อาการและอานิสงส์ของสมาธิในแต่ละระดับ (ในการภาวนาพระคาถาพระปัจเจกโพธิ์, พระคาถาเงินล้าน)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย Wannachai001, 19 เมษายน 2024.

  1. Wannachai001

    Wannachai001 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    8,845
    กระทู้เรื่องเด่น:
    121
    ค่าพลัง:
    +225,753
    188109409_1918590084984188_141175238125169636_n (1).jpg
    อาการและอานิสงส์ของสมาธิในแต่ละระดับ
    (ในการภาวนาพระคาถาพระปัจเจกโพธิ์, พระคาถาเงินล้าน)


    คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น คือมีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ท่านจัดไว้เป็น 3 อย่าง คือ

    1. ขณิกสมาธิ
    2. อุปจารสมาธิ
    3. อัปปนาสมาธิ

    ขณิกสมาธิ ได้แก่สมาธิเล็กน้อย คือเมื่อขณะที่กำลังภาวนาคาถาอยู่นั้น อารมณ์สนใจเฉพาะแต่ในคาถาภาวนา ไม่มีอารมณ์โลภหรือรักในเพศ ไม่มีอารมณ์โกรธคั่งแค้น
    ไม่มีความคิดอย่างอื่นนอกจากบทภาวนา ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เกิดความลังเลสงสัยในผลปฏิบัติ มีจิตสงัดจากอารมณ์ภายนอกตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ทรงอารมณ์
    นั้นอยู่ในฌานไม่นาน ทรงได้สักประเดี๋ยวเดียว อารมณ์ตามที่กล่าวมาแล้วก็เข้ามารบกวน เมื่อรู้ตัวก็ตั้งต้นใหม่อย่างนี้ท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ เป็นสมาธิเล็กๆน้อยๆไม่มาก ทรงอยู่ได้ไม่นาน

    อานิสงส์ในปัจจุบัน ทำให้เป็นคนพอมีความยับยั้งความรู้สึกที่เป็นโทษ พออดใจไว้ได้บ้างในบางขณะ

    ส่วนในพระคาถาให้ผล พอมีทางได้แก้จนเมื่อถึงคราวจำเป็น

    ในสัมปรายภพ ท่านว่าสมาธิขนาดนี้ให้เพียงเกิดในชั้นกามาวจรสองชั้น คือชั้นจาตุมหาราช กับชั้นดาวดึงส์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง

    อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่ใกล้จะเข้าระดับฌาน มีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ได้นานเกินกว่าสมาธิก่อน มีลมหายใจค่อยละเอียดลง คือมีอาการหายใจเบามาก มีความชุ่มชื่นในใจอย่างที่จะกล่าวได้ยาก มีความอิ่มเอิบชุ่มชื่นเบิกบาน มีอารมณ์สมาธิตั้งอยู่ได้นานพอสมควร มีการเห็นภาพแปลกๆ มีแสงสว่างปรากฏ มีอารมณ์เยือกเย็น

    ข้อที่ควรสนใจที่ถึงระดับนี้ก็คือ อย่ามัวหลงใหลในภาพที่เห็น เมื่อเห็นแล้วปล่อยเลยไป ตั้งใจรักษาอารมณ์สมาธิไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะรักษาได้ หากไปหลงภาพและแสงสีแล้ว ต่อไปอารมณ์จะซ่าน สมาธิจะเสื่อม จะไม่ถึงดี

    สมาธิระดับนี้มีอานิสงส์ในปัจจุบันคือ มีจิตอิ่มเอิบเบิกบาน หน้าตาชุ่มชื่นตลอดวัน มีความอดกลั้นต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วเย้าได้ดีมาก มีเมตตาปรานีเกิดขึ้นแก่ใจอย่างคาดไม่ถึง รักศีลมากกว่าการห่วงใยอารมณ์ภายนอก เกิดลาภสักการะขนาดใหญ่เสมอๆ ผลงานจะเกิดแก่ผู้ปฏิบัติอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน

    เมื่อละอัตภาพแล้ว ท่านว่าอานิสงส์สมาธินี้ส่งผลให้เกิดชั้นยามา

    อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิแนบแน่นเป็นอารมณ์ฌาน คือเมื่อขณะบริกรรม คือภาวนาอยู่นั้น มีอารมณ์ 5 ของฌานครบถ้วน คือ

    1. นึกถึงบทภาวนา คือคาถาอยู่เสมอมิได้ขาด
    2. ใคร่ครวญตรวจสอบว่าคาถาที่ว่านี้ขาดตกบกพร่องหรือไม่ ลมหายใจเข้าออกนั้นก็กำหนดรู้ว่าหายใจเข้าหรือออก สั้นหรือยาว เมื่อหายใจเข้าออกนั้น
    3. มีความอิ่มเอิบปราโมทย์ ไม่อิ่มไม่เบื่อในการเจริญภาวนา
    4. มีความสุขใจสุขกายอย่างประณีต ซึ่งไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต
    5. รักษาอารมณ์ไว้ได้มีเวลานานๆ และสามารถตัดกังวลรำคาญจากเสียงภายนอกเสียได้ คือแม้จะมีเสียงรบกวนเพียงใดก็ไม่มีความสนใจต่อเสียง ไม่รำคาญในเสียงรบกวนนั้น อย่างนี้ท่านเรียก ปฐมสมาบัติ คือได้ ปฐมฌาน นั่นเอง

    อารมณ์ฌานขนาดนี้ย่อมมีอานิสงส์ในปัจจุบัน คือ มีผลเกิดจากเจริญภาวนาเป็นลาภใหญ่ และเยือกเย็นไม่มีโทษ ไม่มีความเดือดร้อน ท่านนายห้างประยงค์ตอนที่
    ท่านเริ่มรวยนั้น ท่านว่าท่านถึงตรงนี้ท่านก็เริ่มรวย นอกจากรวยแล้วยังเป็นบุคคลที่สังคมคนดีปรารถนา เพราะเป็นฝ่ายประชาสงเคราะห์อยู่เสมอ ความสุขสดชื่นเกิดขึ้น
    อย่างบอกไม่ถูก เป็นที่เคารพบูชาของคนทุกชั้น

    ในปุเรชาติคือชาติต่อไป ท่านว่าฌานต้นนี้บันดาลให้ไปเกิดในพรหม 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1, 2, 3 ตามระดับฌานที่ได้หยาบละเอียดกว่ากัน

    ญานที่ 2 อันนี้ถ้าเรียกเป็นสมาธิ ท่านเรียกอัปปนาสมาธิเหมือนกัน แต่มีความละเอียดสุขุมกว่าระดับต้น คือพอถึงฌานที่ 2 ท่านว่ามีความละเอียดของอารมณ์มากกว่าระดับก่อน จนมีอาการหยุดภาวนาไปเอง ไม่นึกไม่คิดอารมณ์ที่ภาวนาหรือลมหายใจอีก มีอาการเฉยต่ออารมณ์ที่เคยคิดนึกนั้น มีแต่ความปีติปราโมทย์อิ่มเอิบเข้าแทนที่ มีความสุขสงัดเกิดแต่วิเวก เป็นความสุขทางกายและใจที่หาอะไรเปรียบเทียบไม่ได้เลย มีอารมณ์แนบแน่นกว่าฌานที่หนึ่งมาก

    อานิสงส์ในฌานนี้ เรื่องลาภเกิดแทบนับไม่ได้ คือไม่ต้องคิดว่าจะหา ลาภชอบมาหาเอง คืออยู่เฉยๆก็มีคนแนะนำบอกให้เป็นลาภใหญ่เสมอ

    มีขันติธรรมประเสริฐมาก มีอารมณ์ชุ่มชื่น หน้าตาเบิกบานตลอดวันคืน มีเมตตาปรานี เป็นที่รักของชนทุกชั้นและสมณชีพราหมณ์ทั่วไป ตายไปแล้วท่านว่าคนที่ได้ฌานชั้นนี้ไปเกิดพรหม 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 4, 5, 6 ตามความหยาบละเอียดของฌาน

    ฌานที่ 3 มีอาการแตกต่างจากฌานที่ 2 คือ ตัดความปีติปราโมทย์เสียได้หมด คงมีแต่ความสุขประณีตละเอียดอ่อน มีความเยือกเย็นเป็นสุข มีอารมณ์ตั้งมั่นมาก เพราะอารมณ์ไม่ซ่านออกทางกายอย่างฌานที่ 2 มีแต่ความสุขประณีต และอารมณ์เป็นหนึ่งแนบแน่นไม่เคลื่อนที่ มีสภาพคล้ายกับเสาเขาปักไว้อย่างมั่นคงนั่นเอง

    อานิสงส์ปัจุบัน เรื่องลาภไม่ต้องพูดกัน ดูท่านนายห้างประยงค์ก็แล้วกัน เมื่อก่อนเจริญคาถานี้ ท่านบอกว่าเดือนใดท่านมีกำไรถึง 200 บาท ท่านว่าสองคนผัวเมียท่านดีใจจนนอนไม่หลับ พอถึงตรงนี้วันนั้นหลวงพ่อปานเรียกไป ให้รับออกเงินสร้างเขื่อนหน้าวัด ท่านว่าเท่าไรผมรับหมดครับ ผมไม่ท้อถอยแล้ว สุดแต่หลวงพ่อจะบัญชามา กี่หมื่นกี่แสนผมไม่อั้น

    ท่านว่าท่านยิ่งทำท่านยิ่งมีมาก และมีอารมณ์ผ่องใสเกือบเย็น หมดกังวลต่อเรื่องได้เรื่องเสีย ไม่สนใจรสอาหารปฏิบัติการกินแบบจระเข้ คือถือกินอิ่มเป็นประมาณ เป็นพระที่น่าบูชาของคนทั่วไป ถึงแม้จะเป็นชาวบ้านก็มีอาการคล้ายพระ

    เมื่อละอัตภาพแล้ว ท่านว่าฌานชั้นนี้ส่งผลให้ไปเกิดเป็นพรหม 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 7, 8, 9 ตามความหยาบและละเอียดของอารมณ์ฌาน

    ฌานที่ 4 ฌานนี้เป็นอันดับสำคัญที่สุดของรูปฌานคือเป็นฌานที่สร้างฤทธิ์ทางกายและทางใจให้เกิดแก่ผู้ที่ได้ฌาน ฌานชั้นนี้ตัดความสุขประณีตเสียได้ มีอารมณ์เป็นหนึ่งและความวางเฉย แยกกายกับจิตออกจากกันอย่างเด็ดขาด คือไม่รับรู้เวทนาทางกายเลย เรื่องปวดเมื่อยไม่ยอมรับรู้ อาการที่ถึงฌานนี้ที่จะกำหนดรู้ง่ายก็คือลมหายใจไม่มี เมื่อปรากฎว่าลมหายใจไม่ปรากฎและมีอารมณ์เฉยต่อเวทนาใดๆแล้ว จงรู้เถิดว่าตอนนี้ท่านชักจะเป็นคนเต็มโลก คือครบโลกียฌานแล้ว เรื่องนรก สวรรค์ หรือถ้าอยากรู้ไปเสียเดี๋ยวเดียวด้วยอำนาจมโนมยิทธิ และนอกจากนั้นยังมีญาณเป็นเครื่องรู้ เช่น ทิพจักขุญาณ รู้อดีตอนาคต รู้นรกสวรรค์ รู้การเกิดของสัตว์ รู้ผลกรรมของสัตว์ รู้สุขทุกข์ในใจของสัตว์ ระลึกชาติได้ด้วยอำนาจของฌานที่ 4

    หากประสงค์มรรคผลนิพพานก็เอาฌานและญาณเป็นพี่เลี้ยงช่วยวิจัยตามสายของวิปัสสนา ก็จะมีญาณเป็นเครื่องรู้แจ้งเห็นจริงได้ชัดเจนแจ่มใส จัดเป็นอานิสงส์ใน
    ปัจจุบันที่แสวงหาได้ยากอย่างยิ่ง

    เรื่องลาภนั้นไม่ต้องคำนึงเพราะจะท่วมล้นความต้องการ เมื่อละสังขารท่านว่าด้วยอำนาจฌานที่ 4 จะบันดาลให้ไปเกิดในพรหมชั้นที่ 10 และ 11 เป็นยอดของฌานโลกีย์ฝ่ายรูปฌาน

    เป็นอันว่าการปฏิบัติคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าอันเป็นวิสัยที่จะช่วยชาวบ้านให้มั่งคั่งสมบูรณ์ในโภคทรัพย์นี้ หากท่านนักปฏิบัติมีความปรารถนาเพื่อความดีสูงสุดแล้ว
    และปฏิบัติตามแนวสมถภาวนา ก็จะมีผลตามที่กล่าวมาแล้วนั้น

    ขอยุติคำอธิบายในการปฏิบัติพระคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้เพียงเท่านี้


    (คัดลอกบางส่วนจาก "หนังสือคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าโปรดสัตว์ พระคาถา...แก้จน คาถาเงินล้าน")
     

แชร์หน้านี้

Loading...