สมเด็จกรุขุนอิน?

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 9 สิงหาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่วัดขุนอินทประมูล ต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ยาว 25 วา อายุการสร้างถึงสมัยสุโขทัย

    ตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่าในสมัยพระ ยาเลอไท สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าราม- คำแหงผู้เป็นบิดา ครั้งหนึ่งเสด็จชลมารค มานมัสการพระสุกกะทันตะฤาษี ที่เขาสมอคอน เขตกรุงละโว้ แล้วก็เสด็จต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยาล่องมาทางแม่น้ำน้อย มาถึงคลองบางพลับ

    ขณะนั้นเป็นเวลาที่น้ำเหนือบ่า จึงเสด็จแวะพักที่โคกบางพลับ ขณะประทับแรมถึงยามสาม ทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นเหนือยอดไม้หายไปบนอากาศด้านทิศตะวันออก ทรงปีติโสมนัส ดำริว่า จะสร้างพระพุทธไสยาสน์ ขึ้นเป็นพุทธบูชา

    โปรดให้ขุดหลุมกว้าง 200 วา นำท่อนซุงหลายร้อยท่อนลงวางขัดตารางเป็นฐาน แล้วขุดบ่อในทุ่งด้านหลัง ขนดินขึ้นถมสูง 3 วา (ปัจจุบัน เป็นสระกว้างอยู่ด้านหลังวัด มีผู้คนระดมทำอิฐเผา มีโคกเรียกว่าโคกอิฐ และตำบลท่าอิฐ อยู่ ในปัจจุบัน)

    เสร็จสิ้น เมื่อเดือน 5 พ.ศ.1870 สิ้นเวลา 5 เดือน ได้พระไสยาสน์ยาว 20 วา สูง 5 วา ทรงประทานนามว่า พระพุทธไสยาสน์ เลอไทนฤมิตร มอบให้นายบ้านดูแล แต่งตั้งทาสไว้ 5 คน

    พระไสยาสน์องค์นี้ ถูกทิ้งร้างมาเนิ่นนาน จนกระทั่งสุโขทัยเสื่อมอำนาจ กรุงศรีอยุธยาขึ้นมาแทนที่ บริเวณที่ประดิษฐานพระไสยาสน์ก็เป็นเพียงสถานที่ที่พระวิปัสสนา และมาใช้บ้างเป็นครั้งคราว

    จนถึงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีนายอากรตำแหน่งขุนอินทประมูล เป็นนายบ้านบางพลับ

    ขุนอินทประมูล เป็นชาวจีน ชื่อเส็ง มีภรรยาเป็นคนไทยชื่อ นาก ไม่มีบุตร เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ในทางพระศาสนา ปรารภว่า จะซ่อมสร้างพระไสยาสน์ให้สำเร็จให้จงได้ นำทรัพย์สินส่วนตัวที่เก็บออมไว้ประมาณ 100 ชั่ง แต่เงินจำนวนนี้สร้างเพียงวิหารและพระเจดีย์ ด้านตะวันออกขององค์พระได้เท่านั้น

    องค์พระนอนซึ่งพังทลายยังไม่ได้ บูรณะ ขุนอินทประมูลดำริเริ่มซ่อมองค์พระ ขยายออกไปเป็นความยาว 25 วา 2 ศอก ต้องใช้เงินหลวงไปอีกหลายร้อยชั่ง

    ต่อมาความทราบไปถึง พระยาวิเศษไชยชาญ เจ้าแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ นำเรื่องกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดให้พระยากลาโหมไต่สวน ขุนอินทประมูลปฏิเสธ แต่เมื่อถูกเฆี่ยนสามยก เจ็บปวดจนใกล้ขาดใจ...ก็ยอมสารภาพ ว่า ตั้งใจสร้างพระไสยาสน์เพื่อเป็นการเสริมพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว

    สารภาพแล้วขุนอินทประมูล ก็สิ้นใจ เมื่อวันอังคาร เดือน 5 พ.ศ.2296 อายุราว 80 ปีเศษ

    พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงทราบจากรายงานก็เสด็จมาทอดพระเนตรพระไสยาสน์ ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง โปรดให้ฝังศพขุนอินทประมูลไว้ในเขตวิหาร ด้านหลังองค์พระ

    จากนั้นทรงทำพิธียอดพระเกศทองคำ หนัก 100 ชั่ง ประดับเหนือเศียรพระพุทธไสยาสน์ พระราชทานนามว่า พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล

    ต่อมาเมื่อเสียกรุงครั้งที่สอง บันทึกคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่าพวกพม่าได้บุกมาเผาพระวิหาร ทำลายพระไสยาสน์และปล้นเอาพระเกศทองคำไป

    พระไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ถูกทิ้งร้างไว้จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มีผู้บันทึกว่า พ.ศ.2410 สมเด็จพุฒาจารย์ (โต วัดระฆัง) เดินทางมาดูสถานที่สร้างพระพุทธรูปนั่ง (พระมหาพุทธพิมพ์) ที่วัดไชโย อ่างทอง ได้แวะมานมัสการพระไสยาสน์ และจำวัดที่ขุนอินทประมูล 1 คืน

    จุดที่เชื่อกันว่า สมเด็จพุฒาจารย์โต เคยมาพักที่วัดขุนอินทประมูล จึงมีความเชื่อกันต่อมาว่า สมเด็จโตผู้สร้างพระผงสมเด็จ ทั้งที่วัดระฆัง วัดบางขุนพรหม และที่วัดไชโย ท่านคงสร้างพระสมเด็จบรรจุไว้ ในองค์พระไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูลด้วย

    จนเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2541 ด้านหลังพระไสยาสน์พังถล่มลงไป พบร่องรอยการแอบขุดหาของมีค่าภายในองค์พระ ติดต่อกันมายาวนานถึง 20 ปี

    กล่าวกันว่า นอกจากพระพุทธรูป เครื่องทองมากมาย ถูกขุดลักเอาไป ยังมีพระพิมพ์สมเด็จ จำนวนกว่าหมื่นองค์รวมอยู่ด้วย

    พระผงสมเด็จชุดนี้ วงการพระสมเด็จส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับว่า เป็นพระที่สมเด็จท่านสร้างไว้ แต่ยังมีคนในวงการหลายคนเชื่อ ราคาเช่าหาเปิดเผยองค์ละหลายพัน... ถึงหลักหลายหมื่น.

    O บาราย O


    สมเด็จกรุขุนอิน? - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     
  2. ordturbo

    ordturbo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 เมษายน 2009
    โพสต์:
    406
    ค่าพลัง:
    +1,200
    ท่านมาอยู่แค่คืนเดียวจะสร้างพระได้อย่างไร
    เซียนพระมีอะไรอยู่ในมือขายได้ขายหมดจริงแท้อย่างไรไม่สน
    เอาเงินเข้าเป๋าไว้ก่อนเรื่องจริงเป็นอย่างไรว่ากันที่หลัง
    กว่าจะสรุปได้ว่าท่านสร้างไว้หรือเปล่าก็ได้หลายตังแล้ว5555
    (เซียนที่ดีมีความซื่อสัตย์จริงใจ ไม่อยู่ในข่ายที่ผมเขียนนี้นะครับ)
     
  3. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    [​IMG]

    เกณฑ์ในการดูพระสมเด็จ...ของนักเลงระดับเซียน พิมพ์ต้องมาก่อน ถ้าพิมพ์ไปได้ จึงไล่มาดูที่เนื้อ...

    เนื้อเก่าเหมาะกับอายุ มวลสาร กากดำ เม็ดแดง ก้อนขาว และกรวดเทา ต้องพอหาได้ แล้วก็ถึงรอยย่น รอยยุบ รอยแยก ตามธรรมชาติ ทั้งในพื้นผิวด้านหน้า ขอบข้าง และด้านหลัง

    ประเภทพิมพ์ใช่ แต่เนื้อไม่ใช่ เนื้อใช่แต่พิมพ์ไม่ใช่ ท่านว่า ให้วางไว้ก่อน

    ตรียัมปวาย เขียนไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เรื่องพระสมเด็จฯว่า ข้อยุติขั้นเด็ดขาดอยู่ที่เนื้อ แต่กระนั้น ถ้ามีความเชี่ยวชาญ พระองค์
    ที่แท้นั้น ทั้งพิมพ์และเนื้อต้อง "ใช่" ตรงกัน เหตุที่บางองค์สับสน เพราะผู้ดูยังมีความรู้ไม่พอ

    พระสมเด็จไม่ว่าวัดระฆัง บางขุนพรหม เกศไชโย ราคาแพงจับใจ ขนาดตระกูลสมเด็จ อย่างหลวงปู่ภู หลวงปู่ปั้น หลวงปู่อ้น ฯลฯ ยังว่ากันเรือนหมื่น บางพิมพ์ ขึ้นถึงแสน

    พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง กรุพระปริศนาฯ เซียนใหญ่ยังไม่ยอมรับ ราคาตลาดใหญ่ยังไม่เดิน แต่ก็มีเซียนซุ่มดูแล้วแน่ใจ แอบเลือกเก็บไว้

    เริ่มดูกัน ที่แม่พิมพ์ก่อน ตัวอย่างจากหนังสือ พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล ทางวัดพิมพ์เอง มีอยู่สี่แม่พิมพ์ พิมพ์พระประธาน พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์คะแนน

    ข้อมูลจากหนังสือ คนดังในวงการ อย่างอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ คุณราม วัชรประดิษฐ์ น่าจะการันตี เรียกความสนใจได้ คนรุ่นนี้ผ่านพระสมเด็จองค์ดังมาไม่น้อย

    อีกคน ที่เปิดตัวแสดงความเชื่อมั่นชัดเจนคุณวิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ วงการเรียกกันว่า วัฒน์ เฮดเดอร์ เจ้าของชื่อที่ติดกลุ่ม กระบวนเปลี่ยนมือพระเครื่องชุดใหญ่หลายชุด ชุดล่ากว่าร้อยล้าน

    คุยกันถึงเรื่องแม่พิมพ์ ฝีมือช่างพิมพ์พระประธาน...ในบางองค์ไล่หลังพิมพ์ใหญ่วัดระฆัง แต่บางส่วนโดยเฉพาะ "ฐานแซม" ที่ปรากฏในบางองค์ "หนา" จน ทำให้สะดุดว่า "ไม่ถึงฝีมือช่างหลวง"

    ต้องเข้าใจกันก่อน แม่พิมพ์พระสมเด็จมาตรฐาน หลวงวิจารณ์เจียระไน ช่างหลวงแกะ สมัยนี้มีภาพถ่ายพระสมเด็จแท้ให้ดูเปรียบเทียบมาก จนพอเข้าใจได้ว่า แม่พิมพ์เดิมของช่างหลวงนั้น ทุกพิมพ์ทุกองค์ปรากฏหน้าตา เส้นสังฆาฏิ เส้นแซมคมชัด แต่เนื่องจากเนื้อปูนผสมตังอิ๊ว เมื่อแห้งแล้วมีระดับการยุบตัวมาก

    รายละเอียดของเส้นสายลายพิมพ์ฝีมือหลวง จึงจางหาย เหลือเพียงเค้าราง และริ้วรอยให้เห็นความงดงามวิจิตรไว้เพียงเล็กน้อย

    เทียบพิมพ์ฝีมือหลวง พิมพ์พระประธานวัดขุนอินทประมูล พอไล่หลัง แต่พอถึงพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เจดีย์ พิมพ์คะแนน...ทุกเส้นสายลายพิมพ์แข็งกระด้าง...ชี้ว่าเป็นได้แค่ฝีมือช่างราษฎร์ ล้อช่างหลวง

    ข้อพิจารณาประการต่อมา เส้นกรอบกระจก (แนวตัดพิมพ์พระ) สี่เหลี่ยม ยังมีเค้าให้เห็นบ้าง ช่องไฟของเส้นไปกันได้กับหลายแม่พิมพ์ของสมเด็จกรุบางขุนพรหม

    ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ สมเด็จวัดขุนอินทประมูลพิมพ์ในขอบ เหมือนกรุเจดีย์เล็ก หรือชุดตระกูลสมเด็จ หลวงปู่ภู หลวงปู่อ้น หรือไม่?

    มีข้อสมมติฐานว่า พิมพ์พระกรุบางขุนพรหม พิมพ์ออกมาวางเรียงรายแล้ว ขอบนอกไม่เท่ากัน ดูไม่สวย เมื่อถึงเวลาแกะพิมพ์เจดีย์เล็ก ซึ่งเวลาน่าจะไล่หลังเล็กน้อย ช่างก็ถูกแนะนำให้แก้ไข แกะพิมพ์ในขอบ พระที่พิมพ์ที่ออกมา จึงมีขนาดเท่ากันทุกองค์

    นับแต่นั้น พระชุดตระกูลสมเด็จ (ศิษย์สมเด็จ) หลวงปู่ภู หลวงปู่อ้น วัดเฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ แม่พิมพ์จึงอยู่ในขอบ เท่ากันทุกองค์

    คนดูพระสมเด็จเป็น รู้ดี รอยตัดข้างพระที่พิมพ์ในขอบ และพิมพ์นอกขอบอย่างชุดสมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหม ที่มีข้อถกเถียงกันว่า ตัดหน้าหรือตัดหลัง...ต่างกันอย่างไร

    หากสมมติฐานนี้ใช้ได้ และถ้ากรุขุนอินทประมูลพิมพ์ในขอบ (เท่ากันเกือบทุกองค์) แต่เมื่อดูฝีมือช่างแล้วยังห่างกรุเจดีย์เล็ก ในทัศนะผู้เขียน เส้นสายลายพิมพ์กรุวัดขุนอินทประมูล

    อยู่ในกลุ่มตระกูลสมเด็จ...เท่านั้น

    คราวนี้ ก็มาถึงเนื้อ...ธรรมชาติ ประเด็นนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ยาวนานของเซียน...คุณวิวัฒน์บอกตามหลังอีกว่า อาจารย์สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์ดูแล้วยืนยันว่าเป็นพระแท้ อายุเกินร้อยปี

    พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล ถูกลักขุดมากว่า 20 ปี จำนวนรวมกันประมาณว่ากว่าหมื่นองค์ ตอนนี้ยังมีเหลืออยู่ที่วัดเล็กน้อย แม้ยังมีข้อถกเถียงเก๊แท้ แต่กระนั้นของปลอมจำนวนมากมาย ก็มีออกวางขายมานานแล้ว.
     
  4. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    [​IMG]

    จุดเชื่อมโยง พระสมเด็จกรุวัดขุนอินท-ประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง กับสมเด็จพุฒาจารย์โตวัดระฆัง...นอกจากเป็นพระเนื้อผงขาว ผสมน้ำมันตังอิ้ว เส้นสายลายพิมพ์คล้ายสมเด็จวัดระฆัง วัดบาง-ขุนพรหม มากกว่าพระตระกูลสมเด็จทุกวัดแล้ว ว่ากันโดยประวัติวัด...ก็ยังเห็นความเป็นไปได้ไม่น้อย

    หนังสือที่ออกจากวัดขุนอินทประมูลกล่าว ถึงประวัติไว้เพียงสั้นๆว่า สมเด็จโตท่านนั่งเรือมาค้างคืนที่ลานพระพุทธไสยาสน์คืนหนึ่ง

    ที่ตั้งวัดขุนอินทประมูล ก็ไม่ไกลกับวัดไชโย จุดพบสมเด็จวัดเกศไชโย (ซึ่งวงการก็ถกเถียง กันไม่น้อย ตรียัมปวาย ยอมรับในช่วงแรก ต่อมาท่านก็บอกว่าเป็นของปลอม) เท่าใดนัก

    หนังสือประวัติสมเด็จพุฒาจารย์โต ที่มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) บันทึกจากคำบอกเล่าของพระธรรมถาวร (ช่วง) พระอาวุโสวัดระฆัง มีอายุยืนยาวทันสมเด็จโต เมื่อปี พ.ศ.2473 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

    "ปีฉลูเอกศก จุลศักราช 1191 (พ.ศ.2373)...ในศกนี้มหาโตอายุ 54 ปี พรรษา 32 ยังอยู่วัด มหาธาตุ มีผู้บอกข่าวว่าโยมผู้หญิงที่อยู่ทางเหนือป่วยหนัก ท่านขี่เรือเสาขึ้นไป พร้อมกับนำเรือสีไปด้วย เพื่อจะพายอวดโยมของท่าน แต่โยมก็ถึงอนิจกรรมเสียก่อน

    ท่านก็ทำฌาปนกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงแบ่งทรัพย์มรดกของโยมแก่บรรดาญาติและหลานทั่วกันแล้ว ก็ยังเหลือเป็นเงินทองก็นำมาถึงอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่วัดขุนอินทประมูล

    ท่านก็เอาทรัพย์นั้นออกสร้างพระนอนไว้ มีลักษณะงดงามองค์หนึ่งยาวมาก สร้างอยู่หลายปีจึงสำเร็จ ต่อนั้นท่านก็เป็นพระสงบมีจิตแน่วแน่ต่อญาณคติ มีวิถีจิตแน่วไปในโลกุตรภูมิ ไม่ฟุ้งซ่านโอ่อ่า เจียมตัวเจียมตนเทศน์ได้ปัจจัยมาก็สร้างพระนอนจนหมด

    ท่านทำซอมซ่อเงียบๆสงบปากเสียงมา 25 ปี...

    ประวัติการสร้างหรือการซ่อมพระนอนวัดขุนอินทประมูล ที่พระยาทิพโกษาบันทึกไม่ตรงกับที่ "ตรียัมปวาย" ค้นคว้า พระนอนที่สมเด็จโตสร้างอยู่ที่วัดสะตือ จังหวัดอยุธยา ขนาดไล่เลี่ยกับวัดขุนอินทประมูล แต่อย่างน้อยก็ชี้ชัดว่า สมเด็จโตท่านนิยมสร้างพระ ผูกพันอยู่กับพระองค์ใหญ่

    นอกจากพระนอนวัดสะตือหรือที่วัดขุนอินทประมูลแล้ว ยังสร้างพระนั่งที่วัดไชโย อ่างทอง สร้างพระยืนไว้ที่วัดอินทรวรวิหารกรุงเทพฯ

    กรุพระสมเด็จที่พบใต้องค์พระไสยาสน์ คุณวิวัฒน์ อุดมกัลยาณรักษ์ เซียนพระสมเด็จรุ่นใหญ่ที่ลงแรงติดตามสืบค้นกับทุกคนที่เกี่ยว ข้องไปถึงพระอดีตสมภารที่ถูกหาว่ารู้เห็นกับการลักลอบขุดองค์ พระนอน ติดต่อกันยาวนานถึง 20 ปี จนบริเวณหลังองค์พระพังทลาย

    คุณวิวัฒน์บอกว่า ลึกลงไปจากองค์พระนอนประมาณ 2 เมตร มีช่องทางเดินรอบองค์พระ ของมีค่าถูกขนขึ้นไปหมดแล้ว กรมศิลปากรรับหน้าที่ดูแลต่อ ก็เจอหลักฐานและบันทึกไว้มากมาย มีการยอมรับกันเป็นทางการว่า มีพระสมเด็จบรรจุ อยู่ในโถกระเบื้องเคลือบสีเขียวใบตองหลายใบ เกือบทุกใบแตกหักเหลือโถสภาพสมบูรณ์เป็นหลักฐานอยู่ใบเดียว ข้างโถที่เหลือมีทองคำเปลวปิด มียันต์อักษรขอมเขียนทับ

    จุดที่พบพระอยู่ลึกจากระดับใต้พระ 1.5-2 เมตร ถือว่าอยู่ใต้ระดับน้ำ สภาพแวดล้อมที่พระอยู่ในอุโมงค์อับชื้น ทำให้ผิว คราบ และเนื้อพระ แตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหม

    อาจารย์สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์ ดูพระชุดที่คุณวิวัฒน์นำไป แล้วให้ความเห็นว่า ไม่ใช่พระปลอม เป็นพระแท้ แต่ไม่ยืนยันเป็นของสมเด็จพุฒาจารย์ นับเป็นข้อวินิจฉัยที่มีคุณค่าในการพิจารณาอีกด้านหนึ่ง

    ในทัศนะของผู้เขียน...พระสมเด็จกรุวัดขุนอินทประมูล เป็นพระแท้ โครงสร้างของเนื้อและธรรมชาติ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่บรรจุ เส้นสายลายพิมพ์ก็ไล่หลังพระสมเด็จมาตรฐาน พิมพ์ประธาน...อ่อนช้อยงดงาม เกือบเทียบกับพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เอมีเส้นแซมใต้ฐานได้

    ส่วนอีกสามพิมพ์ต่อมา พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ และพิมพ์คะแนน เส้นสายลายพิมพ์แข็งกระด้างไปนิด จนต้องสรุปว่าพระสมเด็จชุดนี้ แค่ฝีมือศิษย์สมเด็จโตสร้าง

    ข้อสังเกต พระสมเด็จที่พบใหม่ทุกกรุ มักมีปัญหา แต่เมื่อเป็นพระแท้ จำนวนพระมีคงที่ พระถูกใส่ตลับห้อยคอใช้ เหงื่อไคลและการจับลูบคลำ จนเนื้อพระมีความนุ่มนวลขึ้น คนดูพระคนเดียวกันมากมายเปลี่ยนใจจากดู พระเก๊ เป็นพระแท้

    ตัวอย่าง หลังเปิดกรุบางขุนพรหม สี่ห้าปี พระก็ยังมีปัญหาเซียนใหญ่บางคน ว่าเก๊ กรุเจดีย์เล็ก เถียงกันอยู่นานเป็นสิบปี ตอนนี้ไม่มีเสียงทักว่าเก๊ ซื้อขายกันองค์ เป็นแสนไปแล้ว.


    สมเด็จกรุวัดขุนอิน (3) - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
     
  5. ordturbo

    ordturbo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 เมษายน 2009
    โพสต์:
    406
    ค่าพลัง:
    +1,200
    ส่วนอีกสามพิมพ์ต่อมา พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ และพิมพ์คะแนน เส้นสายลายพิมพ์แข็งกระด้างไปนิด จนต้องสรุปว่าพระสมเด็จชุดนี้ แค่ฝีมือศิษย์สมเด็จโตสร้าง
    -----------------------------
    อันนี้ตรงใจใช่เลย แต่อีกสักสิบปี เนื้อหนึกนุ่มขึ้นจะเป็นของดีราคาแพงดัง
    เช่น บางขุนพรหมกรุเจดีย์เล็กหรือเปล่าเอย
     

แชร์หน้านี้

Loading...