ปริศนาธรรมของสมเด็จฯ โต

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 23 สิงหาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    ปริศนาธรรมสมเด็จฯ โต
    เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร


    ตอน เข็นเบาๆ หน่อย

    ขโมยหน้ามืดคนหนึ่ง ย่องเข้ามาลักเรือใต้ถุนกุฏิของสมเด็จฯ โต ขณะที่กำลังเข็นเหยงๆ อยู่นั้น ท่านรู้พอดี จึงเปิดหน้าต่างสอนเขาว่า ”เข็นเบาๆ หน่อยจ้ะ ถ้าดังไปพระท่านได้ยินเข้า ท่านจะตีเอา เจ็บเปล่าจ้ะ เข็นเรือบนแห้ง เขาต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อนจ้ะ ถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วจ้ะ”

    เจ้าหัวโขมยได้ยินทีแรก คงจะรู้สึกตกใจไปเหมือนกัน เพราะไม่คิดว่าเจ้าของจะรู้ แต่เมื่อได้ยินเจ้าของพูดออกดีอย่างนั้น จึงรู้สึกเกรงใจ เกิดความละอาย ไม่กล้าเข็นต่อ รีบวิ่งหนีไป ในเมื่อเจ้าของทั้งรู้ทั้งพูดดีอย่างนี้ ถ้ายังบังอาจเข็นต่อไปอีกก็เลวเกินไปแล้ว เลวจริงๆ ด้วย

    ตอน คอยลา

    เนื่องจากสมเด็จฯ โต ท่านไม่ใคร่มีเวลาว่างในฐานะที่เป็นถึงสมเด็จฯ หน้าที่ความรับผิดชอบจึงสูงมาก อีกทั้งการเป็นเจ้าอาวาส (วัดระฆัง) ก็เป็นงานเบาเสียเมื่อไหร่ล่ะ งานเทศน์ สวดมนต์ จนถึงงานก่อสร้าง บางปีท่านก็ออกเดินธุดงค์หาความสงบวิเวก ทำให้ท่านไม่ใคร่มีเวลาในการปกครองดูแลลูกวัด โดยเฉพาะงานเทศน์อันเป็นงานหลักของท่าน เมื่อชาวบ้านนิมนต์เป็นต้องไป ไม่ยอมขัดศรัทธาใครเลย

    ดังนั้น ท่านจึงมอบหน้าที่ในการปกครองดูแลพระเณร และเด็กวัดให้กับพระครูปลัดรูปหนึ่ง ให้ทำหน้าที่แทน ท่านได้กำชับลูกวัดว่า จะไปทำกิจธุระนอกวัด ให้บอกลาพระครูปลัดเสียก่อน ตัวท่านเอง เป็นถึงสมเด็จและเป็นเจ้าอาวาสด้วย เวลาจะไปไหนมาไหนก็ต้องบอกลาพระครูปลัดเหมือนกัน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ขนาดสมเด็จฯ โตจะไปไหนยังต้องบอกลาก่อน แล้วองค์อื่นๆ จะไปโดยพลการได้อย่างไร

    วันหนึ่ง ท่านจะต้องไปในงานพระราชพิธีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไปไม่ทันเวลา พอไปถึงก็ล่าช้ามากแล้ว เมื่อถูกพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงความล่าช้า

    ท่านถวายพระพรว่า “เพราะคอยลาพระครูปลัด ซึ่งจำวัดยังไม่ตื่น”


    ตอน พิจารณา

    คราวหนึ่ง ที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุรียวงศ์ (ช่วง) มีการประชุมนักปราชญ์ บุคคลสำคัญหลายชาติ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้บ่าวไปอาราธนาสมเด็จฯ โต ไปแสดงทัศนะที่ถูกที่ชอบเกี่ยวกับการโลกการธรรม ให้ต่างชาติได้รู้ว่าชาวสยามของเราก็มีนักปราชญ์อยู่เหมือนกัน

    สมเด็จฯ โต กล่าวตอบบ่าวว่า “ฉันยินดีแสดงนักในข้อนี้”

    บ่าวกลับไปกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า “สมเด็จรับแสดงว่าในเรื่องให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้”

    พอถึงกำหนด สมเด็จฯ โตท่านก็ไปถึง บรรดานักปราชญ์ต่างชาติ ยินยอมให้นักปราชญ์สยามแสดงทัศนะก่อน สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงได้อาราธนาสมเด็จฯ โต ขึ้นนั่งบัลลังก์แล้วนิมนต์ให้กล่าววาทะ

    สมเด็จโตฯ โต กล่าวเป็นปริศนาขึ้นว่า “พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา...” พึมพำอย่างนั้นอยู่นาน

    สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงลุกขึ้นจี้ตะโพกสมเด็จฯ โต แล้วกระซิบเตือนว่า “ขยายคำอื่นให้ได้ฟังบ้าง”

    สมเด็จฯ โต เปล่งเสียงดังขึ้นอีก แต่พึมพำอยู่อย่างเดิมว่า “พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา...” ท่านว่าอยู่นานทีเดียว

    สมเด็จเจ้าพระยาฯ เห็นจะไม่ได้การจึงต้องลุกขึ้นมาจี้ตะโพกของท่านอีกครั้ง พร้อมกับกล่าวว่า “ขยายคำอื่นให้เขาได้รู้บ้างซิ”

    สมเด็จฯ โต ท่านตะโกนให้ดังยิ่งกว่าเดิมว่า “พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา...”

    แต่คราวนี้ท่านอธิบายขยายความออกไปอีกว่า “การมองโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรกระทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจที่ควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ ด้วยพิจารณาเป็นขั้นๆ พิจารณาเป็นเปราะๆ เข้าไป ตั้งแต่หยาบๆ ปูนกลาง และชั้นสูงชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีต ละเอียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาว พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว ทุกๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้เมื่อหน้าจะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยพิจารณาเลือกเฟ้นค้นหาของดีของจริงเด่นเห็นชัดปรากฏแก่คนก็ด้วย การพิจารณาของคนนั้นเอง

    ถ้าคนใดสติน้อยด้อยปัญญา พิจารณาเหตุผลเรื่องราว กิจการงานของโลกของธรรมแต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลาง ก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้งในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะแลเห็นผลแก่ตน ประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังบรรยายมาทุกประการ จบที”

    ทัศนะของสมเด็จฯ โต ว่าด้วย “การพิจารณา เป็นที่ยอมรับของปราชญ์ต่างประเทศ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดแสดงทัศนะเข้าต่อกร แม้ต่างคนต่างก็เขียนเตรียมมาแสดงแล้วก็จริง ด้วยเกรงว่าจะสู้วาทะของสมเด็จฯ โต ไม่ได้นั่นเอง

    ตอน จุดไต้กลางวัน

    ครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จฯ โต รู้ว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ ท่านปรารถนาจะตักเตือนให้รู้สึกพระองค์ ครั้นจะทูลเตือนโดยตรงก็เกรงพระทัย จึงจุดไต้เดินถือเข้าไปในพระราชวังกลางวันแสกๆ นี่แหละ เพื่อจะเตือนให้รู้ว่าในวังกำลังจะมืดมัว ไม่มีกลางวัน ไม่มีแสงสว่างแห่งปัญญา

    พระจอมเกล้าทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงตรัสตอบว่า “ขรัวโต ข้ารู้แล้วๆ”

    สมเด็จฯ โต จึงเอาไต้ทิ่มกำแพง ดับไฟเสีย เดินกลับวัดไปด้วยความสบายใจ

    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จฯ โต ก็จุดไต้กลางวันอีก คราวนี้ไม่ได้เดินถือไปในวัง แต่เดินถือไปที่จวนของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

    เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อตอนที่รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ นั้น พระองค์มีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ ปี ๗ เดือน กับอีก ๙ วันเท่านั้น นับว่ายังทรงพระเยาว์นัก จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ผู้ที่เป็นก็คืออัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ที่ชื่อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมเด็จฯ โต ได้ข่าวว่าจะมีการกบฏคิดร้ายต่อแผ่นดิน เพื่อยึดอำนาจจากรัชกาลที่ ๕ ท่านจึงจุดไต้เข้าไปยังจวนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ตอนกลางวัน

    สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถามว่า “มีประสงค์อันใดหรือ จึงถือไต้เข้ามาหากระผมเช่นนี้”

    “อาตมาได้ยินว่าทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนัก ด้วยมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบข้อเท็จจริงจะเป็นประการใด ถ้าแม้เป็นความจริงแล้วไซร้ อาตมาภาพก็ใคร่จะขอบิณฑบาตเข้าเสียสักครั้งหนึ่งเถิด”

    สมเด็จเจ้าพระยาฯ ฟังแล้วก็อึ้งไปนิดหนึ่ง ก่อนจะตอบว่า “ขอพระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลย ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่ฉะนี้ จะไม่ให้แผ่นดินนั้นมืดมัวหล่นลงไป ด้วยจะไม่มีผู้ดใดแย่งแผ่นดินไปได้เป็นอันขาด”

    “โยมไม่สู้มืดนักดอกเจ้าคุณ อนึ่งโยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่นคงเสมอ อนึ่ง โยมทะนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงธรรม และตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรงโดยสุจริต คิดถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุ”

    เมื่อผู้สำเร็จราชการกล่าวดังนั้น สมเด็จฯ โต ท่านก็เดินทางกลับวัด

    เป็นหน้าที่ของพระภิกษุ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่จะต้องคอยเอาใจใส่ดูแลเรื่องของบ้านเมืองให้เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม เพื่อความผาสุกของประชาราษฎร์ ซึ่งนักปกครองนักบริหารบ้านเมืองที่ดีย่อมจะน้อมรับฟังคำตำหนิติเตียน คำสั่งสอนด้วยความเคารพ



    ตอน เจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ

    ครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเดือน ๑๑ - ๑๒ ซึ่งมีการลอยกระทงหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จลงประทับบนพระที่นั่งชลังคพิมาน (ตำหนักแพ) พร้อมด้วยฝ่ายใน (หมายถึง พนักงานและข้าราชการหญิงที่อยู่ในพระราชฐานชั้นใน) เป็นจำนวนมาก

    สมเด็จฯ โต เห็นแล้วจึงแจวเรือข้ามฟากฝ่าริ้วเข้ามา เจ้ากรมเรือดั้งจับเรือแหกทุ่น เมื่อพระจอมเกล้าฯ รับสั่งถามว่า “เรือใคร”

    เจ้ากรมฯ กราบทูลว่า “เรือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต”

    รับสั่งว่า “เอาเข้ามานี่”

    ครั้นเจ้ากรมฯ นำเรือสมเด็จฯ โต เข้าไปถวาย นิมนต์ให้นั่งแล้ว จึงมีรับสั่งถามว่า “ไปไหน”

    สมเด็จฯ โต ทูลว่า “ขอถวายพระพร ตั้งใจมาเฝ้า”

    “ทำไม เป็นถึงสมเด็จเจ้าแล้ว เหตุใดต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน”

    สมเด็จฯ โต ทูลว่า “ขอถวายพระพร อาตมาภาพทราบว่า เจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ”

    รับสั่งว่า “อ้อ ! จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไป โยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว”

    สมเด็จฯ โต เลยถวายยถา สัพพี ถวายพระพรลา รับสั่งให้ฝีพายเรือดั้งไปส่งถึงวัดระฆัง

    จะเห็นว่าสมเด็จฯ โต ท่านเป็นพระที่กล้าเตือนพระสติของพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะประมุขและผู้ปกครองประเทศ เมื่อเห็นว่าพระองค์จะทรงทำอะไรอันไม่ใคร่จะถูกต้องนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านก็ทรงมีธรรมประจำพระทัย เมื่อเห็นว่าพระเตือนแล้วท่านก็เชื่อ นับว่าเป็นพระกษัตริย์ที่น่าสรรเสริญยิ่งนัก

    แต่นักปกครองบ้านเมืองของเราในยุคปัจจุบันนี้นี่สิ ได้อำนาจจากพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว กลับทำเก่งยิ่งกว่าพระเจ้าอยู่หัว คือ พระเทศน์ก็ไม่ยอมฟัง ปราชญ์สอนสั่งก็ไม่ยอมเชื่อ ซ้ำยังตำหนิผู้กล่าวตักเตือนเสียอีก

    ตอน ดีๆ บ้าๆ

    แต่ก่อนสมเด็จฯ โต จะไปไหนมาไหน ถ้าเป็นบนบก ท่านก็ขึ้นคานหามไป ถ้าทางน้ำ ก็ไปด้วยเรือกันยา ผู้คนเห็นแล้วก็ชมท่านว่าทำตนสมเกียรติของพระหลวง ภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น ท่านเลิกละสิ่งเหล่านั้น ไปไหนมาไหนอย่างหลวงตาธรรมดาๆ นุ่งห่มปอนๆ ประชาชนก็หาว่าท่านประพฤติตนไม่สมกับเป็นสมเด็จฯ

    ท่านเคยกล่าวเนืองๆ ว่า “ทีขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี ทีขรัวโตดี ก็ว่าขรัวโตบ้า”

    มันก็เป็นเช่นนั้นแหละคนเรา จะเอาอะไรกับคนเล่า เวลาชอบมันก็ชมนิยมยกยอ แต่ยามชังมันก็ว่าบ้าบอ ทำติฉินนินทาอยู่กับคน ต้องเข้าใจคน แล้วอย่าลืมท่องบ่นคำว่า “ตถาตา มันเป็นเช่นนั้นเอง”
     
  2. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    ตอน สมเด็จฯ อยู่ในเรือ

    ชาวสวนที่ราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี นิมนต์สมเด็จฯ โตไปฉันภัตตาหารที่บ้าน สมเด็จฯ โต ท่านพายเรือไปกับศิษย์ เมื่อใกล้ถึงบ้าน จะต้องผ่านคลองเล็กๆ เข้าไป แต่บังเอิญในช่วงนั้นน้ำตื้นเขินไปหน่อย ทำให้ไม่สามารถพายเรือเข้าไปได้ ท่านและลูกศิษย์จึงลงเรือ ช่วยกันเข็นเข้าไป

    ชาวบ้านร้านช่อง เห็นแล้วตะโกนเสียงดังว่า “สมเด็จฯ เข็นเรือโว้ย !”

    ท่านบอกเขาว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จฯ ดอกจ้ะ ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จฯ ท่านอยู่ในเรือนั่นแหละจ้ะ” พร้อมกับชี้มือไปที่พัดยศ



    ตอน นี่แหละตัวโทโส

    สมเด็จฯ โต ท่านเป็นนักเทศน์มีชื่อเสียงเกรียงไกรในสมัยนั้น ใครๆ ก็อยากจะฟังสมเด็จฯ ท่านเทศน์ เพราะนอกจากได้สารธรรมแล้ว ยังได้รับความเพลิดเพลินเจริญใจไปกับไหวพริบปฏิภาณ และลีลาวาทะของสมเด็จฯ ท่าน ใครได้ฟังแล้วเป็นต้องประทับใจไปทุกคน

    น่าเสียดายที่ประวัติชีวิต คำสอน และจริยาวัตรของท่านไม่ได้มีการบันทึกไว้โดยละเอียด ที่มีตีพิมพ์กันอยู่บ้างก็เน้นหนักไปทางขลังศักดิ์สิทธิ์มากไปหน่อย จึงทำให้ชนรุ่นหลังอย่างเรามิได้รู้เรื่องราวของท่านมากนัก แต่กระนั้นเท่าที่มีอยู่ก็นับว่าน่าสนใจมิใช่น้อย

    ตามปกติ สมเด็จฯ โตท่านจะไม่ขัดศรัทธาใคร ใครจะมานิมนต์ให้ท่านไปเทศน์ที่ไหน ในชนบทบ้านนอกท่านรับหมด แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องไม่มีกำหนดเวลา ถ้ากำหนดเวลาว่าจะต้องเทศน์เวลานั้นเวลานี้ ท่านจะไม่รับ ถ้าไม่กำหนดเวลาท่านยินดีไปให้ทุกแห่ง

    คราวหนึ่งผู้นิมนต์ท่านไปเทศน์ที่วัดแห่งหนึ่งในคลองมอญ สมเด็จฯ โตไปถึงแต่เช้า ทำให้หมายกำหนดของท่านเจ้าภาพเปลี่ยนไป เพราะเจ้าภาพได้กำหนดเอาไว้ว่า จะมีเทศน์คู่ต่อฉันเพลแล้ว เมื่อสมเด็จฯ ไปถึงแต่เช้า ก็เลยต้องนิมนต์ให้เทศน์เป็นพิเศษเสียก่อนกัณฑ์หนึ่ง

    เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกากว่าๆ (๔ โมงเช้ากว่าๆ) พระพิมลธรรม (ถึก) พระนักเทศน์องค์สำคัญที่เทศน์คู่กับสมเด็จฯ โต เป็นประจำก็ไปถึง

    เมื่อพอสมควรแก่เวลา สมเด็จฯ โตท่านก็หยุดเทศน์ ลงจากธรรมาสน์เพื่อฉันเพล ครั้นฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านก็ขึ้นเทศน์ต่อ แต่คราวนี้เป็นการเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก)

    สมเด็จฯ ถามปัญหากับพระพิมลธรรมหรือท่านถึก (สมเด็จฯ โต เรียก เจ้าถึก) ข้อหนึ่ง แต่ท่านถึกตอบไม่ได้ เมื่อตอบไม่ได้ ท่านเจ้าถึกก็เลยนั่งนิ่ง ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว สมเด็จฯ โต คงเกรงว่าท่านเจ้าถึกจะอายเขา จึงแกล้งพูดขึ้นว่า

    “ดูนะดูเถิดจ้ะ ท่าเจ้าถึกเขาอิจฉาฉัน เขาเห็นฉันเทศน์ ๒ กัณฑ์ เขาเทศน์ยังมิได้สักกัณฑ์ เขาจึงอิจฉาฉัน ฉันถามเขา เขาจึงไม่พูด ถามไม่ตอบ นั่งอม..”

    ได้ยินว่าทายกเขาจัดเครื่องกัณฑ์ให้ท่านเจ้าถึกได้เท่ากับ ๒ กัณฑ์เครื่องเท่ากันแล้ว

    ท่านเจ้าถึกจึงถามบ้างว่า “เจ้าคุณโทโสเป็นกิเลสสำคัญ พาเอาเจ้าของต้องเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง เงินทอง เสียน้องเสียพี่ เสียที่เสียทาง เสียอย่างเสียธรรมเนียม เสียเหลี่ยมเสียแต้ม ก็เพราะลุแก่อำนาจโทโส ให้โทษให้ทุกข์แก่เจ้าของมากนัก ก็ลักษณะแรกโทโสจะเกิดขึ้น เกิดตรงที่ไหนก่อนนะขอรับ ขอให้แก้ให้ขาว”

    สมเด็จฯ โตแกล้งทำเป็นนั่งหลับ กรนเสียด้วย ทำเป็นไม่ได้ยินคำถาม ท่านเจ้าถึกก็ถามซ้ำอีก ๒ – ๓ ครั้ง สมเด็จฯ โตก็ยังนั่งเฉย เมื่อถามกี่ครั้งๆ ก็ไม่ตอบ ท่านเจ้าถึกก็ชักฉิว ตวาดแหวออกมาว่า “ถามแล้วไม่ฟังนั่งหลับใน”

    ท่านเจ้าถึกตวาดถามย้ำอีก สมเด็จฯ โต คราวนี้ทำเป็นตกใจตื่น ทำทีด่าออกไปว่า “อ้ายเปรต อ้ายกาก อ้ายห่า อ้ายถึก กวนคนหลับ”

    ท่านเจ้าถึกรู้สึกฉุนฉิวอยู่ก่อนแล้ว ครั้นถูกด่าเสียเกียรติในที่ประชุมเช่นนั้นก็ชักโกรธชักฉิวเพิ่มขึ้นอีก จนลืมตัว ไม่ทันสำรวมเพราะไม่รู้อุบายของสมเด็จฯ โต จึงจับกระโถนปามาตรงสมเด็จฯ

    สมเด็จฯ นั่งภาวนากันตัวอยู่แล้ว กระโถนจึงไพล่ไปโดนเสาศาลาเปรี้ยง ! แตกทันที

    นี่แหละ ! ตัวโทโส

    สมเด็จฯ โต ได้ที จึงชี้แจงแถลงไขถึงลักษณะของโทโสว่า “สัปบุรุษ ! ดูซิ เห็นไหมๆ เจ้าคุณพิมลธรรมองค์นี้ ท่านดีแต่ชอบคำเพราะๆ แต่พอได้รับเสียงด่าก็เกิดโทโสโอหัง เพราะอนิฏฐารมณ์รูปร่างที่ไม่อยากจะดู มากระทบนัยน์ตา เสียงที่ไม่น่าฟังมากระทบหู กลิ่นที่ไม่น่าดมมากระทบจมูก รสที่ไม่น่ากินมากระทบลิ้น สัมผัสความกระทบถูกมากระทบถึงกาย ความคิดที่ไม่สมคิดผิดหมายมากระทบใจ ให้เป็นมูลมารับเกิดสัมผัสชาเวทนาขึ้น สำรวมไม่ทันจึงดันออกมาข้างนอกให้คนอื่นรู้ว่า เขาโกรธ ดังเช่นเจ้าคุณพิมลธรรมเป็นตัวอย่าง

    ถ้าเขายอท่านว่า พระเดชพระคุณแล้ว ท่านยิ้ม พอเขาด่าก็โกรธ โทโสเกิดในทวาร ๖ เพราะถูกกระทบกระเทือนสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่พอใจก็เกิดโกรธ แต่โทโสก็ไม่มีอำนาจกดขี่เจ้าของเลย เว้นแต่เจ้าของโง่ เผลอสติ เช่นพระพิมลธรรมถึกนี้ โทโสจึงกดขี่ได้ ถ้าฉลาดแล้วระวัง ตั้งสติไม่พลุ่งพล่าน โทโสเป็นสหชาติเกิดดับด้วยจิต ไม่ได้ติดอยู่กับใจถึงเป็นรากเหง้าเค้ามูลก็จริง แต่เจ้าของไม่นำพาหรือคอยห้ามปราบข่มขู่ไว้ โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้

    เปรียบเช่นพืชพันธุ์เครื่องเพาะปลูก เจ้าของอย่าเอาไปดอง อย่าเอาไปแช่ อย่าเอาไปหมักในที่ฉำแฉะแล้ว เครื่องพืชพันธุ์เพาะปลูกทั้งปวงไม่ถูกชื้นแล้วงอกไม่ได้ โทโสก็เช่นกัน ถ้าไม่รับให้กระทบถูกแล้ว โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้

    ดูแต่ท่านเจ้าถึกเป็นตัวอย่าง ตัวท่านเป็นเพศพระ ครั้งท่านขาดสังวร ท่านก็กลายเป็นโพระ กระโถนเลยพลอยแตกโพละ เพราะโทโสของท่าน ท่านรับรองยึดถือทำให้มูลแฉะชื้น จงจำไว้ทุกคนเทอญ”

    ตอน ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ

    ตามปกติ พระที่มีพรรษาน้อยหรืออ่อนพรรษา ต้องแสดงความเคารพนบนอบต่อพระที่มีพรรษามากกว่าหรือแก่พรรษา ถ้าเป็นการไหว้ เมื่อพระอ่อนพรรษากว่าไหว้ พระผู้แก่พรรษาก็ประนมมือรับไหว้ และก็เป็นการกราบ เมื่อพระอ่อนพรรษากราบ พระผู้แก่พรรษาก็เพียงแต่ประนมรับกราบ ถือว่าถูกต้องแล้ว

    แต่บางทีสมเด็จฯ โต ท่านทำมากกว่านั้น คือ ครั้งหนึ่ง พระอุปัชฌาย์เดช จังหวัดสิงห์บุรีเข้าไปกราบท่าน ท่านก็กราบตอบ

    พระอุปัชฌาย์เดช นึกแปลกใจเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเรียนถามท่านว่า “ทำไมท่านทำอย่างนี้ ?”

    สมเด็จฯ โต ตอบว่า “ทำตามพุทธฎีกาที่ว่า วันทะโก ปะฏิวันทะนัง ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ”

    เอากับท่านซิ

    ความจริง ถ้าผู้ใหญ่จะเป็นพระหรือฆราวาสก็ตาม ทำอย่างท่านก็ดี จะได้ช่วยลดทิฐิมานะลงอีกเยอะเลย




    ตอน ปริศนาธรรมดับกิเสส

    เมื่อครั้งที่พระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าฯ สมเด็จบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในพระบวรศพของพระปิ่นเกล้าเจ้าฯ พอเสด็จถึงพระทวารพระที่นั่ง พวกพระสวดพระอภิธรรม ๘ รูป ท่านตกใจด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพ ต่างลุกวิ่งหนีเข้าแอบที่หลังม่านที่กั้นพระโกศ

    พระองค์ทรงทราบแล้วกริ้วใหญ่ ทรงดุเสียงดังว่า “ดูซิ ! ดูซิ ! ดูถูกข้า มาเห็นข้าเป็นเสือ เป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ ต้องสึกให้หมด”

    รับสั่งแล้วก็ทรงพระอักษร (เขียนหนังสือ) ถึงสมเด็จฯ โต สั่งให้พระธรรมเสนา (เนียม) นำลายพระราชหัตถเลขามาถวายที่วัดระฆัง สมเด็จฯ โต อ่านแล้วท่านก็จุดธูป ๓ ดอก จี้ที่กระดาษที่ว่างๆ ลายพระหัตถ์นั้น ๓ รู สั่งให้พระธรรมเสนานำถวายคืนในเวลานั้น

    ครั้นพระธรรมเสนาทูลเกล้าถวาย ทรงเห็นรูปกระดาษไหม้ไม่ลามถึงตัวหนังสือ ก็ทรงทราบปริศนาธรรมของสมเด็จฯ โต จึงรับสั่งว่า “อ้อ ! ท่านให้เราดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดทีๆ เอาเถอะๆ ถวายท่าน”

    เป็นอันว่าพระทั้ง ๘ รูปไม่ต้องถูกจับสึก แต่พระธรรมเสวนาได้เอาตัวพระเหล่านั้น มานั่งประจำที่ให้หมด แล้วพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงแนะนำสั่งสอนระเบียบที่พึงปฏิบัติในหน้าพระที่นั่งให้ถูกต้อง ตั้งแต่นั้นมา


    ตอน มันอยากได้ ก็ให้มันไป

    ดึกคืนหนึ่ง ขณะสมเด็จฯ โตกำลังจำวัด (หลับ) อยู่ ได้มีโจรขึ้นกุฏิ มันล้วงมือไปทางกรงหน้าต่างหวังจะหยิบตะเกียงลาน โจรพยายามอยู่นาน แต่ไม่สำเร็จ ความพยายามที่ไหน ความพยายามก็ยังอยู่ที่นั่นตามเดิม ไม่มีความสำเร็จ เพราะเอื้อมไม่ถึง

    สมเด็จฯ โต ท่านรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา รู้สึกว่าเสียงกุกกักๆ นั้นคงไม่ใช่แมว มันต้องเป็นโจรแน่ๆ เมื่อเห็นว่ามันจะลักตะเกียง ท่านจึงเอาเท้าช่วยเขี่ยไปให้ใกล้มือโจร พอตะเกียงถึงมือ โจรก็รีบคว้าเอาไป แล้วรีบเผ่นทันที ไม่ยอมขอบคุณเจ้าของสักคำ ใจดำจริงๆ

    เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ท่านบอกว่า “มันอยากได้ ก็ให้มันไป”


    ตอน บุญสลึงเฟื้อง

    ยายแฟงมีอาชีพเป็นแม่ เล้า เจ้าของซ่อง อาศัยแรงกายที่ขายกามของหญิงโสเภณีเป็นอยู่ แกไม่ต้องทำอาชีพอื่นให้เหน็ดเหนื่อย หากินบนความทุกข์ของคนอื่นนี่สบายที่สุด จะไปทำอย่างอื่นให้เมื่อยตุ้มทำไม อาชีพแม่เล้าทำให้แกร่ำรวย มีเงินทองมากขึ้นทุกวัน จนใครๆ พากันนับถือ (นับถือเงินตรา)

    เมื่ออายุมากขึ้น ยายแฟงคิดอยากทำบุญใหญ่สักครั้งหนึ่ง เผื่อจะช่วยลบรอยบาปที่ฉาบทาชีวิตลงได้บ้าง จึงได้บริจาคเงินจำนวนมากสร้างวัดใหม่ยายแฟง หรือวัดคณิกาผล ที่เรียกกันในเวลาต่อมาที่ป้อมปราบศัตรูพ่าย ฝั่งพระนคร

    การสร้างวัดได้สำเร็จเสร็จลงด้วยดี ยายแฟงแกดีใจมากว่าแม้ตัวแกจะมีอาชีพเป็นเพียงแม่เล้า แต่ก็สามารถมีเงินสร้างวัดได้อย่างท่านเศรษฐีเชียวนะ วันฉลองวัด ยายแฟงได้นิมนต์สมเด็จฯ โต ไปเทศน์แสดงอานิสงส์ของการสร้างวัด จะได้บุญมากน้อยอย่างไร เทศนาธรรมของสมเด็จฯ โต ตอนหนึ่งมีว่า

    “ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ ได้ผลอานิสงส์บกพร่อง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่นที่ไม่ชอบด้วย ธรรมเนียม ถ้าเปรียบอานิสงส์นี้ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท จะได้สักสลึงเฟื้องเท่านั้น นี่ว่าอย่าเกรงใจกันนะ”

    ใครๆ ฟังแล้วก็ชอบใจ หัวเราะกันครื้นเครง แต่ยายแฟงฟังแล้วเกร็งๆ ซ้ำขัดเคือง กาลเวลาผ่านไป ยายแฟงพิจารณาดูแล้วเห็นจริงตามที่สมเด็จฯ โตว่า จึงไม่โกรธเคืองสมเด็จฯ อีกต่อไป


    ตอน ยศศักดิ์น่าขบขัน

    เมื่อตอนที่พระบาท สมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ สมเด็จฯ โตตอนนั้นเป็นมหาโต ต้องมีอันต้องจาริกไปตามป่าลำเนาไพรดงพญาไฟ ท่านก็เคยไปอยู่มานานหลายปี ยังได้ข้ามไปประเทศลาวและเขมรอีก รวมเวลาที่หนีเข้าป่าได้ ๒๕ ปี ตลอดเวลาที่รัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์

    ในช่วงนี้ท่านได้ฝึกฝนอบรมเป็นอย่างดี ทำให้ท่านลึกซึ้งในพระธรรมมากขึ้น พอสิ้นรัชกาลที่ ๓ พระจอมเกล้าฯ ก็ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อมา งานแรกที่พระองค์ทรงกระทำ ก็คือ ประกาศหาตัวมหาโต สั่งให้ค้นหากันจ้าละหวั่น พระที่มีรูปร่างผอมๆ หน้าตาคล้ายมหาโตจะถูกจับส่งเข้าเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก

    ข่าวการจับพระมหาโตดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ชาวบ้านต่างรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสั่งให้จับมหาโต สมเด็จฯ โต ในฐานะมหาโตได้ฟังข่าวจากชาวบ้านแล้วก็อุทานออกมาว่า

    “กูหนีมา ๒๕ ปี ทำไมเพิ่งมาประกาศจับ”

    เพราะท่านไม่รู้จักว่าบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ไม่ใช่รัชกาลที่ ๓ ประกาศจับท่าน เมื่อไต่ถามได้ความว่าเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว ท่านก็ไปปรากฏตัวที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น บอกให้ตำรวจช่วยนำท่านเข้าบางกอก

    เมื่อเข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๔ พระองค์ตรัสถามว่า

    “เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดินแล้ว ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน”

    ต่อมารัชกาลที่ ๔ มีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการีวางฎีกาตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาเข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลปัตรแฉกหักทองด้ามงา เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม

    ออกจากวังแล้ว ท่านเดินแบกพัดไปถึงบางขุนพรม บางลำพู เพื่ออำลาญาติโยมที่รู้จักกัน แล้วกลับไปวัดมหาธาตุ ร่ำลาพระภิกษุสงฆ์ แล้วลงเรือข้ามไปวัดระฆัง ท่านเดินแบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัตร เครื่องอัฐบริขาร กาน้ำเหล่านี้ เต็มไม้เต็มมือท่าน ดูพะรุงพะรังไปหมด ยิ่งท่านทำท่าเก้งๆ กังๆ ยิ่งทำให้ผู้พบเห็น ทั้งพระ เณร เด็กวัดและญาติโยม รู้สึกตลกขบขัน แม้ใครจะไปช่วยถือท่านก็ไม่ยอม

    ท่านเดินรอบวัดระฆัง พร้อมกับประกาศว่า

    “เจ้าชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติมาเฝ้าวัดระฆังฯ วันนี้จ้ะ เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ้ะ”

    พอท่านเข้าไปในโบสถ์ ผู้มุงดูทั้งหลาย โดยเฉพาะพระเณรก็พากันตามเข้าไป ช่วยกันจัดโน่นทำนี่ ตามความเหมาะสม วันนั้นจึงสนุกกันทั้งคืน

    เรื่องนี้ท่านคงต้องการจะให้มองเห็นยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเรื่องตลกขบขัน เป็นเรื่องเล่นๆ นั่นเอง ไม่ควรจะไปจริงจังอะไรกับมันมากนัก เดี๋ยวมันจะขบกัดเอา

    ตอน เรื่องของหมา คนอย่ายุ่ง

    บนศาลาทำบุญที่วัด แห่งหนึ่ง ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยสาธุชนผู้สนใจในการบุญทั้งหลาย พระสงฆ์จำนวนมากนั่งอยู่บนอาสน์สงฆ์เพื่อสวดมนต์ และฉันภัตตาหาร โดยมีสมเด็จฯ โต นั่งเป็นประธานสงฆ์อยู่

    ขณะที่ทายกทายิกากำลังนำอาหารมาถวายพระภิกษุสงฆ์อยู่นั้น สุนัขคู่หนึ่งขึ้นมาสมสู่กันบนศาลา มองแล้วน่าอุจาดตามาก ญาติโยมทั้งหลายจึงช่วยกันไล่ตีให้ลงไปจากศาลา จะมาทำอนาจารบนสถานที่ทำบุญย่อมไม่สมควร

    เสียงไล่สุนัขอึงคะนึงทั่วศาลา หาความสงบไม่ได้ สมเด็จฯ โต เห็นเป็นการไม่สมควร จึงร้องห้ามว่า

    “อย่า ! อย่าไปไล่เขา เรื่องของเขา เรื่องของสัตว์ก็เป็นเรื่องของสัตว์ เรื่องของคนก็เป็นเรื่องของคน ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่าไปวุ่นวายเลย”

    สัตว์เป็นภพภูมิที่ต่ำ เขาก็ต้องทำอย่างต่ำๆ นั่นแหละ จะให้รู้สึกละอาย มีสำนึกดี-ชั่ว เหมือนมนุษย์เห็นจะไม่ได้ ฉะนั้นเขาจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไปเถิด เพียงแต่มนุษย์สุดประเสริฐอย่าไปทำอย่างเขาก็แล้วกัน

    ตอน ปราบพระทะเลาะกัน

    มนุษย์เมื่อรวมอยู่ กันเป็นสังคมย่อมมีปัญหาบ้างเป็นธรรมดา เพราะมากคนก็ทำให้มากความ สังคมพระสงฆ์ แม้จะเป็นสังคมแห่งความดีงาม มีศีลมีวินัยสูงกว่าชาวบ้านโดยทั่วไปก็จริง แต่ก็อดที่จะมีปัญหาให้กระทบกระทั่งกันมิได้

    ครั้งหนึ่ง พระที่วัดระฆังคู่หนึ่งด่าทอกันดังขรมวัด ท้าทายจะชกต่อยกัน

    องค์ที่ถูกท้าชกร้องว่า “พ่อไม่กลัว”

    อีกองค์หนึ่งก็ร้องตอบว่า “พ่อก็ไม่กลัวเหมือนกัน”

    ต่างองค์ต่างเก่ง ท้ากันเหยงๆ ไม่มีใครกลัวใคร สมเด็จฯ โต (ตอนนั้นเป็นพระเทพกวี) นั่งอยู่ในกุฏิของท่าน ได้ยินเสียงทะเลาะกัน เห็นพฤติกรรมอันผิดวิสัยของสมณะแล้ว ไม่สามารถจะทนนิ่งเฉยอยู่ได้ ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่มันจะลุกลามไปใหญ่โต

    ท่านจัดดอกไม้ ธูป เทียน ใส่พาน รีบเดินเข้าไประหว่างพระทั้งสอง นั่งคุกเข่าน้อมพานเข้าไปถวายพระทั้งคู่นั้น แล้วก็ประนมมือกล่าวอ้อนวอนขอฝากเนื้อฝากตัวว่า

    “พ่อเจ้าประคุณ ! พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้ๆ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย”

    พระคู่นั้นเกิดรู้สึกละอายใจ เลิกทะเลาะกันกลับเข้าไปในกุฏิ พิจารณาเห็นโทษความผิด กิเลสของตัวเองแล้วจึงออกมากราบขอโทษท่าน มาคุกเข่ากราบสมเด็จฯ โต สมเด็จฯ โตก็คุกเข่าตอบบ้าง พระทั้งสองเห็นสมเด็จฯ โตกราบตนเอง ก็ให้รู้สึกเกรงกลัว ท่านเป็นถึงเจ้าอาวาส มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลเรา จะมากราบเราได้อย่างไร ลำบากใจนักจึงกราบสมเด็จฯ โต ตอบ

    ปรากฏว่าในวันนั้น กราบกันไปกราบกันมาอยู่นานจนเหนื่อยแล้วจึงเลิกรากันไป

    จะเห็นว่าวิธีปราบพระทะเลาะกันของสมเด็จฯ โต ได้ผลดีโดยไม่ต้องปากเปียกปากแฉะ เพราะพระทั้งสององค์เกิดความละอายและเสียใจที่ประพฤติอย่างนั้น เมื่อกราบท่านเสร็จแล้ว ก็ปฏิญาณตนว่าจะไม่ทะเลาะกันอีก




    ตอน โลกพร่องอยู่เสมอ

    คราวหนึ่งที่สมเด็จฯ โต ไปบิณฑบาตในพระราชวัง พระที่มารับบิณฑบาตนั้น นิมนต์เป็นเวรกันมารับ เรียกว่า “บิณฑบาตเวร”

    วันนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบาตรด้วยแตงโม สมเด็จฯ โต ท่านได้เอาย่ามใบใหญ่ ตัดกันเป็นช่องโตถือไป เมื่อทรงหยิบแตงโมใส่ย่าม แตงโมก็ลอดช่องย่าม ตกไปบนพื้นดิน

    พระจอมเกล้าฯ รู้ได้ทันทีถึงปริศนาธรรม จึงรับสั่งว่า “ฟ้ารู้ทันแล้ว”

    สมเด็จฯ โตถวายพระพรว่า “โลกมันพร่องอยู่เสมอ ไม่รู้จักเต็มอย่างนี้”

    ปริศนาธรรมนี้ท่านมุ่งสอนรัชกาลที่ ๔ ไม่ให้มัวเมาในกามคุณ ควรจะอิ่มเสียที เพราะกามนั้นถึงจะถมตามต้องการอย่างไร มันก็ไม่เต็มได้หรอก ความอยากในกามมันไม่มีสิ้นสุด มีแต่หยุดเท่านั้นจึงจะเต็มได้



    ตอน กระต่ายดำ กระต่ายขาว

    มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่าพุทธศาสนามีนิกายนั้นนิกายนี้ด้วย เพราะรู้กันแต่ในวงแคบๆ ว่า พุทธศาสนาก็ต้องมีพระ มีวัด มีโบสถ์ มีศาลา อะไรเทือกนี้เท่านั้น ส่วนจะมีพวกหมู่แตกแขนงออกไปอย่างไรนั้นไม่รู้

    อันที่จริงแล้วพุทธศาสนามีหลายนิกาย ซึ่งก็เหมือนกับศาสนาใหญ่ๆ ทั้งหลายในโลกนั้นแหละ ที่มีการแตกกอแยกหน่อเป็นนิกายต่างๆ เพราะศาสนาสำคัญๆ ในโลกนี้ ไม่มีการหยุดนิ่ง จะเผยแพร่คำสอนเข้าไปในหมู่ชนต่างๆ เมื่อไปอยู่ในต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ก็ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงกันไปบ้างเป็นธรรมดา (หลักคำสอนเปลี่ยนไม่ได้ แต่มีพิธีกรรม วิธีการปฏิบัติ ข้อปลีกย่อย ย่อมจะต้องมีการดัดแปลงแต่งประยุกต์ให้เข้ากับถิ่นฐานนั้นๆ อย่างแน่นอน จนทุกวันนี้พุทธศาสนาเกิดนิกายต่างๆ มากมาย ว่าโดยนิกายใหญ่ๆ พุทธศาสนามี ๒ นิกายคือ นิกายเถรวาท หรือทักษิณนิกาย (แต่ถูกฝ่ายมหายานเรียกว่า หินยาน) และนิกายมหายาน หรืออุดรนิกาย

    นิกายใหญ่ ๒ นิกายนั้นต่างก็มีนิกายแยกย่อยต่อไปอีก โดยเฉพาะนิกายมหายาน มีนิกายแยกย่อยออกไปอีกมาก นอกจากนี้ยังมีนิกายอีกนิกายหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก แม้พวกฝรั่งมังค่าก็นิยมศึกษาปฏิบัติกันคือ นิกายเซน เป็นนิกายที่เริ่มแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และจีนก่อน แล้วจึงได้มีการเผยแพร่ในประเทศอื่นๆ

    นิกายเซนนี้ บางท่านก็ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน บางท่านก็ว่าเป็นนิกายของพุทธศาสนานิกายหนึ่ง ที่แยกต่างหากจากสองนิกายใหญ่นั้น

    ผู้เขียนเห็นด้วยกับมติของท่านพุทธทาสภิกขุ พุทธปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ ที่ท่านมีความเห็นว่า นิกายเซนเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา มิใช่เป็นพวกมหายาน ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

    “พุทธศาสนาอย่างเซ็นนี้ ยังเป็นที่เข้าใจผิดกันอยู่มากในหมู่ชนชาวไทย พอพูดถึงคำว่าเซน บางท่านก็ร้องว่าเป็นเรื่องของเจ๊กปาหี่ที่เล่นกลชนิดหนึ่งหรือไม่ ? ถูกแล้ว ถ้าจะเกณฑ์ให้เป็นเรื่องชนิดเจ๊กปาหี่ก็ได้เหมือนกัน แต่เป็นเรื่อง “ปาหี่ทางวิญญาณ” คือทำให้คนเข้าถึงธรรมได้อย่างประหลาดเกินคาดฝัน แล้วก็ยังมีคนพวกหนึ่งว่า เซนคือมหายานที่บูชาอมิตาภะ โพธิสัตว์และดารานั่นเอง และโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ควรนับเอานิกายเซนว่าเป็นพวกมหายาน โดยเหตุที่ว่าวิธีของเซนนั้นไม่ได้เป็นของที่ทำให้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป ทุกคน เหมือนการนั่งบูชาอมิตาภะและโพธิสัตว์ตามแบบของมหายานนั้นเลย

    าหากจะเกณฑ์หรือบังคับให้พวกเซนมีอมิตาภะกับเขาบ้างไซร้ มันก็ต้องได้แก่ “จิตเดิมแท้” ตามแบบของเว่ยหลาง หรือ “ความว่าง” ตามแบบของฮวงโปนั่นเอง แล้วจะมานั่งบูชาหรืออ้อนวอนกันได้อย่างไร และเป็นมหายานหรือยานใหญ่ที่สามารถขนคนโง่ทั้งโลกไปได้อย่างไรกัน นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าใจผิดกล่าวหานิกายเซนอย่างนั้นอย่างนี้ โดยว่าเอาเองตามชอบใจอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่อาจนำมากล่าวในที่นี้ให้หมดสิ้นได้ และไม่จำเป็นที่จะต้องนำมากล่าวด้วย

    สำหรับประเทศไทยของเรานั้น เรามีพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลัก โดยมีนิกายแยกย่อยออกไปอีกสองนิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุต (ธรรมยุติกนิกาย)

    แต่เดิมพุทธศาสนาในไทยเราไม่มีนิกาย เราเรียกตนเองว่า พระสงฆ์ไทยหรือสยามวงศ์ สมณวงศ์ ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชอยู่ จึงได้ตั้งนิกายขึ้นมา เรียกว่า นิกายธรรมยุต หรือธรรมยุติกนิกาย พระภิกษุที่ร่วมอยู่ในนิกายนี้ เรียกว่า พระฝ่ายธรรมยุต ทำให้เกิดนิกายใหม่อีกนิกายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า มหานิกาย แปลว่า พวกมากเพราะมีจำนวนมากกว่า ฝ่ายธรรมยุตนั้นมีจำนวนน้อยกว่า

    แม้ว่าจะเกิดเป็นสองนิกาย แต่พระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ก็ยังยึดถือพระธรรมวินัยอย่างเดียวกัน ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรแตกต่างกัน แต่ก็ไม่สามารถจะหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ? ปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตก็คือ พระฝ่ายมหานิกายมักจะได้รับการชักชวนให้เข้าเป็นพวกหมู่ธรรมยุต ต่อมาท่านรูปนั้นมักจะปรากฏว่ามีชื่อเสียง แล้วก็จะช่วยกันเสริมส่งจนโด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร

    สมเด็จฯ โต เมื่อยังเป็นพระมหาโต ก็เป็นพระดีอีกรูปหนึ่งที่ได้รับการชักชวนให้เข้านิกายธรรมยุต ซึ่งตอนนั้น พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผนวชอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดสมอราย ได้นิมนต์พระมหาโตไปสนทนาด้วย นัยว่าจะชวนเข้าหมู่ เมื่อรับสั่งถามว่า

    “มีบุรุษสองคนเป็นเพื่อนเดินทางมาด้วยกัน คนทั้งสองเดินมาพบไหมเข้า จึงทิ้งปอที่แบกมาเสียเอาไหมไป อีกคนหนึ่งไม่เอาคงแบกปอไป ท่านจะเห็นว่าคนแบกปอหรือคนแบกไหมดี ?”

    มหาโตตอบเฉไปอีกทางหนึ่งว่า

    “ยังมีกระต่ายสองตัว ขาวตัวหนึ่ง ดำตัวหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมหากินกันมาช้านาน”

    วันหนึ่งกระต่ายสองตัวเที่ยวและเล็มหญ้ากิน แต่กระต่ายขาวเห็นหญ้าอ่อนๆ ฝั่งฟากโน้นมีชุม จึงว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งข้างโน้น กระต่ายดำไม่ยอมไปทนกินอยู่ฝั่งเดียว แต่นั้นมา กระต่ายขาวก็ข้ามน้ำไปหาหญ้ากินฝั่งข้างโน้นอยู่เรื่อย

    วันหนึ่ง ขณะที่กระต่ายขาวกำลังว่ายน้ำข้ามฟาก บังเกิดลมพัดจัด มีคลื่นปั่นป่วน กระแสน้ำเชี่ยวกราก พัดเอากระต่ายขาวไปจะเข้าฝั่งไหนก็ไม่ได้ เลยจมน้ำตายในที่สุด ส่วนกระต่ายดำก็ยังเที่ยวหากินอยู่ได้ไม่ตาย ฝ่าธุลีพระบาทลองทำนายว่ากระต่ายตัวไหนจะดี”

    ต่อมาเรื่องนี้ก็ไม่มีการพูดถึงกันอีก สมเด็จฯ โต ก็ยังเป็นพระฝ่ายมหานิกายอย่างเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนนิกายเหมือนใครเขา


    ตอน ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้

    เวลาที่เราจะให้ของ อะไรๆ กับผู้อื่น เรามักจะเลือกหาของดีๆ ให้เขา เพราะเรารู้ว่าเป็นธรรมชาติของคนที่อยากจะได้แต่ของดีๆ ไม่มีใครอยากได้ของไร้ค่าหรือมีค่าน้อย บางคนเกร็งเกินไป ไม่กล้าให้ของเล็กน้อยแก่ผู้อื่น เพราะเกรงจะไม่เป็นที่ถูกใจ จึงสรรหาของมีค่ามากไปให้จนผู้รับไม่กล้าใช้ เพราะมันดีเกินไป ได้แต่เก็บใส่ตู้โชว์ ไม่ยอมใช้จนตายไป ลูกหลานก็เอาไว้โชว์ต่อไปอีก

    มันน่าขำจริงเชียว !

    ญาติโยมโดยทั่วไปก็เหมือนกัน เวลาทำอาหารถวายพระ มักจะเน้นพวกแกง ต้ม ผัด เอาไว้ก่อน ถึงจะทำประณีตอย่างไรก็ตาม พระท่านก็ฉันไม่ใคร่ได้หรอก เพราะท่านฉันจำเจอยู่ทุกๆ วัน อยู่แล้ว มันเบื่อได้เหมือนกัน ไม่ใคร่มีใครเอาน้ำพริก ผักไปถวาย ลองเอาไปถวายซิ ท่านฉันข้าวได้มากเลยแหละ

    น้ำพริก ผัก เป็นอาหารที่ปรุงแต่งรสน้อยกว่าพวกแกง ผัดซึ่งปรุงแต่งรสจนบางครั้งเพียงได้กลิ่นก็เกิดอาการคลื่นเหียนเวียนหัว เสียแล้ว เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามน้ำพริกว่าเป็นอาหารเล็กน้อย ไม่สำคัญ เพราะน้ำพริกนี่แหละทำให้ชาวนาชาวไร่มีร่างกายสมบูรณ์

    กรณีที่ผมเล่ามานี้ เคยมีกรณีข้างเคียงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรื่องมีว่า

    สมเด็จฯ โต ได้รับนิมนต์ให้ไปฉันในพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนไตรแพร สมเด็จฯ โตท่านก็เอาไตรแพรนั้นเช็ดปาก เช็ดมือยุ่งไปหมด

    พระจอมเกล้าฯ ทรงทักว่า “ไตรเขาดีๆ เอาไปเช็ดเปรอะหมด”

    สมเด็จฯ โต ตอบสวนมาทันทีว่า “อะไรๆ ก็ถวายได้ ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตมภาพก็ต้องเอาผ้าไตรของอาตมาเช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้บริโภคของทายกแล้ว ไม่เป็นศรัทธาไทยวิบัติ”

    ผ้าเช็ดมือผืนเล็กๆ ราคาผืนไม่กี่บาท แต่ไม่มีใครคิดซื้อหามาถวายพระไม่รู้ว่าเพราะอะไร อะไรๆ ก็ถวายได้ แต่ผ้าเช็ดมือถวายกันไม่ได้

    การกระทำของสมเด็จฯ โต เป็นการสอนให้รู้ว่า อย่าเห็นแต่สิ่งของสำคัญจนลืมของเล็กๆ น้อยๆ เพราะบางทีของเล็กน้อยก็สำคัญไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน


    ตอน อะไรๆ ก็รู้หมดแล้ว

    พระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวทรงจัดให้มีเทศน์ในพระราชวังติดต่อกัน ๓ วัน ผู้ที่รับหน้าที่แสดงธรรมเทศนาก็คือ สมเด็จฯ โต ซึ่งตอนนั้นเป็นพระเทพกวี (โต)

    วันแรก ท่านเทศน์ได้เรียบร้อยไม่ยาวไม่สั้นเกินไป

    วันที่สอง พระจอมเกล้าฯ มีพระราชประสงค์จะฟังเทศน์สั้นๆ ด้วยมีเรื่องให้กระวนกระวายพระทัยอยู่ สมเด็จฯ โต รู้แล้ว แต่ท่านทำเป็นไม่สนใจ เทศน์ซะยาวเฟื้อยจนกินเวลาไปมาก

    วันที่สาม พระจอมเกล้าฯ ทรงมีความสบายพระทัย จึงมีพระราชประสงค์จะฟังเทศน์ยาว

    แต่พอสามเด็จฯ โตให้ศีล บอกศักราช และถวายพระพรแล้วก็เทศน์สั้นนิดเดียว คือเมื่อท่านตั้งนะโม ๓ จบ แปลเสียนิดหน่อยแล้วก็กล่าวเพียงว่า “ไม่ว่าจะถวายพระธรรมเทศนาหมวดใดๆ มหาบพิตรก็ทรงทราบหมดแล้ว เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” แล้วทรงลงจากธรรมมาสน์

    พระจอมเกล้าฯ ทรงสงสัยจึงตรัสถามว่า “ขรัวโต ! เมื่อวานเทศน์ยาว วันนี้เทศน์สั้น เพราะเหตุประการใดหรือ ?”

    สมเด็จฯ โตถวายพระพรว่า “เมื่อวานอาตมาภาพเห็นมหาบพิตร ทรงมีพระราชหฤทัยกังวล ขุ่นมัวเป็นอันมาก จะดับเสียได้ก็โดยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มากเข้าไว้ แต่วันนี้เห็นว่า ทรงมีพระราชหฤทัยผ่องแผ้วแล้ว จะไม่ทรงสดับเสียก็ยังได้”

    พระจอมเกล้าฯ ฟังแล้วก็ทรงพระสรวล ไม่ว่ากระไร


    ที่มา::
     
  3. jaya

    jaya เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    1,110
    ค่าพลัง:
    +2,183
    นับวันบ้านเมืองเรายิ่งขาดพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และที่สำคัญผู้คนในบ้านเมืองเราขาดความละอายใจ และขาดความสำนึกต่อหน้าที่ .... อย่างไรหนอแผ่นดินแห่งพุทธศาสนานี้จึงดำเนินมาอย่างนี้ ....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 สิงหาคม 2010
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,399
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    Anumothana Sadhu ka
    May you full of prosperity and spirit
    Nibhana at last.:cool:
     
  5. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,689
    ค่าพลัง:
    +9,239
    [​IMG]


    ขออนุโมทนาค่ะ


     
  6. ซีดีธรรมะ

    ซีดีธรรมะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    229
    ค่าพลัง:
    +822
    ขออนุญาตนำข้อมูลไปเผยแผ่ต่อที่เว็บหลวงปู่โต.คอม นะครับ

    http://www.luangputo.com

    ขออนุโมทนาด้วยครับ

    ขอบคุณครับ<!-- google_ad_section_end -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...