อานุภาพพุทธคุณของพระสมเด็จวัดระฆัง

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย pongio, 10 ตุลาคม 2013.

  1. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,852
    รศ.ดร.ชัยพร พิบูลศิริ


    บทความเรื่องนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงอานุภาพพุทธคุณของพระสมเด็จวัดระฆังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนครั้งล่าสุด ด้วยกุศลศรัทธา เพื่อบูชากิตติคุณอันยิ่งใหญ่ขององค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่มีมาช้านาน ให้สูงส่งชั่วนิรันดร

    แนวคิดในการนำเสนอ ประกอบไปด้วย ๓ แนวคิดหลัก คือ แนวคิดเกี่ยวกับพระเครื่อง อำนาจพุทธคุณของพระเครื่อง และปัจจัยที่มีผลต่ออำนาจพุทธคุณของพระเครื่อง ดังจะได้กล่าวโดยสรุปตามลำดับไป

    พระเครื่องหมายถึงพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ หรือพระพิมพ์ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีการบรรจุพุทธคุณ วิทยคาถา และพุทธปรมาภิเษก สามารถใช้เป็นเครื่องรางของขลัง คุ้มครองป้องกันภยันตราย ตลอดจนอำนวยศิริมงคลให้กับผู้สักการะบูชาได้

    อานุภาพพุทธคุณหมายถึงพลังด้านศักยอำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิเดชของพระเครื่องในด้านที่เป็นคุณต่อผู้สักการะบูชาทั้งหลายทั้งทางตรงและทางอ้อม

    อำนาจพุทธคุณของพระเครื่อง ขึ้นอยู่กับปัจจัยซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้

    ๑. ศีลจริยวัตรและภูมิธรรมของผู้สร้าง พระเครื่องที่ถูกสร้างโดยผู้ทรงศีลจริยวัตรสมบูรณ์งดงาม

    สำเร็จอภิญญาจิตและฌานสมาบัติขั้นสูงสุด ย่อมจะมีพลังศักยภาพมากที่สุด

    ๒. เจตนารมณ์ของการสร้าง แต่เดิมพระเครื่องจะถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้สืบอายุพระพุทธศาสนา ต่อมา

    ใช้เป็นปัจจัยช่วยในการบำเพ็ญบารมีของผู้อธิษฐานพุทธภูมิ ภายหลังเมื่อได้รับอิทธิพลของพุทธมหายานลัทธิตันตระ จุดมุ่งหมายมักจะเน้นที่อานุภาพด้านอิทธิฤทธิ์และปาฏิหารย์เป็นสำคัญ

    ๓. อิทธิวัตถุที่ใช้ในการสร้างมีผลต่ออานุภาพพุทธคุณของพระเครื่อง พระเครื่องที่สร้างจากว่านหรือ

    ชิน จะเน้นอานุภาพด้านอยู่ยงคงกระพัน พระเครื่องที่สร้างจากดินเผาจะดีทางด้านแคล้วคลาดคงกระพันและเมตตามหานิยม ถ้าเป็นพระเครื่องเนื้อผงพุทธคุณ จะมีอานุภาพทุกด้าน และจะเด่นมากที่สุดในด้านความเจริญก้าวหน้า การค้าขาย และเมตตามหานิยม

    ๔. ศิลปะที่ปรากฏเป็นพิมพ์พระ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความหมายความงามในเชิงศิลปะของแต่

    ละสกุลช่างแล้วยังบ่งบอกถึงศรัทธา เจตนา คติธรรม และเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้สร้างตั้งใจจะบอก นอกจากนั้นศิลปะของพิมพ์พระยังสามารถสื่อให้เห็นถึงอานุภาพด้านต่างๆของพระพิมพ์ได้

    ๕. อานุภาพพุทธคุณของพระเครื่องก็ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการสร้างและการบรรจุพุทธคุณ พระเครื่อง

    เป็นของสูงควรค่าแก่การเคารพบูชา พระเครื่องแต่ละชนิดแต่ละประเภทจะมีกรรมวิธีในการสร้างและการบรรจุพุทธคุณที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น ผู้สร้างยังสามารถบรรจุพุทธคุณให้พระเครื่องมีอานุภาพเด่นด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะได้

    ๖. อำนาจพุทธคุณของพระเครื่องมีความสัมพันธ์กับพลังศรัทธาและการปฏิบัติตัวของเจ้าของพระ

    เจ้าของพระจะต้องปฏิบัติบูชาพระด้วย จึงจะบังเกิดผลในทางดี ถึงจะไม่บังเกิดผลทางด้านอิทธิฤทธิ์อย่างน้อยก็ช่วยให้เจ้าของพระได้พัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งขึ้น



    ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระสมเด็จวัดระฆัง

    ผู้เขียนผ่านเหตุการณ์เสี่ยงชีวิต ๓ ครั้ง แต่ด้วยอำนาจพุทธคุณของพระเครื่องที่คล้องติดตัวตลอดเวลาทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยมาได้ทุกครั้ง จะขอนำเหตุการณ์ครั้งหลังสุดมาเขียนเล่าสู่กัน

    ผู้เขียนเป็นคนฝั่งธนบุรีมีถิ่นฐานอยู่แถววังหลัง ตั้งแต่จำความได้ ทุกเช้าที่บ้านจะตักบาตรพระ ๙ รูป วันพระใหญ่ลูกหลานจะนำแกงเวรไปถวายพระที่วัดระฆังฯ ๑ หม้อ และที่วัดอรุณฯอีก ๑ หม้อเป็นประจำ ผู้ใหญ่จะถืออุโบสถศีล บางวันตอนเย็นจะนิมนต์พระ ๑ รูปมาเทศน์ที่บ้าน

    พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาก็นั่งเรือข้ามฟากไปเรียนศิลปบัณฑิตที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร จำได้ว่าวันประกาศผลสอบเข้า แม่เอาพระไปเลี่ยมทองที่ตลาดพรานนก บอกว่าเป็นพระที่ตาให้ไว้ ดีใจที่ได้พระองค์แรก ผู้เขียนรับมาพิจารณาด้วยความศรัทธา ด้านหน้าพระมีรักสีดำติดอยู่บางส่วน เห็นฐาน ๓ ชั้น กรอบด้านหลังถูกเจาะเป็นรูปใบโพธิ์ เห็นเนื้อพระสีขาว ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นพระอะไร แต่ก็ถนอมรักษาไว้อย่างดี แขวนอยู่องค์เดียวตลอดเวลา

    ตั้งแต่ได้พระองค์นี้มา รู้สึกว่าชีวิตมีแต่ความก้าวหน้า สามารถสอบชิงทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนปริญญาโทและเอกด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงปารีส จบกลับมาก็ได้บรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น แม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่เคยขัดสน

    สิ่งที่ผู้เขียนปฏิบัติอยู่เป็นประจำคือทุกเช้าจะตักบาตรพระ ๑ รูป กรวดน้ำ บูชารูปเหมือนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ด้วยดอกมะลิ ทุกเดือนจะไปทำบุญที่วัดระฆังฯไม่เคยขาด

    เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนเย็นของวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ดร.อนุกูล แพรไพศาล ลูกศิษย์ที่จบจากนิด้า โทรศัพท์จากจังหวัดกาญจนบุรีมาบอกผู้เขียนว่าเขาจะจัดงานเลี้ยงวันเกิดในคืนวันที่ ๒ กุมภาพันธ์จะให้ผู้เขียนขึ้นกล่าวอวยพรวันเกิดและขอให้ผู้เขียนขับรถไปรับอาจารย์ณภัทร คุ้มชินโชติ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านอลงกรณ์ พลบุตร มาร่วมงานเลี้ยงด้วย

    วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๓.๓๐ น. ผู้เขียนขับรถออกจากกระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ โดยมีอาจารย์ณภัทรนั่งอยู่ด้านหน้าคู่กับผู้เขียน รถวิ่งไปตามถนนราชพฤกษ์ ผ่านนครปฐม ราชบุรี ผ่านอำเภอท่าเรือถึงอำเภอท่าม่วง เหลืออีกเพียง ๑๕ กิโลเมตรจะถึงตัวเมืองกาญจนบุรี

    ขณะที่รถของผู้เขียนกำลังวิ่งคู่ไปกับรถตู้สีขาวคันหนึ่ง โดยรถของผู้เขียนอยู่ในเลนด้านนอก ในเสี้ยววินาที ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผู้ชายอายุประมาณ ๒๐ ปี ขับรถจักรยานยนต์วิ่งสวนทางตัดหน้ารถตู้ แล้วหยุดกระทันหันขวางหน้ารถผู้เขียน ห่างไม่เกิน ๑๐ เมตร ผู้เขียนควบคุมสติ หักพวงมาลัยไปทางขวามือคิดว่าจะหลบทัน แต่รถเสียการทรงตัว วิ่งลงคูข้างแนวถนน หน้ารถด้านคนขับชนเสาหลักบอก

    สัญญาณจราจรหักสะบั้น ส่วนบังโคลนหน้าและประตูรถด้านซ้ายชนกระแทกกับต้นไม้ใหญ่เสียงดังสนั่น เศษกระจกแตกกระจายกระเด็นใส่ มีเลือดติดตามเสื้อ ผู้เขียนหันไปดูเห็นอาจารย์ ณภัทรเกิดอาการช๊อคตามเนื้อตัวมีบาดแผลเลือดไหล

    ผู้เขียนพยายามเปิดประตูรถด้วยความยากลำบาก วิ่งไปบอกเจ้าหน้าที่รถกู้ภัยให้รีบนำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หลังจากโทรศัพท์แจ้งข่าวอุบัติเหตุถึงดร.อนุกูลเสร็จเรียบร้อย ผู้เขียนก็ต้องอยู่รอเจ้าหน้าที่ของบริษัทวิริยะประกันภัย แล้วไปแจ้งความที่สภอ.ท่าม่วง จักรยานยนต์คู่กรณีขับหนีไป แต่ก็ยังโชคดีที่รถทำประกันชั้น ๑ จึงได้รับความสะดวกเป็นอย่างดี

    ผลจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ทำให้อาจารย์ณภัทรซี่โครงและแขนซ้ายหัก กระจกรถบาดแขนทั้งสองข้างเป็นแผลฉกรรจ์ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่นานพอสมควรจนกว่าจะหายเป็นปกติ ส่วนผู้เขียนเสียรถยนต์ไป ๑ คัน แต่ยังโชคดีปลอดภัยไม่เจ็บตัวแม้แต่น้อย ทั้งที่ตอนนั้นได้ยินเสียงไทยมุงพูดกันว่า “ไม่รอดแน่” ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้ว่ารอดตายมาได้อย่างไร แต่จิตใต้สำนึกบอกอยู่เสมอว่า เรามีคุณพระคุ้มครอง



    วิเคราะห์อานุภาพพุทธคุณของพระสมเด็จวัดระฆัง



    วิญญาณศรัทธาของมนุษย์ ที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีประจำอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ข่าวปาฏิหาริย์ของพระสมเด็จวัดระฆัง ที่ได้ช่วยรักษาโรคป่วงใหญ่ให้หายขาด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เรื่อยมา รวมทั้งข่าวจากผู้มีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับพระสมเด็จอีกมากมาย ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีพระเกจิอาจารย์รูปใดในยุครัตนโกสินทร์ที่จะทรงอานุภาพกิตติคุณปรากฏแพร่หลายโด่งดังเทียบเท่าเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเครื่องที่ท่านสร้างได้รับความนิยมเลื่อมใสยิ่งกว่าพระเครื่องใดๆ

    เท่าที่ผู้เขียนประมวลได้ พระสมเด็จวัดระฆังมีอานุภาพพุทธคุณ ด้านป้องกันรักษาโรค ป้องกันภัย แก้คุณไสย ช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยมสูง ช่วยให้เกิดความเจริญรุ่ง เรืองก้าวหน้าในกิจการงาน ทำให้มีชื่อเสียง มีอำนาจปราศจากศัตรู



    พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นสุดยอดปรารถนาของนักนิยมพระเครื่องทุกคน ผู้มีบุญวาสนาได้ครอบครองพระสมเด็จวัดระฆังองค์สวยสมบูรณ์ ย่อมจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นที่รู้จักของสังคม

    การที่พระสมเด็จวัดระฆัง มีอานุภาพพุทธคุณอยู่ในขั้นสูงที่สุด มาจากเหตุปัจจัยต่อไปนี้

    ๑. ผู้สร้างคือเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้มีศีลจริยวัตรสมบูรณ์งดงาม

    ท่านเป็นพระอัจฉริยาจารย์ทรงคุณปัญญาสำเร็จอภิญญา คือความรู้ซึ่งได้ฌานสมาบัติขั้นสูง ๖ ประการ

    ท่านสำเร็จสรตโสฬสญาณ ขั้นสัมภิทาญาณทำให้มีอิทธิฤทธิ์ และได้อานาคตังสญาณสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำและท่านยังถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรตลอดชีวิต

    ๒. พระสมเด็จวัดระฆัง ถูกสร้างด้วยจิตของพระโพธิสัตว์ ที่ปรารถนาให้ผู้นำไปสักการะบูชา

    เกิดอานิสงส์ปราศจากซึ่งความทุกข์ทั้งปวง และที่สำคัญท่านสร้างพระสมเด็จเพื่อบำเพ็ญทานบารมี เป็นการบำเพ็ญโพธิปริปาจนธรรม คือธรรมสำหรับบำเพ็ญพระพุทธภูมิ

    ๓. ผงวิเศษในพระสมเด็จวัดระฆัง เป็นสุดยอดของส่วนผสมในเนื้อพระ อันประกอบไปด้วย

    ผงปัถมังอิทธะเจ มหาราช พุทธคุณ และตรีนิสิงเห ผงวิเศษเหล่านี้ได้ผ่านกรรมวิธีลงวิทยคาถาขั้นสูง ทำให้เกิดอานุภาพ มหามงคลประดุจดั่งพุทธรังสีแผ่คุณความดีไปทั่วพุทธจักรวาล และบังเกิดผลานิสงส์แก่ผู้สักการะบูชาไม่เสื่อมคลาย

    นอกจากผงวิเศษดังกล่าวแล้ว ท่านยังผสมผสานวัตถุมงคลอาถรรพ์อื่นที่ท่านพิจารณาเห็นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ลงในเนื้อพระด้วย เช่นว่านร้อยแปด ดอกไม้บูชาพระ ก้านธูป ผงใบลานเผา ข้าวก้นบาตร เศษพระเครื่องโบราณ เศษจีวรห่มพระพุทธรูป ทรายเงิน ทรายทอง ฯลฯ ทำให้เนื้อพระมีความศักดิ์สิทธิ์ และมีคุณค่ายิ่งกว่าเพชรน้ำหนึ่ง

    ๔. พระสมเด็จวัดระฆัง ได้รับการพุทธปรมาภิเษกด้วยพระคาถาชินบัญชร ซึ่งเป็นพระคาถา

    ศักดิ์สิทธิ์ พระคาถาชินบัญชรเป็นการอัญเชิญพระพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ พระอรหันต์ที่สำคัญอีกหลายองค์ แล้วอัญเชิญพระสูตรต่างๆที่ถือว่าเป็นพระพุทธมนต์แต่ละสูตรมารวมกัน เป็นกำแพงแก้วคุ้มกันผู้ภาวนาจากภยันตรายต่างๆ

    พระคาถาชินบัญชรทรงคุณานุภาพมากมาย ถ้าหมั่นเจริญภาวนาเป็นนิจ จะประสบแต่ความสุขความเจริญ อีกทั้งยังสามารถนำมาบริกรรมทำน้ำพระพุทธมนต์ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บได้สารพัด

    ๕. แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังที่งดงามและทรงคุณค่าทางศิลป์ เป็นฝีมือการแกะของหลวง

    วิจารณ์เจียรนัย หัวหน้าช่างหลวงในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระเครื่ององค์แรกที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างทรงเรขาคณิต องค์พระและฐานจำลองแบบและย่อส่วนมาจากองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ ปางสมาธิ ศิลปะสุโขทัย พิมพ์ทรงในภาพรวม ถึงจะขึ้นรูปแบบง่ายๆปราศจากส่วนตกแต่ง แต่มีความงดงาม จัดองค์ประกอบทางศิลปะได้ลงตัวกันอย่างสมภาค บอกถึงสภาวะจิตที่สงบนิ่ง

    ๖. พลังอานุภาพของพระสมเด็จวัดระฆังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเจ้าของพระ เจ้าของพระถ้า

    ปฏิบัติตนบูชาพระด้วย ก็จะบังเกิดผลในทางดี ผู้มีพระสมเด็จวัดระฆังประจำตัว หรือผู้ปรารถนาจะมีพระสมเด็จวัดระฆัง ควรหาโอกาสมานมัสการสักการะบูชา รูปองค์เจ้าพระคุณสมเด็จฯที่วัดระฆังให้ได้ เพื่อแสดงความกตัญญู และเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตน ก็จะถึงซึ่งความสุขความเจริญเป็นนิจ

    ด้วยพลังอานุภาพในด้านพุทธคุณ กอรปกับความงดงามในด้านพุทธศิลป์ พระสมเด็จในเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จึงได้รับการถวายพระนามอย่างสมพระเกียรติว่าเป็น “จักรพรรดิ์แห่งพระเครื่อง” เป็นเครื่องวัดภูมิฐานะของความเป็นนักนิยมพระเครื่อง พระสมเด็จวัดระฆังจึงเป็นสุดยอดวิญญาณปรารถนาของนักนิยมพระเครื่องทุกคน

    บทความชิ้นนี้ เขียนโดยผู้ซึ่งมีจิตศรัทธาแน่วแน่ ต่อท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งได้ตั้งใจศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาตลอดชีวิตเป็นเวลายาวนาน คิดว่าคงจะช่วยเสริมความรู้ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับท่านเจ้าของพระสมเด็จวัดระฆังมากยิ่งขึ้นได้พอควร



    ขอจงได้รับบุญกุศลในครั้งนี้โดยทั่วกัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...