บุญ-บาป กุศล-อกุศล : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 30 กรกฎาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    กุศล นั้นตามหลักท่านบอกว่า แยกความหมายได้ ๔ อย่าง
    ความหมายที่ ๑ ว่า อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรค หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ คำว่าสุขภาพในที่นี้หมายถึง สุขภาพของจิตใจ


    [​IMG]

    ซึ่งเป็นฐานของสุขภาพกายด้วย คือทำให้จิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ เหมือนกับร่างกายของเรานี้ เมื่อไม่มีโรคก็เป็นร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจที่ไม่ถูกโรคคือ กิเลสเบียดเบียน ก็เป็นจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ สบายคล่องแคล่ว ใช้งานได้ดี อย่างที่ท่านเรียกว่า ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน จิตใจแบบนี้เรียกว่า ไม่มีโรค


    ความหมายที่ ๒ ว่า อนวัชชะ แปลว่า ไม่เสียหาย ไม่มีโทษ คือ ไม่มีสิ่งมัวหมอง ไม่สกปรก ไม่บกพร่อง สะอาด ผ่องแผ้ว ผ่องใส ปลอดโปร่ง เป็นต้น เอาง่าย ๆ ว่า สะอาดบริสุทธิ์


    ความหมายที่ ๓ ว่า โกศลสัมภูต แปลว่า เกิดจากปัญญา เกิดจากความฉลาด หมายความว่า กุศล เป็นเรื่องที่ประกอบไปด้วยปัญญา คือ ความรู้เข้าใจ ทำด้วยความรู้เหตุผล และทำตามความรู้เหตุผลนั้น


    เช่น มองเห็นความดี ความชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์ รู้ไม่ใช่ประโยชน์ ทำด้วยจิตใจที่สว่างไม่โง่เขลามืดมัว เรียกว่า เป็นความสว่างของจิตใจ เมื่อมีกุศลเกิดขึ้นในจิตใจแล้วไม่ปิดปังปัญญา จิตใจสว่าง ไม่มืดไม่บอด มองเห็นอะไร ๆ ถูกต้องตามความเป็นจริง


    ความหมายที่ ๔ สุดท้ายคือ สุขวิบาก มีสุขเป็นผล ทำให้เกิดความสุข เวลาทำ จิตใจก็โปร่งสบาย สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส สงบเย็น ไม่เร่าร้อน บีบคั้น อึดอัด คับแค้น


    ที่ว่ามาทั้ง ๔ ข้อนี้ คือ ความหมายของกุศล เป็นลักษณะที่จะเอามาวินิจฉัย คือ สิ่งที่เป็นกุศลนั้นจะต้อง
    ๑. อโรค ไม่มีโรค เกื้อกูล จิตใจมีความแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจคล่องแคล่ว ใช้งานได้ดี
    ๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษ ไม่มีมลทิน ไม่มัวหมอง ไม่เสื่อมเสีย มีความสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ปลอดโปร่ง
    ๓. โกศลสัมภูต มีปัญญา รู้เหตุผล รู้ดีชั่ว รู้คุณโทษ สว่าง ไม่มืดมัว และ
    ๔. สุขวิบาก มีสุขเป็นผล ทำด้วยความโปร่งสบาย ทำแล้วก็แช่มชื่นเย็นใจ


    ตัวอย่างลักษณะและอาการของกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เช่น มี เมตตา เป็นอย่างไร พอเมตตาเกิดขึ้นในใจปั๊บ ก็เย็นฉ่ำ จิตใจไม่มีโรค จิตใจมีความแข็งแรงในตัวของมัน


    มีความเอิบอิ่ม สบาย เย็นชื่น ยิ้มได้ ปลอดโปร่งผ่องใส ทั้งใจ ทั้งกายราบรื่นผ่อนคลาย เลือดลมเดินคล่องดี และมีความรู้ความเข้าใจ สว่างอยู่ภายในว่าคนอื่นเขามีความสุขความทุกข์อย่างไร เราควรจะมีจิตใจต่อเขาอย่างไร และมีความสุขพร้อมอยู่ในตัวด้วย


    แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีโทสะ เกิดขึ้น เป็นอย่างไร พอโทสะ หรือความโกรธ ความคิดประทุษร้ายเกิดขึ้นปั๊บ ก็รู้สึกเร่าร้อนแผดเผา จิตเป็นโรค จิตบกพร่อง ถูกบีบคั้น มันไม่สบาย ถูกเบียดเบียนขุ่นมัว


    ไม่บริสุทธิ์ ไม่สะอาด ไม่ปลอดโปร่ง ไม่ผ่องใส ใจข้อง กายเครียด เลือดลมคั่ง และมืดมัวเหมือนตาบอด ไม่รู้ ไม่คิด ไม่มอง เห็นบุญเห็นคุณ ไม่คำนึงถึงโทษ ไม่รู้ว่าใครเป็นใครทั้งนั้น และมีความทุกข์ พลุ่งพล่าน เดือดร้อนใจ นี่ลักษณะของอกุศล


    เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศล จึงไม่ต้องไปรอดูผลข้างนอก พอเกิดขึ้นในใจก็บอกตัวเองของมันทันที ปรากฏผลแก่ชีวิตจิตใจ เป็นความหมายของตัวมันเอง


    พอมีขึ้นมาปั๊บก็สำเร็จความหมายในตัวทันที ถ้าใครถามว่าดีชั่วมีจริงไหม ก็บอกว่าฉันไม่ตอบละ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ


    ความเป็นกุศลและอกุศลเป็นสภาวะตามธรรมชาติ มันมีภาวะของมันอยู่ในตัวแล้ว เราต้องอธิบายกรรมให้ลึกเข้ามาถึงความหมายในจิตใจที่เป็นพื้นแท้ ๆ ของตัวมันเอง ให้เห็นว่ามันมีความหมายอยู่ในตัวของมันเองพร้อมแล้ว ไม่ต้องไปรอผลไกล


    ถาม: อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรคใช่ไหมครับ
    ตอบ: อาโรคยะ มาจาก อโรคะ คือ อ+โรค ก็คือ ไม่มีโรค แล้วบวก ณฺย ปัจจัย เข้าไป เป็นภาวตัทธิต ตามหลักไวยากรณ์เป็น อโรคฺย แปลว่า ความเป็นอโรค คือ ความไม่มีโรคนี้ หมายถึง ความไม่เป็นโรคของจิต ไม่ใช่แค่โรคของร่างกาย จิตที่ไม่มีโรค ก็สมบูรณ์แข็งแรง และช่วยหนุนสุขภาพร่างกายด้วย


    แม้แต่ภาษิตที่เราท่องกันในภาษาไทย ที่เพี้ยนเป็น อโรคยา ปรมา ลาภา นั้น (ความจริงภาษาบาลี เป็น อาโรคฺยปรมา ลาภา) ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ความหมายที่แท้จริงไม่ได้มุ่งเพียงไม่มีโรคกาย


    ที่ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หรือ ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่งนั้น พระองค์หมายถึง พระนิพพาน อาโรคยะ นี้ หมายถึง พระนิพพาน พระนิพพานเป็นภาวะไร้โรค คือ ความมีสุขภาพจิตสมบูรณ์


    เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับมาคัณฑิยะ ท่านมาคัณฑิยะไปสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า อ้างสุภาษิตเก่าว่า อาโรคฺยปรมาลาภา ซึ่งในที่นี้เขามีความเข้าใจว่าเป็นโรคกาย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันไม่มีความหมายแคบเท่านั้น แต่หมายถึงความไม่มีโรคทางจิตใจด้วย ใช้ได้ทุกระดับ


    สำหรับชาวบ้านก็ใช้ในระดับโรคทางกายธรรมดา แต่ในทางธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรในมัชฌิมนิกาย หมายถึงพระนิพพานเลย เป็นภาวะไม่มีโรคโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ในจิตใจ หมายความว่า ภาษิตนี้ใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ไปจนกระทั่งถึงบรรลุนิพพาน แต่ให้รู้ความหมายแต่ละขั้น ๆ


    ความหมายของคำว่า "กุศล" ก็ให้เข้าใจตามลักษณะที่ว่ามานี้ ส่วนที่เป็นอกุศลก็ตรงข้าม ดังได้ยกตัวอย่างไปแล้ว เช่น เมื่อเมตตาเกิดขึ้นในใจเป็นอย่างไร โทสะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ลักษณะก็จะผิดกันให้เห็นชัด ๆ ว่า ผลมมันเกิดทันที อย่างที่เรียกว่า เป็น สันทิฏฐิโก เห็นเอง เห็นทันตา


    ข. บุญ หมายความแค่ไหน
    คำที่เนื่องกันอยู่กับ กุศล และ อกุศล ก็คือ คำว่า "บุญ" และ "บาป" บุญกับกุศล และบาปกับอกุศล ต่างกันอย่างไร


    ในที่หลายแห่งใช้แทนกันได้ อย่างในพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่อง ปธาน คือ ความเพียร ๔ ก็ตรัสคำว่าอกุศลกับคำว่าบาปไว้ด้วยกัน อยู่ในประโยคเดียวกัน คือเป็นถ้อยคำที่ช่วยขยายความซึ่งกันและกัน เช่นว่า ภิกษุยังฉันทะให้เกิดขึ้น ระดมความเพียรเพื่อปิดกั้น บาปอกุศลธรรมซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า สังวรปธาน แสดงให้เห็นว่าบาปกับอกุศลมาด้วยกัน


    แต่สำหรับบุญกับกุศล ท่านบอกว่า มันมีความกว้างแคบกว่ากันอยู่หน่อย คือ กุศล นั้นใช้ได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ เป็นคำกลาง ๆ และเป็นคำที่ใช้ในทางหลักวิชาการมากกว่า บางทีก็ระบุว่า โลกิยกุศล โลกุตตรกุศล แต่ถ้าพูดเป็นกลาง ๆ จะเป็นโลกิยะก็ได้ เป็นโลกุตตระก็ได้


    ส่วนคำว่า บุญ นิยมใช้ในระดับโลกิยะ แต่ก็ไม่เสมอไป มีบางแห่งเหมือนกันที่ท่านใช้ในระดับโลกุตตระ อย่างที่แยกเรียกว่า โอปธิกปุญฺญ แปลว่า บุญที่เนื่องด้วยอุปธิ และ อโนปธิกปุญฺญ บุญไม่เนื่องด้วยอุปธิ เป็นต้น หรือบางทีใช้ตรง ๆ ว่า โลกุตตรปุญญะ บุญในระดับโลกุตตระ


    แต่โดยทั่วไปแล้ว บุญใช้ในระดับโลกิยะ ส่วนกุศลเป็นคำกลาง ๆ ใช้ได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ นี่เป็นความกว้างแคบกว่ากันนิดหน่อยระหว่างบุญกับกุศลในแง่รูปศัพท์ ซึ่งก็อาจเอาไปช่วยประกอบเวลาอธิบายเรื่องกรรมได้ แต่เป็นเรื่องเกร็ด ไม่ใช่เป็นตัวหลักใหญ่


    [​IMG]

    บุญ นัยหนึ่งแปลว่า เป็นเครื่องชำระสันดาน เป็นเครื่องชำระล้างทำให้จิตใจสะอาด ในเวลาที่สิ่งซึ่งเป็นบุญเกิดขึ้นในใจ เช่น มีเมตตาเกิดขึ้น ก็ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ศรัทธาเกิดขึ้น จิตใจก็ผ่องใส ทำให้หายเศร้าหมอง หายสกปรก


    ความหมายต่อไปนักวิเคราะห์ศัพท์ แปล บุญ ว่า นำมาซึ่งการบูชา หรือทำให้เป็นผู้ควรบูชา คือใครก็ตามสั่งสมบุญไว้ สั่งสมความดี เช่น สั่งสมศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา ผู้นั้นก็มีแต่คุณธรรมมากมาย และคุณธรรมหรือคุณสมบัติเหล่านั้นก็ยกระดับชีวิต

    จิตใจของเขาขึ้น ทำให้เป็นผู้ควรบูชา ฉะนั้น ความหมายหนึ่งของบุญ ก็คือ ทำให้เป็นคนน่าบูชา


    อีกความหมายหนึ่งคือ ทำให้เกิดผลที่น่าชื่นชม เพราะว่า เมื่อเกิดบุญแล้วก็มีวิบากที่ดีงาม น่าชื่นชม จึงเรียกว่ามีผลอันน่าชื่นชม ใกล้กับพุทธพจน์ที่ว่า สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานิ ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็สบาย มีความเอิบอิ่มแช่มชื่นผผ่องใส บุญจึงเป็นชื่อของความสุข


    ส่วนบาปนั้นตรงกันข้าม บาป นั้นโดยตัวอักษร หรือโดยพยัญชนะ แปลว่า สภาวะที่ทำให้ถึงทุคติ หรือทำให้ไปในที่ชั่ว หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตตกต่ำ พอบาปเกิดขึ้น ความคิดไม่ดีเกิดขึ้น โทสะ โลภะ เกิดขึ้น จิตก็ตกต่ำลงไป และนำไปสู่ทุคติด้วย


    ท่านให้ความหมายโดยพยัญชนะอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่คนดีพากันรักษาตนให้ปราศจากไป หมายความว่า คนดีทั้งหลายจะรักษาตนเองให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ จึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นบาป เป็นสิ่งที่คนดีละทิ้ง พยายามหลีกหลบเลี่ยงหนี ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย...


    ----------------------------------------------------

    คัดลอกบางส่วนจาก: เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)


    บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคลชั้นเยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ


    อันปราศจากราคะ เป็นที่เข้าไปสงบเป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศบันเทิงใจอยู่


    (๓๓/๔๙ จุนทิสูตร)

    ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความมีอายุสั้น ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้ ควรทำบุญทั้งหลายอันนำความสุขมาให้ ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ผู้ซึ่งสร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่


    (๓๑/๒๔๗ ชนสูตร)

    ถ้าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะความสุขนั้นไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะพึงได้โดยง่าย
    เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่าติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น


    ผู้ที่เกิดมาแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ เป็นบุญและเป็นบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป (สู่ปรโลก) อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามไป ฉะนั้น


    เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรม สะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก (เพราะว่าบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก)


    (๒๓/๑๔๑-๑๔๒ ปิยสูตร)

    ----------------------------------------------

    คัดลอกจาก:ประมวลธรรมในพระไตรปิฎก สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์


    บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป
    หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อย ๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้


    (๓๔/๗๔ คาถาธรรมบท)

    เปรียบเหมือนเรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่งไปจมลงในมหาสมุทร ฉันใด นรชนสั่งสมบาปกรรมทีละน้อย ๆ ก็ย่อมพาเอาบาปอันหนักยิ่งไป จมลงในนรก ฉันนั้น


    (๔๕/๔๓๘ มหานารทกัสสปชาดก)

    ...บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มไปด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาด ๆ ฉันใด คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบาป ฉันนั้น


    (๓๘/๔๐ คาถาธรรมบท)

    ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านเกลียดทุกข์ ท่านอย่าทำกรรมอันเป็นบาปทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ ถ้าท่านจักทำหรือกำลังทำกรรมอันเป็นบาปไซร้ แม้ท่านจะเหาะหนีไปในอากาศ ก็จักไม่พ้นทุกข์ได้เลย


    (๔๑/๗๐๖ ปุณณิกาเถรีคาถา)

    ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ


    (๓๘/๔๑ คาถาธรรมบท)

    พระอริยเจ้าย่อมไม่ยินดีในบาป ท่านผู้สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป เพราะได้เห็นโทษในโลก เพราะได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิ


    (๓๘/๒๑๑ โสณสูตร)

    ความชั่วแม้มีประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนประมาณเท่าหมอกเมฆแก่ท่านผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ผู้แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์


    (๔๑/๕๒๑ เรวตรคาถา)

    ------------------------------------

    คัดลอกจาก: บทละความชั่ว นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ ผู้รวบรวม




     

แชร์หน้านี้

Loading...