เรื่องเด่น เรื่อง..ทานบารมีปฏิบัติ (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 20 ตุลาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,591
    16194936_1853321028241138_9145860282698993563_n-jpg.jpg


    วันนี้วันพระตรงกับวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา

    ขอให้ทุกท่านมีความสุขในธรรม

    เรื่อง..ทานบารมีปฏิบัติ


    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว
    ต่อนี้ไปขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจสดับวิชาความรู้ในด้านการเจริญพระกรรมฐาน สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดถึงเรื่อง “ทาน” ตามปกติ เมื่อคืนนี้ได้พูดถึงเรื่องทานมาเล็กน้อย หวังว่าบางท่านที่มีปัญญาดีและก็ได้มีความเข้าใจไปแล้ว แต่ว่าบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ จึงจะขอย้ำเรื่องทานอีกสักหน่อยหนึ่ง
    เพราะคำว่า “ทาน” ก็คือ การให้ ถ้าจะพูดกันตามแนวของสมถภาวนา ก็เรียกกันว่า “จาคานุสสติกรรมฐาน” สำหรับทานนี่ก็แบ่งเป็นหลายขั้นด้วยกันคือ:-
    (๑) ทานบารมีต้น
    (๒) ทานอุปบารมี
    (๓) ทานปรมัตถบารมี
    ทีนี้การให้ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความสุข ถ้าเราจะพูดกันในด้านของหลักปฏิบัติ ว่าทำไมจึงต้องให้ทาน อันนี้ก็ขอบอกว่าเราต้องการความดับ ความดับในที่นี้ก็คือ “พระนิพพาน” “นิพพาน” หรือ “นิพพะ” ก็แปลว่า ดับ
    ถ้าจะถามว่าดับอะไร ก็ขอตอบว่าดับความทุกข์
    ท่านที่มีอารมณ์เข้าถึงนิพพาน ท่านผู้นั้นไม่มีอารมณ์ของความทุกข์ เพราะว่าเป็นผู้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา
    ที่เราต้องให้ทานกันก็เพราะว่าเราไม่ต้องการมีขันธ์ ๕ เมื่อการมีขันธ์ ๕ เป็นปัจจัยของความทุกข์ ที่เราต้องมีขันธ์ ๕ กันก็เพราะว่าเราติดอยู่ในวัตถุ หมายความว่าเรายังมีความรู้สึกว่า สิ่งนั้นเป็นทรัพย์สินของเรา สิ่งนี้เป็นทรัพย์สินของเรา แล้วก็ธาตุ ๔ ที่หุ้มห่อจิตอยู่ ที่เป็นเรือนร่างที่จิตไปอาศัย อันนี้เป็นเรา เป็นของเรา
    เป็นอันว่าเราเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งที่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเรา เป็นของเรา เมื่อเรามีความเข้าใจผิด มีความหลงผิดคิดอย่างนี้ ตัวเราจึงต้องเกิด ถ้าเราคิดว่าเรายังยึดเอาตัณหาเป็นที่ตั้ง เอาตัณหาเป็นสรณะ
    คำว่า “ตัณหา” แปลว่า ความทะยานอยาก อยากมีทรัพย์สิน อยากรํ่ารวย อยากจะเกิดใหม่เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อยากจะเกิดใหม่ให้หน้าตาสวยกว่านี้ อยากจะเกิดใหม่ให้มีศักดิ์ศรีดีกว่าเดิม หมายความว่าเรายังติดอยู่ในความอยาก ความอยากเป็นปัจจัยให้เกิด
    ฉะนั้น การให้ทานเป็นการตัดความอยาก ถ้าตัดความอยากได้เข้ามาแล้วก็เป็นการตัดอารมณ์ที่ติดในขันธ์ ๕
    การให้ทานในอับดับที่เราควรจะพิจารณา ถ้าจิตของเรายังคิดว่าการให้ทานครั้งนี้ เรายังมีหวังในการตอบแทนทั้งในชาติปัจจุบันและสัมปรายภพ คือเราคิดว่าเราให้ทานกับเขาแล้ว เวลาที่เราอดอยากมีความทุกข์เข็ญ บุคคลที่ได้รับทานจากเราคงอาจจะมีความเมตตาปรานีในเรา เขาจะสงเคราะห์เราให้เรามีความสุข ถ้ายังมีอารมณ์ติดอยู่อย่างนี้ก็ถือว่า ทานบารมี ของเรายังไม่เต็ม ยังหวังผลตอบแทนอันเป็นโลกีย์วิสัย
    หรือคิดว่าการให้ทานคราวนี้เราตายไปแล้ว เราจะได้เกิดบนสวรรค์เป็นเทวดามีความสุข แล้วถ้าเกิดเราเป็นมนุษย์ เราอาศัยทานการบริจาคจะเป็นปัจจัยให้เรามีความรํ่ารวยดีกว่าชาตินี้มาก เวลานี้เรามีฐานะพอกินพอใช้ เราหวังว่าถ้าเกิดไปชาติใหม่เราจะอุดมสมบูรณ์ ตัวอย่างมหาเศรษฐีทั้งหลายที่ปรากฏในพระสูตร ถ้าเราคิดอย่างนี้ จิตของเราก็ชื่อว่ายังไม่ถึงความเป็นอริยเจ้าขั้นสูงสุด ถ้าจะเป็นได้ก็แค่ขั้นพระโสดาบันเท่านั้น
    การให้ทานมีจิตผูกพันจริงๆ อารมณ์ยังไม่รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะว่าใจไม่ได้รักพระนิพพานอย่างจริงจัง เราก็เป็น “พระอริยเจ้า” ไม่ได้ จัดว่าเป็น “โลกียทาน”
    แต่ทว่า โลกียทาน ก็เป็นปัจจัยให้เราดับทุกข์ไปได้มาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะการให้ทานย่อมเป็นที่รักของบุคคลผู้รับ การให้ทานนี้ไม่มีอะไรเสีย คือหมายความว่าผู้ให้ย่อมได้ให้ ผู้รับย่อมได้รับ ผู้ให้ย่อมได้ความรักจากผู้รับ ก็ชื่อว่าเราดับทุกข์เบื้องต้นไปได้อันดับหนึ่ง
    แต่ว่าทุกข์เบื้องต้นที่ว่าดับนี้ก็ดับไม่จริง แล้วคนผู้รับทานก็ไม่แน่นักว่าจะมีการขอบคุณผู้ให้ทานเสมอไป อย่างคนที่มีนิสัยอกตัญญูไม่รู้คุณคนมีอยู่
    อย่างที่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงมีความเมตตาใน พระเทวทัต แต่ทว่าพระพุทธเจ้าก็ถูก พระเทวทัต ทรมาน สร้างความทุกข์ให้เกิดตลอดเวลาทุกชาติทุกสมัย แต่ทว่าเพราะอาศัยปัจจัยในการให้ทานขององค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดา หลังจากการตายจากชาตินั้นไปแล้ว พระองค์ก็เสวยวิมุตติสุข คือความสุขอันเป็นโลกีย์วิสัยดีกว่า พระเทวทัต มาก ยิ่งเกิดมากเท่าไหร่ ความสุขก็มีมากเท่านั้น ปัญญาก็มีมากขึ้น ทรัพย์สมบัติก็มีมากขึ้น อย่างนี้เป็น “โลกียทาน” ยังไม่ดีพอ
    ถ้าจะขยับขึ้นไปอีกนิดหนึ่งว่า การให้ทานนี้มันเป็นการสงเคราะห์ เราไม่หวังผลการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่ต้องการความรักจากบุคคลผู้รับทาน และก็เราไม่หวังผลในการเกิดเป็นเทวดา เราไม่หวังผลในการเกิดเป็นมนุษย์ที่จะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เราให้ทานด้วยความเมตตาปรานีในฐานะที่คนและสัตว์เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน จิตใจของเรานั้นมีความเบิกบานในการให้ทาน ให้ทานไปแล้วก็มีความชื่นใจ อารมณ์ใจส่วนหนึ่งก็นึกไว้เสมอว่า
    การให้ทานเป็นการสละวัตถุภายนอก เมื่อวัตถุภายนอกนี้มันเป็น “อนิจจัง” หาความเที่ยงไม่ได้
    ถ้าเรายึดถือมากเกินไป เป็นอารมณ์ของตัณหา มันก็เป็น “ทุกขัง” หมายความว่า ถ้าเราพลัดพรากจากมัน ความเสียใจ ความเสียดายจะเกิดขึ้น มันเป็นทุกข์
    และในที่สุดวัตถุก็ดี เราก็ดี วัตถุที่เราให้ทานก็ตาม ร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ก็ดีมันเป็น “อนัตตา” จะเล็งเห็นได้ว่าเหตุทั้ง ๒ ประการ
    กล่าวคือ ทาน ได้แก่วัตถุก็เป็น “อนิจจัง” หาความเที่ยงไม่ได้ ถ้าติดแรงเกินไปก็เป็น “ทุกขัง” มีอารมณ์เป็นทุกข์ และเมื่อพลัดพรากจากมันแล้ว ในที่สุด “อนัตตา” มาถึงแล้วก็ดึงไว้ไม่ได้ อย่างนี้ที่เราตัดสินใจว่าเราให้ทานในครั้งนี้เราไม่หวังการเกิด คือเราจะไม่ติดในวัตถุภายนอกทั้งหมด ในเมื่อมีชีวิตเราจะหาเงินมาเพื่อกิจแห่งการเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวตามหน้าที่ แต่ทว่าชีวิตินทรีย์ในร่างกายสลายลงไปเมื่อไหร่ เรากับมันก็จากกันอย่างชนิดที่ว่าไม่มีอะไรเหลือเยื่อใยซึ่งกันและกัน กำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคิดอย่างนี้นั้น ก็ชื่อว่าเป็นกำลังใจของพระอริยเจ้าเบื้องต้น นั่นก็คือเป็นกำลังใจของ “พระโสดาบัน”
    ทีนี้สำหรับทานที่เราพูดถึงวัตถุมันเป็นทานภายนอก ก็เรียกว่า “พาหิรกทาน” เป็นทานภายนอกที่เราให้สักเท่าไรก็ตาม อันดับที่เราจะพึงให้ได้ ทานภายนอก เราจะพึงได้ผลก็ได้แค่พระโสดาบัน
    ทีนี้เราจะกล่าวกันต่อไปว่า ทำยังไงเราจึงจะให้ทานเป็นพระสกิทาคามีให้ได้ เป็นอันว่า ทานบารมี ตัวเดียวนี้ เราจะก้าวเข้าสู่พระนิพพานให้ได้อาศัยทานเป็นหลัก
    ทานที่จะเป็นหลักในการที่จะเป็นพระสกิทาคามี ก็ได้แก่ “อัชฌัตติกทาน”
    “อัชฌัตติกทาน” เขาเรียกว่า ทานภายใน ทานภายในนี้ไม่ได้อาศัยวัตถุ แต่ก็อย่าลืมนะ ถ้าเราไม่สละวัตถุ ยังมีความเสียดายอยู่ในวัตถุซึ่งเป็นทานภายนอก เป็นของภายนอก เราก็ไม่สามารถให้ทานภายในเรียกว่า “อัชฌัตติกทาน” ได้
    ฉะนั้น การบริจาคทานภายนอก เราจะเห็นได้ว่าวิสัยของพระโสดาบัน ที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงห้ามพระว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็จงอย่าไปรบกวนพระอริยเจ้าชุดนี้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านที่เป็นพระโสดาบันพร้อมในการที่จะบริจาคในทานเพื่อเป็นการสงเคราะห์อยู่เสมอ
    นี่จะเห็นได้ว่า คนที่เป็น “พระอริยเจ้า” เขาไม่หวงแหนในทาน มีอารมณ์เปี่ยมในทานจัดเป็นกรรมฐานใน “จาคานุสสติกรรมฐาน” ถ้าการให้ทานของท่านผู้นั้น จิตใจปรารภพระนิพพาน และลองไปดูเรื่องศีล ศีลบริสุทธิ์ด้วย ทั้ง ๒ ประการนี้ก็จะช่วยให้ท่านผู้นั้นได้เข้าถึงความเป็น “พระโสดาบัน”
    ถ้าลำดับทานเข้าถึงการเป็น “พระสกิทาคามี” ตอนนี้ต้องประกอบทั้งทานภายนอกและก็ทานภายใน ทานภายในนี้ไม่ได้ใช้วัตถุ ได้แก่ “อภัยทาน”
    คือพระสกิทาคามีนี้ระงับบรรเทาความโลภ บรรเทาความโกรธ และบรรเทาความหลง หมายความว่าความโลภของพระสกิทาคามีเบาเต็มที จิตที่เกาะอยู่ในวัตถุเกือบจะไม่มี จะมีแต่เพียงว่าเราจะอาศัยมันเป็นเพื่อยังชีพให้คงอยู่ เราจะตายไปเมื่อไหร่ก็ช่างเถอะ นี่เป็นทานภายนอก
    สำหรับทานภายในที่พระสกิทาคามีทรงได้นั่นก็คือ “อภัยทาน” หมายความว่าบุคคลผู้ใดก็ดี ที่ทำให้เป็นที่ไม่ถูกใจเรา เราไม่พอใจในเขาในอากัปกิริยา ด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี แต่ทว่าอารมณ์ของเรานี้ประกอบไปด้วยปัญญา ที่มีความรู้สึกอยู่ว่าขันธ์ ๕ มีสภาพไม่ทรงตัว ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของเขาก็ดี มันเป็นแต่เพียงเปลือกภายนอก ที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ มีความสกปรกเป็นที่น่าสะอิดสะเอียนใจ ไม่มีความหวังใดๆ ที่เราจะคิดว่ามันเป็นปัจจัยเป็นสมบัติของความสุข ร่างกายเป็นเชื้อสายของความทุกข์ มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และก็มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด
    เป็นอันว่ามันไม่มีอะไรเป็นที่จีรังยั่งยืน
    ฉะนั้น คนที่เขาทำให้เราไม่ชอบใจ เราก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะทำลายเขา เราจะล้างผลาญเขา เราจะกลั่นแกล้งเขา ก็ไม่มีอะไรเป็นผลแห่งความดี เพราะเขาเองเขาก็มีทุกข์อยู่แล้ว ในเมื่อเขามีทุกข์และเขาจะต้องตายในที่สุด เรื่องอะไรที่เราจะต้องไปนั่งโกรธเขา เขาเองก็อาศัยความโง่เขลาของเขาเป็นปัจจัย เขาจึงทำให้เราไม่ถูกใจ ถ้าเราให้อภัยในความผิด คิดว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเขา อย่างนี้เรียกว่า “อภัยทาน”
    รวมความว่าสิ่งใดก็ตาม ใครก็ตาม ทำให้เราไม่ชอบใจ เราก็มีความรู้สึกแต่ว่านึกถึงการให้อภัยไว้เป็นปกติ ไม่ถือโทษโกรธเคือง โกรธแต่ทว่าไม่ผูกโกรธ อาการไม่ผูกโกรธของเราเป็นปัจจัยให้เขามีความสุข และเราเองก็มีความสุขถือว่าเป็นเรื่องของธรรมดา คนเราเกิดมานั้นจะดีทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อรู้ว่าเขาเลวเราก็ให้อภัยกับเขา
    แล้วก็มาเทียบกับร่างกายของเราว่า โอหนอ..ที่เราต้องถูกเขากลั่นแกล้ง เขาด่า เขาว่า เขานินทา เขาทำร้าย ก็อาศัยที่ว่าเรามีร่างกายที่แสนสกปรก มีร่างกายที่มีสภาพที่ไม่จีรังยั่งยืน ไม่มีอาการทรงตัว ฉะนั้น ขันธ์ ๕ ของเรานี่ไม่มีความหมาย ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย ความตายก็เข้ามาถึงมัน เมื่อมันตายแล้วเราก็ไม่ได้ตายไปด้วย มันไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุข เราไม่ได้ตาย มันตาย ถ้าเรายังมีความเยื่อใยในขันธ์ ๕ อย่างนี้ เราก็ต้องเกิดอีก
    ฉะนั้น จงคิดดูว่าชีวิตินทรีย์ของเรายังพึงมีอยู่ เราก็ขอมีในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ขึ้นชื่อว่าขันธ์ ๕ ที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครกอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเรา เมื่อเวลาที่เราจะเคลื่อนไปจากร่างกาย เราอุทิศร่างกายนี้ให้เป็นทานแก่บรรดาหมู่นอนทั้งหลายที่มันจะกัดจะกิน มันจะทำอะไรกับร่างกายก็ช่าง เรากับมันห่างไกลกันแล้ว จิตใจของเราไม่โน้มไปที่จะมีความรักในกาย และจิตใจของเราเต็มไปด้วยการให้อภัยกับบุคคลผู้มีความผิด อย่างนี้เขาเรียกว่า “อภัยทาน” เป็นทานภายใน
    ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย น้อมรำลึกถึงการให้ทานด้วยประการแบบนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์เรียกบุคคลนั้นว่าเป็น “พระสกิทาคามี”
    ฉะนั้น สำหรับการให้ทานอย่าลืมนะว่า
    “จาคะ” แปลว่า เสียสละ
    ถ้าเป็น “ทานของพระอนาคามี” จะเป็นอย่างไร
    พระอนาคามีพร้อมในการให้ทานที่เป็นวัตถุ และก็พร้อมในการให้ทานเป็น “อภัยทาน” นอกนั้นก็จัดทานอีกประเภทหนึ่ง คือเป็นทานภายในโดยเฉพาะก็ได้แก่ การให้อภัยกับจิต คือจิตที่คิดว่าจะผูกพันในร่างกายเราก็ดี ในร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี อารมณ์ประเภทนี้ไม่มี เรายกให้เป็นภาระหน้าที่ของตัณหา ยกให้เป็นภาระหน้าที่ของอุปาทาน
    และจิตใจนี้นั้นก็รู้ว่าความผูกพันในร่างกายเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ไม่มีในจิตของเรา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ามีความรังเกียจ มีความสะอิดสะเอียนในร่างกาย มองดูกายเราก็ดี มองดูกายของบุคคลอื่นก็ดี เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก และประกอบไปด้วยทุกข์
    ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์
    ความหิว ความกระหายเป็นทุกข์
    ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์
    ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์
    ความตายเป็นทุกข์
    จิตใจไม่มีความสุขเพราะเราเมาในกาย ที่เต็มไปด้วยความสกปรก มองเห็นกายเรา มองเห็นกายคนอื่นมีสภาพเหมือนซากศพที่เคลื่อนที่ได้ เต็มไปด้วยน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ และในที่สุดก็พังสลายไปในที่สุด
    จิตของเราหมดความผูกพันในสิ่งโสโครกคือส้วมเคลื่อนที่ได้ ร่างกายนี่ก็เหม็นจะเปรียบกับส้วมก็ได้ จะเปรียบกับป่าช้าก็ได้ มีสภาพไม่ต่างกัน เพราะซากศพทั้งหลายเหล่านั้น มีสัตว์ต่างๆ มีหมู มีวัว มีควาย มีปลา มีเป็ด มีไก่ มีกุ้ง ที่เราไปฝังไว้ในร่างกายของเรา ร่างกายของเราก็มีสภาพเหมือนป่าช้า มันเข้าไปเน่าอยู่ภายในร่างกายเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี จะมีอะไรเป็นที่ปรารถนา สิ่งที่มันหลั่งไหลออกมานั่นคือของสกปรกที่มีอยู่ในร่างกาย
    สำหรับกำลังใจอีกส่วนหนึ่งในด้านความโกรธ นอกจากจะให้ “อภัยทาน” อย่างพระสกิทาคามีแล้ว เราก็ตัดกำลังใจว่าขึ้นชื่อว่าการกระทบกระทั่งกำลังใจที่ไม่ชอบใจ ไม่มีสำหรับเรา มีจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ก็เพราะว่าคนที่เกิดมานี่ยังมีความโง่ เพราะอาศัยความโง่เป็นกำลัง มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ท่วมทับหัวใจ เขาจึงสร้างความชั่ว
    แต่สำหรับเราจะไม่ยอมตัวให้ชั่วแบบนั้น คือเราจะน้อมใจไปในความสุข คือไม่ติดอยู่ใน กามฉันทะ ทั้ง ๕ ประเภท แล้วอารมณ์ใจของเรานั้นวางแนบสนิทติดอยู่กับธรรมะ มีการคิดให้อภัยอยู่เสมอ ใครจะด่า จะว่า จะนินทาว่าร้าย จะแกล้งประการใด ใจมีความสุข คิดว่านี่มันเป็นธรรมดาของความโง่ที่เราเกิดมามีร่างกาย กำลังใจมีความสบายไม่สะทกสะท้านในการนินทาว่าร้ายหรือกลั่นแกล้ง อันนี้เป็น “อารมณ์ของพระอนาคามี”
    ฉะนั้น จาคะ คือ การบริจาคทานในคราวนี้เรียกว่า “จาคานุสสติกรรมฐาน” อันนี้เป็นทานใหญ่ คือให้ใหญ่ที่สุด คือคิดถึงว่าสภาวะของร่างกายที่เป็นมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือร่างกายนี้มันเป็นภัยใหญ่ ทุกข์ใดๆ ที่มันมีขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยร่างกายเป็นเหตุ
    ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ให้ปลดเปลื้องร่างกายเสีย คือความรู้สึกในการต้องการร่างกายของเราก็ดี ความรู้สึกในการต้องการร่างกายของคนอื่น หรือสัตว์นอกจากเราก็ดี ความพอใจในวัตถุต่างๆ ที่เราจะยึดเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็ดี ตอนนี้ตัดหมดสิ้นไปจากกำลังใจ เพราะเห็นว่าร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ รู้ว่าทุกข์นั้นมันมาเพราะร่างกายเป็นสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าร่างกายที่มีขึ้นมาได้นั้นเพราะอาศัยตัณหาเป็นต้นเหตุ
    เราเห็นแล้วว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ แนะนำให้พวกเราทั้งหลายปล่อยกายเสียที่เรียกกันว่า “สักกายทิฏฐิ” จิตมีอารมณ์คิดอยู่เสมอว่า ร่างกายนั้นเป็นเพียงธาตุ ๔ ที่เข้ามาประชุมกัน มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา ความโง่ที่คิดว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีในจิต เพราะถ้าจิตเข้ามาถึงตอนนี้ เราก็คิดอุทิศว่าอะไรจะมากระทบกระทั่งกายก็ดี หรือทางใจก็ดี เราไม่ยอมรับ เรายกให้เป็นกฎของธรรมดา เพราะการเกิดมาต้องเป็นอย่างนั้น
    ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านคิดอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่าท่านผู้นั้นเป็น “พระอรหันต์”
    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อาศัย ทานบารมี เรากล่าวกันมา ๒ วัน เมื่อวันก่อนน้อยหน่อยหนึ่ง วันนี้เวลาหมดพอดี แต่ความจริงถ้าจะพูดถึงทานนี้อีกสักสามร้อยวันมันก็ไม่จบ แต่เห็นว่าบรรดาท่านสาวกขององค์สมเด็จพระนราสภ มีตำรา มีเทป เป็นเครื่องศึกษา และศึกษากันมามาก คงจะมีความเข้าใจในธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ตรัสมา หวังว่าเพราะอาศัย ทานบารมี อย่างเดียว หากว่าท่านทั้งหลายมีความฉลาด ก็จะเข้าถึงพระนิพพานได้ตามพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ
    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลาที่พูดกันเลยไปหน่อยแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้เรื่องทาน
    ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควรจะเลิก สวัสดี*

    โพสต์โดย achaya



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 20 ตุลาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...