เรื่องเด่น ทรงซ้อมริ้วขบวน ‘พระเทพฯ-พระองค์หญิง’ทรงร่วมฝึกเสมือนจริง

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 ตุลาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    0b8a1e0b8a3e0b8b4e0b989e0b8a7e0b882e0b89ae0b8a7e0b899-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b980e0b897e0b89ee0b8af.jpg
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทรงร่วมซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงม้านำซ้อมริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคาร “ปชช.” เนืองแน่นแห่ชม ทั่วประเทศจัดอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระราชกุศล

    เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เวลา 08.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมฝึกซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมเสมือนจริงเป็นครั้งที่ 2 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดขึ้นที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยทรงริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วขบวนที่ 1-3 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

    ทั้งนี้ การซ้อมริ้วขบวนครั้งนี้ เป็นการซ้อมริ้วขบวนที่ 1-3 และริ้วขบวนที่ 6 จากทั้งหมด 6 ริ้วขบวน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ และกำลังพลจากกรมสรรพาวุธ และกองทัพภาคที่ 1 จำนวนกว่า 3,000 นาย และมีราชสกุล ข้าราชบริพาร รวมทั้งผู้ถวายงาน เข้าร่วมในการซ้อมด้วย

    การซ้อมริ้วขบวนที่ 1 เริ่มขึ้นในเวลา 08.00 น. เจ้าพนักงานเปลื้องพระลองออกจากพระโกศทองใหญ่ แล้วอัญเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระลองขึ้นเสลี่ยงแว่นฟ้าไปยังประตูกำแพงแก้ว ขึ้นประดิษฐานบนเกยลา แล้วประกอบพระโกศทองใหญ่ จากนั้นเลื่อนไปประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน ซึ่งเป็นพระยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จากนั้นเจ้าพนักงานประกอบพระโกศทองใหญ่

    ต่อมาอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ออกทางประตูสรีสุนทร ซึ่งเป็นประตูชั้นในและประตูเทวาภิรมย์ เพื่อตั้งริ้วขบวนบนถนนมหาราช โดยมี รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นผู้ประคองพระบรมโกศ เมื่อถึงถนนมหาราชแล้ว เจ้าพนักงานอัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระบรมโกศ ต่อมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นไปประคองพระบรมโกศบนพระยานมาศสามลำคาน

    เวลา 08.10 น. เมื่อเจ้าพนักงานรัวกลับเป็นสัญญาณครบ 3 ครั้งแล้ว วงมโหระทึกเริ่มบรรเลง ริ้วขบวนจึงเริ่มเคลื่อนตามสัญญาณกลองไปตามถนนมหาราช เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งหน้าไปยังถนนสนามไชย โดยริ้วขบวนที่ 1 หลักๆ จะประกอบด้วย เสลี่ยงพระนำทหารกองเกียรติยศ เครื่องราชอิสริยยศ ทหารม้านำ 2 ม้า ทหารม้าตาม 4 ม้า และเหล่าข้าราชบริพาร รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ริ้วขบวนที่ 1 มาถึงบริเวณวงเวียนหน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เพื่อรวมกับริ้วขบวนที่ 2 ซึ่งตั้งรออยู่ก่อนแล้ว จากนั้นเจ้าพนักงานอัญเชิญพระโกศทองใหญ่เทียบเกรินบันไดนาค ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ที่จอดอยู่บริเวณวงเวียนหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

    เวลา 09.24 น. เจ้าพนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ เป็นสัญญาณริ้วขบวนพระมหาพิชัยราชรถ และราชรถพระนำ เริ่มเคลื่อน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระดำเนินตามหลังพระมหาพิชัยราชรถ โดยมี ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้อัญเชิญเครื่องทองน้อย และข้าราชบริพารในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้อัญเชิญเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชูปโภค และราชสกุลประกอบด้วยหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ตามลำดับ โดยในริ้วขบวนนี้มีหม่อมเจ้า 4 พระองค์ คือ พล.ท.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล, ร.อ.ม.จ.นวพรรษ์ ยุคล, ม.จ.หญิงศรีสว่างวงศ์ ยุคล (บุญจิตราดุลย์) และท่านหญิงนภดลเฉลิมศรี ยุคล มี พล.ต.อเนก กล่อมจิตร เป็นผู้กำกับพระมหาพิชัยราชรถ, พ.อ.พสิษฐ์ ภูวัตณัฐสิทธิ เป็นผู้ควบคุมฉุดชักราชรถ และ พ.ท.สวรจน์ สุภเวชย์ เป็นผู้ควบคุมฉุดชักหลัง ซึ่งริ้วขบวนนี้จะมีความงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุด เนื่องจากใช้ผู้ร่วมขบวนมากกว่า 4,000 คน ใช้จังหวะการเดินแบบเดินเปลี่ยนเท้า ประกอบบทเพลงพญาโศก

    ทรงม้านำริ้วขบวน

    ริ้วขบวนที่ 2 นี้จะเคลื่อนไปบนถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ผ่านหน้ากระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง ศาลฎีกา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

    เมื่อเข้าสู่บริเวณท้องสนามหลวง ขบวนทหารขบวนพระราชอิสริยยศอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ โดยเกรินบันไดนาคประดิษฐานพระบรมโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่ เพื่อตั้งริ้วขบวนที่ 3 โดยมีราชสกุลทุกมหาสาขาตั้งแถวรอภายในราชวัติพระเมรุมาศ จากนั้นอัญเชิญพระโกศพระบรมศพโดยราชรถปืนใหญ่เวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ คือการเวียนซ้าย 3 รอบ ระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ โดยพระประยูรญาติจะร่วมเดินในริ้วขบวนนี้ด้วย

    จากนั้นจึงเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน ประกอบพระโกศจันทน์บนพระเมรุมาศ เป็นอันเสร็จพิธีอัญเชิญพระบรมศพออกสู่พระเมรุมาศ

    ช่วงบ่าย เวลา 12.39 น. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จมาทรงร่วมในการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วขบวนที่ 6 ซึ่งเป็นริ้วขบวนสุดท้ายที่จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ในวันที่ 29 ต.ค. โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงฉลองพระองค์เสื้อสีขาว พระสนับเพลาสีเทาเข้ม พร้อมด้วยหมวกสีดำประดับด้วยพู่สีฟ้าเข้ม ทรงม้านำขบวน ตามด้วยขบวนกองทหารม้าจำนวน 77 ม้า ใช้กำลังพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) และกำลังพลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่ออัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปยังพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสบรรจุลงในถ้ำศิลา และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปยังบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ และบรรจุลงในถ้ำศิลา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

    สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 ใช้เส้นทางออกประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาไปตามถนนหน้าพระลาน แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนสนามไชย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนกัลยาณไมตรี ข้ามสะพานช้างโรงสี เลี้ยวขวาเข้าถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายเทียบที่เกยหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จากนั้นออกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานช้างโรงสีไปตามถนนกัลยาณไมตรี เลี้ยวขวาถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ไปตามถนนราชดำเนินกลาง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ไปเทียบหน้าประตูวัดบวรนิเวศวิหาร

    อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะมีการซ้อมใหญ่ในพื้นที่จริงอีกครั้ง โดยจะเป็นการซ้อมริ้วขบวนที่ 1-3 และในวันที่ 22 ต.ค. เป็นการซ้อมริ้วขบวนที่ 4-6 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ จะมาทรงร่วมซ้อมริ้วขบวนที่ 6 ซึ่งเป็นริ้วขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเสมือนจริงเป็นครั้งที่ 2 นี้ มีประชาชนเข้าชมตามจุดที่สำนักพระราชวังกำหนดไว้ โดยเจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูจุดคัดกรองให้ประชาชนเข้าชมการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ซึ่งบริเวณที่ให้ประชาชนเข้าชม ได้แก่ ฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ท่าช้างถึงท่าเตียน หน้าศาลหลักเมือง และฝั่งตรงข้ามมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ยกเว้นถนนท้ายวัง หน้าวัดโพธิ์
    ปชช.ชมซ้อมเสมือนจริง

    โดยประชาชนจะต้องผ่านจุดคัดกรองที่มีทั้งหมด 9 จุด ประกอบด้วย บริเวณแยกสะพานมอญ ท่าช้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม่พระธรณีบีบมวยผม ถนนกัลยาณไมตรี แยกสะพานช้างโรงสี แยกวัดพระเชตุพนฯ ท่าพระจันทร์ และใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีประชาชนสวมใส่ชุดสีดำไว้ทุกข์มาเข้าแถวรอเข้าจุดคัดกรองกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่ามกลางสภาพอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว

    นางปราณี ผลวัฒน์ ชาวจังหวัดสุรินทร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงสุดเศร้าว่า เดินทางมาจาก อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มาถึงจุดคัดกรองหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ตั้งแต่เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ให้เข้าพื้นที่ได้เวลา 05.00 น. เดินผ่านศาลฎีกามานั่งรอชมซ้อมริ้วขบวนหน้ากระทรวงกลาโหม เพราะจะได้เห็นวัดพระแก้วด้วย เมื่อริ้วขบวนผ่าน ตนและประชาชนอีกหลายพันไม่ย่อท้อ แม้จะต้องรอกลางแดด เวลาประมาณ 10.30 น. เห็นพระบรมโกศประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ น้ำตาไหล ยิ่งขบวนเคลื่อนไปถึงพระเมรุมาศ รู้สึกใจหาย ถึงแม้ราชรถและพระเมรุมาศจะงดงาม แต่ไม่อยากให้ถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพวันที่ 26 ต.ค. ในการซ้อมริ้วขบวนครั้งนี้ยังได้ชื่นชมพระบารมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รู้สึกตื้นตันอย่างมาก ทรงเป็นที่เคารพรักของชาวไทย

    น.ส.พรรณี ชำนาญ อายุ 59 ปี ชาวกรุงเทพฯ เดินทางมาจากบ้านพักย่านลาดพร้าว กล่าวว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ แม้เป็นการซ้อมริ้วขบวน ไม่ใช่วันจริง ก็เป็นอีกความทรงจำที่ต้องบันทึกไว้ ตนมารอเข้าจุดคัดกรองที่โรงแรมรัตนโกสินทร์เวลา 05.00 น. จากนั้นทยอยเข้าพื้นที่พร้อมกับประชาชนที่มาจากทั่วประเทศ ได้นั่งรอชมริ้วขบวนบริเวณหน้าศาลหลักเมือง

    “มาเพราะคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อยากชมริ้วขบวนให้ใกล้ที่สุด เห็นคุณหมอประคองพระบรมโกศ กลั้นน้ำตาไม่อยู่ วันจริงจะมาส่งเสด็จ ทรงสถิตในดวงใจตลอด เคยไปกราบพระบรมศพ 13 ครั้ง เมื่อปิดเข้ากราบก็ไปกราบข้างกำแพงวัง มีซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9” น.ส.พรรณีกล่าว

    นางนงลักษณ์ เจนจบ อายุ 52 ปี จาก จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า เดินทางมาถึงสนามหลวงเวลา 04.30 น. ก่อนจะได้เข้าพื้นที่ชั้นในมารอเฝ้าชมริ้วขบวน พระมหาพิชัยราชรถงดงามและสมพระเกียรติมาก แต่ยังทำใจไม่ได้ เห็นแล้วสุดอาลัย ร้องไห้ตลอด ครั้งนี้เป็นอีกโอกาสที่ตนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ก้มกราบราชรถ และตื้นตันใจอย่างยิ่งได้เห็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวน อากาศร้อนจัด แต่พระองค์ไม่ย่อท้อ เราเป็นพสกนิกร ประทับใจมาก ก่อนหน้านี้มีโอกาสได้เข้าไปกราบพ่อแล้ว 301 ครั้ง จะขอสืบสานคำสอนของพระองค์ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

    ด.ญ.ชลธิชา ดอกประยงค์ อายุ 14 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ คืนวันเสาร์ เพื่อเข้าชมการซ้อมริ้มขบวน มากับคุณยาย เห็นประชาชนทุกคนแต่งชุดสีดำมากันอย่างเรียบร้อย ตนตั้งใจมากราบในหลวง และอยากชมขบวนราชรถและพระเมรุมาศ แต่ในใจลึกๆ ไม่อยากให้ถึงวันนั้นเลย ไม่อยากให้พ่อจากไป ความรักที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 บรรยายไม่หมด

    น.ส.ภัทรพรรณ แก้วศรีราวงษ์ อายุ 34 ปี เดินทางมาจากบ้านพักย่านพุทธมณฑลสาย 3 กล่าวว่า เมื่อไปถึงจุดเปิดให้เข้าได้ ดีใจมาก สมดังตั้งใจ ได้รับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ทรงซ้อมริ้วขบวนด้วย ยิ่งได้เห็นพสกนิกรชาวไทยรวมตัวกันมามากมายขนาดนี้ที่ท้องสนามหลวง ยิ่งรู้สึกซาบซึ้งถึงความรักที่ประชาชนมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

    “เมื่อได้ชมการซ้อมริ้วขบวนแล้วรู้สึกถึงความงดงาม สมพระเกียรติ ความตั้งใจ และความอดทนของผู้ที่อยู่ในขบวน ประทับใจที่ได้อยู่ดูการซ้อมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งหนึ่งของชีวิตในฐานะพสกนิกรไทย ซึ่งคงไม่มีโอกาสได้เห็นบ่อยๆ และวันที่ 26 ต.ค.นี้ คงไม่มีโอกาสได้เห็นใกล้ขนาดนี้ ประชาชนจะหลั่งไหลมาส่งพระองค์เสด็จสู่สรวงสวรรค์” น.ส.ภัทรพรรณกล่าว

    นางคำจันทร์ อินทอง ชาว อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ อายุ 70 ปี กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า เดินทางมาจาก จ.ศรีสะเกษพร้อมลูกสาว แค่เห็นกำแพงวังก็พูดไม่ออก เมื่อริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่พระเมรุมาศก็พากันร้องไห้ เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ รักพระองค์มาก วันจริง 26 ต.ค. ประชาชนจะแน่นกว่าวันซ้อม แต่มาได้ตรงไหนตนก็จะอยู่ตรงนั้น จะต้องถวายดอกไม้จันทน์แด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

    น.ส.กานต์สุดา ปูชนียบุคคล อายุ 47 ปี ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเดินทางมาพร้อมครอบครัว กล่าวว่า ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพคงไม่มีโอกาสได้มาร่วมงาน เนื่องจากต้องดูแลคนป่วย อีกทั้งตัวเองสมัครเป็นจิตอาสาด้านประชาสัมพันธ์ที่วัดเจษฎาราม จ.สมุทรสาคร ถือโอกาสนัดพี่ชายและพี่สาวมาร่วมชมขบวนพระบรมราชอิสริยยศพร้อมกันในวันนี้ ส่วนในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงจริง จะไปถวายดอกไม้จันทน์ที่พระเมรุมาศจำลองที่วัดเจษฯ

    กทม.จัดพื้นที่รองรับ

    น.ส.ภณิดา ปูชนียบุคคล พี่สาว น.ส.กานต์สุดา ที่เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปกติตัวเองอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ แต่วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ คิดว่าคนคงจะเยอะมากจนไม่สามารถเข้ามาถึงจุดนี้ได้ จึงตั้งใจมาชมขบวนพระบรมราชอิสริยยศวันนี้ ส่วนวันถวายพระเพลิงพระบรมศพจะไปวางดอกไม้จันทน์ที่พระเมรุมาศจำลองภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่

    น.ส.วโสฬสศภา น่วมพิพัฒน์ อายุ 46 ปี เดินทางมาจากบ้านพัก จ.นนทบุรี พร้อมกับเพื่อนรวม 4 คน โดยผ่านจุดคัดกรองถนนกัลยาณไมตรี เข้ามาจับจองที่นั่งบริเวณด้านข้างสวนสราญรมย์เป็นกลุ่มแรกๆ กล่าวว่า ออกจากบ้านมาตั้งแต่ 03.00 น. มาถึงบริเวณท้องสนามหลวงประมาณ 04.00 น. ที่ตั้งใจมาชมขบวนพระบรมราชอิสริยยศในวันนี้ เพราะในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงจริง 26 ต.ค. จะต้องไปเป็นจิตอาสาทำหน้าที่บริการประชาชนที่ลานพระราชวังดุสิต จึงไม่มีโอกาสได้มาร่วมในพระราชพิธีที่นี่ วันนี้เลยชักชวนเพื่อนๆ มาชมการซ้อมย่อย เพราะเป็นการซ้อมเสมือนจริง

    “ได้ยินว่าสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการซ้อมด้วย อยากมารับเสด็จพระองค์ท่าน” น.ส.วโสฬสศภากล่าว

    นางสอน เครือชัย อายุ 68 ปี ชาว อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เดินทางมาจากบ้านพักในซอยรามคำแหง 68 พร้อมด้วยญาติ กล่าวด้วยความปลื้มปีติว่า ตั้งใจเดินทางมาชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เพราะในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ คนเยอะ คงไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ มาถึงท้องสนามหลวงประมาณ 07.00 น. โดยผ่านจุดคัดกรองถนนกัลยาณไมตรี และมานั่งรอชมขบวนบริเวณหน้าศาลหลักเมือง ซึ่งตรงจุดนี้คนมานั่งรอกันเยอะมาก

    “อยากมาชมขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เพราะอยากเห็นพ่อหลวง ยิ่งเมื่อขบวนเคลื่อนผ่านก็ยิ่งทำให้คิดถึงพระองค์ท่านมากขึ้น ที่ผ่านมาพระองค์ท่านทรงช่วยประชาชนมากมาย อย่างที่ศรีสะเกษ พื้นที่แห้งแล้ง พระองค์ท่านก็ทรงริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อพลิกพื้นดินให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้อีกครั้ง ทั้งยังได้ยินว่าแถวบ้านมีโครงการนำร่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย วันนี้ได้มากราบพระองค์ท่านอีกครั้ง จึงเป็นวันที่มีความสุขมาก” นางสอนกล่าว

    ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมการดูแลและรองรับประชาชนที่จะเดินทางเข้าร่วมถวายดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค.ว่า กทม.ได้เตรียมการในหลายส่วน อาทิ ประสานวัดและโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสถานที่พักรองรับประชาชนในการพักค้างและพักคอย ซึ่งมีโรงเรียน วัด และศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ ในพื้นที่ต่างๆ ยินดีเปิดให้ประชาชนสามารถพักค้างและพักคอยได้ ประกอบด้วย โรงเรียน 117 แห่ง วัด 56 แห่ง สถานที่อื่นๆ 3 แห่ง โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าพักระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งการเข้าพักด้วยตนเองได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ที่วัด โรงเรียน หรือศูนย์เยาวชนนั้นตั้งอยู่

    “ผู้เข้าพักจะต้องจัดเตรียมเครื่องนอนมาด้วยตนเอง และวัดและโรงเรียนในพื้นที่เขตพระนครและป้อมปราบศัตรูพ่าย จะเปิดให้ประชาชนพักคอยเท่านั้น” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แจ้งประชาสัมพันธ์ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้พิการในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ว่า ขอความร่วมมือผู้พิการที่ประสงค์จะร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ เข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ตามซุ้มบริการบริเวณใกล้บ้าน เนื่องจากในวันงานพระราชพิธีจะมีประชาชนหนาแน่น อาจไม่ได้รับความสะดวก กรณีผู้พิการที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขอความร่วมมือมีผู้ติดตาม เพื่อช่วยดูแลอำนวยความสะดวก

    ส่วนผู้พิการสามารถเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ที่ซุ้มบริเวณภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องจากจุดบริการดังกล่าวเป็นสถานที่ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกรองรับผู้พิการอยู่แล้ว เช่น ทางลาด ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ เป็นต้น รวมทั้งหากต้องดูแลผู้พิการที่เข้ามาพร้อมประชาชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ที่พบเห็น ควรจะพาผู้พิการมาพักและพูดคุยทำความเข้าใจ ณ จุดบริการที่ใกล้ที่สุด หรือพามาพักในหน่วยบริการทางการแพทย์

    ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน ์เกยุราพันธุ์ ประธานกรรมการมูลนิธิไทยพึ่งไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมกับนายมานะ คงวุฒิปัญญา อดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย รวมถึงประชาชนเขตบางกอกใหญ่ จัดกิจกรรมทำความดีถวายพ่อหลวง ณ วัดสังข์กระจายวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ร่วมกับพี่น้องประชาชน มอบดอกไม้จันทน์ ซึ่งเป็นความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีส่งต่อให้กับวัดสังข์กระจายวรวิหาร เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งร่วมกันทาสีทางเข้าซุ้มประตูของวัดปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำความสะอาดพื้นที่ภายในวัดสังข์กระจายวรวิหาร เพื่อรองรับประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในวันที่ 26 ต.ค.

    ทั่ว ปท.อุปสมบทถวาย

    ที่ จ.ลำปาง บริเวณรอบพระเจดีย์ซาวและพระอุโบสถ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง พระอารามหลวง ต.ต้นธงชัย อ.เมืองลำปาง นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานพิธีฝ่ายฆราวาส นำผู้ขอเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ รวมจำนวน 98 คน เข้าร่วมประกอบพิธีทางพุทธศาสนาปลงผมบวชนาค ตามโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการเสด็จสวรรคต

    ส่วนร้านขายขนมชื่อดังร้านปังหลุม ย่านตลาดอัศวินลำปาง ซึ่งเป็นร้านขายขนมลักษณะคล้ายแพนเค้ก ที่มีการใส่ไส้หลากหลายชนิดในขนมต่างๆ แล้วนำมาอุ่นบนเตาเหล็กด้วยความร้อน ส่วนขนมปังหลุมถือเป็นขนมชื่นชอบของชาว จ.ลำปาง จัดทำขนมจำนวน 1, 999 ชิ้น เพื่อแจกฟรีให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล

    จ.เพชรบูรณ์ ที่วัดสนธิกรประชาราม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีปลงผมนาค 89 รูป โครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ 89 รูป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายอัครชัย ได้ผลธัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ และญาติพี่น้องผู้เข้าร่วมอุปสมบท ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

    จ.ขอนแก่น ที่วัดป่าแสงอรุณ ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น นายสุนัย บุตรสาระ รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยพระเทพพุทธิมุนี เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกันประกอบพิธีปลงผมนาค จำนวน 192 รูป ตามโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

    จ.สุรินทร์ ที่วัดโพธาราม ต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ นายกเทศมนตรีตำบลสังขะ ได้นำกำลังพล เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสังขะ ครู นักเรียน จิตอาสา ทำดีเพื่อพ่อ อาสามาด้วยใจจิตอาสา กว่า 300 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณวัดโพธาราม ซึ่งเป็นสถานที่พิธีถวายดอกไม้จันทน์และเผาดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อประกอบพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนอำเภอสังขะ

    นอกจากนี้ ทางอำเภอสังขะได้จัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยการทำความสะอาด ตัดหญ้า เก็บขยะ และปรับภูมิทัศน์ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมกันทำความดีด้วยการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    จ.จันทบุรี บริเวณถนนกลางหมู่บ้านทรายทอง ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี ชาวชุมชนบ้านทรายทองได้รวมตัวกันจัดพิธีทำบุญ และจัดตั้งโรงทานทำความดี และเปิดให้พี่น้องประชาชนและเยาวชนได้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มฟรี โดยเปิดให้บริการประชาชนและเยาวชนได้รับประทานอาหารฟรี ทั้งมีประชาชน เยาวชนในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง เดินทางมาต่อคิวรับประทานอาหารฟรีกันเป็นจำนวนมาก

    จ.สมุทรปราการ ที่ลานวัดพุทธภาวนาราม ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ ชาวบ้านภายในซอยตรากบ และชุมชนเคหะสมุทรปราการ ได้ร่วมใจกันจัดเลี้ยงภัตตราหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ และเปิดโรงทานเลี้ยงอาหารคาวหวานแก่ชาวบ้าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยชาวบ้านทั้งสองชุมชนได้ร่วมมาทำอาหารคาวหวานหลากหลายชนิดมาจัดเลี้ยงชาวบ้าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

    จ.สมุทรสาคร นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งจัดขึ้นที่วัดเจษฎาราม (พระอารามหลวง) ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง สมุทรสาคร โดยมี ดร.ละมูล ลือสุขประเสริฐ ประธานการจัดโครงการอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลฯ พระเทพสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม (พระอารามหลวง) ประธานฝ่ายสงฆ์ ตลอดจนรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ.สมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนจำนวนมากจากทุกภาคส่วนในจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมพิธีอุปสมบทจำนวน 145 รูป.

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.thaipost.net/?q=node/36889
     

แชร์หน้านี้

Loading...