เฉลิมพระชนมพรรษา:ภูมิปัญญาสามัคคีสันติประเทศ

ในห้อง 'ข่าวในพระราชสำนัก' ตั้งกระทู้โดย คือ~ว่างเปล่า!, 5 ธันวาคม 2008.

  1. คือ~ว่างเปล่า!

    คือ~ว่างเปล่า! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2008
    โพสต์:
    1,647
    ค่าพลัง:
    +474
    เฉลิมพระชนมพรรษา : ภูมิปัญญาสามัคคีสันติประเทศ

    โดย กาญจนรัตน์ ทวีศักดิ์ โรงเรียนวังไกลกังวล

    [​IMG]





    แผ่นดินนี้เคยได้ชื่อว่าเป็น "สยามเมืองยิ้ม" เป็นดินแดนที่ผู้คนรักอิสระเสรีและรักสงบ เราคนไทยต่างภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในแผ่นดินสยามนี้

    และหนึ่งในความภาคภูมิใจนั้นคือแผ่นดินของเรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงทศพิธราชธรรม และพระองค์ได้พระราชทาน "ภูมิปัญญา" อันเป็นรากฐานแห่งความสามัคคีและสันติสุขของประเทศ

    ด้วยสติปัญญาอันน้อยนิด ผู้เขียนขอยกตัวอย่างภูมิปัญญาดังกล่าวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่สังคมไทยเพียงบางส่วน

    เช่น

    1.พระปฐมบรมราชโองการเมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

    ผู้เขียนเห็นว่า นัยสำคัญของพระปฐมบรมราชโองการนี้ แสดงถึงภูมิปัญญาไทยในทางการเมืองการปกครองที่กำหนดกรอบว่า การเมืองการปกครองที่ดีต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน และประโยชน์สุขนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิธีการปกครองที่เป็นธรรมเท่านั้น

    เมื่อมีเป้าหมายที่ชอบธรรมและใช้วิธีการปกครองที่เป็นธรรม ความสามัคคีและสันติสุขจึงบังเกิดขึ้นได้จริง

    ในทางตรงกันข้ามความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมจะเกิดขึ้น หากเป้าหมายของการเมืองการปกครองไม่ใช่เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนอย่างแท้จริง และไม่ได้ใช้วิธีการปกครองที่เป็นธรรม

    ในเรื่องนี้มีกระแสพระราชดำรัสให้ชวนคิดอีกว่า "สิ่งสำคัญไม่ใช่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ทำอย่างไรจะมีวิธีป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ และให้คนดีมีอำนาจ"

    นี่เป็นตัวอย่างวิธีคิดแบบไทยที่ให้ความสำคัญทั้งการได้ "คนดี" และ "ระบบที่ดี" เพื่อพัฒนาการเมืองการปกครองที่เป็นธรรมและก่อเกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

    (ซึ่งต่างจากนักคิดหัวนอกในปัจจุบันที่มักปฏิเสธการเรียกร้องคนดี และยืนยันว่าควรเรียกร้องระบบที่ดีเท่านั้น)

    2.ภูมิปัญญาที่ประสานความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมไทย เช่น พระราชดำรัสให้ชาวไทย "รู้รักสามัคคี" ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งว่า "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่อยู่บนพื้นฐานของความรักกันและกันในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน"

    หากเราตระหนักรู้อยู่เสมอว่าบนแผ่นดินไทยนี้ แม้จะมีผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ แต่ทุกคนคือคนไทยด้วยกัน เราจะไม่เอาความแตกต่างนั้นๆ มาสร้างความแตกแยกแบ่งฝ่าย

    แต่จะเอาความแตกต่างนั้นๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจยอมรับ เคารพกันและกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความเข้มแข็งและสันติสุขของประเทศชาติ

    ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย จะทำให้เกิดความรักกันและกันได้ และเมื่อรักกันและกันได้จริงความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยยึดประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ก็จะเกิดขึ้นได้จริง

    แนวทางปฏิบัติเพื่อรู้รักสามัคคี คือพระราชกระแสเรื่อง "เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา" ที่พระองค์พระราชทานแก่ชาวไทยเมื่อเราเกิดปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้

    ซึ่งถ้าสังคมไทยทุกภาคส่วนน้อมนำไปไตร่ตรองและปฏิบัติอย่างจริงจัง ปัญหาขัดแย้งต่างๆ ก็อาจยุติลงได้ด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และอย่างสันติ

    3.แนวพระราชดำริเรื่อง "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่ายิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่มองความสัมพันธ์แบบสมดุลหรือการพัฒนาที่ควรไปด้วยกันอย่างพอดี ระหว่างเรื่องปากท้อง-ความรู้-คุณธรรม จริยธรรม-ความสมดุลทางธรรมชาติ-ความสุขที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ

    นัยสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นในแง่หนึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของปัจเจกที่แต่ละคนควรเรียนรู้ว่า "ความพอเพียง" หรือความไม่ขาดแคลน ไม่ล้นเกินในชีวิตของตนเองคืออะไร หรือภาคสังคมต่างๆ ที่ควรดำเนินไปอย่างมีธรรมาภิบาล พอเพียง และมีหลักประกันความเสี่ยงที่ดีพอ

    และอีกในแง่หนึ่งหลักการของความพอประมาณ ไม่ประมาทที่ดำเนินไปบนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม พร้อมกับการมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่ดีพอ ก็ควรเป็นแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจสังคมที่เหมาะสมในระดับชาติด้วย

    สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักคือ ภูมิปัญญาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนั้น พระองค์คงไม่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นสูตรสำเร็จให้เราท่องจำกันแบบนกแก้วนกขุนทอง

    แต่พระราชทานเพื่อให้เป็น "ภูมิปัญญา" ของสังคมไทยที่มีความหมายในเชิงการท้าทายทางปัญญา ให้สังคมไทยช่วยกันศึกษาวิเคราะห์ ขยายความ คิดต่อ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สุขสูงสุดทั้งแก่ตนเอง คนอื่นๆ และสังคมส่วนรวม

    สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่า พระปฐมบรมราชโองการ, กระแสพระราชดำรัส "รู้รักสามัคคี" หรือ "เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา" และแนวพระราชดำริ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ดังกล่าวมานั้น คือภูมิปัญญาอันเป็น "ภูมิพลังแผ่นดิน" แห่งความสามัคคีและสันติสุข

    วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2551 เราย่อมได้ยินเสียงเปล่งร้องว่า "เรารักในหลวง" กระหึ่มทั่วแผ่นดินอีกครั้ง

    แต่หากเรารักในหลวงจริง เราย่อมรักที่จะนำ "ภูมิปัญญา" ดังกล่าวมาสร้างการเมืองการปกครองที่มีเป้าหมายที่ชอบธรรม มีวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อปกป้องสามัคคีและสันติสุขให้อยู่คู่แผ่นดินอันเป็นที่รักของเรานี้ตราบนานเท่านาน



    ---------
    [​IMG]
    http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01051251&sectionid=0130&day=2008-12-05
     

แชร์หน้านี้

Loading...