ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 55

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 13 ตุลาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 55

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    โดย ไต้ ตามทาง



    (10). สัมมัตตะ (ภาวะที่ถูก ความเป็นสิ่งที่ถูก) 10 ประการ

    1. เห็นชอบ (สัมมาทิฐิ)

    2. ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

    3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)

    4. กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ)

    5. เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)

    6. พยายามชอบ (สัมมาวายามะ)

    7. ระลึกชอบ (สัมมาสติ)

    8. ตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)

    9. หยั่งรู้ชอบ (สัมมาญาณะ)

    10. หลุดพ้นชอบ (สัมมาวิมุติ)

    2.11 เอกาทสกนิบาต ประชุมข้อธรรม 11 ข้อ ขอยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้

    (1). อานิสงส์เมตตาเจโตวิมุติ (เมตตาที่เป็นฌาน) 11 ประการ

    1. หลับเป็นสุข

    2. ตื่นเป็นสุข

    3. ไม่ฝันร้าย

    4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

    5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย

    6. เทวดาพิทักษ์รักษา

    7. ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ไม่กล้ำกราย

    8. จิตเป็นสมาธิเร็ว

    9. ผิวหน้าผ่องใส

    10. ไม่หลงตาย (ตายด้วยจิตสงบ)

    11. ถ้าไม่บรรลุธรรมสูงขึ้นไป ก็จะเข้าสู่พรหมโลก

    เทียบกับอานิสงส์เมตตา 8 ในอัฏฐกนิบาต ข้อความเหมือนกัน ในที่นี้เพิ่มขึ้น 8, 9, 10 เข้ามา

    3. ข้อสังเกตบางประการและจุดที่ควรเน้น

    3.1 ข้อที่ควรคำนึงคือ พุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของ "พุทธบริษัท" ที่จะพึงรับผิดชอบร่วมกันในด้านความเป็นอยู่ พระสงฆ์และคฤหัสถ์ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน (อญฺโญญฺญนิสฺสิตา) คฤหัสถ์อำนวยความสะดวกทางด้านอามิส พระสงฆ์อำนวยธรรมทาน ในด้านปฏิบัติ ทุกคนเป็น "สหธรรมิก" คือปฏิบัติธรรมร่วมกัน โดยมีเมตตากรุณาเป็นคุณธรรมเชื่อมประสาน อุบาสก อุบาสิกา มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าบรรพชิต จะเห็นได้จากปรินิพพาน พระองค์ทรงพิจารณาฐานะของพระพุทธศาสนาว่ามั่นคงแล้ว จึงตัดสินพระทัยปรินิพพาน เงื่อนไขที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงอย่างหนึ่งในหลายอย่างคือ ฝ่ายคฤหัสถ์พร้อมที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา ตราบใดที่อุบาสกอุบาสิกาไม่พร้อมด้านนี้ พระพุทธศาสนาจะมั่นคงไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรคำนึงว่า การฝากพระพุทธศาสนาไว้ในความรับผิดชอบของพระสงฆ์ฝ่ายเดียว ชาวบ้านไม่เกี่ยว นั้นไม่ถูกต้อง ดูตัวอย่างจากการตั้ง "เอตตทัคคะ" มีทั้งพระเถระ พระเถรี อุบาสก อุบาสิกา แต่ละท่านที่ยกมานี้ ล้วนมีบทบาทในการเผยแผ่ ปกป้อง อุ้มชูพระพุทธศาสนาในด้านต่างๆ ตามความสามารถของตน จึงควรศึกษาประวัติของท่านเหล่านี้โดยละเอียด (อ่านหนังสือ พุทธานุพุทธประวัติ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สาวกนิพพาน ของพระธรรมโกศาจารย์ Dictionary of Pali Proper Names โดย ดร.มาลาลา เสเกร่า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า

    "ถ้าใครอยากเป็นอุบาสกที่ดีให้เอาอย่าง จิตตะคฤหบดี กับ หัตถกะอุบาสก ถ้าอยากออกบวชให้เอาอย่างพระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ ส่วนในหมู่อุบาสิกาก็ให้เอาอย่างนางขุชชุตตรากับนางนันทมาตา ถ้าออกบวชให้เอาอย่างนางอุบลวรรณา กับนางเขมา"

    สมัยพุทธกาลท่านที่เอ่ยนามมานี้คงมีบทบาทมาก แต่ปัจจุบันบางท่านชาวพุทธไม่คุ้นนามนี้เท่าที่ควรจึงควรศึกษาประวัติของท่านโดยละเอียด

    3.2 กตัญญุตา และกตเวทิตา (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กตัญญูกตเวที) เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ดังพระวจนะว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา (เป็นพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มิใช่พุทธดำรัส แต่ถือว่าเป็นพระพุทธพจน์) ในพระบาลีจริงๆ เรียกคุณธรรม 2 ข้อนี้ว่า เป็น "ภูมิ" หรือพื้นของคนดี (ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา) ถ้าปราศจากคุณธรรมทั้ง 2 นี้ จะเป็นคนดีไปไม่ได้ พระพุทธศาสนาเน้นในเรื่องนี้มาก

    ในแง่การประยุกต์ใช้นั้นถ้าแปล กตัญญูว่าผู้รู้คุณ ของคนอื่นและสิ่งอื่นที่มีคุณต่อเรา ก็จะกว้างขึ้น จะช่วยให้คนเราเห็นคุณประโยชน์และมีคุณต่อมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะคนเท่านั้น หากรวมถึงสัตว์และทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

    3.3 พระสูตรที่มีชื่อและเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาสูตรหนึ่งคือ เกสปุตตสูตร (หรือกาลามสูตร) มีบันทึกไว้ในติกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฏกเล่ม 10 ข้อ 505 พระสูตรนี้นอกจากจะให้หลักกว้างๆ ว่าชาวพุทธที่ดีต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบเสียก่อนจึงเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วยังบอกมาตรฐานการตัดสินความดี (กุศล) ความชั่ว (อกุศล) อีกด้วย สาระของกาลามสูตรมิใช่อยู่ที่จะต้องเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร แต่อยู่ที่ควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไรมากกว่า เป็นการให้บทบาทแก่ปัญญาทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่

    3.4. อีกสูตรหนึ่งที่น่าสนใจคือโรณสูตร มีข้อความสั้นๆ แต่กินใจคือ "ภิกษุทั้งหลายการขับร้องคือการร้องไห้ในวินัยของอริยเจ้า การฟ้อนรำคือการเป็นบ้า ในวินัยของพระอริยเจ้า การหัวเราะจนเห็นฟันเต็มปากคือความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า" เพราะฉะนั้นจึงควรเลิกเด็ดขาดซึ่งการขับร้อง ฟ้อนรำ เมื่อมีความเบิกบานในธรรม ก็เพียงแต่ยิ้มแย้มก็พอ

    พระสูตรนี้เตือนสติคนสองระดับคือ ระดับชาวบ้าน ก็เตือนสติว่าอย่าได้หลงระเริงสนุกสนานในการฟ้อนรำขับร้องจนเกินไป "รำที่ไหน ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น เสภาที่ไหนไปที่นั่น เพลงที่ไหนไปที่นั่น เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น" ท่านว่าเป็นอบายมุข เพราะสิ่งที่ชาวโลกเขาเรียกว่าความสุขความสนุกสนานนั้น ในสายตาของพระอริยเจ้าแล้วก็คืออาการเยี่ยงทารกผู้ไร้เดียงสาเดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ หรือกิริยาอาการของคนบ้านั่นเอง

    สำหรับพระสงฆ์ ผู้ปฏิญาณตนงดเว้นอากัปกิริยาของชาวบ้านหมดแล้ว ถ้ายังประพฤติเช่นชาวบ้านอยู่ ก็ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง พระสูตรนี้จึงเตือนบรรพชิตทั้งหลายให้รู้จักสำรวมปฏิบัติตนให้เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของประชาชน อย่าได้ทำให้พระศาสนาเต็มไปด้วย "การร้องไห้ หรือหัวเราะบ้าคลั่ง" เป็นที่สลดสังเวชแก่วิญญูชน



    ที่มาhttp://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud10131049&day=2006/10/13
     

แชร์หน้านี้

Loading...