นโยบายเปิดวัด ๒๔ ชั่วโมง ของ...พระเทพปริยัติสุธี เจ้าคณะภาค ๓

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย paang, 9 พฤศจิกายน 2005.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]

    การเปิดให้บริการตลอดวันและตลอดคืน หรือที่เรียกว่า "๒๔ ชั่วโมง" ที่เราเห็นจนชินตา คือ ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมี กระจายอยู่ทั่วหัวระแหงที่ใหญ่ขึ้นมา หน่อยก็เป็นโรงยาบาล แผนกอุบัติเหตุ (ฉุกเฉิน) แต่ก็เปิดเพียงบางส่วนเท่านั้น
    ส่วนที่เปิด ๒๔ ชั่วโมงมาก่อนใคร คือ โรงแรมทั้งไม่ต้อง รูดม่าน และม่านรูด สถานที่เหล่านี้เปิดขึ้นมาเพื่อ ตอบสนองความสุข และความสะดวกทางกายเท่านั้น

    สำหรับผู้มีความทุกข์ทางใจ ซึ่งเกิดขึ้นในยามค่ำคืน ครั้นจะไปไหว้พระที่วัด ก็ไม่ได้ เพราะวัดปิด ต้องรอให้ถึง ตอนเช้า ถึงจะเข้าไปไหว้พระได้ แม้ว่าวัดในประเทศไทย จะมีนับหมื่นแห่ง แต่มีอยู่เพียงวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ชิงสะพานพุทธฝั่งพระนคร หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วัดเชิงเลน" น่าจะเป็นวัดแห่งประเทศไทย ที่เปิดวิหาร หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต เพื่อให้คนได้ไปกราบไหว้ขอพร รวมทั้งเป็นที่ พักผ่อนทางใจได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

    "ในเมื่อสถานบันเทิง ซึ่งเป็นแหล่งอบายมุข เปิดให้คนเข้าไปหาความสุขทางกายตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทำไมวัด จะเปิดโบสถ์ เปิดวิหารให้คนได้ไหว้พระ ได้หาความสงบทางจิตใจตลอด ๒๔ ชั่วโมงไม่ได้"
    นี่คือจุดประสงค์หนึ่งในการเปิดวัด ๒๔ ชั่วโมงของ พระเทพปริยัติสุธี เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร และ เจ้าคณะภาค ๓ ส่วนจะได้ผลตามความตั้งใจ หรือไม่นั้น ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ แบบ "คม ชัด ลึก"

    *นโยบายเปิดวัด ๒๔ ชั่วโมงเริ่มมานานหรือยังครับ?

    - เดิมทีวัดจะเปิดวิหาร ให้คนมากราบไหว้ขอพรหลวงปู่ไข่ ระหว่างเวลา ๐๖.๐๐-๒๒.๐๐ น. เท่านั้น เพราะวัด เกรงว่าเงินบริจาค และพระพุทธรูปบูชาจะสูญหาย ส่วนการเปิดให้กราบไหว้ตลอด ๒๔ ชั่งโมง เพิ่งเริ่มขึ้นในปี ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจของประเทศ ตกต่ำอย่างรุนแรง คนขาดที่พึ่งทางใจ ช่วงนั้นจะมีคนมากราบไหว้ ขอพร หลวงปู่ไข่จำนวนมาก
    ส่วนจะขออะไรนั้น สุดแล้วแต่ใครต้องการอะไร บางคนก็ได้อย่างใจหวัง ขณะที่บางคน ก็ไม่ได้ตามที่ขอ แต่อย่างน้อย ก็ทำให้จิตใจสงบลง เมื่อจิตใจสงบก็ทำให้เกิดสติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการดำเนินชีวิต
    สำหรับจำนวนผู้ที่มากราบไหว้นั้น ประมาณคืนละ ๒๐-๓๐ คน ที่มาประจำน่าจะมีอยู่ ๔-๕ คน หากเป็นคืน วันเสาร์จะมีคนมานั่งสวดมนต์ ทำสมาธิตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐-๒๔.๐๐ น. บางคนนั่งสมาธิถึงเช้าเลยก็มี แต่หาก ใครต้องการมาพักอาศัย ขอหลับนอนในวิหาร วัดจะมียามคอยแวะเวียนไปดู

    [​IMG]

    *จริงๆ แล้วท่านต้องการอะไรครับ?

    - ความทุกข์ของคนเราเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ในขณะที่เวลาของ การเข้าไปไหว้พระ ถูกจำกัดด้วยเวลาเช่นกัน คนส่วนใหญ่ทำงาน กันตลอดทั้งวัน ตอนเช้าก่อนเข้าทำงาน คงไม่มีเวลาไปไหว้พระ เพราะอาจจะทำให้ไปทำงานสาย ครั้นหลังเลิกงาน พอมีเวลา อยู่บ้าง คิดจะไปไหว้พระประธานในโบสถ์ในวิหารก็ไปไม่ได้ เพราะพระได้ปิดประตูเสียแล้ว บางวัด ไม่เคยเปิดประตูโบสถ์ รับญาติโยมเลย

    เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้คนส่วนหนึ่งหันไปเที่ยวสถานบันเทิง ซึ่งเป็นแหล่งอบายมุข สถานที่เหล่านี้ เปิดบริการ ตั้งแต่เช้าถึง ๐๒.๐๐ น. บางแห่งเปิดตลอดทั้งวันทั้งคืนก็มี ดังนั้นการเปิดวัดให้คนได้ไหว้พระได้ ๒๔ ชั่วโมง น่าจะมีส่วนช่วย ให้คนไม่หลงเข้าไปในแหล่งอบายมุขมากขึ้น

    *เคยได้คุยกับคนที่มาวัดดึกๆ บ้างหรือเปล่าครับ?

    - ถ้ากลับมาจากกิจนิมนต์ดึกๆ ก็จะแวะไปดู ครั้งหนึ่งเคยมีผู้หญิงวัยกลางคน มากราบหลวงปู่ไข่ ได้สอบถามว่า มาด้วยทุกข์อะไร เขาก็เล่าให้ฟังว่า ทะเลาะผัวและถูกไล่ออกจากบ้าน ตอนแรกคิดจะไปพักบ้านญาติ แต่มัน ก็ดึกมาก จึงนึกถึงวัดแห่งนี้ จึงมาพึ่งหลวงปู่ไข่ ถ้าไม่มีวัดแห่งนี้ก็ไม่รู้จะไปไหนดี

    *เปิด ๒๔ ชั่วโมงจะคุ้มกับค่าไฟหรือครับ?

    - เพียงช่วยคนหนึ่งคนให้พ้นทุกข์ ก็ถือว่าเกินคุ้มกับค่าไฟที่ต้องจ่ายแล้ว ที่สำคัญ คือ คุณสมคิด ตั้งธนชัย เขารับเป็นเจ้าภาพ ในการจ่ายค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็มีคนร่วมทำบุญถวายค่าไฟด้วย แต่ละครั้งที่ไขตู้ บริจาคปีละครั้งหรือ ๒ ครั้ง เคยได้ปัจจัยถึง ๕๐,๐๐๐ บาท บางครั้งก็ได้ถึง หลักแสนบาท

    การเปิดวัดให้คนได้ไหว้พระ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ได้เพิ่มความยุ่งยากให้กับพระ ทั้งนี้อาตมาได้ขยาย แนวความคิดเรื่องเปิดโบสถ์ เปิดวิหารให้คนได้กราบไหว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หากไม่สามารถเปิดได้ ก็ขอให้ เปิดเร็วขึ้นและปิดช้าลง โดยเฉพาะวัดในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ในห้องเช่า แฟลต คอนโดมิเนียม ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด หากมีปัญหากระทบกระทั่งกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ออกจากบ้าน ก็น่าจะมีที่พักพิงทางใจ และวัดก็มีความสงบ มีเนื้อที่มากพอ ที่จะให้คนได้ผ่อนคลายทางจิตใจ

    *แล้วไม่กลัวของหายหรือครับ?

    - ตอนแรกก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็มีมาตรการป้องกันมิจฉาชีพ ไม่ให้มาลักทรัพย์นั้น โดยได้ทำตู้บริจาคติดผนัง วิหาร พระพุทธรูปนั้นจะมีเฉพาะพระที่มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก ถ้าเป็นพระองค์เล็กๆ ซึ่งสามารถหยิบ ฉวยใส่กระเป๋าได้ ก็จะนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งตั้งแต่เปิดมาตู้บริจาคไม่เคยถูกงัดสักครั้งเดียว ของอื่นๆ ก็ไม่เคยหายเช่นกัน

    *ท่านเจ้าคุณมีอะไรจะแนะนำวัดอื่นๆ บ้างครับ?

    - เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก สำหรับวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ที่จะเปิดโบสถ์ เปิดวิหาร ให้คนเข้าไปไหว้พระ ได้เฉพาะวันสำคัญทางศาสนา และมีพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งรวมแล้วปีหนึ่งอย่างเก่งไม่เกิน ๒๐ วัน วัดส่วนใหญ่ ใช้เงินสร้างโบสถ์สร้างวิหาร นับสิบล้านบาท บางวัดอาจจะสูงถึงหลักร้อยล้านบาท มีการ จัดงานฉลองกันใหญ่โต แต่เมื่อผ่านพ้นงาน ประตูกลับถูกล็อกกุญแจปิดตาย จะเปิดเมื่อมีการอุปสมบท หรือต้องขออนุญาต จากเจ้าอาวาสเท่านั้น ซึ่งมันไม่คุ้มค่ากับแรงศรัทธา ที่ญาติโยมบริจาคเงินทำบุญ

    การเข้าวัดไหว้พระ อาจจะไม่ได้ผลตามที่ใจปรารถนาทันที แต่จะค่อยๆ ซึมซับความสงบ ความมีสติในตนเอง ให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากวัดอื่นๆ จะเปิดให้คนได้ไหว้พระ ๒๔ ชั่วโมง น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะการทำบุญไหว้พระจะทำได้ตลอดเวลา ไม่ควรจะมีเวลาปิดเปิด เหมือนการทำงาน ราชการ

    *ในตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๓ ท่านหนักใจเรื่องอะไรมากที่สุดครับ?

    [​IMG]

    - มีอยู่เรื่องเดียว และคิดว่าไม่เฉพาะอาตมา เท่านั้น ที่หนักใจ ทุกระดับเลย ตั้งแต่เจ้าคณะตำบล ก็ว่าได้ คือ การแต่งตั้งเจ้าอาวาส ตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นตำแหน่ง ที่ต้องรับผิดชอบมาก พระนักปฏิบัติส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรับ ต้องพิจารณาเหตุผลหลายด้านประกอบกัน อายุจริง อายุพรรษา แนวทางการพัฒนาวัด ความรับผิดชอบ อัธยาศัยไมตรีต่อญาติโยม

    เมื่อแต่งตั้งพระรูปใดขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ปกติแล้วระหว่างพระด้วยกันจะไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะ แรงหนุนของญาติโยม ที่พยายามจะเอาพระที่ตนสนิท ดันขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ถ้าตั้งพระรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมา เป็นเจ้าอาวาส หากไม่เป็นที่ยอมรับของญาติโยม ก็ต้องเปลี่ยนแปลง บางวัดตั้ง ๓ ครั้ง พระ ๓ รูป ยังไม่เป็น ที่พอใจของญาติโยมเลย

    กรณีที่เจ้าอาวาสวัดใหญ่ มีชื่อเสียง มีปัจจัยทำบุญมากๆ การแต่งตั้งก็ยิ่งยากมากขึ้น เพราะมีผลประโยชน์ ของญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้อง

    *แล้วเรื่องการดูแลวัดใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงล่ะครับ?

    - ภาค ๓ ดูแลวัดและพระสังกัดมหานิกาย ๔ จังหวัด คือ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี ซึ่งต้องดูแลทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง การพัฒนาวัด ซึ่งปกติแล้ว วัดจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และ ระเบียบ ของมหาเถรสมาคม โดยเสนอรายงานมาตามขั้นตอน เริ่มจากเจ้าอาวาสวัด เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเถอ เจ้าคณะจังหวัด แล้วก็มาถึงเจ้าคณะภาค

    ทั้งนี้วัดทุกวัดต้องทำบัญชีโดยไวยาวัจกร ปัจจัยที่ญาติโยมทำบุญวัด ต้องนำเข้าฝากกับธนาคาร จะเก็บไว้ ที่วัดได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท เว้นแต่เงินส่วนตัวของเจ้าอาวาส จะเก็บไว้เท่าไรก็ได้

    สิ่งหนึ่งที่อาตมาทำมาตลอดของการเป็นเจ้าคณะภาค คือ วัดไหนมีชื่อเสียง มีคนถวายปัจจัย ทำบุญมากๆ วัดนั้นต้องแบ่งปัจจัยไปช่วยวัดเล็กๆ ซึ่งห่างไกลความเจริญ มีคนไปทำบุญน้อยด้วย ในภาค ๓ มีวัดใต้ ปกครองทั้งหมดประมาณ ๓,๐๐๐ วัด บางวัดอยู่ในป่า ค่าน้ำค่าไฟเดือนละ ไม่ถึง ๕๐๐ บาท ยังไม่มีจ่ายเลย อย่างกรณีวัดท่าซุง หรือวัดหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แต่ละปีแจก ทุนการศึกษาไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาท

    *ท่านให้นโยบายเรื่องการสร้างวัตถุมงคลของวัดต่างๆ ไว้อย่างไรบ้างครับ?

    - จะมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลมุมเดียวเลย ก็ไม่ได้ เรื่องการสร้างวัตถุมงคลนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันนี้วัตถุมงคล ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะได้ปัจจัย มาบำรุงพระเณร รวมทั้งบูรณะศาสนสถานให้คงอยู่ อย่างที่วัดเชิงเลน ก็ได้ปัจจัยจากการให้บูชาพระหลวงปู่ไข่ มาเลี้ยงอาหาร และส่งพระเณรให้เรียนหนังสือ ในระดับชั้นที่สูงๆ ขึ้น

    [​IMG]

    *ทำไมท่านต้องติดมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำตามกุฏิพระแต่ละห้องด้วยครับ?

    - คนที่ไม่รู้อาจจะมองว่า เจ้าอาวาสเขี้ยว แต่ความจริงแล้ว อาตมาอยาก ให้พระเณร เห็นคุณค่าของน้ำและไฟ โดยกำหนดไว้ว่า วัดจะจ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟให้เดือนละ ๓๐๐ บาทต่อรูป หากเกินจากที่กำหนดต้องจ่ายเอง ช่วงที่ยังไม่ติดมิเตอร์ ค่าน้ำค่าไฟวัด ้องจ่ายไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท หลังจากติดมิเตอร์แล้วเหลือประมาณเดือนละ ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ที่สำคัญตั้งแต่ติดมิเตอร์ ก็ไม่มีพระเณรรูปใดใช้น้ำและ ไฟเกินกว่าที่กำหนดไว้

    <TABLE width="100%" border=1><TBODY><TR><TD borderColor=#ff6600 bgColor=#ffffcc>
    ชาติภูมิพระเทพปริยัติสุธี
    [​IMG]

    "อาทร จีนอ่วม" เป็นชื่อและสกุลเดิมของ พระเทพปริยัติสุธี เจ้าอาวาส วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร และ เจ้าคณะภาค ๓ เกิดวัน ๑ ฯ ๕ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๕ ณ บ้านเลขที่ ๔๘ หมู่ ๕ ต.ไม้ดัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี บิดาชื่อ เรือง มารดาชื่อ เกลื่อน

    บรรพชา เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๐ ณ วัดน้อยนางหงษ์ ต.สิงห์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี พระอุปัชฌาย์ พระเกศีวิกรม (สังวาล เขมภูสิโต ป.ธ.๓) วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

    อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕ ณ วัดแจ้งพรหมนคร อ.เมือง จ.สิงห์บุรี พระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมศาสน์ (ระนาม) วัดแจ้งพรหมนคร พระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์จุน วัดแจ้งพรหมนคร พระอนุสาวนาจารย์ พระศรีวราภรณ์ (อำพา กิตฺติวฑฺฒโน ป.ธ.๙) วัดแจ้งพรหมนคร

    วิทยฐานะ พ.ศ. ๒๕๐๕ สอบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จ.สิงห์บุรี พ.ศ. ๒๕๑๓ สอบได้นักธรรมชั้นเอกในนาม วัดแจ้งพรหมนคร สำนักเรียน คณะจังหวัดสิงห์บุรี

    สมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระศรีสุทธิพงศ์" พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชปริยัติดิลก" พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระเทพปริยัติสุธี"

    งานพิเศษ ๑.พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๗ เป็นผู้อำนวยการอบรมนักเรียนบาลีก่อนสอบสนามหลวง ครั้งที่ ๒ สำนักเรียนวัดบพิตรพิมุข

    ๒.พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึงปัจจุบัน เป็นประธานโครงการอบรมนักเรียนบาลีก่อนสอบสนามหลวง ครั้งที่ ๒ สำนักเรียนวัดบพิตรพิมุข

    ๓.พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการอบรมนักเรียนบาลีก่อนสอบสนามหลวง ครั้ง ๒ ภาค ๓ ณ สำนักอบรมวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี

    ๔.พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการสนามสอบบาลีสนามหลวงชั้นประโยค ป.ธ.ณ. ณ วัดบพิตรพิมุข

    ๕.พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงปัจจุบัน จัดโครงการอบรมบรรพชาสามเณรฤดูร้อน ณ วัดบพิตรพิมุข มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก "ในเมื่อสถานบันเทิงซึ่งเป็นแหล่งอบายมุขเปิดให้คนเข้าไปหาความสุขทางกายตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทำไมวัดจะเปิดโบสถ์ เปิดวิหารให้คนได้ไหว้พระ ได้หาความสงบทางจิตใจตลอด ๒๔ ชั่วโมงไม่ได้"

    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    ที่มา http://www.komchadluek.net
     
  2. Attawat_Rx

    Attawat_Rx เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    2,183
    ค่าพลัง:
    +18,403
    ก็...อาจจะทำได้ในบางวัดเท่านั้น ตามประชุมสงฆ์ครับ ก็ดูเป็นความคิดที่เข้าท่าดีเหมือนกัน แต่พระท่านคงลำบากเหมือนกันนะ
     
  3. ชา ใคร่รู้

    ชา ใคร่รู้ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    186
    ค่าพลัง:
    +496
    เกรงจะเป็นการรบกวนการปฏิบัติของพระท่านครับ บางวัดก็คงไม่สะดวกนักที่จะทำแบบนั้น หากจะมีการแบ่งปัจจัยไปช่วยวัดอื่นหรือไปทำอะไรก็ตามก็ควรมีตู้บริจาค หรื่อหน่วยรับบริจาคที่ชัดเจน ประกาศให้ญาติโยมรู้กันโดยทั่ว ว่าจะนำปัจจัยนี้ไปทำอะไร เรื่องแบบนี้คงต้องคิดกันหนักหน่อยล่ะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...