ทำวิทยาทานได้บุญมากกว่า

ในห้อง 'ธรรมทาน - วิทยาทาน' ตั้งกระทู้โดย Toutou, 18 กรกฎาคม 2006.

  1. Toutou

    Toutou เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2005
    โพสต์:
    1,455
    ค่าพลัง:
    +8,107
    Toutou เป็นสมาชิกของวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีคะ ได้ทราบโดยบังเอิญว่าท่านศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ของ Toutou ก็เป็นสมาชิกในนั้นด้วย หลังจากที่ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ได้ใช้เวลาว่างเขียนบทความสารานุกรมในนั้น โดยใช้นามแฝง น้อยคนจะทราบว่าผู้อาวุโสทางวิชาการอย่างท่านก็เข้ามาเขียนด้วย

    ท่านได้เขียนบทความเชิญชวนให้คนทั้งหลายมาเขียนบทความในวิกิพีเดียไว้ในเว็บไซท์แห่งหนึ่ง ซึ่ง Toutou ได้ไปพบเข้า เมื่ออ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ที่ท่านได้เชิญชวนให้คนมาทำวิทยาทานอย่างไร้อัตตา จึงได้ขออนุญาตท่านอาจารย์เอามาลงไว้ในเว็บพลังจิตนี้ และขอเชิญชวนทุกท่านทำวิทยาทานด้วยคะ ไม่ว่าจะด้วยการเขียนสารานุกรม หรืออื่นๆก็ตาม ต่างก็ให้ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งนั้นคะ

    =========================================================
    ทำวิทยาทานได้บุญมากกว่า
    โดยศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ

    การให้ทานด้วยทรัพย์ได้บุญมากอยู่แล้ว แต่การให้ทานด้วยวิชาความรู้ได้บุญมากกว่า เพราะทรัพย์เมื่อใช้แล้วก็หมดไปแต่วิชาความรู้ใช้เท่าใดก็ไม่หมด คนที่ได้มีโอกาสได้เล่าเรียนถึงขั้นสูงจึงเป็นผู้โชคดีที่ในสมองมีความรู้บรรจุอยู่มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนหรือยังไม่ได้เรียน

    ....แต่สมองของคนเราเสียหายง่ายจริง ๆ ขาดออกซิเจนเพียง 8 นาทีถ้าไม่ตายก็กลายเป็นผัก จากอัจฉริยะกลายเป็นปัญญาอ่อนได้ภายในชั่วโมงเดียว น่าเสียดายที่กว่าความรู้จะเต็มสมองได้ก็ต้องใช้เวลาเล่าเรียนตั้งแต่เกิดถึงมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า ¼ ศตวรรษ ทั้งนี้ยังไม่นับเวลาจากการสะสมความรู้ที่ได้จากประสบการณ์อันมีค่ามากนับสิบปีนั้นอีก

    เมื่อปี 2511 เราไปเรียนเมืองนอก ถูกบังคับให้อ่านหนังสือและตำราภาษาอังกฤษกองใหญ่ก่อนเข้าชั้นเรียน ขอสารภาพว่าอ่านไม่รู้เรื่องทั้ง ๆ ที่สอบผ่านภาษาอังกฤษค่อนข้างดี อ่านไปเปิดดิกชันนารีไป ยิ่งเปิดก็ดูเหมือนจะยิ่งไม่รู้เรื่อง เมื่อไปเห็นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่นักเรียนฝรั่งนั่งอ่านหนังสือกันเป็นตั้ง ๆ เขาอ่านออกทุกตัวอักษร เราก็ได้แต่ปลงอนิจจังว่ามิน่าเล่าฝรั่งเขาถึงมีคำถามและมีประเด็นอภิปรายในและนอกชั้นเรียนได้มากกว่าและลึกซึ้งกว่าเรามาก เราอ่านภาษาเขาไม่ค่อยจะแตกฉานแล้วจะมีความรู้พอที่จะไปอภิปรายกับเขาได้อย่างไร แม้เขาจะยอมให้พูดเป็นภาษาไทยก็ยังยาก

    ตั้งแต่นั้นมาเราก็เที่ยวชวนใครต่อใครมาช่วยกันตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศไทย” เพื่อแปลตำราดี ๆ ทุกเล่มในโลกให้เป็นภาษาไทยเพื่อเราจะได้มีทุนความรู้สู้ฝรั่งได้ ญี่ปุ่นเขาทำอย่างนี้มานมนานแล้ว เราเรียนเชิญตั้งแต่ท่านทูตฯ สุนทร หงสลดารมณ์ ท่านพนัส สิมะเสถียร ดร. กอรป กฤตยากีรณและใครต่อใครอีกมากมาย รวมทั้งท่านอธิการบดี คุณหญิง ดร. สุชาดา กีระนันท์ที่เพิ่งไปถึง ทุกคนเอาด้วยทั้งนั้น ท่านทูตสุนทรฯ บริจาค “Seed money” เป็นท่านแรก จำนวน 50 เหรียญ มีการตั้งกรรมการจากผู้แทนสมาคมนักเรียนไทยในรัฐต่าง ๆ ต่างคนต่างตั้งใจกันเต็มที่.....

    ......โดยลืมไปว่าเรามาเรียนเมืองนอกกันเพียงช่วงสั้น ๆ เจอหน้าเจอตาประเดี๋ยวเดียวก็จบกลับบ้าน ต่อกันไม่ติด โชคดีที่ไม่ได้เอาเช็คของท่านทูตไปขึ้นเงิน

    กลับเมืองไทยใหม่ ๆ ยังมีอารมณ์ค้างอยู่ก็ช่วยกันทำต่อไปได้พักเดียว....ทุกคนก็มลายหายไปกับชีวิตการงานและมีครอบครัวเลี้ยงลูกเต้าจนเกษียณราชการเมื่อไรไม่รู้ตัว นึกไม่ออกว่า 35 ปีมันช่างผ่านไปได้รวดเร็วอะไรถึงปานนั้น

    วันงานเลี้ยงเกษียณเรา ลูกศิษย์ น้อง ๆ และเพื่อนร่วมงานเขาถามว่าต่อไปจะทำอะไร นึกความหลังขึ้นมาได้ เลยประกาศกลางงานว่าจะทำเว็บไซต์ชื่อ “Knowledgethai” ที่เมื่อคลิกเข้าไปไม่ว่าด้วยภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็จะได้ความรู้ออกมาเป็น “ภาษาไทย” ไม่ว่าความรู้ในสาขาใดก็มีทั้งสิ้น เรานั่งหาวิธีอยู่หลายเดือน สอบถามใครต่อใครที่เขารู้เรื่องคอมพิวเตอร์เขาก็บอกว่าดีแต่ยากทั้งนั้น คุณชุมพล พรประภา ก็บอกว่าดีมาก แต่ถ้าทำก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 4 ล้านบาทเลยไม่รู้จะทำต่อไปได้อย่างไร ได้แต่นึกเสียดายหนังสืออ้างอิงที่อุตสาห์สะสมไว้

    อยู่มาวันหนึ่งประมาณ 3 ปีที่แล้ว เราบังเอิญเจอเว็บไซต์ “Wikipedia” สารานุกรมเสรีของฝรั่งรู้สึกชอบมาก แม้จะยังว่าง ๆ ไม่ค่อยมีอะไรมากแต่ก็มีแผนการขยายให้เป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 200 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยชื่อ “วิกิพีเดีย” เมื่อลองเปิดดูเห็นยิ่งว่างกว่าฉบับฝรั่งมาก ไม่ค่อยมีเนื้อหาอะไร หาอะไรก็ไม่เจอเลย คิดว่าคงอีกยาวไกลเลยไม่ได้สนใจ

    เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ลองเข้า “วิกิพีเดีย” ไทยอีกครั้ง คราวนี้มีบทความกว่า 4,000 เรื่อง เพิ่มเร็วอย่างไม่น่าเชื่อและดูแล้วมันช่างตรงใจอยากเสียจริง เฝ้าดูอยู่นาน วันหนึ่งเราค้นหาความหมายของการประชุมที่ฝรั่งเขามีหลายรูปแบบ ค้นมาได้ก็เลยลองเอาบทความนี้ใส่ลงไป (เรื่องที่ 5555 พอดี) และลองแก้ไขของคนอื่นเราเห็นที่ผิดดูบ้าง ง่ายจัง เลยมั่นใจว่า “วิกิพีเดีย” ก็คือสิ่งที่เรารอคอยมานานแล้ว เป็นงานของ “มวลมนุษย์ไร้อัตตา” ที่ไม่ต้องการเผยตัวหรือใส่ชื่อจริงมาร่วมช่วยกันทำด้วยใจ เราจึงคิดว่าภายใน 10 ปีนี้ “วิกิพีเดีย” นี่แหละจะกลายเป็นแหล่งความรู้ภาษาไทยที่สมบูรณ์และมีค่ามหาศาลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายดายและตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะอยู่ใจกลางเมือง ในโรงเรียนบ้านนอกหรือในที่ห่างไกลทุกแห่งที่อินเทอร์เน็ตไปถึง ทุก ๆ แห่งจะมีสารานุกรมภาษาไทยสำรับใหญ่ไว้ให้กระดิกนิ้วค้นหาได้ง่าย ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ นับเป็นสิ่งที่จินตนาการไปไม่ถึงจริง ๆ เมื่อ 30 – 40 ปีก่อน

    เราดีใจที่รัฐบาลซื้อคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่องแจกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ก็เสียดายที่ไม่มีใครคิดสร้างแหล่งค้นหาความรู้ทุกสาขาในโลกเป็นภาษาไทยที่มีคุณภาพไปพร้อมกับโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนเราเคยฝันว่าอีกหน่อย “มูลนิธิส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศไทย ในฝันของเราจะสร้างสารานุกรมภาษาไทยเหมือนบริตานิกาแจกโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศฟรี ซึ่งก็เป็นเพียงความฝัน แต่ตอนนี้เริ่มเห็นชัดแล้วว่า......“วิกิพีเดียสารานุกรมเสรีภาษาไทยที่คนไทยทุกคนช่วยกันทำแบบไร้อัตตา (ตอนนี้มีคนร่วมสามพันกว่าคนแล้ว) มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะช่วยให้คนไทยผู้ด้อยภาษาอังกฤษทุกคนเปิดโลกทรรศน์ได้ด้วยตนเอง

    ณ วันที่เขียนเรื่องนี้วิกิมีบทความเกิน 10,000 บทความแล้ว แม้เกือบทุกบทความจะยังต้องการการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็ตาม แต่กระนั้นเนื้อหาความรู้ในนั้นก็ยังมีคุณค่าพอสำหรับผู้ไม่รู้ในเรื่องนั้นมาก่อน

    ในด้านความน่าเชื่อถือ เมื่อเดือนที่แล้ว CNN ออกข่าวว่าบทความในสารานุกรม “Wikipedia” ภาคภาษาอังกฤษที่ถูกปรามาสว่าไม่น่าเชื่อถือนั้นมีความแม่นยำและทันสมัยกว่า Britanica และว่าอนาคตของบริตานิก้า เอ็นคาร์ตา เว็บสเตอร์หรือสารานุกรมแบบรูปเล่มกระดาษทั้งหลายของโลกมีสิทธิ้ล้มหายตายจากไปเพราะราคาแพง ล้าสมัยง่าย – แก้ไขยาก ไม่มีทางตามของฟรีที่ไม่ต้องซื้อหาในอินเทอร์เน็ตที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องทันควันได้ทุกนาที

    หลังเกษียณ คนเราคงมีชีวิตที่สมองยังใช้การได้กันอีกคนละ 10 ปีบ้าง 20 ปีล้างหรืออาจเพียงปีเดียวหรือวันเดียวแล้วแต่สุขภาพ เราเลยอยากเชิญชวนท่านผู้รู้ที่มีความสนใจและต้องการช่วยคนไทยให้มีแหล่งค้นหาความรู้ด้วยตนเองได้ง่าย จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของนักปลุกปั่นหรือถูกครอบงำทางความคิดได้โดยง่ายดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากให้เรามาช่วยกันสร้างแหล่งความรู้ใน “วิกิพีเดีย” ตามสาขาที่ท่านมีความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าภายในเวลาเพียง 10 ปีประเทศไทยจะมีสารานุกรมภาษาไทยมากกว่า 1,000,000 บทความและเป็นบทความที่ทันสมัยและได้รับการแก้ไขโดย “ผู้รู้” อยู่ตลอดเวลาจนบรรลุถึงความสมบูรณ์

    วิกิพีเดียคืออะไร

    ดังได้เกริ่นมาแล้วข้างต้น “วิกิพีเดีย” คือ
    สารานุกรมเสรีอีเล็กทรอนิกส์ภาษาไทยที่เข้าสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตได้ทั่วทุกแห่งในโลกและนอกโลก
    ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    ไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ในการใช้แต่ก็ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น
    ทุกคนมีส่วนร่วมในการให้วิทยาทานโดยไม่มีการใส่ชื่อและทุกคนเต็มใจให้มีการแก้ไข
    ทุกคนรวมทั้งคนเขียนคนแรกมีสิทธิ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมบทความให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ
    “วิกิพีเดีย” มีระบบโยง (links) ที่สามารถโยงไปหาความหมายของคำสีน้ำเงินที่ใส่ตัวโยงไว้ได้ทันที



    นอกจากนี้ “วิกิพีเดีย” ยังมีศักยภาพในการเป็น “Knowledgethai” ที่ผู้คนสามารถค้นโดยการคลิก

    เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ เช่น คลิก Plato คำตอบจะได้บทความเป็นภาษาไทยภายใต้ “เพลโต” หรืออยากรู้ว่า Pro bono คืออะไร คลิกเป็นภาษาอังกฤษจะได้บทความคำตอบเป็นภาษาไทยในบทความชื่อ “การบริการสังคม” และที่ดียิ่งไปกว่านั้นท่านสามารถ “ช่วย” แก้ไขสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงการเติมให้ความสมบูรณ์ได้ ณ บัดนั้น

    วิธีการใช้วิกิพีเดีย

    วิธีง่ายที่สุดที่จะเข้าเว็บ “วิกิพีเดีย” คือ
    เข้าทาง Google แล้วพิมพ์ “วิกิพีเดีย” หน้าหลักก็จะโผล่ให้เห็น
    พิมพ์คำค้นที่ต้องการ เช่น “สวนสาธารณะ” หรือพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษว่า “Public parks” ก็ได้ บทความคำตอบก็จะปรากฏเป็นภาษาไทย ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างบทความที่ยาว (โปรดทดลองดู)
    ในบทความสั้นเริ่มแรก เช่น พิมพ์ “ทะเลสาบ” ท่านจะได้บทความที่สั้นแต่กะทัดรัดแบบนิยามและถ้าหากบังเอิญท่านเป็นนักภูมิศาสตร์ ท่านก็สามารถแก้ไขเพิ่มให้ได้เดี๋ยวนั้นเลย
    ถ้าท่านเป็นศิลปินประเภทจิตรกรรม พิมพ์ “ขรัวอินโข่ง” ผลที่ได้คือ “ไม่พบหน้าที่มีชื่อหัวข้อตรงกับคำค้น” วิกิก็จะขอให้ท่านช่วยสร้างหน้าใหม่ให้ ในชั้นแรกท่านอาจใส่เพียงชีวประวัติและผลงานสังเขปไปก่อนและก็จะมีคนอื่นหรือตัวท่านเองค่อย ๆ ช่วยกันแก้ไขเพิ่มเติมไปได้เรื่อย ๆ จนสมบูรณ์


    ลองดูสิครับ ทำวิทยาทานแบบไร้อัตตากับวิกิพีเดียนั้นง่ายนิดเดียว ทำเสียก่อนที่สมองของเราจะเสื่อมสภาพหรือตายไปในวันพรุ่งนี้หรือในสิบปีข้างหน้า
    =========================================================
    วิกิพีเดียภาษาไทย: http://th.wikipedia.org
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 กรกฎาคม 2006

แชร์หน้านี้

Loading...