พระผงสุพรรณยอดพุทธคุณในเบญจภาคี

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 17 พฤษภาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่าแก่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพุทธศาสนามากมาย โดยเฉพาะพระเครื่องและพระบูชาที่บรรพบุรุษได้สร้างบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์และสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา
    ต่อมาได้มีการค้นพบ พระเครื่องและพระบูชามากมายหลายชนิด หลายยุคสมัย ตั้งแต่สมัยอมรวดีทวารวดี ศรีวิชัย ปาละ ลพบุรี อู่ทอง อยุธยา ในจำนวนพระที่ค้นพบนั้น พระผงสุพรรณ ที่พบจากองค์พระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ถือว่าเป็นสุดยอดของพระเครื่องที่ค้นพบทั้งหมด โดยได้รับความนิยมอย่างมากจนจัดให้เป็นหนึ่งในชุดพระเบญจภาคี
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวสุพรรณเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระธาตุ เป็นพระอารามเก่าแก่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณ มาตั้งแต่สมัยอู่ทองและอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตตำบลรั้วใหญ่ เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีองค์พระปรางค์สูงตระหง่านเป็นองค์ประธานตั้งโดดเด่นเป็นสง่า
    พระอารามแห่งนี้ถูกทอดทิ้งรกร้างอยู่เป็นเวลานาน จนประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๖ มีชาวจีนเข้าไปตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพทำสวนผักในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ลักลอบขุดองค์พระปรางค์ประธาน พบแก้วแหวนเงินทองสมัยโบราณเป็นจำนวนมาก จนข่าวกรุแตกแพร่กระจายไป
    นายเจิม อร่ามเรือง นักขุดพระชื่อดังในสมัยนั้นได้ลักลอบขุดต่อ ได้พบพระผงสุพรรณและพระเนื้อชินต่างๆ อีกหลายพิมพ์ อาทิ พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระลีลา พระท่ามะปราง พระผงสุพรรณยอดโถ พระสุพรรณหลังผาน และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ศิลปะลพบุรี อู่ทอง ๒ และอู่ทอง ๓ รวมทั้งแผ่นจารึกลานทองหลายแผ่น ซึ่งนายเจิม อร่ามเรือง ได้ทำการหลอมขายจนหมด จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ต้องสูญเสียหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไป
    ต่อมาก็ยังมีผู้ที่ลักลอบเข้าไปขุดค้นอีกหลายครั้งได้สิ่งของที่มีค่าไปมากมาย ข่าวการลักลอบขุดกรุทราบถึงคณะกรรมการเมือง พระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) เจ้าเมืองสุพรรณบุรีในสมัยนั้น เห็นว่าปล่อยทิ้งไว้ราษฎรคงจะแห่กันไปสร้างความเสียหายต่อสมบัติของประเทศชาติ จึงให้เจ้าหน้าที่รีบไปจัดการอุดช่องที่เจาะพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้วจึงเปิดกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๔๕๖
    หลังจากนั้นได้นำพระเครื่องที่ได้จากการเปิดกรุส่วนหนึ่ง ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเสด็จฯ ไปสักการะบูชาเจดีย์ยุทธหัตถี ณ ดอนเจดีย์ ในเขตเมืองสุพรรณบุรี โดยพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
    เรื่องราวของการเปิดกรุเป็นทางการในครั้งนั้น ปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งกล่าวถึงการเสด็จฯ ไปสักการะพระเจดีย์ยุทธหัตถีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และการนำพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอก และพระพิมพ์ต่างๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ดังความว่า......."เมื่อทรงสักการบูชาพระเจดีย์แล้ว (พระเจดีย์ยุทธหัตถี) พระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นำสิ่งของโบราณต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวาย สิ่งของซึ่งพบที่ดอนเจดีย์เมื่อฉาบดินและแผ้วถางทางรับเสด็จคราวนี้ คือยอดธงชัย เป็นรูปวชิระทำด้วยทองสัมฤทธิ์ยอด ๑...นอกจากสิ่งของที่ได้ที่ดอนเจดีย์ พระยาสุนทรสงครามได้นำพระเครื่องซึ่งพบในกรุที่วัดพระธาตุในเมืองสุพรรณบุรี เมื่อจวนจะเสด็จคราวนี้ ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระพุทธลีลาหล่อพิมพ์ด้วยโลหะธาตุอย่างหนึ่ง พระพุทธรูปมารวิชัย พิมพ์ด้วยดินเผาอย่างหนึ่ง อย่างละหลายร้อยองค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกแก่เสือป่า ลูกเสือ ทหาร และตำรวจ บรรดาที่โดยเสด็จครั้งนี้โดยทั่วกัน"
    ในการเปิดกรุครั้งนี้ ได้พบพระพิมพ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก และได้พบแผ่นจารึกลานทองภาษาขอม ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ กล่าวถึงการสถาปนาพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ โดยกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และได้รับการปฏิสังขรณ์โดยพระราชโอรสซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกับแผ่นลานทอง ซึ่งพบที่ยอดนพศูลองค์พระปรางค์ซึ่งแปลโดยนายฉ่ำ ทองคำวรรณ ซึ่งมีใจความว่า
    "พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธยา ทรงมีพระนามว่าจักรพรรดิ โปรดให้สร้างสถูปองค์นี้ขึ้นไว้และทรงบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน แต่สถูปของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นราชาเหนือพระราชาทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้งมวล และเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดีและทรงบรรจุพระวรธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในพระสถูปนั้น พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระสถูปจึงทรงบูชาด้วยเครื่องบูชา เครื่องบูชามีทอง เป็นต้น แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยบุพกรรมแห่งข้านั้น ขอให้ข้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเทอญ"
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีองค์พระปรางค์องค์ใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) หรือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แม้ว่าไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างที่ชัดเจน แต่มีหลักฐานที่สำคัญต่อการศึกษาของวงการพระเครื่อง พระบูชา คือลานทอง ๓ แผ่น ซึ่งเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ของการสร้างวัด สร้างพระเครื่องและพระบูชา โดยเฉพาะแผ่นที่ ๒ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ว่า
    "ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ สิทธิการิยะแสดงบอกไว้ให้รู้ว่า มีฤๅษีทั้งสี่ตน พระฤๅษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณ เป็นต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธาพระฤๅษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย พระฤๅษีจึงอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธี ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถาน ๑ แดง สถาน ๑ ดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อนพิมพ์ด้วยลายมือของพระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่างๆ ซัดยาสำเร็จแล้วให้นามแร่ว่าสังฆวานร ได้หล่อเป็นพิมพ์ต่างๆ มีอานุภาพต่างกัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วท่านเอาไปประดิษฐ์สถานไว้ในสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม (สุพรรณบุรี) ถ้าผู้ใดพบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการะบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครองภยันตรายได้ทั้งปวง ถ้าผู้ใดจะออกรณรงค์สงครามประสิทธิ์ด้วยสาทตราวุธทั้งปวง เอาพระลงสรงน้ำมันหอมแล้วนั่งบริกรรมพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑๐๘ จบ พาหุง ๑๓ จบ ใส่ขันสัมฤทธิ์นั่งอธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด ให้ทาทั้งหน้าและผม คอ หน้าอก ถ้าจะใช้ในทางเมตตาให้มีสง่าเจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอมเสกด้วยคาถาเนาว์หอระคุณ ๑๓ จบ พาหุง ๑๓ จบ พระพุทธคุณ ๑๓ จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชาทำพิธีในวันเสาร์ น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอ ทาริมฝีปาก หน้าผาก และผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกษรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง ๓ อย่างนี้ดุจกำแพงแก้วกันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถาทเยสันตาจนจบ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจนจบ พาหุงไปจนจบ แล้วให้ว่าดังนี้อีก คะเตสิกเก กะระณังมะกา ไชยยังมังคะ สังนะมะพะทะ แล้วให้ว่า กิริมิถิ กุรุมุธุ เกเรเมเถ กะระมะทะ ประสิทธิแล"
    จากคำแปลนี้ก็ได้มีข้อสังเกตว่าพระผงสุพรรณเป็นพระเนื้อดินที่ไม่ได้ผ่านการเผา เป็นพระดินดิบเพียงแค่ผสมกับว่าน ๑๐๘ ผงเกสรดอกไม้และตัวประสาน แต่เมื่อนำไปบรรจุกรุ ความร้อนอบอ้าวภายในกรุจะค่อยอบจนพระผงสุพรรณแห้งคล้ายกับการเผาไฟ
    พระผงสุพรรณเป็นพระเครื่องที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระเนื้อดินเผา จำลองพุทธลักษณะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในรูปแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานเขียงชั้นเดียว ศิลปะยุคอู่ทอง พระพักตร์แตกต่างกันออกไปตามพิมพ์ พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม ขึงขัง พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา ส่วนพระกรทอดเรียว แสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทองที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด
    ด้านหลังของพระผงสุพรรณปรากฏลายนิ้วมือเป็นค่อนข้างหยาบอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าเป็นลายนิ้วหัวแม่มือโดยกดหนักทางด้านบน ขนาดขององค์พระมีความกว้าง ความหนาและความสูงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการกดพิมพ์และการตัดขอบ มักจะมีรอยตัดยอดบนขององค์พระออก
    ด้วยเหตุที่เมื่อพบพิมพ์พระ ๓ ประเภทมีลักษณะพระพักตร์เหมือนศิลปะสกุลช่างแห่งพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ๓ แบบ จึงได้แบ่งพิมพ์พระผงสุพรรณออกเป็น ๓ พิมพ์ตามพระพุทธรูป ได้แก่ ๑.พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ ๒.พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง ๓.พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม พระผงสุพรรณ จัดเป็นหนึ่งในชุดพระเบญจภาคี มีพุทธานุภาพในด้านแคล้วคลาด มหาลาภ เมตตามหานิยม มหาอำนาจ เป็นมงคลยิ่งแก่ผู้สักการบูชา
    ราช รามัญ
    n.siam@hotmail.com
    พระผงสุพรรณยอดพุทธคุณในเบญจภาคี | ไทยโพสต์
     

แชร์หน้านี้

Loading...