การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 28 กันยายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


    ทัลทัลลวิมาน


    ว่าด้วยวิมานอันรุ่งเรือง

    [๓๔] (นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า)
    ท่านรุ่งเรืองด้วยวรรณะ ทั้งเป็นผู้เรืองยศ รุ่งโรจน์ล่วงเทวดาชาวดาวดึงสส์ทั้งหมดด้วยวรรณะ ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมเล่า?
    (นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า)
    พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อน ครั้งยังเป็นมนุษย์ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกับพี่ ดิฉันตายจากมนุษยโลกนั้น พ้นมาแล้วได้มาเกิดเป็นเทพธิดาร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี.
    (นางภัททาเทพธิดาจึงถามต่อไปอีกว่า)
    แน่ะ แม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพชั้นนิมมานรดีซึ่งเป็นที่ที่สัตว์ผู้ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มาก แล้วจึงได้ไปเกิด.

    เธอได้ไปเกิดในที่นั้นเพราะทำความดีอะไรไว้ และใครเป็นผู้สั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ

    ถึงยศและถึงความพิเศษไพบูลย์เช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและประพฤติวัตรอันดีเช่นไรไว้ แน่ะเทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว โปรดตอบฉันด้วยว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
    (นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า)
    เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่ แต่พระสงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลด้วยมือทั้ง ๒ ของตน เพราะบุญนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะเช่นนี้ ฯลฯ และวรรณะของดิฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
    (นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า)
    พี่มีใจเลื่อมใส ได้อังคาสพระภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน มากกว่าเธอ.

    พี่ให้ทานมากกว่าเธอแล้ว แต่กลับเกิดในเหล่าเทวดาต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อยแต่ทำไมจึงถึงความพิเศษ ไพบูลย์เช่นนี้เล่า แน่ะ เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว โปรดตอบฉันด้วยว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
    (นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า)
    เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้เจริญใจ จึงได้นิมนต์ท่านคือพระเรวตเถระรวมกับภิกษุอื่นเป็น ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร.

    ท่านเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ เพื่ออนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน

    ทักษิณานั้นจึงเป็นสังฆทาน มีผลหาประมาณมิได้ ส่วนทานที่คุณพี่ถวายในบุคคลนั้นมีผลไม่มาก.
    (นางภัททาเทพธิดาเมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่่าวว่า)
    พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก หากว่าพี่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ ถวายสังฆทานและไม่ประมาทเป็นนิตย์.

    (เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพยวิมานของตน บนสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี. ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น เมื่อนางสุภัททาเทพธิดากลับไปแล้ว จึงตรัสถามนางเทพธิดาว่า)
    แน่ะ นางภัททา เทพธิดาผู้มาสนทนากับเธอนั้นเป็นใคร ต่างมีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหมด?
    (นางภัททาเทพธิดาเมื่อจะบรรยายว่าสังฆทานที่เทพธิดาผู้น้องสาวถวายมีผลมาก จึงทูลว่า)
    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผุ้นั้น เมื่อชาติก่อน ครั้นเป็นมนุษย์อยู่ในภพมนุษย์ เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกัน เธอสั่งสมบุญคือถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้.
    (องค์อมรินทิราชเมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทาน จึงตรัสว่า)
    แน่ะนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอก็เพราะเหตุในปางก่อน ได้ถวายทักษิณาทานในสงฆ์ที่ไม่อาจจะประมาณผลได้.

    อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายว่าในบุญเขตใดจึงจะมีผลมาก

    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ ทำบุญเพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด ทำบุญในบุญเขตใดจึงจะมีผลมาก.

    พระพุทธเจ้าผู้ทรงทราบกรรมและผลแห่งกรรมด้วยพระองค์เอง ตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในบุญเขตใดที่บุคคลให้แล้วจะมีผลมากนั้นว่า

    คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าพระสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล

    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ ทำบุญเพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก.

    ด้วยว่าพระสงฆ์นี้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพศาล ประมาณไม่ได้ว่าเท่านี้้ เหมือนทะเลยากที่จะคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ พระสงฆ์เหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกผู้มีความเพียรในหมู่นรชน เป็นผู้สร้างแสงสว่าง นำเอาพระสัทธรรมมาชี้แจง.

    ปวงชนเหล่าใดถวายทานอุทิศพระสงฆ์ ทักษิณาของชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักษิณาที่ถวายดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว บูชาดีแล้ว ทักษิณาที่ตั้งมั่นเป็นไปในสงฆ์มีผลมาก อันผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญแล้ว.

    ชนผู้มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดโสมนัสกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้าเสียได้ ท่องเที่ยวไปในโลก ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน จึงเข้าถึงสถานที่อันเป็นแดนสวรรค์


    ทัลทัลลวิมานที่ ๖ จบ


    อรรถกถาทัลทัลลวิมานที่ ๖

    ทัลทัลวิมานมีคำเริ่มต้นว่า ท่านรุ่งเรืองด้วยวรรณะ (ททฺทลฺลมานา วณฺเณน.) ทัลทัลวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?

    พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี. ก็สมัยนั้น กฎุมพีคนหนึ่งเป็นอุปัฏฐากของท่านพระเรวตเถระ จากนาลกคาม มีธิดา ๒ คน. คนหนึ่งชื่อภัททา อีกคนหนึ่งชื่อสุภัททา. ในธิดา ๒ คนนั้น นางภัททาไปสู่ตระกูลสามี นางมีศรัทธาเลื่อมใส ฉลาดแต่เป็นหมัน. นางภัททาพูดกะสามีว่า "ฉันมีน้องสาวอยู่คนหนึ่ง ชื่อสุภัททา พี่ไปนำเขามาเถิด หากน้องสุภัททานั้นมีบุตร บุตรนั้นก็จะเป็นบุตรของฉันด้วย และวงศ์ตระกูลนี้ก็จะไม่สูญ." สามีรับคำแล้วได้ทำตามที่ภรรยาบอก.

    ทีนั้น นางภัททาได้สอนนางสุภัททาว่า "น้องสุภัททา น้องต้องยินดีในการแจกทาน ไม่ประมาทในการประพฤติธรรม ด้วยอาการอย่างนี้ ประโยชน์ในปัจจุบันและสัมปรายภพ ก็จะอยู่ในเงื้อมมือของน้องแน่นอน." นางสุภัททาตั้งอยู่ในโอวาทของพี่สาว ปฏิบัติตามที่พี่สาวสอน วันหนึ่ง นางนิมนต์ท่านพระเรวตเถระเป็นรูปที่ ๘. พระเถระหวังให้นางสุภัททาสร้างสมบุญ จึงพาภิกษุอีก ๗ รูปโดยเจาะจงจากสงฆ์ ไปเรือนของนาง. นางสุภัททามีจิตเลื่อมใส อังคาสท่านพระเรวตเถระและภิกษุเหล่านั้น. ด้วยของเคี้ยวของบริโภคด้วยมือของตนเอง. พระเถระทำอนุโมทนาแล้วกลับไป. ครั้นต่อมา นางสุภัททาตายแล้วไปเกิดเป็นพวกเดียวกับเทวดาชั้นนิมมานรดี. ส่วนนางภัททาได้ให้ทานในเฉพาะบุคคล จึงไปเกิดเป็นบริจาริกาของท้าวสักกะจอมเทพ.

    ครั้งนั้น สุภัททาเทพธิดาพิจารณาถึงสมบัติของตน ครุ่นคิดว่า "เรามาเกิดในสวรรค์นี้ด้วยบุญอะไรหนอ?" เห็นว่า "เราตั้งอยู่ในโอวาทของพี่ภัททา จึงประสบสมบัตินี้ด้วยทักษิณาที่มุ่งไปในสงฆ์ พี่ภัททาไปเกิดที่ไหน?" ได้เห็นนางภัททานั้นไปเกิดเป็นบริจาริกาของท้าวสักกะ หวังจะอนุเคราะห์ จึงเข้าไปยังวิมานของภัททาเทพธิดา.

    ภัททาเทพธิดาถามสุภัททาเทพธิดา ด้วยคาถา ๒ คาถา ว่า
    ท่านรุ่งเรืองด้วยวรรณะ ทั้งเป็นผู้เรืองยศ รุ่งโรจน์ล่วงเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยวรรณะ ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมเล่า?
    นางสุภัททาเทพธิดาจึงบอกแก่นางภัททาเทพธิดา ด้วยคาถา ๒ คาถาว่า
    พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อน ครั้งยังเป็นมนุษย์ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกับพี่ ดิฉันตายจากมนุษยโลกนั้นพ้นมาแล้ว ได้มาเกิดเป็นเทพธิดาร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี.

    ในคำเหล่านั้น คำว่า ด้วยวรรณะ (วณฺเณน) ได้แก่ สมบัติมีวรรณะเป็นต้น.
    คำว่า ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน (ทสฺสนํ นาภิชานามิ) ได้แก่ ดิฉันไม่เคยเห็นท่านมาก่อนแต่นี้. อธิบายว่า ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน. ดังที่ภัททาเทพธิดากล่าวว่า เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก (อิทํ ปฐมทสฺสนํ).
    ข้อว่า ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมเล่า (กสฺมา กายา นุ อาคมฺม นาเมน ภาสเส มมํ) ความว่า ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงเรียกดิฉันในนามว่า ภัททา.

    คำว่า พี่ภัททา (ภทฺเท) ในคำว่า อหํ ภทฺเท นี้เป็นอาสปนะ.
    คำว่า ชื่อว่าสุภัททา (สุภทฺทาสึ) ความว่า ดิฉันชื่อว่า สุภัททาเคยเป็นน้องสาวของท่าน. อธิบายว่า ในภพครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ น้องเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกันกับพี่ คือเป็นภรรยามีสามีคนเดียวกัน.

    ภัททาเทพธิดาถามต่อไปด้วยคาถา ๓ คาถาว่า
    แน่ะ แม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพชั้นนิมมานรดีซึ่งเป็นที่สัตว์ผู้ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มาก แล้วจึงได้ไปเกิด.
    เธอได้ไปเกิดในที่นั้นเพราะทำความดีอะไรไว้ และใครเป็นผู้สั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ.
    ถึงยศและถึงความพิเศษไพบูลย์เช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและประพฤติวัตรอันดีเช่นไรไว้ แน่ะเทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว โปรดตอบฉันด้วยว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
    สุภัททาเทพธิดาตอบว่า
    เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่ แด่พระสงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลด้วยมือทั้ง ๒ ของตน เพราะบุญนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะเช่นนี้ ฯลฯ และวรรณะของดิฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
    ในคำเหล่านั้น คำว่า ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ที่สัตว์ผู้ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้ไปเกิด (ปหูตกตกลฺยาณา เต เทเวยนฺติ) ความว่า สัตว์ทั้งหลาย (ไขคำ ปาณิโน = สตฺตา) สั่งสมบุญกุศลไว้มาก คือมีบุญมาก จึงได้ไปเกิด คือไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี. เชื่อมความว่า เธอจงบอกกล่าวการอุบัติของตนในระหว่างเทวดาเหล่านิมมานรดีทั้งหลายใด.

    คำว่า เพราะทำความดีอะไรไว้ (เกน วณฺเณน) ได้แก่ เพราะเหตุอะไร. เอว ศัพท์ในคำว่า กีทิเสเนว เป็นสมุจจยัตถะ (รวมข้อความเท่ากับ จศัพท์). ได้แก่ และ...เช่นไร (กีทิเสเน จ). บาลีเป็น กีทีเสน จ ก็มี.
    คำว่า ประพฤติวัตรอันดี (สุพฺพเตน) ได้แก่ มีวัตรงาม. อธิบายว่า มีศีลบริสุทธิ์เป็นอย่างดี.

    คำว่า บิณฑบาต ๘ ที่ (อฏฺเฐว ปิณฺฑปาตานิ) สุภัททาเทพธิดากล่าวหมายถึงบิณฑบาตที่ถวายแก่ภิกษุ ๘ รูป. คำว่า อททํ เท่ากับ อทาสึ (ได้ถวาย).

    เมื่อสุภัททาเทพธิดาบอกอย่างนี้แล้ว ภัททาเทพธิดาจึงถามต่อไปว่า พี่มีใจเลื่อมใส ได้อังคาสพระภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือทั้ง ๒ ของตนมากกว่าเธอ.

    พี่ให้ทานมากกว่าเธอแล้ว แต่กลับเกิดในเหล่าเทวดาต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย แต่ทำไมจึงถึงความพิเศษ ไพบูลย์เช่นนี้เล่า แน่ะเทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว โปรดตอบฉันด้วยว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร?

    ในคำเหล่านั้น คำว่า ตยา(กว่าเธอ) เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถปัญจมีวิภัตติ.
    สุภัททาเทพธิดาได้บอกถึงกรรมที่ตนทำต่อไปว่า
    เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้เจริญใจ จึงได้นิมนต์ท่านคือพระเรวตเถระรวมกับภิกษุอื่นเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร.

    ท่านเรวตะเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ เพื่ออนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน.

    ทักษิณานั้นจึงเป็นสังฆทาน มีผลหาประมาณมิได้ ส่วนทานที่คุณพี่ถวายในบุคคลนั้นมีผลไม่มาก.
    ในคำเหล่านั้น คำว่า ผู้เจริญใจ (มโนภาวนีโย) ได้แก่ ยังใจให้เจริญ คือน่าชื่นใจเพราะมีคุณยิ่งใหญ่.
    คำว่า ได้เห็น (สนฺทิฏฺโฐ) ได้แก่ ให้รู้ คือบอกกล่าวด้วยการนิมนต์. ด้วยเหตุนั้น สุภัททาเทพธิดาจึงกล่าวว่า จึงได้นิมนต์ท่านพระเรวตเถระรวมกับภิกษุอื่นเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร (ตาหํ ภตฺเตน นิมนฺเตสึ เรวตํ อตฺตนฏฺฐมํํ) ความว่า ดิฉันนิมนต์พระคุณเจ้าเรวตเถระผู้เจริญใจนั้น รวมท่านด้วยเป็น ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร.

    ข้อว่า ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์เพื่ออนุเคราะห์แก่ดิฉัน (โส เม อตฺถปุเรกฺขโร) ความว่า พระคุณเจ้าเรวตะนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ คือแสวงหาประโยชน์เพื่อดิฉัน โดยการทำทานที่่มีผลมาก.
    ข้อว่า จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด (สงฺเฆ เทหีตํ มํ อโวจ) ความว่า พระคุณเจ้าเรวตเถระได้บอกดิฉันว่า "สุภัททา หากว่าท่านประสงค์จะถวายทานแก่ภิกษุ ๘ รูปไซร้ ก็จงถวายในสงฆ์เถิด คือจงถวายเจาะจงสงฆ์เถิด เพราะการถวายทานที่เป็นไปในสงฆ์มีผลมากกว่าการถวายทานที่เป็นไปในบุคคล" คำว่า ตํ คือ ท่านนั้น.

    เมื่อสุภัททาเทพธิดากล่าวอย่างนี้แล้ว ภัททาเทพธิดาเมื่อจะรับรองความข้อนั้น และประสงค์จะปฏิบัติอย่างนั้นในเวลาต่อไป จึงกล่าวคาถาว่า
    พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก หากพี่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ ถวายสังฆทานและไม่ประมาทเป็นนิตย์.
    ส่วนสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่เทวโลกของตน. ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทอดพระเนตรเห็นสุภัททาเทพธิดารุ่งเรือง ครอบงำทวยเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมีแห่งสรีระ และทรงสดับการสนทนาของเทพธิดาทั้ง ๒ เมื่อสุภัททาเทพธิดาหายไปในทันทีทันใด เมื่อไม่รู้จักชื่อ จึงตรัสถามภัททาเทพธิดาว่า
    แน่ะนางภัททา เทพธิดาผู้มาสนทนากับเธอนั้นเป็นใคร ช่างมีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหมดด้วย?
    นางภัททาเทพธิดาจึงทูลแต่ท้าวสักกะว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้น เมื่อชาติก่อนครั้งเป็นมนุษย์อยู่ในภพมนุษย์ เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกัน เธอสั่งสมบุญคือถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์อย่างนี้.
    ครั้งนั้น ท้าวสักกะเมื่อจะสรรเสริญความที่สังฆทานมีผลมาก จึงตรัสว่า
    แน่ะ นางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอก็เพราะเหตุในปางก่อน ได้ถวายทักษิณาทานในสงฆ์ที่ไม่อาจจะประมาณผลได้.

    อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายว่าในบุญเขตใดจึงจะมีผลมาก

    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ ทำบุญเพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด ทำบุญในบุญเขตใดจึงจะมีผลมาก.

    พระพุทธเจ้าผู้ทรงทราบกรรมและผลแห่งกรรมด้วยพระองค์เอง ตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในบุญเขตใดที่บุคคลให้แล้วจะมีผลมากนั้นว่า

    คือท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าพระสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล

    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ ทำบุญเพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก.

    ด้วยว่าพระสงฆ์นี้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพศาล ประมาณไม่ได้ว่าเท่านี้ เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ พระสงฆ์เหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกผู้มีความเพียรในหมู่นรชน เป็นผู้สร้างแสงสว่างนำเอาพระสัทธรรมมาชี้แจง.

    ปวงชนเหล่าใดถวายทานอุทิศพระสงฆ์ ทักษิณาของชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักษิณาที่ถวายดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว บูชาดีแล้ว ทักษิณาที่ตั้งมั่นเป็นไปในสงฆ์มีผลมาก อันผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญแล้ว.

    ชนผู้มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดโสมนัสกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้าเสียได้ ท่องเที่ยวไปในโลก ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน จึงเข้าถึงสถานที่อันเป็นแดนสวรรค์.

    ในคำเหล่านั้น คำว่า เพราะเหตุ (ธมฺเมน) ได้แก่ โดยเหตุหรือโดยความถูกต้อง.
    คำว่า ตยา (กว่าเธอ) เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งปัจมีวิภัตติ. บัดนี้ ท้าวสักกะเพื่อจะทรงแสดงถึงเหตุที่กล่าวว่า เพราะเหตุ (ธมฺเมน) นั้นจึงตรัสว่า ได้ถวายทักษิณาทานในสงฆที่ไม่อาจจะประมาณผลได้ (ยํ สงฺฆสฺมึ อปฺปเมยฺเย ปติฏฺฐาเปสิ ทกฺขิณํ).
    คำว่า ที่ไม่อาจจะประมาณผลได้ (อปฺปเมยฺเย) ได้แก่ ที่ไม่อาจคาดคะเนด้วยอำนาจแห่งคุณานุภาพ และผลอันวิเศษแห่งสักการะที่ถวายในตนได้.

    ท้าวสักกะเมื่อจะทรงแสดงว่า "เราสดับความนี้เฉพาะพระพักตร์และรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า" จึงตรัสคำว่า อันที่ฉันได้ทูลถาม เป็นต้น. ในคำเหล่านั้น คำว่า ให้ทานอยู่ (ยชมานานํ) ได้แก่ ให้อยู่. ท่านทำการลบนิคหิตใคำว่า ปุญฺญเปกฺขานปานินํ มีความหมายว่า ของสัตว์ทั้งหลายผู้หวังผลแห่งบุญ. ในคำว่า ที่เป็นประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด (โอปธิกํ) ขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่า อุปธิ. ชื่อว่า โอปธิกะ เพราะสร้างขันธ์ทั้งหลายเป็นปกติ หรือขวนขวายให้เกิดขันธ์ ได้แก่ให้เกิดอัตภาพ คือให้วิบากอันเป็นไปในปฏิสนธิ.

    คำว่า ผู้ทรงทราบกรรมและผลแห่งกรรมด้วยพระองค์เอง (ชานํ กม์มผลํ สกํ) ได้แก่ ทรงรู้บุญและผลแห่งบุญของสัตว์ทั้งหลายด้วยพระองค์เอง ดุจมะขามป้อมบนฝ่าพระหัตถ์. หรือคำว่า สกํ (ด้วยพระองค์เอง) ท่านแผลง อักษร เป็น อักษร. อธิบายว่า ด้วยพระองค์เอง.

    คำว่า ท่านผู้ปฏิบัติ (ปฏิปนฺนา) ได้แก่ ปฏิบัติอยู่. อธิบายว่า ตั้งอยู่ในมรรค. คำว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรง (อุชุภูโต) ได้แก่ ทักขิไณยบุคคลผู้ถึงความเป็นผู้ตรงด้วยการปฏิบัติตรง. คำว่า ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล (ปญฺญาสีลสมาหิโต) ได้แก่ ตั้งมั่นแล้วด้วยปัญญาและศีล. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิและศีล คือประกอบแล้วด้วยอริยทิฏฐิและด้วยอริยศีล. ท่านชี้ถึงความเป็นสงฆ์ชั้นเยี่ยมของผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิและศีลนั้น ด้วยคำว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรง นั้น. ก็ชื่อว่า สงฆ์ เพราะสืบต่อกันมาด้วยทิฏฐิและศีลเสมอกัน. อีกอย่างหนึ่ง จิตตั้งมั่นแล้ว เป็นสมาธิ. ชื่อว่า ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เพราะมีปัญญา ศีล และสมาธิ. ท่านชี้ถึงความเป็นทักขิไณยบุคคลของสงฆ์นั้น เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยไตรสิกขา มีศีลสิกขาเป็นต้น ด้วยคำว่า ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล นั้น.

    คำว่า เป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ (วิปุโล มหคฺคโต) ได้แก่ ชื่อว่า ยิ่งใหญ่ เพราะพระสงฆ์ถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณทั้งหลาย. ชื่อว่า ไพบูลย์ เพราะเป็นเหตุให้สักการะที่ถวายทานในทานมีผลไพบูลย์. คำว่า เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ (อุทธีว สาคโร) ความว่า พระสงฆ์นั้นว่าโดยคุณหาอะไรเปรียบมิได้ เหมือนอย่างสาครมีชื่อว่ ทะเล (อุทธิ) เพราะเป็นที่ทรงน้ำไว้ นับจำนวนน้ำไม่ได้ว่ามีเท่านี้ๆ อาฬหกะ. หิศัพท์ในคำว่า เอเต หิ เป็นนิบาตใช้ในอรรถห้ามเนื้อความอื่น. มีความหมายเท่ากับ เอเต เอว เสฏฺฐา (พระสงฆ์เหล่านี้เท่านั้นเป็นผุ้ประเสริฐที่สุด). สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย หมู่ก็ดี คณะก็ดี เรากล่าวว่า สงฆ์ผู้เป็นสาวกของตถาคต เป็นผู้เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น. คำว่า เป็นสาวกผู้มีความเพียรในหมู่นรชน (นรวีรสาวกา) ได้แก่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรในหมู่นรชนทั้งหลาย. คำว่า เป็นผู้สร้างแสงสว่าง (ปภงฺกรา) ได้แก่ ทำแสงสว่างคือญาณแก่ชาวโลก. คำว่า นำเอาพระสัทธรรมมาชี้แจง (ธมฺมมุทีรยนฺติ) ได้แก่แสดงธรรม . ถามว่า อย่างไร? ตอบว่า อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงประดิษฐานแสงสว่างแห่งพระธรรมไว้แล้วในอริยสงฆ์.

    ข้อว่า ปวงชนเหล่าใดถวายทานอุทิศสงฆ์ (เย สงฺฆมุทฺทิสฺส ทานฺติ ทานํ) ความว่า สัตว์เหล่าใดถวายทานมุ่งต่ออริยสงฆ์ ในสมมติสงฆ์ แม้โดยที่สุดโคตรภูสงฆ์ เป็นอันว่าสัตว์เหล่านั้นถวายจัดแจงทานดีแล้ว. แม้การบูชาด้วยความเคารพและต้อนรับ ก็เป็นการบูชาดีแล้ว แม้บูชาด้วยเครื่องบูชาใหญ่ก็เป็นการบูชาดีแล้วเหมือนกัน. ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะทักษิณานั้นจัดเป็นสังฆทานมีผลมาก อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว. อธิบายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญยกย่องชมเชยถึงทานที่มีผลมากกว่าโดยนัยมีอาทิว่า
    "อานนท์ เราไม่กล่าวว่า ปกฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าสังฆทานด้วยปริยายอะไรๆ เลย" และว่า
    "สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ พระสงฆ์นั้นแลเป็นประมุขของผู้บูชา" และว่า "พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของเทวโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอันยิ่งกว่า."

    คำว่า ผู้มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ (เอตาทิสํ ปุญญมนุสฺสรนฺตา) ความว่า ระลึกถึงทานที่ตนทำมุ่งสงฆ์เช่นนี้. คำว่า เกิดโสมนัส (เวทชาตา) ได้แก่ มีโสมนัสเกิดแล้ว.

    ข้อว่า กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้าเสียได้ (วิเนยฺย มจฺเฉรมลํ สมูลํ) ความว่า ความตระหนี่ชื่อว่าเป็นมลทินเพราะทำจิตให้เศร้าหมอง. อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ด้วย มลทินมีริษยาโลภะและโทสะเป็นต้นด้วย ชื่อว่า มลทินคือความตระหนี่. มีคำประกอบความว่า กำจัด คือนำออก ได้แก่ ข่มมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้า เพราะมีทั้งรากเหง้า เช่นความไม่รู้ ความสงสัย และความวิปลาสเป็นต้นเสียได้ เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

    ก็ท้าวสักกะจอมเทพทรงบอกความเป็นไปทั้งหมดนี้ แก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เริ่มแต่คำว่า ท่านรุ่งเรืองด้วยวรรณะ. ท่านมหาโมคคัลลานะ (นำมา) กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำข้อนั้นที่เป็นเหตุเกิดแล้วทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ด้วยประการฉะนี้.

    อรรถกถาทัลทัลลวิมานที่ ๖ จบ


    พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล
    พระสุตตันตปิฎก
    ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
    ปาริฉัตตกวรรค ทัลทัลวิมานที่ ๖

    หน้า ๒๕๙-๒๗๒

    ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย
    เล่มที่ ๔๘

     
  2. crabhom

    crabhom เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2009
    โพสต์:
    72
    ค่าพลัง:
    +203
    เคยอ่านมาบ้างแล้วค่ะ
    ถวาย "สังฆทาน"กันนะค่ะ....สิ่งร้ายๆ..กรรมจะได้เบาบางลงค่ะ

    "อนุโมทนา" นะค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...