มิลินทปัญหา วรรคที่ ๒

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย Kob, 31 ธันวาคม 2009.

  1. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ปัญหาที่ ๑ ถามความสืบต่อแห่งธรรม /สรุปความ
    ปัญหาที่ ๒ ถามความรู้สึกของผู้ไม่เกิดอีก
    ปัญหาที่ ๓ ถามที่ดับปัญญา
    อุปมาผู้จุดประทีป /อุปมาการเขียนเลข /อุปมาโอ่งน้ำ /อุปมารากยา /อุปมาผู้ถือลูกธนู
    ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องปรินิพพาน /สรุปความ
    ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องสุขเวทนา / อุปมาก้อนเหล็กแดงและหิมะ /สรุปความ
    ปัญหาที่ ๖ ถามการถือกําเนิดแห่งนามรูป / อุปมาด้วยผลมะม่วง /อุปมาด้วยไฟไหม้
    อุปมาด้วยประทีป / อุปมาเรื่องหมั้นเด็กหญิง /อุปมาด้วยนมสด / อธิบาย
    ปัญหาที่ ๗ ถามการเกิดอีกแห่งพระนาคเสน / อธิบาย
    ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องนามรูป
    ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องกาลนานยืดยาว


    [MUSIC]http://audio.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=44091[/MUSIC]


     
  2. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ตอนที่ ๖
    วรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๑ ถามความสืบต่อแห่งธรรม

    สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอได้ตรัสถามปัญหาต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้น หรือว่ากลายเป็นผู้อื่น ? "
    พระเถระถวายพระพรตอบว่า " ไม่ใช่ผู้นั้น และไม่ใช่ผู้อื่น "
    " โยมยังสงสัยขอนิมนต์อุปมาก่อน "
    " ขอถวายพระพร มหาบพิตรเข้าพระทัย ว่าอย่างไร...คือมหาบพิตรเข้าพระทัยว่า เมื่อมหาบพิตรยังเป็นเด็กอ่อน ยังนอนหงายอยู่ที่พระอู่นั้นบัดนี้ มหาบพิตรเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็คือเด็กอ่อนนั้น...อย่างนั้นหรือ? "
    " ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า คือเด็กอ่อนนั้นเป็น ผู้หนึ่งต่างหาก มาบัดนี้โยมซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก "
    " มหาราชะ เมื่อเป็นอย่างนั้น มารดาก็จักนับว่าไม่มี บิดาก็จักนับว่าไม่มี อาจารย์ก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศีลก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศิลปะก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีปัญญา ก็จักนับว่าไม่มี

    ทั้งนี้เพราะอะไร...เพราะว่ามารดาของ ผู้ยังเป็น กลละ อยู่ เป็นผู้หนึ่งต่างหาก มารดา ของผู้เป็น อัพพุทะ คือผู้กลายจากกลละ อันได้แก่กลายจากน้ำใส ๆ เล็ก ๆ มาเป็นน้ำ คล้ายกับน้ำล้างเนื้อ ก็ผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นกลายเป็นก้อนเนื้อ มารดาก็ผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นกลายเป็นแท่งเนื้อ มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก เมื่อผู้นั้นยังเล็กอยู่ มารดาก็เป็นผู้หนึ่งอีกต่างหาก เมื่อผู้นั้นโตขึ้น มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้น หรือ... ผู้ศึกษาศิลปะ ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้สําเร็จการศึกษาแล้ว ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้ทําบาปกรรมก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้มีมือ ด้วนเท้าด้วน ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้น หรือ? "

    " ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า ในเมื่อโยมกล่าว อย่างนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวว่าอย่างไร? "
    " ขอถวายพระพร เมื่อก่อนอาตมายังเป็นเด็กอ่อนอยู่ บัดนี้ ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อวัยวะทั้งปวงนั้น รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เพราะอาศัยกายอันนี้แหละ "
    " ขอได้โปรดอุปมาด้วย "
    " มหาราชะ เปรียบเสมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง จุดประทีปไว้ ประทีปนั้นจะสว่างอยู่ตลอดคืน หรือไม่? "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ประทีปนั้นต้องสว่าง อยู่ตลอดคืน "
    " มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้นก็คือ เปลวประทีปในยามกลางอย่างนั้นหรือ ? "
    " ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า "
    " เปลวประทีปในยามกลาง ก็คือเปลวประทีปในยามปลายอย่างนั้นหรือ? "
    " ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า "
    " มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามกลาง ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามปลาย ก็เป็น อย่างหนึ่ง อย่างนั้นหรือ ? "
    " ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า คือเปลวประทีป นั้นได้สว่างอยู่ตลอดคืน ก็เพราะอาศัยประทีป ดวงเดียวกันนั้นแหละ "

    " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ธรรมสันตติ ความสืบต่อแห่งธรรม ย่อมสืบ ต่อกัน เมื่อสิ่งหนึ่งเกิด สิ่งหนึ่งดับ ย่อมติดต่อ กันไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้ อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงซึ่งการจัดเข้าในวิญญาณ ดวงหลัง ขอถวายพระพร "
    " ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
    " มหาราชะ ในเวลาที่คนทั้งหลายรีดนม นมสดก็กลายเป็นนมส้ม เปลี่ยนจากนมส้ม ก็กลายเป็นนมข้น เมื่อเปลี่ยนจากนมข้น ก็กลายเป็นเปรียง ผู้ใดกล่าวว่า นมสดนั้นแหละคือนมส้ม นมส้มนั้นแหละคือนมข้น นมข้นนั้นแหละคือ เปรียง จะว่าผู้นั้นกล่าวถูกต้องดีหรืออย่างไร? "
    " ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า คือเปรียงนั้น ก็อาศัยนมสดเดิมนั้นแหละ "
    " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมสันตติ คือความสืบต่อแห่งธรรม ก็ย่อมสืบ ต่อกันไป อย่างหนึ่งเกิด อย่างหนึ่งดับ สืบต่อ กันไปไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่ ว่าได้แต่เพียงว่า ถึงซึ่งการสงเคราะห์ เข้าในวิญญาณดวงหลังเท่านั้น ขอถวายพระพร "
    " พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขนี้สมควรแล้ว "

    สรุปความ

    ปัญหานี้พระเจ้ามิลินท์เข้าใจว่า คนที่เกิดมาแล้ว จากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ ท่านเข้าใจว่า เป็นคนละคนกัน
    พระนาคเสนจึงชี้แจงว่า ความจริงก็เป็น คนเดียวกัน แต่ที่ท่านตอบว่า จะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่นั้น ก็เพราะอาศัย สันตติ ความสืบต่อกัน เปรียบเหมือนเปลวไฟและ นมสดที่เปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว จะว่าเป็นของเดิมก็ ไม่ได้ จะว่าเป็นของอื่นก็ไม่ได้ แต่ต้องอาศัย ความสืบต่อกันไป เหมือนกับร่างกายที่เกิดมา ก็อาศัยอวัยวะเดิมแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง เติบ โตขึ้นมาจนกว่าจะแก่เฒ่าไป ก็ชื่อว่าเป็นบุคคล เดียวกันนั่นเอง


    ปัญหาที่ ๒ ถามความรู้สึกของผู้ไม่เกิดอีก

    " ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลใดไม่เกิดอีก บุคคลนั้นรู้หรือไม่ว่า เราจักไม่เกิดอีก ? "
    " มหาราชะ ผู้ใดจะไม่เกิดอีก ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจักไม่เกิดอีก "
    " ข้าแต่พระคุณเจ้า ผู้นั้นรู้ได้อย่างไร? "
    " ขอถวายพระพร เหตุปัจจัยอันใดที่ทํา ให้ถือกําเนิด ผู้นั้นก็รู้ว่าเราจะไม่เกิด เพราะ ความดับไปแห่งเหตุปัจจัยอันนั้นแล้ว "
    " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
    " มหาราชะเปรียบเหมือนชาวนาไถนาแล้ว หว่านข้าวแล้ว ได้ข้าวไว้เต็มยุ้งแล้ว ต่อมาภายหลังเขาก็ไม่ไถไม่หว่านอีกเขามีแต่ บริโภคหรือขายซึ่งข้าวนั้น หรือทําอย่างใด อย่างหนึ่งตามเหตุปัจจัยที่มีมา ชาวนานั้นรู้หรือไม่ว่า ยุ้งข้าวของเราจักไม่เต็ม? "
    " รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า "
    " รู้อย่างไรล่ะ? "
    " อ๋อ..รู้เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทําให้ยุ้ง ข้าวเต็ม "
    " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้นั้นก็ รู้ว่าเราจักไม่เกิดอีกเพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะทําให้ถือกําเนิดแล้ว "
    " ถูกแล้ว พระนาคเสน "
    อธิบาย

    คําว่า "หมดเหตุปัจจัย" หมายความว่า เป็นผู้หมดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ที่จะทําให้เกิดอีก


    ปัญหาที่ ๓ ถามที่ดับปัญญา

    " ข้าแต่พระนาคเสน ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา เกิดแก่ผู้นั้นหรือ? "
    " เกิด...มหาราชะ คือ ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา ก็เกิดแก่ผู้นั้น "
    " ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดเป็นญาณ สิ่งนั้นหรือเป็นปัญญา? "
    " ถูกแล้ว..มหาราชะ คือสิ่งใดเป็นญาณ ก็สิ่งนั้นแหละเป็นปัญญา "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ญาณได้เกิดแก่ผู้ใด ปัญญานั้นได้เกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นหลงหรือไม่หลง? "
    " มหาราชะ ผู้มีปัญญาหลงในบางสิ่งบาง อย่าง ไม่หลงในบางสิ่งบางอย่าง "
    " หลงในสิ่งไหน ไม่หลงในสิ่งไหน? "
    " ขอถวายพระพร หลงในศิลปะที่ไม่ ชํานาญก็มี ในทิศที่ไม่เคยไปก็มี ในชื่อหรือ สถานที่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มี "
    " อ๋อ...แล้วไม่หลงในอะไร ผู้เป็นเจ้า? "
    " ไม่หลงในสิ่งที่ตนรู้แล้วว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็โมหะ คือความหลงของผู้นั้นไปอยู่ที่ไหนล่ะ? "
    " มหาราชะ พอ ญาณ เกิดแล้ว โมหะ คือความหลงก็ดับไปในญาณนั้นเอง "
    " ขอนิมนต์อุปมาเถิด "

    อุปมาผู้จุดประทีป

    " ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง จุดประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด ในขณะนั้น ความมืดก็ดับไป แสงสว่างก็ปรากฏขึ้นฉันใด เมื่อ ญาณ เกิดขึ้นแล้ว โมหะ ก็ดับไปในที่นั้น ฉันนั้นแหละ "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็ปัญญานั้นเล่า... ไปอยู่ที่ไหน? "
    " มหาราชะ ปัญญา ทําหน้าที่ของตนแล้ว ก็ดับไปในที่นั้นเอง สิ่งใดที่ทําด้วยปัญญานั้น ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ "
    " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้ว ก็ดับไป
    แต่สิ่งใดที่ทําด้วยปัญญานั้นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ ดังนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย "

    อุปมาการเขียนเลข

    " มหาราชะ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งอยากดูตัวเลขในกลางคืนจัดแจงให้จุด ประทีปขึ้นเขียนเลข เมื่อเขียนเลขแล้วก็ให้ ดับประทีป เมื่อประทีปดับแล้วเลขก็ยังไม่หายไปข้อนี้มีอุปมาฉันใด ปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่ สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น มิได้ดับไปฉันนั้น "
    " ขอพระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ยิ่งขึ้น "

    อุปมาโอ่งน้ำ

    " ขอถวายพระพร เปรียบประดุจพวกมนุษย์ ในชนบทตะวันออก จัดตั้งโอ่งน้ำไว้ ๕ โอ่งข้างประตูเพื่อดับไฟที่จะไหม้เรือน เมื่อไฟไหม้เรือนแล้ว โอ่งน้ำ ๕ โอ่งนั้น เขาก็นําไปเก็บไว้ในละแวกบ้าน ไฟก็ดับไปชาวบ้านคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทําสิ่งที่จําเป็น ด้วยโอ่งน้ำเหล่านั้นอีก? "
    " ไม่คิด ผู้เป็นเจ้า เพราะไม่มีความจําเป็น กับโอ่งน้ำเหล่านั้นอีกแล้ว ด้วยว่าไฟก็ดับแล้ว เขาจึงนําไปเก็บไว้อย่างนั้น "
    " มหาราชะ ควรเห็น อินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้นว่า เปรียบเหมือนกับโอ่งน้ำทั้ง ๕ พระโยคาวจรเปรียบเหมือนชาวบ้าน กิเลสเปรียบ เหมือนไฟ กิเลสดับไปด้วยอินทรีย์ ๕ เปรียบเหมือนกับ ไฟดับไปด้วยน้ำทั้ง ๕ โอ่งนั้น กิเลสที่ดับ ไปแล้วย่อมไม่เกิดขึ้นอีกฉันใด เมื่อปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไป แต่สิ่งที่รู้ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น มิได้ดับไปฉันนั้น
    " ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "

    อุปมารากยา

    " มหาราชะ เปรียบปานประหนึ่งว่าแพทย์ ผู้ถือเอารากยา ๕ รากไปหาคนไข้ บดรากยาทั้ง ๕ นั้น แล้วละลายน้ำให้คนไข้ดื่ม โรคนั้นก็หายไปด้วยรากยาทั้ง ๕ รากนั้น แพทย์นั้นคิดหรือไม่ว่าเราจักต้องทํากิจที่ควรทําด้วยรากยาเหล่านั้นอีก? "
    " ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า "
    " มหาราชะ รากยาทั้ง ๕ นั้น เหมือนอินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้น แพทย์นั้นเหมือน พระโยคาวจร ความเจ็บไข้เหมือนกิเลส บุรุษผู้เจ็บไข้เหมือนปุถุชน ไข้หายไปด้วยยาทั้ง ๕ รากนั้นแล้ว ผู้เจ็บไข้นั้น ก็หายโรคฉันใด เมื่อกิเลสออกไปด้วยอินทรีย์ ๕ แล้ว กิเลสก็ไม่เกิดอีก อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าปัญญาทําหน้าที่ของตนแล้วดับไป แต่สิ่ง ที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น หามิได้ดับไปฉันนั้น "
    " นิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก "

    อุปมาผู้ถือลูกธนู

    " มหาราชะ เหมือนกับบุรุษผู้จะเข้าสู่สงคราม ถือเอาลูกธนู ๕ ลูก แล้วเข้าสู่สงคราม เพื่อต่อสู้กับข้าศึก เขาเข้าสู่สงคราม แล้วก็ยิงลูกธนูไป ข้าศึกก็แตกพ่ายไป บุรุษนั้นคิดหรือไม่ว่า เราจักต้องทํากิจด้วยลูกธนู เหล่านั้นอีก? "
    " ไม่คิด พระผู้เป็นเจ้า "
    " มหาราชะ ควรเห็น อินทรีย์ ๕ เหมือนลูกธนูทั้ง ๕พระโยคาวจรเหมือนกับผู้เข้าสู่
    สงคราม กิเลสเหมือนกับข้าศึก กิเลสแตกหัก ไปเหมือนกับข้าศึกพ่ายแพ้ กิเลสดับไปแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกอย่างนี้ แหละ มหาบพิตร ชื่อว่าปัญญาทําหน้าที่ของ ตนแล้วดับไป แต่สิ่งที่รู้ด้วยปัญญาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นหามิได้ดับไป ขอ ถวายพระพร "
    " แก้ดีแล้ว พระนาคเสน "


    ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องปรินิพพาน

    " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะไม่เกิดอีก ผู้นั้นยังได้เสวยทุกขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่? "
    " ขอถวายพระพรได้เสวยก็มีไม่ได้เสวยก็มี "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่าได้เสวยก็มี ไม่ได้เสวยก็มีนั้น คือเสวยอะไร ไม่ได้เสวย อะไร? "
    " ขอถวายพระพร ได้เสวยเวทนาทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ "
    " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าได้เสวยเวทนา ทางกาย แต่ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจนั้น คือ อย่างไร? "
    " ขอถวายพระพร คือเหตุปัจจัยอันใด ที่จะให้เกิดทุกขเวทนาทางกายยังมีอยู่ ผู้นั้นก็ยังได้เสวยทุกขเวทนาทางกายอยู่ เหตุปัจจัยอันใดที่จะให้เกิดทุกขเวทนาทางใจดับไปแล้ว ผู้นั้นก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาทางใจ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระจอมไตรตรัสไว้ว่า
    "ผู้นั้นได้เสวยเวทนาทางกายอย่าง เดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ"
    " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ไม่ได้เสวยทุกข เวทนาแล้วนั้น เหตุไรจึงยังไม่ปรินิพพาน? "

    " ขอถวายพระพร ความยินดีหรือยินร้าย ไม่มีแก่พระอรหันต์เลย พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมไม่ทําสิ่งที่ยังไม่แก่ไม่สุกให้ตกไปมีแต่ รอการแก่การสุกอยู่เท่านั้น ข้อนี้สมกับ พระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นเสนาบดีในทางธรรมได้กล่าวไว้ว่า[/color]
    "เราไม่ยินดีต่อมรณะ เราไม่ยินดีต่อชีวิต เรารอแต่เวลาอยู่ เหมือนกับลูกจ้างรอ เวลารับค่าจ้างเท่านั้น เราไม่ยินดีต่อมรณะ ไม่ยินดีต่อชีวิต เราผู้มีสติสัมปชัญญะ รอแต่เวลาอยู่เท่านั้น"
    " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูก ต้องดีแล้ว "

    สรุปความ

    ในข้อนี้มีความหมายว่า พระอรหันต์ยัง ต้องมีความทุกข์ทางกาย เช่น หนาวร้อน หิว กระหายปวดอุจจาระปัสสาวะการป่วยไข้ไม่สบาย ความแก่ และความตาย เป็นต้น แต่จิตใจของท่านไม่กระวนกระวายไม่ เป็นทุกข์ไปด้วย ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา พระนาคเสนจึงตอบว่า
    " ผู้ที่ไม่เกิดอีก จึงได้เสวยเวทนาแต่ ทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ "ดังนี้


    ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องสุขเวทนา

    " ข้าแต่พระนาคเสน สุขเวทนา เป็นกุศล หรืออกุศล หรืออัพยากฤต? " ( อัพยากฤต หมายถึง ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล คือเป็นนิพพาน )
    " ขอถวายพระพรเป็นกุศลก็มีอกุศลก็มี อัพยากฤตก็มี "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นกุศลก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็ไม่เป็นกุศล คํากล่าวว่า" สุขเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งทุกข์ "ก็ไม่ควร "

    อุปมาก้อนเหล็กแดงและหิมะ

    " ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงเข้า พระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือถ้ามีก้อนเหล็ก
    แดงวางอยู่ที่มือข้างหนึ่งของบุรุษคนหนึ่ง และมีก้อนหิมะเย็นวางอยู่ที่มืออีกข้างหนึ่ง มือทั้งสองข้างจะถูกเผาเหมือนกันหรือ... มหาบพิตร? "
    " ถูกเผาเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า "
    " ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะร้อน เหมือนกันหรือ? "
    " ไม่ร้อนเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า "
    " ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะเย็น เหมือนกันหรือ? "
    " ไม่เย็นเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า "

    " ขอมหาบพิตรจงทราบว่ามหาบพิตร ถูกกล่าวข่มขี่แล้ว คือ ถ้าก้อนเหล็กแดง อัน
    ร้อนเป็นของเผา ก็จะต้องเผามือทั้งสองข้าง แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อน เพราะฉะนั้น ถ้อยคําของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้ ถ้าของที่เย็นเป็นของเผา มือทั้งสองข้าง ก็จะต้องถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างไม่เย็นเหมือน กัน เพราะฉะนั้น คําของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้
    ขอถวายพระพร เหตุไรจึงว่ามือทั้งสองข้างถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อนเหมือนกันไม่เย็นเหมือนกันข้างหนึ่งร้อนอีกข้าง หนึ่งเย็น เพราะฉะนั้น คําที่มหาบพิตรตรัสว่ามือทั้งสองข้างถูกเผานั้นจึงใช้ไม่ได้ "

    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจโต้ตอบ กับพระผู้เป็นเจ้าได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจง แก้ไขไปเถิด "
    ลําดับนั้น พระเถระจึงทําให้พระเจ้า มิลินท์ทรงเข้าพระทัยได้ด้วยคาถาอันประกอบ ด้วย อภิธรรม ว่า
    " มหาราชะ โสมนัสเวทนา ( ความรู้สึก ยินดี ) อันอาศัยการครองเรือน ( กามคุณ ๕ ) มีอยู่ ๖
    อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖
    โทมนัสเวทนา ( ความรู้สึกยินร้าย )อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวช มีอยู่ ๖
    อุเบกขาเวทนา ( ความรู้สึกวางเฉย )อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวช มีอยู่ ๖
    เวทนาทั้ง ๓๖ อย่างนี้ แยกเป็นเวทนาที่ เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน รวมเข้าด้วย กันเป็น เวทนา ๑๐๘ ขอถวายพระพร "
    " พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว "

    สรุปความ

    พระเจ้ามิลินท์ไม่ทรงเห็นด้วยกับพระนาคเสนที่ว่า สุขเวทนาเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ถ้าสุขเวทนาเป็นกุศล ควรให้ผลแต่สุข ไม่ควร ให้ทุกข์ด้วย
    แต่พระนาคเสนยังคงยืนยันตามเดิม โดยยกตัวอย่างมาซักถาม เพื่อลวงให้พระราชา ตอบผิด จะสังเกตได้ว่าการตอบคําถาม ท่าน จะไม่ค้านหรือตําหนิโดยตรง เป็นแต่ใช้อุบาย เพื่อรักษาน้ำใจเท่านั้น อันนี้เป็นหลักในการ สนทนาธรรมของท่าน

    ในฎีกามิลินท์ท่านอธิบายว่า ความจริง นั้นมีอยู่ว่า ถึงสุขเวทนาที่เป็นกุศล ก็เป็นทุกข์ได้ เพราะเป็นทุกข์สังขาร และเป็นทุกข์แปรปรวน ถึงทุกข์อันได้แก่ โทมนัส คือ ความไม่ชอบใจ ที่อาศัยการถือบวชนั้น ก็เป็น กุศลได้ เพราะเป็นของไม่มีโทษ
    แต่พระเถระคิดว่า เมื่อเราตั้งปัญหาว่า ด้วย " ก้อนเหล็กแดงกับก้อนหิมะ " ถามพระราชาพระราชาก็จะแก้ผิดเราจักชี้โทษว่าแก้ผิด เมื่อพระราชาไม่อาจแก้ได้ ก็จะขอ ให้เราแก้ เราจึงจะทําให้พระราชาเข้าใจตามความจริงได้

    เมื่อพระเถระถามว่ามือทั้งสองข้างนั้น ถูกเผาเหมือนกันหรือพระราชาก็จะต้องตอบผิดว่า ถูกเผาเหมือนกัน เพราะได้ทรงสดับมาว่า ของเย็นของร้อนจัดเป็น " เตโชธาตุ "
    ทั้งทรงเข้าพระทัยว่า ก้อนหิมะเย็นเป็น ของกัดอย่างร้ายแรง เมื่อทรงเข้าพระทัยผิด อย่างนี้ ก็ตรัสตอบว่า มือทั้งสองข้างถูกเผา เหมือนกัน

    เมื่อพระเถระซักถามต่อไปว่า ถ้ามือทั้ง สองข้างถูกเผา ก็จะต้องร้อนเหมือนกัน หรือ จะต้องเย็นเหมือนกันใช่ไหมพระเจ้ามิลินท์ ตรัสว่า" ไม่ใช่ "ดังนี้
    แล้วพระนาคเสนจึงเอาประเด็นนี้เป็นความผิด เพื่อชี้โทษที่ทรงเห็นผิดในข้อนี้ เมื่อพระราชาอับจนต่อปัญหาที่ยกตัวอย่างมานี้ จึงเปิดโอกาสให้ชี้แจงได้ เป็นการยอมรับฟัง ความเห็นของพระเถระว่า

    " บุรุษผู้หนึ่งจับก้อนเหล็กแดงด้วยมือข้างหนึ่ง และจับก้อนหิมะด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งสิ่งของทั้งสองอย่างนี้ ถึงแม้จะมีสภาพตรง กันข้าม แต่ก็ให้ความรู้สึกทั้งร้อนและเย็นแก่ ผู้จับเหมือนกันฉันใด
    สุขเวทนา อันมีใน เวทนา ๑๐๘ ก็ ย่อมให้ความรู้สึกทั้งที่เป็น กุศล อกุศล และ
    อัพยากฤต เช่นกันฉันนั้น

    ตอนที่ ๗ ปัญหาที่ ๖ ถามการถือกําเนิดแห่งนามรูป

    “ ข้าแต่พระนาคเสน อะไรปฏิสนธิ คือถือกําเนิด ? ”
    “ มหาราชะ นามรูป ถือกําเนิด ”
    “ นามรูปนี้หรือ...ถือกําเนิด ? ”
    “ มหาราชะ นามรูปนี้ไม่ได้ถือกําเนิด แต่ ว่าบุคคลทํากรรมดีหรือชั่วด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นก็ถือกําเนิดด้วยกรรมนั้น ”
    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้านามรูปนี้ไม่ได้ถือกําเนิด ผู้นั้นก็จักพ้นบาปกรรมทั้งหลายไม่ใช่ หรือ ? ”
    “ ขอถวายพระพร ถ้าผู้นั้นไม่เกิดแล้ว ก็พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่ถ้ายังเกิดอยู่ก็หาพ้นไม่ ”
    “ ขอนิมนต์ได้โปรดอุปมาด้วย ”


    อุปมาด้วยผลมะม่วง

    “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง ไปขโมยผลมะม่วงของเขามา แต่เจ้าของมะม่วงนั้นจับได้ จึงนําไปถวายพระราชา กราบทูลว่า บุรุษผู้นี้ขโมยมะม่วงของข้าพระองค์
    บุรุษนั้นจะต้องกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ข้าพระองค์มิได้ขโมยมะม่วงของบุรุษนี้ มะม่วงที่บุรุษนี้ปลูกไว้เป็นมะม่วงอื่น ส่วน มะม่วงที่ข้าพระองค์นําไปนั้น เป็นมะม่วงอื่น อีกต่างหาก ข้าพระองค์ไม่ควรได้รับโทษ ดังนี้
    อาตมภาพจึงขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษผู้นั้นควรจะได้รับโทษหรืออย่างไร ? ”
    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้นควรได้รับโทษ ”
    “ เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร ? ”
    “ เพราะว่า บุรุษนั้นรับว่าไปเอาผลมะม่วงมาแล้ว แต่บอกว่าเอาผลมะม่วงลูกก่อนไป ถึงกระนั้นก็ควรได้รับโทษด้วยผลมะม่วงลูกหลัง ”
    “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลทํากรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้ แล้วนามรูปอื่นก็ถือกําเนิดสืบต่อกันด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นไปจากบาปกรรม ขอถวายพระพร ”
    “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”


    อุปมาด้วยไฟไหม้

    “ ขอถวายพระพร มีบุรุษคนหนึ่งก่อไฟ ไว้ในฤดูหนาว แล้วทิ้งไว้มิได้ดับไฟ ได้ไปเสียที่อื่น ไฟนั้นได้ไหม้นาของผู้อื่น เจ้าของนาจึง จับบุรุษนั้นไปถวายพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ บุรุษนี้เผานาของข้าพระองค์
    บุรุษนั้นจะต้องทูลให้การว่า ข้าพระองค์ ไม่ได้เผานาของผู้นี้ ไฟนั้นถึงข้าพระองค์ไม่ได้ดับ แต่ไฟที่ไหม้นาของผู้นี้ก็เป็นไฟอื่นต่างหาก ข้าพระองค์ไม่มีโทษ ดังนี้
    อาตมภาพขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษนั้น จะมีโทษหรือไม่ ? ”
    “ ต้องมีโทษซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
    “ เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? ”
    “ อ๋อ...เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะหมาย เอาไฟก่อนก็ตาม แต่ก็ควรได้รับโทษด้วยไฟ หลัง ”
    “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลทํากรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้ แล้วนามรูปอื่นก็ถือกําเนิดด้วยกรรมนั้น เพราะ ฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ”
    “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

    อุปมาด้วยประทีป

    “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษคนหนึ่ง ถือเอาประทีปเข้าไปที่เรือนโรงแล้ว กินข้าว ประทีปก็ลุกลามไปไหม้หญ้า หญ้าก็ลุกลามไปไหม้เรือน เรือนก็ลุกลามไปไหม้หมู่บ้าน
    ชาวบ้านจึงพากันจับบุรุษนั้น แล้วถามว่า เหตุไฉนเจ้าจึงเผาบ้าน บุรุษนั้นจึงตอบว่า เรานั่งกินข้าวอยู่ด้วยประทีปอื่นต่างหาก ส่วน ไฟที่ไหม้บ้านเป็นไฟอื่นอีกต่างหาก
    เมื่อโต้เถียงกันอย่างนี้ เขาพากันมาเฝ้า มหาบพิตร กราบทูลว่า มหาราชเจ้าจะรักษา ประโยชน์ของใครไว้ พระเจ้าข้า มหาบพิตร จะตรัสตอบว่าอย่างไร ? ”
    “ โยมจะตอบว่า จะรักษาประโยชน์ของ ชาวบ้านไว้ ”
    “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ”
    “ เพราะว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ว่าไฟนั้นเกิดมาจากประทีปดวงก่อน นั้นเอง ”
    “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถึง นามรูปอันมีในที่สุดแห่งความตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกําเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ ตาม แต่ว่านามรูปนั้นเกิดจากนามรูปเดิม เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ”
    “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”


    อุปมาเรื่องหมั้นเด็กหญิง

    “ ขอถวายพระพร เปรียบปานบุรุษผู้หนึ่ง หมั้นเด็กหญิงที่ยังเล็ก ๆ เอาไว้ ให้ของหมั้น แล้วกลับไป ต่อมาภายหลังเด็กหญิงคนนั้นก็เติบโตขึ้น มีบุรุษอีกคนหนึ่งมาให้ของหมั้นแล้วแต่งงาน บุรุษที่หมั้นไว้ก่อนจึงมาต่อว่า บุรุษนั้นว่า เหตุใดเจ้าจึงนําภรรยาของเราไป
    บุรุษนั้นก็ตอบว่า เราไม่ได้นําภรรยาของเจ้าไป เด็กหญิงเล็ก ๆ คนนั้น ที่เจ้าขอไว้แล้วให้ของหมั้นไว้นั้น เป็นคนหนึ่งต่างหาก เด็กหญิงที่เติบโตแล้ว ที่เราสู่ขอแล้วนี้ เป็นคนหนึ่งอีกต่างหาก
    เมื่อบุรุษทั้งสองนั้นโต้เถียงกันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์จะทรงวินิจฉัยให้หญิงนั้น แก่ใคร ? ”
    “ อ๋อ...ต้องให้แก่บุรุษคนก่อนนะซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
    “ เพราะเหตุใด มหาบพิตร ? ”
    “ เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่เด็กสาวคนนั้นก็เติบโตต่อมาจาก เด็กหญิงเล็ก ๆ นั้นเอง ”
    “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ถึงนามรูปอันมีต่อไปจนกระทั่งตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกําเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม แต่นามรูปนั้นก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นเอง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาป กรรม ”
    “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก ”


    อุปมาด้วยนมสด

    “ ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับบุรุษผู้หนึ่ง ไปซื้อนมสดจากมือนายโคบาล แล้วฝากนายโคบาลนั้นไว้ ด้วยคิดว่า พรุ่งนี้เช้าจึงจะมา รับเอาไป ต่อมานมสดนั้น ก็กลายเป็นนมส้ม
    เมื่อบุรุษนั้นมาก็บอกนายโคบาลว่า จงให้หม้อนมสดนั้นแก่เรา นายโคบาลนั้นก็ส่งหม้อนมส้มให้ ฝ่ายผู้ซื้อก็กล่าวว่า เราไม่ได้ซื้อนมส้มจากเจ้า เจ้าจงให้นมสดแก่เรา นาย โคบาลก็ตอบว่า นมสดนั้นแหละกลายเป็น นมส้ม

    ลําดับนั้น คนทั้งสองได้โต้เถียงกันไม่ตกลง จึงพากันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์ จะทรงวินิจฉัยให้คนไหนชนะ ? ”
    “ โยมต้องวินิจฉัยให้นายโคบาลชนะ ”
    “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ”
    “ เพราะถึงบุรุษนั้นกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่นมส้มนั้นก็เกิดมาจากนมสดนั่นเอง ”
    “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงนามรูปที่มีต่อมา จนกระทั่งเวลาตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกําเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม แต่ก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ขอถวาย พระพร ”
    “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

    อธิบาย

    คําว่า “ นามรูป ” ในที่นี้ท่านหมายถึง “ จิต ” และ “ กาย ” ส่วนคําว่า “ นามรูปนี้ ” เป็น “ นามรูปอื่น ” ท่านหมายความว่า บุคคลที่ยังเกิดอยู่นั้น เพราะผลกรรมของตน ( นามรูปนี้ ) ที่กระทําไว้แต่ชาติก่อน ถ้าเป็นกรรมชั่วให้ผล ถึงจะเกิดอีกกี่ชาติ ( นามรูปอื่น ) ก็หาพ้นจากบาปกรรมที่ตนทําไว้แต่เดิมไม่ จนกว่าจะไม่เกิดอีกถึงจะพ้นจาก ผลกรรมเหล่านั้น

    ฎีกามิลินท์ อธิบายคําว่า “ นามรูปอื่น ” หมายถึงนามรูปในอนาคต ที่มีอยู่ในสุคติ และทุคติ ที่เกิดสืบต่อไปด้วยนามรูปปัจจุบัน

    “ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาลึก ผู้ศึกษาควรใคร่ครวญด้วยปัญญาของตนเองด้วยเนื้อความอันใดดีกว่าเนื้อความที่เรากล่าวแล้ว ก็ควรถือเอาเนื้อความอันนั้น ”


    ปัญหาที่ ๗ ถามการเกิดอีกแห่งพระนาคเสน

    “ ข้าแต่พระนาคเสน ก็พระผู้เป็นเจ้าล่ะ จะเกิดอีกหรือไม่ ? ”
    “ อย่าเลยมหาบพิตร พระองค์จะต้องพระประสงค์อันใด ด้วยคําถามนี้ เพราะอาตมภาพได้กล่าว ไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทาน คือความยึดถืออยู่ ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดถือแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก ”
    “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
    “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่ง ได้กระทําความดีไว้ต่อพระราชา พระ ราชาก็ทรงโปรดปรานเขา ได้พระราชทานทรัพย์ และยศแก่เขา เขาก็ได้รับความสุขในทาง กามคุณ ๕ ด้วยได้รับพระราชทานทรัพย์ และยศนั้น
    ถ้าบุรุษนั้นบอกแก่มหาชนว่า พระราชาไม่ได้พระราชทานสิ่งใดแก่เรา มหาบพิตรจะ ทรงวินิจฉัยว่า บุรุษนั้นพูดถูกหรือไม่ ? ”
    “ ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า ”
    “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จะ ประโยชน์อันใดด้วยคําถามนี้ เพราะอาตมภาพ ได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าอาตมภาพ ยังมีความยึดมั่นอยู่ ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดมั่นแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก ขอถวายพระพร ”
    “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

    อธิบาย

    ฎีกามิลินท์ กล่าวว่า ปัญหาข้อที่ ๗ นี้เคยถามมาก่อนแล้วข้างต้นโน้น แต่ที่ถามอีก ก็เพราะอยากจะฟังคําอุปมา


    ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องนามรูป

    “ ข้าแต่พระนาคเสน คําว่า นามรูป ที่พระ ผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วนั้นอะไรเป็นนามรูป ? ”
    “ รูปใดเป็นรูปหยาบ รูปนั้นแหละเป็น “ รูป ” ส่วนสิ่งใดเป็นของละเอียด คือ จิตและเจตสิก สิ่งนั้นเรียกว่า “ นาม ”
    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เหตุใดจึงถือกําเนิดแต่นาม ส่วนรูปไม่ถือกําเนิดล่ะ ? ”
    “ ขอถวายพระพร สิ่งเหล่านั้นอาศัยกันและกัน ย่อมเกิดด้วยกัน ”
    “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
    “ ขอถวายพระพร ถ้าแม่ไก่ไม่มีกลละ ( น้ำใส ๆ เล็ก ๆ ) ไข่ก็ไม่มี กลละกับไข่ทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดร่วมกันไปฉันใด
    ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้านามไม่มี รูปก็เกิดไม่ได้ นามกับรูป ทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดด้วยกัน “ นาม ” กับ “ รูป ” ทั้งสองนี้ เวียนวนมาในวัฏสงสารสิ้นกาลนานนักหนาแล้ว ”
    “ สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”


    ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องกาลนานยืดยาว

    “ ข้าแต่พระนาคเสน คําที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า “ สิ้นกาลนานนักหนาแล้วนั้น ” คําว่า “ นาน ” นั้น หมายถึงอะไร ? ”
    “ ขอถวายพระพร หมายถึง กาล อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ”
    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สังขารทั้งหลายมีอยู่ นานทั้งนั้นหรือ ? ”
    “ ขอถวายพระพร บางอย่างก็มี บางอย่างก็ไม่มี ”
    “ อะไรมี..อะไรไม่มี ? ”
    “ ขอถวายพระพร สังขารที่ล่วงลับดับ สลายไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ไม่มีส่วนสิ่ง ที่เป็นผลกรรม และสิ่งที่เป็นผลกรรมให้เกิด ต่อไปนั้นยังมีอยู่นาน สัตว์เหล่าใดตายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นไปเกิดในที่อื่น สัตว์เหล่านั้นยังมีอยู่นาน ส่วนพระอริยบุคคลที่ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ไม่มีอยู่อีก เพราะปรินิพพานแล้ว ขอถวายพระพร ”
    “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

    จบวรรคที่ ๒

    ที่มา : http://www.tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=127#fourth
     

แชร์หน้านี้

Loading...