หลวงพ่อสอนข้อวัตรที่อุบาสกอุบาสิกาพึงปฏิบัติเมื่อร่วมธุดงค์

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 19 กันยายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    <CENTER>ข้อวัตรที่ควรศึกษา</CENTER>
    สำหรับอุบาสกอุบาสิกา
    ตามที่ได้เกริ่นไว้ในตอนแรกแล้วว่า จะแนะนำเรื่อง "ข้อวัตรที่ควรศึกษา" ในตอนท้าย เพื่อนำมาประยุกต์กับอุบาสกอุบาสิกา ขณะที่ร่วมปฏิบัติธุดงค์ เป็นการฝึกจริยามารยาทให้เรียบร้อยตามพุทโธวาท เพื่อให้สมภาคภูมิกับที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นหนึ่งในพุทธบริษัททั้ง ๔ ของพระองค์
    สำหรับ "เสขิยวัตร" หรือ "ข้อวัตรที่ควรศึกษา"นั้น พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระภิกษุสามเณรควรศึกษาไว้เป็นธรรมเนียมเพื่อควรปฏิบัติต่อไป จัดเป็น ๔ หมวด ดังนี้ [​IMG]
    ๑. สารูป ว่าด้วยธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน
    ๒. โภชนปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมรับบิณฑบาตและฉันอาหาร
    ๓. ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมไม่ให้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้แสดงอาการไม่เคารพ
    ๔. ปกิณกะ ว่าด้วยธรรมเนียมถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
    ในที่นี้จะนำมาแนะนำเพียง ๒ หมวดแรกเท่านั้น ที่พอจะอนุโลมนำมาปฏิบัติได้ในขณะที่ บวชพราหมณ์กัน นั่นก็คือ ..

    หมวดสารูป
    ๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งห่มให้เรียบร้อย สำหรับผู้ที่บวชพราหมณ์ ชายและหญิง ก็ปฏิบัติในข้อนี้อยู่แล้ว ด้วยการแต่งการแบบสุภาพ คือ ชุดขาว โดยเฉพาะ"ชีพราหมณ์" ถ้าจะให้เรียบร้อยจริง ๆ ควรจะนุ่งเป็นผ้าถุงก็จะดี ถือเป็นการอนุรักษ์ธรรมเนียมของหญิงไทย "เวลาไปวัด"ด้วย
    ๒. เราจักปกปิดกายด้วยดี , จักไม่เวิกผ้า ขณะที่ไปในบ้านหรือนั่งในบ้าน ข้อนี้สำหรับฆราวาสควรระมัดระวังเสื้อผ้าของตัวเองให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
    ๓. เราจักระวังมือเท้าด้วยดี , จักมีตาทอดลง , จักไม่หัวเราะ , จักไม่พูดเสียงดัง , จักไม่โคลงกาย , จักไม่ไกลแขน เป็นต้น
    ทั้งหมดนี้ ท่านหมายเอาอาการรักษา "กาย วาจา" ให้เรียบร้อย คือ ไม่คะนองมือคะนองเท้า ไม่มองเลิ่กลั่ก ไม่หัวเราะสรวลเฮฮา หรือกระเซ้าเย้าแหย่กัน จะยิ้มหรือหัวเราะก็แต่เพียงเบา ๆ
    เวลาจะพูดกันก็พูดเรื่องเฉพาะกิจจริง ๆ อย่าใช้เสียงดังจนเกินไป เมื่อหมดธุระแล้ว ก็พยายามปลีกตัวไปอยู่แต่ผู้เดียว ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ จะเป็นเพื่อนหรือญาติมิตรที่มาด้วยกัน (ชั่วคราว) เวลาเดินก็เดินโดยอาการปกติ ไม่โคลงกาย และแกว่งแขนจนเกินพอดี
    ข้อสารูปนี้นำมาโดยเพียงแค่นี้ พอที่ฆราวาสจะนำมาประพฤติปฏิบัติได้ในขณะที่บวชพราหมณ์ ชายและหญิง เพื่อให้สมกับที่เป็นพระเช่นกัน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น "พระโยคาวจร" นั่นเอง
    หมวดโภชนปฏิสังยุต
    หมวดนี้ จะขอนำมาโดยย่อ พอที่จะปฏิบัติได้ดังนี้...
    ๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ ในข้อนี้ พระองค์ทรงสอนให้แสดงความเอื้อเฟื้อให้บุคคลผู้ให้ ไม่ใช่รับด้วยการดูหมิ่น
    ๒. เราจักแลดูแต่ในบาตร , จักรับแกงพอควรแก่ข้าวสุก , จักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ , เมื่อฉันบิณฑบาตจักแลดูแต่ในบาตร เป็นต้น ในข้อนี้ผู้บวชพราหมณ์ทั้งหลายก็เช่นกัน เวลาที่เดินเข้าแถวต่อจากพระภิกษุสามเณร ในขณะที่เข้าไปตักอาหารไม่ควรมองสอดส่องเพื่อเลือกหาอาหารที่ตนเองชอบ
    เมื่อจะตักข้าวและกับ ควรจะตักให้พอประมาณแล้วเดินไปด้วยอาการสำรวม ควรหาที่นั่งรับประทานให้เรียบร้อย ( ไม่ควรยืน )
    เวลาจะกินควรจะพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องนั่งคุยกันมากเกินไป และประการสำคัญ อย่าติดรสอาหารจนเกินไป
    ข้อนี้หมายถึงตักอาหารมากินแล้วไม่ชอบใจ กลับตำหนิติเตียนผู้ทีทำอาหาร หรือเพ่งโทษผู้ที่ตักอาหารที่ตนเองชอบไปหมด อย่างนี้เป็นต้น ท่านถือว่า "ฉันบิณฑบาตโดยไม่เคารพ"
    ๓. เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว , จักไม่ฉันแลบลิ้น , จักไม่ฉันดังจับ ๆ หรือดัง ซูด ๆ , จักไม่ฉันเลียมือ , จักไม่ฉันขอดบาตร , จักไม่ฉันเลียริมฝีปาก , จักไม่เอามือเปื้อนจับแก้วน้ำ เป็นต้น
    ข้อนี้ท่านสอนให้ฉันด้วยอาการสำรวม ไม่ฉันมูมมามสกปรก เป็นที่น่ารังเกียจต่อผู้อื่น ผู้บวชพราหมณ์ทั้งหญิงและชาย ควรถือเป็นข้อปฏิบัติด้วย ก็จะแลดูกิริยาสวยงามเช่นกัน

    <CENTER>สรุปความ</CENTER>
    เสขิยวัตร เป็นข้อวัตรที่ควรศึกษา เพื่อนำไปปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณร ส่วนฆราวาสจะนำไปปฏิบัติด้วยก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของจริยามารยาท อันเป็นธรรมเนียมที่ควรปฏิบัติในเรื่อง การแต่งกาย การเดิน การนั่ง การกินอาหาร และการพูด ให้อยู่ในอาการสำรวมระวัง
    เพื่อเป็นการรักษาความสงบทางกายวาจาใจ อันเป็นบันไดเข้าสู่มรรคผลนิพพานต่อไป ควรที่พระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา จะนำมาประพฤติปฏิบัติให้เหมาะกับที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นพุทธบริษัท ๔ อันมีเชื้อสายมาจากศากยบุตรชิโนรส ควรนำมาปฏิบัติให้พอดีพองามคือ..
    ไม่เคร่งหรือไม่หย่อนจนเกินไป ให้ถูกกับกาลเทศะ เพื่อไม่ให้คนภายนอกพระศาสนาปรามาสว่าหลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว สาวกทั้งหลายของพระองค์ ต่างพากันเหยียบย่ำทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการนุ่งห่มไม่เรียบร้อย การกินการอยู่ไม่มีอาการสำรวม เป็นต้น
    ฉะนั้น เมื่อเราหลีกเร้นออกมาจากการครองเรือนชั่วคราว เพื่อมาปฏิบัติเนกขัมมะบารมี ก็ต้องสังวรณ์ไว้เสมอว่า เราเป็นนักบวชประเภทหนึ่ง ที่แต่งกายไม่เหมือนกับชาวบ้านธรรมดาแล้ว จะทำอะไรก็ต้องสำรวมระวังไว้เสมอ
    แต่ก็ทำแค่พอดีนะ ถ้าไม่หลับนอน ไม่พูดจากับใครหลายวัน โรคประสาทกินแน่ มีตัวอย่างมาแล้ว ฉะนั้น จงทำตนเป็นผู้เลี้ยงง่าย มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ อย่าเป็นคนเรื่องมาก เป็นต้น
    สุดท้ายนี้ ขอให้เจ้าภาพผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้และท่านผู้อ่านทั้งหลาย จงตั้งใจประพฤติจรรยามารยาทแต่พอประมาณ อย่านำข้อปฏิบัติไปเพื่ออวด หรือยกตนข่มท่าน และเพ่งโทษผู้อื่น เป็นอาทิ
    ข้อสำคัญจะต้องรักษากฎระเบียบทั้งหมดของสำนัก อีกประการหนึ่ง ท่านตั้งสัจจอธิษฐานในข้อวัตร หรือการปฏิบัติธุดงค์อย่างไร ก็ควรจะปฏิบัติให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่อย่าตั้งใจทำเพื่อทรมานตัวเองนะ มันจะไม่เกิดผล จะบกพร่องในตัวของเรามีอะไรบ้าง เมื่อมาปฏิบัติที่วัดแล้วมันจะเริ่มออกมาให้เราเห็น เพราะความเห็นแก่ตัวเป็นต้น พยายามปรับปรุงแก้ไขให้ได้
    ครั้นกลับไปถึงบ้านแล้ว ความประพฤติที่ดี ที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เกิดความสุขกับคนรอบข้าง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายของศากยวงศ์ คือ วงศ์ของ "เจ้าศากยะ" นั่นเอง
    เพื่อที่จะได้เรียกพระนามของพระพุทธองค์ว่าทรงเป็น "พุทธบิดา" อย่างแท้จริง เหมือนกับผู้ที่อุบัติในกรุงกบิลพัสดุ์ ฉะนั้น จึงไม่ควรประพฤติให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลของพระองค์...สวัสดี ที่มา http://www.putthawutt.com/html/thudong05.html#educated
     

แชร์หน้านี้

Loading...