เอเชียเห่อ ไฟฟ้านิวเคลียร์ ระวัง ! ที่ตั้งทับแนว Ring of Fire

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย tanawat, 1 สิงหาคม 2007.

  1. tanawat

    tanawat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 เมษายน 2006
    โพสต์:
    350
    ค่าพลัง:
    +1,765
    เอเชียเห่อ ไฟฟ้านิวเคลียร์ ระวัง ! ที่ตั้งทับแนว Ring of Fire

    [​IMG]
    พลังงานสะอาดกำลังเป็นประเด็นร้อนและแรงสำหรับการสร้างพื้นฐานและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลก รวมทั้งประเทศในเอเชียซึ่งเป็นแหล่งตลาดเกิดใหม่และมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ

    ถึงวันนี้มีหลายประเทศในแถบเอเชียได้เร่งขยายการผลิตพลังงาน เพื่อตอบสนองกับ ภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ในประเทศ แต่ในความเคลื่อนไหวการแสวงหาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในหลายประเทศในเอเชียขณะนี้ ยังต้องการการศึกษาอย่างรอบคอบและระมัดระวังที่สุด

    ตัวอย่างเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนในเขตทางเหนือประเทศญี่ปุ่น ได้นำมาสู่ความกังวลถึงความปลอดภัยและอันตรายที่เกิดขึ้นในโรงงานนิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวา ในจังหวัดอิกาตะ เมื่อมีรายงานข่าวระบุว่า เกิดไฟไหม้และอาจเกิดการรั่วไหลของพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งที่โรงงานแห่งนี้ได้รับการออกแบบก่อสร้างเพื่อทนทานกับเหตุแผ่นดินไหวได้สูงสุดขนาด 6.5 ริกเตอร์แล้วก็ตาม

    แต่ถึงกระนั้นในปัจจุบันประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีโครงการพัฒนาพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในหลายประเทศ โดยข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์เมลีย์ คาบาลเลโร-แอนโทนี และโซเฟียห์ จามิล จากศูนย์ศึกษานานาชาติ วิทยาลัยเอส ราชรัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์ ระบุว่า ด้วยความต้องการหลีกหนีออกไปจากการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งทำให้เกิดคาร์บอนทำลายสิ่งแวดล้อม ประเทศต่างๆ ในอาเซียนต่างหันมาให้ความสนใจและก้าวขึ้นมาทำโครงการผลิตไฟฟ้า จากนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น

    ตัวอย่าง เช่น รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศ ให้เมืองโกรองตาโล บนเกาะสุลาเวสี เป็นแห่งแรกของประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 4,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 2% ของขนาดกำลังไฟฟ้าที่คนทั้งประเทศใช้ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ขณะที่ประเทศไทยประกาศงบฯลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะกำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2564

    ส่วนเวียดนามกำหนดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศภายในปี 2563 ขณะที่ฟิลิปปินส์ ประเทศที่อยู่ในเขตเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย หรือที่เรียกว่า "วงแหวนไฟ" (ring of fire) ก็ยังเคยมีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บาตัน หรือบีเอ็นพีพี ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลมาร์กอส และด้วยปัญหาการขาดมาตรฐานความปลอดภัย การคอร์รัปชั่น และการไม่คุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟิลิปปินส์ต้องพับโครงการไป แต่ยังทิ้งหนี้สินไว้ให้กับชาวฟิลิปปินส์กว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ไฟฟ้า แม้แต่วัตต์เดียว

    ความสำคัญสำหรับการเติบโตขึ้นของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเอเชีย ไม่ว่าจะในจีน อินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือแม้แต่พม่า คือความกังวลถึงมาตรฐานความปลอดภัยและการก่อสร้างในเขตพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ว่าจะมีการควบคุมการออกแบบก่อสร้างที่มั่นคงปลอดภัยและโปร่งใสเพียงใด

    "เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้พลังงานถึง 1 ใน 3 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อพลเมืองในประเทศมานาน และได้รับความเชื่อถือว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง เป็นแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากฝรั่งเศสและสหรัฐ แต่เหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ยังทำให้เกิดความสะพรึงกลัวถึงอันตรายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวเช่นกัน"

    อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ตามรายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมระบุว่า ระหว่างการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ ของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน จากอินโดนีเซีย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์

    โดยรายงานข่าวระบุว่า บริษัท ไฮโดร แอนด์ นิวเคลียร์ พาวเวอร์ คอร์ป จากเกาหลีใต้ ได้ทำข้อตกลงร่วมงานพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์กับบริษัท พีที เมดโค้ เอ็นเนอร์จี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จากอินโดนีเซีย เพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บนเกาะชวา ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าการก่อสร้างน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2559 และเปิดดำเนินการภายในปี 2560

    ฟาซิล อัล ฟิตรี้ ประธานกรรมการบริษัท พีที เมดโค้ฯระบุว่า ทั้ง 2 บริษัทตกลงจะเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ภายในปีหน้า ในคาบสมุทรมูเรีย ตอนกลางเกาะชวา

    ขณะที่ในสัปดาห์เดียวกัน บริษัทพลังงานของรัฐบาลจีนได้ลงนามทำข้อตกลงเพื่อก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 แห่ง ในจีน กับ บริษัท เวสติ้งเฮาส์ อิเลคทริค โค ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัท โตชิบา คอร์ปจากญี่ปุ่น ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับบริษัท ชอว์ กรุ๊ป จากสหรัฐ

    โดยการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ในจีนจะเกิดขึ้นที่เมื่อชานเมิน ในมณฑลเจ้อเจียง 2 เตา ส่วนที่เหลือจะก่อสร้างที่เมืองไฮยางในมณฑลชานตง โดยสัญญาการก่อสร้างครั้งนี้ เกิดขึ้นจากจีนต้องการใช้เป็นแหล่งสร้างพลังงานรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและตอบสนองการบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในประเทศ

    รายงานจากเดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัลระบุว่า จีนขยายความสามารถในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับปัญหาการเพิ่มขึ้นของมลพิษในประเทศ ขณะที่จีนยังต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลและถ่านหิน

    ทั้งนี้การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในจีนตามสัญญานี้กำหนดจะเริ่มขึ้นในปี 2552 โดยเตาปฏิกรณ์เครื่องแรกจะให้พลังงานได้ 1.1 จิกะวัตต์ ภายในปี 2556 และบริษัท เวสติ้งเฮาส์คาดว่า เตาปฏิกรณ์ที่เหลือจะดำเนินการได้ในปี 2557 และ 2558

    นอกจากนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.isn.ethz.ch ได้ระบุว่า ขณะนี้สำนักงานพลังงานปรมาณูนานาชาติ หรือ ไอเออีเอ ได้อนุญาตโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับรัฐบาลเวียดนามแล้ว 6 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการในปีนี้และปีหน้า มูลค่าโครงการ 1.5 ล้านดอลลาร์




    www.prachachat.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...