(๑๐) มุนีนาถทีปนี: ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 15 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    พระพรหมดาบส

    กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจุติจากเทวโลกแล้ว ก็มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีพระนามว่า พรหมกุมาร ครั้นเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ก็ได้ศึกษาจนสำเร็จในไตรเวทางค์ และได้เป็นอาจารย์ผู้บอกเวทย์แก่มานพห้าร้อยคนผู้เป็นนักศึกษา ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อท่านมารดาบิดาทั้งสองล่วงลับไปแล้ว พรหมกุมารจึงเรียมาณพทั้งหลายผู้เป็นศิษย์มาพร้อมหน้ากันแล้ว ก็เร่งบอกมนต์ซึ่งตนควรจะสอนให้เสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์สมบัติของตนสิ้นทั้งเรือนนั้น ให้แก่มาณพผู้เป็นศิษย์ถ้วนทุกคนแล้วก็ให้โอกาสอนุสาสนี และกล่าวคำอำลาเพื่อจะไปบรรพชาเป็นดาบส มิใยที่ศิษย์ทั้งหลายจะอาลัยไหว้วอนกล่าวห้ามด้วยความคารวะเป็นอันมากประการใด ก็มิได้เอื้อเฟื้ออาลัย สละฆราวาสวิสัยเที่ยวไปแต่พระองค์เดียว เข้าไปอาศัยบัณฑรบรรพต บรรพชาเป็นดาบส ปฏิบัติตนเลี้ยงชีวิตด้วยผลาผลอยู่เป็นสุขสืบมา

    ฝ่ายมานพทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ของพระพรหมดาบสนั้น ครั้นมารดาบิดาของตนๆ ล่วงลับไปแล้ว ต่างก็พากันออกมาบวชเป็นดาบสอยู่กับพระโพธิสัตว์ทั้งนั้น ด้วยเหตุที่มีความรักเป็นกำลังมาแต่ปางก่อน พระโพธิสัตว์ก็สอนให้ประพฤติวัตร บำเพ็ญพรตตามแบบอย่างของดาบสโดยถ้วน อยู่ร่วมกันมาโดยความผาสุกตามสมควร

    วันหนึ่ง เมื่อดาบสทั้งหลายไปเที่ยวแสวงหาผลาผลยังมิได้กลับมา ท่านอาจารย์พรหมดาบสจึงเรียกศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เฝ้ากุฎิใกล้ตนมาแล้ว ชวนกันขึ้นไปสู่บัณฑรภุผาเพื่อจะแสวงหาผลไม้ เมื่อเที่ยวไปในที่นั้นๆ ก็มิได้ผลไม้อันใดอันหนึีงเลย จึงแสลงไปที่เชิงภูเขาก็ได้เห็นแม่เสือตัวหนึ่ง มีลูกอ่อนออกใหม่ได้ประมาณสองสามวัน แม่เสือตัวนั้นอดอาหารอยู่ แลเขมนดูลูกน้อยของตนด้วยจิตโหดร้าย คิดจะใคร่จับลูกของตนเองเคี้ยวกินเป็นภักษา พระพรหมดาบสแลเห็นอาการก็รู้ว่าแม่เสือจะกินลูกของตนเองแน่แล้ว จึงรำพึงในหฤทัยว่า
    "โอ้หนอ...วัฏสงสารนี้้ ควรที่จะพึงติเตียนโดยแท้ ดูรึ แม่เสือตัวนี้คิดจะขบกัดเคี้ยวกินลูก ที่เกิดแต่สายโลหิตตน เพื่อจะรักษาชีวิตแห่งตนไว้ถ่ายเดียว เช่นนี้ จึงควรที่จะเห็นว่าวัฏสงสารนี้ เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลังยิ่งนัก"
    ครั้นรำพึงดังนั้นแล้ว พระพรหมดาบสจึงใช้ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งไปด้วยกันนั้นว่า "ท่านจงรีบไปหาเนื้อเดนเสื้อหรือราชสีห์ตามข้างๆ ภูเขานี้ดูทีหรือ หากว่าจะมีอยู่บ้าง แม้นได้แล้วจงรีบนำมาโดยเร็ว เราจักให้แก่แม่เืสือตัวนี้" ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่รับคำแล้ว ก็รีบไปหาเดนมังสะ ในที่ทั่วๆ ไป แต่ก็หามิได้

    ฝ่ายพระพรหมดาบสผู้โพธิสัตว์ เมื่อศิษย์ผู้ใหญ่ไปนานแล้ว และยังมิได้กลับมา จึงรำพึงในหฤทัยว่า
    "โอ... ร่างกายนี้ เป็นของเปล่าปราศจากแก่นสารเป็นที่อาศัยแห่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะและมีโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความร่ำไร รำพัน ทุกข์ความลำบากกายไม่สบายใจ โทมนัสความขุ่นข้องหมองใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ อนึ่ง กายนี้เป็นที่เกิดของกองทุกข์ กับทั้งมีราคะกิเลสเป็นประดุจหัตถีที่บ้าคลั่งเมามัน มีโมหะมืดมิดปิดธรรมเป็นประดุจดังผีเสื้อน้ำรักษาสระ มีอุปนาหะความผูกโกรธ เป็นประดุจดังแว่นแคว้นเมืองมากด้วยคนพาล มีมักขะความลบหลู่คุณท่านเป็นประดุจที่อยู่ของพวกกุมภัณฑ์ มีปลาสะความสำคัญวิปลาศ เป็นประดุจดังนายทวารผู้มีสันดานดื่มไปด้วยอิสสาฤษยา มีทุจริตเป็นบริวารแวดล้อมไปด้วยโลภ มีนันทิภวราคะ ความกำหนัดยินดีในภพเป็นมหาโยธา มีมิจฉาทิฐิเป็นธรรมวินิจฉัย คือราชบัญญัติบทอัยการ มีอวัณณะความพรรณนาโทษเป็นกองทุกข์มาก มีวิตกความตรึกตรองเป็นหมู่แมลงวันพึงเกลียดชัง มีมทะความมัวเมาเป็นเหล่าคนธรรพ์ขับร้อง มีปมาทะควาเมาทั่วเป็นช่างฟ้อนมาซ่องเสพอยู่ มีทิฐิเป็นที่อาศัย มีอนุสัยเป็นบ้านที่อยู่ของหมู่พราหมณ์ มีสัญโพชน์ความผูกล่ามไว้ในสามภพ เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ในกายนคร และมีอวิชชาเป็นอันธการราชบรมกษัตริย์เถลิงราชสมบัติเป็นอิสสราธิบดีอยู่ในกายนครนี้"
    ครั้นพระมุนีพรหมดาบส พิจารณารำพึงถึงธรรมสรีระ ดังนี้แล้ว ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ที่ตนใช้ให้ไปหาเศษเนื้อก็ยังไม่กลับมา จึงจินตนาสืบไปอีกว่า ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายบรรดาที่มีรูปกายครองอยู่ ได้เสวยทุกข์เห็นปานนี้ จะมีทางปลดเปลื้องทุกข์นี้ด้วยธรรมสิ่งไร? เมื่อนึกไปก็เห็นว่าพุทธการกะรรมเท่านั้นที่สามารถจะทำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ เมื่อมองเห็นแท้แน่ฉะนี้แล้วจึงจินตนาต่อไปว่า
    "อันพุทธการกธรรมนี้ ถ้าบุคคลใดไม่สามารถที่จะทำกรรมที่บุคคลอื่นทำได้ยาก ไม่สามารถบริจาคสิ่งที่บุคคลอื่นบริจาคได้ยาก ไม่สามารถให้ทานที่บุคคลอื่นให้ได้โดยยาก ไม่สามารถอดกลั้นกรรมที่บุคคลอื่นอดกลั้นได้ยาก อย่างนี้แล้วบุคคลนั้นจะบำเพ็ญพุทธการกธรรมนี้ ให้สำเร็จหาได้ไม่ ก็แลสรีราพยพคือร่างกายของเรานี้ ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมาก มิได้ยั่งยืนอยู่สิ้นกาลนาน และจิตใจเราที่อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ย่อมมีอารมณ์ไม่เป็นหนึ่ง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอนย่อมแปรปรวนไปเป็นนิตย์ เอาเถิด... บัดนี้เราจักให้สรีระร่างของเรากับทั้งชีวิตนี้ให้เป็นทานแก่แม่เสือหิวตัวนี้ ให้ทันกาลที่จิตกำลังเลื่อมใสใคร่บริจาคในกาลนี้เถิด เออ.. ก็เราจะเป็นห่วงอันใดด้วยการจะให้อาหารที่อื่นเล่า"
    พระโพธิสัตว์เจ้าคำนึกจินตนาการดังนี้แล้ว จึงตั้งจิตปณิธานว่า
    "ด้วยเดชะบุญกรรมนี้ ขอเราจงได้ตรัสเป็น พระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ให้เรานำสัตว์ทั้งหลายออกจากวัฏสงสารให้ถึงความระงับดับทุกข์ด้วยเถิด"
    ครั้นตั้งจิตปณิธานปรารถนาพระพุทธภูมิดังนี้แล้ว เพื่อจะประกาศแก่หมู่เทพยดาให้รู้ทั่วกันอีกเล่า พระพรหมดาบสโพธิสัตว์เจ้าจึงประกาศเป็นเนื้อความว่า
    "ขอทวยเทพเจ้าทั้งปวง คือภูมิพฤกษาเทวา และอากาสเทวาทั้งสมเด็จอัมรินทราธิราชเจ้า และท้่าวมหาพรหมปชาบดี ศศิธรเทพบุตร ทั้งพญายมและท้าวจตุมหาราชโลกบาลทั้งสี่ ทวยเทพซึ่งสถิตอยู่ ณ สถานทุกถิ่นที่ ตลอดจนนารถบรรพตจอมภูผาขออัญเชิญทั่วทุกพระองค์ จงมาทำการอนุโมทนาในชีวิตสรีรทานของข้าที่ได้อบรมสั่งสมกระทำ ณ กาลบัดนี้เถิด"
    ครั้นกระทำแก่ทวยเทพเจ้าดังนี้ ขณะที่ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ยังมิทันได้กลับมาถึง พระพรหมดาบสซึ่งมีน้ำใจกล้าหาญ ก็โจนทะยานจากยอดบัณฑูรภูผา ตกลงเฉพาะหน้าเสือโคร่งแม่ลูกอ่อน ขณะนั้นนางพยัคฆ์ที่กำลังหิวกระหายนักหนา เมื่อเห็นอาหารตกลงมากองอยูเช่นนั้น ก็ละไม่กินลูกของมัน แล่นมาบริโภคมังสะสรีราพยพของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในกาลบัดนั้นทันที...

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย บรรดาที่มีใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา จงพิจารณาดูเถิดว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อครั้งพระองค์ท่านปรารถนา พระพุทธภูมิเพื่อตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านต้องมีน้ำพระทัยมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอาจหาญเพียงไร ใช่แน่แล้ว... พระองค์ต้องทรงสละชีวิตเข้าแลกกับพระโพธิญาณมาจนนับครั้งไม่ถ้วน เช่นครั้งที่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพรหมดาบสที่เล่ามาแล้วนี้ นี่เป็นเพียงครั้งหนึี่งในจำนวนมากหลายเท่านั้น นอกจากนี้แล้วในระยะการสร้างพระบารมีตอนต้นนี้ พระองค์ยังต้องประสบกับความทุกข์ยากมากมาย เพราะอำนาจของการเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ตามเรื่องที่ปรากฎมีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้


    มานพหนุ่มช่างทอง

    หลังจากที่ได้อุบัติเกิดเป็นเทพบุตร ในสรวงสวรรค์แดนสุขาวดี และเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ด้วยอำนาจการเวียนว่ายตายเกิดหลายชาตินักแล้ว ต่อมา กาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลช่างทอง ทรงรูปสิริเลิศล้ำบุรุษงดงามนักหนา เมื่อเจริญวัยใหญ่กล้าขึ้นก็มีอาชีพเป็นช่างทองผู้ชำนาญสืบสายตระกูลของตน วันหนึ่ง มีเศรษฐีมาว่าจ้างให้ไปทำเครื่องประดับให้แก่ธิดาสาวโสภา ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์มงคล ครั้นไปถึงคฤหาสน์แล้ว เศรษฐีจึงถามว่า "ดูกรช่างทองผู้เจริญ! ถ้าท่านได้เห็นเพียงมือและเท้าเท่านั้น ท่านยังจะสามารถทำเครื่องประดับได้หรือไม่?" เมื่อช่างทองหนุ่มรับคำว่าทำได้ เศรษฐีจึงให้ธิดาของตนยื่นแต่มือและเท้ามาแสดงให้ปรากฏ ช่างทองหนุ่มก็สังเกตกำหนดบาทและหัตถาวัยวะที่ได้เห็นแต่ห่างๆ แล้วกระทำได้ด้วยความชำนาญ

    ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีซึ่งมีนามว่า กาญจนวดีกุมารีให้นึกสงสัยอยู่เป็นกำลังว่า "เหตุไฉนหนอ บิดาจึงมิให้เราปรากฎกายต่อหน้าช่างทอง ให้แสดงแต่เพียงมือและเท้าเท่านั้น" ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงลอบแลดูตามช่องไม้ แต่พอได้เห็นสิริรูปสมบัติของช่างทอง ก็ให้เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่เป็นกำลัง คลุ้มคลั่งในดวงใจด้วยอำนาจราคะดำกฤษณา นางจึงจารึกอักษรสาราเป็นใจความว่า
    "ดูกรพ่อช่างทองผู้เป็นที่รัก! หากท่านมีจิตใจรักใคร่เราแล้ว ณ ที่หลังเรือนใหญ่นี้มีบุปผาพฤกษชาติต้นหนึ่งเป็นต้นไม้ใหญ๋ ในค่ำคืนวันนี้ ท่านจงมาซุ่่มนั่งอยู่บนต้นไม้นั้น ถึงราตรีกาล เราจะออกไปพบกับท่านด้วยใจรัก" จารึกเรื่องความรักดังนี้แล้ว จึงค่อยทิ้งลงไปให้ตกลงตรงหน้าช่างทอง เมื่อช่างทองหนุ่มอ่านดูแล้วก็กำหนดไว้ในใจ ถึงเวลาสายัณหสมัย เลิกงานแล้ว จึงกลับมาอาบน้ำชำระกายรับประทานอิ่มหนำสำราญแล้ว พอเวลาสุริยอัสดงคตพลบค่ำลง ก็รีบตรงมาสถานที่นางนัด ขึ้นไปบนต้นพฤกษชาตินั้น ตั้งตาชะแง้ดูทางที่กาญจนวดีกุมารีนั้นจะมา ณ ระหว่างคาคบไม้ แต่นางก็ยังไม่มา มิช้าตนเองก็ได้เผลอม่อยง่วงงุนนักหนา เพราะว่าเมื่อตอนกลางวันนั้น ตนเร่งทำงานอยู่วันยังค่ำ ก็ลำบากกายพออยู่แล้ว เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแลมานั่งเงียบเหงาเฝ้าคอยอยู่แต่ผู้เดียวฉะนี้ จึงเอนองค์ลงกับที่กิ่งไม้ใหญ่ ก็เลยเผลอม่อยผลอยหลับไป

    ก็กาญจนวดีกุมารีทรามวัยนั้น นางเป็นกุลสตรีธิดาของคหบดีมหาศาลย่อมมีความยำเกรงบิดามารดาอยู่โดยมากเป็นธรรมดา เมื่อมารดาบิดายังมิได้หลับนอน นางจึงไม่มีโอกาสออกมาได้ ครั้นท่านทั้งสองหลับไปแล้ว นางจึงค่อยลุกมาจากที่นอนออกมาจัดหาอาหาร ได้ข้าวสาลีกับแกงมังสะสดใส่ลงในขันทองเสร็จแล้ว ก็รีบลอบนำลงมาจากปราสาทไปสู่ที่นัด ณ ต้นไม้ใหญ่ เพื่อไปหาชายสุดที่รัก ครั้นเห็นเขาหลับอยู่ก็มิรู้ที่จะปลุกให้รู้สึกตนตื่นขึ้นได้ ด้วยเหตุว่ามนุษย์ในสมัยนั้นถือลัทธิธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งว่า
    "ถ้าบุคคลหลับสนิทอยู่ ผู้ใดปลุกให้ลุกตื่นขึ้นแล้ว ผู้ปลุกนั้นย่อมมีบาป ตายไปต้องตกนรกหมกไหม้ตลอดกัปหนึ่ง"
    เพราะฉะนั้น นางจึงไม่สามารถปลุกช่างทองนั้นให้ตื่นขึ้นมาได้ แต่คอยอยู่นานนักหนา เมื่อเห็นว่าไม่ตื่นแน่ นางจึงเก็บใบรุกขชาติปูลาดลงตั้งขันทองใส่อาหารไว้แล้วกลับลับไป

    ฝ่ายนายช่างทอง ตื่นขึ้นมาได้เห็นภาชนะขันทองนั้น จึงกำหนดว่า ชะรอยนางกุมารีมาแล้วเห็นเราหลับ จึงกลับไปเป็นมั่นคง เมื่อผันแปรแลไปดูข้างโน้นข้างนี้ ก็ได้แลเห็นนางดำเินินกลับเข้าไปภายในปราสาท ในขณะนั้น ก็ให้น้อยจิตคิดโกรธตัวเองเป็นหนักหนาว่า ควรหรือมานอนหลับใหลเสียได้ น่าเคืองตัวเองนัก รำพึงพลางก็ถือสุพรรณภาชน์โภชนะนั้นกลับมาเรือนตน ครั้นรุ่งวันใหม่ได้เวลาก็ไปทำงานอยู่ที่เก่าอีก ไม่ช้าก็มีสารตกลงมาอีก จารึกอักษรมีใจความว่า "วันนี้ท่านจงอุตสาหะข่มใจไว้ อย่าให้หลับใหลไปเสียอย่างเมื่อคืนอีกเล่า" นายช่างอ่านรู้ความแล้ว ก็ไม่พูดว่าอะไร ประกอบการงานทำเครื่องประดับต่อไป พอได้เวลาตอนราตรี จึงมานั่งคอยทำอยู่เช่นเคย ไม่ช้าก็ยังเอิญให้หลับไปเสียอีกเล่า กาญจนวดีกุมารีเมื่อถือโภชนาหารมาเห็นเขาหลับไปแล้ว ก็กลับไปเหมือนคืนก่อน

    ครั้นถึงคืนที่สาม กาญจนวดีกุมารีเมื่อได้มาเห็นนายช่างทองสุดที่รักหลับไปเหมือนเดิม นางมีความเศร้าในน้ำใจหนักหนา จึงพิไรร่ำด้วยคำว่า

    "น่าเสียดายนัก กุมารน้อยนี้เป็นที่รักใคร่เจริญใจแห่งเรา ชะรอยสันนิวาสเรานี้มิได้มีแต่ปางก่อน จึงเผอิญให้กุมารนี้เป็นผู้มักหลับเสียได้สามวาระสามหน ความพยายามของเราสองคนนี้ปราศจากประโยชน์เสียแล้ว พ่อจงไปโดยสุขสวัสดีเถิดหนาเจ้า แต่วันนี้ไปเราก็จักหมดอิสระมิได้มาพบหน้าอีกแล้ว" เธอพิไรรำพันด้วยความโศกศัลย์เป็นอันมากแล้ว ก็ยกโภชนะนั้นวางตั้งไว้ แล้วก็ตัดความอาลัยกลบไป นายช่างทองเมื่อตื่นขึ้นก็ให้เจ็บใจตนเองยิ่งกว่าวันก่อน มีความโศกอาดูรด้วยความรักเป็นหนักหนา จึงรำพึงรำพันออกมาว่า

    "กุมารีมีรูปงามอย่างนี้ ควรที่จะทอดทัศนานำความภิรมย์มาให้แก่ใจ นี่เป็นกรรมอะไร จึงตักเตือนให้หลับใหล ไม่รู้สึกตัวตื่นได้สามวาระ บุญญาภิสมภารเราแต่ก่อนมิได้มี ชะรอยเรากับนารีนี้มิได้เคยร่วมกันกระทำทาน หรือว่าตัวเรานี้มิได้มีกมลสันดาน เคยอนุโมทนากุศลของเศรษฐี จึงให้มีอันเป็นสักแต่ว่าได้พบเห็นนารีงามเท่านั้น มิทันได้ร่วมภิรมย์ก็ให้จางจากกันไป" นายช่างทองรำพันพลางถือเอาโภชนาหารที่นางตั้งไว้ แล้วกลับไปสู่เรือนตนด้วยความเศร้าเป็นล้นพ้น

    ครั้นรุ่งขึ้นถึงวันอาวาหสมัย ฝ่ายเศรษฐีบิดาเจ้าบ่าว จึงบรรทุกข้าวของสำหรับการแต่งงานมามากมายหลายร้อยเล่มเกวียน พอมาถึงแล้วทั้งสองฝ่ายก็ประชุมกันทำอาวาหมงคล เลี้ยงดูกันเป็นนักษัตรฤกษ์โกลาหล ฉลองกันอยู่สิ้นกาลประมาณหนึี่งเดือนโดยกำหนด ครั้นการฉลองอันมีเวลาถึงหนึ่งเดือนล่วงแล้ว เศรษฐีผู้เป็นบิดาเจ้าบ่าวก็พาบริวารกลับไปบ้านตน

    ฝ่ายนายช่างทองผู้งามโสภา จำเดิมแต่วันแคล้วคลาดจากนางมา ก็รำพึงรำพันถึงนางอยู่ไม่วางวายว่า นางกุมารีนี้ได้มีน้ำใจรักเป็นปิยสหายแห่งเรามากอ่น บุรุษเช่นเรานี้จึงสมควรจะได้นาง รำพึงพลางจึงคิดหาอุบาย ครั้นคิดได้แล้วจึงอุตสาหะทำเครื่องประดับสำหรับศอสำรับหนึ่งสวยสดงดงามนักหนา แล้วไปด้วยแก้วมุกดาวิจิตรบรรจงเป็นลวดลายละเอียดอุดม สมควรเป็นราชอลังการแล้ว ก็น้อมนำเข้าไปถวายพระมหาอุปราชเจ้า

    "เอ๊ะ! เจ้านำของที่ชอบใจมาให้เราเช่นนี้ จักมีความประสงค์สิ่งใดหรือ" พระมหาอุปราชซึี่งมีพระกมลโสมนัสตรัสถามขึ้น นายช่างทองจึงทูลสนองบอกความประสงค์ของตนให้ทรงทราบ "อย่าวิตกไปเลย จะเป็นไรมี เรานี้รับธุระจะทำอุบายให้เจ้าสมมโนรถจงได้" พระมหาอุปราชตรัสรับรองแล้วจึงทรงให้นายช่างทองแต่งตัวเป็นสตรีเพศ ทรงสรรพาภรณ์พิจิตร บิดเบือนแสร้งแปลงองค์เป็นขัตติยอนงค์กัญญาเสร็จแล้วจึงให้นั่ง ณ ภายในกระโจมทองข้างพระที่นั่ง ส่วนพระองค์ทรงพระแสงขอสถิตบนคอมงคลคชาธาร เสด็จมาถึงบ้านท่านเศรษฐีประทับหยุดยืนช้างพระที่นั่ง แล้วรับสั่งให้เศรษฐีเข้ามาเฝ้าและแสร้งดำรัสถามว่า

    "ปราสาทหลังใหม่นั่น เป็นของใครอีกเล่า"

    "เป็นปราสาทธิดาของข้าพระพุทธเจ้า" เศรษฐีทูล

    "เออพ่อ...ดีแล้ว บัดนี้ พระบรมชนกธิราชดำรัสราชวโรงการให้เราไปปราบพวกโจรร้ายในชนบทประเทศ จะขอฝากพระกนิษฐภคีนีน้องสาวเราไว้ให้อยู่กับธิดาของท่านด้วยเป็นการชั่วคราว กว่าเราจะกลับมา เมื่อกลับมาแล้ว เราจึงจะมาพระน้องนางนั้นไป" พระอุปราชตรัสขึ้นตามอุบายทรงวางไว้

    "พระเจ้าข้า แต่ว่าธิดาเกล้ากระหม่อมนั้น นางได้สามีแล้ว พระภคินีของพระองค์จะทรงอยู่ด้วยธิดาเกล้ากระหม่อมจะได้หรือ" เศรษฐีทูลด้วยความกังวลใจ

    "จะเป็นไรไปเล่า ท่านเศรษฐี" พระมหาอุปราชตรัสดุจไม่พอพระหฤทัย "ท่านจงให้ธิดาของท่านงดการอยู่ร่วมกับสามีชั่วคราวก่อน ให้เจ้าอยู่เป็นเื่พื่อนพระน้องนางเราสักหน่อยเถิดเราไปไม่นานนัก ก็จักรีบกลับมารับไป"

    "ถ้ากระนั้น ก็พอจะผ่อนผันรับพระธุระ สนองพระเดชพระคุณได้ พระเจ้าข้า" ท่านเศรษฐีทูลแล้ว เรียกธิดามาบอกความต่อหน้าพระที่นั่ง แล้วสั่งให้นำพระภคนีปลอมนั้นขึ้นสู่ปราสาท และก่อนที่เจ้ามหาอุปราชจะอำลาไป พระองค์ยังได้ทรงสั่งซ้ำดุจเป็นห่วงหนักหนาว่า

    "ดูกรท่านเศรษฐี! ขอท่านจงอย่าได้ประมาทเลย จงเห็นแก่เราเถิด จงช่วยเป็นธุระเอาใจใส่ ของสิ่งไรที่น้องรักเราเจ้าต้องการ ท่านจงจัดอย่าได้ขัดใจเจ้าเลย อนึีง บุคคลทั้งหลายอื่นๆ ท่านต้องคอยระวังจงห้ามอย่าให้ขึ้นไปจุ้นจ้านบนปราสาทเป็นอันขาด โดยที่สุด แม้แต่สามีของธิดาท่านก็จงอย่าให้ขึ้นไปอย่างเด็ดขาดเลยทีเดียว เข้าใจไหมเล่า"

    "ไว้ใจเถิด พระเจ้าข้า" ท่านเศรษฐีรีบทูล "จงวางพระทัยไว้ธุระข้าพระบาททุกประการเถิด พระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกเลย" ทูลรับรองอย่างหนักแน่นแล้ว ก็ตามส่งเสด็จจนถึงนอกกำแพงปราสาท

    ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา มาณพหนุ่มช่างทอง ก็ได้อยู่ร่วมภิรมย์กามรดีกับด้วยกาญจนวดีกุมารีสมมโนรถความปรารถนาเป็นเวลานานสิ้นกำหนดสามเดือน จะได้มีบุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่งในที่นั่นล่วงรู้ความลับนี้ก็หามิได้ ฝ่ายพระมหาอุปราชนั้น ครั้นกาลล่วงไปครบสามเดือนแล้ว ก็ทรงทำเป็นเสด็จมารับพระกนิษฐภคินีกลับไป

    พระพุทธางกูรโพธิสัตว์ เมื่อพระองค์ดำรงกฤษดาภินิหารพระบารมีญาณยังอ่อน ต้องถูกเพลิงคือราคะกิเลสเบียดเบียนบีฑา บังเกิดขึ้นมาแล้ว และมิอาจระงับเสียได้ จึงเป็นไปตามอำนาจราคะกิเลสประกอบปรทารโทษล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นเป็นกายทุจริต เช่นนี้ ครั้นดับขันธ์สิ้นชีวิตในครั้งนี้แล้ว ก็ต้องสืบปฏิสนธิไปบังเกิดในนรกหมกไหม้ ต้องได้รับทุกขเวทนาถึงสาหัสเป็นหลายครั้งหลายหน เวียนวนอยู่ในภูมิอันต่ำช้านานนักหนา นับเป็นเวลาถึง ๑๔ มหากัป
    ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมโลกุตมาจารย์ ครั้นได้สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้ทรงพระมหากรุณาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนพวกเราชาวพุทธบริษัทว่า
    "สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ ย่อมได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสในอบายภูมสี่ คือเป็นสัตว์นรกในนิรยภูมิเป็นต้น เพราะความกระวนกระวายเดือดร้อนด้วยอำนาจราคะกิเลส สัตว์ที่ไม่รู้พระสัทธรรม ย่อมถึงความก่อเกิดเป็นร่างกายเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในโอฆสงสารเจริญภพเจริญชาติมากมาย แม้จะนับด้วยหลายล้านหลายโกฏิอสงไขยนั้นก็นับหาได้ไม่ ต่อเมื่อเป็นพุทธบุคคลแล้วนั่นแล จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้พ้นจากอบายภูมิ"
    เมื่อได้ทราบความพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงเชื่อถือคำสอนของพระพุทธองค์เถิด จงทำใจให้เห็นโทษภัยในอบายจงมาก หากแต่น่าสังเวชอยู่ที่ว่า วิสัยจิตใจของปุถุชนคนเราโดยมากทุกวันนี้ มักคิดไปเองว่าตนนั้นมีปัญญดี เมื่อมีผู้เอาภัยในอบายมาชี้แจงมาแสดงบอก ก็มักคิดไปว่าแกล้งมากล่าวหลอกลวงให้เกรงกลัวไม่ยอมเชื่อว่าเป็นจริง เพราะสิ่งที่ว่าคือนรกตนเองพิสูจน์ไม่ได้ ให้หันเหคิดขวางๆ ไปว่า เป็นเพียงอุบายสอนคนโบราณกาลก่อน ตั้งแต่ครั้งสมัยคนเรายังโง่อยู่เท่านั้นเอง นรกสวรรค์มีที่ไหนกัน เมื่อคิดผันแปรไปเช่นนี้ ก็จะพอกพูนความประมาทให้เกิดมากยิ่งขึ้นในสันดานตน อาจประกอบอกุศลกรรมต่างๆ อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายได้ ฉะนั้น ต้องสอนตนให้กลัวภัยในอบายภูมิก่อนนั่นแลเป็นดี


    ;aa41


    พระเทพมุนี
    มุนีนาถทีปนี: ศาสตร์แห่งการเป็นพระพุทธเจ้า
    หน้า ๑๐๘-๑๑๘


     

แชร์หน้านี้

Loading...