การปฏิบัตินั้น ทำอย่างไรถึงจะทรงตัวและก้าวหน้าคะ ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 8 สิงหาคม 2005.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,695
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,021
    [​IMG]
    [​IMG]หลวงพี่ เล็ก สุธมฺมปญฺโญ



    ถาม : การปฏิบัตินั้น ทำอย่างไรถึงจะทรงตัวและก้าวหน้าคะ ?

    ตอบ : การปฏิบัติน่ะ พวกเราลืมจุดที่สำคัญไปจุดหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็คือว่าพอภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ลุกแล้วก็ลืม รักษาอารมณ์ไม่เป็น ตัวรักษาอารมณ์ไว้สำคัญที่สุด ต้องประคับประคองอารมณ์นิ่ง อารมณ์สงบอารมณ์เย็นนั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ให้แบ่งกำลังใจส่วนหนึ่งนึกถึงอารมณ์นั้นไว้เสมอ ๆ

    แรก ๆ มันอาจจะได้สักครึ่งชั่วโมงแล้วก็สลายหายไป สังเกตดูทำใหม่ ๆ แหม มันเย็นอยู่ในอก ชื่นอกชื่นใจ ลองรักษามันดูซิว่ามันจะได้นานสักแค่ไหน แล้วนาน ๆ ไป ความเคยชินที่เราประคับประคองมันไว้มันก็จะได้เป็นวัน ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ครึ่งเดือน เดือนหนึ่ง หรือถ้าหากว่าใครมีความคล่องตัวมาก ๆ ก็ได้เป็นปีเลย
    ถ้าเราทำต่อเนื่องติดตามกันไปอย่างเนี้ยเรื่อย ๆ กำลังใจมันทรงตัวอยู่้ นิวรณ์ห้าเข้าไม่ได้ รัก โลภ โกรธ หลง มันกินใจเราไม่ได้ กำลังของสมาธิที่ทรงตัวอยู่นี้มันจะกดกิเลสตายไปเอง แต่ถ้าหากว่าใครไม่ชอบอย่างนี้ต้องขยันพิจารณา การพิจารณาก็มีอยู่ ๓ แบบ

    แบบแรกตามอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดูทุกข์ตัวเดียวก็พอ แต่ถ้าหากว่ารู้สึกว่ามันยากเกินไปก็ดูเหตุที่มันกิดทุกข์ แล้วก็อย่าสร้างเหตุนั้น ทุกข์มันก็จะดับ ถ้าทุกข์ดับเขาเรียกว่านิโรธ ไอ้การที่เราทำเขาเรียกว่ามรรค เพราะฉะนั้น มรรคกับนิโรธ นี่ไม่ต้องไปแตะมัน อย่างเก่งก็ดูทุกข์ตัวเดียว ถ้าเก่งน้อยหน่อยก็ดูสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์ด้วย

    เส้นทางที่สองก็คือดูตามแนวเส้นทางของไตรลักษณ์ ลักษณะความเป็นจริง ๓ อย่าง คือ ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนยึดถือมั่นหมายไม่ได้ในที่สุดก็ตายก็พังหมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในลักษณะนี้หมด

    อย่างที่สามดูตามแนววิปัสสนาญาณ ๙ อย่างตามนัยวิสุทธิมรรคในคู่มือปฏิบัติกรรมฐานจะมี เริ่มตั้งแต่อุทยัพยานุปัสสนาญาณ ดูการเกิดและดับ เห็นให้มันเป็นปกติ เห็นเด็กเมื่อกี้นี้ใช่ไหม เออ ไอ้นี่เกิดแล้วนะ เดี๋ยวมันก็แก่ เดี๋ยวมันก็เจ็บ เดี๋ยวมันก็ตาย หรือไม่ก็ภังคานุปัสสนาญาณ ดูเฉพาะความดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในที่สุดก็พังหมด ไม่มีอะไรเหลือ ไล่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงตัวนิพพิทาญาณ คือ เบื่อหน่าย โดยเฉพาะเบื่อในร่างกายนี้ ในที่สุดก็เป็นสังขารุเปกขาญาณ คือ รู้จักปล่อยวางเห็นธรรมดาของมัน

    คำว่า “ธรรมดา” สำคัญที่สุด ถ้าเราคลำจุดนี้เจออาศัยกินได้ตลอดชีวิตเลย แต่ว่่าธรรมดาของมันก็มีระดับของมันอยู่ ธรรมดาแบบผู้ทรงฌานทำกำลังใจได้ระดับหนึ่ง ธรรมดาของผู้เป็นพระโสดาบันทำได้ระดับหนึ่ง พระอนาคามีอีกระดับหนึ่ง พระอรหันต์นี่ธรรมดาที่สุด เห็นทุกอย่างเป็นไปตามปกติไม่มีอะไรกระทบใจของตัวเอง เพราะว่าปกติของมันเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม ? ปกติของเด็กมนต้องดื้อต้องซน ปกติของเราเกิดมามันต้องทุกข์ ปกติของการอยู่้ร่วมกับคนอื่นต้องมีการกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา จะเห็นธรรมดาไปหมด ท่านก็เลยเลิกแบกแล้วก็ปล่อย

    เพราะฉะนั้นตัวรักษาอารมณ์ของการปฏิบัติเนี่ยสำคัญที่สุด ต้องประคับประคองให้อยู่กับเราให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะพึงเป็นไปได้ เพื่อที่เราจะได้มีความสุขจิตใจไม่ว้าวุ่นไม่ขุ่นมัวไปตามกิเลสตัณหาอุปทานและอกุศลกรรม สติจดจ่ออยู่เฉพาะหน้าไม่ไปในอดีตและไม่ไปในอนาคต ไม่ว่าจะคิดเรื่องอดีตที่ผ่านมาหรือว่าเรื่องอนาคตที่มาไม่ถึงมันทุกข์ทั้งคู่ คนเราจะไปนิพพานได้หรือไม่ได้ก็อยู่กับปัจจุบันนี้เท่านั้น

    อดีตไปไม่ได้แน่ถ้าไปได้ไม่มานั่งอยู่อย่างงี้ อนาคตยังมาไม่ถึงจะไปได้อย่างไร มันก็ต้องตอนนี้ เดี๋ยวนี้ อยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้าเท่านั้น ประคับประคองอารมณ์อยู่อย่างนั้น รักษาความสงบเยือกเย็นอยู่อย่างนั้น
    ; คอยสังเกตในแต่ละวันว่านิวรณ์ ๕ อย่างกินใจเราได้ไหม ไอ้เครื่องกั้นความดี ๕ อย่างประกอบไปด้วย กามฉันทะ-ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ พยาบาท โกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่นเขา ตัวโกรธน่ะมันโกรธเป็นปกติอยู่แล้วแต่อย่าพยาบาท พยาบาทคือผูกโกรธ ไม่รู้จักลืม คิดอยู่เสมอ ตัวนี้ใช้ไม่ได้ แต่ไอ้ที่โกรธน่ะ มันโกรธปกติโกรธไปเถอะไม่มีใครเขาว่าหรอก พระโสดาบันก็ยังโกรธ พระสกิทาคามีก็ยังโกรธ หมดโกรธต้องเป็นพระอนาคามีขึ้นไป โกรธแต่อย่าผูกโกรธ ถีนมีทธ-ความง่วงเหงาหาวนอนในระหว่างปฏิบัติและไอ้ตัวชวนให้ขี้เกียจตัวเดียวกันเลย อุทธัจจะ-อารมณ์ฟุ้งซ่านไม่ต้งมั่น แล่นไปสู่อารมณ์อื่น หลุดจากการภวานา หลุดจากการประคองอารมณ์เฉพาะหน้า วิจิกจฉา-ลังเลสงสัย ไอ้ตัวนี้จริง ๆ แล้วกินเราได้น้อย เพราะว่าถ้าสงสัยเราไม่มานั่งทำ วัน ๆ ดูแค่นี้พอ

    ถ้าจิตใจของเราไม่มีนิวรณ์ ๕ แสดงว่า อารมณ์ใจตอนนั้นอยู่ในระดับที่ดีน่าพอใจ แต่อย่าไปยึดถือมั่นหมายมันว่ามันจะดีอย่างนั้นตลอด

    การทำแต่ละวันไม่เท่าเทียมกัน วันนี้กำลังใจทรงตัวถ้าร่างกายดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่เหน็ดเหนื่อยมาก ไม่หิวมาก อารมณ์ใจทรงตัวอาจจะภาวนาได้ แหม สดชื่นสบาย ๓๐ นาทีแล้วยังต่อได้อีก ดีไม่ดีชั่วโมง ๒ ชั่วโมงเลย เอ้า ได้เท่านั้นเราทำเท่านั้น พรุ่งนี้แค่ ๓ นาทีก็ประสาทจะกินแล้ว เพราะว่าสิ่งที่มารบกวนมีมากเหลือเกิน แต่อย่าลืมว่า ๓ นาทีไปรวมกับชั่วโมงหนึ่งเมื่อวานเป็นหนึ่งชั่วโมงกับสามนาที เราไม่ได้น้อยลงนะ แต่มากขึ้น เพียงแต่ผลงานในแต่ละวันเราอาจจะดูว่าน้อยไปหน่อย แต่ ๒ วันรวมกันมันได้ชั่วโมงกับสามนาที
    เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักทำกำลังใจของเราให้พอใจอยู่กับสิ่งที่เราได้ ได้นาทีหนึ่งเอานาทีหนึ่งได้ ได้ชั่วโมงหนึ่งเอาชั่วโมงหนึ่ง สะสมไปเรื่อย ๆ ไม่ได้อะไร พุทโธคำเดียวก็เอา วนไหนจิตใจฟุ้งซ่านมาก ๆ ไปไม่รอดนั่งมองพระประธานก็เอา ไม่รู้จะทำยังไงพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้าอย่างน้อย ๆ ก็เอาแค่นี้แหละ อตีตังสญาณ-รู้อดีต-ไม่เอา อนาคตังสญาณ-รู้อนาคต-ไม่เอา ยถากรรมมุตาญาณ-รู้กรรม-ไม่เอา ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ-ระลึกชาติ-ไม่เอา จุตูปปาตญาณ-รู้ว่าคนและสัตว์เกิดแล้วไปไหนตายแล้วไปไหน-ไม่เอา เอาปัจจุบันนังสญาณคือตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เรานั่งมองพระอยู่พระพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้าเราคือเราเห็นท่านอยู่กับท่านน่ะ ตีขลุมให้มันเป็นแล้วจะสบายใจ เอามันง่าย ๆ สะดวก ๆ

    พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนอะไรยาก คนสมัยใหม่มันสอนให้ยากเอง
    รักษาอารมณ์ไว้อย่างเนี้ยได้มากเอามาก ได้น้อยเอาน้อย ได้เท่าไหร่ถือว่าเป็นเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะรวมตัวมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตัวที่ได้มากเรารับไว้มาก ได้น้อยเรารับไว้นอ้ยไม่ดิ้นรนไม่อะไรไม่อยากจะนเกินพอดีมันเป็นตัวอุเบกขาในการปฏิบัติ การปฏิบัติทุกระดับถ้าไม่มีตัวอุเบกขาในอารมณ์ ก้าวหน้ายากมาก แต่ถ้ามีตัวอุเบกขาในอารมณ์ลักษณะนี้จะก้าวหน้าได้ง่ายและได้เร็ว
    เรื่องของธรรมะมันปฏิภาคผกผันแปลก ๆ ถ้าเราอยากอยู่มันจะไม่ค่อยได้หรอก แต่ถ้าหมดอยากเมื่อไหร่มันไหลมาเทมา ฟังดูน่าจะง่ายใช่ไหม ? เก็บเอาไว้จำด้วยนะ เคล็ดลับแบบนี้เขาไม่บอกกันง่าย ๆ หรอก จำแล้วก็ทำด้วย ถ้าเราฟังเทปหลวงพ่อจะได้ยินอยู่เสมอว่าฟังแล้วจำ จำแล้วคิด คิดแล้วนำไปปฏิบัติด้วย แทบทุกม้วนจะย้ำอย่างนี้ พวกเราส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่ค่อยจำก็เลยไม่ต้องคิด ปฏิบัติก็ไม่ค่อยจะทำ



    http://www.palungjit.org/board/showpost.php?p=103062&postcount=14

    เว็ปกระโถนข้างธรรมาสน์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 27 กันยายน 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...