เรื่องเด่น แนะนำวิธีสนทนาธรรมต่อกันให้เกิดบุญ

ในห้อง 'ธรรมทาน - วิทยาทาน' ตั้งกระทู้โดย :::เพชร:::, 12 กุมภาพันธ์ 2008.

  1. :::เพชร:::

    :::เพชร::: เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    8,584
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +36,137
    แนะนำวิธีสนทนาธรรมต่อกันให้เกิดบุญ

    สนทนาธรรมตามกาล

    การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดด้วยจิตเมตตา เป็นที่มาแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิชาการทางโลกฉันใด การสนทนาธรรมตามกาลด้วยความเคารพในธรรม ก็ย่อมนำมาซึ่งสติปัญญาอันเป็นหนทางเพื่อความพ้นทุกข์ฉันนั้น

    ทำไมจึงต้องสนทนาธรรมตามกาล ?

    "ปญฺญา นารนํ รตนํ
    ปัญญาเป็นรัตนะของคน"

    นี่คือพุทธพจนะที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่า ของปัญญา เพราะชีวิตคนนั้นมีปัญหามาก ปัญหาเหล่า นั้นล้วนต้องแก้ด้วยปัญญา ใครมีมากก็เหมือนมี แก้วสารพัดนึกไว้ในตัว ย่อมสามารถฝ่าฟันอุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ ได้โดยง่าย

    ปัญญาเกิดได้จาก 2 เหตุคือ

    1. จากการฟังธรรมของกัลยาณมิตร ผู้มีปัญญารู้จริง
    2. จากการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย


    วิธีลัดที่จะทำให้เกิดปัญญาอย่างรวด เร็ว คือ การสนทนาธรรมตามกาล ซึ่งเป็นการบังคับให้ ตนเองต้องทั้งฟังทั้งพูด ต้องเป็นนักฟังที่ ดี ฟังผู้อื่นพูดด้วยความตั้งใจ ฟังแล้วก็ต้อง พิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายตามไปทันที สงสัยอะไร ก็สามารถซักถามได้ นอกจากนั้นถ้าตนเองมี ความรู้ในธรรมะเรื่องใดก็นำมาพูดเล่าสู่ ให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย


    แต่ทั้งหมดนี้จะต้องทำอย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ

    สนทนาธรรมตามกาลคืออะไร ?

    การสนทนาธรรมตามกาล คือการพูดคุยซัก ถามธรรมะซึ่งกันและกัน ระหว่างคน 2 คนขึ้นไป มี วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดปัญญาโดยรู้จักเลือกและ แบ่งเวลาให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้รับความ เบิกบานใจ มีความสุขความเจริญและบุญกุศล ไปในตัวด้วย

    ในพระพุทธศาสนา คำว่า " ธรรม " มีความ หมายกว้าง ๆ อยู่ 2 ประการ คือ

    ธรรมหมายถึงความจริงตามธรรมชาติ เช่น คนเราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย นี่เป็นธรรม คือความเป็นจริงตามธรรมชาติ

    ธรรมหมายถึงความดีถูกต้อง เช่น การให้ทานเป็นความดี การรักษาศีล มีเมตตา กรุณา เป็นความดี ความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่เป็นความดี ใครปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าปฏิบัติธรรม

    การสนทนาธรรมที่ถูกต้อง จึงหมายถึง การสนทนา ให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศลธรรมความชั่ว จะได้ ละเว้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลธรรมความดี จะได้ ตั้งใจทำให้มาก และสิ่งใดเป็นอัพยากตธรรม คือ ความจริงตาม ธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็รู้เท่าทันทุกประการ จะ ได้ไม่หลงเข้าใจผิดให้เกิดทุกข์


    ความยากในการสนทนาธรรม?

    การสนทนาธรรม หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า " คุยธรรมะ " นั้นดูเผิน ๆ ก็ไม่น่ายาก ก็เหมือนคนมาคุยเป็น เรื่องกันตามธรรมดานั้นแหละ เราก็คุยกันออก บ่อยไป เพียงแต่เรื่องที่คุยกันเป็นเรื่องธรรมะเท่า นั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ดูเบาในการ สนทนาธรรม พูดคุยธรรมะกันได้ไม่นานก็มักมี เรื่องวงแตก กันอยู่บ่อย ๆ พ่อลูกนั่งดื่มเหล้าคุยธรรมะ กัน พ่อบอกกินยาถ่ายพยาธิไม่บาป เพราะไม่เจตนา ฆ่า ลูกบอกบาปเพราะรู้ว่ามันจะต้องตายก็ ยังไปกินยาถ่าย เถียงกันไปเถียงกันมาไม่ กี่คำ พ่อคว้าปืนลูกซองไล่ยิงเสียรอบบ้าน อย่างนี้ก็มี นี่ก็เพราะดูเบาในการสนทนาธรรม ความยากในการสนทนาธรรมนั้นเป็นเพราะ

    คู่สนทนาต้องพูดธรรมะเป็น คือ เมื่อเข้าใจอย่างไรแล้วก็สามารถถ้ายทอดเป็นคำพูดให้เขาเข้าใจตามนั้นได้ด้วย โดยยึดหลักการพูดในมงคลที่ 10 มีวาจาสุภาษิต เป็นบรรทัดฐาน จะได้ไม่เกิดการแตกร้าวเข้าใจผิดแก่ผู้ฟังคือ


    เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง
    เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องมีประโยชน์
    ต้องพูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
    ต้องพูดถูกกาลเทศะ
    ต้องพูดด้วยจิตเมตตา


    การพูดธรรมะนั้นจะต้องยึดเอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่พูดเอาความถูกใจคน ส่วนมากในโลกนี้ชอบให้เขาชม แต่ว่าสนทนาธรรมกันแล้วมัวไปนั่งชมอยู่อย่างเดียว " คุณก็เก่ง ฉันก็เก่ง " เดี๋ยวก็ได้บ้ากันทั้งคู่ แต่ก็ไม่ใช่มานั่งติอย่างเดียว " คุณนิสัยอันโน้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี " คนเรายังไม่หมด กิเลสเดี๋ยวก็ทนกันไม่ได้ ยิ่งถ้าแถมมีการยกตนข่มท่านเข้าไปอีก หรือไม่ก็ยกสำนักมาอวดกัน "ถึงฉันไม่เก่ง อาจารย์ฉันก็เก่งนะ" อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวก็ผูกใจเจ็บกัน สนทนาธรรมไปได้ 2-3 คำ จะกลายเป็นสนทนากรรมไป จะต้องมีความพอเหมาะพอดี รู้จักใช้วาจาสุภาษิต

    คู่สนทนาต้องฟังธรรมเป็น การฟังธรรมนี่ดูเผิน ๆ เหมือนจะง่าย ถึงเวลาก็แค่ไปนั่งไม่เห็นจะมีอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วการฟังธรรมะที่ถูกต้อง คือการฟังด้วยความพิจารณา แต่การรู้จักควบคุมจิตใจให้พิจารณาตามธรรม หยิบยกเอาประโยชน์จากการฟังนั้นยาก ยากกว่าการพูดธรรมะให้คนอื่นฟังหลายเท่า

    ที่ว่ายากนั้นเพราะ ยากที่จะควบคุมใจให้อยากฟังธรรมะ เพราะการฟังธรรมนั้นไม่สนุกเหมือนการฟังละคร ฟังเพลง ถ้าไม่รู้จักควบคุมตนเอง ฟังไปได้สักนิด หนังตาก็เริ่มหนัก พาลจะหลับเอา หรือไม่อย่างนั้นก็ นั่งใจลอย คิดไปถึงเรื่องอื่น มีผู้เปรียบว่าการควบคุมใจให้อยากฟังธรรมะนั้น ยังยากกว่าคุมลิงให้นั่งนิ่ง ๆ เสียอีก

    ยากที่จะยอมรับธรรมะที่ได้ยินนั้นเขาไปสู่ใจทั้งนี้ก็เพราะกิเลสต่าง ๆ ในตัวเรา เช่น ความหัวดื้อ ความถือตัว ความเห็นผิด ฯลฯ มันคอยต่อต้านธรรมะไว้ พอเรื่องธรรมะที่ได้ฟังขัดกับความเคยชินประจำตัว เช่น ฟังว่าต้องมีวินัยให้ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ฟังแล้วก็เริ่มขัดใจ เพราะมันขัดกันกับความเคยชินของตัวเอง ขัดกับกิเลสในตัว เลยไม่ค่อยจะยอมรับ มันนึกค้านในใจ

    ผู้ที่จะฟังธรรมเป็นนั้น จะต้องหมั่น ฟังธรรมบ่อย ๆ จนเคยชิน ฝึกเป็นคนมีความเคารพ มองคนอื่นในแง่ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ ถือตัว มีความสันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม รู้จักพอ รู้ จักประมาณ และมีความกตัญญู รู้อุปการคุณที่ท่าน ทำแล้วแก่ตน จะทำให้มีอัธยาศัยใฝ่ธรรม ฟัง ธรรมเป็น สามารถรองรับธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนั้น ได้

    คู่สนทนาต้องสนทนาธรรมเป็น คือ ต้องทั้งฟังด้วย และพูดด้วยในเวลาเดียวกัน เขาพูดเราฟัง เราพูดเขาฟัง บางอย่างเราไม่อยากจะพูด แต่เมื่อเขาพูดเราก็จำต้องฟัง บางอย่างเราอยากจะพูด แต่ไม่มีจังหวะที่จะพูด ก็จำต้องระงับใจไว้ไม่พูด เมื่อตอนสอนคนอื่นเขาไม่มีใครค้านสักคำ นิ่งฟัง ยอมเราหมด

    แต่ตอนสนทนาธรรม เราจะต้องลดตัวลงมาอยู่ในฐานะเป็นทั้งคนพูดทั้งคนฟัง ถ้าพูดถูกเขาก็ชม พูดผิดเขาก็ค้าน อาจถูกติ ถูกขัด ถูกแขวะ ถูกชม ถูกค้าน ได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้แหละที่ยั่วกิเลสนักหนา ถ้าไม่ควบคุมใจให้ดี กิเลสมันก็คอยจะออกมาจุ้นจ้านให้ได้ ขึ้นต้นคนกับคนคุยธรรมะกัน ไปได้ไม่กี่น้ำ กิเลสกับกิเลสมันออกมาโต้กันให้ยุ่งไปหมด


    ผู้ที่สนทนาธรรมได้ จึงต้องฝึกขันติจน มีความอดทนต่อการถูกติเป็นเลิศ ทนคำ พูดที่ไม่ชอบใจได้ทั้งจากคนที่สูง กว่า และที่ต่ำกว่า มีความว่าง่ายสอนง่ายในตัว และต้อง เลือกคู่สนทนาเป็นคือ ต้องเป็นคนประเภทสมณะใฝ่ สงบด้วยกัน

    มีผู้อุปมาไว้ว่า การพูดธรรมะให้คน อื่นฟังก็เหมือนชกลม ชกจนหมดแรงก็ไม่เจ็บสักนิด ทีนี้การฟัง ธรรมที่คนอื่นพูด เหมือนการชกกระสอบทราย คือ ชก ไปก็รู้สึกว่าเจ็บมือมาบ้าง ฟังเขาพูดก็ เหมือนกัน ใจเราสะเทือนบ้าง แต่การสนทนาธรรมนั้น เหมือนการขึ้นชกบนเวทีจริง ๆ เราชกเขา เขาชกเรา ชกกันไปชกกันมา ถูกล่อถูกหลอก ถูกกวนใจ ตลอดเวลา ถ้าไม่ระวังให้ดี อาจทนไม่ได้โกรธขึ้น มาตนเองกลายเป็นคนพาลไป

    ข้อควรปฏิบัติในการสนทนาธรรม?

    ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อนถ้าเป็นฆราวาสต้องรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ หรือถ้ารักษาศีล 8 มาล่วงหน้าสัก 7 วัน ก่อนสนทนาได้ยิ่งดี ไม่ใช่เพิ่งสร่างเมาแล้วมาคุยธรรมะกันหรือว่ากินเหล้าไปก็คุยธรรมะไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้

    ต้องหมั่นเจริญภาวนาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสนทนาธรรมถ้าได้ทำสมาธิก่อนจะดีมาก เพราะใจจะผ่องใสดี ทำสมาธิเหมือนอย่างกับว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวของเราเป็นก้อนธรรมทั้งก้อน ให้ตัวเป็นธรรมใจเป็นธรรมเสียก่อนแล้วจึงมาสนทนาธรรมกัน

    แต่งกายสุภาพ ทีแรกเราชำระศีลให้บริสุทธิ์นั้นกายกับวาจาเป็นธรรมแล้ว พอเราทำสมาธิบ่อย ๆ เข้า ใจของเราก็เป็นธรรมด้วย ถึงเวลาจะสนทนา ก็ต้องแต่งกายให้สุภาพ ให้เครื่องประกอบกายของเราก็เป็นธรรมด้วย ไม่ใช้เสื้อผ้าสีบาดตา แบบก็สุภาพ สะอาด ถ้าเป็นชุดขาวได้จะดีมาก

    กิริยาสุภาพ คือ ยืน จะเดิน จะนั่ง ให้เรียบร้อย หนักแน่น สงบเสงี่ยม สำรวม มีกิริยาเป็นธรรม ไม่ให้กิริยาของเราทำให้ผู้อื่นขุ่นใจ เช่น เดินลงส้นเท้าปัง ๆ

    วาจาสุภาพ คือ มีวาจาสุภาษิตดังได้กล่าวมาแล้ว ไม่พูดเสียงดัง ไม่สรวลเสเฮฮา ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่รู้บอกว่าไม่รู้ ควรชมก็ชม ควรติก็ติ แต่ไม่ด่า

    ไม่กล่าวค้านพุทธพจน์ หรือปฏิเสธอรรถกถาฎีกา โดยเด็ดขาด เพราะพุทธพจน์คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยเนื้อแท้แล้วย่อมถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ อรรถกถาหรือฎีกาเกือบทั้งหมดก็ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่า สติปัญญาของเรามีพอจะไตร่ตรองตามท่านหรือไม่ ถ้าเราไปกล่าวค้าน หรือปฏิเสธโดยเด็ดขาดไว้แล้ว ประการแรก ก็ไม่รู้ว่าจะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน ประการที่ 2 หากคู่สนทนาอธิบายหรือชี้แจงถึงเหตุผลที่ให้เราฟัง แม้เราจะเข้าใจก็อาจไม่ยอมรับเพราะกลัวเสียหน้า มีทิฐิ ทำให้เกิดการวิวาทบาดหมางใจกันได้ ดังนั้น สำหรับอรรถกถา หรือฎีกา เมื่อไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรแสดงเพียงแต่ว่ารู้สึกสงสัย หรือแสดงความเห็นของตนว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่า พร้อมทั้งขอความคิดเห็นจากคู่สนทนา

    ไม่พูดวาจาทำให้เกิดความแตกร้าว ไม่ใช้คำพูดก้าวร้าว รุนแรง แต่ใช้วาจาที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ประสานน้ำใจ

    ไม่แสดงอารมณ์โกรธเมื่อถูกขัดแย้ง เราพูดอะไรไปถ้าเขาเย้ามา อย่าเพิ่งโกรธ ให้พิจารณาไตร่ตรองดูโดยแยบคาย เพราะบางทีเราอาจจะมองข้ามอะไรบางอย่างไป เรื่องบางเรื่องอาจถูกในที่หนึ่ง แต่ผิดในอีกที่หนึ่ง ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ถ้าเราด่วนโกรธเสียก่อนแล้ว ความคิดที่จะไตร่ตรองตามก็ไม่มี ปัญญาของเราจะถูกความโกรธปิดบังหมด

    ไม่ปรารถนาลามก คิดที่จะให้ตนมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดัง ตั้งใจจะฉีกหน้าผู้อื่นเพื่อให้ตนดัง ถ้าวันไหนจะไปสนทนาธรรม แล้วเกิดมีความรู้สึกอยากจะไปฉีกหน้าใคร วันนั้นนอนอยู่บ้านดีกว่า มันไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว อย่าไปแกว่งปากหานรกเลย

    ตั้งจิตไว้ว่าจะสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา จะเอาความรู้เราไปต่อเอาความรู้คนอื่นมา ไม่ใช่ไปเพื่ออวดรู้ แต่จะไปแลกเปลี่ยนความรู้กัน

    ไม่พูดออกนอกเรื่องที่ตั้งประเด็นไว้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอวดดี หรือนินทาคนอื่นไป เช่น พูดเรื่องบาป พูดไปพูดมา กลายเป็นว่า "ฉันน่ะไปทำทานไว้ที่นั่นที่นี่" กลายเป็นว่าอวดว่าฉันใจบุญนะ หรือพูดเรื่องทาน พูดไปพูดมากลายเป็นว่า "อุ๊ย! แม่คนนั้นนะขี้เหนียว อีตาเศรษฐีคนนั้นก็ขี้เหนียว" ถามว่าใครดี "ฉัน ฉัน" อย่างนี้ใช้ไม่ได้

    ไม่พูดนานไปจนน่าเบื่อ รู้จักกาลเทศะ

    วิธีสนทนาธรรม

    โดยสรุป หลักในการสนทนาธรรมรวมได้เป็น 3 ประการคือ

    1.สนทนาธรรมในธรรม คือ เรื่องที่จะสนทนากันต้องเป็นเรื่องธรรมะ ให้อยู่ในวงธรรมะ อย่าอกนอกวง เช่นถ้าพูดถึงการทำความดีก็ให้สุดแค่ทำดี อย่าให้เลยไปถึงอวดดี ถ้าจะพูดถึงเรื่องการป้องกันไม่ให้ทำความชั่ว ก็ให้สุดแค่ป้องกันการทำชั่ว อย่าให้เลยไปถึงนินทาคนอื่น

    2.สนทนาธรรมด้วยธรรม คือ ผู้ที่สนทนากันจะต้องไม่แสดงกิริยาวาจาให้ผิดธรรมะ เช่น ทางกายก็มีการเคารพกันโดยฐานะรูป ควรไหว้ก็ไหว้ ควรกราบก็กราบ อย่าคิดทะนงตัวด้วยเหตุคิดว่ามีความรู้มากกว่าเขา ในทางวาจาก็ใช้ถ้อยคำสุภาพเรียบร้อย เป็นวาจาสุภาษิต ถ้าฝ่ายหนึ่งถูกก็ชม ถ้าฝ่ายผิดก็ทักโดยสุภาพ ไม่กล่าววาจาเหน็บแนมล่วงเกิน และถ้าพลาดพลั้งก็ขอโทษ ไม่ใช่สนทนากันด้วยกิเลส หรือปล่อยกิเลสออกมาโต้กันดังได้กล่าวมาแล้ว

    3.สนทนาเพื่อธรรม คือ ผู้สนทนาต้องตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในใจของตนให้แน่นอนว่า เราจะหาความรู้ความเข้าใจในธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่จะอวดรู้หรืออวดธรรมะ แม้บางจังหวะเราเป็นผู้แสดงความรู้ออกไป ก็คิดว่าเราจะเอาความรู้ของเราไปต่อเอาความรู้ของผู้อื่นเข้ามา มิใช่เพื่ออวดรู้


    วิธีเลือกคู่สนทนาธรรม

    หลักในการเลือกคู่สนทนาธรรมมีอยู่ 2 ประการคือ

    1.คู่สนทนาต้องมีอัธยาศัยใฝ่ธรรม และสงบเสงี่ยมเยี่ยงสมณะ แม้เป็นฆราวาสก็เป็นคนรักสงบ ไม่เป็นคนชอบอวดภูมิ ชอบโม้

    2.เรื่องที่จะสนทนาต้องเหมาะกับบุคคลนั้น ๆ เช่น คุยเรื่องพระวินัยกับผู้เชี่ยวชาญพระวินัย คุยเรื่องชาดกกับผู้เชี่ยวชาญชาดก จะสนทนาเรื่องสมาธิก็เลือกสนทนากับผู้ที่เขาฝึกสมาธิมาแล้วอย่างจริงจัง เป็นต้น
    อานิสงส์การสนทนาธรรมตามกาล


    อานิสงส์การสนทนาธรรมตามกาล


    ทำให้จิตเป็นกุศล

    ทำให้มีไหวพริบปฏิภาณดี

    ทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

    ทำให้ได้ยินได้ฟังธรรมะที่ตนยังไม่ได้ฟัง

    ธรรมที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจชัดขึ้น

    ทำให้บรรเทาความสงสัยได้

    เป็นการทำความเห็นของตนให้ตรง

    เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

    เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของพระอริยเจ้าไว้

    ชื่อว่าได้ดำเนินตามปฏิปทาอันเป็นวงศ์ของนักปราชญ์

    ท่านเจ้าของกระทู้(คุณถ้ำเขาบิน)ที่พันทิพดอทคอมนี้ไม่ได้แจ้งที่มาของแหล่งข้อมูล แต่เนื้อหาดูแล้ว น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวผมเอง และเพื่อนๆที่สนใจครับ..

    ขอโมทนาบุญกับคุณถ้ำเขาบิน แห่งพันทิพดอทคอม..

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • L3639626-2.jpg
      L3639626-2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      30.5 KB
      เปิดดู:
      289
  2. :::เพชร:::

    :::เพชร::: เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    8,584
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +36,137
    มงคลที่ ๑ ๐ มีวาจาสุภาษิต

    ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ก็เพราะอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ
    แต่ก็เพราะปากนั่นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่าย
    เช่นกัน วาจาสุภาษิตจากปาก
    จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จ
    ได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
    แต่ก็เพราะวาจาทุพภาษิตจากปากเพียงคำเดียว
    บางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้

    วาจาสุภาษิต คืออะไร ?

    วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใส มิใช่สักแต่พูด อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก

    ตา มีหน้าที่ ดู อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ ตา
    หู มีหน้าที่ ฟัง อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู
    แต่ปาก มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด

    ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก จะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง เรียกว่า วาจาสุภาษิต

    องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

    ๑. ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง

    ๒. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่นึกถึงก็ระคายใจ

    ๓. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริง และเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

    ๔. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำ สุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธ มีความริษยา ก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้อยคำที่กล่าวด้วยจิตขุ่นมัว แม้เพียงประโยคเดียว อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง อย่างไม่อาจประมาณได้

    ๕. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจาน หรือจับผิดกันไป

    - พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

    - พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร
    เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูง ทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้

    "คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูด ให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด"


    ลักษณะของฑูตที่ดี (ฑูตสันติ)

    ๑. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ
    ๒. เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง
    ๓. รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด
    ๔. จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด
    ๕. เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง
    ๖. ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้
    ๗. ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
    ๘. ไม่พูดชวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท


    "ผู้ใดเข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบคาย ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาร พูดจนหมดความสงสัย และเมื่อถูกถามก็ไม่โกรธ ผู้นั้นย่อมควรทำหน้าที่ทูต"
    วิ. จุลฺล. ๗/๔๐๐/๒๐๑

    ถ้อยคำที่ไม่ควรเชื่อถือ

    ๑. คำกล่าวพรรณนาคุณ ศรัทธา ของบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
    ๒. คำกล่าวพรรณนาคุณ ศีล ของบุคคลผู้ทุศีล
    ๓. คำกล่าวพรรณนาคุณ พาหุสัจจะ ของบุคคลผู้ไม่สดับ
    ๔. คำกล่าวพรรณนาคุณ จาคะ ของบุคคลผู้ตระหนี่
    ๕. คำกล่าวพรรณนาคุณ ปัญญา ของบุคคลผู้โง่
    ทั้ง ๕ ประการ จัดเป็นคำซึ่งไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อถือ


    ลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ

    คนที่มีวาจาสุภาษิตมาข้ามภพข้ามชาติ จะมีลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ ซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ

    ๑. แจ่มใส ไม่แหบเครือ
    ๒. ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ติดขัด
    ๓. ไพเราะ อ่อนหวาน
    ๔. เสนาะโสต
    ๕. กลมกล่อม
    ๖. ไม่แตก ไม่พร่า
    ๗. ซึ้ง
    ๘. มีกังวาน


    อานิสงส์การมีวาจาสุภาษิต

    ๑. เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น
    ๒. มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
    ๓. มีวาจาสิทธิ์ ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา
    ๔. ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม
    ๕. ไม่ตกไปในอบายภูมิ
    ฯลฯ


    "วาจาสุภาษิต ไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงภาษาอย่างไรก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ควรแก่การสรรเสริญของบัณฑิต ตรงกันข้าม วาจาทุพภาษิต แม้จะพูดด้วยภาษาใดสำเนียงดีแค่ไหน บัณฑิตก็ไม่สรรเสริญ"

    จบมงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต
     
  3. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    ขอบคุณครับ

    194757113_3942736085841152_1274747850377979225_n.jpg
     

แชร์หน้านี้

Loading...