ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน อุณหภูมิความร้อนที่ใกล้ถึงจุดเดือด?

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 6 มีนาคม 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน อุณหภูมิความร้อนที่ใกล้ถึงจุดเดือด?

    โดย ดลยา เทียนทอง ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



    act04060350p1.jpg

    ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้เปิดประเด็นกล่าวหาอิหร่านว่ากำลังลักลอบพัฒนาโครงการเสริมสรรถนะยูเรเนียมเพื่อการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

    ขณะที่อิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกา และตอบโต้ว่าโครงการพัฒนายูเรเนียมของตนเป็นไปเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเป็นการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติเท่านั้น

    แต่สหรัฐอเมริกาไม่สนใจกลับเร่งผลักดันให้ทบวงปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency-IAEA) เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด และยังเรียกร้องให้ IAEA ใช้มาตรการต่างๆ กดดันอิหร่านให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวทั้งหมด

    แต่อิหร่านแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยกเลิก พร้อมกับยินดีจะเปิดการเจรจากับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nation Security Council-UNSC) รวมทั้งจะให้ IAEA เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด

    กระทั่งในที่สุดอิหร่านก็ระงับโครงการพัฒนานิวเคลียร์เป็นการชั่วคราว 3 เดือน โดยมีมหาอำนาจยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นผู้เจรจา

    แต่หลังจากนั้นมาอิหร่านก็ได้เร่งสานต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนโดยยังคงดื้อดึงดำเนินโครงการต่อไป โดยไม่สนใจคำทัดทานจากใคร และไม่หวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากสหประชาชาติ มหาอำนาจยุโรป และสหรัฐอเมริกา แม้ว่ารัสเซีย และจีนพันธมิตรที่สำคัญของอิหร่านจะพยายามใช้วิธีทางการทูตหลายครั้งในการแก้ไขปัญหาก็ตาม เนื่องจากอิหร่านมีจุดยืนแน่วแน่ที่จะปกป้องสิทธิของรัฐอธิปไตยในการจะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติ มิใช่นำไปใช้เพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์ตามข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกา

    นอกเหนือจากรัสเซียและจีนที่ดูจะยืนอยู่ข้างอิหร่านแล้ว ในที่ประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement-NAM) 118 ประเทศ ซึ่งมีขึ้นที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ยังได้ประกาศให้การสนับสนุนโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน

    แต่กระนั้นก็ตามเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.2006 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออกมติที่ 1737 ในการคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อลงโทษฐานที่อิหร่านไม่ยอมยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์

    และขีดเส้นตายภายใน 60 วันเพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง เพราะมิฉะนั้นแล้วคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะเพิ่มระดับความรุนแรงของการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมากขึ้นไปอีก

    กระทั่งเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2007 สถานการณ์นิวเคลียร์อิหร่านก็ยังคงดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะอิหร่านยังคงดำเนินการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนไปเรื่อยๆ โดยประธานาธิบดีมะห์มูดอะห์หมัดดีนีญัดได้ประกาศก้องว่า "...ประชาชนชาวอิหร่านต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็งในการปกป้องสิทธินิวเคลียร์ของพวกเรา...."

    แม้ว่าถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2007 ซึ่งครบกำหนดเส้นตาย 60 วันที่สหประชาชาติบีบบังคับให้อิหร่านยอมจำนนในการยุติโครงการนิวเคลียร์แล้ว แต่อิหร่านก็เพิกเฉย และยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายสหประชาชาติและมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด

    ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ร่วมประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2007 เพื่อกำหนดท่าทีและบทลงโทษอิหร่านให้รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นกว่านี้

    อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมอันท้าทายของอิหร่านครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น หากแต่อิหร่านแสดงความท้าทายต่อการใช้ไม้แข็งของสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกามาเกือบตลอดในช่วงที่ผ่านมา

    แม้ว่าในบางขณะอิหร่านได้พยายามแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดช่องการเจรจาในเรื่องนี้ก็ตาม

    การที่อิหร่านแสดงความท้าทายดังกล่าว อาจเป็นเพราะ

    ประการแรก ปัจจัยเกี่ยวกับผู้นำประเทศของอิหร่านที่มีลักษณะแข็งกร้าว ยอมหักไม่ยอมงอ พร้อมชนทุกรูปแบบ แม้กระทั่งนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศชาติ

    ประการที่สอง อิหร่านมั่นใจว่าทั้งสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาจะต้องคิดหนักหากใช้กำลังโจมตีอิหร่าน เพราะจะต้องเผชิญต่อแรงกดดันจากประเทศโลกมุสลิม และที่สำคัญจะได้รับกระแสต่อต้านในฐานะผู้บุกรุกจากชาวอิหร่านทั้งหลายที่ยึดมั่นในความศรัทธาและภักดีต่อประเทศชาติเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากการบุกโจมตีอิรักเมื่อปี 2003 ที่ชาวอิรักส่วนใหญ่ยินดีเพราะเป็นการเข้ามาปลดปล่อยพวกเขาจากกรงขังของซัดดัม ฮุสเซน

    ประการที่สาม เกี่ยวข้องกับการที่อิหร่านประเมินแล้วว่าสหประชาชาติคงจะไม่สามารถใช้มาตรการทางทหารเล่นงานอิหร่านได้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่ารัสเซียและจีนซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอิหร่านอาจใช้สิทธิวีโต้ (veto) ต่อการใช้มาตรการดังกล่าว

    ประการที่สี่ อาจเป็นผลมาจากอิหร่านประเมินแล้วว่าโอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะใช้กำลังทหารบุกโจมตีตนเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากสหรัฐอเมริกากำลังติดพันอยู่กับการรักษาความไม่สงบในอิรักซึ่งไม่ระบุระยะเวลาชัดว่าเมื่อไหร่จะถอนกำลังทั้งหมดออกมา เพราะกลุ่มต่อต้านยังคงปฏิบัติการสร้างความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงในทางตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น

    ซึ่งในเรื่องนี้ประธานาธิบดีบุชได้รับการโจมตีอย่างหนักจากชาวอเมริกันที่ไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังคงกำลังทหารในอิรัก เพราะทำให้ทหารอเมริกันต้องเสียชีวิตไปหลายพันนาย ทั้งยังต้องสูญเสียงบประมาณไปจำนวนมหาศาล

    ประกอบกับสหรัฐอเมริกายังมีชนักติดหลังในการบุกอิรักในปี 2003 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลอันชอบธรรมต่อประชาคมโลกว่า ซัดดัม ฮุสเซน กำลังลักลอบพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง แต่ภายหลังการโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน แล้ว ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าอิรักมีอาวุธดังกล่าวแต่อย่างใด

    สิ่งนี้จึงถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในสายตาประชาคมโลก ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้นเพราะมิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นการซ้ำรอยตามผิดพลาดเดิม อันจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาลงไปอีก

    นอกจากนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชก็กำลังเข้าสู่ภาวะการตกเป็นรองทางการเมืองภายในประเทศ กล่าวคือ พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้การตัดสินใจของประธานาธิบดีบุชที่จะใช้กำลังทหารบุกโจมตีอิหร่าน จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะเสียงส่วนใหญ่คงคัดค้านมากกว่าสนับสนุน อีกทั้งคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีบุชเองก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการคงกำลังทหารในอิรัก

    และ ประการสุดท้าย ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านก็ยังกำกวมไม่ชัดเจนและยากที่จะพิสูจน์ได้

    แต่อย่างไรเสีย อิหร่านก็ไม่ประมาทในการเตรียมพร้อมรับมือ หากการโจมตีเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะในขณะนี้ก็มีสัญญาณบอกเหตุบางอย่างจากสหรัฐอเมริกาว่าอาจใช้กำลังเข้าโจมตีอิหร่าน

    ดังจะเห็นได้จากการที่สหรัฐอเมริกาส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเข้าไปยังอ่าวเปอร์เซียในช่วงสัปดาห์ก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2007

    หรือแม้แต่การที่นิตยสารนิวยอร์กเกอร์รายงานว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ตั้งคณะทำงานวางแผนถล่มอิหร่าน ซึ่งแผนนี้สามารถดำเนินการได้ 24 ชั่วโมง

    และที่สำคัญคือ ในระยะหลังสหรัฐอเมริกามักพยายามพุ่งเป้าในเรื่องที่อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในอิรัก และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในตะวันออกกลางเพื่อให้เป็นอีกเหตุผลที่มีน้ำหนักในการจะบุกโจมตีอิหร่าน

    ขณะที่อิหร่านเองก็ตอบโต้ด้วยการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการทดสอบยิงจรวดสู่อวกาศโดยไม่ได้ระบุถึงวิถีของจรวด

    ดังนั้น หากสถานการณ์ในอนาคตโน้มเอียงไปในรูปที่สหรัฐอเมริกาเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ขนานใหญ่เข้าสู่อ่าวเปอร์เซียมากขึ้น หรือมีการเคลื่อนกำลังอย่างผิดปกติในประเทศที่สหรัฐอเมริกามีกองกำลังตั้งอยู่ เช่นในอิรัก อัฟกานิสถาน หรือแม้แต่ตุรกี ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกามีอิทธิพล และที่สำคัญมีพรมแดนติดต่อกับอิหร่านทั้งสิ้น

    ประกอบกับถ้าอิหร่านเองมีการฝึกซ้อมรบทั้งในด้านกำลังทหารและอาวุธบ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งมีการกักตุนสินค้า หรือแม้แต่มีการเร่งถอนเงินจำนวนมากออกนอกประเทศ ก็มีนัยที่อนุมานได้ว่าสหรัฐอเมริกาอาจใช้กำลังโจมตีอิหร่านในไม่ช้า

    นั่นหมายความว่าปัญหานิวเคลียร์อิหร่านจะกลายเป็นอุณหภูมิความร้อนที่ใกล้ถึงจุดเดือดเข้าทุกที

    หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านกำลังคืบคลานเข้าใกล้การใช้ความรุนแรงเข้าหากันมากขึ้นทุกขณะ

    และเมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมานานัปการ และการสู้รบก็อาจขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะมีตัวสอดแทรกสำคัญ คือ อิสราเอล และประเทศอาหรับบางประเทศอย่างซีเรียเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็เป็นได้

    กระนั้นก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง การที่สหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณบอกเหตุว่าจะใช้กำลังเข้าโจมตีอิหร่าน อาจเป็นเพียงการใช้สงครามจิตวิทยาเพื่อข่มขวัญอิหร่านเท่านั้น อันจะเป็นการบีบบังคับอิหร่านในทางอ้อม เพื่อหวังกดดันอิหร่านอย่างหนักให้ยุติโครงการนิวเคลียร์

    อย่างไรก็ดี ล่าสุด ดร.คอนโดลิซซา ไรซ์ (Condoleezza Rice) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าพร้อมจะเปิดการเจรจาแบบทวิภาคีกับอิหร่านในเรื่องนี้ หากอิหร่านยินยอมยุติโครงการนิวเคลียร์เสียก่อน

    คำประกาศดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ปิดประตูสำหรับวิธีทางการทูตสักทีเดียว นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังจะเปิดการเจรจากับอิหร่านและซีเรียในกรณีปัญหาความไม่สงบในอิรักอีกด้วย

    ซึ่งหากการเจรจาในกรณีนี้สำเร็จก็คาดว่าอาจเชื่อมต่อไปสู่การเจรจากับอิหร่านในเรื่องนิวเคลียร์ในลำดับต่อไปก็เป็นได้

    การแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อิหร่านในแวทางสันติจึงพอมีแสงสว่างให้เห็นอยู่บ้าง

    แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอิหร่านว่าจะเป็นอย่างไร และการกำหนดบทลงโทษของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่ออิหร่านครั้งที่ 2 จะออกมาในรูปใด

    ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านจึงกลายเป็นอุณหภูมิความร้อนที่ยังไม่ถึงจุดเดือดในเร็ววันนี้ หรือใกล้ถึงจุดเดือดแล้วในไม่ช้า

    คงต้องติดตามดูกันต่อไป!!!

    -----------------------
    Ref.
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01act04060350&day=2007/03/06&sectionid=0130
     
  2. eve1

    eve1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +682



    มีเพียง วันนี้ ที่เราสามารถทำอะไรๆได้

    ขอทุกท่านจงเจริญด้วยสมาธิเทอญ


    ขอบคุณนู๋ตาจ้า
     
  3. kananun

    kananun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2006
    โพสต์:
    10,282
    ค่าพลัง:
    +114,775
    ตอนนี้ยังพอเตรียมตัวได้ทัน ก็อย่าได้ประมาท ทั้งทางโลกทางธรรมครับ
     
  4. Nirvana

    Nirvana เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กุมภาพันธ์ 2005
    โพสต์:
    8,188
    ค่าพลัง:
    +20,865
    โดนแน่.....ล่ะครับ

    เพราะเมกาจ้องมากว่า 2 ปี แล้ว ว่าจะเอาแน่
    ยิ่งผู้นำอิหร่านไปพูดจาภาษาพาประเทศเดือดร้อน ในเรื่องจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก ยิ่งเหมือนน้ำมันราดกองไฟ

    ประเทศไทยก็เตรียมเจอน้ำมันลิตรละ 50 บาท ให้ดีๆก็แล้วกัน

    "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"
     

แชร์หน้านี้

Loading...