พิบัติภัยธรรมชาติ

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย Catt Bewer, 26 ธันวาคม 2006.

  1. Catt Bewer

    Catt Bewer เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    3,768
    ค่าพลัง:
    +16,673
    ภัยพิบัติจากธรรมชาติกำลังเกิดกับเราอย่างต่อเนื่องเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 คือภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ยังความวิบัติให้แก่บริเวณพื้นที่อ่าวอันดามันทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของไทยเรา มาในปี พ.ศ.2549 นี้ ภัยจากน้ำฝนยังความเสียหายให้แก่พื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลางก่อให้เกิดน้ำท่วมขังติดต่อกันนานเป็นเดือนสร้างความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีพของประชาชนคนไทยที่ตกอยู่ในเขตภัยพิบัติและบัดนี้ภัยจากน้ำทะเลคลื่นลมแรงผิดปกติธรรมดาได้โหมเข้าทำลายบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกหลายจังหวัดตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส แม้ภัยจากคลื่นใหญ่ลมแรงจะยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางก็ตาม แต่ก็ทำให้บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกถือว่าเกิดความเสียหายอย่างประมาทไม่ได้เพราะทำลายบ้านเรือนและถนนเลียบชายฝั่งที่อยู่ในรัศมีความรุนแรง ประชาชนได้รับคำเตือนให้อพยพให้พ้นจากชายฝั่งทะเล

    หรือว่านี่คือสัญญาณเริ่มต้นที่ธรรมชาติบอกกล่าวว่ามนุษย์กำลังจะได้รับภัยพิบัติอย่างจริงจังจากธรรมชาติเพราะผลกระทำของมนุษย์เองที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น การที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาจนคิดว่าเอาชนะธรรมชาติและสามารถควบคุมธรรมชาติโดยไม่คิดในมุมกลับว่านั่นคือการทำลายตัวเองด้วย โดยเฉพาะมนุษย์ได้เผาผลาญพลังงานทำให้ก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปสะสมอยู่ในบรรยากาศจนกักแสงอาทิตย์ไม่ให้สะท้อนกลับและส่งผลให้โลกร้อน ผลกรรมที่จะเกิดขึ้นกับโลกก็คือน้ำแข็งขั้วโลกเริ่มบางลงและกำลังค่อยๆ ละลายรวมทั้งธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงต่างๆ ทั่วโลกก็ตกอยู่ในสถานภาพเดียวกันคือลดการสั่งสมของน้ำแข็งลงและจะค่อยๆ ละลาย นักวิทยาศาสตร์เริ่มพากันหวั่นวิตกว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้เป็นอย่างช้าน้ำแข็งจากขั้วโลกและบนเทือกเขาสูงจะละลายหมดจนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมโลกขึ้นแม้ว่าทฤษฎีนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มคัดค้านก็ตาม แต่เรื่องโลกร้อนจนน้ำแข็งขั้วโลกละลายกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้น

    ส่วนกรณีคลื่นยักษ์ที่โหมถล่มทางชายฝั่งด้านตะวันออกของภาคใต้ประเทศไทยตั้งแต่ประจวบคิรีขันธ์ลงไปถึงนราธิวาสนั้น คำอธิบายที่ได้รับก็คือเป็นเพราะมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับปรากฏการณ์เอล นิโญที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกร้อนขึ้นจากภาวะปกติประมาณ 2 องศาเซลเซียสคืออุณหภูมิน้ำทะเลปกติอยู่ระหว่าง 24-25 องศาเซลเซียสแต่ปรากฏการณ์เอล นิโญทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น 26-27 องศาเซลเซียส เมื่อมวลเย็นมาปะทะกับน้ำทะเลที่ร้อนทำให้ความรุนแรงของคลื่นลมมากกว่าปกติ ลมในอ่าวไทยที่ปกติมีความเร็ว 10-15 กม.ต่อ ชม.ได้เพิ่มความรุนแรงเป็น 15-35 กม.ต่อ ชม. นี่จะเห็นว่าปัจจัยเรื่องโลกร้อนได้เข้ามาเกี่ยวข้องโหมกระหน่ำให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกันกับการเกิดพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกที่โหมกระหน่ำเล่นงานภูมิภาคอเมริกากลางซึ่งพบว่าการที่น้ำทะเลหรือน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นยิ่งส่งผลให้พายุเฮอริเคนเพิ่มระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

    สำหรับประเทศไทยเราและคนไทยเราควรจะตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติแม้ว่าเราจะเรียนรู้และได้รับเทคโนโลยีในการควบคุมธรรมชาติจากตะวันตกก็ตาม แต่เราต้องไม่หลงจนดูแคลนธรรมชาติว่าถูกเราควบคุมดังจะเห็นว่าจากกรณีสึนามิ แผ่นดินแยกและน้ำท่วมจากเหนือลงมาถึงภาคกลางล้วนสะท้อนให้เราเห็นว่ายามที่ธรรมชาติพิโรธขึ้นมาก็สามารถสร้างความเสียหายและทุกข์ยากให้แก่เราได้ในชั่วพริบตาและทันทีทันใด ฉะนั้น เราต้องไม่ประมาทและหาหนทางแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้ทันการในยามที่เกิดปัญหาจากธรรมชาติขึ้นมาอีกซึ่งประเทศเราย่อมไม่พ้นปัญหาน้ำท่วมจากฝนตก รีบจัดการป้องกันตั้งแต่บัดนี้ก่อนที่จะถึงหน้าฝนอีกครั้งหนึ่งในปีหน้า


    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edi01261249&day=2006/12/26
     

แชร์หน้านี้

Loading...