ตามรอย "จอบแรก" ครูบาศรีวิชัย สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ปี ๒๔๗๗

ในห้อง 'กระทู้เก่า' ตั้งกระทู้โดย ตั้มศรีวิชัย, 21 ตุลาคม 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. ตั้มศรีวิชัย

    ตั้มศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    597
    ค่าพลัง:
    +1,847
    [​IMG]

    อ.นิพนธ์ สุขสมมโนกุล (น้อย ไอยรา) ประธานโครงการอนุรักษ์และเผยแพร่พุทธศิลป์ล้านนา สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ ท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา พร้อมด้วยคณะศรัทธาประชาชน ใน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง จำนวนหลายหมื่นคน ได้ร่วมมือร่วมใจ เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ช่วยกันดำเนินการก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ รวมระยะทางยาว ๑๑ กม. ๕๓๐ เมตร โดยสร้างเสร็จภายใน ๕ เดือน กับ ๒๒ วัน พร้อมกับได้นำกระแสไฟฟ้าขึ้นไปใช้ยังดอยสุเทพ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณของทางราชการแต่ประการใด ซึ่งนับเป็นผลงานชิ้นเอกของท่านครูบาศรีวิชัย จนทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปทั่ว
    การเริ่มลงมือก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ นั้น ถือได้ว่าเป็น จอบแรก ของงานก่อสร้างถนนสายนี้ ซึ่งนับเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ และมีความหมายอย่างยิ่ง ในความรู้สึกสำนึกถึงบุญญาบารมีของท่านครูบาศรีวิชัยอย่างแท้จริง
    นอกเหนือจากผลงานการบูรณะโบราณสถานตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือ อันเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ชาวบ้านทั่วทุกแห่งหน แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อท่านครูบาศรีวิชัย อย่างท่วมท้น จนมีการขนานนามท่านว่า "นักบุญแห่งล้านนาไทย"
    [​IMG]

    ด้วย เหตุนี้ ชาวล้านนาทั้งหลาย จึงได้พร้อมใจกันจัดให้มีงานประเพณี "จอบแรกครูบาศรีวิชัย" ขึ้นในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ณ บริเวณ ลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชิงดอยสุเทพ เป็นประจำทุกปี
    สำหรับปีนี้ นายทวีพงษ์ หินคำ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์และเผยแพร่พุทธศิลป์ล้านนา สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงาน "ตามรอยจอบแรกครูบาเจ้าศรีวิชัย" ในวันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เพื่อเป็นการส่งเสริม ทำนุบำรุงพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ เว็บไซต์พระล้านนาดอทคอม (WWW.PRALANNA.COM) โดยมีกิจกรรมดังนี้
    ๑.พิธีทำบุญตักบาตร และพิธีทางศาสนา ๒.โครงการ “น้อมรำลึกจอบแรกครูบาพัฒนาห้วยแก้ว” โดยสำนักคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ นำสมาชิกจำนวน ๒๐๐ คน ร่วมกิจกรรม ๓.การเสวนาในหัวข้อ "ครูบาเจ้าศรีวิชัย ชีวิต คำสอน ศรัทธา สถาปัตย์" โดยมี พระครูโฆษิตปริยัตยาภรณ์ ผอ.วิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
    ๔.งานนิทรรศการโชว์วัตถุมงคล ครูบาเจ้าศรีวิชัย รุ่นต่างๆ ที่หาดูได้ยาก เช่น เหรียญครูบา ๒๔๘๒ เหรียญวัดบ้านปาง เหรียญข้างพญานาค เหรียญบัว ๑๑ ดอก ฯลฯ พระเกศาครูบาศรีวิชัย รุ่นต่างๆ รวมทั้งพระกรุเมืองลำพูน พระกรุเมืองเชียงใหม่
    ๕.งานนิทรรศการประกวดการอนุรักษ์ พระเครื่องครูบาเจ้าศรีวิชัย และพระเครื่องล้านนา รวม ๒๕๐ รายการ ชิงโล่รางวัล รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย
    กำหนดการ เวลา ๐๖.๑๙ น. พิธีตักบาตรพระภิกษุสามเณรจำนวน ๒๑๙ รูป รอบอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย เวลา ๐๗.๐๐ น. ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย - ประธานฝ่ายสงฆ์ โดย พระเทพวิสุทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ นำพระเถรานุเถระ ๑๑ รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์
    เวลา ๐๙.๐๐ น. เปิดนิทรรศการแสดงวัตถุมงคลครูบาเจ้าศรีวิชัย และพระเครื่องล้านนา - เปิดรับพระที่ร่วมประกวดการอนุรักษ์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย และพระเครื่องล้านนา
    เวลา ๐๙.๓๙ น. พิธีเปิดงาน “ตามรอยจอบแรกครูบาเจ้าศรีวิชัย” โดยประธานในพิธี นายกรัฐมนตรี เวลา ๑๐.๐๐ น. เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย ชีวิต คำสอน ศรัทธา สถาปัตย์” เวลา ๑๓.๓๐ น. ปิดการรับพระเครื่อง และเริ่มตัดสินพระ เสร็จแล้วเป็นพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดฯ
    สอบถามรายละเอียดได้ที่ น้อย ไอยรา โทร.๐๘-๑๖๗๑-๐๓๓๓ หรือที่ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ โทร.๐๘-๑๘๘๒-๒๖๒๑
    "ครูบาศรีวิชัย" ผู้มากด้วย "บุญบารมี"
    ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่า เป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือที่มีการเรียกท่านว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน "ตุ๊เจ้าสิลิ") ในขณะที่ท่านเองมักเรียกตนเองว่า พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ
    เดิมท่านชื่อ เฟือน หรือ อินท์เฟือน หรือ อ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากขณะที่ท่านถือกำเนิด ปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนที่เรียก อินท์เฟือน หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์ หรือเมืองของพระอินทร์
    ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับ วันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน
    ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก บ้านปางยังไม่มีวัด ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัติยะ เดินธุดงค์จากบ้านป่าซาง ผ่านมาถึงบ้านปาง ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้อยู่ที่บ้านปาง โดยช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา
    ช่วงนั้นเด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีครูบาขัติยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาเมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็น พระศรีวิชัย ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยมี ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า สิริวิชโยภิกฺขุ
    จากนั้นได้ไปศึกษากรรมฐาน และวิชาอาคมต่างๆ กับ ครูบาอุปละ วัดดอยแต อ.แม่ทา จ.ลำพูน และได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครูบาวัดดอยคำ อีกท่านหนึ่ง
    ต่อมาเมื่อครูบาขัติยะ มรณภาพ ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง สืบต่อมา
    ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นพระบริสุทธิสงฆ์ ผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง และเคร่งครัดในพระวินัยมาก ในทางปฏิบัติ ท่านได้งดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ส่วนมากเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทยเล็กน้อย บางครั้งไม่ฉันข้าวนานถึง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้ หัวมัน เท่านั้น และบางครั้งยังงดฉันผักบางชนิด ในแต่ละวันตลอดสัปดาห์ ท่านบอกว่า จะทำให้การบำเพ็ญกรรมฐานเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ เป็นปกติดี รวมทั้งทำให้การถือคาถาอาคมมั่นคงยิ่งขึ้น
    ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นพระนักพัฒนา ผู้สร้างสรรค์ความเจริญให้กับวัดต่างๆ ในภาคเหนือแทบทุกจังหวัด และผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านคือ การเป็นผู้นำในการสร้างถนนขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยพลังศรัทธาประชาชน เป็นจำนวนมาก ที่ได้ร่วมกันเสียสละกำลังกาย และกำลังทรัพย์ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านครูบาเป็นประการสำคัญ
    โดยที่ท่านเป็นคนที่มีรูปร่างเล็กผอมบาง ผิวขาว สุขภาพไม่แข็งแรงมากนัก แม้จะไม่ได้ทำงานใช้แรงงานหนักก็ตาม แต่จากการที่ต้องนั่งให้ศีลให้พรแก่ผู้ร่วมทำบุญตลอดทั้งวัน ที่เรียกว่า "นั่งหนัก" ก็เป็นปัญหาได้เช่นกัน
    ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร ตั้งแต่การตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดต่างๆ ในเขตล้านนา และอาการได้กำเริบขึ้น ขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง
    จนในที่สุด ท่านได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และได้รับการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๘๙
    อัฐิธาตุของท่าน ได้แบ่งไปบรรจุไว้ตามที่ต่างๆ เช่นที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และที่วัดบ้านปาง จ.ลำพูน อันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน
    "แล่ม จันท์พิศาโล"
    ......................................
    [​IMG]
    http://www.komchadluek.net/2008/10/21/x_phra_j001_226839.php?news_id=226839
     
  2. ครึ่งชีวิต

    ครึ่งชีวิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    4,178
    ค่าพลัง:
    +15,103
    [​IMG] สาธุ ขอรับ
     
  3. ธนภัทร99

    ธนภัทร99 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    324
    ค่าพลัง:
    +787
    งานนี้ผมไม่พลาดอยู่แล้ว ไปร่วมแน่นอน ได้ยินว่าโล่ห์รางวัลนั้นเป็นรูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาด 3.5 นิ้วตอกโค๊ดทุกองค์ มี แค่ 399 องค์เท่านั้นครับ เนื้อเงินมี 9 องค์ ใครอยากได้ต้องส่งพระเข้าประกวดเองครับ;welcome2
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...