อดีตรำลึก - อัตถ์ พึ่งประยูร -

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย pongio, 26 เมษายน 2016.

  1. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,852
    ประวัติศาสตร์ ย่อมเป็นประวัติศาสตร์
    รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังรับรู้ จดจำ ศึกษา
    อดีตกาลย่อมผิดไปจากปัจจุบันกาล
    ปัจจุบันกาลย่อมต่างกับอนาคตกาล

    หากประวัติศาสตร์ยืนยันว่าครั้งหนึ่งเราเป็นผู้แพ้ ครั้งหน้าควรหรือจะให้ความ พ่ายแพ้เกิดขึ้นจนถูกตราหน้าว่า "หน้าขี้แพ้"

    คนเราเกิดมาประวัติชีวิตย่อมต่างกัน ลืมตาดูโลกจนเป็นเถ้าธุลีถมดิน น้อยคนนักจะบันทึกประวัติชีวิตให้ลูกหลานรับรู้ นำมาเป็นแบบฉบับ วิบากกรรมใดเกิดขึ้น หนักหรือเบาจะได้หลีกเลี่ยง ผ่อนหนักเป็นเบา หรือหลบหลีกไม่ให้เกิด

    คนโบราณปลอบใจคนดำเนินชีวิตผิดพลาด ด้วยการให้คติพจน์ควรจำ "ชั่วเจ็ดที - ดีเจ็ดหน"

    ชั่วแล้วมีดี ดีแล้วต้องไม่ชั่ว อย่างน้อย กลัวนรก เพื่อให้พ้นนรก เพื่อให้คนพ้นชั่ว พระศาสดาจึงมอบหมายให้พระสงฆ์สาวกของพระองค์นำพระธรรมซึ่งเป็นคำสั่งสอน ไปเผยแผ่สอนชาวโลกให้ประพฤติดี มีธรรม ไม่ล้ำศีล เพื่อให้มนุษย์นั่นแหละพ้นทุกข์ พบสุข จะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้อง เรียกว่า "สังคม" จะได้สงบสุข

    เหล่าพระสงฆ์แม้จะเหน็ดเหนื่อยด้วยถือศีล กินเพียงเพล ก็ดูแจ่มใสไร้ทุกข์ทุกรูปไป

    มีคำกล่าวที่น่าจำอีกบทหนึ่ง นั่นคือ "ผู้มากบารมีมิใช่เพียงอยู่เฉยๆ ก็ได้มา วิริยะและปัญญานั่นต่างหากจะนำมาซึ่งบารมี"

    สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ท่านเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประชาชนทั่วแดนสยามนิมนต์ท่านไปเทศน์อบรมจิตใจตนเองและลูกหลาน บางท้องที่เหมือนจับปูใส่กระด้ง หลับบ้าง คุยกันบ้าง เหมือนเกิดมาเพิ่งพบกัน ท่านมิได้ท้อถอย ตั้งใจสละชีวิตแด่พระศาสนาจนวาระสุดท้ายประวัติชีวิตของท่านถูกนำมาทำเป็นสารคดีเล่มใหญ่ ชื่อ "อภินิหารสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) " โดยไทยน้อยชื่อจริง "เสลา เลขะรุจิ" รวบรวมประพันธ์ขึ้น ผู้เขียนขอนำบางส่วนของเรื่องมาประกอบให้ท่าน ผู้อ่านเห็นจริงไว้ ณ ที่นี้ด้วย

    มีที่นาของหลวง คือ ของพระมหากษัตริย์อยู่แห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ ๔) ทรงเห็นว่าหากทำประโยชน์ให้เป็นที่พักผ่อนรื่นรมย์ของ ชาวเมืองหลวงก็น่าจะเป็นสิ่งอันสมควร จึงโปรดให้ขุดสระใหญ่ขึ้น ๒ สระ

    สระหนึ่งสงวนไว้สำหรับพระองค์

    สระที่สองมีความกว้างพอกัน สำหรับข้าราชบริพารและประชาชนเล่นเรือแพกันเพื่อความสนุกสนาน ทรงกำชับให้สถาปนิกประดิษฐ์ตกแต่งสระทั้งสองให้สวยงาม เป็นที่แปลกตาแปลกใจแก่ผู้พบเห็น ส่วนหนึ่งเป็นโขดเขาสูงต่ำ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยผุดขึ้นในสระเหมือนธรรมชาติ

    บัวหลวงที่ปลูกไว้งดงาม ชูช่ออร่ามเรียงรายอยู่ทั่วสระ

    สระส่วนพระองค์มีตำหนักที่ประทับภูมิฐาน สมกับเป็นของพระราชา

    สมัยนั้น การเดินทางจากวังหลวงมายังสระและที่ประทับแห่งนี้ มาได้ทางเดียวคือทางเรือ

    อีกคลองหนึ่งแยกไปสู่คลองแสนแสบ คือคลองส่งน้ำเข้าสู่สระทั้งสองให้เต็มเปี่ยมอยู่เสมอนั่นเอง

    ณ สถานที่แห่งนี้โปรดเกล้าให้สร้างพลับพลา ที่ประทับ สำหรับทอดพระเนตรการเล่นเรือของพวกราชสำนักฝ่ายหน้าและฝ่ายในอีกด้วย

    ทั้งโปรดเกล้าให้สร้างโรงละครที่ประทับ และที่อื่นๆ ให้เพียงพอแก่การที่พระองค์จะเสด็จไปประทับแรม และให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ทำให้ตำบลแห่งนี้โดดเด่น หรูหราที่สุดในกรุงเทพมหานคร สมัยนั้นเรียกว่า "บางกอก"

    ยามว่างจากพระราชพิธีต่างๆ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาพักผ่อนที่สระ บัวบานแห่งนี้ มีเจ้าจอมฝ่ายหน้าและฝ่ายในตาม เสด็จมาสร้างความครึกครื้นด้วยการพายเรือเล่นสักวากลางแสงเดือน เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง

    เช้าตรู่วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ ชั้นพระราชาคณะรวมทั้งสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ด้วย ให้พายเรือ มารับบิณฑบาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยพระองค์เอง

    เมื่อถวายบิณฑบาตสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เสร็จแล้ว ปรากฏว่าท่านยังมิได้พายเรือกลับวัดแต่ประการใด ยังคงพายเรือวนเวียนอยู่หน้าพระที่นั่ง

    บางครั้งสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ยกใบพายขึ้นบังศีรษะให้พระราชาคณะชรา บางรูปแก่เฒ่ามากๆ ขนาดอายุ ๘๐ กว่าปีก็มี

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรหน้าสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) หลายครั้ง ผู้ถูกมองทราบดีแต่ทำเป็นไม่สนใจ ทั้งยังส่งเสียงบอกกล่าวไปยังพระผู้เฒ่าที่ท่านยกใบพายบังความร้อนจากแสงอาทิตย์ว่า "ฉันบังแดดให้นะจ๊ะ"

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทนต่อการกระทำอันแปลกๆ ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ไม่ไหว จึงรับสั่งถามว่า

    "เขาให้แล้ว ยังไม่ยอมไปอีก เที่ยวพายเรือ วนเวียนอยู่นี่เอง จะเอาอะไรอีกล่ะ"

    ได้ยินเช่นนั้น สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ก็รีบถวายบังคมทูลตอบทันทีว่า

    "อาตมาภาพเห็นว่า พระราชาคณะบางรูปชรามาก พายเรือไม่คล่องแคล่ว หากว่าเรือล่ม อาตมาจะได้ช่วยท่านได้ทันท่วงที"

    คำกราบบังคมทูลประโยคนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิด แต่ก็ยังมิทันรับสั่งประการใดออกมา เพราะเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) กราบถวายบังคมทูลแล้ว ก็รีบพายเรือออกไปพ้นจากหน้าพระที่นั่งทันที

    จากคำกราบบังคมทูลประโยคนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเกล้าให้มีการ ถวายอาหารเช้าทางเรืออีก เพราะทรงดำริขึ้นมาได้ว่า การถวายบิณฑบาตทางเรือ ครั้งหนึ่งเรือรับบิณฑบาตล่ม ต้องโดดน้ำลงไปช่วยกันวุ่นวาย เพราะพระครูรูปหนึ่งไม่ชำนาญการพายเรือนั่นเอง

    สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) คงมีทิพยญาณรู้ว่า ถ้าปล่อยให้มีการกระทำแบบนั้นต่อไป อาจเป็นอันตรายกับผู้เกี่ยวข้อง และต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นเจ้าชีวิตของท่าน รวมทั้งพระสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา จึงใช้สมองอันเฉลียวฉลาดชี้เป็นนัยแด่ผู้สูงศักดิ์ดังกล่าว จะได้ไม่มีภัยเกิดขึ้นอีก

    ท้องนาที่อยู่ใกล้เมืองหลวง ริมคลอง แสนแสบ
    กลายเป็นสระสองสระ ร่มรื่นสวยงาม มีขุนเขาปรากฏขึ้น ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง พร้อมท่าน้ำ...
    บัวหลวงนานาสีชูช่อที่โน่นที่นี่ ทั่วบริเวณที่เนรมิตขึ้น และ....
    ตำหนักประทับหลายตำหนักที่ปรากฏอยู่ นั้นคือ.......วังสระปทุม
    วัดที่สวยงามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้น และพระราชทานนามด้วยคือ... วัดปทุมวนาราม
    ลูกชายแม่ทัพที่มีปานดำกลางหลัง บวชเป็นลูกศิษย์หลวงตาแก้ว วัดบางลำพูบน นั่นคือสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)

    ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๖ พฤศจิกายน- ธันวาคม ๒๕๔๗
     

แชร์หน้านี้

Loading...