ความจริงจากแม่แจ่ม โลกร้อนเรื่อง...ใกล้ตัว

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 14 พฤษภาคม 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    ความจริงจากแม่แจ่ม โลกร้อนเรื่อง...ใกล้ตัว

    [​IMG]

    ขณะที่ปัญหาโลกร้อนสำหรับใครหลายคนอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ อ.แม่แจ่ม ทางตอนเหนือ จ.เชียงใหม่ กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้ จึงได้เริ่มลงมือปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต และวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อจัดการลดผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนต่อชุมชนของพวกเขาด้วยตัวเอง

    ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อำเภอแม่แจ่มได้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม ที่คร่าชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนครั้งใหญ่ๆ ถึงสองครั้งสองคราด้วยกัน แม้ปัญหาและความเสียหายจะไม่หนักเท่าพื้นที่อื่นๆ เช่น กรณีน้ำก้อ น้ำชุน ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2544 และหลายอำเภอในอุตรดิตถ์เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ชาวแม่แจ่มก็ตระหนักและตื่นตัวว่าปัญหาเหล่านี้จะต้องเพิ่มความรุนแรงขึ้นในอนาคต หากพวกเขายังเพิกเฉยกับมัน

    "ในอำเภอแม่แจ่มของเรา มีหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีแดงที่กรมทรัพยากรธรณีจับตาดูเป็นพิเศษ เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม ชาวบ้านก็กังวลกันมาก เรากำลังปรึกษากันถึงเรื่องการสร้างระบบเตือนภัย เพื่อการอพยพที่ทันท่วงที ตลอดจนถึงการโยกย้ายหมู่บ้านหรือหลังคาเรือนที่อยู่ในพื้นที่อันตรายเหล่านั้นออกมาก่อนที่จะสายเกินไป" อาจารย์อุทิศ สมบัติ ผู้นำชุมชนและประธานเครือข่ายลุ่มแม่น้ำแม่แจ่มกล่าว

    ความกังวลของชาวบ้านมีเหตุผลสนับสนุนโดยอาจารย์ศุภกร ชินวัณโณ หัวหน้าทีมวิจัยผลกระทบปัญหาโลกร้อนต่อแหล่งน้ำในประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (ลาว เขมร และเวียดนาม) แห่งสถาบัน Southeast Asia START Regional Center จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวจากข้อสรุปการศึกษาครั้งล่าสุดว่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจะมีผลต่อการมีฝนตกที่หนักขึ้นแต่ละครั้งในฤดูฝน และฤดูร้อนจะร้อนขึ้นและยาวขึ้น ในขณะที่ฤดูหนาวจะสั้นลง

    "การที่เราจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในแต่ละครั้ง จะทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้หมด ดินที่หนักไปด้วยน้ำจะทลายลงมา พื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงทางภาคเหนือของไทยจะเจอกับปัญหาน้ำท่วม ฉับพลัน และดินถล่มมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มคิดมาตรการการป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเร่งด่วน" อาจารย์ศุภกรกล่าว
    <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=1><TBODY><TR bgColor=#ffe9ff><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>


    ผู้ได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มแรกๆ จากภาวะโลกร้อนคือ คนจน !!

    อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ ผู้ประสานงานอาวุโสภาคเหนือของมูลนิธิรักษ์ไทย ที่ติดตามทำงานกับชุมชนชาวบ้านเพื่อพยายามลดผลกระทบของปัญหานี้ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยชาวบ้านจัดการรับมือกับปัญหา

    "คนจนจะเดือดร้อนก่อนใคร ถ้าโลกร้อนไม่มีน้ำ คนจนจะไม่มีปัญญาแข่งซื้อปั๊มน้ำ ถ้าโลกร้อนทำให้ปลาลดลงจากทะเลแถบชายฝั่ง คนจนที่มีได้แค่เรือเล็กก็จะไม่สามารถจับปลาได้อีกต่อไป เราทำงานกับชาวบ้านมานานจึงรู้ว่านี่คือปัญหาเร่งด่วนที่เราต้องทำในการรับมือกับภาวะโลกร้อน" อุดมกล่าว

    ประสบการณ์การสูญเสียโดยตรง ทำให้ชาวแม่แจ่มไม่รอให้รัฐบาลเริ่มต้น แต่ได้พยายามคิดมาตรการของตัวเองในศักยภาพที่ชาวบ้านประกาศตัวจะปกป้องรักษาป่าต้นน้ำของลำน้ำแม่แจ่มเมื่อเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นปฐมฤกษ์ของการที่ชาวบ้านประกาศตัวจะปกป้องรักษาป่าต้นน้ำของลำน้ำแม่แจ่มอย่างจริงจัง โดยการรวบรวมผืนป่าในพื้นที่ตำบลต่างๆ ได้มากถึง 70,000 ไร่ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสฉลองหกทศวรรษแห่งการครองราชย์ในปีที่แล้ว และ 80 ปี แห่งการเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนี้

    "เรารู้ว่าปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มจะไม่หยุดไปง่ายๆ ตราบเท่าที่อากาศยังแปรปรวนมากขึ้นทุกทีแบบนี้" พ่ออินคำ นิปุณะ ผู้อาวุโสแห่งอำเภอแม่แจ่มกล่าว "เดี๋ยวนี้หน้าหนาว ไม่หนาวมากเท่าเมื่อก่อน หน้าแล้งก็แล้งนานขึ้น หน้าฝนฝนก็ตกหนักขึ้น ต่างประเทศเขาว่าอากาศมันจะร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ พ่อก็เห็นว่าน่าจะจริงอย่างที่เขาว่าล่ะนะ บ้านเราตอนนี้ก็รู้สึกได้แล้ว"

    ความรู้ของชาวบ้านว่าป่าช่วยชะลอความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน จากการสังเกตพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง ซึ่งเกิดขึ้นตรงข้ามกับดินตะกอนที่เพิ่มขึ้นในน้ำแม่แจ่ม จนปัจจุบันทั้งลำน้ำตื้นเขินขึ้นทุกๆ ปี จนแม้ในช่วงเริ่มต้นฤดูแล้งเท่านั้นเด็กๆ ยังสามารถลงไปเดินลุยน้ำที่มีระดับแค่เข่าเล่น

    อำเภอแม่แจ่มมีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับหลายพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือของไทย ที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงปกคลุมด้วยป่าไม้ และมีพื้นที่ราบสำหรับการเกษตรน้อย พ่ออินคำยังจำได้ดีถึงสมัยที่ตัวเองเป็นเด็กเมื่อ 70 ปีก่อน ผู้ใหญ่หลายคนในหมู่บ้านเป็นลูกจ้างบริษัททำไม้อังกฤษ พ่อหลวงเล่าว่าชอบไปเล่นแถวๆ ริมน้ำ และได้เห็นท่อนซุงที่ถูกตัดใหม่ๆ ผูกเป็นแพลอยลงตามแม่น้ำไปที่โรงเลื่อยข้างล่าง

    "เมื่อก่อนไม่รู้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่ากับน้ำท่ามันจะสัมพันธ์กันมากแบบนี้ ป่าหาย น้ำแห้ง มีแต่ตะกอนในลำน้ำ ตอนนี้เรารู้แล้ว และก็หวังว่าจะยังไม่สายเกินไปที่เราจะกลับมาดูแลป่า ขุนน้ำที่เหลืออยู่อย่างจริงจัง" พ่ออินคำกล่าวในพิธีสืบชะตาแม่น้ำแจ่มเมื่อเร็วๆ นี้

    ความรับรู้ผลกระทบของการหายไปของพื้นที่ป่า ต่อแม่น้ำลำธาร และอากาศที่ร้อนขึ้น ได้ทำให้ชาวแม่แจ่มที่มีพ่ออินคำเป็นผู้นำที่สำคัญคนหนึ่ง ได้ร่วมกันกับชาวบ้านปกากญอที่หมู่บ้านวัดจันทร์ ต่อต้านโครงการทำไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อปี 2535-2536 ป่าสนบ้านวัดจันทร์ที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของอำเภอแม่แจ่ม ถือเป็นป่าสมบูรณ์ที่รอดพ้นจากการทำไม้ในสมัยที่กรมป่าไม้ยังให้สัมปทานป่ากับบริษัทอังกฤษในยุคต้นศตวรรษที่ผ่านมา ที่ต่อเนื่องด้วยบริษัททำไม้จังหวัดและสัมปทานเอกชนรายอื่นๆ จนกระทั่งรัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศเมื่อปี 2532

    ชัยชนะร่วมกันของขบวนการชาวบ้านและกลุ่มสิ่งแวดล้อม การปกป้องผืนป่าวัดจันทร์ เป็นบทเรียนสำคัญและเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านรักษาป่าไม้ที่เหลืออยู่เพิ่มขึ้นอีก

    "การถวายป่าให้ในหลวง 70,000 ไร่ รวมถึงป่าสนบ้านวัดจันทร์ที่ชาวบ้านรักษาไว้ได้ เป็นเสมือนสัญลักษณ์คำปฏิญาณของชาวบ้านต่อบุคคลที่สูงสุดในแผ่นดินว่า ชาวบ้านจะรักป่าเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน" อาจารย์วีรพล ประเสริฐสุข ผู้นำชาวบ้านอีกคนหนึ่งกล่าว "พวกเราได้ช่วยกันกับชาวบ้านวาดแผนที่ขอบเขตป่าอนุรักษ์ ที่กันออกจากป่าใช้สอย โดยวิธีง่ายๆ เพื่อเป็นหลักฐานบันทึกว่าป่าเหล่านี้ชาวบ้านจะรักษาไม่ให้มีใครก้าวล่วงไปทำลาย ผู้ละเมิดต้องถูกลงโทษอย่างหนักจากกฎเกณฑ์ที่ชาวบ้านร่วมกันตั้งขึ้น และจากกฎหมายบ้านเมืองด้วย"

    ชาวบ้านบางกลุ่มยังทำมากไปกว่านั้นเพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน สุดจา ลิขิตเบญจกุล แห่งบ้านแม่ละอุป ในอำเภอแม่แจ่ม เล่าว่า ที่เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันดีเซลมาใช้พลังน้ำจากเขื่อนขนาดเล็กที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก United Nations Development Program (UNDP) จำนวนเริ่มต้น 430,000 บาท ในการก่อสร้างและซื้ออุปกรณ์

    นอกจากนั้น แกลบที่ได้จากการสีข้าว ยังได้เอามาทำอิฐบล็อกสำหรับการก่อสร้างที่นอกเหนือจากการสร้างรายได้เสริมให้ชาวแม่ละอุปแล้ว ยังทดแทนการตัดไม้เพื่อการก่อสร้างอีกด้วย

    สุดท้ายปัญหาการตื้นเขินของลำน้ำแม่แจ่มที่เป็นต้นน้ำของลำน้ำปิง สาขาที่สำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงอยู่ที่การมีฝายหลวง ซึ่งเป็นฝายคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างเมื่อสามสิบปีก่อนโดยกรมชลประทาน ชาวบ้านอยากทุบฝายทิ้ง แล้วหันกลับมาใช้ฝายไม้ธรรมชาติแบบดั้งเดิมของภาคเหนือที่ไม่กักตะกอน แต่ปล่อยให้ตะกอนไหลลงไปตามแม่น้ำ ไม่ทำให้ลำน้ำตื้นเขิน

    นี่เป็นความพยายามของชาวบ้านเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มุ่งมั่นกับการจัดการปัญหานี้ด้วยภูมิปัญญาของตัวเอง เป็นการทำงานอย่างจริงจังมากไปกว่าองค์กรจำนวนไม่น้อยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาแต่ยังเพิกเฉยและทำเป็นทองไม่รู้ร้อน !!

    -------------------
    ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/prachacha...g=02csr03140550&day=2007/05/14&sectionid=0221
     

แชร์หน้านี้

Loading...