอาจ ในที่สุด" ขอให้พระเดชพระคุณได้โปรดระมัดระวังคนไว้บ้าง

    ข้าพเจ้าแม้จะได้ทราบแล้วก็รู้สึกเฉยๆ เพราะมีความมั่นใจอยู่เสมอในพระพุทธพจน์ข้อว่า "สพเพ สตฺตา กมฺมสฺสกตา โหนติ" หมู่สัตว์ที่มีชีวิตทุกจำพวก มีกรรมเป็นของแห่งตน" และพิจารณาเห็นต่อไปว่า เมื่อเรารับสนองกรรมอันใดซึ่งคู่ควรกัน กรรมอันนันก็หมดสิ้นอายุกันเสียที ถ้าเรามีเจตนาหลบหลีกไม่ยอมรับผลกรรมโดยดีในครั้งนี้ ครั้งต่อไปก็จะต้องรับสนองกรรมอีกจนได้ เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ไม่สนใจที่จะป้องกันระวังอะไรเป็นพิเศษ มุ่งหน้าแต่ปฏิบัติการงานอันเกิดขึ้นเฉพาะเหน้าเท่านั้น

    แต่ต่อมาก็ปรากฎเป็นความจริงว้่า คณะนายตำรวจที่สอพลอใคร่จะได้ความดีความชอบใส่ตน โดยไม่นับถือเหตุผลตามความจริง ได้รับอาสาพระเถระที่เป็นกรรมการสอบสวนหาความผิดของข้าพเจ้า แทนสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น โดยไปเก็บเอาเด็กที่เคยเป็นสามเณรและเคยเป็นศิษย์ข้าพเจ้า ซึ่งสมัครเป็นพลตำรวจอยู่ในกรมตำรวจมาสอบสวน และให้ยกคดีทิ่มตาข้าพเจ้าอย่างหนักฐานเป็นอาบัติปาราชิก ถ้าใครถูกกล่าวหาเข้าแล้วก็จะต้องโทษถึงขาดจากความเป็นภิกษุ โดยมุ่งจะให้ข้าพเจ้าตกเป็นนายอาจ ตามบุพพเจตนาที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นได้ทรงตั้งปณิธานไว้ตามคำบอกเล่าของศิษย์ผู้ภักดีผู้หนึ่ง ดังกล่าวมาแล้ว

    นายตำรวจชั้นนายพันตำรวจเอกบางคน ที่คณะพระเถระผู้มีหน้าที่สอบสวนเรื่องข้าพเจ้าไว้วางใจ และเขาประสงค์จะประจบสอพลอพระเถระเหล่านั้น พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ผู้ที่มาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุฯ นั้น วัดมหาธาตุฯ ฝึกสอนให้นั่งหลับตา เมื่อพวกคอมมิวนิสต์บุกรุกเข้ามาในประเทศไทย คนไทยจะได้ไม่ลุกขึ้นต่อต้าน อันเป็นความคิดเห็นชนิดที่ต่ำต้อยด้อยสติปัญญาเหลือเกิน และเพราะคณะสงฆ์เราชอบใจใช้บุคคลประเภทนี้เป็นผู้ปฏิบัติงานสำคัญแทนต่างหูต่างตา ผลงานของคณะสงฆ์เราจึกมักผิดพลาดและต่ำต้อยด้อยคุณภาพเสมอ

    อยู่มาวันหนึ่ง โดยมิได้คิดได้ฝัน ข้าพเจ้าได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถร วัดเบญจมบพิตร ฉบับลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๐๓ ซึ่งมีข้อความดังนี้

    อ่านต่อพระบัญชา
     

แชร์หน้านี้

Loading...