มิลินทปัญหา วรรคที่ ๑

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย Kob, 25 ธันวาคม 2009.

  1. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    มิลินทปัญหา วรรคที่ ๑
    ปัญหาที่ ๑ ถามชื่อ
    ปัญหาที่ ๒ ถามพรรษา
    ปัญหาที่ ๓ ถามลองปัญญา
    ปัญหาที่ ๔ ปัญหาของอันตกายอํามาตย์
    ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องบรรพชา
    ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องปฏิสนธิ เกิด
    ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องมนสิการ การกําหนดจิต
    ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องลักษณะมนสิการ
    ปัญหาที่ ๙ ถามลักษณะศีล
    ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะศรัทธา
    ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะวิริยะ
    ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะสติ
    ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะสมาธิ
    ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะปัญญา
    ปัญหาที่ ๑๕ ถามหน้าที่แห่งธรรมต่างๆ กัน


    ตอนที่ ๔

    สําหรับในตอนนี้ จะเป็นตอนเริ่มเข้าเรื่อง การถามปัญหากัน ก่อนที่จะเริ่มปัญหาแรก
    ขอนํา " พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้ามิลินท์ " ( เรียบเรียงโดย วศิน อินทสระ ) มาให้ทราบไว้ดังนี้

    พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

    พระพุทธศาสนา เจริญเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือ พระเจ้าเมนันเดอร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อ
    สายกรีก ที่มาปกครองอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง ขอเล่าความย้อนต้นไปสักเล็กน้อยว่า
    เมื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพเข้ารุกรานอินเดีย และเลิกทัพกลับไปนั้น แคว้นที่ทรงตีได้แล้ว ก็โปรดให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแล ทิ้งกองทหารกรีกไว้บางส่วน ฝรั่งชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งเป็นอาณาจักรอิสระขึ้น
    เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว อาณาจักรที่มีกําลังมาก คือ อาณาจักรซีเรีย และ อาณาจักรบากเตรีย ( ปัจจุบันคือ เตอรกี และ อัฟกานิสถาน )

    ครั้นถึง พ.ศ.๓๙๒ พระเจ้าเมนันเดอร์ หรือที่เรียกในคัมภีร์บาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ยกกองทัพตีเมืองต่าง ๆ แผ่พระราชอํานาจลงมาถึงตอนเหนือ พระองค์เดิมทีมิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป
    เนื่องจากทรงแตกฉานวิชาไตรเพท ( ของพราหมณ์ ) และ ศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย พระองค์จึงประกาศโต้วาที กับนักบวชในลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญาปรากฏ ว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้

    พระเจ้ามิลินท์แห่งวงศ์โยนก ในเวลานั้น ชาวเมืองเรียกว่า " ชาวโยนก " แต่ชาว อินเดียเรียก " ยะวะนะ " หมายถึงพวกไอโอเนีย ( แคว้นไอโอเนียอยู่ทางตะวันตกของเอเซียไมเนอร์ ) เมืองสาคลนคร ตั้งอยู่ ในแคว้นคันธาระ ( ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันคือ แคชเมียร์ ) ดังนี้

    [MUSIC]http://audio.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=44072[/MUSIC]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ธันวาคม 2009
  2. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ปัญหาที่ ๑๑ ถามลักษณะวิริยะ

    " ข้าแต่พระนาคเสน วิริยะ คือความเพียร มีลักษณะอย่างไร ? "
    " มหาราชะ ความเพียร มีการ ค้ำจุนไว้ เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น อันความเพียรค้ำจุนไว้แล้วย่อมไม่เสื่อม "
    " ขอนิมนต์อุปมาก่อน "

    อุปมาเรือนที่จะล้ม

    " ขอถวายพระพร เมื่อเรือนจะล้ม บุคคลค้ำไว้ด้วยไม้อื่น เรือนที่ถูกค้ำไว้นั้น ก็ไม่ล้มฉันใด ความเพียรก็มีการค้ำจุนไว้ เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น ก็ไม่เสื่อมฉันนั้น "
    " ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "

    อุปมาพวกเสนา

    "มหาราชะ พวกเสนาจํานวนน้อย ต้อง พ่ายแพ้แก่เสนาหมู่มาก หากพระราชาทรง กําชับไปให้ดี ทั้งเพิ่มกองหนุนส่งไปให้ เสนาจํานวนน้อยกับกองหนุนนั้น ต้องชนะ เสนาหมู่มากได้ฉันใด ความเพียรก็มีการค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น อันความเพียรอุดหนุนแล้ว ก็ไม่เสื่อมฉันนั้น "

    ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทรงธรรม์ตรัสไว้ว่า " อริยสาวกผู้มีความเพียรเป็นกําลัง ย่อม ละอกุศล เจริญกุศลได้ ละสิ่งที่มีโทษ เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษได้ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
    " พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว "

    อธิบาย

    การทําความเพียรนั้น คือไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ถ้าหย่อนเกินไป ก็จะเอียง ไปทางเกียจคร้าน ถ้าตึงเกินไปก็จะฟุ้งซ่าน จึงควรทําความเพียรแต่พอดี

    ปัญหาที่ ๑๒ ถามลักษณะสติ
    " ข้าแต่พระนาคเสน สติ มีลักษณะ อย่างไร ? "
    " มหาราชะ สติ มีลักษณะ ๒ ประการคือ
    ๑. มีการเตือน เป็นลักษณะ
    ๒. มีการถือไว้ เป็นลักษณะ ขอถวาย พระพร "

    สติมีการเตือน
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่า สติมีการเตือน เป็นลักษณะนั้น คืออย่างไร ? "
    " ขอถวายพระพร สติเมื่อเกิดขึ้น ก็เตือนให้รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เลวดี ดําขาว ว่า เหล่านี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้เป็น สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้เป็นอิทธิบาท ๔ เหล่านี้เป็นอินทรีย์ ๕ เหล่านี้เป็นพละ ๕ เหล่านี้เป็นโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้เป็นอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ อันนี้เป็นสมถะ อันนี้ เป็นวิปัสสนา อันนี้เป็นวิชชา อันนี้เป็นวิมุตติ เหล่านี้เป็นเจตสิกธรรม ดังนี้

    ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็เกี่ยวข้อง ธรรมที่ควรเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องธรรมที่ ไม่ควรเกี่ยวข้อง คบหาธรรมที่ควรคบหา ไม่คบหาธรรมที่ไม่ควรคบหา อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า
    สติมีการเตือน เป็น ลักษณะ "
    " ขอได้โปรดอุปมาด้วย "

    อุปมานายคลังของพระราชา

    " มหาราชะ นายคลังของพระราชา ย่อมทูลเตือนพระเจ้าจักรพรรดิ ให้ทรงระลึกถึง ราชสมบัติในเวลาเช้าเย็นว่า " ข้าแต่สมมุติเทพ ช้างของพระองค์มีเท่านี้ ม้ามีเท่านี้ รถมีเท่านี้ พลเดินเท้ามีเท่านี้ เงินมีเท่านี้ ทองมีเท่านี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่เจ้าของมีเท่านี้ ขอพระองค์จงทรง ระลึกเถิด พระเจ้าข้า "

    ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ เตือนให้ระลึกถึงธรรมที่เป็นกุศล อกุศล มี โทษไม่มีโทษ เลวดี ดําขาว ว่าเหล่านี้เป็น สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ฯ ล ฯ ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็เกี่ยวข้องกับ ธรรมที่ควรเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมที่ ไม่ควรเกี่ยวข้อง คบกับธรรมที่ควรคบ ไม่ คบกับธรรมที่ไม่ควรคบ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สติมีการเตือน เป็นลักษณะ "
    " ชอบแล้ว พระนาคเสน "

    สติมีการถือไว้

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่า สติมีการถือไว้เป็นลักษณะนั้น เป็นประการใด ? "
    " มหาราชะ สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ชักชวน ให้ถือเอาซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลายว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็ละธรรมอัน ไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาธรรมที่มีประโยชน์ ละธรรมที่ไม่มีอุปการะเสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า
    สติมีการถือเอาไว้ เป็นลักษณะ "
    " ขอนิมนต์อุปมาให้ทราบด้วย "

    อุปมานายประตูของพระราชา
    " มหาราชะ นายประตูของพระราชาย่อม ต้องรู้จักผู้ที่มีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ แก่พระราชา ผู้ที่มีอุปการะ หรือไม่มีอุปการะ แก่พระราชา เป็นต้น ลําดับนั้น นายประตูก็กําจัดพวกที่ไม่มี ประโยชน์เสีย รับให้เข้าไปเฉพาะพวกที่มี ประโยชน์ กําจัดพวกที่ไม่มีอุปการะเสีย ให้ เข้าไปแต่พวกที่มีอุปการะฉันใด

    สติเมื่อเกิดขึ้น ก็ชักชวนให้ถือเอาคติแห่งธรรมทั้งหลายฉันนั้น ว่าธรรมเหล่านี้มี ประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรม เหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ลําดับนั้น พระโยคาวจรก็กําจัดธรรมอัน ไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีประโยชน์ ละธรรมอันไม่มีอุปการะเสีย ถือเอาแต่ธรรม อันมีอุปการะ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สติมีการถือไว้ เป็นลักษณะ

    ข้อนี้สมกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า " สติ จะ โข อะหัง ภิกขเว สัพพัตถิกัง วทามิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สติประกอบด้วยประโยชน์ทั้งปวง" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
    " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว "

    ฎีกามิลินท์

    อธิบายคําว่า ซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลาย ได้แก่ถึงซึ่งความสําเร็จผลที่ต้องการ และไม่ต้องการแห่งธรรมทั้งหลาย อันเป็นกุศลและ อกุศล ส่วนคําว่า "ดําขาว" มีความหมายว่า ดํานั้นได้แก่สิ่งที่ไม่ดี ส่วนขาวนั้นได้แก่สิ่งที่ดี

    ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะสมาธิ

    " ข้าแต่พระนาคเสน สมาธิ มีลักษณะ อย่างไร ? "
    " มหาราชะ สมาธิมีการเป็น หัวหน้า เป็น ลักษณะ กุศลธรรมทั้งหลาย มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปในสมาธิ ขอถวายพระพร "
    " ขอนิมนต์อุปมา พระผู้เป็นเจ้ า"

    อุปมากลอนแห่งเรือนยอด

    " ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับกลอน แห่งเรือนยอดทั้งหลาย ย่อมไปรวมอยู่ที่ยอด น้อมไปที่ยอด โน้มไปที่ยอด เงื้อมไปที่ยอดฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย ก็มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปใน สมาธิฉันนั้น "
    " นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "

    อุปมาพระราชา

    " มหาราชะ เวลาพระราชาเสด็จออก สงคราม พร้อมด้วยจตุรงคเสนานั้น เสนา ทั้งหลาย เสนาบดีทั้งหลาย ช้าง ม้า รถ พลเดินเท้าทั้งหลาย ก็มีพระราชาเป็นหัวหน้า น้อมไปในพระราชา โน้มไปในพระราชา เงื้อมไปในพระราชา ห้อมล้อมพระราชาฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย ก็มีสมาธิเป็นหัวหน้า น้อมไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปใน สมาธิฉันนั้น อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า สมาธิ มีความเป็น หัวหน้า เป็นลักษณะ

    ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระมหามุนีตรัสไว้ว่า " สมาธิ ภิกขเว ภาเวถะ สมาธิโก ภิกขุ ยถาภูตัง ปชานาติ.. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอบรมสมาธิ ภิกษุผู้ได้สมาธิ ย่อมรู้ตามความเป็นจริง" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
    " ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

    ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะปัญญา

    "ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญา มีลักษณะอย่างไร ? "
    "มหาราชะ ปัญญา มีการ ตัด เป็นลักษณะ ตามที่อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาไว้แล้ว อีกประการหนึ่ง ปัญญา มีการ ทำให้สว่าง เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร"
    "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญญามีการทำให้สว่าง เป็นลักษณะอย่างไร? "
    "มหาราชะ ปัญหาเมื่อเกิดขึ้น ก็กำจัดเครื่องทำให้มืดคือ อวิชชา ทำให้เกิดความสว่างคือ วิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้ง คือ ญาณ ทำให้อริยสัจปรากฏ ลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอถวายพระพร"
    "ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอุปมา"

    อุปมาผู้ส่องประทีป

    "มหาราชะ เปรียบปานบุรุษส่องประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดความสว่าง ทำให้รูปทั้งหลายปรากฏฉันใด ปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืดคือ อวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่างคือ วิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งคือ ญาณ ทำให้อริยสัจทั้งหลายปรากฏ ลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้น อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า ปัญญา มีการ ทำให้สว่าง เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร"
    "ถูกแล้ว พระนาคเสน"

    ฎีกามิลินท์

    อธิบายคำว่า ปัญญาอันชอบ ได้แก่ปัญญาอันเกิดจากวิปัสสนาญาณ


    ปัญหาที่ ๑๕ ถามหน้าที่แห่งธรรมต่างๆ กัน

    "ข้าแต่พระนาคเสน ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันหรือ? "
    "อย่างนั้น มหาบพิตร ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสเหมือนกัน ขอถวายพระพร"
    "ขอนิมนต์อุปมาด้วย"


    อุปมาเสนาต่าง ๆ

    "มหาราชะ เสนามีหน้าที่ต่าง ๆ กันคือ เสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาพลเดินเท้า เสนาเหล่านั้น ย่อมให้ความสำเร็จสงครามอย่างเดียวกัน ย่อมชนะเสนาฝ่ายอื่นในสงครามอย่างเดียวกัน ฉันใด ธรรมเหล่านี้ ถึงมีอยู่ต่าง ๆ กัน ก็ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่า กิเลสอย่างเดียวกัน ขอถวายพระพร"
    "พระผู้เป็นเจ้าวิสชนาสมควรแล้ว"

    จบวรรคที่ ๑


    สรุปความ

    คำว่า "ธรรมเหล่านี้" หมายถึงธรรมที่กล่าวมาแล้วขั้นต้น คือ
    มนสิการ มีลักษณะ ถือไว้
    กุศลธรรมอื่น ๆ ได้แก่ ศีล และ อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีลักษณะดังนี้
    ศีล มีลักษณะ เป็นที่ตั้ง
    ศรัทธา มีลักษณะ ผ่องใส และ แล่นไป
    วิริยะ มีลักษณะ ค้ำจุนไว้
    สติ มีลักษณะ เตือน และ ถือไว้
    สมาธิ มีลักษณะเป็น หัวหน้า
    ปัญญา มีลักษณะ ตัด และ ทำให้สว่าง
    จึงขอลำดับความสัมพันธ์ขอธรรมเหล่านี้ว่า มีหน้าที่ต่างกันอย่างไรบ้าง

    พระโยคาวจรหวังที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น จะต้องประกอบไปด้วยธรรมเหล่านี้คือ
    ๑. มนสิการ คือคิดไว้เสมอว่า ชีวิตนี้จะต้องตายเป็นธรรมดา
    ๒. ศีล จะรักษาให้บริสุทธิ์ไว้เสมอ
    ๓. ศรัทธา มีความเลื่อมใสในคุณพระพุทธ พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ หวังปฏิบัติตนเพื่อความพ้นทุกข์ คือพระนิพพานต่อไป
    ๔. วิริยะ ทำความเพียรแต่พอดี
    ๕. สติ นึกเตือนตนเองไว้เสมอว่า เราจะต้องตาย จะมีศีลบริสุทธิ์ จะเคารพในพระรัตนตรัย และมีนิพพานเป็นอารมณ์
    ๖. สมาธิ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หรือภาวนาตาม อัธยาศัย
    ๗. ปัญญา พิจารณา สักกายทิฏฐิ ไม่ยึดถือว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา แล้วตัด อวิชชา เราไม่มี ฉันทะ คือความพอใจ และ ราคะ คือความยินดีในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน

    ธรรมเหล่านี้จึงมีหน้าที่ต่าง ๆ กันแต่มุ่งประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสให้เป็น สมุจเฉทปหาน ตามที่ท่านได้อุปมาไว้ฉันใด เสนาช้า ม้า รถ พลเดินเท้า เสนาเหล่านั้น ย่อมช่วยกันทำสงคราม เพื่อที่จะมีชัยชนะต่อข้าศึกศัตรู ก็มีอุปมาฉันนั้น

    รวมความว่า ปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมานี้เป็นปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ถามพระนาคเสนถึง วิธีปฏิบัติที่จะไม่เกิดอีก ว่าจะต้องประกอบด้วยธรรมอะไรบ้าง หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจ ตามที่ได้สรุปความมาให้ทราบนี้.

    ที่มา : http://www.tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=127#third
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ธันวาคม 2009
  3. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    มิลินทปัญหา วรรคที่ ๑
    ปัญหาที่ ๑ ถามชื่อ

    ครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จไปหาพระนาคเสนแล้ว ทรงปราศรัยพอให้เกิดความร่าเริงยินดี แล้วก็ประทับนั่ง ฝ่ายพระนาคเสนก็แสดงความชื่นชมยินดี ทําให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามิลินท์
    ลําดับนั้น พระองค์จึงตรัสถามปัญหาข้อแรกต่อพระนาคเสนขึ้นว่า
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมประสงค์จะสนทนาด้วย "
    พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า
    " เชิญสนทนาเถิด มหาบพิตร อาตมภาพใคร่จะฟัง "
    " โยมสนทนาแล้ว ขอผู้เป็นเจ้าจงฟังเถิด "
    " อาตมภาพฟังอยู่แล้ว มหาบพิตรเชิญเจรจาเถิด "
    " พระผู้เป็นเจ้าได้ฟังว่าอย่างไร? "
    " ก็มหาบพิตรเจรจาว่าอย่างไร? "
    " โยมจะถามพระผู้เป็นเจ้า "
    " จงถามเถิด มหาบพิตร "
    " โยมถามแล้ว "
    " อาตมภาพก็แก้แล้ว "
    " พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร? "
    " ก็มหาบพิตรถามว่าอย่างไร? "
    เมื่อพระเถระตอบอย่างนี้แล้ว พวกโยนกเสนาทั้ง ๕๐๐ ก็เปล่งเสียงสาธุการถวายพระ นาคเสน แล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า คราวนี้ขอพระองค์จงตรัสถามปัญหาต่อไปเถิด พระเจ้าข้า "

    เริ่มมีปัญหาเพราะชื่อ

    ในกาลครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสถาม ปัญหาต่อพระนาคเสนยิ่งขึ้นไปว่า " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาผู้จะสนทนากัน เมื่อไม่รู้จักนามและโคตรของกัน และกันเสียก่อน เรื่องสนทนาก็จะไม่มีขึ้น เรื่องที่พูดกันก็จักไม่มั่นคง เพราะฉะนั้น โยมจึงขอถามพระผู้เป็นเจ้าว่า พระผู้เป็นเจ้า ชื่ออะไร? "

    พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร เพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลายเรียกอาตมภาพว่า นาคเสน ส่วน มารดาบิดาเรียกอาตมภาพว่า นาคเสนก็มี วีรเสนก็มี สุรเสนก็มี สีหเสนก็มี ก็แต่ว่าชื่อที่เพื่อนพรหมจารี เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " นี้ เพียงเป็นแต่ชื่อบัญญัติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันได้เท่านั้น ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนผู้ใดจะอยู่ในชื่อนั้น "

    ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า " ขอให้ชาวโยนกทั้ง ๕๐๐ นี้ และพระภิกษุสงฆ์ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคําของข้าพเจ้าเถิด พระนาคเสนนี้กล่าวว่า เพื่อนพรหมจรรย์ เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " ก็แต่ว่าไม่มี สัตว์บุคคลตัวตนอันใดอยู่ในคําว่า " นาคเสน " นั้น ดังนี้
    ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขาอยู่แล้ว บุคคลเหล่าใดถวายบาตร จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และ วัตถุที่เก็บเภสัชไปแล้ว บุญกุศลก็ต้องไม่มี แก่บุคคลเหล่านั้นน่ะซิ

    ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า จะฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาต ก็เป็นอันไม่มีน่ะซิ ถ้าบุคคล ตัวตนเราเขาไม่มีอยู่แล้ว ก็ใครเล่าจะถวายจีวร อาหาร ที่อยู่ ยา และที่ใส่ยา แก่พระผู้เป็นเจ้า ใครเล่า จะบริโภคสิ่งเหล่านั้น ใครเล่า รักษาศีล ใครเล่า รู้ไปในพระไตรปิฎก ใครเล่า เจริญภาวนา ใครเล่า..กระทําให้แจ้งซึ่ง มรรค ผล นิพพาน

    ใครเล่า กระทําปาณาติบาต ใครเล่า กระทําอทินนาทาน ใครเล่า ประพฤติกาเมสุ มิจฉาจาร ใครเล่า กล่าวมุสาวาท ใครเล่า ดื่ม สุราเมรัย ใครเล่า กระทําอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น ถ้าสัตว์บุคคลตัวตนไม่มี แล้ว กุศลก็ต้องไม่มี อกุศลก็ต้องไม่มี ผู้ทําหรือผู้ให้ทําซึ่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี

    ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาต ก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เมื่อถืออย่างนั้น ก็เป็นอันว่า อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี อุปัชฌาย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี อุปสมบทของ พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี
    คําใดที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกเพื่อนพรหมจรรย์ เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " อะไรเป็นนาคเสนในคํานั้น เมื่อโยมถามพระ ผู้เป็นเจ้าอยู่อย่างนี้ พระผู้เป็นได้ยินเสียง ถามอยู่หรือไม่? "

    ถามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

    พระนาคเสนตอบว่า
    " ขอถวายพระพร อาตมภาพได้ยินเสียง ถามอยู่ "
    " ถ้าพระผู้เป็นเจ้าได้ยินเสียงถามอยู่ คําว่า " นาคเสน " ก็มีอยู่ในชื่อนั้นน่ะซิ "
    " ไม่มี มหาบพิตร "
    " ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นโยมขอ ถามต่อไปว่า ผมของพระผู้เป็นเจ้าหรือ...เป็น นาคเสน? "
    " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
    " ขนหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ "
    " เล็บหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ "
    " ฟันหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ "
    " หนังหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ "
    " เนื้อหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ "
    " เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร สมองศีรษะ เหล่านี้อย่างใด อย่างหนึ่งหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
    " ถ้าอย่างนั้น รูป หรือเวทนา หรือสัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ..เป็น นาคเสน? "
    " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
    " ถ้าอย่างนั้น จักขุธาตุ และ รูปธาตุ โสตธาตุ และ สัททธาตุ ฆานธาตุ และ คันธธาตุ ชิวหาธาตุ และ รสธาตุ กายธาตุ และ โผฏฐัพพธาตุ มโนธาตุ เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ..เป็น นาคเสน? "
    " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
    " ถ้าอย่างนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ...เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
    " ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่นอกจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ..เป็นนาคเสน? "
    " ไม่ใช่ มหาบพิตร "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่ ก็ไม่ได้ความว่าอะไรเป็นนาคเสน เป็นอันว่า พระผู้เป็นเจ้าพูดเหลาะแหละ พูดมุสาวาท "

    พระนาคเสน กล่าวแก้ด้วยราชรถ

    เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระ นาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สําเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ผู้ได้อบรมเมตตามาแล้ว จึงนิ่งพิจารณา ซึ่งวาระจิตของพระเจ้ามิลินท์อยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจึงกล่าวขึ้นว่า

    " มหาบพิตรเป็นผู้มีความสุขมาแต่กําเนิด มหาบพิตรได้เสด็จออกจากพระนครในเวลา ร้อนเที่ยงวันอย่างนี้ มาหาอาตมภาพได้เสด็จ มาด้วยพระบาท ก้อนกรวดเห็นจะถูกพระบาท ให้ทรงเจ็บปวด พระกายของพระองค์ เห็นจะทรงลําบาก พระหฤทัยของพระองค์ เห็นจะเร่าร้อน ความรู้สึกทางพระวรกายของพระองค์ เห็นจะประกอบกับทุกข์เป็นแน่ เพราะเหตุไร อาตมภาพจึงว่าอย่างนี้ เพราะเหตุว่า มหาบพิตรมีพระหฤทัย ดุร้าย ได้ตรัสพระวาจาดุร้าย มหาบพิตรคง ได้เสวยทุกขเวทนาแรงกล้า อาตมาจึงขอถามว่า มหาบพิตรเสด็จมา ด้วยพระบาท หรือด้วย ราชพาหนะอย่างไร? "

    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสตอบว่า
    " ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้มาด้วยเท้า โยมมาด้วยรถต่างหาก "
    พระนาคเสนเถระ จึงกล่าวประกาศขึ้นว่า
    " ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ กับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคําของข้าพเจ้า คือ พระเจ้ามิลินท์นี้ได้ตรัสบอกว่า เสด็จมาด้วยรถ ข้าพเจ้าจะขอถามพระเจ้ามิลินท์ต่อไป " กล่าวดังนี้แล้ว จึงถามว่า

    " มหาบพิตรตรัสว่า เสด็จมาด้วยรถ จริงหรือ? "
    พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
    " เออ...ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมว่ามาด้วย รถจริง "
    พระเถระจึงซักถามต่อไปว่า
    " ถ้ามหาบพิตรเสด็จมาด้วยรถจริงแล้ว ขอจงตรัสบอกอาตมภาพเถิดว่า งอนรถหรือ.. เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
    " ถ้าอย่างนั้น เพลารถหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเพลาหรือ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น ล้อรถหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในล้อรถหรือ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น ไม้ค้ำรถหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น กงรถหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น เชือกหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเชือกหรือ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น คันปฏักหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในคันปฏักหรือ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น แอกรถหรือ...เป็นรถ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในแอกหรือ? "
    " ไม่ใช่ "
    " ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่เล็งเห็นว่า สิ่งใดเป็นรถเลย เป็นอันว่ารถไม่มี เป็นอันว่า มหาบพิตรตรัสเหลาะแหละเหลวไหล มหาบพิตรเป็นพระราชาผู้เลิศในชมพูทวีปนี้ เหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสเหลาะแหละเหลวไหล อย่างนี้? "

    เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว พวก โยนกข้าราชบริพารทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็พากัน เปล่งเสียงสาธุการขึ้นแก่พระนาคเสนเถระแล้ว กราบทูลพระเจ้ามิลินท์ขึ้นว่า
    " ขอมหาราชเจ้าจงทรงแก้ไขไปเถิด พระเจ้าข้า "
    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
    " ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้พูด เหลาะแหละเหลวไหล การที่เรียกว่ารถนี้ เพราะอาศัยเครื่องประกอบรถทั้งปวง คือ งอนรถ เพลารถ ล้อรถ ไม้ค้ำรถ กงรถ เชือกขับรถ เหล็กปฏัก ตลอดถึงแอกรถ มีอยู่พร้อม จึงเรียกว่ารถได้ "
    พระเถระจึงกล่าวว่า
    " ถูกแล้ว มหาบพิตร ข้อที่อาตมภาพได้ชื่อว่า " นาคเสน " ก็เพราะอาศัยเครื่องประ กอบด้วยอวัยวะทุกอย่าง คือ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น อันจําแนกแจกออกไปเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งปวง

    ข้อนี้ถูกตามถ้อยคําของ นางปฏาจารา ภิกษุณี ผู้เป็นพระอรหันต์ กล่าวขึ้นในที่เฉพาะ พระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
    " อันที่เรียกว่ารถ เพราะประกอบด้วย เครื่องรถทั้งปวงฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ก็สมมุติเรียกกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาฉันนั้น " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
    พระเจ้ามิลินท์ทรงฟังแก้ปัญหาจบลง น้ำพระทัยของพระบาทท้าวเธอปรีดาปราโมทย์ ออกพระโอษฐ์ตรัสซ้องสาธุการว่า

    " สาธุ..พระผู้เป็นเจ้าช่างแก้ปัญหาได้อย่าง น่าอัศจรรย์ กล่าวปัญหาเปรียบเทียบอุปมา ด้วยปฏิภาณอันวิจิตรยิ่ง ให้คนทั้งหลายคิด เห็นกระจ่างแจ้ง ถูกต้องดีแท้ ถ้าพระพุทธองค์ ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็จะต้องทรงสาธุการเป็นแน่ "


    ปัญหาที่ ๒ ถามพรรษา

    ครั้งนั้นพระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามอรรถปัญหาสืบไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ามี พรรษาเท่าไร? "
    พระนาคเสนตอบว่า " อาตมภาพมีพรรษาได้ ๗ พรรษาแล้ว "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คําว่า " ๗ พรรษา " นั้น นับตัวพระผู้เป็นเจ้าด้วยหรือ...หรือว่านับแต่ปีเท่านั้น? "

    อุปมาเงาในแก้วน้ำ

    ก็ในคราวนั้น เงาของพระเจ้ามิลินท์ผู้ทรง ประดับด้วยเครื่องประดับ ทั้งปวงนั้น ได้ปรากฏ ลงไปที่พระเต้าแก้ว อันเต็มไปด้วยน้ำ พระ นาคเสนได้เห็นแล้ว จึงถามขึ้นว่า
    " มหาบพิตรเป็นพระราชา หรือว่าเงาที่ ปรากฏอยู่ในพระเต้าแก้วนี้ เป็นพระราชา? "
    " ข้าแต่พระนาคเสน เงาไม่ใช่พระราชา โยมต่างหากเป็นพระราชา แต่เงาก็มีอยู่เพราะอาศัยโยม "
    " เงาที่มีขึ้นเพราะอาศัยพระองค์ฉันใด การนับพรรษาว่า ๗ เพราะอาศัยอาตมาก็มีขึ้นฉันนั้น ขอถวายพระพร "
    " น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้า ได้แก้ปัญหาปฏิภาณอันวิจิตรยิ่งถูกต้องดีแล้ว "

    ปัญหาที่ ๓ ถามลองปัญญา

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอีกว่า
    " ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุด ในการบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้า? "
    พระเถระตอบว่า
    " บรรพชาของอาตมภาพนั้น เป็นประโยชน์ เพื่อการดับทุกข์ให้สิ้นไป แล้วมิให้ทุกข์อื่นบังเกิด ขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง บรรพชาย่อมให้สําเร็จประโยชน์ แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย "

    สนทนาอย่างบัณฑิตหรืออย่างโจร

    พระเจ้ากรุงสาคลนคร ได้ทรงฟังพระนาคเสนเฉลยปัญหา ได้กระจ่างแจ้ง ก็มิได้มีทาง ที่จะซักไซร้ จึงหันเหถามปัญหาอื่นอีกว่า
    " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าจะ สนทนากับโยมต่อไปได้หรือไม่? "
    พระนาคเสนตอบว่า
    " ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่าง บัณฑิต อาตมภาพก็จะสนทนากับมหาบพิตรได้ ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่าง ของพระราชา อาตมาก็จะสนทนาด้วยไม่ได้ "
    " บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างไร? "
    " อ๋อ...ธรรมดาว่าบัณฑิตที่สนทนากัน ย่อมเจรจาข่มขี่กันได้ แก้ตัวได้ รับได้ ปฏิเสธ ได้ ผูกได้ แก้ได้ บัณฑิตทั้งหลายไม่โกรธ บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาทั้งหลาย สนทนากันอย่างไร?"
    " ขอถวายพระพร พระราชาทั้งหลาย ทรงรับสั่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้ว ผู้ใดไม่ทําตาม ก็ทรงรับสั่งให้ลงโทษผู้นั้นทันที พระ ราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมจะสนทนาตาม เยี่ยงอย่างบัณฑิต จักไม่สนทนาตามเยี่ยง อย่างของพระราชา ขอพระผู้เป็นเจ้า จงเบา ใจเถิด พระผู้เป็นเจ้าสนทนากับภิกษุณี หรือ สามเณร อุบาสก คนรักษาอารามฉันใด ขอ จงสนทนากับโยมฉันนั้น อย่ากลัวเลย "
    " ดีแล้ว มหาบพิตร "
    พระเถระแสดงความยินดีอย่างนี้แล้ว พระราชาจึงตรัสต่อไปว่า
    " ข้าแต่พระนาคเสน โยมจักถามพระ ผู้เป็นเจ้า "
    " เชิญถามเถิด มหาบพิตร "
    " โยมถามแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "
    " อาตมภาพแก้แล้ว มหาบพิตร "
    " พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร? "
    " ก็มหาบพิตรตรัสถามว่าอย่างไร? "
    ( พระเจ้ามิลินท์ไต่ถามปัญหาเช่นนี้ หวังจะลอง ปัญญาพระนาคเสนว่า จะเขลา หรือ ฉลาด ยั่งยืนอยู่ไม่ครั่นคร้ามหรือประการใด เท่านั้น )
    ในวันแรกนี้ พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถาม ปัญหา ๓ ข้อ คือ ถามชื่อ ๑ ถามพรรษา ๑ ถามเพื่อทดลองสติปัญญาของ
    พระเถระ ๑

    นิมนต์พระนาคเสนไปในวัง

    ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงดําริว่า พระภิกษุองค์นี้เป็นบัณฑิต สามารถสนทนา กับเราได้ สิ่งที่เราควรถาม มีอยู่มาก สิ่งที่เรายังไม่ได้ถาม ก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่เวลา นี้ดวงสุริยะกําลังจะสิ้นแสงแล้ว พรุ่งนี้เถิด เราจึงจะสนทนากันในวัง
    ครั้นทรงดําริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่ง เทวมันติยอํามาตย์ว่า " นี่แน่ะ เทวมันติยะ จงอาราธนาพระผู้ เป็นเจ้าว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนากันในวัง " ตรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ขึ้นทรงม้าพระที่นั่ง แล้วทรงพึมพํา ไปว่า " นาคเสน...นาคเสน... " ดังนี้

    ฝ่ายเทวมันติยอํามาตย์ก็อาราธนา พระนาคเสนว่า " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาตรัสสั่ง ว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนากันในพระราชวัง "
    พระเถระก็แสดงความยินดีตอบว่า " ดีแล้ว "

    พอล่วงราตรีวันนั้น เนมิตติยอํามาตย์ อันตกายอํามาตย์ มังกุรอํามาตย์ สัพพทินน อำมาตย์ ก็พร้อมกันเข้าทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสนเข้ามาได้หรือยัง พระเจ้าข้า? "
    พระราชาตรัสตอบว่า " ให้เข้ามาได้แล้ว "
    " จะโปรดให้เข้ามากับพระภิกษุสักเท่าไร พระเจ้าข้า? "
    " ต้องการมากับภิกษุเท่าใด ก็จงมากับ ภิกษุเท่านั้น "
    สัพพทินนอํามาตย์ได้กราบทูลขึ้น เป็นครั้งที่ ๒ ว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสน มากับพระภิกษุสัก ๑๐ รูป จะได้หรือไม่? "
    พระองค์ตรัสตอบว่า " พระนาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุ เท่าใด ก็จงมากับพระภิกษุเท่านั้นเถิด "
    จึงทูลถามขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ ว่า
    " จะโปรดให้พระนาคเสนมากับพระภิกษุ สัก ๑๐ รูป ได้หรือไม่? "
    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
    " เราพูดอย่างไม่ให้สงสัยแล้วว่า พระ นาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุเท่าใด จงมากับพระภิกษุเท่านั้น เราได้สั่งเป็นคํา ขาดลงไปแล้ว เราไม่มีอาหารพอจะถวาย พระภิกษุทั้งหลายหรือ? "
    เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว สัพพทินนอํามาตย์ ก็เก้อ ลําดับนั้น อํามาตย์ทั้ง ๔ จึงพากัน ออกไปหาพระนาคเสน กราบเรียนให้ทราบว่า
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้ามิลินท์ตรัส สั่งว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องการจะเข้าไปในพระ ราชวังกับพระภิกษุเท่าใด ก็ขอให้เข้าไปได้ เท่านั้นไม่มีกําหนด "

    ปัญหาที่ ๔ ปัญหาของอันตกายอํามาตย์

    เช้าวันหนึ่ง พระนาคเสนก็นุ่งสบงทรง จีวรมือสะพายบาตร แล้วเข้าไปสู่สาคลนคร กับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ เวลาเดินมาตาม ทางนั้น อันตกายอํามาตย์ถามขึ้นว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ท่านได้บอกไว้ว่า เราชื่อ " นาคเสน " ดังนี้ แต่กล่าวว่าไม่มีสิ่งใด เป็นนาคเสน ข้อนี้ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่? "
    พระเถระจึงถามว่า " เธอเข้าใจว่า มีอะไรเป็นนาคเสน อยู่ ในคําว่า " นาคเสน " อย่างนั้นหรือ? "
    " ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ลมหายใจอันเข้าไป และออกมา นี้แหละ..เป็นนาคเสน "
    " ถ้าลมนั้นออกไปแล้วไม่กลับเข้ามา ผู้นั้น จะเป็นอยู่ได้หรือ? "
    " เป็นอยู่ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

    อุปมาพวกเป่าสังข์

    " ถ้าอย่างนั้น เราขอถามว่า ธรรมดาพวก เป่าสังข์ ย่อมพากันเป่าสังข์ ลมของพวกเขา กลับเข้าไปอีกหรือไม่? "
    " ไม่กลับ พระผู้เป็นเจ้า "
    " ก็ถ้าอย่างนั้น เพราะเหตุไรพวกนั้นจึง ไม่ตาย พวกช่างทองก็พากันเป่ากล้อง ประสานทอง ลมของเขากลับเข้าไปอีกหรือ ไม่? "
    " ไม่กลับเข้าไปอีก พระผู้เป็นเจ้า "
    " พวกเป่าปี่ก็พากันเป่าปี่ ลมของพวกเขา กลับเข้าไปอีกหรือไม่? "
    " ไม่กลับ พระผู้เป็นเจ้า "
    " ถ้าอย่างนั้น เหตุไรพวกนั้นจึงไม่ตาย? "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าไม่อาจ สนทนากับท่านได้แล้ว ขอท่านจงไขข้อความ นี้ให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเถิด "
    พระเถระจึงแก้ไขว่า
    " อันลมหายใจออกหายใจเข้านั้น ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่มีชีวิต (คือคนและสัตว์) แต่เป็น กายสังขาร (คือเป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตทรงอยู่) ต่างหาก "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กายสังขารตั้งอยู่ในอะไร? "
    " กายสังขารตั้งอยู่ใน " ขันธ์ " (คือร่างกาย)
    ครั้นได้ฟังดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธาใน พระพุทธศาสนา อันตกายอํามาตย์จึงได้ ประกาศตนเป็นอุบาสก ขอนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ดังนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ธันวาคม 2009
  4. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องบรรพชา

    ครั้งนั้น พระนาคเสนเถระ ก็ได้เข้าไป สู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้ามิลินท์ ขึ้นสู่ ปราสาทแล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาจัดไว้ พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงเลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ด้วย พระองค์เอง เสร็จแล้วจึงถวายผ้าไตรจีวร
    ครั้นพระนาคเสนครองไตรจีวรแล้ว พระ เจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
    " ขอให้พระผู้เป็นเจ้านาคเสน จงนั่ง อยู่ที่นี้กับพระภิกษุ ๑๐ รูป พระภิกษุผู้เฒ่า ผู้แก่นอกนั้น ขอนิมนต์กลับไปก่อน "
    เมื่อพระนาคเสนฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ แล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
    " ข้าแต่พระนาคเสน เราจะสนทนา กันด้วยสิ่งใดดี? "
    " ขอถวายพระพร เราต้องการด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขอจงสนทนาด้วยสิ่งที่เป็น ประโยชน์เถิด "
    " ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์ อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์สูงสุดของพระ ผู้เป็นเจ้า? "
    " ขอถวายพระพร บรรพชานี้เพื่อจะให้พ้น จากความทุกข์ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มี การเวียนว่ายตายเกิดอีก การเข้าสู่พระนิพพาน เป็นประโยชน์อย่างสูงสุดของอาตมา "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุคคลทั้งหลาย บรรพชา เพื่อทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพานทั้งนั้น หรือ? "

    เหตุของผู้บวช

    " ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราช สมภาร คนทั้งหลายไม่ใช่บวชเพื่อพระ นิพพานด้วยกันทั้งสิ้น คือบางพวกก็บวช หนีราชภัย ( พระราชาเบียดเบียนใช้สอย ) บางพวกก็บวชหนีโจรภัย บางพวกก็บวชเพื่อ คล้อยตามพระราชา บางพวกก็บวชเพื่อหนี หนี้สิน บางพวกก็บวชเพื่อยศศักดิ์ บาง พวกก็บวชเพื่อเลี้ยงชีวิต บางพวกก็บวชด้วย ความกลัวภัย
    บุคคลเหล่าใดบวชโดยชอบ บุคคล เหล่านั้นชื่อว่า บวชเพื่อพระนิพพาน ขอ ถวายพระพร "
    พระเจ้ามิลินท์ทรงซักถามต่อไปว่า
    " ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า บวชเพื่อพระนิพพาน หรือ? "
    พระเถระตอบว่า
    " อาตมภาพบวชแต่ยังเป็นเด็ก ยังไม่รู้ เรื่องว่าบวชเพื่อพระนิพพานนี้ ก็แต่ว่าอาตมาคิดว่า พระสมณะที่เป็นศากบุตรพุทธชิโนรสเหล่านี้เป็นบัณฑิต จักต้องให้อาตมภาพศึกษา อาตมภาพได้รับการศึกษาแล้ว จึงรู้เห็นว่าบวช เพื่อพระนิพพานนี้ "
    " พระผู้เป็นเจ้า แก้ถูกต้องดีแล้ว "

    ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องปฏิสนธิ ( เกิด )

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ตายไปแล้ว จะไม่กลับมาเกิดอีกมีหรือไม่ ? "
    พระนาคเสนตอบว่า " คนบางจําพวกก็กลับมาเกิดอีก บาง จําพวกก็ไม่กลับมาเกิดอีก "
    " ใครกลับมาเกิดอีก ใครไม่กลับมาเกิด อีก ?"
    "ผู้มีกิเลส ยังกลับมาเกิดอีก ส่วนผู้ไม่ มีกิเลส ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก"
    " ก็พระผู้เป็นเจ้าเล่า จะกลับมาเกิดอีก หรือไม่ ? "
    " ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทาน คือการยึด ถืออยู่ ก็จักกลับมาเกิด ถ้าอาตมภาพไม่มี การยึดถือแล้ว ก็จักไม่กลับมาเกิดอีก "
    " ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "

    ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องมนสิการ ( การกําหนดจิต )

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดไม่เกิดอีก ผู้นั้นย่อมไม่เกิดอีกด้วย โยนิโสมนสิการ ( คือการกําหนดจิตด้วยอุบายที่ชอบธรรม ) ไม่ใช่หรือ ? "
    พระเถระตอบว่า " ขอถวายพระพร บุคคลไม่เกิดอีกด้วย โยนิโสมนสิการ คือด้วย ปัญญา และด้วย กุศลธรรม
    อื่น ๆ "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยนิโสมนสิการ กับ ปัญญา เป็นอันเดียวกันหรืออย่างไร ? "
    " ไม่ใช่อย่างเดียวกัน คือ โยนิโสมนสิการ ก็อย่างหนึ่ง ปัญญา ก็อย่างหนึ่ง แพะ แกะ สัตว์เลี้ยง กระบือ อูฐ โค ลา เหล่าใดมี มนสิการ แต่ปัญญาย่อมไม่มีแก่สัตว์เหล่านั้น ขอถวายพระพร"
    "ชอบแล้ว พระนาคเสน"

    ปัญหาที่ ๘ ถามลักษณะมนสิการ

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร ปัญญา มีลักษณะอย่างไร ? "
    พระนาคเสนตอบว่า " มหาราชะ มนสิการ มีความ อุตสาหะ เป็นลักษณะ และมีการ ถือไว้ เป็นลักษณะ ส่วน ปัญญา มีการ ตัด เป็นลักษณะ "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มนสิการ มีการ ถือไว้เป็นลักษณะอย่างไร ปัญญามีการตัด เป็นลักษณะอย่างไร ขอจงอุปมาให้แจ้งด้วย ? "

    อุปมาคนเกี่ยวข้าว

    " มหาบพิตรทรงรู้จักวิธีเกี่ยวข้าวบ้างไหม ? "
    " อ๋อ...รู้จัก พระผู้เป็นเจ้า "
    " วิธีเกี่ยวข้าวนั้นคืออย่างไร ? "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คือคนจับกอข้าวด้วยมือข้างซ้าย แล้วเอาเคียวตัดให้ขาดด้วย มือข้างขวา "
    " มหาราชะ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด คือ พระโยคาวจรถือไว้ซึ่ง มนสิการ คือกิเลสอัน มีในใจของตนแล้ว ก็ตัดด้วย ปัญญา ฉันนั้น มนสิการ มีลักษณะถือไว้ ปัญญา มีลักษณะตัด อย่างนี้แหละ ขอถวายพระพร "
    "ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"

    อธิบาย

    คําว่า มนสิการ มีลักษณะ ถือไว้ หมายถึงการกําหนดจิตพิจารณา ขันธ์ ๕ คือร่างกายว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ส่วน ปัญญา มีลักษณะ ตัด หมาย ถึงยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่า ร่างกายมี สภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยึดถือว่า "มันเป็นเราเป็นของเรา" ดังนี้


    ปัญหาที่ ๙ ถามลักษณะศีล

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้ กล่าวไว้ในข้อก่อน ( ปัญหาที่ ๗ ) ว่า บุคคล ไม่เกิดอีกด้วยได้กระทำ กุศลธรรมเหล่าอื่น ไว้ โยมยังไม่เข้าใจ จึงขอถามว่า ธรรมเหล่า ไหน...เป็นกุศลธรรมเหล่านั้น ? "
    พระเถระตอบว่า " มหาราชะ ศีล ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหล่านี้แหละ เป็นกุศลธรรมเหล่านั้น "
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ศีล มีลักษณะ อย่างไร ? "
    " มหาราชะ ศีล มีการ เป็นที่ตั้ง เป็น ลักษณะ คือศีลเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง อันได้แก่ อินทรีย์ พละ
    โพชฌงค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ กุศลธรรมทั้งปวงของผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วไม่เสื่อม "
    " ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดอุปมา "

    อุปมา ๕ อย่าง

    " มหาราชะ อันต้นไม้ใบหญ้าทั้งสิ้น ได้ อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดินแล้ว จึง เจริญงอกงามขึ้นฉันใด พระโยคาวจรได้ อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิด อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ขึ้นได้ฉันนั้น "
    " โปรดอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป "
    " มหาราชะ การงานทั้งสิ้นที่ทําบนบก ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงทําได้ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล จึง ทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ฉันนั้น "
    " โปรดอุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก "
    " มหาราชะ บุรุษที่เป็นนักกระโดดโลดเต้น ประสงค์จะแสดงศิลปะ ก็ให้คนถากพื้นดิน ให้ปราศจากก้อนหินก้อนกรวด ทําให้สม่ำเสมอดีแล้ว จึงแสดงศิลปะบนพื้นดิน นั้นได้ฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีลตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ฉันนั้น "
    " นิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นกว่านี้ "
    " มหาราชะ นายช่างประสงค์จะสร้างเมือง ให้ปราบพื้นที่จนหมดเสี้ยนหนามหลักตอ ทําพื้นที่ให้สม่ำสมอดีแล้ว จึงกะถนนต่าง ๆ มีถนน ๔ แพร่ง ๓ แพร่ง เป็นต้น ไว้ภายในกําแพง แล้วจึงสร้างเมืองลงฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ขึ้นได้ฉันนั้น "
    " ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นกว่านี้อีก "
    " มหาราชะ พลรบผู้เข้าสู่สงคราม ตั้งมั่น อยู่ในพื้นที่อันเสมอดี กระทําพื้นที่ให้เสมอดีแล้ว จึงกระทําสงคราม ก็จักได้ชัยชนะใหญ่ ในไม่ช้าฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีล ตั้ง อยู่ในศีลแล้ว จึงทําให้เกิดอินทรีย์ ๕ ให้เกิดได้ฉันนั้น " ข้อนี้ สมกับที่สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาตรัสไว้ว่า

    " ภิกษุผู้มีความเพียรรู้จักรักษาตัว มีปัญญาตั้งอยู่ในศีลแล้ว ทําจิตและปัญญาให้ เกิดขึ้น ย่อมสะสางซึ่งความรุงรังอันนี้ได้ ศีลนี้เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เหมือนกับพื้นธรณี อันเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งหลาย ศีลนี้เป็นรากเหง้าในการทํากุศลให้เจริญ ขึ้น ศีลนี้เป็นหัวหน้าในศาสนาขององค์ สมเด็จพระชินสีห์ทั้งปวง" กองศีลอันดี ได้แก่ พระปาฏิโมกข์ ขอถวายพระพร "
    " ชอบแล้ว พระนาคเสน "

    ตอนที่ ๕ ปัญหาที่ ๑๐ ถามลักษณะศรัทธา
    " ข้าแต่พระนาคเสน ศรัทธา มีลักษณะ อย่างไร ? "
    " มหาราชะ ศรัทธามีความผ่องใส เป็น ลักษณะ และ มีการแล่นไป เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร "

    ศรัทธามีความผ่องใส

    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่าศรัทธามีความผ่องใส เป็นลักษณะนั้น เป็นประการใด ? "
    " มหาราชะ ศรัทธา เมื่อเกิดขึ้นก็ข่ม นิวรณ์ ไว้ ทําจิตให้ปราศจากนิวรณ์ ทําจิตให้ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว อย่างนี้แหละ เรียกว่า มีความผ่องใส เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร "
    " ขอนิมนต์อุปมาด้วย พระผู้เป็นเจ้า "

    อุปมาพระเจ้าจักรพรรดิ

    " มหาราชะ พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จพระราชดําเนินทางไกล พร้อมด้วยจตุรงคเสนา ต้องข้ามแม่น้ำน้อยไป น้ำในแม่น้ำน้อยนั้น ย่อมขุ่นไปด้วยช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จข้ามไปแล้ว ได้ตรัสสั่งพวกอํามาตย์ว่า
    " จงนําน้ำดื่มมา เราจะดื่มน้ำ " แก้วมณีสําหรับทําน้ำให้ใส ของ พระเจ้าจักรพรรดินั้นมีอยู่

    พวกอํามาตย์รับพระราชโองการแล้ว ก็นําแก้วมณีนั้น ไปกดลงในน้ำ พอวางแก้วมณี นั้นลงไปในน้ำ สาหร่าย จอก แหนทั้งหลาย ก็หายไป โคลนตมก็จมลงไป น้ำก็ใสไม่ขุ่นมัว พวกอํามาตย์ก็ตักน้ำนั้นไปถวายพระเจ้า
    จักรพรรดิกราบทูลว่า " เชิญเสวยเถิด พระเจ้าข้า "
    น้ำที่ไม่ขุ่นมัวฉันใด ก็ควรเห็นจิตฉันนั้น พวกอํามาตย์ฉันใด ก็ควรเห็นพระโยคาวจร ฉันนั้น
    สาหร่าย จอก แหน โคลนตมนั้นฉันใด ก็ควรเห็นกิเลสฉันนั้น แก้วมณีอันทําน้ำให้ใส ฉันใด ก็ควรเห็นศรัทธาฉันนั้น

    ฉะนั้น พอวางแก้วมณีอันทําน้ำให้ใส ลงไปในน้ำ สาหร่ายจอกแหนก็หายไป โคลนตม ก็จมลงไป น้ำก็ใสไม่ขุ่นมัวฉันใด เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นก็ข่มนิวรณ์ไว้ ทําให้ จิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัวจาก ความพอใจในรูป
    สวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ การไม่ชอบใจ ฟุ้งซ่าน ง่วง และสงสัยฉันนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่า ศรัทธา มีความผ่องใส เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร "

    ศรัทธามีการแล่นไป

    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะนั้น คืออย่างไร ? "
    " ขอถวายพระพร พระโยคาวจรเลื่อมใส ในปฏิปทาของพระอริยเจ้าแล้ว จิตของพระ โยคาวจรเหล่านั้นก็แล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล เป็น ลําดับไป แล้วพระโยคาวจรนั้นก็กระทําความ เพียรเพื่อให้ถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อให้บรรลุ ธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อกระทําให้แจ้งซึ่งธรรม ที่ยังไม่ได้กระทําให้แจ้ง อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะ"
    " นิมนต์อุปมาให้แจ้งด้วย "

    อุปมาบุรุษผู้ข้ามแม่น้ำ

    " มหาราชะ เมฆใหญ่ตกลงบนภูเขาแล้ว ก็มีน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ทําซอกเขาระแหง ห้วยให้เต็มแล้ว ก็ล้นไหลไปสู่แม่น้ำเซาะ ฝั่งทั้งสองไป เมื่อฝูงคนมาถึงไม่รู้ที่ตื้นที่ลึก แห่งแม่น้ำนั้นก็กลัว จึงยืนอยู่ริมฝั่งอันกว้าง

    ลําดับนั้น ก็มีบุรุษคนหนึ่งมาถึง เขาเป็นผู้มีกําลังเรี่ยวแรงมาก ได้เหน็บชายผ้านุ่งให้แน่น แล้วกระโดดลงไปในน้ำว่ายข้ามน้ำไป มหาชนได้เห็นบุรุษนั้นข้ามน้ำไปได้ ก็พากันว่ายข้ามตามฉันใด

    พระโยคาวจรได้เห็นปฏิปทาของพระ อริยะเหล่าอื่นแล้ว ก็มีจิตแล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล แล้วก็ กระทําความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ไม่ยังถึง เพื่อ บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทําให้แจ้งซึ่ง ธรรมที่ยังไม่ได้ทําให้แจ้งฉันนั้น อย่างนี้แหละ เรียกว่า ศรัทธามีการแล่นไป เป็นลักษณะ
    ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า " บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามมหาสมุทรได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วยปัญญา " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
    " ชอบแล้ว พระนาคเสน "

    อธิบาย

    บุคคลมีศรัทธาต่อสิ่งใด เมื่อระลึกถึงสิ่งนั้น หรือบุคคลนั้น จิตใจย่อมผ่องใส และ จิตใจของเขาย่อมแล่นไปยังสิ่งนั้น หรือ บุคคลนั้นเสมอ ๆ ผู้ศรัทธาในพระนิพพาน หรือผู้ถึง นิพพานแล้ว จิตย่อมแล่นไปในนิพพานเนือง ๆ มีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ ย่อมทําความ เพียรเพื่อบรรลุพระนิพพานนั้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ธันวาคม 2009
  5. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...