เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 กุมภาพันธ์ 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,111
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,439
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,111
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,439
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ มีข่าวที่นักร้องชื่อดังได้ทำการสักลายยันต์อิติปิ โสฯ ๘ ทิศติดตัวเอาไว้ แล้วก็มีการประกาศในลักษณะชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งคนไทยจำนวนมากตื่นเต้นกันว่า เป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ประเทศไทย

    กระผม/อาตมภาพได้ยินแล้วรู้สึกไม่ค่อยจะดี เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่านักร้องผู้นั้นได้สักยันต์อิติปิ โสฯ ๘ ทิศไว้ที่ต้นขา ทุกท่านต้องไม่ลืมว่าอิติปิ โสฯ ๘ ทิศนั้นก็คือบทสรรเสริญพระพุทธคุณ แล้วลายยันต์บางท่านก็จะมีการเขียนรูปองค์พระเอาไว้ เพื่อที่จะปิดหัวปิดท้ายด้วย..!

    จะว่าไปแล้วอุปเท่ห์ต่าง ๆ ในการใช้พระคาถาอิติปิ โสฯ นั้นมีอยู่มาก ดังนั้น..ส่วนหนึ่งก็จะเรียกว่าพระคาถาอิติปิ โสฯ เกราะเพชรบ้าง พระคาถาอิติปิ โสฯ ๘ ทิศบ้าง พระคาถาอิติปิ โสฯ บัวบานบ้าง แต่ว่าทั้งหมดนั่นก็คือบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ซึ่งเราควรที่จะสักเอาไว้ในที่สูง โดยเฉพาะไม่ควรที่จะให้ต่ำกว่าบั้นเอวของตน

    ตรงจุดนี้จะไปกล่าวโทษนักร้องชื่อดังท่านนั้นก็ไม่ได้ เพราะว่าท่านเป็นฝรั่ง ต่อให้รักชอบแบบธรรมเนียมไทยแค่ไหน ก็เข้าไม่ถึงเต็มที่เหมือนกับคนไทยด้วยกัน สำคัญอยู่ตรงอาจารย์ที่สักให้นั้นต่างหาก ว่าทำไมถึงไม่ใช้วิจารณญาณให้ดีกว่านี้เสียหน่อย ? ทั้ง ๆ ที่ดูแล้ว ท่านก็เคร่งครัด มีความเคารพในพระรัตนตรัยอยู่มาก

    อย่าลืมว่าโบราณของเรานั้น วัตถุมงคลต่าง ๆ ที่จะอยู่ใต้สะดือนั้นมีน้อยมาก จะมีก็เพียงประเภทวัตถุมงคลที่เป็นไสยศาสตร์ฝ่ายต่ำเท่านั้น ก็คือมักจะเป็นพวกเสน่ห์ยาแฝดทำนองนั้น แต่ถ้าหากว่าเป็นวัตถุมงคลที่เสกด้วยพุทธคุณแล้ว ต่อให้เป็นปลัดขิกที่เป็นรูปอวัยวะเพศชาย ท่านก็ให้แค่แขวนเอวเท่านั้น

    แต่ว่านี่เราเอายันต์อิติปิ โสฯ ๘ ทิศ ซึ่งก็คือบทสรรเสริญพระพุทธคุณไปสักไว้ที่ต้นขา แล้วกระผม/อาตมภาพก็ยังไม่แน่ใจว่า จะมีการสักยันต์รูปองค์พระไว้ด้วยหรือเปล่า ?
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,111
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,439
    คำว่า "ยันต์รูปองค์พระ" นี้ บางคนก็เรียกง่าย ๆ ว่า "ยันต์น้ำเต้า" เนื่องเพราะว่าจะเริ่มจากพระบาทก่อน จึงมีคาถาในขณะที่สักยันต์หรือว่าเขียนยันต์ว่า ปาทะพุทธา ปะนะชายะเต

    เมื่อเขียนมาตรงกลางก็มีคาถากำกับว่า องคะพุทธา ปะนะชายะเต แล้วเมื่อเขียนถึงบนสุด ก็มีคาถากำกับว่า สีสะพุทธา ปะนะชายะเต ก็แปลว่ามีการกำหนดหน่วงจิต นึกถึงภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง แต่ว่าถ้าหากว่าเราไม่มีการยึดถือ ไม่มีข้อห้ามที่จะระมัดระวัง ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเอาความศักดิ์สิทธิ์นั้นมาจากไหน ?!

    ก่อนหน้านี้ในช่วงวัยรุ่น กระผม/อาตมภาพศึกษาพระคาถาเลขยันต์ต่าง ๆ พระคาถาอิติปิ โสฯ ๘ ทิศ ก็จะมีการแยกใช้งานแต่ละทิศไป ก็คือ

    บทแรกที่ว่า อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา เรียกว่า กระทู้เจ็ดแบก ตามที่กระผม/อาตมภาพศึกษามา อาจจะไม่ตรงกับผู้อื่นมากนัก เป็นบทที่ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน

    บทที่ ๒ ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง เรียกว่า ฝนแสนห่า ช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย ประมาณว่าอยู่ท่ามกลางฝนตกหนัก เม็ดฝนก็ยังกระทบร่างกายไม่ได้

    บทที่ ๓ ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท เรียกว่า นารายณ์เคลื่อนสมุทร ตรงจุดนี้เอาไว้เสกน้ำมนต์ ถอนคุณ ถอนของต่าง ๆ บางทีก็เสกน้ำลายใต้ลิ้น ในการเกลื่อนหัวฝี สูญหัวฝีด้วย

    บทที่ ๔ โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ เรียกว่า นารายณ์ถอดจักร เอาไว้ใช้ลักษณะคล้ายคลึงกับบทที่สามเช่นกัน

    บทที่ ๕ ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ เรียกว่า นารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพ เอาไว้เสกหวาย หรือเสกขมิ้น ตีผี จี้ผี ไล่ผีให้ออกจากร่างกาย

    บทที่ ๖ คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ เรียกว่า นารายณ์พลิกแผ่นดิน เอาไว้สำหรับใช้เวลาต้องคดีความ กลับจากร้ายให้กลายเป็นดี

    บทที่ ๗ วา โธ โน อะ มะ มะ วา เรียกว่า ตวาดป่าหิมพานต์ ใช้ในทางมหาอำนาจ เป็นนะจังงัง

    บทสุดท้าย อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ เรียกว่า นารายณ์แปลงรูป ใช้สำหรับเวลาอยู่ท่ามกลางศัตรู ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจดจำไม่ได้ว่าเราเป็นใคร โดยเฉพาะถ้ามีความคล่องตัว สามารถหน่วงจิต นึกถึงภาพบุคคลอื่นมาทดแทนตัวเราได้ เรานึกถึงผู้หนึ่งผู้ใด ใบหน้าของเราก็จะคล้ายคลึงกับผู้นั้น ต่อให้เดินอยู่ท่ามกลางศัตรูหมู่มาก เขาก็จะจดจำเราไม่ได้

    แต่พอมาภายหลัง ได้ศึกษากับพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านให้ภาวนา ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ บอกว่าเป็นบทตวาดป่าหิมพานต์ เอาไว้สำหรับใช้ขับไล่ไสยศาสตร์..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,111
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,439
    กระผม/อาตมภาพตอนนั้น เป็นผู้ที่ที่ไร้ซึ่งวิจิกิจฉาในครูบาอาจารย์เสียแล้ว บอกอะไรก็ไม่มีการสงสัย แค่เรื่องของการเรียกชื่อ ตัวคาถาไม่ได้ผิด ในเมื่อท่านบอกว่าเอาไว้ขับไล่ไสยศาสตร์ กระผม/อาตมภาพก็แค่ตั้งใจภาวนาแล้วขับไล่ไสยศาสตร์เท่านั้น ไม่เหมือนกับของเดิมที่เอาไว้สำหรับไล่ผี ในเมื่อสามารถใช้เพิ่มขึ้นมาได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี

    แต่ว่าเมื่อมาศึกษาในการเขียนยันต์และชักสูตรสำหรับการสร้างยันต์เกราะเพชร ก็มาใช้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือมีทั้งใช้ในการอ่านลงตรง ๆ และมีการอ่านตามขวางด้วย ถ้าอ่านลงตรง ๆ ก็คือ อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา อะ เป็นต้น ถ้าอ่านตามขวาง ก็ยังใช้อ่านแบบเดิมก็คือ อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง ฯลฯ

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นเบื้องต้นในการที่จะช่วยให้เราทั้งหลายทรงสมาธิจิตได้ง่าย เพราะว่ามีเรื่องของคาถา มีเรื่องของเลขยันต์มาช่วยโยงจิตด้วย ลำพังถ้าให้เรากำหนดภาวนา บางทีก็ไม่รู้จะยึดมั่นอะไร ลมหายใจเข้าออกก็เป็นของละเอียดเกินไป ยากที่จะกำหนดจดจำได้

    โบราณาจารย์ท่านจึงได้กำหนดในเรื่องของการภาวนาพระคาถาต่าง ๆ อย่างเช่นว่าอาจจะมีการภาวนา ๗ คาบ ๙ คาบ หรือว่า ๑๐๘ คาบเป็นต้น คำว่า "คาบ" ในที่นี้ก็คือ "จบ" ๙ คาบคือ ๙ จบ

    แต่ว่าบางท่านก็กำหนดเอาไว้ว่า ภาวนาทั้ง ๙ คาบภายในชั่วลมหายใจเดียว ภาวนา ๑๐๘ คาบภายในชั่วลมหายใจเดียว เป็นต้น ซึ่งในช่วงนั้น เราจะต้องสามารถทรงสมาธิจิตระดับสูงได้แล้วถึงจะทำได้
    เพราะว่าสภาพจิตภายในที่ดำเนินไปนั้น ต้องการให้เร็วเท่าไรก็เร็วเท่านั้นได้ ไม่ใช่คนปกติทั่ว ๆ ไป ที่จะกลั้นหายใจแล้วภาวนาได้ ๑๐๘ จบ เป็นต้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,111
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,439
    พวกนี้จะมีคุณความดีในเบื้องต้น คือทำให้เราเกิดความมั่นใจ เชื่อมั่นในอานุภาพของพระคาถาเลขยันต์ เชื่อมั่นในอานุภาพของครูบาอาจารย์ เชื่อมั่นในอานุภาพของคุณพระศรีรัตนตรัย เพราะว่าเมื่อภาวนาแล้ว กำหนดหน่วงจิต ก็เกิดผลตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า "มโนมยา" ก็คือเป็นการ "สำเร็จด้วยใจ"

    แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมไปถึงช่วงท้าย ๆ เป็นการตัด การละ เข้าสู่มรรคผลนั้น ครูบาอาจารย์จะต้องแนะนำให้ท่านทั้งหลายปล่อยวางด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะตัดละเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะว่าเมื่อถึงเวลากำหนดภาวนาเมื่อไร สภาพจิตของเราก็จะไปหน่วงยึดกับพระคาถาบ้าง ไปหน่วงยึดกับภาพที่เรากำหนดบ้าง ไปหน่วงยึดกับผลที่เราตั้งใจจะให้เป็นบ้าง ถ้าหากว่าเรายังยึดอยู่ ไม่สามารถที่จะปล่อยวางได้ เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลได้

    แต่ว่าครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านมีความชาญฉลาด จึงนำเอาเรื่องของพระคาถาเลขยันต์มาให้ลูกศิษย์ซักซ้อมภาวนาบ้าง เขียนบ้าง โดยให้กำหนดอารมณ์ใจ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออกไปพร้อมกันด้วย เมื่อทำบ่อย ๆ ซักซ้อมบ่อย ๆ สมาธิเริ่มเข้มแข็ง ทรงตัวขึ้น ท่านก็จะปรับเปลี่ยนเข้ามาหาสายวิสุทธิมรรค ก็คือแปรจากการหน่วงจิตนึกถึงภาพ มาเป็นการกำหนดภาพกสินบ้าง ภาพพระบ้าง

    และท้ายที่สุดเมื่อมีความคล่องตัวมาก ๆ แล้ว ก็ให้ "เพิก" คือการทิ้งภาพทั้งหลายเหล่านั้น ทิ้งคาถาทั้งหลายเหล่านั้น หรือว่าทิ้งวิธีการหน่วงจิตให้เกิดผลทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อที่เราจะได้ก้าวสู่มรรคผลในระดับสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
    แต่ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์ท่านใด รู้จักแต่สอนให้ยึด ถ้าไม่มีความคล่องตัวเพียงพอ เราก็ไม่สามารถจะเข้าถึงมรรคถึงผลได้ แต่สภาพจิตที่ทรงฌาน ทรงสมาบัติ อย่างน้อย ๆ ท่านทั้งหลายก็มีสุคติเป็นที่ไป เหล่านี้เป็นต้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...