หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 11 ธันวาคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]


    พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

    หลวงพ่อพุธ มีชาติกำเนิดในสกุล “อินหา” เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับเดือน ๓ ปีระกา เวลา ๐๕.๑๐ น. ที่บ้านหนองโดน ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี บิดาชื่อนายพร มารดาชื่อนางสอน อินหา ท่านเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม ท่านอุปสมบท ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยได้รับฉายามคธว่า “ฐานิโย” ซึ่งแปลความหมายว่า “ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม” หลวงพ่อเล่าประวัติของท่านว่า “เมื่อมีคนมาถามถึงสกุลรุนชาติ หลวงพ่อบอกเสมอว่าหลวงพ่อเป็นเด็กขอทาน กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ อาจเคยทำกรรมพรากชีวิตสัตว์ไว้จึงต้องเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เกิด”

    ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงพ่อพุธเดินทางจากวัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเป็นบุคคลที่ช่างคิดเป็นนักวิชาการ เพราะพระองค์ทรงใช้พระทัยคิดอย่างไม่หยุดยั้ง การคิดด้วยการตั้งใจนี้เป็นเรื่องของสมาธิ ถึงแม้จะทรงรับสั่งด้วยทางโลกก็ตามแต่ก็มีคุณธรรมแฝงอยู่ทุกประการ คราวหนึ่งพระองค์ท่านทรงเสด็จไปหัวหิน ท่านมีรับสั่งนิมนต์หลวงพ่อพุธไปแสดงธรรมโดยเฉพาะ

    ๏ การปฏิบัติธรรมดั่งที่พระอาจารย์เสาร์สอน

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมดั่งที่ท่านอาจารย์เสาร์สอนมา

    หลวงพ่อพุธ : โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนาพุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ การบริกรรมภาวนาให้จิตอยู่ ณ จุดเดียวคือพุทโธ ซึ่งพุทโธแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกริยาของจิตเมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่าพุทโธให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕

    การนึกถึงพุทโธเรียกว่า วิตก จิตอยู่กับพุทโธไม่พรากจากไปเรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ปิติและความสุขก็เกิดขึ้น เมื่อปิติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ นิ่งสว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

    ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่าอัปปนาจิต ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ถ้าจะเรียกโดยฌานก็เรียกอัปปนาฌาน บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔ จิตในขั้นนี้เรียกว่าอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

    เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา เมื่อเป็นเช่นนั้นอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดเป็นของโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน

    เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปอาจารย์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่าตามที่พูดกันว่า สัตว์ บุคคล เรา เขาไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่าในตัวของเรานี้ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งสิ้นมีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น

    ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้นก็มีความรู้เพียงแค่ชั้นสมถะกรรมฐาน

    และในขณะเดียวกันนั้นถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คืออนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ถ้าหากมีอนิจสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตาสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้นั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

    เมื่อผู้ปฏิบัติมาฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้แจ้งเห็นจริง ในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่ากายเรานี้เป็นเพียงแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่าธาตุ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นเพียงแต่ธาตุ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักดังนั้นภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมา จิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ภูมิธรรมเป็นลำดับๆ ไป หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ก็มีดังนี้

    ๏ ฆราวาสบรรลุธรรมได้หรือไม่

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : หากเผื่อว่าไม่ได้บวชเป็นพระนี้ จะสามารถชำระจิตของท่านจนสามารถบรรลุธรรมได้ไหมเจ้าค่ะ

    หลวงพ่อพุธ : อาศัยตามหลักฐานในพระคัมภีร์ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะชำระจิตให้ถึงวิมุติความหลุดพ้นได้

    ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระสุทโธทนะ พระพุทธบิดา พระองค์ก็ทรงสำเร็จพระอรหันต์ในขณะทรงเป็นฆราวาสอยู่ เพราะเมื่อได้ฟังเทศน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็สำเร็จอรหันต์ ทั้งๆ ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ในปัจจุบันนี้ คฤหัสถ์ที่ยังครองเพศอยู่ ก็สามารถที่จะปฏิบัติในทางจิตทำให้มีจิตสงบเป็นสมาธิ รู้ธรรมเห็นธรรมได้เหมือนกับพระในพระพุทธศาสนา

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : หมายความว่าถ้าแม้ว่าเข้าถึงพระอรหันต์แล้ว ถ้าไม่บวชก็วางเบญจขันธ์ได้อย่างสิ้นเชิงใช่ไหมเจ้าค่ะ

    หลวงพ่อพุธ : ตามพระคัมภีร์ก็ยืนยันอย่างนั้น แต่ถ้านำมาพิจารณาให้รู้แน่นอน และจะหาเหตุผลมาขัดแย้งก็อาจจะมีทาง เพราะในแง่ที่ขัดแย้งได้มีว่า โดยธรรมชาติของพระอรหันต์แล้วท่านจะวางเบญจขันธ์ คลายความยึดมั่นหมดกิเลสตัณหา มานะทิฏฐิ แม้อาสวะน้อยหนึ่งก็ไม่มีในจิตของท่าน อาจจะดำรงชีพอยู่จนกระทั่งอายุขัยก็ย่อมเป็นได้ ถ้าหากว่าหามติมาขัดแย้งได้ แต่ว่าคุณของความเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่สูง ซึ่งโดยหลักธรรมชาติของพระธรรมขั้นนี้แล้วจะไปสิงสถิตอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ซึ่งถือเป็นร่างของชาวบ้านธรรมดาเป็นการไม่คู่ควรกัน จึงสามารถทำให้ร่างของฆราวาสผู้สำเร็จอรหันต์แล้วต้องสลายตัวไป อันนี้เป็นกฎความจริงของธรรมชาติในขั้นนี้

    ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับแร่ธาตุบางอย่างในโลกนี้ ในเมื่อมาพบกันเมื่อใดแล้วจะต้องมีปฏิกิริยาสลายตัว หรือเกิดธาตุใหม่ขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้ธาตุแท้แห่งพระอรหันต์ที่บริสุทธิ์ที่สะอาดอย่างแท้จริง เมื่อเกิดอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ธรรมดา จึงมีประสิทธิภาพหรือมีอำนาจที่จะทำให้ร่างกายของคฤหัสถ์สลายตัวลงไปได้ เพราะเป็นร่างที่ไม่ควรที่จะรองรับคุณธรรมของพระอรหันต์


    ๏ พระปัจเจกพุทธเจ้า

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ดิฉันขอยกข้อดีว่าถ้าไม่มีพระบวรพุทธศาสนานี้ คงจะอยู่บนโลกนี้ด้วยความยากลำบาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเป็นแสงสว่างจริงๆ ทำให้สามารถระงับความโกรธ ความเกลียด ความผิดหวังอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และน้อมระลึกนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านได้มีพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนพระพุทธเจ้าอย่างไรเจ้าค่ะ

    หลวงพ่อพุธ : พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรงที่ไม่แสดงธรรมและไม่ตั้งศาสนา ถ้าใครทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเพียงแต่ให้ศีลให้พร หรือถ้าแสดงธรรมก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราวพอที่จะจับเอามาปฏิบัติได้ อย่างดีก็เพียงแต่แนะนำให้รักษาศีล ให้ภาวนา ให้ทาน เป็นแต่เพียงแนะนำเท่านั้น ส่วนมากไม่แสดงธรรมเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    โดยวิสัยของท่านพระปัจเจกพุทธะไม่มุ่งที่จะมีสาวก ถ้าหากมีคำสอนปรากฏอยู่บ้างก็เป็นไปเพื่อชีวิตของท่านเท่านั้นไม่ไว้สาวกเพื่อสืบพระศาสนา การตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็มีความเสมอกันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วๆ ไป ก็คือความเป็นอาสวักขยญาณ คือความสามารถทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป

    พระปัจเจกพุทธเจ้าบางองค์ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิมีความละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งสามารถตัดกิเลสออกจากจิตไปได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

    ส่วนมากพระปัจเจกพุทธเจ้าจะสำเร็จเป็นพระปัจเจกได้โดยเจโตวิมุตติ คือการทำจิตให้ละเอียดลงไปแล้วก็ตัดกิเลสด้วยกำลังจิตที่เข้มแข็งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระองค์ท่านแล้ว ท่านจึงไม่สามารถแสดงธรรมได้อย่างกว้างขวางอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับพระพุทธเจ้าโดยทั่วๆ ไป นี่คือข้อแตกต่างระหว่างพระปัจเจกพุทธเจ้าและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ดิฉันอยากจะถามว่าสมัยนี้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าบ้างไหม

    หลวงพ่อพุธ : หากอาศัยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าของเราทรงกำหนดอายุพระศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปีพระศาสนา ขณะนี้ได้ดำเนินมา ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว ศาสนาพุทธก็ยังปรากฎอยู่ในโลก ยังไม่ว่างจากพระศาสนา ในช่วงที่ยังมีพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่ยังไม่สิ้นอายุพระศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่มี ถ้าอาศัยหลักฐานตามคัมภีร์แล้วยืนยันได้ตามนั้น ปัจจุบันนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี

    ๏ นิมิต

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : นิมิตมีหลายอย่างบางอย่างแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่างหนึ่งและอีกอย่างหนึ่งก็ให้เห็นเหมือนฝัน และอีกอย่างหนึ่งก็แสดงให้เห็นเหมือนทิพย์ เป็นนิมิตความหมาย ขอท่านอาจารย์ได้อธิบายให้ฟัง

    หลวงพ่อพุธ : นิมิตก็มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต นิมิตจะเกิดขึ้นได้ในจิตสมาธิ คือผู้ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปจิตสงบสว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดขึ้นมาในลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน ภูตผี ปีศาจ เทวดา และอีกอย่างหนึ่งในการพิจารณาอสุภกรรมฐานหรือธาตุกรรมฐาน ในขั้นต้นผู้ปฏิบัติอาศัยการน้อมนึกพิจารณาน้อมไปสู่การเป็นอสุภกรรมฐาน ความไม่สวยไม่งามน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย น้อมไปสู่ความเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือเป็นองค์ประชุมของธาตุ ๔ ด้วย

    ความตั้งใจก็ดีเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิก็จะเกิดนิมิตภายนอกขึ้นมา เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาดูนิมิตภายนอกกาย นิมิตภายนอกกายจะย้อนกลับเข้ามาภายใน หมายถึงจิตนั้นน้อมเข้ามาภายในกาย ในขณะที่จิตรู้อยู่ภายในตัวนั้น จิตจะมีลักษณะตั้งอยู่ระหว่างกลางของกาย แล้วจิตจะไปรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกาย เมื่อจิตมองดูสิ่งที่รู้เห็นอยู่ภายในกายนั้น จิตจะพิจารณากายต่อไปจนกระทั่งจิตละเอียดลงไปจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจะมีลักษณะคล้ายๆ กับถอนตัวออกจากร่างกายแล้วจิตจะมาลอยเด่นอยู่ แล้วจิตจะย้อนกลับไปมองดูกายเดิม

    ในเมื่อจิตย้อนกลับไปมองดูกายเดิม จิตก็มองเห็นกายในลักษณะที่นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม แล้วกายนั้นจะแสดงอาการขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายไป ในที่สุดก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็หลุดออกไปเป็นชิ้นๆ และแตกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ในที่สุดกระดูกก็หลุดละเอียดลงไปและหายไปในที่สุด

    อันนี้เป็นนิมิตซึ่งเกิดขึ้นในจิตโดยปราศจากสัญญาใดๆ ที่น้อมนึก นิมิตอันนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ในขณะที่จิตมองเห็นนั้น จิตยังไม่บอกว่าเป็นอะไรเรียกว่าอะไร คือเมื่อกายที่จิตมองเห็นนั้นมีอาการต่างๆ ผิดแปลก เช่นขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพังลงไปดังที่ได้บรรยายมานั้น อันนี้จิตอยู่ในขั้นปฏิภาคนิมิต เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตในขั้นสมถะ

    เมื่อจิตมองดูนิมิตนั้นนิมิตนั้นอาจจะหายไป เมื่อนิมิตนั้นหายไป ก็ยังเหลือแต่สภาวะจิต ผู้รู้ นิ่ง สดใส สว่างชั่วขณะหนึ่ง ก็จะเกิดภูมิรู้ขึ้นภายในจิต คือมีแต่เกิดขึ้น ดับไป อยู่ภายในจิต จิตของผู้ปฏิบัติก็จะจดจ้องมองดูจิตที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากเจตนาสัญญาใดๆ ทั้งนั้น

    สิ่งที่มองเห็นนั้นเรียกว่าอะไรเรียกไม่ถูก ไม่มีความหมายในสมมติบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักกัปวัตนสูตร สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นี้หมายถึงอะไร จะเรียกชื่อตามสมมติบัญญัติไม่ถูก พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันนี้เป็นความรู้ของจิตที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรมขั้นสูง

    ถ้าหากว่าจิตมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปแล้วก็ถอนออกมาจากสภาวะรู้อย่างนั้นจิตของผู้ปฏิบัติดีในขั้นนี้ก็เรียกว่าจิตอยู่ในขั้นสมถะกรรมฐาน

    แต่ถ้าหากสิ่งที่จิตมองดูนั้นเกิดอนิจสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งที่รู้เห็นนั้นเป็นของไม่เที่ยงแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็จะวิ่งเข้าสู่ภูมิวิปัสสนา

    ในขณะที่จิตรู้อย่างนั้น ไม่มีอะไรปรากฏ คือมีแต่จิตผู้รู้นิ่งเด่นอยู่ และสิ่งที่ผู้รู้ก็ปรากฏอยู่ คือจิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต และมีสติตามรู้จิตคือสิ่งรู้อันนั้น อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติอยู่ในภูมิจิตภูมิธรรมขั้นสูง และอีกอย่างหนึ่งในลักษณะเช่นนี้ไปตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า ในกาลใดก็ดีเมื่อธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร ในกาลนั้นความสงสัยย่อมสิ้นไป

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : สำหรับนิมิตนี้ถ้าเป็นถึงอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิต ทำให้สามารถที่จะเห็นได้จากการที่เราดู หมายความว่าภาพที่เห็นนิมิตอีกอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับฝันมีความจริงเพียงใด กายหยาบหรือนิมิตในฝัน ตัวเองมีนิมิตว่าอย่างนั้นแล้วไปถามว่าแปลว่าอะไร บางทีก็มีความจริงหรือบางทีก็ไปถามพระอาจารย์ อธิบายว่ามีนิมิตว่ากระไรบ้าง และท่านก็บอกว่านิมิตอย่างนั้นๆ ที่แปลนิมิต เรื่องนิมิตนี้มีความจริงอย่างไร

    หลวงพ่อพุธ : นิมิตนี้บางครั้งก็มีความจริง บางครั้งก็ไม่มีความจริง เหมือนๆ กับความฝัน คือนิมิตหรือการฝันในขั้นนี้เป็นเรื่องพื้นๆ โดยทั่วไป

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : แต่เรื่องนิมิตนี้เคยนำไปถามท่านผู้ทรงศีลหรือพวกหมอดู เคยไปถามท่าน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ได้ไปถามหลวงปู่ขาวว่าจะเป็นอย่างไรกับเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านมีนิมิตหรือเปล่า หลวงปู่ท่านก็บอกว่ามีนิมิต เห็นแปลกก็ตีความหมายว่าไม่มีอะไรมาก แต่ท่านก็ตีความว่าไม่ค่อยจะดี อย่างนี้นิมิตของผู้ทรงศีลจะเป็นความหมายได้อย่างไร และอีกอย่างหนึ่งถ้าท่านแปลมาจะมีวิธีการอย่างไร

    หลวงพ่อพุธ : นิมิตของผู้ทรงศีลก็อาศัยความมีศีล และอาศัยความคิดที่เกิดขึ้นของความรู้ เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา โดยพิจารณาในนิมิตสมาธิภาวนา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นจริง

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : คำว่าอุคคหนิมิตมีความหมายมาจากคำว่า การทำจิตใจให้มีสติ ไม่ให้หลงในความสวยความงามในทางตรงใช่ไหม

    หลวงพ่อพุธ : ความมีสติ ความไม่หลงติดในความสวยความงาม เป็นผลเกิดจากการพิจารณาทำอุคคหนิมิตให้เกิดขึ้นได้แล้ว แต่อุคคหนิมิตหมายถึงสิ่งที่มองเห็นติดตา เกิดจากการเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งจนเกิดสมาธิแน่วแน่ มองเห็นเป็นนิมิต ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็นเรียกว่าอุคคหนิมิต

    อีกอย่างหนึ่งเมื่อโยคาวจรมาพิจารณาอาการ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมไปสู่ความเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด สกปรก *** จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสว มีปิติสุข เอกัคคตาเป็นหนึ่งแน่วแน่ แล้วเกิดนิมิตมองเห็นอาการใดอาการหนึ่งในอาการ ๓๒ เช่น กระดูกเป็นต้น หรือเกิดนิมิตมองเห็นสิ่งปฏิกูลภายในร่างกายก็ดี หลับตาก็มองเห็น ลืมตาก็มองเห็นติดตา เรียกว่าอุคคหนิมิต มีผลเพื่อบรรเทาราคะให้เบาบางลง หรือขจัดราคะให้หมดไปตามกำลังแห่งสมาธิและสติปัญญา

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : การพิจารณาความไม่สวยไม่งามนี้ มันเป็นสมมติบัญญัติ ไม่มีความหมาย หรือแล้วแต่จะคิดไปใช่หรือไม่

    หลวงพ่อพุธ : แล้วแต่จะคิด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนที่จะเกิดความจริงขึ้นมา ต้องอาศัยความเป็นจริงที่ปรุงแต่งขึ้นมา เพื่ออบรมจิตของตัวเองให้มีความคล้อยตาม และเกิดความเชื่อถือว่าเป็นอย่างนั้น

    ถ้าหากจะพิจารณาในปัจจุบันนี้ ให้พิจารณาน้อมไปถึงอดีต หากร่างกายนี้แตกสลายไปแล้ว ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี หนังก็ดี ฟันก็ดี ล้วนแต่แตกสลายไป ให้น้อมไปพิจารณาเพื่อให้จิตเกิดความรู้ความจริงเห็นจริง แม้จะไม่เกิดความเห็นอย่างนี้ แม้จิตจะไม่น้อมเข้าไปสู่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องดังกล่าวก็ตาม

    ๏ ผลของการทำบุญ

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : การทำบุญผลบุญที่ได้อยู่ที่ไหน จะได้อยู่ที่จิตของเรา หรือจะได้อยู่ที่เราจะได้ผลบุญ คนเราส่วนมากเวลาทำบุญคิดว่าจะได้ผลบุญอย่างนี้ แต่บางทีก็ฟังดูว่าถ้าทำบุญทำทานหรือทำอะไร มันก็ได้กุศลผลมันก็ได้อยู่ที่ใจของเรา และก็เป็นการขัดเกลาจิตใจของเรา

    หลวงพ่อพุธ : การทำบุญโดยความมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตของผู้กระทำนั้น ให้เป็นผู้มีเมตตาอารีแก่ผู้อื่น และการทำบุญนั้นเพื่อกำจัดกิเลสเป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เกิดมีวิชชากว้างขวาง อารีอารอบรู้จักเอื้อเฟื้อแก่มนุษย์และสัตว์ แต่สำหรับอุบายโดยตรง เพื่อเป็นการจูงใจผู้ที่หลงผิดได้ทำบุญ เพื่อผลบุญจะติดตัวไปหลังจากตายแล้ว จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง อันนี้ก็เป็นอุบายเท่านั้น

    ๏ ความหมายของกรรมฐาน

    สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : คำว่ากรรมฐานมีความหมายอย่างไร ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วยเจ้าค่ะ

    หลวงพ่อพุธ : กรรมฐานตามความหมายของคำศัพท์หมายความว่า เป็นที่ตั้งแห่งการงาน ความหมายในทางธรรมะหมายถึง การทำงานทางจิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตโดยตรงเรียกว่ากรรมฐาน

    อารมณ์ของกรรมฐาน พุทโธ เป็นพุทธานุสติเป็นที่ตั้งของการงานในทางจิต ธัมโมธรรมะก็เป็นที่ตั้งการงานของจิตอย่างหนึ่ง สังโฆพระอริยสงฆ์ก็เป็นที่ตั้งการงานทางจิตอย่างหนึ่ง

    อานาปานสติ การกำหนดรู้ลมหายใจ หายใจเข้าออกให้รู้ว่าสั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด สบายหรือไม่สบาย เป็นที่ตั้งของกรรมฐานอย่างหนึ่ง คำว่ากรรมฐานจึงหมายถึงที่ตั้งการงานในทางจิต พูดถึงหลักกรรมฐานตามแนวทางปฏิบัติ เฉพาะอารมณ์ของสมถะกรรมฐานมีถึง ๔๐ อย่าง ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ เช่น มีอนุสติ ๑๐ อสุภ ๑๐ ธาตุกรรมฐาน ๔ และอารมณ์อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถะ และเป็นที่ตั้งแห่งการงานในทางจิตทั้งนั้น

    พูดถึงอนุสติ หมายถึงการระลึกถึงอารมณ์ จิตใจ ในอนุสติ ๑๐ เช่น พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ คือระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น แต่มาว่าถึงอนุสติข้อที่ ๙ และ ๑๐ ได้แก่ กายคตาสติและอานาปานสติ นั้น กายคตสติคือการพิจารณากายเป็นอารมณ์ อานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ อารมณ์กรรมฐานสองอย่างนี้ สามารถทำจิตของผู้ปฏิบัติให้สงบและสามารถเดินเข้าไปสู่ความเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิโดยลำดับ

    และการกำหนดรู้ลมหายใจก็ดีการพิจารณากายคตาสติก็ดี ทั้ง๒อย่างนี้จัดเป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐาน เป็นแนวทางยังจิตใจให้สงบในขั้นสมถะกรรมฐาน และเป็นเครื่องหมายให้จิตรู้ พระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วย เพราะการพิจารณากายก็ย่อมบ่งถึงการเปลี่ยนแปลงภายในกาย คือ กายปกติทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ในสภาพปกติ

    ผู้ปฏิบัติพิจารณากายคตาสติ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นไปได้ ๒ อย่างคือ

    ประการแรกให้มองเห็นร่างกายที่พิจารณาอยู่นั้นเป็นของปฏิกูล สกปรก น่าเกลียด *** เน่าเปื่อย ผุพัง ไม่สวย ไม่งาม อันนี้เพื่อกำจัดราคะ ความกำหนัดยินดี เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บวชในพระธรรมวินัยต้องปฏิบัติ ในแง่พิจารณากายคตาสติ มุ่งสู่จุดอสุภกรรมฐานเป็นสิ่งจำเป็นมาก

    และอีกแง่หนึ่งนั้น พิจารณากายโดยกำหนดอาการ๓๒เหมือนกัน แต่จะน้อมจิตให้รู้ลงไปในแง่เป็นธาตุกรรมฐานคือเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

    ในการพิจารณาน้อมใจเชื่อและพิจารณาย้อนกลับไปมาอยู่อย่างนั้น ว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนกระทั่งจิตสงบลงไปแล้ว สามารถรู้ความจริงปรากฏขึ้นเป็นนิมิต ให้เห็นว่าร่างกายของเราเป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น เพราะความเป็นสัตว์ เป็นชีวิต เป็นเรา เป็นเขาไม่มี

    ในเมื่อความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นชีวิตไม่มี ภายในใจก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า กายของเรานี้จะเป็นเราเขาเพียงแค่สมมติบัญญัติ เมื่อพิจารณาแยกออกมาจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นสัตว์บุคคล เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง อันนี้คือจุดมุ่งหมายการพิจารณากายคตาสติ

    และพร้อมๆ กันนั้นแม้ว่าการพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี การพิจารณากายเป็นอสุภกรรมฐานเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด ไม่สวยไม่งาม เป็นของโสโครกก็ดี การพิจารณากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนเห็นชัดลงไปก็ดี ถ้าหากว่าจิตรู้ แต่การเป็นไปอย่างนี้ แม้ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็เป็นเพียงชั้นสมถะกรรมฐานเท่านั้น

    แต่ถ้าหากว่าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติตนไปสู่อนัตตสัญญา คือความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน วิปัสสนาญาณก็บังเกิดขึ้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน


    ที่มา ::
     

แชร์หน้านี้

Loading...