เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 27 ตุลาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ จากการที่พวกเราได้รับชมการนำเสนอมัลติมีเดียในพิพิธภัณฑ์วัดท่าขนุนไป ส่วนหนึ่งที่ช้ามาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือการถ่ายทำภาพยนตร์ต่าง ๆ เพื่อมาประกอบเนื้อหา ก็คือนอกจากต้องเขียนสคริปต์ เขียนบท กำหนดแนวทางในการถ่ายทำแล้ว ยังต้องไปหาตัวดารามาอีก ดังนั้น..ถ้าหากว่างานส่วนนี้ทำให้อย่างอื่นช้าลง ก็ต้องบอกว่าอยู่ในระดับที่พอจะรับกันได้

    คราวนี้เรื่องของความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถ้าไม่ใช่คนละเอียดจริง ๆ ก็จะมองข้ามไป อย่างเช่นพวกตัวหนังสือ แต่กระผม/อาตมภาพเห็นว่านั่นเป็นหน้าเป็นตาของเรา ปัจจุบันนี้การใช้ภาษาไทยโดน AI ทำให้เกิดการใช้ผิดพลาดที่กลายเป็นถูกไปมากต่อมากด้วยกันแล้ว อย่างเช่นว่าปัจจุบันนี้ คำว่า "หลับไหล" ใช้ไม้ม้วน กันหมดแล้ว เพราะว่าเครื่องตรวจแล้วว่าไม่ผิด บรรดาผู้ที่ขาดความมั่นใจในภาษาไทยของตนเอง ก็เลยพลอยเชื่อตามไปว่าไม่ผิด..!

    คำว่า "หลับ" พวกเราเข้าใจ แต่คำว่า "ไหล" ส่วนใหญ่พวกเราจะไม่เข้าใจกัน คำว่าไหลในที่นี้ก็คือ ทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาที่ตนเองหลับ บางคนตื่นขึ้นมาหุงข้าว ซักผ้า รีดผ้า กวาดบ้านเสร็จสรรพเรียบร้อย แล้วค่อยกลับไปนอนใหม่ โดยที่ตัวเองยังหลับอยู่ มีบางคนขยันถึงขนาดไปตักน้ำใส่ตุ่มแล้วก็ตกน้ำตาย เพราะว่าตัวเองหลับอยู่แล้วพลาด..!

    แม้กระทั่งก่อนบวช กระผม/อาตมภาพก็ยังมีน้องผู้หญิงอยู่คนหนึ่งที่สนิทกันมาก ถ้าถามว่าสนิทกันขนาดไหน ? ก็ขนาดที่พ่อเขาให้นอนห้องเดียวกันได้ น้องคนนี้ไม่เคยเชื่อว่าตัวเองไหล ก็คือเวลาหลับสนิทแล้วจะลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา กระผม/อาตมภาพเป็นคนนอนไวไม่พอ แล้วยังช่างสังเกตอีกต่างหาก ก็คอยดูเอาไว้ ก่อนเวลาตื่นไม่นาน เขาจะกลับที่เดิมแล้วนอนท่าเดิมเป๊ะเลย..! ดังนั้น..บอกให้ตายเขาก็ไม่เชื่อว่าเขาทำอะไรในตอนหลับ แล้วสมัยนั้นก็ไม่ได้มีกล้องมือถือถ่ายคลิปได้เหมือนกับสมัยนี้

    แต่ว่าโชคดีมีอยู่วันหนึ่ง แม่เจ้าประคุณคลานไปถึงริมหน้าต่างแล้ว คงจะทำท่าปัดกวาดเช็ดถูตามปกตินั่นแหละ แต่พอดีฝนตกหนักแล้วลมพัดฝนสาดเข้ามาเต็ม ๆ เขาสะดุ้งตื่นเพราะโดนน้ำเย็นเข้า โดยที่กระผม/อาตมภาพก็นั่งมอง ถามว่า "ทีนี้เชื่อหรือยัง ?" เขาก็ยังงงอยู่พักใหญ่กว่าที่จะยอมรับว่าตัวเองไปทำอะไร ๆ ในระหว่างที่หลับจริง ๆ

    อย่างของต่างประเทศมีบางคนน้ำหนักขึ้นเอา ๆ หมอก็สงสัยว่ากลางวันไม่ค่อยกินอะไร เมื่อติดกล้องวงจรปิดแล้วถึงพิสูจน์ได้ว่าไหล ก็คือในระหว่างที่หลับ เปิดตู้เย็นกินกระจายทั้งคืน..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ในเรื่องของภาษา ถ้าเราใช้ในส่วนที่ถูกไว้ก่อน ก็จะทำให้ช่วยให้ภาษาของเราเสียหายน้อยลง ปัจจุบันนี้เห็นบรรดาพวกเด็กรุ่นใหม่เขียนลงในโซเชียลต่าง ๆ แล้ว กระผม/อาตมภาพก็กลุ้มใจ อย่างวันนี้ก็เห็นเขาเขียนคำว่า "ธรรมชาติ" เขียนเป็น "ทำมะชาด" ไปเลย..!

    เรื่องพวกนี้ถ้าเราปล่อยไปเรื่อยก็จะทำให้ภาษาของเราผิดเพี้ยนไป แล้วอาจจะถึงขั้นสูญเสียอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของตนเองไป ดังนั้น..หลายจุดที่กระผม/อาตมภาพให้ความเห็นไป ก็คือส่วนที่ผิดพลาดในเรื่องของภาษา ส่วนเรื่องของการจัดวางข้าวของนั้นเป็นเรื่องปกติ ก็แค่สลับที่กันใหม่เท่านั้น หรือว่าเสียงบรรยายที่เขาอุตส่าห์บันทึกเสียงอย่างเป็นทางการมา ส่วนหนึ่งเป็นฉันท์ ถ้าคนที่ไม่ชำนาญจริง ๆ ไม่สามารถที่จะอ่านให้ถูกต้องได้อย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่พอจะรับได้

    ต้องชมว่าบรรพบุรุษของเรามีความสามารถสูงมากในสุนทรียศาสตร์ เรื่องของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนต่าง ๆ เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความงดงามของภาษา แล้วขณะเดียวกันก็สามารถนำมาเรียงร้อยจนกระทั่งเกิดความงามเพิ่มขึ้นมาอีกหลาย ๆ ระดับ

    รุ่นของพวกท่านต้องบอกว่าน่าเสียดายมาก ถ้าหากว่าได้อ่านกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง หรือว่าโคลงประพาสธารทองแดง ได้อ่านลิลิตละเลงพ่ายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้อ่านบทกวีของชิต บุรทัต โดยเฉพาะสามัคคีเภทคําฉันท์ หรือแม้กระทั่งนิยายต่าง ๆ ไม่ว่าจะของเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีปก็ดี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก็ตาม หรือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) แม้กระทั่งนิยายของอิงอร หรือว่าบุษยมาส ท่านทั้งหลายก็จะเห็นถึงความงดงามของภาษาไทย

    ในบทเรียนที่พวกเราสมัยเก่าเรียนอยู่จะมีเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ท่านบรรยายเอาไว้ว่า "เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเบญจคีรีนคร ก็เป็นเวลาจวนจักสิ้นแสงทิวาวาร แดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตรแลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดุจจะมีหัตถ์ทิพย์มาแผ่ปกช่วยอำนวยความสวัสดี ฯลฯ" นี่คือภาษาไทยธรรมดา ๆ เขียนคล้าย ๆ ทำนองธรรมวัตรที่พวกเราใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนากัน
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    หรือแม้กระทั่งหนังสือธรรมดา ๆ ที่อิงอรประพันธ์ขึ้นมา บรรยายถึงความรักระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ทำให้เราท่านทั้งหลายได้เห็นว่าบุคคลที่ใช้ภาษาได้อย่างเลอเลิศนั้นเป็นอย่างไร "บุหรงเอย ยูงทองล่องฟ้า สกุณาเลิศศักดิ์ ไฉนไม่เกาะคาคบเมฆ ไยแม่ลงรำแพนเกลือกดินเยี่ยงนกเปล้ากลั้วฝน เสมือนไร้ปรานีแววหางเพริศพราวล้ำค่าน้ำเพชรแห่งตัว ฯลฯ" หนุ่มสาวเขาจีบกันนะครับ คุณใช้ภาษาได้สวยขนาดนี้ไหม ?

    เพราะฉะนั้น..ไม่ต้องสงสัยหรอกว่าทำไมผู้เรียนบาลีประโยค ๗ - ๘ - ๙ ในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถที่จะใช้การแต่งฉันท์ต่าง ๆ ได้เหมือนกับคนสมัยก่อน เพราะว่าประสบการณ์น้อย อับจนด้วยถ้อยคำ รวยอักษรไม่พอ..!

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส บรรยายการรบระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชว่า

    หัสดินปิ่นธเรศไท้ โททรง
    คือสมิทธิมาตงค์ หนึ่งอ้าง
    หนึ่งคือศิริเมขล์มง คลอาสน์ มารเอย
    เศียรส่ายหงายงาคว้าง ไขว่แคว้งแทงโถม

    สองโจมสองจู่จ้วง บำรู
    สองขัตติยสองขอชู เชิดด้ำ
    กระลึงกระลอกดู ไวว่อง นักนา
    ควาญขับคชแข่งค้ำ เข่นเขี้ยวในสนาม


    กระผม/อาตมภาพเชื่อเลยพวกเราร้อยละ ๙๙ แปลไทยเป็นไทยไม่ออก..!

    หรือไม่ก็บางทีเราได้ยินเป็นเพลง แต่ไม่รู้ว่านั่นก็คือโคลงนิราศประพาสธารทองแดง

    "เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียง ไปทั้งหมู่
    ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนพี่อยู่ เพียงเอกา
    ร่ำร่ำใจรอนรอน อกสะท้อนอ่อนใจข้า
    ดวงใจไยหนีหน้า โถแก้วตา มาหมางเมิน"
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,068
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    เราจะเห็นถึงความอัศจรรย์ในภาษาและความงดงามในอัตลักษณ์ของภาษาไทย ที่ฝรั่งหลายต่อหลายคนบ่นว่าเรียนยากฉิบหาย..! ไม่ใช่แต่ฝรั่งครับ คนไทยเราเองนี่แหละ..ตกภาษาไทยมานับไม่ถ้วนแล้ว..! ปัจจุบันนี้ถ้ากล่าวถึงเอกัตถประโยค อเนกัตถประโยค สังกรประโยค พวกเราก็ตายสนิทแล้ว..! แยกไม่ออกว่าข้อความความหมายเดียว ข้อความหลายความหมาย หรือข้อความที่มีความหมายทับซ้อนกันปะปนกันเป็นอย่างไร

    จะเห็นได้ว่าเว็บไซต์วัดท่าขนุนของเรา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นเว็บไซต์อนุรักษ์ภาษาไทย ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะได้รักษาหลักภาษาที่ถูกต้องเอาไว้ แต่ในปัจจุบันนี้เขาไม่สนใจอะไรเลย เชื่อหมอดูอย่างเดียว ตั้งชื่ออะไรมาให้กูเอาทั้งนั้น แถมยังมีคำแปลอีกต่างหาก ทั้ง ๆ ที่มันแปลมาส่งเดช..!

    กระผม/อาตมภาพเคยเข้าไปดูแล้ว ไม่สามารถจะแปลความหมายได้ แต่เขามั่วให้แปลได้ แล้วเราก็ไปคิดว่าถูกต้อง เอาไปอ้างอิงต่อด้วย อย่างชื่อ "รรรรรร"
    กระผม/อาตมภาพเรียนมาจนหัวจะผุจนป่านนี้ อ่านหนังสือมาไม่ต่ำกว่าหมื่นเล่ม กูไม่เคยเจอ มันยังดันอ่านได้ แล้วก็แปลได้อีก แล้วจะให้เชื่อมันไหม ?

    ดังนั้น..ในส่วนนี้เมื่อเราเปิดพิพิธภัณฑ์ก็จำเป็นว่าจะต้องดู โดยเฉพาะในส่วนเนื้อหาข้อธรรมที่ผิดไม่ได้ ถ้าหากว่าผิดแล้วคนเชื่อตาม เอาไปเผยแพร่ต่อ ก็อาจจะทำให้คนเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลย จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการต้องระมัดระวัง ถ้าหากว่าตรงไหนไม่มั่นใจ มาสอบถามกระผม/อาตมภาพได้

    เดี๋ยว
    กระผม/อาตมภาพจะหาเวลาขึ้นไปดูในส่วนของนรก ๑๐ ขุมอีกทีหนึ่ง เนื่องเพราะวันนี้ที่ดูคร่าว ๆ ที่บรรยายมา มีหลายอย่างที่ดูเหมือนว่าจะเพี้ยน ๆ ไปหน่อย เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเขาไปเอาคำบรรยายมาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ซึ่งคำบรรยายเหล่านี้ ถ้าหากว่าเป็นคนที่ยึดตำราจนเกินเหตุ ประเภทเถรตรง ก็จะเถียงตายเลยว่าไม่ใช่..!

    ดังนั้น..ถ้าเป็นไปได้เอาเนื้อหาตามพระไตรปิฎกไว้ก่อน ส่วนของครูบาอาจารย์ เราจะเคารพขนาดไหนก็ตาม ไม่ควรเอามาอ้างอิง เพราะว่าจะเป็นอาจาริยวาท ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อที่คณะไหนคณะนั้นเขาเชื่อกันเอง ไม่ใช่เรื่องที่สามารถยืนยันเป็นสากลได้ ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ทุกอย่างจะสมบูรณ์ แล้วเปิดให้ชมได้อย่างที่ต้องการ

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...