เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว-อียูพาดูเกษตรทางรอดช่วยป่า

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 10 เมษายน 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว-อียูพาดู'เกษตรทางรอด'ช่วยป่า

    เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว อียูพาดู "เกษตรทางรอด" ช่วยป่า

    [​IMG]

    ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเป็นสาเหตุให้น้ำแข็งในแถบขั้วโลกละลายเร็วกว่าปกติ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกถือเป็นผลพวงจากกระแสการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลับมาส่งผลต่อมนุษย์เองอย่างที่กำลังเป็นอยู่

    แม้แต่ "ผืนป่า" ที่เป็นเสมือนแนวปราการพิทักษ์ความสมดุลของธรรมชาติก็ถูกทำลาย เพราะกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่อย่าลืมว่า เด็ดดอกไม้ย่อมสะเทือน ถึงดวงดาว

    ในประเทศไทยเองนั้นพื้นที่ป่าที่มีความสมบูรณ์มากเหลือเพียงประมาณ 13% เท่านั้น และหนึ่ง ในนั้น คือ ผืนป่าภูเขียว ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางถึง 975,000 ไร่ เป็นผืนป่าที่ยังคงสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำชี ซึ่งเป็นสายเลือดหลักของคนใน ภาคอีสาน

    แน่นอนว่า ป่าภูเขียวก็หนีไม่พ้นภัยคุกคามจากน้ำมือมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ การเก็บของป่า การบุกรุกนำสัตว์เข้าไปเลี้ยง หรือการเผาป่า ทำให้เกิดสภาพป่าถูกทำลายจนขาดความสมบูรณ์

    เจ้าหน้าที่กลุ่มเล็กๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้ริเริ่ม "โครงการจัดการเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวอย่างยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "โครงการภูเขียว-อียู" ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวน 6 ล้านยูโร ขณะที่ฝ่ายไทยลงขัน 6.3 ล้านยูโร

    หลายคนอาจแปลกใจว่า อียูเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการนี้เพราะอะไร "อาร์โนด์ สตีแมน" ผู้อำนวยการโครงการฝ่ายอียู กล่าวไว้ อย่างน่าสนใจว่า หากมองถึงโลกโดยรวมแล้ว ทุกอย่างล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันหมด แม้ภูเขียวจะมีการจัดการในพื้นที่ที่อาจเป็นจุดเล็กๆ ในโลก

    แต่ผลที่เกิดขึ้นจะส่งเชื่อมโยงไปทั่วโลก เพราะการอนุรักษ์ธรรมชาติ สภาพอากาศ การลดภาวะโลกร้อน ทั้งหมดเกี่ยวข้องกันไปหมด โครงการเล็กๆ อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างมาก

    โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2543 แต่ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปีจึงได้ดำเนินการจริงในปี 2545 และกำลังจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน ปี 2550 ซึ่งจะเน้นงานหลักๆ 3 ด้าน คือ การพัฒนาและจัดการอนุรักษ์ การจัดการพื้นที่กันชนระหว่างป่าและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และการสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดการยอมรับในแนวทางการจัดการพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน

    ดร.กาญจนา นิตยะ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และผู้จัดการโครงการภูเขียว-อียู ฝ่ายไทย กล่าวว่า แม้พื้นที่ป่าจะอยู่แยกกับพื้นที่ของคน แต่ทั้ง 2 พื้นที่ก็ต้องมีความเกี่ยวโยงกัน ดังนั้นจึงต้องหาวิธีจัดการบริหาร 3 องค์ประกอบ ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่คน และสร้างจิตสำนึกไปควบคู่กัน

    น่าสนใจว่า เริ่มแรกเจ้าหน้าที่โครงการเน้นแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ติดพื้นที่ป่า ซึ่งมีระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร และมี 63 หมู่บ้านที่อยู่ติดแนวเขต โดยได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าของที่ดินที่ติดแนวเขตป่า อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาร่วมสำรวจและตกลงจัดทำแนวเขตถาวร เพื่อสร้างความชัดเจนระหว่างพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าที่เป็นที่ยอมรับของชุมชน

    จากนั้นจึงได้นำโครงการด้านการเกษตรเข้ามาพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า "โครงการเกษตรทางรอด" ที่จะเป็นทางรอดของทั้งชาวบ้าน สัตว์ป่า และผืนป่า รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในชุมชนโดยรอบควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดการบุกรุกผืนป่าของชาวบ้านได้อย่างยั่งยืนกว่าวิธีอื่นๆ

    ป้าบุญถม ชำนาญ หนึ่งในชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินติดเขตแนวป่า เล่าว่า เคยขึ้นป่าหาหน่อไม้มาเกือบ 30 ปี แต่ตอนหลังทางการเข้มงวดมีการจับกุมผู้ที่บุกรุกมากขึ้น ประกอบกับโครงการเข้ามาให้ความรู้ว่าทำอย่างไรจะมีอยู่มีกินโดยไม่ต้องพึ่งพิงป่า ให้เงินทุนขุดบ่อให้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และเริ่มปลูกไผ่ไว้ขายเอง ไม่ต้องลำบากขึ้นไปเก็บจากป่า นอกจากนี้ยังปลูกพริก ผักหวาน แตงไทย ในพื้นที่ว่าง ทำให้ตอนนี้ความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น

    "เมื่อก่อนหน้าแล้งก็ไปรับจ้างทำงานในเมือง ได้รายได้ 130 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้ปลูกพืชผักที่บ้านดีกว่า ได้อยู่พร้อมหน้าลูกหลาน และมีรายได้ด้วย"

    ตอนนี้ป้าถมกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ประจำของโครงการไปแล้ว โดยจะคอยให้คำแนะนำกับชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่ง พี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ ผู้ประสานงานโครงการ บอกว่า นี่เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะใช้แกนนำเกษตรกรหัวก้าวหน้าอย่างป้าถมเป็นคนบอกต่อให้เกษตรกรรายอื่นๆ เปลี่ยนทัศนคติในการทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่พอถึงหน้าแล้งก็ไปเก็บของป่ามาขาย เพราะชาวบ้านพูดกันเองเข้าใจดีกว่า

    เช่นเดียวกับ นายใส ปาเทพ เกษตรกรอีกคนที่หันมาทำเกษตรทางรอดในพื้นที่ เพราะต้องการลดการพึ่งพิงป่า ไม่ให้เสื่อมทรามลงไป และเชื่อว่าการรักษาป่าให้สมบูรณ์จะทำให้มีฝน เพราะมีความสมดุลของธรรมชาติ เปรียบเทียบกับป่าเสื่อมโทรมที่จะแห้งแล้ง ไม่มีฝนให้ทำการเกษตร

    ลุงหนูกวน สวัสดิ์ศรี เกษตรกรกลับใจอีกรายที่เปลี่ยนมาเลี้ยงวัวในพื้นที่ของตัวเองแทนที่จะนำขึ้นไปปล่อยหากินบนป่านาน 3-4 เดือนเหมือนเมื่อก่อน

    ลุงหนูกวนบอกว่า อยากจะทำให้เป็นตัวอย่างกับคนในหมู่บ้านว่า เลี้ยงวัวในพื้นที่จำกัดก็ทำได้ ไม่ต้องขึ้นไปเบียดเบียนป่า โดยเราสามารถนำหญ้าหรือพวกกากถั่วเหลืองที่ปลูกในพื้นที่มาเลี้ยงวัวได้

    แม้โครงการนี้กำลังจะสิ้นสุดลง แต่เจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและชุมชนยังจะสานต่อแนวทางเกษตรทางรอดนี้ต่อไปได้ เพราะเมื่อมีต้นกล้าเกิดขึ้นแล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือ ทำให้เกิดดอกออกผล และขยายแนวร่วมให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

    -------------------
    ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/newsphoto/prachachart/for02090450p1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 เมษายน 2007

แชร์หน้านี้

Loading...