เรื่องเด่น พระนิพพาน (พระพุทธดำรัสและพระสารีบุตโตวาท)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 25 เมษายน 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
    white%20clouds.jpg

    สัมมาธรรม
    พระนิพพาน
    พระพุทธดำรัสและพระสารีบุตโตวาท

    ----------
    นิพพานสูตรที่ ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่
    ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ (ความว่าง) วิญญาณัญจายตนะ (วิญญาณ) อากิญจัญญายตนะ (ความไร้สูญ) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะที่มีความจำก็ใช่หรือไม่มีก็ไม่ใช่) โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
    (นิพพานสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๕๘/๑๔๓)
    พาหิยสูตร
    ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี
    ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์
    (พาหิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๕๐/๖๐)
    นิพพานสูตรที่ ๒
    พุทธอุทาน:
    ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา
    นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่
    (นิพพานสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๕๙/๑๔๓)
    นิพพานสูตรที่ ๓
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้วเป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ
    (นิพพานสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๖๐/๑๔๔)
    นิพพานสูตรที่ ๔
    พุทธอุทาน:
    ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย
    เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ (ความสงบ)
    เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี
    เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมา การไป
    เมื่อไม่มีการมา การไป ก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ
    เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี
    นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
    (นิพพานสูตรที่ ๔ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๖๑/๑๔๕)
    เจริญมรรค ดับสังโยชน์ เพื่อบรรลุธรรม
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ คือ
    สักกายทิฏฐิ (การเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตน) ๑
    วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) ๑
    สีลัพพตปรามาส (ความประมาทในศีลพรต) ๑
    กามฉันทะ (ความยินดีในการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) ๑
    พยาบาท (ความผูกโกรธ) ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ คือ
    รูปราคะ (ความยินดีเพลิดเพลินในรูป) ๑
    อรูปราคะ (ความยินดีเพลิดเพลินในอรูป) ๑
    มานะ (ความถือตัว) ๑
    อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ๑
    อวิชชา (ความหลงผิด) ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจถูกต้อง) สัมมาดำริ (ความตั้งใจถูกต้อง) สัมมาวาจา (การพูดจาถูกต้อง) สัมมากัมมันโต (ความประพฤติถูกต้อง) สัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีพถูกต้อง) สัมมาวายาโม (ความขยันถูกต้อง) สัมมาสติ (การกำหนดรู้ถูกต้อง) สัมมาสมาธิ (ความมีใจตั้งมั่นถูกต้อง) อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์
    (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๙/๓๔๙-๓๕๒/๙๐)
    เข้าฌาน ละขันธ์ห้า น้อมจิตสู่อมตธาตุ เพื่อเข้านิพพาน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสนัญจายตนฌานบ้าง วิญญาณัญจายตนฌานบ้าง อากิญจัญยายตนฌานบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุฌาน
    เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น
    ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน
    (ฌานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๓/๒๔๐/๑๔๑)
    นิพพานสูตร
    สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า
    ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข
    เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า
    ดูกรอาวุโสสารีบุตร นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร
    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข
    ดูกรอาวุโส กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
    รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ ประการนี้แล
    ดูกรอาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ นี้เรียกว่ากามสุข
    ดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม บรรลุปฐมฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการถึงกามย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (ที่ปราศจากาม) เป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน เพราะวิตกวิจารสงบไป ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยวิตกย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากความวิตก) เป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุตติยฌาน เพราะปีติสงบไป ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยปีติย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากปีติ) เป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน เพราะความดีใจ ความเสียใจ สงบไป ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยอุเบกขาย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากอุเบกขา) เป็นสุขอย่างไรท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อากาศ (ความว่าง) ไม่มีที่สุด ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยรูปย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากรูป) เป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง เพราะละอากาสาณัญจายตนะได้ ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะย่อมทำให้ฟุ้งซ่านข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากอากาสานัญจายตนะ) เป็นสุขอย่างไรท่านพึงทราบโดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง เพราะละวิญญาาณัญจายตนะได้ ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากวิญญาาณัญจายตนะ) เป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง เพราะละอากิญจัญญายตนะ ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะย่อมทำให้ฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธ (ความป่วยทางจิต) ของเธอ
    ดูกรอาวุโส นิพพาน (อันปราศจากอากิญจัญญายตนะ)เป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา
    ดูกรอาวุโสนิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้
    (นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๓/๒๓๘/๓๓๕-๓๓๘)
    ปรินิพพานสูตรที่ ๕
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สาลวัน ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
    นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต
    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน
    ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน
    ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน
    ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน
    ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน
    ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน
    ออกจากวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน
    ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
    ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
    ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
    ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน
    ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน
    ออกจากวิญญานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน
    ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน
    ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน
    ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน
    ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน
    ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน
    ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน
    ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน
    พระผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับนั้น
    (นิพพาน ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม อยู่เหนือรูปกับนาม จึงทรงออกระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน)
    (ปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๐/๑๔๓-๑๔๔/๑๒๔)
    นิพพานธาตุ ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ ๒ ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
    ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ
    ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
    ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ
    เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้นเป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลิน มิได้แล้ว จักเย็น
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล
    (ธาตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๒๒๒/๑๙๒)
    นิพพานธาตุ ๒
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความเต็มของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น
    ภิกษุจำนวนมากก็เหมือนกัน ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุย่อมไม่ปรากฏ
    เพราะเหตุนั้น แม้นี้ก็เป็นความอัศจรรย์


    (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๗/๔๖๑/๑๘๔)
    อ่าน https://uttayarndham.org/node/1915

    5RhPL3ZkAi806uI2R0Jx8LXw5v89Em0nx8Esxnq4paCW&_nc_ohc=dH55AoxBzmQAX_Bq8Eq&_nc_ht=scontent.fbkk2-4.png
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...