เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 18 พฤศจิกายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,809
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,567
    ค่าพลัง:
    +26,407
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,809
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,567
    ค่าพลัง:
    +26,407
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ตัดสินใจอยู่หลายวันว่าจะพูดถึงดีหรือไม่ ? ท้ายที่สุดคิดว่าถ้าพูดไปแล้วน่าจะมีประโยชน์มากกว่า วันนี้จึงขอกล่าวถึงเรื่องนี้

    ก็คือในกลุ่มไลน์ศูนย์ประสานงานเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย และกลุ่มไลน์หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลทั่วประเทศไทยนั้น มีพระอาจารย์ชื่อดังอยู่รูปหนึ่ง ท่านมีชื่อเสียงทั้งการเป็นนักเทศน์ เป็นนักปาฐกถา และเป็นนักสอนธรรมนำปฏิบัติแก่ลูกศิษย์ เป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดป่าทางภาคอีสาน แต่ว่ามีสำนักปฏิบัติธรรมใหญ่โตอยู่ในเขตภาคกลางด้วย

    ท่านได้เมตตาส่งไลน์ถึงกระผม/อาตมภาพว่า "สิ่งที่ท่านทำดีหมดทุกอย่าง เสียอยู่อย่างเดียวที่ยังปลุกเสกวัตถุมงคลอยู่" กระผม/อาตมภาพก็ตอบไปแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า "น้ำใสเกินไปก็ไร้ปลา" ท่านจึงตอบกลับมาว่า "ถ้าท่านพูดอย่างนี้ก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้..!"

    กระผม/อาตมภาพเองได้ฟังแล้วก็ยังรู้สึกแปลกใจ เนื่องเพราะว่าการที่ท่านต้องการแค่วัตรปฏิบัติแบบตรงไปตรงมาเพียงประการเดียวนั้น กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่ายากที่จะเอาพระพุทธศาสนารอดได้ เอาแค่ที่โบราณของเราเปรียบเทียบว่า "บัวยังมี ๔ เหล่า" นั่นเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่สุด

    เนื่องเพราะว่ากำลังใจของบุคคลที่จะเข้าถึงหลักการปฏิบัติธรรมบริสุทธิ์โดยส่วนเดียวนั้น กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่ามีไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นั้นก็คือบรรดาท่านทั้งหลายที่เพียรพยายามอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา เบื้องต้นด้วยตนเอง แต่อีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพุทธศาสนิกชนนั้น ท่านทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีเครื่องยึดโยงให้ จึงสามารถที่จะก้าวเดินต่อไปในพระพุทธศาสนาของเราได้ เครื่องยึดโยงที่กระผม/อาตมภาพว่านี้ประการหนึ่ง ก็คือวัตถุมงคลนั่นเอง

    การสร้างวัตถุมงคลมาแต่โบราณนั้น มีวัตถุประสงค์หลายอย่างด้วยกัน ประการแรก ในระยะแรกส่วนใหญ่สร้างไว้เพื่อสืบทอดอายุพระศาสนา อย่างเช่นว่าพระกรุต่าง ๆ อย่างที่เป็นที่โด่งดังมากเลยก็คือพระรอดลำพูน พระซุ้มกอ พระผงสุพรรณ เป็นต้น ทั้งหลายเหล่านี้มักจะสร้างอยู่ที่ ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,809
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,567
    ค่าพลัง:
    +26,407
    เนื่องเพราะว่าพระพิมพ์เมื่อสร้างแล้วมีการเผาไฟให้แกร่ง สามารถอยู่ไปได้หลายร้อยปีหรือว่านับพันปี บุคคลต่อให้ถึงเวลาแล้วไม่ทราบว่าสถานที่นั้นเคยมีวัดวาอาราม หรือว่าปูชนียสถานสำคัญในพระพุทธศาสนาอยู่ เมื่อถึงเวลาไปขุดพบเข้าก็จะทราบได้ทันที ถ้ามีศรัทธาฟื้นฟูบูรณะ ก็สามารถนำเอาวัตถุมงคลนั้นออกมา ให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ๆ ได้

    ประการที่สองของการสร้างวัตถุมงคลก็คือ โบราณาจารย์ท่านต้องการจะโยงจิตของเราให้นึกถึงความดี อย่างเช่นว่านึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นพุทธานุสติ นึกถึงพระธรรมคำสอนที่ครูบาอาจารย์กำชับกำชามาอย่างเช่นว่า "ต้องเป็นคนดีนะ..ต้องมีศีลนะ..ต้องเคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์นะ วัตถุมงคลถึงจะคุ้มครองให้" นี่เป็นหลักธรรมในเบื้องต้น และท้ายที่สุดก็จะมีการให้ภาวนาเพื่อกำกับเอาไว้อีก

    ก็แปลว่าถ้านึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นพุทธานุสติ นึกถึงคำสอนเป็นธัมมานุสติ นึกถึงหลวงปู่หลวงพ่อผู้ให้เป็นสังฆานุสติ บังคับตนเองต้องถือกฎเกณฑ์กติกาการใช้วัตถุมงคลนั้น จัดเป็นสีลานุสติ การต้องอาราธนาอยู่ทุกวันนั้นจัดเป็นการภาวนาในสมาธิ

    ก็แปลว่าเหลือเพียงประการสุดท้ายก็คือ ท่านจะสามารถมองเห็นทุกข์เห็นโทษของการที่เราต้องอยู่ในวัฏสงสารนี้ด้วยความกลัว แล้วต้องการที่จะหลุดพ้นหรือไม่ ? เนื่องเพราะว่าสรรพชีวิตล้วนแล้วแต่กลัวความตายทั้งสิ้น การยึดถือวัตถุมงคลก็เพื่อหวังให้ตนเองรอดไปในสถานการณ์รุนแรงต่าง ๆ ได้ถือว่าเป็นการช่วยให้ตนรอดจากความกลัว

    ในเมื่อวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ชาติแล้วชาติเล่าเราต้องจมอยู่กับความกลัว ถ้าอย่างนั้นสมควรที่จะพอ และหาทางออกจากกองทุกข์ ที่ถือว่าเป็นหลักปัญญาหรือยัง ? ก็แปลว่านอกจากจะเป็นเครื่องโยงจิตให้ระลึกถึงความดีแล้ว ยังเป็นอุบายให้ปฏิบัติในไตรสิกขาเบื้องต้นอีกด้วย

    ส่วนอานุภาพต่าง ๆ ของวัตถุมงคล ไม่ว่าจะช่วยรักษาตนเอง ช่วยรักษาครอบครัว ตลอดไปถึงการช่วยรักษาประเทศชาตินั้น ถือว่าเป็นของแถมที่ไม่ต้องกล่าวถึงก็ยังได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวกระผม/อาตมภาพเองที่ปลุกเสกวัตถุมงคล ก็เพราะว่ามีผู้เลื่อมใสศรัทธา มั่นใจว่าสามารถที่จะอาราธนาคุณพระให้ลงสถิตในวัตถุมงคลเหล่านั้นได้ จึงมีผู้ศรัทธานิมนต์ไป

    แล้วในขณะเดียวกัน ถ้ากล่าวว่าการสร้างวัตถุมงคลถือเป็นเดรัจฉานวิชา หาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ชอบ ท่านต้องเข้าใจว่าคำว่า "เดรัจฉานวิชา" ก็คือ "วิชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผล"
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,809
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,567
    ค่าพลัง:
    +26,407
    หลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์จำนวนมาก ที่กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่าท่านบรรลุมรรคผลแล้วประการหนึ่ง หลวงปู่หลวงพ่อที่กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่า ท่านมีสมาธิสมาบัติคล่องตัวมาก ๆ ไม่ว่าจะในระดับรูปฌานหรืออรูปฌานอีกประการหนึ่ง ท่านทั้งหลายเหล่านี้ถือว่าปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไปถึงระดับนั้นได้ ท่านก็ยังสร้างวัตถุมงคลกันอยู่

    ไม่ว่าจะโดยวัตถุประสงค์สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา โยงจิตให้ระลึกถึงความดี หรือสอนญาติโยมที่ยังต้องการเครื่องยึดโยงให้ปฏิบัติในไตรสิกขาเบื้องต้นก็ตาม ท่านทั้งหลายเหล่านี้ย่อมไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าท่านศึกษาในเดรัจฉานวิชา เพราะว่าท่านทำเพื่อตนเองจนสำเร็จประโยชน์แล้ว ท่านจึงทำเพื่อพุทธศาสนิกชน ทำเพื่อพระพุทธศาสนา

    ประการต่อไปคือเป็นการ "หาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ชอบ" ขอเรียนถวายพระอาจารย์ว่า การหาเลี้ยงชีพที่พระพุทธเจ้าตลอดจนกระทั่งพระอุปัชฌาย์แจ้งแก่เราทั้งหลายนั่นก็คือ "ปิณฑิยา โลปโภชนัง นิสสายะปัพพัชชา" ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตก็คือการเที่ยวบิณฑบาต ก็คือให้หาเลี้ยงตนเอง ด้วยการละมานะทิฏฐิลงไปขอจากผู้อื่นเขา

    แต่คราวนี้การหาเลี้ยงนั้นจะต้องหาอยู่ทุกวัน กระทำกันเป็นอาจิณ ไม่ว่างไม่เว้นแม้แต่สักวันหนึ่ง เพราะว่าเราต้องกินต้องฉัน แต่การสร้างวัตถุมงคลนั้นจะกล่าวว่าหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ชอบไม่ได้ เนื่องเพราะว่าทำกันเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

    โดยเฉพาะถ้าหากว่าตัดบรรดาผู้ที่หากินอยู่ในวงการนี้ ที่เรียกกันชัด ๆ ว่า "พุทธพาณิชย์" ออกไปแล้ว สิ่งที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านทำก็ดี หรือว่าสิ่งที่กระผม/อาตมภาพทำก็ตาม ย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ชอบได้

    ไม่เช่นนั้นแล้วหลวงปู่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ผู้สร้างพระสมเด็จวัดระฆัง อันเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่องเมืองไทยก็ดี หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค ผู้สร้างพระเครื่องทรงสัตว์พาหนะ ที่ระบือลือลั่นไปทั่วประเทศไทยก็ดี หลวงปู่สด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้สร้างพระของขวัญ อันดังระเบิดเถิดเทิง เป็นที่ต้องการของคนทั้งประเทศก็ตาม จะไม่ยกตัวอย่างมากไปกว่านี้ แต่พระอาจารย์ท่านจะกล่าวหาว่า หลวงปู่หลวงพ่อที่กระผมยกตัวอย่างมานี้ ท่านศึกษาในเดรัจฉานวิชาหรือว่าหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่ชอบหรือไม่ ?
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,809
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,567
    ค่าพลัง:
    +26,407
    แต่อย่างไรเสียก็ขอกราบขอบพระคุณในความมีน้ำใจของพระอาจารย์ที่เมตตาตักเตือนมา แต่กระผม/อาตมภาพพิจารณาแล้วว่า สิ่งที่ท่านเตือนมาประกอบไปด้วยความหวังดีปรารถนาดีนั้น เพราะว่าอยากจะให้พุทธบริษัททุกรูปทุกนาม ช่วยกันพิทักษ์รักษาค้ำจุนพระพุทธศาสนาของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่ว่าศาสนาพุทธของเรานั้นประกอบด้วยบุคคลในระดับต่าง ๆ ที่ไม่เท่ากัน

    ขอบคุณที่ท่านหวังดีปรารถนาดีตักเตือนมา แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่า สิ่งที่กระทำนั้นไม่น่าจะใช่อย่างที่ท่านคาดคิด ก็ได้แต่ขอบคุณความหวังดีของท่าน โดยที่ไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามได้

    ประการต่อไปก็คือพระอาจารย์อายุน้อยกว่ากระผม ๑๐ ปี พรรษาน้อยกว่ากระผมหลายพรรษา โดยมารยาทของนักบวชด้วยกัน ถ้าหากว่าบุคคลอื่นต่อให้พรรษาน้อยกว่า อายุน้อยกว่า ถ้าไม่ได้ปวารณาเอาไว้ เราก็จะไม่เข้าไปตักเตือนเพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท..!

    กระผม/อาตมภาพเคยตักเตือนรุ่นพี่ที่อาวุโสพรรษาและอายุกาลมากกว่ามาแล้ว แต่นั่นท่านปวารณาโดยตรงให้กระผม/อาตมภาพตักเตือนเอง แต่ว่าท่านเองก็ยังเมตตาฝืนมารยาทอันควรมีในหมู่สงฆ์ของเรา ตักเตือนให้กระผม/อาตมภาพประพฤติปฏิบัติตนเสียใหม่ เพื่อความงามสมบูรณ์พร้อมในสายตาของท่าน ก็ต้องกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

    ขอให้บารมีแห่งคุณพระศรีพระรัตนตรัย และคุณงามความดีที่ท่านอาจารย์ได้กระทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ จงรวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านอาจารย์สถิตสถาพรไพบูลย์ อยู่ช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนาของเรา ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปชั่วกาลนาน

    ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...