อุบายบรรเทาความโกรธ - วิสุทธิมรรค

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย KK1234, 26 มิถุนายน 2009.

  1. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๑
    ด้วยกลับเข้าฌานใหม่

    <dl><dd>ก็แหละ ถ้าโยคีบุคคลส่งจิตไปในคนผู้เป็นคู่เวรกันนั้น ความโกรธแค้นย่อมผุดเกิดขึ้นมาเสีย เพราะหวนนึกถึงความผิดที่เขาได้ก่อกรรมทำเวรให้ไว้แต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีบุคคลจงหวนกลับไปเข้าเมตตาฌาน ที่ตนได้ทำให้เกิดแล้วในบุคคลจำพวกก่อนๆ มีคนเป็นที่รักเป็นต้น จำพวกใดจำพวกหนึ่ง หลายๆหน ออกจากฌานแล้วจึงพยายามเจริญเมตตาไปในคนคู่เวรกันนั้นแล้วๆเล่าๆ บรรเทาความโกรธแค้นให้หายไป</dd></dl>(ท่านใดต้องการอธิบายความโดยละเอียด ให้ไปอ่านที่
    วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ หน้าที่ ๘๐ - ๘๕ - วิกิซอร์ซ)

    อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๒ ด้วยพิจารณาถึงพระพุทธโอวาท
    <dl><dd>ถ้าโยคีบุคคลได้พยายามปฏิบัติอยู่โดยทำนองนั้นเป็นอย่างดีแล้ว ความโกรธแค้นก็มิได้ดับหายไป แต่นั้นจงพยายามให้หนักขึ้น เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นให้จงได้ โดยวิธีพิจารณาถึงพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่นพระพุทธโอวาทในกกจูปมสูตรเป็นต้น ก็แหละ การพยายามเพื่อบรรเทาความโกรธแค้นนั้น โยคีบุคคลพึงเชิญเอาพระโอวาทมาพร่ำสอนตนเอง ด้วยประการดังจะยกมาแสดงเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ</dd></dl> <dl><dd>เฮ้ย เจ้าบุรุษขี้โกรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่า</dd></dl> <dl><dd>๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกโจรผู้มีใจบาปหยาบช้าจะพึงเอาเลื่อยมีด้ามสองข้างมาเลื่อยอวัยวะทั้ง หลาย แม้ขณะเมื่อพวกโจรทำการเลื่อยอวัยวะอยู่นั้น ผู้ใดเกิดมีใจประทุษร้ายต่อพวกโจรนั้น เขาชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง</dd></dl> <dl><dd>๒. ผู้ใดโกรธตอบต่อคนผู้โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อน เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น, ผู้ใดไม่โกรธตอบคนที่โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้อย่างแสนยาก ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติยั้งความโกรธเสียได้ คือไม่โกรธตอบผู้นั้น ได้ชื่อว่าประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังประการหนึ่ง</dd></dl> <dl><dd>๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลกรรม ๗ ประการที่ศัตรูต้องการให้มีแก่กัน ที่ศัตรูพึงทำให้แก่กัน จะมาถึงสตรีและบุรุษผู้ขี้โกรธเอง คือ</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๑ ศัตรูในโลกนี้ย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะเป็นคนผิวพรรณชั่ว</dd></dl> (หน้าที่ 90)
    <dl><dd>เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจที่จะให้ศัตรูมีผิวพรรณงาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษขี้โกรธอันความโกรธครอบงำแล้ว ถือแต่ความโกรธเป็นเบื้องหน้านี้ ถึงเขาจะอาบน้ำชำระกายให้สะอาดดีแล้ว ไล้ทาผิวให้ผุดผ่องดีแล้ว ตัดผมและโกนเคราให้เรียบร้อยดีแล้ว นุ่งห่มผ้าที่ขาวสะอาดดีแล้วก็ตามที แต่เขาผู้ซึ่งถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้นย่อมชื่อว่า ยังเป็นผู้มีผิวพรรณชั่วอยู่นั่นเอง</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๒ ศัตรูย่อมคิดร้าหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะพึงอยู่เป็นทุกข์.....</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๓ ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีทรัพย์มาก.....</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๔ ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีโภคสมบัติมาก....</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๕ ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มียศศักดิ์.....</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๖ ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีพวกพ้องมิตรสหาย.....</dd></dl> <dl><dd>ประการที่ ๗ ทำอย่างไรหนอ ไอ้เจ้าคนนี้ นับแต่ที่มันแตกกายทำลายชีพไปแล้ว จึงจะไม่ไปบังเกิดบนสุคติโลกสวรรค์เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจจะให้ศัตรูได้ประสพ สุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษขี้โกรธอันความโกรธครอบงำแล้ว ถือแต่ความโกรธเป็นเบื้องหน้านั้น ย่อมประพฤติทุจริตทางกายก็ได้ ย่อมประพฤติทุจริตทางวาจาก็ได้ ย่อมประพฤติทุจริตทางใจก็ได้ ด้วยเหตุที่เขาประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจนั้น นับแต่เวลาที่แตกกายทำลายชีพไปแล้วเขาผู้ซึ่งถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้น ย่อมจะไปสู่อบายทุคติวินิบาตและนรก ดังนี้ประการหนึ่ง</dd></dl> <dl><dd>๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟืนสำหรับเผาศพที่ไฟไหม้ปลายทั้งสองข้างซ้ำตรงกลางเปื้อนคูถสุนัข ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในบ้านด้วย ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในป่าด้วยฉันใด เรากล่าวว่า คนขี้โกรธนั้นก็มีลักษณะอาการเหมือนอย่างนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง</dd></dl> <dl><dd>ก็บัดนี้ เจ้ามัวแต่โกรธเขาอย่างนี้ จักไม่ได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย จักได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อนด้วย จักไม่ได้ชื่อว่าชนะสงครามอันชนะได้แสนยากด้วย จักได้ชื่อว่าทำอกุศลกรรมอันศัตรูจะพึงทำต่อกัน ให้แก่ตนเสียเองด้วย จักได้ชื่อว่า เป็นผู้มีลักษณะอาการเหมือนฟืนเผาศพด้วย</dd></dl> อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๓
    ด้วยมองคนในแง่ดี
    <dl><dd>เมื่อโยคีบุคคลพยายามเชิญพระพุทธโอวาทมาสอนตนอยู่ด้วยประการอย่างนี้ ถ้าความโกรธแค้นสงบลงเสียได้ ก็นับว่าเป็นการใช้ได้ แต่ถ้ายังไม่สงบ ทีนั้นจงทำเพียรอุบายอย่างอื่นต่อไป กล่าวคือถ้าคุณธรรมส่วนใดๆ ก็ตามที่คนคู่เวรนั้นมีอยู่ เช่นความเรียบน้อย ความสะอาดของเขาบางประการ เมื่อนำมาพิจารณาดูให้ดีแล้วสามารถที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสพอใจขึ้นได้ ก็จงระลึกเอาคุณธรรมส่วนนั้นๆมาบรรเทาความอาฆาตเคียดแค้นให้หายโดยประการดัง ต่อไปนี้</dd></dl> <dl><dd>มีความจริงอยู่ว่า คนบางคนมีมรรยาททางกายเรียบร้อยแต่อย่างเดียว และความเรียบร้อยทางกายนั้น คนทั่วไปจะรู้ได้ในเมื่อเขาบำเพ็ญวัตรปฏิบัติไปนานๆ แต่มรรยาททางวาจาและทางใจของเขาไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกมารยาททางวาวาทางใจของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางกายของเขาอย่างเดียวเท่านั้น</dd></dl> <dl><dd>คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่วาจาอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางวาจานั้นคนทั่วไปย่อมจะรู้ได้ เพราะว่าคนที่มีมารยาททางวาจาเรียบร้อยนั้น โดยปกติเป็นผู้ฉลาดในการปฏิบัติสันถาร เป็นคนนิ่มนวลพูดเพราะรื่นเริง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายก่อนถึงคราวสวดสรภัญญะก็สวดด้วยเสียงอันไพเราะ ถึงคราวแสดงธรรม ก็แสดงได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ ด้วยบทและพยัญชนะที่กลมกล่อม แต่ด้วยมารยาททางกายและทางใจของเขาไม่</dd></dl> (หน้าที่ 92)
    <dl><dd>เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลย่อมระลึกถึงมารยาททางกายและทางใจของเขา จงระลึกถึงมารยาททางวาจาของเขาอย่างเดียวเท่านั้น</dd></dl> <dl><dd>คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางใจอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางใจนั้น จะปรากฏชัดแก่คนทั่วไปก็ในขณะที่เขาไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กล่าวคือ ผู้ใดมีจิตใจไม่สงบเรียบร้อยนั้น เมื่อจะไหว้พระเจดีย์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือจะกราบไหว้พระเถระทั้งหลาย เขาย่อมกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการอันไม่เคารพ เมื่อนั่งอยู่ในโรงธรรม ก็นั่งอยู่อย่างงุ่นง่าน หรือพูดพล่ามไป ส่วนผู้คนมีจิตใจสงบเรียบร้อยย่อมกราบไหว้ด้วยความสนิทสนมด้วยความเชื่อมั่น ถึงคราวฟังธรรมก็เงี่ยโสตฟังด้วยดี ถือเอาเนื้อความได้ แสดงอาการเลื่อมใสออกทางกายหรือทางวาจาให้ปรากฏ คนบางคนย่อมมีแต่ความสงบเรียบร้อยทางใจฉะนี้ แต่ไม่มีความเรียบร้อยทางกายและทางวาจา สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและทางวาจาของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางใจของเขาอย่างเดียวเท่านั้น</dd></dl> <dl><dd>คนบางคนไม่มีความเรียบร้อยแม้แต่สักประการเดียวในบรรดามารยาททั้ง ๓ ประการนั้น แม้คนเช่นนั้นก็ยังไม่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยเสียทีเดียว โยคีบุคคลจงยกเอาความกรุณาขึ้นมาตั้งไว้ในใจ แล้งปลงให้ตกลงไปว่า คนเช่นนี้แม้เขาจะเที่ยวขวางหูขวางตาคนอยู่ในมนุษย์โลกนี้ ก็แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ต่อไปไม่ช้าไม่นานสักเท่าไร เขาก็จักต้องท่องเที่ยวไป บังเกิดในมหานรก ๘ ขุม และในทุสสทะนรกทั้งหลายโดยแน่แท้ เพราะอาศัยแม้เพียงความกรุณาเช่นนี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็อาจสงบลงได้</dd></dl> <dl><dd>คนบางคนย่อมมีมารยาทเรียบร้อยทั้ง ๓ ประการ สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลมีความชอบใจมารยาทของเขาประการใดๆ ก็จงเลือกระลึกเอามารยาทประการนั้นๆ ตามอัธยาศัยเถิด เพราะการเจริญเมตตาในคนเช่นนี้ ย่อมจะปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากเลย</dd></dl> <dl><dd>ก็แหละ เพื่อที่จะแสดงความเรื่องนี้ให้จัดเจนเด่นชัดขึ้นอีก โยคีบุคคลจงตรวจดูอาฆาตปฏิวินยสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ซึ่งมีใจความเป็นต้นว่า</dd></dl> <dl><dd>“ดูกรอาวุโส อุบายสำหรับบรรเทาความอาฆาต ๕ ประการเหล่านี้ ที่ภิกษุพึงใช้บรรเทาความอาฆาตที่เกิดขึ้นแล้วให้ดับไปโดยประการทั้งปวง .....”</dd></dl> (หน้าที่ 93)

    อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๔
    ด้วยการพร่ำสอนตนเอง
    <dl><dd>แม้ว่าโยคีบุคคลจะได้พยายามบรรเทาความอาฆาตเคียดแค้นด้วยอุบายวิธีดัง กล่าวเป็นอย่างดีแล้ว แต่ความอาฆาตเคียดแค้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป แต่นั้นโยคีบุคคลจงเปลี่ยน วิธีใหม่ จงพยายามพร่ำสอนตนด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้</dd></dl> <dl><dd>๑. ก็เมื่อคนผู้เป็นคู่เวรทำทุกข์ให้แก่เจ้าได้ก็แต่ตรงที่ร่างกายของเจ้า เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะหอบเอาความทุกข์นั้น เข้ามาใส่ไว้เข้าในจิตใจของตน อันมิใช่วิสัยของคนคู่เวรจะพึงทำให้ได้เล่า</dd></dl> <dl><dd>๒. หมู่ญาติซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณเป็นอันมาก ทั้งๆที่มีหน้าซุ่มโซกอยู่ด้วยน้ำตาเจ้าก็ยังอุตส่าห์ละทิ้งเขามาได้ ก็เหตุไฉน จึงจะละไม่ได้ซึ่งความโกรธ อันเป็นตัวศัตรูผู้ทำความพินาศให้อย่างใหญ่หลวงเล่า</dd></dl> <dl><dd>๓. เจ้าจงอุตส่าห์รักษาศีลเหล่าใดไว้ แต่เจ้าก็ได้พะนอเอาความโกรธ อันเป็นเครื่องตัดรากศีลเหล่านั้นไว้ด้วย ใครเล่าที่จะโง่เซ่อเหมือนเจ้า</dd></dl> <dl><dd>๔. เจ้าโกรธว่า คนคู่เวรได้ทำความผิดอันใหญ่หลวงให้แก่เจ้า แต่เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะทำความผิดเช่นนั้นด้วยตนเสียเองเล่า</dd></dl> <dl><dd>๕. เจ้าโกรธว่า คนคู่เวรได้ทำความผิด อันใหญ่หลวงให้แก่เจ้า แต่เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถที่จะทำความผิดเช่นนั้นด้วยเสียเองเล่า</dd></dl> <dl><dd>๖. ก็เมื่อคนคู่เวรปรารถนานักหนาที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้นแก่เจ้า จึงได้ทำสิ่งที่ไม่พอใจยั่วยุเจ้า เหตุไรเจ้าจึงจะทำความปรารถนาของเขาให้สำเร็จเสียเอง ด้วยการยอมให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้นเล่า</dd></dl> <dl><dd>๗. เมื่อเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าจักได้ก่อทุกข์ให้แก่คนอื่นผู้ทำความผิดให้แก่เจ้านั้นหรีอไม่ก็ตาม แต่เป็นอันว่าเจ้าได้เบียดเบียนตนเองด้วยทุกข์ คือความโกรธอยู่ ณ ขณะนี้ นั่นเทียว</dd></dl> <dl><dd>๘. ก็เมื่อพวกคนคู่เวรได้เดินไปสู่ทางผิดหรีอความโกรธ ซึ่งไม่นำประโยชน์อะไรมาให้แก่ตนเลย แม้เมื่อเจ้ายังโกรธเขาอยู่ ก็ชื่อว่าได้คล้อยไปตามทางของเขาเสียละซี</dd></dl> <dl><dd>๙. ศัตรูได้ทำสิ่งที่ไม่พึงพอใจแก่เจ้า ด้วยอาศัยความโกรธของเจ้าอันใดจ้าจงรีบถอนความโกรธอันนั้นออกเสียเถิด เจ้าจะเดือดร้อนในสิ่งที่ไม่สมควรทำไมกัน</dd></dl> (หน้าที่ 94)
    <dl><dd>๑๐. ขันธ์ ๕ เหล่าใดได้ทำสิ่งที่ไม่พอใจให้แก่เจ้า ขันธ์ ๕ เหล่านั้นก็ได้ดับไปแล้ว เพราะสภาวธรรมทั้งหลายดับไปชั่วขณะนิดเดียว แล้วก็มีขันธ์ ๕ อื่นเกิดขึ้นมาแทนบัดนี้เจ้าจะมาหลงโกรธใคร ณ ที่นี้เล่า การโกรธต่อขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่มีความผิดนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง</dd></dl> <dl><dd>๑๑. ผู้ใดทำความผิดให้แก่ผู้ใด เมื่อไม่มีผู้ทำความผิดให้นั้นแล้ว ผู้ที่จะทำความผิดตอบนั้น จะพึงทำความผิดให้แก่ใครที่ไหนเล่า ตัวเจ้าเองแหละเป็นตัวการแห่งความผิดเอง ฉะนั้น เจ้าจะไปโกรธคนอื่นเขาทำไม ไฉนจึงไม่โกรธตัวเองเล่า</dd></dl> อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๕
    ด้วยพิจารณาถึงกรรม
    <dl><dd>ก็แหละ แม้โยคีบุคคลจะได้พยายามพร่ำสอนตนเองด้วยประการดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็ไม่สงบลง แต่นั้นโยคีบุคคลจงใช้วิธีพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็น ของแห่งตนต่อไป ในการพิจารณาถึงกรรมนั้น จงพิจารณาถึงภาวะที่ตนเองเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนเป็นอันดับแรก ดังต่อไปนี้</dd></dl> <dl><dd>นี่แน่พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นเขาแล้วจักได้ประโยชน์อะไร ? กรรมอันมีความโกรธของเจ้านี้ มันจักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหาย แก่เจ้าเองมิใช่หรือ ? ด้วยว่า เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เจ้าได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เจ้าจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น</dd></dl> <dl><dd>อนึ่ง กรรมของเจ้านี้ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ พระเจ้าจักพรรดิ และพระเจ้าประเทศราชได้เลย ตรงกันข้าม กรรมของเจ้านี้ มันจักขับไล่ไสส่งให้เจ้าออกจากพระศาสนาแล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาด ต่างๆ</dd></dl> (หน้าที่ 95)
    <dl><dd>เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทาน กินเดนของคนอื่น หรือประสพทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน</dd></dl> <dl><dd>อันตัวเจ้านี้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวของตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงเน่าเหม็นเป็นคนแรกนั่นเทียว</dd></dl> <dl><dd>เมื่อได้พิจารณาถึงภาวะที่ตัวเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนอย่างนี้แล้ว จงพิจารณาถึงภาวะที่คนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน ในอันดับต่อไป ดังนี้</dd></dl> <dl><dd>แม้เขาผู้นั้นโกรธเจ้าแล้ว เขาจักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้น มันจักบันดาลให้เป็นไป เพื่อความฉิบหายของเขาเองมิใช่หรือ ? เพราะว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นทายาท เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่ง เขาจักได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เขาจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น</dd></dl> <dl><dd>อนึ่ง กรรมของเขาผู้นั้น มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิได้ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่นความเป็นพระพรหม พระอินทร์ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย ตรงกันข้าม กรรมของเขาผู้นั้น มันมีแต่จะขับไล่ไสส่งให้เขาออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสพผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้บังเกิดเป็นของทาน กินเดนของคนอื่น หรือทำให้ประสพทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน</dd></dl> <dl><dd>เขาผู้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าโปรยธุลีคือ ความโกรธใส่ตนเอง เหมือนบุรุษผู้โปรยธุลีใส่คนอื่น แต่ไปยืนอยู่ทางใต้ลมฉะนั้น</dd></dl> (หน้าที่ 96)

    ข้อนี้สมด้วยพระพุทธนิพนธ์สุภาษิตในสคาถวรรค สังยุตตนิกายว่า
    <dl><dd>โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ</dd></dl> <dl><dd>สุทฺธสฺส โปสฺสส อนงฺคณสฺส</dd></dl> <dl><dd>ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ</dd></dl> <dl><dd>สุขุโม รโช ปฏิวาตว ขิตฺโต</dd></dl> <dl><dd>ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนไม่มีความผิด ทั้งเป็นคนบริสุทธิ์หมดจดหมดกิเลส บาปจะส่งผลให้เขาผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลเสียเอง เหมือนธุลีอันละเอียดที่คนขัดไปทวนลม ย่อมจะปลิวกลับมาถูกเขาเองฉะนั้น</dd></dl> อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๖
    ด้วยพิจารณาถึงพระพุทธจริยาในปางก่อน
    <dl><dd>ก็แหละ ถ้าโยคีบุคคลได้พยายามพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของ แห่งตนอย่างนี้แล้ว ความโกรธแค้นก็มิได้สงบอยู่นั่นแล แต่นั้นจงระลึกถึงพระคุณ คือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อน เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นต่อไป ในพระพุทธจริยาวัตรแต่ปางก่อนนั้น มีส่วนที่โยคีบุคคลควรจะนำมาพิจารณาเตือนตนด้วยวิธีดังต่อไปนี้</dd></dl> <dl><dd>นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ พระบรมศาสดาของเจ้าแต่ปางก่อน แต่ยังมิได้ตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ อยู่ถึง ๔ อสงไขยกับ ๑ แสนมหากัปนั้น พระองค์ก็มิได้ทรงทำพระหฤทัยให้โกรธเคือง แม้ในศัตรูทั้งหลายผู้พยายามประหัตประหารพระองค์อยู่ในชาตินั้นๆ มิใช่หรือ ?</dd></dl> <dl><dd>พระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อน แต่ละเรื่องนั้น พึงทราบแต่โดยย่อดังนี้</dd></dl> ๑. เรื่องพระเจ้าสีลวะ
    <dl><dd>ในสีลวชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระนามว่า พระเจ้าสีลวะ อำมาตย์ผู้ใจบาปหยาบช้าได้ลอบล่วงประเวณีกับพระอัครมเหสีของพระองค์ แล้ว</dd></dl>
    (หน้าที่ 97)
    <dl><dd>ไปเชื้อเชิญเอาพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์มายึดเอาพระราชสมบัติ ในที่อันมีอาณาบริเวณถึงสามร้อยโยชน์ พระโพธิสัตว์สีลวราชา ก็มิได้ทรงอนุญาตให้หมู่มุขอำมาตย์พันหนึ่ง[ผู้ลุกขึ้นจะป้องกัน แตะต้อง (อะไร) แม้แต่อาวุธ**] ได้ถูกเขาขุดหลุมฝังทั้งเป็นลึกแค่พระศอ ตรงที่ป่าช้าผีดิบ พระองค์ก็มิได้ทรงเสียพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย อาศัยพวกสุนัขจิ้งจอก มันพากันมาคุ้ยกินซากศพ ได้ขุดคุ้ยดินออก พระองค์จึงได้ทรงใช้ความเพียรของลูกผู้ชาย ด้วยกำลังแห่งพระพาหา ทรงตะกายออกมาจากหลุม จึงทรงรอดชีวิตได้ และด้วยอานุภาพเทวดาช่วยบันดาลพระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังพระราชนิเวศน์ของ พระองค์ ทรงเห็นพระราชาผู้เป็นศัตรู บรรทมอยู่ในพระแท่นที่บรรทม พระองค์ก็มิได้ทรง พระพิโรธโกรธเคืองแต่ประการใด กลับทรงปรับความเข้าพระทัยดีต่อกันและกัน แล้วทรงตั้งพระราชาผู้เป็นศัตรูนั้นไว้ในฐานแห่งมิตร และได้ตรัสสุภาษิตว่า</dd></dl> <dl><dd>อาสึเสเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต</dd></dl> <dl><dd>ปสฺสามิ โวโหมตฺตานํ ยถาอิจฉึ ตถา อหุนฺติ</dd></dl> <dl><dd>ชาติชายผู้บัณฑิต พึงทำความหวังโดยปราศจากโทษไปเถิด อย่าพึงเบื่อหน่ายท้อถอยเสียเลย เรามองเห็นทางอยู่ว่า เราปรารถนาที่จะสภาปนาตนไว้ในราชสมบัติโดยไม่เบียดเบียนใครๆ ด้วยประการใด เราก็จะปฏิบัติด้วยประการนี้</dd></dl> ๒. เรื่องขันติวาทีดาบส
    <dl><dd>ในขันติวาทีดาบส พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงครองแว่นแคว้นกาสี พระนามว่าพระเจ้ากลาพุ ได้ตรัสถามพระโพธิสัตว์ขันติวาทีดาบสว่า “สมณะ พระผู้เป็นเจ้านับถือวาทะอะไร?” พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า “อาตมภาพนับถือขันติวาทะ คือนับถือศาสนาอดทน” ทีนั้นพระเจ้ากลาพุได้ทรงรับสั่งให้เฆี่ยนพระโพธิสัตว์ด้วยแส้มีหนามเหล็ก เป็นการพิสูจน์ จนในที่สุดถูกตัดมือและเท้า แต่แล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำความโกรธเคืองเลยแม้แต่น้อย</dd></dl> (หน้าที่ 98)

    ๓. เรื่องธรรมปาลกุมาร
    <dl><dd>การที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ใหญ่แล้ว และทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต สามารถอดกลั้นได้เหมือนเช่นพระเจ้าสีลวะและขันติวาทีดาบสนั้น ยังไม่เป็นที่น่าอัศจรรย์เท่าไรนัก ส่วนในจูฬธัมมปาลชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาตเป็นธรรมปาลกุมาร ทรงเป็นเป็นทารกยังหงายอยู่เทียว ถูกพระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระบิดา มีพระราชพระบัญชาให้ตัดพระหัตถ์และพระบาททั้ง ๔ ดุจว่าได้ตัดหน่อไม้ในขณะที่พระมารดาทรงพิไรคร่ำครวญอยู่ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แขนทั้งสองของพ่อธรรมปาละ ผู้เป็นรัชทายาทในแผ่นดิน ซึ่งไล้ทาแล้วด้วยรสแห่งจันทน์หอม กำลังจะขาดไปอยู่แล้ว หม่อมฉันจะหาชีวิตมิได้อยู่แล้วละเพคะ” แม้กระนั้นแล้ว พระเจ้ามหาปตาปะก็ยังมิได้ถึงความสาสมพระราชหฤทัย ได้ทรงมีพระราชโองการไปอีกว่า “จงตัดศีรษะของมันเสีย” ฝ่ายพระโพธิสัตว์ธรรมปาลกุมารก็มิได้ทรงแสดงออกแม้เพียงพระอาการเสียพระทัย ทรงอธิฐานสมาทานอย่างแม่นมั่น แล้วทรงโอวาทพระองค์เองว่า</dd></dl> <dl><dd>ขณะนี้เป็นเวลาที่เจ้าจะต้องประคองรักษาจิตของเจ้าไว้ให้ดีแล้วนะ พ่อธรรมปาละผู้เจริญ บัดนี้เจ้าจงทำจิตให้เสมอในบุคคลทั้ง ๔ คือพระบิดาผู้ทรงบัญชาให้ตัดศีรษะ ๑ พวกราชบุรุษที่จะตัดศีรษะ ๑ พระมารดาที่กำลังทรงพิไรรำพัน ๑ ตนของเจ้าเอง ๑</dd></dl> <dl><dd>การที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์แล้ว ทรงอดกลั้นได้ต่อการทารุณกรรมต่างๆ จากศัตรู เหมือนอย่างในเรื่องทั้งสามที่แสดงมาแล้วนั้น แม้ข้อนี้ก็ยังไม่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากนัก ส่วนที่น่าอัศจรรย์มากยิ่งกว่านั้น คือพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสัตว์เดียรัจฉานในกำเนิดต่างๆ และได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ดังต่อไปนี้</dd></dl> ๔. เรื่องพญาช้างฉัททันตะ
    <dl><dd>เรื่องแรก ได้แก่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้าง ชื่อฉัททันตะ แม้พระองค์จะถูกนายพรานยิงด้วยลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษ ณ ที่ตรงสะดือ ก็มิได้ขุ่นเคืองใจ ในนายพรานผู้ซึ่งทำความพินาศให้แก่ตนอยู่เช่นนั้น ข้อนี้สมด้วยคำบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า</dd></dl> (หน้าที่ 99)
    <dl><dd>พญาช้างฉัททันตะ แม้จะถูกทิ่มแทงด้วยลูกศรเป็นอันมากแล้ว ก็มิได้มีจิตคิดประทุษร้ายในนายพราน กลับพูดกับเขาอย่างอ่อนหวานว่า “พ่อสหาย นี่ต้องการอะไรหรือ? ท่านยิงเราด้วยเหตุแห่งสิ่งใดหรือ? การที่ท่านมา ณ ที่นี้แล้วทำกับเราอย่างนี้ มิใช่เป็นด้วยอำนาจของท่านเอง ดังนั้น การพยายามทำเช่นนี้ ท่านทำเพื่อพระราชาองค์ใด? หรือเพื่อมหาอำมาตย์องค์ใดหรือ ?</dd></dl> <dl><dd>ก็แหละ ครั้นพระโพธิสัตว์พญาช้างฉัททันตะถามอย่างนี้แล้ว นายพรานก็ได้ตอบออกมาตามความสัตย์จริงว่า “ท่านผู้เจริญ พระราชเทวีของพระเจ้ากาสีได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการงาของท่าน” ทันทีนั้นพระโพธิสัตว์เมื่อจะทำพระราชประสงค์ของพระเทวีนั้นให้สำเร็จ บริบูรณ์ จึงได้ให้ตัดงาทั้งสองของตนอันมีความงามดุจทองคำธรรมชาติ สุกปลั่งด้วยแสงอันเปล่งออกแห่งรัศมีอันประกอบด้วยสี ๖ ประการ แล้วก็มอบให้นายพรานนั้นไปถวาย</dd></dl> ๕. เรื่องพญากระบี่
    <dl><dd>เรื่องที่สอง ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากระบี่ พระโพธิสัตว์พญากระบี่นั้น ได้ช่วยบุรุษคนหนึ่งให้ขึ้นจากเหวจนรอดชีวิตมาได้ ครั้นแล้วบุรุษนั้นเองได้คิดทรยศต่อพระองค์ว่า “วานรนี้ย่อมเป็นอาหารของมนุษย์ได้ ฉันเดียวกับพวกเนื้อมฤคในป่าประเภทอื่นๆ ถ้ากระไร เราหิวขึ้นมาแล้วจะพึงฆ่าวานรนี้กินเป็นอาหาร ครั้นกินอิ่มแล้วจักเอาเนื้อที่เหลือไปเป็นเสบียงเดินทางเราจักข้ามพ้นทาง ทุรกันดารไปได้ เนื้อนี้จักเป็นเสบียงของเรา” ครั้นแล้วเขาก็ยกก้อนศิลาขึ้นทุ่มลงบนกระหม่อมของพระโพธิสัตว์ ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้จ้องมองดูบุรุษนั้นด้วยหน่วยตาทั้งสองอันนองด้วยน้ำตา ทั้งนี้ด้วยความกรุณาว่า เจ้าคนนี้เป็นอันธพาลประทุษร้ายมิตร แล้วพูดกับเขาด้วยความปรารถนาดีว่า-</dd></dl> <dl><dd>อย่านะท่าน ท่านเป็นแขกสำหรับข้าพเจ้า ท่านยังสามารถทำกรรมอันหยาบช้าทารุณทำนองนี้ได้ ท่านยังจะอยู่ไปอีกนาน ควรจะช่วยห้ามคนอื่นๆเขาเสียด้วย</dd></dl> (หน้าที่ 100)
    <dl><dd>ครั้นพระโพธิสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว ก็มิได้มีจิตคิดประทุษร้ายในบุรุษนั้น มิหนำซ้ำยังมิได้คิดห่วงถึงความลำบากของตน ได้ช่วยส่งบุรุษนั้นให้พ้นจากทางทุรกันดารจนลุถึงภูมิสถานอันเกษมปลอดภัยต่อ ไป</dd></dl> ๖. เรื่อพญานาคชื่อภูริทัตตะ
    <dl><dd>เรื่องที่สาม ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราชชื่อภูริทัตตะ พระโพธิสัตว์พญานาคภูริทัตตะนั้น ได้อธิษฐานเอาอุโบสถศีลแล้วขึ้นไปนอนอยู่บนยอดจอมปลวกครั้งนั้น พวกพราหมณ์หมองูได้เอาโอสถมีพิษเหมือนกับไฟประลัยกัลป์ปราดใส่ทั่วทั้งตัว กระทืบด้วยเท้าทำให้อ่อนกำลังแล้วจับยัดใส่ข้องเล็กๆ นำไปเล่นกลให้คนดูจนทั่วชมพูทวีป พระโพธิสัตว์พญานาคภูริทัตตะก็มิได้แสดงอาการแม้เพียงนึกขัดเคืองในใจ พราหมณ์นั้นแต่ประการใด ข้อนี้สมด้วยความบาลีในคัมภีร์จริยาปิฏกว่า</dd></dl> <dl><dd>เมื่อหมอดูชื่ออาลัมพานะ จับเรายัดใส่ในข้องเล็กๆก็ดี ย่ำเหยียบเราด้วยส้นเท้า เพื่อให้อ่อนกำลังลงก็ดีเรามิได้โกรธเคืองในหมองูอาลัมพานะนั้นเลย ทั้งนี้เพราะเรากลัวศีลของเราจะขาดกระท่อนกระแท่นไป</dd></dl> ๗. เรื่องพญานาคชื่อจัมเปยยะ
    <dl><dd>เรื่องที่สี่ ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราช ชื่อจัมเปยยะ แม้พระโพธิสัตว์พญานาคจัมเปยยะนั้นจะได้ถูกหมองูทรมานเบียดเบียนอยู่ด้วย ประการต่างๆ ก็มิได้แสดงอาการแม้เพียงนึกขัดเคืองในใจ ข้อนี้ สมด้วยความบาลีในคัมภีร์จริยาปิฏกว่า</dd></dl> <dl><dd>แม้ในชาติเป็นจัมเปยยะนาคราชนั้น เราก็ได้ประพฤติธรรมจำอุโบสถศีล หมองูได้จับเอาเราไปเล่นกลอยู่ที่ประตูพระราชวัง เขาประสงค์จะให้เราแสดงเป็นสีอะไร คือเป็นสีเขียวสีเหลืองสีขาวหรือสีแสดแก่ เราก็คล้อยให้เป็นไปตามใจประสงค์ของเขา เรามีความตั้งใจอยู่ว่า “ขอให้หมองูนี่ได้ลาภมาเร็วๆเถิด” และด้วยอานุภาพของเรา เราสามารถที่จะบันดาลให้ที่ดอนกลายเป็นที่น้ำก็ได้</dd></dl> (หน้าที่ 101)
    <dl><dd>แม้บันดาลน้ำให้กลายเป็นที่ดอนก็ได้ ถ้าเราจะพึงโกรธเคืองเจ้าหมองูนั้น เราก็สามารถที่จะทำให้เขากลายเป็นเถ้าถ่านชั่วครู่เท่านั้น แต่ถ้าเราตกอยู่ใต้อำนาจอกุศลจิตเท่านั้น เราก็จักเสื่อมจากศีล เมื่อเสื่อมจากศีลแล้ว ความปรารถนาขั้นสุดยอด คือ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ของเราจะไม่สำเร็จสมประสงค์</dd></dl> เรื่องพยานาคชื่อสังขปาละ
    <dl><dd>เรื่องที่ห้า ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราชชื่อสังขปาละ พระโพธิสัตว์สังขปาละนั้นถูกบุตรนายพราน ๑๖ คนช่วยกันเอาหอกอย่างแหลมคมแทงเข้าที่ลำตัวถึง ๘ แห่ง แล้วเอาเครือวัลย์ที่เป็นหนามร้อยเข้าไปในรูแผลที่แทงนั้นๆ เอาเชือกอย่างมั่นเหนียวร้อยเข้าทางรูจมูกแล้วช่วยกันลากไป ลำตัวถูกครูดสีไปกับพื้นดิน พระโพธิสัตว์สังขปาละนาคราช ได้เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้พระโพธิสัตว์จะสามารถบันดาลให้บุตรนายพรานเหล่านั้นแหลกละเอียดเป็นเถ้า ธุลี ด้วยวิธีเพียงแต่โกรธแล้วจ้องมองดูเท่านั้น แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำการโกรธเคืองลืมตาจ้องมองดูเขาเหล่านั้นเลย ข้อนี้สมด้วยคำบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า</dd></dl> <dl><dd>ดูก่อนนายอฬาระ เราอยู่จำอุโบสถศีลเป็นนิจทุกวันพระ ๑๔ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ คราวครั้งนั้น ได้มีบุตรของนายพราน ๑๖ คน พากันถือเชือกและบ่วงอย่างมั่นเหนียวไปหาเรา แล้วเขาได้ช่วยกันร้อยจมูกเรา ฉุดดึงเชือกที่ร้อยจมูกผูกตรึงเราหมดทั้งตัวแล้วลากเราไปทุกข์อย่างใหญ่หลวง ถึงเพียงนั้น เราก็ยังอดกลั้นได้ ไม่ยอมให้อุโบสถศีลกำเริบเศร้าหมอง</dd></dl> <dl><dd>แท้ที่จริงนั้น พระบรมศาสดามิใช่ได้ทรงทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ไว้เพียงที่ยกมาแสดงเป็น ตัวอย่างนี้เท่านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระจริยาวัตรอันน่าอัศจรรย์ แม้อย่างอื่นๆไว้เป็นอเนกประการ ซึ่งมีปรากฏในชาดกต่างๆ เช่นมาตุโปสกชาดก เป็นอาทิ</dd></dl> (หน้าที่ 102)
    <dl><dd>ก็แหละ บัดนี้ เมื่อเจ้าได้อ้างอิงเอาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ผู้ทรงมีพระขันติคุณอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งในโลกมนุษย์และโลกเทวดาว่าเป็นศาสดาของพระเจ้าดังนี้แล้ว การที่เจ้าจะยอมจำนนให้จิตโกรธแค้นเกิดขึ้นครอบงำได้อยู่ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ ชอบไม่สมควรอย่างยิ่งเทียว</dd></dl> อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๗
    ด้วยพิจารณาความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏ
    <dl><dd>ก็แหละ โยคีบุคคลผู้ซึ่งได้เข้าถึงความเป็นทาสของกิเลสมานานหลายร้อยหลายพันชาติ แม้จะได้พยายามพิจารณาถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อนโดย วิธีดังแสดงมาสักเท่าไรก็ตาม ความโกรธแค้นนั้นก็ยังไม่สงบอยู่นั่นแล คราวนี้โยคีบุคคลนั้นจงพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัตรอันยาวนาน ซึ่งสาวหาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ โดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้</dd></dl> <dl><dd>แหละเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายนิทานวรรคว่า</dd></dl> <dl><dd>ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้นั้นที่จะไม่เคยเป็นมารดากัน ไม่เคยเป็นบิดากัน ไม่เคยเป็นพี่น้องชายกัน ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิงกัน ไม่เคยเป็นบุตรกัน และไม่เคยเป็นธิดากัน เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายเลย</dd></dl> <dl><dd>เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงส่งจิตไปในคนคู่เวรกันอย่างนี้ว่า</dd></dl> <dl><dd>ได้ยินว่า สตรีผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาในชาติปางก่อน เขาเคยได้บริหารรักษาเราอยู่ในครรภ์ตลอดเวลา ๑๐ เดือน ได้ช่วยล้างเช็ดปัสสาวะน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ให้แก่เราโดยไม่รังเกียจ เห็นสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นเหมือนฝุ่นจันทร์หอม ช่วยประคองเราให้นอนอยู่ระหว่างอก อุ้มเราไปด้วยสะเอว ได้ทะนุถนอมเรามาเป็นอย่างดี ฉะนี้</dd></dl> (หน้าที่ 103)
    <dl><dd>บุรุษผู้นี้เคยเป็นบิดาของเรามา เมื่อประกอบการค้าขาย ต้องเดินไปในทางทุรกันดาร เช่น ต้องไปด้วยอาศัยแพะเป็นพาหนะ และต้องเหนี่ยวรั้งไปด้วยไม้ขอเป็นต้น แม้ชีวิตก็ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ครั้นในยามเกิดสงครามประชิดติดพันกัน ทั้งสองฝ่ายก็ต้องเอาตนเข้าสู่สนามรบ บางครั้งต้องนั่งเรือผ่านมหาสมุทร อันเต็มไปด้วยภัยอันตราย และได้ทำกิจการอย่างอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยความลำบากยากเข็ญ พยายามสั่งสมทรัพย์ไว้ด้วยอุบายต่างๆด้วยมั่นหมายว่า จักเลี้ยงดูลูกๆทั้งหลายให้เป็นสุข ฉะนี้</dd></dl> <dl><dd>บุรุษผู้นี้เคยเป็นพี่น้องชายของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นพี่น้องหญิงของเรามา บุรุษผู้นี้เคยเป็นบุตรของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นธิดาของเรามา และตีละบุคคลนั้นเคยได้ทำอุปการะแก่เรามาหลายอย่างหลายประการมาเป็นอันมาก</dd></dl> <dl><dd>เพราะเหตุฉะนั้น การที่เราจะทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลนั้นๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนี้</dd></dl> อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๘
    ด้วยพิจารณาอานิสงส์เมตตา
    <dl><dd>ถ้าพระโยคีได้พยายามพิจารณา โดยความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏดังแสดงมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้อยู่นั่นแล แต่นั้นโยคีบุคคลจงพิจารณาถึงอานิสงส์ของเมตตา ด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้</dd></dl> <dl><dd>“นี่แน่ พ่อมหาจำเริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่าคนผู้เจริญเมตตาภาวนาพึงหวังได้แน่นอน ซึ่งอานิสงส์ ๑๑ ประการ ของเมตตาเจโตวิมุติที่ตนส้องเสพหนักแล้ว ทำให้เจริญขึ้นแล้ว ทำให้มากๆแล้ว ทำให้เป็นดุจฐานอันแน่นหนาแล้วทำให้มั่นคงแล้ว สั่งสมด้วยวสี ๕ ดีแล้ว ทำให้บังเกิดขึ้นด้วยดีแล้ว</dd></dl> อานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ
    <dl><dd>อานิสงส์ของเมตตาเจโตวิมุติ ๑๑ ประการ</dd></dl> <dl><dd>๑. นอนเป็นสุข คือ ไม่กลิ้ง ไม่กรน หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ มีลักษณะท่าทางเรียบร้อยงดงามน่าเลื่อมใส</dd></dl> (หน้าที่ 104)
    <dl><dd>๒. ตื่นเป็นสุข คือ ตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่ทอดถอนหายใจ ไม่สยิ้วหน้า ไม่บิดไปบิดมา มีหน้าตาชื่นบานเหมือนดอกประทุมที่กำลังแย้มบาน</dd></dl> <dl><dd>๓. ไม่ฝันร้าย คือ ไม่ฝันเห็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว เช่น พวกโจรรุมล้อม สุนัขไล่กัด หรือตกเหว ฝันเห็นแต่นิมิตที่ดีงาม เช่น ไหว้พระเจดีย์ ทำการบูชาและฟังธรรมเทศนา</dd></dl> <dl><dd>๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือ เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลายเหมือนพวงไข่มุกที่ห้อยอยู่หน้าอก หรือดอกไม้ที่ประดับอยู่บนเศียร</dd></dl> <dl><dd>๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือ ไม่ใช่เป็นที่รักของคนอย่างเดียว ยังเป็นที่รักตลอดไปถึงเหล่าเทวาอารักษ์ทั้งหลายด้วย</dd></dl> <dl><dd>๖. เทวดาทั้งหลายคอยเฝ้ารักษา คือ เทวดาทั้งหลายย่อมคอยตามรักษาเหมือนมารดาบิดาคอยตามรักษาบุตรธิดา</dd></dl> <dl><dd>๗. ไฟ ยาพิษหรือศัสตรา ไม่กล้ำกรายในตัวของเรา คือ ไม่ถูกไฟไหม้ไม่ถูกวางยาพิษ หรือไม่ถูกศัสตราอาวุธประหาร</dd></dl> <dl><dd>๘. จิตเป็นสมาธิเร็ว คือ เมื่อเจริญกรรมฐาน จิตสำเร็จเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิได้เร็ว</dd></dl> <dl><dd>๙. ผิวหน้าผ่องใส คือ หน้าตามีผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส เหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ๆ</dd></dl> <dl><dd>๑๐. ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ไม่หลงตาย คล้ายกับนอนหลับไปเฉยๆ</dd></dl> <dl><dd>๑๑. เมื่อไม่บรรลุถึงคุณธรรมเบื้องสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก คือ ถ้ายังไม่ได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นคุณเบื้องสูงยิ่งกว่าเมตตาฌาน พอเคลื่อนจากมนุษย์โลก ก็จะเข้าสู่พรหมโลกทันที เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น</dd></dl> <dl><dd>นี่แน่ พ่อมหาจำเริญ ถ้าจักไม่ทำจิตที่โกรธแค้นอยู่นี้ให้ดับไปเสียแล้วเจ้าก็จักเป็นคนอยู่ภายนอกจากอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการนี้ ฉะนี้</dd></dl> (หน้าที่ 105)

    อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๙
    ด้วยพิจารณาแยกธาตุ
    <dl><dd>ถ้าโยคีบุคคลยังไม่สามารถที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้ ด้วยอุบายวิธีดังแสดงมา คราวนี้จงนึกเอาคนคู่เวรนั้นมาพิจารณาแยกออกให้เห็นเป็นเพียงสักว่า ธาตุส่วนหนึ่งๆด้วยอุบายวิธีดังนี้</dd></dl> <dl><dd>โยคีบุคคลพึงสอนตนโดยวิธีแยกธาตุว่า –</dd></dl> <dl><dd>นี่แน่ พ่อมหาจำเริญ เมื่อเจ้าโกรธคนคู่เวรนั้น เจ้าโกรธอะไรเขาเล่า? คือ ในอาการ ๓๒ เจ้าโกรธผมหรือ? ขนหรือ? เล็บหรือ? ฟันหรือ? หนังหรือ? หรือโกรธเนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อกระดูก, ม้าม หรือโกรธ หัวใจ, ตับ พังผืด, ไต, ปอด ? หรือโกรธ ไส้ใหญ่, ไส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง ? เจ้าโกรธ ดี, เสลด, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้นหรือ ? หรือโกรธ น้ำตา, น้ำมันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, นำไขข้อ, น้ำมูตร ? หรือ ในธาตุ ๔ เจ้าโกรธ ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลม หรือ ?</dd></dl> <dl><dd>อนึ่ง คนคู่เวรนั้น เพราะอาศัยขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๑๒ หรือธาตุ ๑๘ เหล่าใด เขาจึงได้มีชื่ออย่างนั้น ในขันธ์ ๕ นั้น เจ้าโกรธ รูปขันธ์หรือ ? หรือโกรธ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ ? หรือ ในอายตนะ ๑๒ นั้น เจ้าโกรธจักขวายตนะ รูปายตนะหรือ ? หรือโกรธ โสตายตนะ, ฆานายตนะ คันธายตนะ, ชิวหายตนะ รสายตนะ, กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ, มนายตนะ ธัมมายตนะ ? หรือในธาตุ ๑๘ นั้นเจ้าโกรธ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุหรือ ? หรือโกรธ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ, ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญานธาตุ, ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ, กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ, มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ?</dd></dl> <dl><dd>เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาแยกกระจายคนคู่เวรนั้นออกโดยภาวะที่เป็นธาตุ คือ เป็นเพียงชิ้นส่วนอันหนึ่งๆ ประกอบกันไว้ดังได้แสดงมา ฉะนี้ ก็จะมองเห็นสภาวธรรม ด้วยปัญญา เห็นแจ้งชัดว่าฐานสำหรับที่จะรองรับความโกรธ ย่อมไม่มีอยู่ในคนคู่เวรนั้น เพราะ ธาตุทั้งหลายแต่ละธาตุๆ มีผมเป็นต้นนั้น เป็นสิ่งอันใครๆไม่ควรจะโกรธ และนอกเหนือ</dd></dl> (หน้าที่ 106)
    <dl><dd>ไปจากธาตุทั้งหลายมีผมเป็นต้นนั้นแล้วก็หามีคนไม่ ซึ่งเปรียบเหมือนฐานสำหรับรองรับเมล็ดพันธ์ผักกาดไม่มีที่ปลายเหล็กจาร (เหล็กแหลม) และฐานสำหรับรองรับจิตรกรรม ไม่มีในอากาศ ฉะนั้น</dd></dl> อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๑๐
    ด้วยการให้ปันสิ่งของ
    <dl><dd>ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่สามารถที่จะพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุดังแสดงมา ก็พึงทำการให้ปันสิ่งของ กล่าวคือ พึงให้ปันสิ่งของตนแก่คนคู่เวร ตนเองก็ควรรับสิ่งของของคนคู่เวรด้วย ถ้าแหละคนคู่เวร มีอาชีพบกพร่อง มีเครื่องบริขารชำรุด ใช้สอยไม่ได้ ก็พึงให้เครื่องบริขารของตนนั่นแหละแก่เธอ เมื่อโยคีบุคคลทำการให้ปันได้อย่างนี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็จะระงับลงโดยสนิททีเดียว และแม้ความโกรธของคนคู่เวรซึ่งติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะระงับลงโดยทันทีเช่นเดียวกัน เหมือนดังความโกรธของพระมหาเถระรูปหนึ่งระงับลง เพราะได้บาตรซึงบิณฑปาติกเถระผู้ถูกขับออกจากเสนาสนะ ในวัดจิตตลบรรพตถึง ๓ ครั้ง ได้มอบถวาย พร้อมกับเรียนว่า ท่านขอรับ บาตรใบนี้มีราคา ๘ กหาปณะ อุบาสิกาผู้เป็นโยมหญิงของกระผมถวาย เป็นลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ขอท่านได้กรุณาทำให้เป็นบุญลาภแก่มหาอุบาสิกาด้วยเถิด ฉะนี้</dd></dl> <dl><dd>ขึ้นชื่อว่าการให้ปันนี้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ฉะนี้ สมด้วยวจนะประพันธ์อันพระโบราณาจารย์ได้ประพันธ์ไว้ว่า</dd></dl> <dl><dd>อทนฺตทมนํ ทานํ ทานํ สพฺพตฺถสาธกํ</dd></dl> <dl><dd>ทาเนน ปิยวาจาย อุนฺนมนฺติ นมนฺติ จ</dd></dl> <dl><dd>การให้ปันเป็นอุบายทรมานคนพยศให้หายได้ การให้ปันเป็นเครื่องบันดาลให้ประโยชน์ทักๆอย่างสำเร็จได้ ผู้ให้ปันย่อมฟูใจขึ้น ฝ่ายผู้รับปันย่อมอ่อนน้อมลง ทั้งนี้ ด้วยการให้ปันและด้วยวาจาอ่อนหวานเป็นเหตุ ฉะนี้</dd></dl> (หน้าที่ 107)

    -----------------------------------------------------
    สาธุุพระพุทธเจ้า สาธุพระธรรม สาธุพระสงฆ์ทั้งหลาย

    หากข้าพระพุทธเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม และพระอริยะสงฆ์ทั้งหลาย ในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ด้วยทางกาย หรือทางวาจาก็ดี และด้วยเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย และผู้มีพระคุณทุกท่าน ได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเข้าสู่พระนิพพานพุทธภูมิด้วยเทอญ

    ผิดพลาดล่วงเกิน ขออภัยขอขมาด้วยครับ

    ขอขอบคุณ
    วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ - วิกิซอร์ซ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 26 มิถุนายน 2009
  2. ขุนพลาย

    ขุนพลาย เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กันยายน 2009
    โพสต์:
    7,047
    ค่าพลัง:
    +1,615
    ขอบคุณที่นำมาให้อ่านกันครับ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...