เรื่องเด่น ความเชื่อผิดๆ เรื่องการใส่บาตรและถวายสังฆทาน อาหาร ยา ฯลฯ

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 8 ตุลาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    สังฆทาน-พระอาจารยสุชาติ.jpg

    ” ความเชื่อผิดๆ เรื่องการใส่บาตรและถวายสังฆทาน อาหาร ยา ฯลฯ ”

    ถาม : การใส่บาตร และ การถวายอาหาร แด่พระควรเป็นอาหารสด แต่ถ้าบางคนการถวายมาม่าหรือของแห้งที่จะต้องเอาไปประกอบอาหารใหม่จะบาปหรือไม่?

    ตอบ : ไม่บาปหรอก เพียงแต่ว่าพระท่านเก็บไว้ไม่ได้

    อาหาร ที่เป็นอาหารนี้ ท่านเก็บไว้ได้เพียงแค่ช่วงระยะเที่ยงวันเท่านั้นเอง หลังจากเที่ยงวันแล้ว ส่วนที่เป็นอาหารนี้ ท่านต้องสละไปหมด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้พระสะสมของไว้ในกุฏิของตน แต่ทรงอนุญาตให้สะสมไว้ในคลังของวัดได้ เช่น ถ้าญาติโยมอยากจะถวายของให้เก็บไว้นานๆ อย่าไปใส่บาตร อย่าไปประเคนกับมือ

    อย่างที่อาตมารับของนี้ ส่วนใหญ่จะให้วางไว้เฉยๆ ถ้าญาติโยมวางไว้เฉยๆนี้ ถือว่าพระยังไม่ได้รับประเคน พระยังเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมดอายุ เวลาต้องการจะใช้ก็ให้ลูกศิษย์หยิบมาประเคนให้ จึงจะใช้ได้ แต่..ถ้ารับประเคนด้วยมือเอง ของมันจะมีอายุ

    ของพระ ท่านแบ่งไว้ 3 ชนิดด้วยกัน

    1) “อาหาร” – ชนิดอาหารนี้มีอายุแค่..ถึงเที่ยงวัน

    หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ถึงแม้รับตอนนี้ก็หมดอายุทันทีเลย ใครถวายมาม่า ถวายปลากระป๋องมา รับปั๊บนี้ก็ต้องสละแล้ว เก็บไว้กินพรุ่งนี้ไม่ได้ เรียกว่า อาหาร

    ดังนั้นถ้าของเป็นอาหารอยากจะถวายพระให้เก็บไว้นานๆ เอาวางตั้งไว้เฉยๆ ตั้งไว้ตรงหน้าก็ได้ บอกขอถวาย อันนี้ก็ได้เท่ากับถวายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องทำให้มันถูกพระวินัย พระยังไม่ถือว่าเป็นของของตน เป็นของของส่วนกลางอยู่ ถือเป็นของคณะสงฆ์ แต่เวลาต้องการจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคน เอาไปเก็บไว้ที่กุฏิไม่ได้ ต้องเก็บไว้ที่ที่เก็บของของวัด วัดจะมีที่ที่เก็บของส่วนกลางไว้ ของทั้งหมดที่ไม่ได้รับประเคนก็ให้เอาไปไว้ที่นั่น เวลาจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์เอามาประเคนให้อีกที พวกอาหารก็มีอายุเพียงครึ่งวัน เช้าถึงเพล

    2) “เภสัช ตามพระกำหนดมี 5 ชนิด คือ พวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้ง”

    – ท่านอนุญาตถ้ารับประเคนนี้ท่านให้เก็บไว้ได้ ๗ วัน และฉันได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงถือว่าเป็นยา

    – สมัยก่อนเขาคงกินพวกยา พวกนี้รักษาอาการเจ็บท้องปวดท้อง มันคงจะไปเคลือบกระเพาะหรือไปทำอะไร ท่านก็เลยอนุญาตให้มีเภสัช 5 ชนิดด้วยกัน (พวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้ง)

    – พวกนี้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน พอหลังจาก 7 วันแล้วถ้ายังมีเหลืออยู่ ก็ต้องสละให้คนอื่นไป

    – สละให้กับพระด้วยกันไม่ได้ ต้องสละให้ฆราวาสญาติโยมไป ลูกศิษย์ลูกหาไป หรือเอาไปทำบุญทำทานไป

    3) “ยา(รักษาอาการเจ็บป่วย) “ จริงๆ เช่น ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาอะไรต่างๆ

    – เก็บไว้ที่กุฏิด้วย เพราะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะได้หยิบได้ทันท่วงที

    – ถ้าเป็นยานี้ถวายได้ตลอดเวลา และเก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันเสื่อม นอกจากตามที่เขาเขียนไว้ที่ในสลาก เสื่อมไปตามวันที่เขาเขียนไว้ในสลากเท่านั้น

    นี่คือเรื่องของการประเคนของให้กับพระ เราต้องรู้จักแยกแยะ แต่สมัยนี้ญาติโยมไม่รู้กันก็เลยรวมกันหมดเลยที่เขาใส่ในกระเเป๋งสีเหลืองนี้ เขาอยากจะถวายให้ครบทั้ง 4 คือ ปัจจัย 4 ยาก็ใส่เข้าไป อาหารก็ใส่เข้าไป จีวรก็ใส่เข้าไป ถึงแม้จีวรจะเอามาห่มไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นผ้าเหลืองๆ ชิ้นหนึ่งก็ถือว่าเป็นจีวรแล้ว กระเเป๋งก็คงถือว่าของถวายมั๊ง… ไว้ครอบหัวเวลาฝนตก

    – ทำบุญก็อยากจะถวายปัจจัย 4 ให้ครบ เขาก็เลยใส่มา แล้วมาถึงก็บังคับให้พระรับประเคน ให้วางไว้เฉยๆ ก็กลัวว่าไม่ได้บุญอีก

    – บางทีบางคนขนกลับไปก็มี พอบอกว่า “ให้วางไว้เฉยๆ ได้ถวายแล้ว” ฉันไม่ได้บุญ ท่านไม่รับฉันไม่ได้บุญ ฉันไปดีกว่าไปถวายที่อื่นดีกว่า อย่างนั้นก็มีเพราะการไม่รู้ ไม่มีการสอนไม่มีการบอก

    – แล้วพระที่มาบวชใหม่ทีหลังก็ไม่รู้เรื่อง เขาเอาอะไรมาถวายก็รับประเคนหมด แล้วเขาก็แบบถือว่าไปว่ากันใหม่ คือตอนนี้รับประเคนแบบหลอกๆไปก่อน รับประเคนให้ญาติโยมดีอกดีใจ แล้วค่อยไปแยกแยะของทีหลัง ของที่เป็นอาหารก็เก็บไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าอยากจะได้อะไรค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคนให้ใหม่ เขาทำกันแบบนี้

    ซึ่งทางสายวัดป่าท่านไม่ทำ ท่านทำแบบไม่หลอก ทำแบบจริงๆ เลย บอกประเคนไม่ได้ก็ประเคนไม่ได้ วางไว้ต้องวางไว้ เพื่อจะได้สอนญาติโยมไปในตัว

    – ญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดป่าจึงได้บุญด้วย ได้ปัญญาด้วย ได้บุญ คือ ความสุขใจ แล้วก็ได้ปัญญาได้ความรู้ที่ถูกต้องในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพระให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แทนที่จะส่งเสริมให้พระปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย เพราะด้วยความเกรงใจญาติโยม

    นี่คือเรื่องของการถวายของ ที่เราต้องควรจะศึกษา.

    _________________________

    พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

    ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗



    ที่มา พระกรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 8 ตุลาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...