หลวงพ่อและคณะฝึกการเรียนระลึกชาติ

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 2 สิงหาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    นี้ยามที่อยู่ถึงเวลา ๗ วัน บรรดาท่านพุทธบริษัท ลืมบอกไปนิดหนึ่ง ก่อนจะเดินทางออก หลวงพ่อปานบอกว่า ให้ทบทวนชีวิตในความเป็นมา ตั้งแต่อยุธยา ถึงเขาชอนเดื่อ เราเคยเกิดมาแล้วกี่ครั้งมีอะไรบ้าง ที่สัมผัสมา เกิดมามีชีวิต มีความสุข หรือมีความทุกข์ มีฐานะเป็นอย่างไร ให้ดูเอา คือว่าให้ใช้กำลัง ๓ อย่าง คือ
    ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติตัวเอง
    ๒. อตีตังสญาณ เหตุการณ์ในอดีต
    ๓. อนาคตังสญาณ เหตุการณ์ข้างหน้า
    ใช้ญาณ ๓ ญาณนี้เป็นเครื่องรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ กับอตีตังสญาณ เมื่อเดินไปเดินมา มีอาการสงบใจสบาย ๆ ก็ใช้ญาณเสียทีหนึ่ง การใช้ญาณความรู้นี่ บรรดาท่านผู้ฟังเคยใช้ และพิสูจน์มา มันมีอย่างนี้ ถ้าเราใช้ความรู้ของเรานี่ มันผิดบ้าง ถูกบ้าง บางทีมันก็ถูกแบบเฉียด ๆ บางทีมันก็ถูกตรงเลยทีเดียว ผิดก็ผิดไม่ไกลนัก บางครั้งถ้ามีอารมณ์หลวมตัวมาก นิวรณ์กวนใจ นั่นจะผิดถนัด แต่ว่าถ้ามีที่ถาม มีท่านบอก มีท่านผู้รู้บอก คำว่า ท่านผู้รู้ นี่ต้องหมายเอามาตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พรหม เทวดา จะเป็นท่านผู้ใดก็ตาม ที่ท่านผู้รู้บอก แล้วจะตรงตามความเป็นจริงเสมอ ฉะนั้นเรื่องนี้หลวงพ่อปานจึงแนะนำบอกว่า จงอย่าเก่งแต่ผู้เดียว จงอย่าทำตนเป็นคนเก่ง ถ้าเราทำตนเป็นคนเก่ง มันจะไม่เก่ง ถ้าเราอาศัยคนอื่น ให้ผู้อื่นเขาเก่งกว่าเรา เราจะมีความสุข มีความสุขด้วย จิตก็เป็นสุข มีความสบายใจ ความผิดเพี้ยนก็ไม่มี จะได้รับผลตรงตามความเป็นจริงทั้ง ๓ คน ก็นั่งทบทวนกันมาว่า เราเคยเกิดร่วมกันมากี่ชาติ ๆ มีไหม มีชาติไหนบ้างที่เคยเกิดแยกกันอยู่ ก็มีบางชาติเกิดกันคนละเมือง เป็นเจ้าเมืองคนละเมืองก็มี บางชาติเกิดเป็นลูกเศรษฐี บางชาติก็เกิดเป็นลูกคนจน แต่ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ถึงกับขอทาน ถ้าจะนับถอยหลังไปตั้งแต่ เอากันตั้งแต่สมัยเบื้องต้นอยุธยา สุพรรณต่ออยุธยานะ สุพรรณ บอกอยุธยานี้ก็เกิดเสียหลายครั้ง จะนับได้ก็นัก ๕-๖ ครั้งละมั้ง ถ้าจะบอกสมัยก็ไม่ดีนะ ไม่บอกสมัยกันดีกว่า เอากันแค่ต้นอยุธยา รองลงมาก็เกิดตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตาย ๆ ไปไหนก็ไม่พ้นอยุธยา เพราะจิตมันมีความผูกพันอยุธยาอยู่ และความเป็นอยู่ของชีวิต ความเป็นอยู่ชีวิตจริง ๆ ก็เป็นการสร้างบาป เกิดไปทุกชาติ สร้างบาปทุกชาติ และก็สร้างบุญทุกชาติ บาปกับบุญนี่จริง มันไม่เข้าดุลย์กัน บาปมันมากกว่าบุญแต่ว่าเดชะบุญอยู่อย่างหนึ่ง ก่อนที่จะตาย ทุกครั้งในชีวิต ตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็กยันแก่ สร้างทั้งบุญ และก็สร้างทั้งบาป เมื่อยามว่างก็ทำบุญ ยามเกิดสงครามก็ทำบาป ต้องรบ ก่อนที่จะรบกับข้าศึก ก่อนที่จะเข่นฆ่าข้าศึกก็ต้องฆ่าเพื่อนกันเสียก่อน ฆ่าผู้มีคุณ ผู้มีคุณ ก็คือ วัว ควาย ช้าง ม้า เป็ด ไก่ ช้างไม่ได้ฆ่า ม้าไม่ได้ฆ่า เป็ดไก่ฆ่า ปลาฆ่า เอามาเป็นอาหารของทหาร มันก็ใช้จำนวนไม่น้อย ต้องใช้จำนวนมาก แล้วก็ต้องไปรับกับข้าศึก ต้องเข่นฆ่าข้าศึก เมื่อรบกัน ก็ต้องตายด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายเรา และฝ่ายเขา เมื่อเสร็จสงครามแล้วก็มาสร้างบุญกันต่อไป
    ในขณะที่สร้างบุญก็สร้างบาป เพราะอะไร อะไรบ้างที่จะเป็นความสุขของปวงชนที่เป็นบริวารก็จะทำทุกอย่างให้เกิดความสุข แม้แต่บางครั้ง ต้องแนะนำให้เขาทำบาป แต่ขอประทานอภัย บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานั้นยังไม่ต้องเลี้ยงปลากัน การเลี้ยงปลาฆ่าสัตว์ มีความจำเป็นน้อย แต่เรื่องฆ่าสัตว์ มีสัตว์ป่า อย่างต้องการจะกินเก้งบ้าง ต้องการจะกินละมั่งบ้าง ต้องการกินหมูป่าบ้าง เรื่องการกิน ๆ การเลี้ยงคนนี่ บรรดาท่านทั้งหลาย มันก็ต้องฆ่าสัตว์ สัตว์มันตายให้ไม่ทัน อันนี้ก็บาป ทั้งบุญ สร้างวัดวาอาราม สถานที่อยู่ เป็นที่บูชาซึ่งกันและกัน สร้างสถานสถูปเป็นที่พักของบรรดาท่านผู้ทรงคุณธรรม สมัยนั้นยังคงไม่เรียกกันว่าสร้างวัด รวมความว่า ทานก็ให้ ศีลก็รักษา แต่เรื่องปาณาฯ นี่สงสัย รักษาปาณาฯจริง แต่สั่งเขาฆ่าสัตว์ ทีนี้โทษปาณาฯ มันจะพ้นไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ก็ต้องถือว่า ไม่พ้น โทษปาณาติบาตมันก็มาก ทีนี้ถ้าจะมาคุยกันเวลานี้ ที่ป่วยไข้ไม่สบายอยู่นี่ ก็โทษปาณาติบาต เป็นเหตุ การป่วยจริง ๆ นี่เป็นเรื่องของปาณาติบาต ทุกคน เมื่อต่างคนต่างนึกถึงเรื่องอะไรได้ก็ตาม ใช้วิธีถามถามท่านผู้รู้ ก็มีท่านผู้รู้ท่านเดียวที่มาบอก ท่านบอกว่า ถ้าผมบอกคนเดียวแล้ว ไม่จำเป็นต้องถามคนอื่น บอกตรง ๆ ดีไหม ก็พูดกันตรง ๆ มันจะตายหรือ ท่านผู้รู้จริง ๆ ก็คือ พระอินทร์ ท่านมาในรูปของคนธรรมดา ๆ นุ่งขาว ห่มขาว ใช้ผ้าสไบเฉียง มีสภาพเรียบร้อย ท่านก็ไม่ได้บอกว่า ท่านเป็นพระอินทร์ มารู้ว่าเป็นพระอินทร์จริง ๆ ต่อเมื่อหลวงพ่อปานบอก ท่านบอกว่า สมัยนั้นคุณเกิดเป็นอย่างนั้น ดูภาพตามนี้ ก็ดูเหมือนกับดูโทรทัศน์เอาย่างนี้ก็แล้วกัน เหมือนดูของจริง บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ การปกครองเป็นอย่างนี้ พ่อคุณชื่อนั้น แม่คุณชื่อนี้ คุณชื่อนั้น เมียชื่อนั้น ลูกชื่อนี้ ว่ากันเรื่อยไปแล้วก็ตาย ก่อนจะตายก็ทำบุญอยู่ อาศัยที่การทำบุญจิตใจเวลาจะตาย จิตมันก็นึกถึงบุญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ที่เกาะจริง ๆ เวลานั้น ตอนต้นโน้นยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า
    ถ้าจะพูดกันไปก็หมายความว่า ก่อนสมัยพุทธกาล ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ก็นึกถึงเทวดาที่เคารพ นึกถึงพรหมที่เคารพ เขาสอนเทวดา กับพรหม มีการให้ทาน มีการรักษาศีลตามสมควร อาศัยทานบ้าง รักษาศีลบ้าง มีความเคารพในพรหม เทวดาบ้าง เวลาตายแล้วบาปก็ตามไม่ทัน ไปสวรรค์ ไปพรหมทุกที และต่อมาไม่ช้าก็มาเกิดอีก มาเกิดเป็นอย่างนี้ เกิดเป็นอย่างนั้นท่านก็ชี้ให้ดู ท่านชี้ให้ดูภาพ เมื่อดูแล้ว ท่านอธิบายแล้ว พวกเราทุกคนก็จด บันทึกหัวข้อไว้เพราะต้องกลับมารายงานหลวงพ่อปาน
    รวมความว่า อาศัยการระลึกชาติ แต่ความจริงไม่ได้ระลึกจริง เป็นการถาม ถามท่าน ท่านตอบ พร้อมกับภาพ ภาพไม่ใช่ภาพเขียน ไม่ใช่ภาพในจอโทรทัศน์ ภาพเป็นเมืองเวลานั้นจริง ๆ เลยเป็นบ้านเมืองชัด เราเป็นอะไรบ้าง ก็เห็นตัวเราทำโน่นทำนี่ชี้นั่นชี้นี่ เห็นหมดทุกอย่าง เหมือนกับดูโทรทัศน์เหมือนกัน แต่เห็นเป็นของจริง เต็มทุ่งเต็มท่าไปหมด การยกทัพจับศึกไปตีกับข้าศึก ดีไม่ดี เขาไม่มาตีเรา เราก็ไปตีเขา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเราระแวง เกรงว่าเขาจะเป็นศัตรูของเรา ถ้าเราไม่ไปตีเขา และเขามีความเข้มแข็งขึ้น เขาก็อาจจะตีเรา เราอาจจะเสียท่า เราก็ไปตีเขาก่อน นี่มันก็เป็นเรื่องของบาป
    นั่งดูภาพแล้วก็สลดใจ ท่านก็มาแนะนำให้ทั้ง ๗ วัน เวลาที่ท่านมาจริง ๆ ก็เวลาเที่ยง หลังจากเที่ยงแล้วท่านมา ท่านบอกว่า ก่อนเที่ยงท่านไม่มีเวลาว่าง ขอโทษเถอะ ลืมบอกความจริงไป คือ ท่านผู้บอกนั้น ท่านไม่ได้บอกว่า ท่านเป็นเทวดา ท่านบอกว่า ท่านเป็นคนแถวนี้ ท่านอยู่ในป่า แต่ท่านมีความรู้เรื่องเมืองต่าง ๆ ความเป็นมาของพื้นที่ทั้งหมด ท่านรู้หมด ท่านบอกว่า ท่านเป็นผู้มีญาณวิเศษ ทีนี้ก่อนที่จะให้ท่านบอก ก็พิสูจน์บอกว่า เอ้า...ถ้าอย่างนั้น ให้ฉันมองเห็นวัดฉันเดี๋ยวนี้ เพียงเท่านั้นแหละ เห็นวัดชัด พระอะไร ทำอะไรที่ไหนบ้าง เห็นหมด ต้องการเห็นอะไร ๆ เห็นหมดทุกอย่าง นี่เป็นการพิสูจน์กัน แล้วท่านมาบอกให้ฟัง เราก็จด จดแล้วก็มีความสลดใจ
    ท่านก็แนะนำบอกว่า การที่อาจารย์ของคุณแนะนำให้ใช้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณก็ดี อตีตังสญาณก็ดี อนาคตังสญาณก็ดี ทั้งหมดนี้ รู้สึกว่าท่านมีความฉลาดมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ กับอตีตังสญาณ ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นการตัดกิเลสที่มีความสำคัญ ที่เรียกกันว่า สักกายทิฐิ ที่มีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นของเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ท่านก็ชี้ให้ดูว่า นี่ ชาตินี้ท่านเกิดเป็นอย่างนั้น ชาตินี้เป็นลูกคนจน เห็นไหม มีความลำบากขนาดนี้ จนแสนจน ไม่ค่อยจะมีกิน
    แต่ก็คนสมัยนั้น ก็ไม่ลำบากเหมือนคนสมัยนี้ เพราะของหาง่าย เข้าป่าเอาหน่อไม้ เอาเผือก เอามันมา ประเดี๋ยวก็มีกิน ผลไม้ก็มีเยอะแยะ ผักปลาก็เยอะแยะ หาง่าย เวลาหาปลาก็ไม่ต้องมีแห ไม่ต้องมีอวน ไม่ต้องมีเรือตังเก ใช้มือจับ เพราะคนน้อยกว่าปลา ใช้มือจับ ๆ ๆๆ ๒-๓ ครั้งก็พอกิน พอใช้ พอกินแล้วก็นำมากินกัน กินปลาก็กินบาป แต่ว่าทุกครั้งทุกสมัย จิตใจประกอบไปด้วยกุศล ทำบุญหนัก การทำบุญหนักตามฐานะ มีการเคร่งครัดในบุญ ในกุศล นิยมให้ทาน นิยมไหว้เทวดา นิยมไหว้พรหม เวลานั้นยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า
    ต่อมาภายหลัง มาสมัยที่รู้จักพระพุทธเจ้าแล้ว คำว่า รู้จักพระพุทธเจ้า ก็หมายความว่า ประเทศไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ตอนนี้ก็ยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ท่านก็แสดงภาพให้ดูว่าสร้างวัดที่ไหนบ้าง ทำอะไรบ้าง ที่ลพบุรีนี่ ให้ดูภาพเมืองลพบุรีที่เคยผ่านมา ลพบุรี กับอยุธยา เคยเป็นอะไรบ้าง เคยไปรบทัพจับศึกเคยเป็นแม่ทัพนำกำลังทหารไปรบข้าศึกบ้าง และอาจจะเป็นอะไรบ้างก็ตามเถอะ อย่าบอกเลย คือว่า เกิดมาหลายครั้ง แต่ละคราวก็เจอะสงครามทุกครั้ง ในเมื่อพระราชาสั่งรบ ก็ต้องไปรบ เต็มใจรบหรือไม่เต็มใจรบ ก็ต้องไปรบ ถ้าจะพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว ก็ถือว่า เต็มใจไปรบ เพราะอะไร เพราะว่ารบเพื่อความเป็นอิสรภาพก็ดี
    อีกประการหนึ่ง ถูกพวกหักหลัง อย่างเมืองที่บอกว่า เป็นเมืองขึ้น ยอมเป็นลูกน้อง แล้วมันก็กลับจะเป็นลูกพี่ แข็งเมืองขึ้นมาอย่างนี้ต้องไปตี มันก็มีความจำเป็น ดูภาพอย่างนั้นแล้ว ในที่สุดก็ตายเกิดแล้วก็ตายทุกที แต่ก็น่าขอบใจกำลังใจของตัวเองว่า สะสมบาปไว้มหาศาล ยังเป็นหนี้บานเจ้า เวลานี้ บาป ดูบาปแล้วกองพะเนินเทินทึก แต่ว่าเวลาจะตาย เกาะบุญจุดใดจุดหนึ่ง ที่สั่งสมบุญไว้ก็มาก เกาะบุญขึ้นสวรรค์ไปทุกที เวลานี้บาปถึงได้ตามมาเล่นงาน มันป่วยไม่หยุด นี่กำลังที่พูดนี่ วันนี้ตั้งใจว่าจะนอนให้มันหลับ มันไม่หลับ มองดูเวลา เข็มนาฬิกาอยู่ที่เลข ๒ ใกล้เลข ๓ นั่นก็หมายความว่า ตี ๒ ใกล้ ตี ๓ มันไม่หลับ ก็ลุกขึ้นมาพูด พูดอย่างคนง่วงนอน
    ก็รวมความว่า อยู่ที่นั่น ๗ วัน เดินไปเดินมา ป่าในสถานที่นั้นก็เป็นดงรัง เป็นต้นรังสูงสะพรั่ง ป่ารังนี่สวย ไม่มีอะไรเกะกะข้างล่าง เหมือนกับเสาตั้งขึ้นไป มีใบอยู่บนยอด มีความสงบสุข บางครั้งก็เดินไปพบฝูงช้าง ช้างก็ใจดี ไปพบฝูงช้างเข้า ช้างหัวหน้าเป็นช้างสีดอ คุกเข่าลงข้างหน้า ยกงวงขึ้น แสดงความคารวะ ทักทายเหมือนกับไหว้ ยกมือไหว้ ช้างลูกน้องต่าง ๆ เขาก็ทำเหมือนกัน ถ้าบางคราวเดินไปไกลไป หิวน้ำ ก็บอกว่า พ่อปู่ ที่ไหนมีหนองน้ำบ้างไหม น้ำใส ๆ กำลังหิวน้ำ น้ำในกระติกหมด ช้างที่เป็นหัวหน้าหันมา คุกเข่าเทา แล้วก็ลุกขึ้น เดินนำหน้าไป
    พอถึงที่บ่อน้ำ ก็ใช้งวง ชี้ให้ดู เราไปที่ตรงนั้นปรากฏว่า พบหนองน้ำ ก็ได้กินน้ำตามความต้องการ นี่ช้างเป็นมิตรที่ดี ทั้งเสือ ทั้งช้าง ไม่เคยมีสัตว์ประเภทไหนคิดจะทำอันตราย เสือก็เจอะ เขาก็เดินเฉย ๆ เดินเหมือนกับเราเดินหลีกแมวบ้าน เสือกับแมวรูปร่างคล้ายคลึงกัน แต่เสือโตกว่า เราเดินไป เสือเดินมา เสือก็เดินเฉย เราก็เดินเฉย
    ถ้าถามถึงความรู้สึกเวลานั้น ก็มีความรู้สึกอย่างเดียวว่า เวลานี้เราพร้อมแล้ว พร้อมที่จะไปนิพพาน จะไปได้ หรือไม่ได้ จิตใจเราพร้อมจะไปนิพพานอย่างเดียว เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายจากปุพเพนิวาสานุสสติสญาณก็ดี อตีตังสญาณก็ตาม มันมีความเบื่อในความเกิดเสียจริง ๆ มันเกิด แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย ในวาระถึงความเป็นใหญ่เป็นโต แหม...ท่าทางคึกคักห้าวหาญ ข้างนอกท่าทางแกร่ง แต่เข้ามาในบ้านบางที จ๋อง หมดเรี่ยวหมดแรง นอนเขลง ใจก็เหนื่อย กายก็เหนื่อย และความป่วยไข้ไม่สบายมันก็ไม่เลือก คนฐานะเช่นใดมันก็เอา และความแก่ไม่เลือกคน ความตายก็ไม่เลือกคน เป็นอันว่า การเห็นสัตว์ คิดว่าสัตว์จะทำร้าย จึงไม่มีความรู้สึกอะไร ความรู้สึกเวลานั้นคิดว่า ถ้าตายเมื่อไร ขอไปนิพพานจุดเดียว ทั้ง ๆ ที่กำลังปรารถนาพุทธภูมิ ไอ้เรื่องการปรารถนาพุทธภูมินั่นเป็นอารมณ์ แต่อารมณ์ที่แท้จริงของเรา พุทธภูมิก็ต้องการนิพพาน คือ คนต้องการเป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องการไปนิพพาน แต่ว่าต้องการจะสอนคนอื่นก่อน ทีนี้เรา เอาละ ที่หลวงพ่อปานชวนให้ปรารถนาพุทธภูมิ เราก็เอาด้วย เอาอย่างคนตามท่าน มันก็ไม่แน่นอนนัก จิตใจก็หวังพุทธภูมิ แต่อีกจิตใจหนึ่งว่า ถ้าไปนิพพานได้เมื่อไร ก็ไปเมื่อนั้น เพราะครูที่สอนมา ท่านก็สอน ท่านแนะนำให้หวังนิพพานเป็นที่ไป การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่รู้จักนิพพาน ก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็รวมความว่า กำลังใจเป็นปกติ ใจเป็นปกติจริง ๆ เห็นสัตว์ทุกประเภท จิตมันเฉยหมด ก็เหมือนกับเห็นมิตรที่ดี ถ้าถามว่าใช้คาถาอะไร ก็ตอบว่า คาถาที่ใช้จริง ๆ ก็คืออารมณ์ใจทรงพรหมวิหาร ๔ นี่เว้นไม่ได้ พรหมวิหาร ๔ นี่ต้องทรงทุกลมหายในเข้าออก ขณะใดที่ตื่นอยู่จิตจะทรงพรหมวิหาร ๔ ตลอดเวลา ถ้าถามว่า พรหมวิหาร ๔ กันอะไรได้ไหม ก็ต้องขอตอบว่า พรหมวิหาร ๔ กันอารมณ์กลุ้ม อารมณ์จะไม่กลุ้มเพราะความโกรธ อารมณ์จะไม่กลุ้มเพราะความอิจฉาริษยา อารมณ์จะไม่กลุ้มเพราะเหตุปกติธรรมดา คือ ร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย ถืออุเบกขาเข้าไว้ อารมณ์จะไม่กลุ้มในเมื่อเจอะสัตว์ร้าย ถ้าคิดว่า สัตว์มันจะกินก็เฉย ตามใจมันให้ร่างกายเป็นอาหารมัน แต่บังเอิญสัตว์มันก็ไม่กิน เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นอันว่าถึงกำหนด ๗ วัน ก็นึกว่าจะกลับ พอดีท่านเจ้าของถ้ำจะไปรับ หรือไม่ไปรับก็ตามแต่ว่าท่านผู้ทรงคุณ นุ่งขาวห่มขาว ท่านถามว่า จะกลับใช่ไหม ก็กราบเรียนว่า ถึงเวลาวันที่ ๘ แล้ว ต้องกลับ ฉันเช้าแล้วกลับ ท่านบอก ไม่เป็นไร นิมนต์ฉันเช้าเถอะ ผมจะส่งท่านเวลาที่ท่านฉันข้าว เมื่อขณะพอฉันข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ปรากฏว่า มานั่งอยู่ที่ถ้ำชอนเดื่อ กำลังฉันข้าวก็คิดว่า อยู่ที่ใกล้ ๆ บึงบอระเพ็ด แต่ว่าพอฉันข้าวเสร็จ ปรากฏว่า นั่งอยู่ที่ปากถ้ำชอนเดื่อหลวงพ่อปานเห็นท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่า เสียท่าแล้วหรือ บอก ใช่ครับ ท่านถามว่า คนนุ่งขาวห่มขาวที่ไปสอนคุณ คุณทราบไหมว่าใคร ผมไม่รู้ครับ ท่านถามว่า สังเกตลูกตาหรือเปล่า บอกสังเกตครับ แต่ไม่มีเวลาสนใจในท่าน ต้องการอย่างเดียวคือ คำที่ท่านแนะนำ แล้วก็บันทึก ก่อนที่ท่านจะมา ผมก็บันทึกสิ่งที่แล้วมาแล้ว เวลาท่านมาพูดให้ฟังท่านแนะนำทั้งศีล ทั้งธรรม และเรื่องราวในอดีต ก็รับฟังท่าน หลวงพ่อปานท่านบอก นั่นคือ พระอินทร์ นะ พระอินทร์คือใคร พวกคุณก็ทราบแล้วใช่ไหม คุณก็บอกว่า ทราบ เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เรื่องของถ้ำชอนเดื่อ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะ แต่เรื่องของเราจริง ๆ จะหมดกันละ เฉพาะชอนเดื่อ จะเอาเรื่องของเจ้าของถ้ำชอนเดื่อมาเล่าต่อให้มันจบไปเลย จะได้ไม่มายุ่งภายหลัง เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลานี้ก็หมดเวลาแล้ว ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี
    ที่มา หนังสือหลวงพ่อธุดงค์
     

แชร์หน้านี้

Loading...