หลวงพ่อเล่าเรื่องพระนางมลิกาเทวี

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 16 สิงหาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    [​IMG]

    <!-- #EndEditable --><!-- #BeginEditable "content" -->ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เมื่อวานนี้เสียงมันแย่เสมหะติดคอ วันนี้ก็มาคุยกันถึงเรื่องราวของพระนางมัลิกาเทวีต่อไป พระนางมัลลิกาเทวีนี่ได้ชื่อว่าเป็นจอมแห่งการให้ทาน ท่านผู้รู้ บอกว่าในสมัยทุกชาติที่ได้เกิดมา ท่านนิยมในการให้ทานมาก มีบางครั้งในวาระหนึ่งที่ได้บอกว่าสมัยนั้นจนแสนจน สามีฟันดินทำไร่ ท่านเองก็ห่มผ้าสไบ ผ้าเก่า ๆ หาบกระเช้าข้าวไปส่งสามี อุ้มลูกไปด้วย ไปถึงเมื่อส่งกระเช้าให้ เอาลูกวางก็ฟันดินต่อไป ถึงแม้ว่าจนแสนจน ขนาดนั้น ถ้ามีคนที่มีความยากจนเข็ญใจมีความหิวโหยมา ก็อุตส่าห์แบ่งทรัพย์สินและอาหารเท่าที่มีอยู่เล็กน้อยให้แก่เขา เป็นการบรรเทาความทุกข์ นี่กำลังใจของคนที่มีความดีหนักใน อสทิสทาน ก็เป็นอย่างนี้ ก็รวมความว่าเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศล (ขอต่อเมื่อวานนี้นะ) ถวายอสทิสทาน ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและบรรดาพระสงฆ์ทั้งปวง เมื่อถวายเสร็จชาวบ้านก็เจ๊งซี จะเอาที่ไหนมาล่ะ จะเอาเจ้าหญิงที่ไหนมานั่งพัดให้แก่พระ มาจัดการให้กับพระ นี่แพ้หนึ่ง สองจะเอาช้างที่ไหนมาเป็นร้อยเป็นพันเชือก สามจะกล้าสละทองทำเรือทองคำ อันนี้มันเป็นไปไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องถือว่ายอมแพ้พระราชา แต่ก็ยอมแพ้แต่วัตถุ แต่ว่ากำลังใจไม่ยอมแพ้ ก็ยังถวายทานกันเป็นปกติ อันนี้มันมีอยู่ตอนนี้ที่ไม่จบ ตอนหนึ่งเมื่อวานนี้ที่มันจบไม่ได้ ในขณะที่พระราชาให้ทานมันมีคนอยู่คนมีอารมณ์ชั่ว คือคนดีมีที่ไหนคนชั่วก็มีที่นั่น โบราณเขาบอกว่าน้ำถึงไหนปลาถึงนั่น ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านถ้าจะคบหาสมาคมกับคน เราถือว่าเขาเป็นที่รักสำหรับเราแต่ส่วนหนึ่งของใจคิดว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า คนที่มีกิเลสอาจจะประกาศตนเป็นศัตรูกับเราก็ได้ ความจริงเรื่องนี้ผมโดนมาหนัก ให้กินแล้วก็กลับไม่ใช่ขี้บนหลังคา มันจะฆ่าผม มีเยอะแยะ จะวิ่งหนีหรือว่าหนีไม่ไหว ก็ไม่ทราบ ก็ยังไม่แน่ในตอนนั้น อันนี้จะลองกันไม่ได้ เพราะผมไม่ได้ประกาศตนว่าผมเป็นพระอรหันต์ ถ้าไปทำกันหนัก ๆ เข้าก็ไม่แน่ สุนัขจนตรอกอาจจะหนักกว่าสุนัขที่วิ่งได้ก็ได้
    ก็มีเรื่องเล่าอยู่ว่าอำมาตย์ของพระราชาคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล มีอยู่ 2 คน อำมาตย์ 2 คน นี่เป็นอำมาตย์เลวหนึ่งคน ดีหนึ่งคน คนเลวมีกำลังใจไม่เท่ากับชาวบ้านหรือไม่เท่ากับสัตว์เดียรัจฉานตัวเล็ก ๆ ที่มีจิตเมตตาคือหนึ่ง กาฬอำมาตย์ และก็ ชุณหอำมาตย์ หนึ่งอำมาตย์ 2 คน นี่ กาฬอำมาตย์คิดว่า การที่พระราชาให้ทานหนักอย่างนี้ความเสื่อมและความหมดสิ้นไปแห่งทรัพย์ 14 โกฎิ และความสิ้นไปก็หมดไปในวันเดียวเท่านั้น ผลาญทรัพย์สินของราษฎรของประชาชน ทรัพย์สินต่าง ๆ มันอาจจะเป็นภาษีอากรของประชาชนก็ได้ ผลาญซะหมด พระราชาไม่เป็นเรื่อง บรรดาพระเหล่านี้กินแล้วบริโภคแล้วก็จะกลับไปนอนหลับ ไม่ได้เคยก่อประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติ ไม่น่าจะเลี้ยง และคิดต่อไปว่า โอหนอ พระราชาหรือราชตระกูลนี่ฉิบหายแล้ว หมดทุนหมดรอนหมดกันแค่นี้ บรรลัย ใช้เงินใช้ทองหมด ตำหนิพระราชา ตำหนิทานของพระราชานี่ กาฬอำมาตย์นะ คนชั่วคนที่หนึ่งสำหรับคนที่สองคือ ชุณหอำมาตย์ เขาก็คิดว่าแม้ทานที่พระราชาได้ถวายแล้วก็ใคร ๆ ที่ไม่ดำรงในความเป็นพระราชา ไม่อาจเพื่อถวายทานเห็นปานนี้ได้ ที่ว่าพระราชาไม่ให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง ย่อมไม่มี เราอนุโมทนาทานนี้ หมายความว่าเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันเสร็จ พระราชาก็ทรงกราบ เพื่อต้องการจะฟังการโมทนา โมทนาของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ ว่า ยถาสัพพี ท่านเทศน์ แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงดำริว่าพระราชาถวายมหาทาน ก็เหมือนกับให้บ่อน้ำใหญ่แก่บรรดาประชาชน ใครจะอาบจะกินจะเล่นก็ได้ มหาชนจะได้อาบเพื่อจะทำจิตให้เลื่อมใส ที่ไม่ยอมเลื่อมใสน่ะมีหรือไม่มี ก็ทรงทราบ วาระน้ำจิตของอำมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้น และก็ทรงทราบว่าถ้าเราจะทำโมทนาให้สมควรแก่ทานของพระราชา กาฬอำมาตย์ หัวจะต้องแตกเจ็ดเสี่ยงเพราะกำลังบุญใหญ่ของพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกาเทวี สำหรับกาฬอำมาตย์หัวจะต้องแตกเจ็ดเสี่ยง สำหรับชุณหอำมาตย์จักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
    กาฬอำมาตย์นี่คนเลวมากจิตทรามมากบาปหนัก ถ้าทรงเทศน์จบหัวจะแตกเจ็ดเสี่ยง แต่สำหรับชุณหอำมาตย์นะ ถ้าโมทนาเสร็จเธอจะได้บรรลุมรรคผลคือ เป็นพระโสดาบัน พระโสดาปัตติผล สำหรับพระพุทธเจ้าเองทรงทราบ อาศัยการอนุเคราห์สงเคราะห์กับ กาฬอำมาตย์ หมายความว่าเธอไม่ควรจะต้องตายเสียเวลานี้ สมเด็จพระชินศรีจึงได้ตรัสคาถา 4 บาทนั้น จึงได้กล่าวคาถาแค่ 4 บาท 4 บาทนี่มัน 4 วรรค วรรคหนึ่ง 8 คำ อย่างกับศัพท์ว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ นี่เป็นหนึ่งบาท โก หิ นาโถ ปโร สิยา อันนี่หนึ่งบาท อัตตนา หิ สุทันเตนะ อันนี่หนึ่งบาท นาถึง ลภติ ทุลลภัง นี่ หนึ่งบาท 4 วรรคนี่เขาเรียก 4 บาท พระพุทธเจ้าจึงโมทนาย่อ ๆ ด้วยคาถา 4 บาท แต่ท่านจะว่ายังไงบาลี ไม่ได้บอกพระราชาทรงถวายถึงขนาดนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านก็คิดว่าเราให้ทานขนาดที่ชาวบ้านก็ทำไม่ได้อย่างนี้ สมเด็จพระชินศรีกลับให้โมทนาย่อ ๆ นิดเดียว ไม่เป็นเรื่อง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงลากลับไปสู่พระเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตามพระพุทธเจ้าไปด้วย ที่ตามไปไม่ใช่อะไร จะไปทวงโมทนาว่าให้ตั้งเยอะทำไมชมกันน้อยนัก ทำไมโมทนากันน้อยนัก มันไม่สมควรกับทานที่เราให้ เข้าไปถึงแล้วนะ หลังจากนั้นพระราชาก็เสด็จตามไปถึงเชตวันวิหาร ตอนนั้นบรรดาพระทั้งหลายถามองคุลิมาลว่า ผู้มีอายุท่านเห็นช้างดุร้ายที่ทรงเศวตฉัตร ท่านไม่กลัวช้างหรือครับ องคุลิมาลท่านก็ตอบว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไม่กลัว บรรดาพระทั้งหลายเหล่านั้น เข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านองคุลิมาล พยากรณ์ความเป็นอรหัตผลของตน คำว่าไม่กลัวช้าง ไม่กลัวตายนี่ คนที่ไม่กลัวจะมีเฉพาะพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระเจ้าจักรพรรดิ์ และก็ช้างตัวสู่สงคราม นี่การที่องคุลิมาลบอกไม่กลัว แสดงว่าตัวเองเป็นอรหันต์ พระก็ไม่ใช่เล่นไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้เช่นกับบุตรของเราเสมอ ด้วยโคตัวประเสริฐ ในระหว่างแห่งโคตัวผู้ คือพระขีณาสพทั้งหลาย พระขีณาสพนี่หมายถึงพระอรหันต์เมื่อกิเลสสิ้นแล้ว ย่อมไม่กลัวดังนี้แล้ว จึงตรัสเป็นคาถาใน พราหมณวรรค ว่า เรากล่าวว่า เรากล่าวบุคคลผู้องอาจ ผู้ประเสริญ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้ชนะโดยวิเศษ ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ล้างแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว นั่นว่าเป็นพราหมณ์ นี่เป็นพุทธภาษิตนะ (เสียงกังกัง ๆ เอาเข้าแล้ว เพราะอ่านหนังสือ เรื่องนี้ปล่อยหนังสือไม่ได้กลัวจะเลอะเทอะ)
    ท่านกล่าวต่อไปว่า (สำนวนอาจจะไม่ดีไปบ้าง ขออภัยนะ) ท่านกล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงเสียพระทัยคิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่อนุโมทนาให้สมควรแก่เรา ตรัสเพียงคาถาเล็กน้อยเท่านั้น เสด็จลุกจากอาสนะไป เราจักเป็นอันไม่ทำทานให้สมควรแก่พระศาสดา หมายความว่าท่านตรัสเล็กน้อย แล้วท่านก็ไป แสดงว่าทานให้ตั้งเบ้อเร่อขนาดนี้ไม่สมควรแก่ศักดิ์ศรีของเราหรืออย่างไร อันนี้อารมณ์ใจของคนไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าหมดกิเลส พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระโพธิสัตว์ยังมีกิเลสเต็มเปา ก็คิดน้อยใจ ไม่ได้ ๆ ต้องไปทวงทาน เรียกว่าทำทานอันไม่สมควร หมายความว่าทานนี่ท่านเห็นไม่สมควรหรือยังไง เราจักเป็นอันไม่ถวาย กัปปิยภัณฑ์ ถวายแต่ อกัปปิยภัณฑ์ ถ่ายเดียวเสียแล้ว หมายความว่าทานที่ให้มันจะมีของไม่ควรมั่งหรือยังไง ของที่สมควรเราไม่ได้ให้หรือยังไง ท่านจึงไม่โมทนาให้ดี เป็นอันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นผู้อันพระผู้มีภาคเจ้าขุ่นเคืองเสียแล้วหรืออย่างไรกันแน่ (หนังสือก็ย้อนไปย้อนมา ผมก็รำคาญเหมือนกัน ขอเลยไปเลย หนังสือนี่ย้อนไปย้อนมายุ่งจริง ๆ ) พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปสู่วิหารถวาย บังคมสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ถวายนั้น ๆ มันไม่ควรหรือยังไง จึงได้ให้พรนิดเพียว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นี่หมายความว่าอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ตอบว่าพระองค์น่ะให้พรหน่อยเดียว มันไม่สมควรแก่ทานที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายทานอย่างนี้ ใคร ๆ ก็ทำไม่ได้ น่าจะให้พรมาก ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่าพระมหาบพิตร พระองค์ถวายทานสมควรแล้วและก็ยิ่งใหญ่ที่สุด ทานประเภทนี้เขาเรียกว่า อสทิสทาน ใคร ๆ ที่อาจถวายแก่พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง หมายความว่าคนที่สามารถจะถวายพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมีครั้งเดียว ไม่มีการซ้ำสอง ไม่มีใครถวายได้อีก และก็เป็นธรรมดาที่ทานประเภทนี้ยากที่บุคคลจะถวาย เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงกราบทูลว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงทำโมทนาให้สมควรแก่ทานของหม่อมฉันพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า เพราะบริษัทไม่บริสุทธิ์พระมหาบพิตร นี่บรรดาพระเณรฟังไว้ด้วยนะ ถ้าคนที่เขาไม่เต็มใจเขาไม่เห็นด้วย อย่าไปยุ่งกับเขา คนที่ไม่ชอบทำบุญอย่าไปชวนทำบุญเฉย ๆ ให้เขาทำบุญด้วยศรัทธา ในเมื่อเขาไม่มีศรัทธา ไปดึงเขาเกินกำลัง ใจจะเศร้าหมอง ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงถามต่อไปว่า ทำไมบริษัทคนทั้งหลายเหล่านั้น เขามีโทษอะไรหรือพระเจ้าข้า ลำดับนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบอกวาระจิตคือความรู้สึกนึกคิดของอำมาตย์ทั้งสอง และตรัสบอกความที่อนุโมทนา อันพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์ ถ้าขืนโมทนาเต็มอัตรา กาฬอำมาตย์จะหัวแตกเจ็ดเสี่ยง แต่ชุณหอำมาตย์ จะเป็นพระโสดาบัน ก็เป็นว่าความรู้สึกของคนสองคนนั้นมีเจตนาไม่เสมอกัน กาฬอำมาตย์มีความรู้สึกเป็นศัตรูกับพระราชา ศัตรูกับทาน แต่ชุณหอำมาตย์ ถึงแม้ว่าทานนี่จะสลายตัวมากก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของพระราชาที่ทำได้ยาก เราอนุโมทนาทานนี้เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแบบนั้น พระราชาจึงได้เรียก กาฬอำมาตย์ เข้ามาถามว่าได้ยินข่าวว่าขณะที่ฉันทำทานเธอคิดอย่างนี้ใช่ไหม เขาก็กราบทูลว่าจริง จึงได้ตรัสว่า เมื่อเราพร้อมกับบุตรภรรยาของเรา ไม่ได้ถือเราทรัพย์สมบัติของใครของเธอมาให้ทาน ฉันให้ของของฉันที่มีอยู่ เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ได้เอาเงินภาษีอากรมาให้ เป็นทรัพย์พ่อทรัพย์แม่ให้ เป็นทรัพย์ที่ฉันทำได้ก่อนเป็นพระราชาและอาชีพใด ๆ ที่มีมา ฉันจับเฉพาะทรัพย์เหล่านั้น มันไม่ได้เบียดเบียนอะไรกับเธอเลย และก็สิ่งใดที่ฉันให้แก่เธอแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันว่าฉันให้เลยไม่คืนมา แต่ว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปนะ เมื่อกำลังใจเราไม่เสมอกัน ฉันชอบให้ทาน เธอชอบด่าทาน เธอจงออกไปจากแว่นแคว้นของฉัน ทรัพย์สมบัติที่ฉันให้เอาไปให้หมด ฉันไม่ริบ แต่เธออยู่ที่นี่ไม่ได้ จึงได้ทรงเนรเทศ กาฬอำมาตย์ ออกจากแว่นแคว้นและก็รับสั่งเรียก ชุณหอำมาตย์ มา แล้วก็ถามว่า ได้ยินว่าเวลาที่ฉันให้ทานเธอคิดอย่างนี้ ใช่ไหม เขาก็บอกใช่พระเจ้าข้า ถ้าสงสัยไว้คราวหน้าก่อนนะ ว่าคิดยังไง จึงตรัสว่าดีละ เราเลื่อมใสชอบใจ ท่านจงรับราชสมบัติของเรา ฉันให้เธอเป็นพระราชาแทนฉัน 7 วัน 7 วันนี่ฉันจะมีหน้าที่เป็นชาวบ้านราษฎรเต็มขั้น อำนาจแห่งความเป็นพระราชา การจับจ่ายทรัพย์สินเป็นหน้าที่ของเธอ มีอำนาจ 7 วัน แล้วเธอจงให้ทานซึ่ง 7 วัน โดยทำนองที่เราให้แล้วนั่นแหละ ทรงมอบราชสมบัติแก่เขาสิ้น 7 วันแล้วจึงได้กราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรการกระทำของคนพาล เขาได้ให้ความลบหลู่ในทานที่หม่อมฉันถวายแล้วอย่างนี้ อันนี้ไม่มีข้อคิดอะไรกันมาก เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า เป็นอย่างนั้นพระมหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าคนพาลไม่เคยยินดีในทานหรือความดีของผู้อื่น เป็นผู้มีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หมายความว่าอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ ตายแล้วก็ทุกข์ ส่วนพวกนักปราชญ์ อนุโมทนาทานแม้ของคนอื่น คือเห็นว่าเขาทำทานก็ยินดีในการทำนั้น จึงเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
    นี่เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยืนยันและคนน่ะคนดี ถึงแม้ว่าไม่มีสตางค์หรือมีทรัพย์จะให้ทาน เห็นคนอื่นให้ทานโมทนาคือยินดีว่า แหมดีจริง ๆ ขอยินดีกับเขาด้วย แค่นี้นึกในใจ ตายแล้วไปสวรรค์แน่ เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ยังตรัสเป็นคาถาเป็นพุทธภาษิตว่า พวกคนตระหนี่จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย พวกคนพาลย่อมไม่สรรเสริญทาน คือความดีของบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นนั่นเอง นักปราชญ์นั้นจึงเป็นผู้มีสุขโลกหน้า นี่ก็สรุปสั้น คาถานี่ต้องคิดตามนะ
    เป็นอันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ย่อ ๆ จบ และเวลาจบ พระธรรมเทศนาก็ปรากฎว่า ชุณหอำมาตย์ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล การเทศน์ย่อ ๆ คราวนั้นขององค์สมเด็จพระทศพล ได้มีประโยชน์แก่บรรดาพุทธบริษัทที่ประชุมกันแล้ว ชุณหอำมาตย์ครั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้ถวายทานโดยทำนองที่พระราชาถวายแล้วสิ้น 7 วันเหมือนกันแล นี่รวมความว่า เรื่องราวของพระนางก็ดี พระราชาก็ดี ต้องว่ากัน 2 หน้าเทป เพราะอะไร เพราะตีลัดก็ไม่ได้ ถ้าจะตีลัดก็จะเสียเรื่องอย่าลืมว่า พระนางมัลลิกาเทวี ท่านมีจริยาดีมาก แล้วก็ประการที่สอง พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ไปปรารถนาเป็นสมเด็จพระผู้มีพระภาคคือปรารถนาพุทธภูมิ สองคนนี่เป็นคู่บารมีกัน นานมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ท่านปรารถนาพุทธภูมิใหม่ ๆ บรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย ความจริงผมก็ย่ำแย่เหมือนกัน เมื่อบันทึกใหม่ วันวานนี้ไอ้เสมหะมันเข้าไปติดคอ นี่ความทุกข์ของร่างกายเป็นอย่างนี้ รวมความว่าทั้งสองท่านก็ดี ลูก นับเป็นร้อยก็ดี อำมาตย์ ข้าราชบริพารก็ดี คำว่าดีนี่ ผมไม่ได้หมายถึงหนึ่งนะ หมายความว่าเป็นคนดีหมด ปรากฏว่าทุกคนเคารพในองค์พระบรมสุคตคือพระพุทธเจ้า ก็เชื่อว่าทานบารมีผลยิ่งใหญ่ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าคนให้ทาน ทานนี่เป็นปัจจัยของนิพพานได้แน่นอน เพราะว่าคนที่จะให้ทานบรรดาท่านพุทธบริษัท อารมณ์แรกหนึ่งต้องมีความรัก สองต้องมีความสงสาร ถ้าคนที่เรารู้จักกันถ้าเราไม่รัก ถ้าเราเกลียด เราก็ไม่ให้ เราให้เพราะความรัก แต่คนที่ไม่รู้จักกัน เราให้เพราะความสงสาร และทานนี่เป็นปัจจัยตัดโลภะความโลภ โลภเป็นอันดับแรก อาศัยเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร คุณธรรมทั้งสองประการนี่เข้าไปตัดโทสะในตัว คนขี้เหนียวโมโหมาก คนมีจิตเมตตาปรานีคือให้ทานเก่งโมโหน้อย เพราะว่ามีความรักความเมตตา ความรักความเมตตาตัวนั้นเข้าไปตัดโทสะความโกรธ ทำอารมณ์ให้เยือกเย็น และก็ทำศีลให้บริสุทธิ์ ศีลนี่จะบริสุทธิ์ได้เพราะเมตตากับกรุณาทั้งสองประการ ในเมื่อศีลบริสุทธิ์ อารมณ์จิตก็เยือกเย็น เมื่อจิตเยือกเย็นเกิดขึ้นเพราะเมตตากรุณา สมาธิก็เกิด คืออารมณ์ใจที่ฟุ้งซ่านน้อยก็ปรากฎขึ้น มีการชนะนิวรณ์เมื่ออารมณ์ชนะนิวรณ์ อารมณ์จิตก็เป็นฌาน ฌานสมาบัติสมาธิเกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดคือเห็นทุกข์ เห็นอริยสัจ บุคคลเห็นอริยสัจบุคคลนั้นเชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นความเป็นพระอริยะ เห็นอริยสัจได้ก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกข์ได้ก็เชื่อว่าเห็นอริยสัจ เห็นอริยสัจทีนี้ตัวตัดเข้ามาถึง คือไม่ติดในร่างกายนี้ต่อไป ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ เป็นสมุฎฐานของความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ อย่างนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้ากำลังใจตัดละเอียดบุคคลนั้นถึงนิพพานแน่จะพูดมากก็ไม่ได้สัญญาณบอกกริ๊งขึ้นมา มันก็ต้องเลิก ก็ต้องลาไปก่อน ก็ต้องขออภัย เรื่องราวอันนี้ปรากฎว่าจะเล่าคุยคล่อกแคล่กไปหน่อย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเอาหนังสือมาอ่าน เพราะเรื่องนี้ไม่ได้รู้มาก่อน เอาละบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระชินวร เดี๋ยวเทปจะหมด ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล นอนฝันดีจิตเป็นสุข จงมีแก่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ผู้รังฟังทุกท่าน สวัสดี
    ที่มา http://thaisquare.com/Dhamma/book/prasutr/content.html#
     

แชร์หน้านี้

Loading...