ความเป็นมาของพระไตรปิฎก 56

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 16 ตุลาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฎก 56

    คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    3.5 ข้อที่ควรสังเกตในอังคุตตรนิกายอย่างหนึ่งคือ การประมวลหลักธรรมเรื่องเดียวกัน บางครั้งจำนวนองค์ประกอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่เท่ากัน ในการนำออกไปใช้หรือปฏิบัติจะเอาหมวดไหนก็คงจะได้ เพราะองค์ประกอบที่เพิ่มเข้ามา ก็ลงรอยกันหรือเสริมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณสมบัติของอุบาสกมี 7 ก็มี 8 ก็มี ตถาคตพลญาณมี 6 ก็มี 10 ก็มี อานิสงส์เมตตา 8 ก็มี 11 ก็มี เป็นต้น

    3.6 มารดาบิดา เป็นบุคคลผู้มีบุญคุณสูงสุดของมนุษย์ เป็นที่เคารพสูงสุด ในบาลีบางแห่งกล่าวว่ามารดาบิดา มีฐานะเป็นพรหมของบุตร เป็นบูรพาจารย์เท่านั้น ในอังคุตตรนิกายได้ระบุฐานะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็น "อาหุไนย" ของบุตรด้วย คำว่าอาหุไนย เป็นชื่อของพระอริยบุคคลโดยสูงสุดหมายเอาพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่ามารดาบิดาก็คือ "พระอรหันต์ของบุตร" ก็ไม่เป็นการกล่าวผิดแต่ประการใด ในยุคสมัย "อรหันตนิยม" อย่างปัจจุบัน คนที่ชอบเดินทางไปไหว้ (ผู้ที่ตนคิดว่าเป็น) อรหันต์ตามที่ต่างๆ ก็เป็นการเจริญศรัทธาปสาทะดีอยู่ แต่ถ้าจะสนใจไหว้ "พระอรหันต์ในบ้าน" ก่อน ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น

    3.7 อังคุตตรนิกาย ให้แง่คิดธรรมมากมาย รวมถึงความรู้รอบตัวที่น่าสนใจอีกด้วยเช่น ทูตที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นักการค้าที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงอายุยืนแม้กระทั่งโจรที่หากินไม่ยืดเพราะอะไร

    3.8 วิธีอธิบายธรรม ใช้อุปมาอุปไมย ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้น เช่น

    - เปรียบพระบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนชาวนาปรับพื้นที่นา หว่านกล้า และไขน้ำ

    - เปรียบสามีภรรยา คนหนึ่งดีอีกคนหนึ่งไม่ดี เหมือนศพอยู่กับเทพ (หรือผีกับเทวดา) ถ้าดีสองคนก็เหมือนเทพอยู่กับเทพ ถ้าเลวทั้งคู่เหมือนผีอยู่กับผี

    - เปรียบคนดีกับคนชั่วอยู่ห่างไกลกันเหมือนฟ้ากับดิน ฝั่งนี้กับฝั่งโน้น พระอาทิตย์ขึ้นกับพระอาทิตย์ตก

    -เปรียบคนล้มเหลวทั้งทางโลกและทางธรรมเหมือนคนตาบอด คนประสบความสำเร็จทางการดำรงชีวิตแต่ไร้ศีลเหมือนคนตาเดียว คนที่สมบูรณ์ทั้งสองด้านเหมือนคนสองตา

    - เปรียบคนดีแต่พูด แต่ไม่ทำเหมือนฟ้าร้องฝนไม่ตก คนทำด้วยพูดด้วยเหมือนฟ้าร้องฝนตกด้วย

    - เปรียบการฝึกคนเหมือนการฝึกม้า ใช้ทั้งวิธีละมุนละม่อม และวิธีรุนแรง

    - เปรียบคนโกรธง่ายหายเร็วเหมือนรอยขีดบนดิน คนโกรธง่ายหายช้าเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน คนไม่มักโกรธเหมือนรอยขีดในน้ำ

    - เปรียบผู้นำมีคุณธรรมและปราศจากคุณธรรมเหมือนโคจ่าฝูงพาลูกฝูงข้ามน้ำไปตรงหรือคด

    - เปรียบคนไม่มีคุณธรรมเหมือนคนจน คนทำชั่วเหมือนการกู้หนี้ คนทำชั่วแล้วปกปิดไว้ เหมือนการเสียดอกเบี้ย คนทำชั่วถูกนินทาตำหนิเหมือนถูกทวงหนี้ คนทำชั่วได้รับความร้อนใจเหมือนถูกตามตัว คนทำชั่วได้ผลกรรมเหมือนคนเป็นหนี้ถูกฟ้องร้อง และตัดสินจำคุก

    3.9 คำว่า "โลก" ในอังคุตตรนิกายนี้ให้ความหมายไว้ 2 นัย คือ นัยหนึ่งบอกว่า โลกคือร่างกายยาววาหนาคืบ "ทรงบัญญัติโลก การเกิดแห่งโลก การดับโลกและทางให้ถึงความดับโลก ที่ร่างกายยาววาหนาคืบ" อีกแห่งหนึ่งบอกว่า โลก หมายถึงกามคุณทั้ง 5 แต่เมื่อเพ่งโดยความหมายแล้ว ไม่แตกต่างกัน

    3.10 ในติกนิบาตอังคุตตรนิกาย ข้อ 517 พูดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดใหม่ 3 ประการ คือ กรรม วิญญาณ ตัณหา กรรมเปรียบเหมือนที่นา วิญาณเปรียบเหมือนพืช ตัณหาเปรียบเหมือนยางเหนียวในพืช ทั้ง 3 อย่างนี้รวมเป็นองค์ประกอบอันเดียวกัน เรียกว่า "คันธัพพะ" ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบทางรูปธรรมอีก 2 รวมเป็น 3 องค์ประกอบคือ

    - มารดาบิดาร่วมกัน

    - มารดามีไข่สุกพร้อมที่จะผสม

    - คันธัพพะ (ปฏิสนธิวิญญาณ, กรรม, ตัณหา) ปรากฏพร้อม (โปรดดู อินทกสูตร สัง.ส.15/801-803 ประกอบ)

    3.11 เคล็ดลับของการเป็นปราชญ์ หรือสูตรแห่งการเรียนรู้ที่ทำให้คนเป็นพหูสูต มี 5 อย่าง(ต้องผ่านขั้นตอนทั้ง 5 ตามลำดับจึงจะเรียก พหูสูต) คือ

    -ฟังมาก (รวมถึงการอ่านมาก รวบรวมข้อมูลได้มาก)

    - จำมาก (จำหลักการใหญ่ๆ ได้)

    - คล่องปาก (ท่องจนคล่องไม่ลืมไม่หลง)

    - เจนใจ (คิดจนเกิดภาพขึ้นในใจ)

    - ขบได้ด้วยทฤษฎี (นำข้อมูลต่างๆ ที่ได้ศึกษามาคิดพิจารณาได้ข้อสรุปเป็นของตน หรือสร้างแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา สามารถประยุกต์ใช้อย่างได้ผลดี) การเรียนที่ไม่ค่อยได้ผล ก็เพราะทำไม่ครบกระบวนการ ไม่ครบขั้นตอนทั้ง 5 ข้างต้น


    ที่มาhttp://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03bud12161049&day=2006/10/16
     

แชร์หน้านี้

Loading...