ทรงปรารภสักการบูชา

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 11 กันยายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


    ทรงปรารภสักการบูชา


    [๑๒๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า มาเถิด อานนท์ เราจักไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งมัลลกษัตริย์ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี และสาลวันอันเป็นที่พักแห่งมัลลกษัตริย์ใกล้เมืองกุสินารา รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า เธอจงตั้งเตียงระหว่างไม้สาละทั้งคู่ หันศีรษะไปทางทิศอุดร เราเหนื่อยจักนอน. ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ตั้งเตียงระหว่างไม้สาละทั้งคู่ หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยาโดยปรัศว์เบื้องขวาทรงซ้อนเหลื่อมพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ.

    [๑๒๙] สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่ผลิดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้เหล่านั้นร่วงหล่นโปรปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต แม้จุรณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ก็ตกลงจากอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ผลิดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงมายังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต ...แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต อานนท์ พระตถาคตจะชื่อว่า อันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ
    อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่.
    อรรถกถา

    ว่าด้วยเรื่องต้นสาละคู่


    ในคำว่า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ (มหตา ภิกฺขุสงฺเฆน สทฺธึ) นี้ จำนวนของภิกษุทั้งหลายกำหนดแน่ไม่ได้ พอได้ทราบว่า จำเดิมแต่พระองค์ทรงข่มเวทนาที่เวฬุวคามไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักปรินิพพาน บรรดาภิกษุที่มาแต่ที่นั้นๆ ไม่มีแม้แต่ภิกษุรูปเดียวที่ชื่อว่าหลีกไป เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จึงมีจำนวนนับไม่ได้.

    ข้อว่า สาลวันอันเป็นที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ (อุปวตฺตนํ มลฺลานํ สาลวนํ) ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจากฝั่งข้างโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดีสู่สาลวโนทยาน เหมือนออกจากฝั่งแม่น้ำกลัมพนทีไปยังถูปารามโดยทางประตูวัดของพระราชมารดา สาลวันนั้นอยู่ที่กรุงกุสินารา เหมือนถูปารามของกรุงอนุราธปุระ ทางเข้าพระนครโดยทางประตูทักษิณแต่ถูปารามบ่ายหนน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวไปทางทิศอุดร ฉันนั้น เพราะฉะนั้น สาลวันนั้น ท่านจึงเรียกว่า อุปวัตตนะ ทางโค้ง.

    ข้อว่า หันศีรษะไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละคู่ (อนุตเร ยมกสาลานํ อุตฺตรสีสกํ) ความว่า ได้ยินว่า ต้นสาละแถวหนึ่งอยู่ทางหัวพระแท่น แถวหนึ่งอยู่ทางท้ายพระแท่น ในแถวต้นสาละนั้น ตันสาละรุ่นต้นหนึ่งอยู่ใกล้ทางส่วนพระเศียร ต้นหนึ่งอยู่ใกล้พระบาท อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ต้นสาละที่ยืนต้นประชิดกันและกันด้วยราก ลำต้นค่าคบและใบ ชื่อว่า ยมกสาละ ด้วยคำว่า เธอจงตั้งเตียง (มญฺจกํ ปญฺญเปหิ) ท่านกล่าวว่า ได้ยินว่า พระแท่นบรรทมแห่งราชสกุลในพระราชอุทยานนั้นมีอยู่ ทรงหมายถึงพระแท่นนั้นทรงรับสั่งให้ปู แม้พระเถระก็จัดพระแท่นนั้นถวาย ข้อว่า อานนท์ เราเหนื่อยแล้วจักนอน (กิลนฺโตสฺมิ อานนฺท นิปชฺชิสฺสามิ) ความว่า ความจริง ในคำนี้ว่าตระกูลช้างชื่อ โคจรี กลาปะ คังเคยยะ ปิงคละ ปัพพเตยยกะ เหมวตะ ตัมพะ มันทากินี อุโบสถ ฉัททันตะ เป็นที่ครบ ๑๐ เหล่านี้เป็นยอดของช้างทั้งหลาย กำลังอันใดของพระตถาคต เป็นกำลังเท่ากับกำลังของช้างปกติพันโกฏิ โดยการนับเพิ่มด้วยคูณ ๑๐ อย่างนี้ คือกำลังของช้างปกติที่เรียกว่า โคจรี ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังของช้างตระกูลกูลกลาปะ ๑ เชือกเป็นต้น กำลังนั้นทั้งหมด ก็หมดสิ้นไปเหมือนน้ำที่ใส่ลงในหม้อกรองน้ำ ตั้งแต่เวลาที่เสวยบิณฑิบาตของนายจุนทะ ตั้งแต่นครปาวาถึงนครกุสินารา ระยะทาง ๓ คาวุต ในระหว่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าต้องประทับนั่งพักถึง ๒๕ แห่ง เสด็จมาด้วยอุตสาหะใหญ่ เสด็จเข้าสาลวันในเวลาเย็นพระอาทิตย์ตก พระโรคก็มาลบล้างความไม่มีโรคเสียสิ้นด้วยประการฉะนี้ เหมือนอย่างทรงแสดงความข้อนี้ เมื่อตรัสพระวาจาให้เกิดความสังเวชแก่สัตว์โลกทั้งปวง จึงตรัสว่า กิลนฺโตสฺมิ อานนฺท นิปชฺชิสฺสามิ (อานนท์ ตถาคตเหนื่อย จักนอน) ดังนี้.

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จมาในที่นี้ด้วยอุตสาหะใหญ่อย่างนั้น ไม่อาจไปปรินิพพานในที่อื่นหรือ ตอบว่า ไม่อาจไปปรินิพพานในที่ไหน ๆ หามิได้ แต่เสด็จมาในที่นี้ด้วยเหตุ ๓ ประการจริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความข้อนี้ว่า เมื่อเราตถาคตปรินิพพานเสียในที่อื่น อัตถุปปัตติ (เหตุเกิดเรื่อง) ของมหาสุทัสสนสูตรจักไม่มี แต่เมื่อปรินิพพานในนครกุสินารา ตลอดจนแสดงสมบัติที่ตถาคตพึงเสวยในเทวโลก ซึ่งเสวยแล้วในมนุษยโลก ประดับด้วยภาณวาร ๒ ภาณวาร ชนเป็นอันมากฟังธรรมของตถาคตแล้ว จักสำคัญกุศลว่าควรกระทำ อนึ่ง ทรงเห็นความข้ออื่นอีกว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานเสียในที่อื่น สุภัททะจักไม่ได้เข้าเฝ้า และสุภัททะเป็นเวไนยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นเวไนยของพระสาวก สาวกทั้งหลายไม่อาจแนะนำสุภัททะนั้นได้ แต่ตถาคตปรินิพพานเสียที่นครกุสินารา สุภัททะนั้นก็จักเข้าเฝ้าถามปัญหาได้ และที่สุดการตอบปัญหาเขาก็จักตั้งอยู่ในสรณะ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักเรา รับกัมมัฏฐานแล้วจักบรรลุพระอรหัตเป็นปัจฉิมสาวกขณะเรายังมีชีวิตอยู่ ทรงเห็นความอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อเราตถาคตปรินิพพานเสียในที่อื่น จะเกิดทะเลาะวิวาทกันยกใหญ่ในเวลาแจกพระธาตุ สายเลือดดุจแม่น้ำก็จะหลั่งไหล แต่เมื่อเราตถาคตปรินิพพานเสียที่นครกุสินารา โทณพราหมณ์จักระงับการวิวาทนั้นแล้วแจกพระธาตุทั้งหลาย พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในที่นี้ด้วยพระอุตสาหะใหญ่อย่างนี้ ก็ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้.

    คำว่า สีหไสยา (สีหเสยฺยํ) การนอน ๔ คือ กามโภคิเสยยา เปตไสยา สีหไสยา ตถาคตไสยา.

    ในไสยาทั้ง ๔ นั้น ไสยาที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้บริโภคกามโดยมากนอนตะแคงซ้าย นี้ชื่อว่ากามโภคิไสยา ด้วยว่าสัตว์ผู้บริโภคกามเหล่านั้น ชื่อว่านอนตะแคงขวาโดยมากไม่มี.

    ไสยา ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โดยมากพวกเปรตนอนหงาย นี้ชื่อว่าเปตไสยา ด้วยว่า เพราะมีเนื้อและเลือดน้อย พวกเปรตถูกร่างกระดูกรั้งไว้ ไม่อาจนอนตะแคงข้างเดียวได้ จึงนอนหงายอย่างเดียว.

    ไสยาที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ราชสีห์ราชาแห่งมฤคนอนตะแคงขวา ฯลฯ มีใจยินดี นี้ชื่อว่า สีหไสยา ด้วยว่าเพราะเป็นสัตว์มีอำนาจมาก สีหะ ราชาแห่งมฤค นอนวาง ๒ เท้าหน้าไว้ที่หนึ่ง วาง ๒ เท้าหลังไว้ที่หนึ่ง สอดหางไว้ที่โคนขา กำหนดที่วางเท้าหน้าหลังและหางไว้ วางศีรษะไว้เหนือ ๒ เท้าหน้า แม้นอนกลางวัน เมื่อตื่นก็ไม่สะดุ้งตื่น แต่ชะเง้อศีรษะสำรวจที่วางเท้าหน้าเป็นต้น ถ้าวางผิดที่หน่อยหนึ่ง ก็เสียใจว่า นี่ไม่เหมาะแก่ชาติและความแกล้วกล้าของเจ้า ก็นอนเสียในที่นั้น นั่นแหละไม่ออกล่าเหยื่อ แต่เมื่อวางไม่ผิดที่ก็จะดีใจว่า นี้เหมาะแก่ชาติและความแกล้วกล้าของเจ้า แล้วลุกขึ้นสะบัดแบบราชสีห์ สลัดสร้อยคอแผดสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออกล่าเหยื่อ.

    ส่วนไสยาในฌานที่ ๔ ท่านเรียกว่า ตถาคตไสยา ในไสยาเหล่านั้น ในที่นี้มาแต่สีหไสยา ด้วยว่า สีหไสยานี้เป็นยอดไสยา เพราะเป็นอิริยาบถมากด้วยอำนาจ.

    ข้อว่า ทรงซ้อนเหลื่อมพระบาทด้วยพระบาท (ปาเทน ปาทํ) ได้แก่เอาเท้าซ้ายทับเท้าขวา คำว่า ทรงซ้อนเหลื่อม (อจฺจาธาย) ได้แก่ เหลื่อมกัน คือวางเลยกันไปเล็กน้อย เมื่อเอาข้อเท้าทับข้อเท้า หรือเอาเข่าทับเข่าจะเกิิดเวทนาขึ้นเนืองนิตย์ จิตจะไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง การนอนไม่สบายแต่เมื่อวางเหลื่อมโดยไม่ให้ทับกัน เวทนาจะไม่เกิด จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง การนอนจะสบาย เพราะฉะนั้น จึงนอนเย่างนี้ แต่ในที่นี้เพราะทรงเข้าถึงอนุฏฐานไสยา ท่านจึงไม่กล่าวว่า ทรงมนสิการถึงอุฏฐานสัญยา ก็ในที่นี้ พึงทราบอนุฏฐาน การไม่ลุกขึ้นด้วยอำนาจพระวรกาย แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงมีโอกาสแห่งภวังคจิต ด้วยอำนาจแห่งการหลับตลอดราตรีนั้นเลย จริงอยู่ ในปฐมยาม ได้มีการแสดงธรรมโปรดเหล่าเจ้ามัลละ ในมัชฌิมยามโปรดสุภัททะ ในปัจฉิมยามทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ ในเวลาใกล้รุ่งเสด็จปรินิพพาน.

    คำว่า ผลิดอกบานสะพรั่ง (สพฺพผาลิผุลฺลา) ความว่า ต้นสาละทั้งคู่บนสะพรั่ง ดาดาษไปตั้งแต่โคนต้นจนถึงยอด มิใช่มีต้นสาละทั้งคู่อย่างเดียวเท่านั้น ต้นไม้แม้ทั้งหมดก็ผลิตดอกออกสะพรั่งเหมือนกันไปหมด มิใช่แต่ในสวนนั้นอย่างเดียวเท่านั้น แม้ในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น ไม้ดอกก็ผลิดอก ไม่ผลก็ออกผล ในลำต้นของต้นไม้ทกต้นมีขันธปทุมบานที่ลำต้น สาขาปทุมบานที่กิ่งทั้งหลาย วัลลิปทุมบานที่เถาว์ อากาสปทุมบานที่อากาศ ทัณฑปทุมแทรกพื้นแผ่นดินขึ้นมาบาน มหาสมุทรทั้งหมด ดาดาษไปด้วยบัว ๕ สี ป่าหิมพานต์กว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นที่รื่นรมย์ยิ่งนักเหมือนลำแพนหางนกยูงที่มัดติดกันเป็นพืด เหมือนพวงและช่อดอกไม้ติดกันไม่มีระหว่าง เหมือนดอกไม้ประดับศีรษะที่ผูกเบียดกันเป็นอันดี และเหมือนผอบที่มีดอกไม้เต็ม ข้อว่า ดอกไม้เหล่านั้นล่วงลงยังพระสรีระของพระตถาคต (เต ตถาคตสฺส สรีรํ โอกิรนฺติ) ความว่า สาละคู่เหล่านั้น ถูกภุมเทวดาเขย่าต้น กิ่งและค่าคบ โปรยลงสู่พระสรีระของพระตถาคต คือโรยดอกลงบนพระสรีระ คำว่า หล่น (อชฺโชกิรนฺติ) ได้แก่หล่นเกลื่อนดังประหนึ่งจะท่วม คำว่า โปรยปราย (อภิปฺฺปกิรนฺติ) ได้แก่ หล่นเกลื่อนเนืองๆ คือบ่อยๆ.

    คำว่า อันเป็นของทิพย์ (ทิพฺพานํ)ได้แก่ ที่เกิด ณ นันทโบกขรณีในเทวโลก ดอกมณฑารพเหล่านั้น มีสีดั่งทอง มีใบประมาณเท่าฉัตรใบไม้ ติดเรณูประมาณทะนานใหญ่ มิใช่ดอกมณฑารพอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นทิพย์ แม้อย่างอื่นก็เป็นทิพย์ เช่นดอกปาริฉัตรและดอกทองหลางเป็นต้น บรรจุผอบทองเต็ม อันเทวดาผู้อยู่ที่ขอบปากจักรวาลก็ดี ชั้นไตรทศก็ดี ในพรหมโลกก็ดี นำเข้าไปย่อมตกลงจากอากาศ.

    คำว่า พระสรีระของพระตถาคต (ตถาคตสฺส สรีรํ) ความว่า ไม่กระจัดกระจายเสียในระหว่าง มาโปรยปรายเฉพาะพระสรีระของพระตถาคตด้วยกลีบเกษรและละอองเรณู.

    ข้อว่า จุรณแห่งจันทน์อันเป็นทิพย์ (ทิพฺพานิปิ จนฺทนจุณฺณานิ) ได้แก่ ผงจันทน์ที่สำเร็จรูปของเหล่าเทวดา มิใช่ผงจันทน์ที่สำเร็จรูปของเทวดาอย่างเดียวเท่านั้น เป็นของนาคสุบรรณและมนุษย์ด้วย มิใช่ผงจันทน์อย่างเดียวเท่านั้น ยังมีผงคันธชาตอันเป็นทิพย์ทั้งหมดเช่นกฤษณาและจันทน์แดงเป็นต้น ผงหรดาลแร่พลวงเงินและทองชนิดที่อบด้วยกลิ่นทิพย์ทั้งหมดบรรจุเต็มหีบเงินและทองเป็นต้น ที่เทวดาผู้อยู่ ณ ขอบปากจักรวาลเป็นต้น นำเข้าไปไม่เรี่ยราดเสียในระหว่าง โปรยลงสู่พระสรีระของพระตถาคตเหมือนกัน.

    ข้อว่า ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า (ทิพฺพานิปิ ตุริยานิ) ได้แก่ดุริยางค์สำเร็จของเหล่าเทวดา มิใช่ดุริยางค์เหล่านั้นอย่างเดียว ยังมีดุริยางค์ของเหล่าเทวดาในหมื่นจักรวาล และนาค ครุฑ มนุษย์ ต่างโดยชนิดขึงสาย หุ้มหนัง ทึบและโพรง ทุกชนิด พึงทราบว่า ประชุมกันในจักรวาลอันเดียว บรรเลงกันในอากาศ.

    ข้อว่า แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ (ทิพฺพานิปิ สฺงคีตานิ) ความว่าได้ยินว่า เหล่าเทวดาผู้มีอายุยืน ชื่อว่า วรุณ และวารุณ เทพเหล่านั้นทราบว่า พระมหาบุรุษบังเกิดในถิ่นมนุษย์ จักเป็นพระพุทธเจ้า แล้วเร่ิมร้อยมาลัยด้วยหมายใจว่าจักถือไปในวันปฏิสนธิ และเทวดานั้นกำลังร้อยมาลัย ทราบว่า พระมหาบุรุษบังเกิดในครรภ์ของมารดา ถูกถามว่า พวกท่านร้อยมาลัยเพื่อใคร ตอบว่า ยังไม่เสร็จ แล้วบอกว่า พวกเราร้อยเสร็จแล้วจักเอาไปในวันเสด็จออกจากพระครรภ์ แล้วทราบว่าออกเสียแล้ว คิดว่า จะไปในวันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทราบแม้ว่า พระมหาบุรุษทรงครองเรือน ๒๙ พรรษาแล้ว วันนี้ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เสียแล้ว คิดว่าจักไปในวันตรัสรู้ ก็ทราบว่าทรงทำความเพียรใหญ่ตลอด ๖ พรรษา วันนี้ก็ตรัสรู้เสียแล้ว คิดว่าจักไปในวันประกาศพระธรรมจักร ทราบแม้อีกว่าประทับที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ เสด็จไปยังอิสิปตนมฤคทายวัน ประกาศพระธรรมจักร คิดว่าจักไปวันทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ก็ทราบว่าวันนี้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์เสียแล้ว คิดว่าจักไปในวันเสด็จลงจากเทวโลก ทราบว่าวันนี้สเด็จลงจากเทวโลกเสียแล้ว คิดว่าจักไปวันปลงอาุยุสังขาร ทราบว่าวันนี้ก็ทรงปลงอายุสังขารเสียแล้ว คิดว่ายังทำไม่เสร็จ ก็จัไปในวันปรินิพพาน ทราบว่าวันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมสีหไสยาตะแคงขวา ณ ระหว่างสาละคู่ มีพระสติสัมปชัญญะ จักปรินิพพานเวลาจวนรุ่ง แต่แว่วเสียงถามว่า พวกท่านร้อยมาลัยเพื่อใคร กล่าวว่า นี่อะไรกันหนอ วันนี้นี่เอง พระมหาบุรุษทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา วันนี้ก็ออกจากพระครรภ์ของมารดา วันนี้ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ วันนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้า วันนี้ก็ประกาศพระธรรมจักร วันนี้ก็แสดงยมกปาฏิหาริย์ วันนี้ก็เสด็จลงจากเทวโลก วันนี้ก็ทรงปลงอายุสังขาร ทราบว่า วันนี้ก็จักเสด็จปรินิพพาน พระองค์พึงทรงดำรงอยู่ชั่วต้มยาคูในวันที่ ๒ หรือไม่หนอ ข้อนี้่ไม่สมควรแก่พระองค์ผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ แล้วบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า จำเราจักถือเอาพวงมาลัยที่ยังไม่เสร็จมา เมื่อไม่ได้โอกาสภายในจักรวาลก็จักคล้องที่ขอบปากจักรวาล วิ่งแล่นไปตามขอบปากจักรวาล เอาหัตถ์เกี่ยวหัตถ์เรียงคอสลอน ขับปรารภพระรัตนตรัย ปรารภมหาปุริสลักษณะ ๓๒ พระฉัพพัณรังสี ทสบารมี ชากด ๕๕๐ พระพุทธญาณ ๑๔ ในที่สุดแห่งพระพุทธคุณนั้นๆ ก็ต้องละไปๆ ท่านอาศัยสังคีตนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า ทิพฺพานิปิ สงฺคีตานิ อนุตลิกฺเข วชฺชชนฺติ ตถาคตสฺส ปูชาย (ทั้งสังคีตที่เป็นทิพย์ก็บรรรเลงในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต) ดังนี้.

    ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมตะแคงข้างขวางระหว่างต้นสาละคู่ ทรงเห็นความอุตสาหะอย่างใหญ่ของบริษัทที่ประชุมกันตั้งแต่ปฐพีจดขอบปากจักรวาล และตั้งแต่ขอบปากจักรวาลจดพรหมโลก จึงตรัสบอกท่านพระอานนท์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข ภควา อายสฺมนฺตํ อานนฺทํ ฯเปฯ ตถาคตสฺส ปูชาย ครั้นทรงแสดงมหาสักการะอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงความที่พระองค์เป็นผู้อันบริษัทไม่สักการะด้วยมหาสักการะแม้นั้น จึงตรัสว่า น โข อานนฺท เอตฺตาวตา เป็นต้น.

    ท่านอธิบายไว้อย่างนี้ว่า อานนท์ เราตถาคตหมอบอยู่แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ประชุมธรรม ๘ ประการ เมื่อจะกระทำอภินิหาร มิใช่กระทำอภินิหารเพื่อประโยชน์แก่พวงมาลัยของหอมและดุรยางค์สังคีต มิใช่บำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่สิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เราตถาคตไม่ชื่อว่าเขาบูชาแล้วด้วยการบูชาอันนี้.

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญวิบากที่แม้พระพุทธญาณก็กำหนดไม่ได้ของการบูชาที่บุคคลถือเพียงดอกฝ้าย ดอกเดียวระลึกถึงพระพุทธคุณบูชาแล้วไว้ในที่อื่น ในที่นี้กลับทรงคัดค้านการบูชาใหญ่อย่างนี้ ตอบว่า เพราะเพื่อจะทรงอนุเคราะห์บริษัทอย่างหนึ่งเพื่อประสงค์จะให้พระศาสนาดำรงยั่งยืนได้นานอย่างหนึ่ง.

    จริงอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พึงคัดค้านอย่างนั้นไซร้ ต่อไปในอนาคต พุทธบริษัทก็ไม่ต้องบำเพ็ญศีลในฐานะที่ศีลมาถึง จักไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ในฐานะที่สมาธิมาถึง ไม่ให้ถือห้องคือวิปัสสนาในฐานะที่วิปัสสนามาถึง ชักชวนแล้วชักชวนอีกซึ่งอุปัฏฐากกระทำการบูชาอย่งเดียวอยู่ จริงอยู่ ชื่อว่าอามิสบูชานั้น ไม่สามารถจะดำรงพระศาสนาแม้ในวันหนึ่งบ้าง แม้ชั่วดื่มข้าวยาคูครั้งหนึ่งบ้าง จริงอยู่ วิหารพันแห่งเช่นมหาวิหาร เจดีย์พันเจดีย์เช่นมหาเจดีย์ ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้ บุญที่ผู้ใดทำไว้ก็เป็นของผู้นั้นผู้เดียว ส่วนสัมมาปฏิบัติ ชื่อว่าเป็นบูชาที่สมควรแก่พระตถาคตเป็นความจริง ปฏิบัติบูชานั้นชื่อว่าดำรงอยู่แล้วสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงปฏิบัติบูชานั้น จึงตรัสว่า โย โข อานนฺท เป็นต้น.

    บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน) ได้แก่ ปฏิบัติปุพพภาคปฏิปทา อันเป็นธรรมสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ อย่าง ก็ปฏิปทานั้นนั่นแล ท่านเรียกว่าสามีจิ (ชอบยิ่ง) เพราะเป็นปฏิปทาอันสมควร ชื่อว่า สามีจิปฏิปนฺโน เพราะปฏิบัติธรรมอันชอบยิ่ง ชื่อว่า อนุธมฺมจารี เพราะประพฤติบำเพ็ญธรรม อันสมควรกล่าวคือบุพพภาคปฏิปทานั่นแล ก็ศีล อาจารบัญญัติ การสมาทานธุดงค์ สัมมาปฏิปทาถึงโคตรภูญาณ พึงทราบว่า ปุพพภาคปฏิปทา เพราะฉะนั้น ภิกษุตั้งอยู่ในอคารวะ ๖ ละเมิดพระบัญญัติ เลี้ยงชีวิตด้วยอเนสนา ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ส่วนภิกษุใดไม่ละเมิดสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้วแก่ตนทั้งหมด ที่ขีดขั่นเขตแดนและเส้นบรรทัดของพระชินเจ้าแม้มีประมาณน้อย ภิกษุนี้ ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แม้ในภิกษุณีก็นัยนี้เหมือนกัน ก็อุบาสกใดยึดเวร ๕ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประพฤติไว้แนบแน่น อุบาสกนี้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ส่วนอุบาสกประพฤติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ รักษาอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง ถวายทาน บูชาด้วยของหอม บูชาด้วยมาลา บำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม อุบาสกผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แม้ในอุบาสิกาก็นัยนี้เหมือนกัน.

    ข้อว่า ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง (ปรมาย ปูชาย) ได้แก่ ด้วยบูชาสูงสุด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า แท้จริง ชื่อว่า นิรามิสบูชานี้สามารถดำรงพระศาสนาของเราไว้ได้ จริงอยู่ บริษัท ๔ นี้จักบูชาเรด้วยการบูชานี้เพียงใด ศาสนาของเราก็จะรุ่งเรืองดุจจันทร์เพ็ญลอยเด่นกลางท้องฟ้าฉะนั้น.


    ทรงปรารภสักการบูชา
    หน้า ๒๙๗-๒๙๘
    ว่าด้วยเรื่องต้นสาละคู่
    หน้า ๔๐๘-๔๑๖

    พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล

    สุตตันตปิฎก
    สุมังคลวิลาสินี
    อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค
    ภาค ๒ เล่ม ๑
    ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...