ตรีทศเคราะห์เทวา (๙๒)

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 7 กันยายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,026
    ตรีทศเคราะห์เทวา (๙๒)
    พลูโต เทพเจ้าแห่งขุมนรก (๒๑)
    ********************
    [​IMG]
    เป็นดวงชะตาที่เปี่ยมล้นด้วยวาสนาและมากด้วยบารมี ผู้คนยำเกรงทั่วทั้งแผ่นดิน หากท่านคิดจะตั้งตนเป็นใหญ่แล้วไซร้ ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ เนื่องจากในพื้นดวงของท่านนั้น ลัคนาที่อยู่ราศีเมถุนได้รับโยคเกณฑ์ที่ดีจากดาวในมุมตรีโกณถึงสองจุด ได้เกณฑ์ดวงมาตรฐาน “ดวงตรีโกณ” กล่าวคือ มีมฤตยู (๐), ราหู (๘) ตรีโกณในภพที่ ๕ จุดหนึ่ง และมี จันทร์ (๒), พฤหัสบดี (๕) พลูโต (พ) ตรีโกณในภพที่ ๙ อีกจุดหนึ่ง
    ราหู (๘) เจ้าเรือนลัคน์ ดวงที่หนึ่ง และ เกตุ (๙)จ้าเรือนลัคน์ ดวงที่สอง ล้วนอยู่ในกลุ่มดาวที่เรียงรายติดต่อกันถึง ๖ ราศี ถือว่าได้เกณฑ์ดวงมาตรฐาน“พระจันทร์ครึ่งซีก” (อัฒจักร) หรือ “มาลัยโยค” อีกทั้งดาวเจ้าเรือนลัคน์ทั้งสองดวง ได้รับกระแสที่ดีจากศุภเคราะห์ทุกดวง กล่าวคือ ราหู (๘) มีกลุ่มดาวศุภเคราะห์เรียงรายติดต่อกันนำหน้าเป็นขบวน ได้แก่ พุธ (๔) นำหน้า อาทิตย์ (๑) โยคหน้า ถัดไปเป็นศุกร์ (๖) จตุโกณ จันทร์ (๒) และพฤหัสบดี (๕) ตรีโกณ แบคคัส (บ) เล็ง
    เกตุ (๙) เจ้าเรือนลัคน์อีกดวงหนึ่ง มีแบคคัส (บ) ตรีโกณ และล้อมหน้าล้อมหลังด้วยศุภเคราะห์ที่เหลืออีก ๕ ดวง คือ อาทิตย์ (๑) กุม ศุกร์ (๖) โอบหน้า พุธ (๔) โอบหลัง จันทร์ (๒) กับ พฤหัสบดี (๕) โยคหน้า
    ลักษณะของดวงชะตาที่ลัคนาและดาวเจ้าเรือนลัคน์ ได้เกณฑ์ดวงมาตรฐานสองอย่าง อีกทั้ง ดาวเจ้าเรือนลัคน์ได้รับกระแสที่ดีจากศุภเคราะห์เช่นนี้ หาได้ยากในดวงบุคคลธรรมดาสามัญ หากปรากฏในดวงผู้ใด แม้ชาติกำเนิดจะต่ำต้อย ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จก้าวหน้าในชีวิต มียศศักดิ์อัครฐาน พรั่งพร้อมด้วยข้าทาสบริวาร ทรัพย์สินเงินทอง หรือมีคนนับหน้าถือตาทั่วทั้งแผ่นดินอย่างแน่นอน
    ในดวงของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ท่านนี้ ท่านมีชาติตระกูลที่สูงส่ง ได้รับการศึกษาอย่างดี เข้ารับราชการตั้งแต่วัยฉกรรจ์ ไต่เต้าเรื่อยมาจากตำแหน่งเล็ก ๆ ก้าวถึงตำแหน่งสูงสุด เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีอำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวนานถึง ๕ ปีเต็ม เมื่อคราวที่รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต ท่านมีอำนาจอยู่ในมือ ได้เป็นประธานในที่ประชุมเจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีข้าราชการทั้งปวง ทำการเลือกผู้จะมาเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสมบัติ ผลที่สุดที่ประชุมได้เลือก เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป โดยที่ประชุมยกให้สมเด็จเจ้าพระยา ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รอจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงจะถวายอำนาจคืนให้แก่พระองค์ท่าน
    และเมื่อท่านเสนอต่อที่ประชุมให้เลือก พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเอม ให้ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ในตำแหน่งพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ที่ประชุมส่วนใหญ่แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน มีอยู่ท่านเดียวคือ กรมขุนวรจักร ฯ ตรัสขึ้นว่า ผู้จะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง
    ขณะนั้นสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ขัดเคืองว่ากล่าวกรมขุนวรจักร ฯ ต่าง ๆ และที่สุดก็ทูลถามว่า “ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ” กรมขุนวรจักร ฯ จึงตอบว่า “ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม” ผลที่สุดตำแหน่งพระมหาอุปราชก็ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของท่านสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ด้วยท่านเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในแผ่นดิน และเพราะอำนาจวาสนาของท่าน ทำให้มีผู้เกรงกลัว จนแม้กรมขุนวรจักร ฯ เอง ก็ต้องเสด็จประทับอยู่ในวังของพระองค์ ไม่กล้าเสด็จไปไหนเป็นเวลานานหลายปี
    อำนาจของท่าน ประกอบไปด้วยพระเดช และพระคุณ กล่าวคือ ราหู (๘) เจ้าเรือนลัคน์ตัวที่หนึ่ง มีดาวศุภเคราะห์นำหน้าทุกดวง ติดต่อกันถึง ๕ ราศี ส่งเสริมชักนำให้ท่านประกอบแต่คุณงามความดี ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี โดยมีแบคคัส (บ) เล็ง หมายถึงพระคุณ เกตุ (๙) เจ้าเรือนลัคน์ตัวที่สอง นำหน้าดาวบาปเคราะห์เกือบทุกดวง ซึ่งล้วนเป็นบาปเคราะห์ร้ายทั้งสิ้น ทำให้ท่านต้องใช้อำนาจเด็ดขาด เพื่อกำหราบคนชั่ว คนพาล คนที่คิดไม่ซื่อต่อแผ่นดิน โดยมีพลูโต (พ) ที่เป็นดาวแห่งความเที่ยงธรรม ดีก็ว่าดี เลวก็ว่าเลว ว่ากันตามเนื้อผ้าไม่ลำเอียง โยคหน้าในภพศุภะ
    พลูโต (พ) แม้ตัวเองจะมีสภาพบาปเคราะห์กลาย ๆ หรือ เอนเอียงไปทางบาปเคราะห์ แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ดี สัมพันธ์กับลัคนาและดาวเจ้าเรือนลัคน์ หรือได้รับกระแสที่ดีจากศุภเคราะห์สำคัญ ๆ หรือหลายดวง ก็จะทำให้พลูโตนั้น เปลี่ยนแปลงสภาพจากบาปเคราะห์ กลายเป็นดาวศุภเคราะห์ได้ อย่างเช่นดวงของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ท่านนี้ จะเห็นว่า พลูโต (พ) เจ้าเรือนลาภะ อยู่ในภพศุภะ อันเป็นภพที่ดี หมายถึง วาสนาบารมี คุณธรรมความดี และกุมกับดาวศุภเคราะห์สำคัญถึง ๒ ดวง คือ จันทร์ (๒) กับ พฤหัสบดี (๕), ตรีโกณถึงลัคน์ และ ราหู (๘) เจ้าเรือนลัคน์ตัวที่หนึ่ง โดยมีอาทิตย์ (๑) ศุภเคราะห์ และ เกตุ (๙) เจ้าเรือนลัคน์ตัวที่สองโยคหลัง
    หากจะเน้นให้เห็นจุดพิจารณาถึงวาสนาบารมีโดยตรง ก็ต้องพิจารณาจากภพศุภะ และ ดาวเจ้าเรือนภพศุภะเป็นสำคัญ ในดวงของท่าน จะเห็นว่า มฤตยู (๐) เจ้าเรือนศุภะนั้น อยู่ในภพปุตตะ ตรีโกณถึงลัคนา โดยกุมกับราหู (๘) เจ้าเรือนลัคน์ตัวที่หนึ่ง มีจันทร์ (๒) กับ พฤหัสบดี (๕) ตรีโกณ และยังได้รับกระแสที่ดีจากศุภเคราะห์ทุกดวงเช่นเดียวกับราหู (๘) เจ้าเรือนลัคน์ตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
    แม้จะพิจารณาจาก เรือนภพศุภะ ก็จะเห็นว่า มีศุภเคราะห์จันทร์ (๒) กับพฤหัสบดี (๕) ไปครองอยู่ โดยมีพลูโต (พ) เจ้าเรือนลาภะ ที่กลายสภาพเป็นศุภเคราะห์ ส่งเสริมวาสนาบารมีอีกดวงหนึ่ง หรือจะพิจารณาจาก อาทิตย์ (๑) ที่หมายถึง ยศศักดิ์อัครฐาน ก็จะเห็นว่า อาทิตย์ (๑) นั้น กุมกับเกตุ (๙) เจ้าเรือนลัคน์ตัวที่สอง ได้รับกระแสที่ดีจากศุภเคราะห์ทุกดวง ดุจเดียวกับเกตุ (๙) ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่นกัน
    ดังที่บอกไว้ พลูโต (พ) คือ อัตตา ตัวตนของเจ้าชะตา หรือ อวิชชา ด้วยเป็นเกษตรในราศีเมษ อันเป็นจุดที่ตั้งลัคนาโลกธรรม เมื่ออยู่ในภพศุภะ สัมพันธ์ที่ดีในมุมตรีโกณกับลัคนา และราหู (๘) เจ้าเรือนลัคน์ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจในการที่สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ท่านนี้ ท่านจึงเป็นผู้หนึ่งที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น วิชาการต่อเรือแบบฝรั่ง จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำ, วิชาวรรณคดี การค้า การปกครอง การต่างประเทศ การก่อสร้าง ฯลฯ และเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนในยุคสมัยนั้น ที่รู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน บ้าน หรือ จวนของท่าน เป็นที่ชุมนุมนักปราชญ์ต่าง ๆ หลายชาติหลายภาษา แม้แต่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม พระธรรมกถึกเอก อมตะเถราจารย์เจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังได้รับการนิมนต์ให้ไปในงานชุมนุมนักปราชญ์กับเขาด้วยในคราวหนึ่ง
    ในปีนั้น เป็นปีที่ ๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มีการประชุมนักปราชญ์ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นบุคคลสำคัญ ๆ รอบรู้การศาสนาของชาตินั้น ๆ
    สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ให้ทนายอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงเผยแผ่ความรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยการโลกการธรรมในพุทธศาสนา ถือเป็นตัวแทนของนักปราชญ์ชาวสยาม ชาติไทยของเรา ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ยินคำอาราธนา จึงกล่าวว่า “ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ”
    ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ว่า “สมเด็จที่วัดรับแสดงแล้ว ในเรื่องแสดงให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้” พอถึงวันกำหนด สมเด็จโต ก็ไปถึง นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทยออกความก่อน ในที่ประชุมนั้น นอกจากนักปราชญ์ชาติต่าง ๆ แล้ว ยังมีขุนนางต่าง ๆ ทั้งปวงมาเข้าร่วมประชุมฟังด้วย
    สมเด็จเจ้าพระยา ฯ จึงอาราธนาสมเด็จโต วัดระฆัง ขึ้นบัลลังก์ แล้วนิมนต์ให้สำแดงทีเดียว สมเด็จโต ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า
    พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา”
    พึมทุ้ม ๆ คราง ๆ ไปเท่านี้นาน กล่าวพึมพำสองคำเท่านี้สักชั่วโมงหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ลุกขึ้นจี้ตะโพกสมเด็จโต แล้วกระซิบเตือนว่า ขยายคำอื่นให้ฟังบ้าง สมเด็จโต ก็เปล่งเสียงดังขึ้นกว่าเดิมอีก พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ฯลฯ” ว่าอยู่นานสักหนึ่งชั่วโมงอีก สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ลุกขึ้นมาจี้ตะโพกสมเด็จโตอีกว่า ขยายคำอื่นให้เขาฟังรู้บ้างซิ
    สมเด็จโต เลยตะโกนดังกว่าครั้งที่สองขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา”
    อธิบายว่า การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี กิจที่พึงกระทำต่าง ๆ ข้างหน้าก็ดี กิจควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จเรียบร้อยดีงามได้ ด้วยกิจพิจารณาเป็นชั้น ๆ พิจารณาเป็นเปราะ ๆ เข้าไปตั้งแต่หยาบ ๆ ปานกลาง และชั้นสูง ชั้นละเอียด
    พิจารณาให้ประณีต ละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาว พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว ทุก ๆ คน จะรู้จักประโยชน์คุณ เกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้ เมื่อหน้า จะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้
    ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณา เลือกฟั้นคั้นหาของดี ของจริงเด่นเห็นชัดปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง ถ้าคนใดสติน้อย ถ่อยปัญญา พิจารณาเหตุผล เรื่องราว กิจการงานของโลก ของธรรม แต่พื้น ๆ ก็รู้ได้แต่พื้น ๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญา เป็นอย่างกลาง ก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้น ๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตน ประจักษ์แก่ตนเอง ดังปริยายมาทุกประการ”
    ครั้นจบแล้ว ท่านลงจากบัลลังก์ ก็ไม่มีนักปราชญ์ชาติอื่น ๆ ภาษาอื่น ๆ แขก จีน และฝรั่ง เป็นต้น ก็ไม่อาจออกปากขัดคอคัดค้านถ้อยคำของท่านสักคน นิ่งอึ้งกันหมด
    สมเด็จเจ้าพระยา ฯ พยักหน้า ให้หมู่นักปราชญ์ในชาติทั้งหลายที่มาประชุมคราวนั้น ให้ขึ้นบัลลังก์ ต่างคนต่างก็แหยง ไม่อาจนำออกแสดงแถลงในที่ประชุมได้ ทั้งที่ต่างคนต่างเตรียมเขียนมาก็จริง แต่คำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครอบไปหมด
    ครั้นจะยกโวหาร หรือจะอ้างเอาศาสดาของตน ๆ มาแสดงในที่ประชุมเล่า เรื่องของตัวก็ชักจะเก้อ จะต่ำ จะขึ้น เหนือความพิจารณาที่สมเด็จ ฯ วัดระฆัง กล่าวมานั้นไม่ได้เลย ลงนั่งพยักหน้าเกี่ยงกันให้ขึ้นบัลลังก์ แต่ก็ไม่มีใครขึ้น
    สมเด็จเจ้าพระยา ฯ เอง ก็ชั้นหนึ่ง เลยขึ้นเสียงว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณาซึมทราบได้ดี เห็นจริงตามปริยายของทางพิจารณา รู้ได้ตามชั้น ตามภูมิ ตามกาล ตามบุคคล ที่ยิ่งแหละหย่อน อ่อนและกล้า จะรู้ได้ด้วยการพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา ก็หาความรู้ไม่ได้เลย ถ้าพิจารณาต่ำ หรือน้อยวันพิจารณา หรือน้อยพิจารณา ก็มีความรู้น้อย ห่างความรู้จริงของสมเด็จโต ที่วัดระฆังกล่าวมาทุกประการ” วันนั้นก็เป็นอันเลิกประชุมปราชญ์ ต่างคนต่างลากลับ
    เป็นไงครับ เห็นภูมิปัญญาและลีลาวาทะของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ท่านนี้หรือยัง อันที่จริงเรื่องของสมเด็จโต ฯ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ยังมีอีกหลายเรื่อง จะยกมาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการใหม่ ๆ หลายคนทั่วทั้งแผ่นดินต่างวิตกกันว่า ท่านจะคิดการไม่ซื่อ ทรยศต่อแผ่นดิน คำกล่าวหานั้นหนาหูมาก แม้สมเด็จโต ฯ ท่านจะละวางทางโลก ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ สมเด็จโต ฯ ท่านจึงเอาคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ในเวลากลางวันแสก ๆ เดินรอบบ้าน
    สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ได้นิมนต์ขึ้นบนหอนั่งแล้วกล่าวว่า “เจ้าคุณ ไม่มืดนักหรอก อย่าได้วิตกไปเลย หากมีใจยึดมั่นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่นคงเสมอ จะทำนุบำรุงแผ่นดินด้วยความเที่ยงธรรม และตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรง โดยสุจริต คิดถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิจ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุ นิมนต์กลับเถิด”
    คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะทุกถ้อยคำของท่าน บ่งบอกถึงความเที่ยงธรรม มั่นคง ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรแอบแฝง หรือเคลือบแคลงใด ๆ ตรงตามลักษณะของบุคคลที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของดาวพลูโตอย่างแท้จริง


    http://www.lekpluto.com/astrogod/astgd_92.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...