ทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิดหนอแลฯ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 18 เมษายน 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๘๐/๒๘๘
    ทุกขวรรคที่ ๖
    ๑. ปริวีมังสนสูตร
    [๑๘๘] ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ด้วยเหตุเท่าไรหนอแลภิกษุเมื่อพิจารณา พึงพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการ
    ทั้งปวงภิกษุเหล่านั้นทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาค
    เป็นที่ตั้ง มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ได้โปรดเถิดพระพุทธเจ้าข้า
    ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิดภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาค
    แล้ว จักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง
    จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
    [๑๘๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา
    ย่อมพิจารณาว่า ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้มีอะไร
    เป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิดหนอแล เมื่ออะไรมี ชรา
    และมรณะจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า
    ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมาย เกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้แลมีชาติเป็นเหตุ มีชาติ
    เป็นสมุทัย มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมีเมื่อชาติไม่มี
    ชราและมรณะจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดชราและมรณะ
    ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับ
    แห่งชราและมรณะ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อ
    ความดับแห่งชราและมรณะ ฯ
    [๑๙๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ก็ชาตินี้มีอะไรเป็นเหตุ
    มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรไม่มี
    ชาติจึงไม่มี ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นสมุทัย มีภพ
    เป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิดเมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อม
    รู้ประจักษ์ชาติ ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งชาติ ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชาติ ย่อมรู้ประจักษ์
    ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชาติ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรม
    อันสมควร ภิกษุนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อ
    ความดับแห่งชาติ ฯ
    [๑๙๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ก็ภพนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ
    ก็อุปาทานนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯก็เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ
    ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ
    ฯลฯ ก็วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯก็สังขารนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็น
    กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี เมื่ออะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี ภิกษุนั้น
    เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า สังขารมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นกำเนิด
    มีอวิชชาเป็นแดนเกิด เมื่ออวิชชามี สังขารจึงมี เมื่ออวิชชาไม่มีสังขารจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้
    ประจักษ์สังขาร ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสังขารย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสังขาร ย่อมรู้
    ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประ
    พฤติธรรมอันสมควรภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการ
    ทั้งปวงเพื่อความดับแห่งสังขาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็น
    บุญปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบุญ ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบาป ถ้าสังขาร
    ที่เป็นอเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชา ฯ
    [๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ใน
    กาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอก
    อวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น เมื่อไม่ทำเมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น
    ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
    กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า
    สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ถ้าเสวย
    ทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลิน
    แล้วด้วยตัณหาถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึด
    ถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนาก็วางใจเฉย
    เสวยไป ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็วางใจเฉยเสวยไป ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป
    ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย เมื่อเสวยเวทนา
    ที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหา
    ไม่เพลิดเพลินแล้วจักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้นเบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต
    เพราะความแตกแห่งกาย ฯ
    [๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษยกหม้อที่ยังร้อนออกจากเตาเผาหม้อวางไว้ที่พื้นดิน
    อันเรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึงหายไป กระเบื้องหม้อยังเหลืออยู่ที่พื้นดินนั้นนั่นแหละ แม้ฉันใด
    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย
    เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต รู้ชัดว่า เวทนาทั้ง
    ปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้นเบื้องหน้า
    ตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
    [๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุผู้ขีณาสพพึงทำ
    กรรมเป็นบุญบ้าง ทำกรรมเป็นบาปบ้าง ทำกรรมเป็นอเนญชาบ้างหรือหนอ ฯ
    ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังขารไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสังขารดับวิญญาณพึง
    ปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิญญาณไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะวิญญาณดับ นามรูปพึง
    ปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะนามรูปดับสฬายตนะ
    พึงปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสฬายตนะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะ
    พึงปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับเวทนาพึง
    ปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับตัณหาพึงปรากฏ
    หรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับอุปาทาน
    พึงปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทานดับ ภพพึง
    ปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะภพดับ ชาติพึงปรากฏหรือ
    หนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับ ชราและมรณะพึง
    ปรากฏหรือหนอ ฯ
    ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
    [๑๙๕] ดีละๆ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงสำคัญ จงเชื่อซึ่งข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด
    พวกเธอจงน้อมใจไปสู่ข้อนั้นอย่างนั้นเถิด จงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในข้อนั้นเถิด นั่นเป็น
    ที่สุดทุกข์ ฯ
    จบสูตรที่ ๑
    ๒. อุปาทานสูตร
    [๑๙๖] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็น
    ความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหา
    เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
    เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้น
    แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟกองใหญ่แห่งไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง
    สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง พึงลุกโพลง บุรุษใส่หญ้าแห้ง ใส่โคมัยแห้ง
    และใส่ไม้แห้ง ในไฟกองนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ไฟกองใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น
    มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจ
    เนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน
    เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
    อย่างนี้ ฯ
    [๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่ง
    อุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับไป เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับเพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
    เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
    จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟกองใหญ่แห่งไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง
    สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง พึงลุกโพลง บุรุษไม่ใส่หญ้าแห้ง ไม่ใส่โคมัยแห้ง
    และไม่ใส่ไม้แห่งในไฟกองนั้นทุกๆ ระยะภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ไฟกองใหญ่นั้น ไม่มี
    อาหาร พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อเก่า และเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
    เมื่อเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับฉันนั้นเหมือน
    กัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ
    จบสูตรที่ ๒
    ๓. ปฐมสังโยชนสูตร
    [๒๐๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็น
    ความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหา
    เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะ
    ชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์
    ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติด เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษพึง
    เติมน้ำมันและใส่ไส้ในประทีปน้ำมันทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ประทีปน้ำมันนั้น มีอาหาร
    อย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็น
    ความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้น
    เหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพ
    เป็นปัจจัย จึงมีชาติเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและ
    อุปายาสความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัย
    แห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับเพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
    เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
    จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติด เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษไม่พึง
    เติมน้ำมัน ไม่ใส่ไส้ในประทีปน้ำมันนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ประทีปน้ำมันนั้น ไม่มี
    อาหารพึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อเก่า และเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุ
    เห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือน
    กัน เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
    อย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๓
    ๔. ทุติยสังโยชนสูตร
    [๒๐๔] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมัน
    พึงติด เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษเติมน้ำมันและใส่ไส้ในประทีปน้ำมันนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อ
    เป็นอย่างนี้ ประทีปน้ำมันนั้นมีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอดกาลแม้ฉันใด
    ภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่
    ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯความเกิดขึ้นแห่ง
    กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติด เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษไม่เติม
    น้ำมัน ไม่ใส่ไส้ในประทีปน้ำมันนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ประทีปน้ำมันนั้น ไม่มีอาหาร
    พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อเก่า และเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็น
    โทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน
    เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๔
    ๕. ปฐมมหารุกขสูตร
    [๒๐๖] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็น
    ความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหา
    เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์
    ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆรากทั้งหมดนั้น
    ย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น
    พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย
    อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมี
    อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
    ประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่ง
    อุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับเพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
    ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมา
    ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น
    บุรุษนั้นพึงทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้วเจียกให้เป็นชิ้นๆ ครั้นเจียก
    ให้เป็นชิ้นๆ แล้ว พึงผึ่งลมตากแดด ครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผา
    แล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรงหรือลอยในแม่น้ำมีกระแส
    อันเชี่ยว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น ถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอด
    ด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ใน
    ธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ
    อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
    อย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๕
    ๖. ทุติยมหารุกขสูตร
    [๒๑๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้นย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน เมื่อเป็นอย่างนี้
    ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุ
    ทั้งหลายเมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหา
    ย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯความเกิดขึ้นแห่งกอง
    ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่อย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะ
    มา ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้วคุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝก
    ขึ้น ฯลฯ หรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยวเมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นถูกตัดเอารากขึ้น
    แล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วนถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อ
    ภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้น
    เหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
    ประการอย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๖
    ๗. ตรุณรุกขสูตร
    [๒๑๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ
    เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯ ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
    อย่างนี้ ฯ
    [๒๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้อ่อนยืนต้นอยู่ บุรุษพึงพรวนดินใส่ปุ๋ย รดน้ำเสมอๆ
    ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้อ่อนนั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงถึงความเจริญงอกงาม
    ไพบูลย์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็น
    ปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
    ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัย
    แห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯความดับแห่งกองทุกข์
    ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้อ่อนยืนต้นอยู่อย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะ
    มา ฯลฯ หรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ต้นไม้อ่อนนั้น ถูกตัดเอารากขึ้น
    แล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อ
    ภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้น
    เหมือนกันเพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
    ประการอย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๗
    ๘. นามรูปสูตร
    [๒๑๖] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ นามรูปก็หยั่งลง
    เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
    ประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้น
    ย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น
    พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรม
    ทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่นามรูปก็หยั่งลง ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะนามรูปเป็น
    ปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ฯลฯความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัย
    แห่งสังโยชน์อยู่ นามรูปก็ไม่หยั่งลง เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกอง
    ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่อย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะ
    มา ฯลฯ ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย
    อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ นามรูปก็ไม่หยั่งลงฉันนั้นเหมือนกัน เพราะนามรูปดับ สฬายตนะ
    จึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๘
    ๙. วิญญาณสูตร
    [๒๒๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ วิญญาณก็หยั่ง
    ลง เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
    ประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ ฯลฯแม้ฉันใด
    ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่
    วิญญาณก็หยั่งลง ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ ความเกิดขึ้น
    แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัย
    แห่งสังโยชน์อยู่ วิญญาณก็ไม่หยั่งลง เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกอง
    ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่อย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะ
    มา ฯลฯ ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย
    อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ วิญญาณก็ไม่หยั่งลง ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะวิญญาณดับ นามรูป
    จึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๙
    ๑๐. นิทานสูตร
    [๒๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของหมู่ชนชาวเมืองกุรุ อันมีชื่อว่า
    กัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุรัฐ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูล
    พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า คือปฏิจจสมุปบาทนี้
    เป็นธรรมลึกซึ้งเพียงไร ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่ายๆ
    แก่ข้าพระองค์ ฯ
    [๒๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนี้ดูกรอานนท์
    เธออย่ากล่าวอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง เพราะไม่รู้
    ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่ง เป็นเหมือนกลุ่มเส้นด้าย
    ที่เป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ย่อมไม่ผ่านพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร ฯ
    [๒๒๖] ดูกรอานนท์ เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัย
    แห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
    จึงมีชาติเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
    ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๒๗] ดูกรอานนท์ ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้นย่อม
    ดูดโอชารสไปเบื้องบน ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น
    พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด อานนท์ เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย
    อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
    จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
    ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๒๘] ดูกรอานนท์ เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่ง
    อุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับเพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
    ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    [๒๒๙] ดูกรอานนท์ ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอย่างนั้น ทีนั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมา
    ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้น แล้วขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น
    บุรุษนั้น ทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว เจียกเป็นชิ้นๆ ครั้น
    เจียกให้เป็นชิ้นๆ แล้ว พึงผึ่งลม ตากแดดครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้น
    เอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่าครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรง หรือลอยในแม่น้ำมี
    กระแสอันเชี่ยวก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น ถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอด
    ด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด อานนท์ เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรม
    ทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ
    อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ
    ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี
    ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
    จบสูตรที่ ๑๐
    จบทุกขวรรคที่ ๖
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,359
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคปลาย37.ว่าด้วย การทำหน้าที่ของมรรค
    <iframe width="420" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/Zt8TDsZzjVo" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
     

แชร์หน้านี้

Loading...