มิลินทปัญหา เรื่องเบื้องต้น

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย Kob, 25 ธันวาคม 2009.

  1. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    เรื่องเบื้องต้น

    บุพพกรรมของบุคคลทั้งสอง
    พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาครูทั้ง ๖
    พระอรหันต์ขึ้นไปเชิญมหาเสนะเทพบุตร
    มหาเสนะเทพบุตรจุติจากเทวโลก
    พระโรหนะไปนํานาคเสนกุมารเพื่อจะให้บรรพชา
    พระนาคเสนแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
    พระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฎกกับพระธรรมรักขิต
    พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล
    กิตติศัพท์ของพระนาคเสน
    พระเจ้ามิลินท์ได้ยินชื่อตกพระทัยกลัว
    พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสน

    [MUSIC]http://audio.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=44157[/MUSIC]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 ธันวาคม 2009
  2. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    เรื่องเบื้องต้น

    บุพพกรรมของบุคคลทั้งสอง

    บุพพกรรมของ พระเจ้ามิลินท์ และ พระนาคเสน กล่าวคือ เมื่อครั้งศาสนาของ สมเด็จพระพุทธกัสสป โน้น
    มีพระราชา พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิชิตาวี เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนครราชธานี

    พระองค์ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วย สังคหวัตถุ ๔ สร้างมหาวิหารลงไว้ที่ริมแม่น้ำคงคา ถวายพระเถระทั้งหลายที่ทรงคุณธรรมต่าง ๆ กัน มีทรงพระไตรปิฎก เป็นต้น ทั้งทรงบํารุงด้วยปัจจัย ๔

    เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเป็น พระอินทร์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานิสงส์ นั้นและ
    มหาวิหารที่ท้าวเธอทรงสร้างไว้ ถึงพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ดี ก็มีพระภิกษุอาศัยอยู่เป็นอันมาก

    ในพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น พระภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยข้อวัตรเป็นอันดี เช้าขึ้นก็ได้ถือเอาไม้กวาดด้ามยาว
    แล้วนึกถึงพระพุทธคุณ แล้วจึงพากันกวาดบริเวณพระเจดีย์ กวาดเอาหยากเยื่อไปรวมเป็นกองไว้ มีพระภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลองค์หนึ่ง เรียกสามเณรองค์หนึ่งว่า
    “ ...จงมานี่สามเณรจงหอบเอาหยากเยื่อไปเททิ้งเสีย ...”

    สามเณรนั้นก็เฉยอยู่ เหมือนไม่ได้ยินพระภิกษุองค์นั้นเรียกสามเณรองค์นั้นถึง ๓ ครั้ง เห็นสามเณรนั่งนิ่งเฉยอยู่
    เหมือนไม่ได้ยิน ก็คิดว่า สามเณรองค์นี้หัวดื้อ จึงไปตีด้วยด้ามไม้กวาดสามเณร ก็ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด แล้วหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งด้วยความกลัว เมื่อหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งนั้นได้ปรารถนาว่า

    “... ด้วยผลบุญที่เราหอบหยากเยื่อมาทิ้งนี้หากเรายังไม่ถึงนิพพานเพียงใด เราจะเกิดในภพใด ๆ ก็ตาม ขอให้เรามีเดชเหมือนกับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงวันฉะนั้นเถิด... ”

    สามเณรตั้งความปรารถนาดังนี้แล้ว ก็เดินไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ดําผุดดําว่ายเล่นตามสบายใจเมื่อสบายใจแล้วก็
    ได้เห็นละลอกคลื่นในแม่น้ำนี้มากมายนักหนา ก็ยินดีปรีดาจะใคร่มีปัญญาเฉลียดฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น ดุจลูกคลื่นในแม่น้ำนั้นและได้คิดว่าอาจารย์ได้ใช้ให้เราหอบเอาหยากเยื่อมาทิ้งนี้ ไม่ใช่เป็นกรรมของเรา ทั้งไม่ใช่เป็นกรรมของอาจารย์ แต่เป็นการอนุเคราะห์เราให้ได้บุญเท่านั้น ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงปรารถนาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า

    “ ข้าพเจ้ายังไม่ถึงนิพพานตราบใด ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใดๆ ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไม่รู้จักสิ้นสุดเหมือนกับลูกคลื่นในแม่น้ำคงคานี้เถิด ”

    ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์นั้น เมื่อเอาไม้กวาดไปเก็บไว้ที่โรงเก็บไม้กวาดแล้ว ก็ลงไปที่ท่าน้ำคงคาเพื่อจะอาบน้ำก็ได้ยินเสียงสามเณรตั้งความปรารถนา จึงคิดว่าความปรารถนาของสามเณรนี้เป็นความปรารถนาใหญ่ จะสําเร็จได้เพราะอาศัยพระพุทธคุณ

    คิดดังนี้แล้ว จึงหัวเราะขึ้นด้วยความดีใจว่า สามเณรนี้ถึงเป็นผู้ที่เราใช้ก็ยังปรารถนาอย่างนี้ ความปรารถนาของสามเณรนี้ จักสําเร็จเป็นแน่แท้ คิดดังนี้แล้ว จึงตั้งความปรารถนาว่า

    “ ข้าพเจ้ายังไม่สําเร็จนิพพานตราบใด ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาหาที่สุดมิได้ เหมือนกับฝั่งแม่น้ำคงคานี้ ให้เป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาปฏิภาณทั้งปวง ที่สามเณรไต่ถามได้สิ้น
    ให้สามารถชี้แจงเหตุผลต้นปลายได้เหมือนกับบุรุษที่ม้วนกลุ่มด้าย สางด้ายอันยุ่ง ให้รู้ได้ว่า ข้างต้นข้างปลายฉะนั้น ด้วยอํานาจบุญที่ข้าพเจ้าได้กวาดวัด และใช้สามเณรให้นําหยากเยื่อมาเททิ้งนี้เถิด ”

    เมื่อบุคคลทั้งสองนั้น ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทพยดาและมนุษย์ ก็ล่วงมาถึง ๑ พุทธันดร พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ผู้เป็นที่พึ่งของโลกได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า

    ความเกิดขึ้นแห่งพระเถระทั้งหลาย มี พระโมคคลีบุตรติสสะเถระ และ พระอุปคุตตเถระ เป็นต้น จักปรากฏฉันใด ความเกิดขึ้นแห่งบุคคลทั้งสองนั้น ก็จะปรากฏฉันนั้น เมื่อเราปรินิพพานล่วงไปได้ ๕๐๐ ปีแล้ว บุคคลทั้งสองนั้นจักเกิดขึ้น ธรรมวินัยอันใด อันเป็นของสุขุมที่เราได้แสดงไว้ ธรรมวินัยอันนั้น บุคคลทั้งสองนั้นจักแก้ไขให้หมดฟั่นเฝือ ด้วยการไต่ถามปัญหากันดังนี้

    ต่อมาสามเณรนั้น ก็ได้มาเกิดเป็น พระเจ้ามิลินท์ ในสาคลนคร อันมีในชมพูทวีป พระเจ้ามิลินท์นั้นเป็นบัณฑิต
    เป็นผู้ฉลาดมีความคิดดี สามารถรู้เหตุการณ์อันเป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน ได้ เป็นผู้ใคร่ครวญในเหตุการณ์ถี่ถ้วนทุกประการ เป็นผู้ได้ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมากถึง ๑๘ ศาสตร์ด้วยกัน รวมเป็น ๑๙ กับทั้งพุทธศาสตร์

    ศิลปะศาสตร์ ๑๘ ประการคือ
    ๑. รู้จักภาษาสัตว์ มีเสียงนกร้องเป็นต้นว่าร้ายดีประการใดได้สิ้น
    ๒. รู้จักกําเนิดเขาและไม้เป็นต้นว่าชื่อนั้นๆ
    ๓. คัมภีร์เลข
    ๔. คัมภีร์ช่าง
    ๕. คัมภีร์นิติศาสตร์ รู้ที่จะเป็นครูสั่งสอนท้าวพระยาทั้งปวง
    ๖. คัมภีร์พาณิชยศาสตร์ รู้ที่จะเลี้ยงฝูงชนให้เป็นสิริมงคล
    ๗. พลศาสตร์ รู้นับนักขัตฤกษ์ รู้ตําราดวงดาว
    ๘. คันธัพพศาสตร์ รู้เพลงขับร้องและดนตรี
    ๙. เวชชศาสตร์ รู้คัมภีร์แพทย์
    ๑๐. ธนูศาสตร์ รู้ศิลปะการยิงธนู
    ๑๑. ประวัติศาสตร์
    ๑๒. ดาราศาสตร์ รู้วิธีทํานายดวงชะตาของคน
    ๑๓. มายาศาสตร์ รู้ว่านี่เป็นแก้ว นี่มิใช่แก้ว เป็นต้น
    ๑๔. เหตุศาสตร์ ผลศาสตร์รู้จักเหตุรู้จักผลจะบังเกิด
    ๑๕. ภูมิศาสตร์ รู้จักที่จะเลี้ยงโคกระบือ รู้การที่จะหว่านพืชลงในนาไร่ให้เกิดผล
    ๑๖. ยุทธศาสตร์ รู้คัมภีร์พิชัยสงคราม
    ๑๗. ลัทธิศาสตร์ รู้คัมภีร์โลกโวหาร
    ๑๘. ฉันทศาสตร์ รู้จักคัมภีร์ผูกบทกลอนกาพย์โคลง

    พระเจ้ามิลินท์นั้น มีถ้อยคําหาผู้ต่อสู้ได้ยาก ปรากฏยิ่งกว่าพวกเดียรถีย์ทั้งปวงไม่มีใครเสมอเหมือนในทางสติปัญญา ทั้งประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ คือ

    ๑. มีเรี่ยวแรงมาก
    ๒. มีปัญญามาก
    ๓. มีพระราชทรัพย์มาก



    อยู่มาคราวหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จออกจากพระนครด้วยพลนิกรเป็นอันมาก หยุดพักนอกพระนครแล้ว ตรัสแก่พวกอํามาตย์ว่า

    ” เวลายังเหลืออยู่มาก เราจะทําอะไรดี เราจะกลับเข้าเมืองก็ยังวันอยู่ สมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ที่ยืนยันว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดหนอ อาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้

    เมื่อตรัสอย่างนี้ พวกโยนกข้าหลวงทั้ง ๕๐๐ก็กราบทูลขึ้นว่า
    “ข้าแต่มหาราชเจ้า บัณฑิตที่จะพอสนทนากับพระองค์ได้นั้นมีอยู่ คือครูทั้ง ๖ อันได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล
    นิคัณฐนาฏบุตร สญชัยเวฬัฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ พระเจ้าข้า

    ครูทั้ง ๖ นั้น เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารมีผู้คนนับถือมาก ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปไต่ถามปัญหา ต่อคณาจารย์เหล่านั้นเถิดคณาจารย์เหล่านั้นจะตัดความสงสัยของพระองค์ได้ พระเจ้าข้า ”
    พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาครูทั้ง ๖

    ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าหลวงโยนกทั้ง ๕๐๐ ขึ้นทรงราชรถเสด็จไปหา ปูรณกัสสป ทรงปราศรัยแล้วประทับนั่งลงตรัสถามว่า
    “ ท่านกัสสป...อะไรรักษาโลกไว้ ? ”
    ปูรณกัสสปตอบว่า “ขอถวายพระพรแผ่นดินรักษาโลกไว้ ”
    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า “ ถ้าแผ่นดินรักษาโลกไว้ เหตุไรผู้ทําบาปจึงล่วงเลยแผ่นดินลงไปถึงอเวจีนรกล่ะ? ”

    เมื่อตรัสอย่างนี้ ปูรณกัสสปก็ไม่อาจโต้ตอบได้ ได้แต่นั่งนิ่งกลืนน้ำลายอยู่เท่านั้น
    ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงทรงดําริว่าชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ชมพูทวีปไม่มีประชน์เสียแล้ว เพราะไม่มี
    สมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ ผู้อวดอ้างตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดําริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปหา มักขลิโคสาล ตรัสถามว่า
    “ ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือ? ”
    มักขลิโคสาลตอบว่า
    “ขอถวายพระพร ไม่มี..คือพวกใดเคยเป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ เวศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออยู่ในโลกนี้เวลาไปถึงโลกหน้าก็จะเกิดเป็นกษัตริย์ พราหมณ์เ วศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออีก การทําบุญไม่มีประโยชน์อะไร ”
    พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า
    “ ถ้าอย่างนั้น พวกใดที่มีมือด้วนเท้าด้วนในโลกนี้ พวกนั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะต้องมีมือด้วนเท้าด้วนอีกน่ะซี ”

    มักขลิโคสาลตอบว่า “ อย่างนั้น มหาบพิตร คือผู้ใดได้รับโทษถูกตัดมือเท้าในโลกนี้ เวลาผู้นั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะถูกตัดมือตัดเท้าอีก ”
    พระเจ้ามิลินทร์ตรัสว่า “โยมไม่เชื่อ”
    มักขลิโคสาลก็นิ่ง พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า
    “ นี่แน่ะ มักขลิโคสาล ข้าพเจ้าถามท่านว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือ ท่านก็แก้เสียอย่างนี้ ท่านเป็นคนโง่เขลาพวกใดทํากรรมที่จะให้เกิดไว้อย่างใด ๆ พวกนั้นก็ต้องไปเกิดด้วยกรรมอย่างนั้น ๆ”
    ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสแก่พวกอํามาตย์ขึ้นว่า
    “ นี่แน่ะ ท่านทั้งหลาย เวลานี้ก็ค่ำแล้วเราจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใด ๆ อีก ผู้ใดจะอาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้ ”

    ตรัสอย่างนี้หลายหน แต่พวกอํามาตย์ก็พากันนิ่งอยู่ ไม่รู้ว่าจะกราบทูลอย่างไร ท้าวเธอก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร ต่อนั้นไปพระองค์ก็ได้ไปเที่ยวไต่ถามสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ ในที่นั้น ๆ ไม่เลือกหน้า

    พวกใดแก้ปัญหาของท้าวเธอไม่ได้พวกนั้นก็หนี ไปพวกที่ไม่หนีก็สู้ทนนิ่งอยู่ แต่โดยมากได้พากันหนีไปสู่ป่าหิมพานต์ เมืองสาคลนครจึงเป็นเหมือนกับว่างจากสมณพราหมณ์อยู่ถึง ๑๒ ปี

    พระอรหันต์ขึ้นไปเชิญมหาเสนะเทพบุตร


    ในคราวนั้น มีพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ อาศัยอยู่ที่ ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาหิมพานต์ ได้ทราบประวัติการณ์ของพระเจ้ามิลินท์แล้ว จึงได้ขึ้นไปประชุมกันที่ยอดภูเขายุคันธร ถามกันขึ้นว่า
    “ มีพระภิกษุองค์ใด สามารถโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ ตัดความสงสัยของพระองค์ได้ ”

    ถามกันอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง พระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐โกฏิก็นิ่งอยู่ ลําดับนั้น พระอัสสคุตตะ ผู้เป็นหัวหน้าจึงกล่าวขึ้นว่า
    “ ดูก่อนท่านทั้งหลาย มหาเสนะเทพบุตรที่อยู่ในเกตุมดีวิมาน ทางด้านตะวันออกแห่งเวชยันตวิมานของพระอินทร์มีอยู่
    มหาเสนะเทพบุตร นั้นแหละ อาจโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้อาจตัดความสงสัยของพระองค์ได้ ”

    พระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ โกฏิ จึงได้พร้อมกันขึ้นไปหาพระอินทร์ที่ดาวดึงสเทวโลก พระอินทร์จึงเสด็จออกมาต้อนรับกราบไหว้แล้วถามว่า
    “ ข้าแต่ท่านทั้งหลาย มีพระภิกษุสงฆ์มาเป็นอันมาก โยมนี้เป็นเหมือนกับคนวัดสําหรับรับใช้ พระภิกษุสงฆ์จะให้โยมทําอะไร ขอได้โปรดบอกเถิด ”
    พระอัสสคุตต์จึงถวายพระพรว่า
    “ เวลานี้มหาราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “ มิลินท์ ” อยู่ในชมพูทวีป เป็นผู้ได้เรียนศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ฉลาดเจรจา ไม่มีใครสู้ได้ ได้เที่ยวเบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์ ด้วยการถามปัญหาตามลัทธิเดียรถีย์ ขอถวายพระพร ”
    พระอินทร์จึงตรัสว่า
    ....“ อ้อ...พระราชาองค์นั้น ได้จุติไปจากดาวดึงส์นี้เอง ”
    ....“ อย่างนั้นหรือ..มหาบพิตร ? ”
    ....“ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่จะโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้นั้น มีแต่มหาเสนะเทพบุตรเท่านั้น โยมจะไปอ้อนวอนเขาให้ลงไปเกิดในมนุษยโลก ”



    ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ก็พาพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปที่เกตุมดีวิมาน ทรงเข้าไปสวมกอดมหาเสนะเทพบุตรแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า “ นี่แน่ะ...มหาเสนะผู้หาทุกข์มิได้ บัดนี้พระภิกษุสงฆ์ขอให้เจ้าลงไปเกิดในมนุษยโลก ”
    มหาเสนะเทพบุตรจึงกราบทูลว่า
    “ ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ต้องการลงไปเกิดในมนุษยโลก เพราะมนุษยโลกเดือดร้อนด้วยการงานมาก ข้าพระองค์จะขึ้นไปเกิดในเทวโลกชั้นสูง ๆ ต่อขึ้นไป แล้วจะเข้านิพพานจากเทวโลกชั้นสูงนั้น พระเจ้าข้า ”
    พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวขึ้นว่า
    “ นี่แน่ะ ท่านผู้หาทุกข์มิได้ พวกเราได้พิจารณาดูตลอดมนุษยโลกเทวโลกแล้วไม่เห็นมีผู้อื่นนอกจากท่าน ที่จะสามารถทําลายถ้อยคําของพระเจ้ามิลินท์ได้ สามารถเชิดชูพุทธศาสนาไว้ได้ พระภิกษุสงฆ์จึงได้ขึ้นมาอ้อนวอนท่าน ขอท่านจงลงไปเกิดในมนุษยโลก ยกย่องพระพุทธศาสนาไว้เถิด ”
    เมื่อพระภิกษุสงฆ์อ้อนวอนอย่างนี้แล้ว มหาเสนะเทพบุตรจึงกราบทูลพระอินทร์ว่า
    “ ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์จงประทานพรแก่ข้าพระองค์ ให้ข้าพระองค์ทําลายล้างถ้อยคําของพระเจ้ามิลินท์ได้ สามารถเชิดชูพระพุทธศาสนาไว้ได้เถิด พระเจ้าข้า ”

    ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็ร่าเริงดีใจ มีใจฟูขึ้น ถวายปฏิญญาแก่พระภิกษุสงฆ์ว่าข้าพเจ้าจะลงไปเกิดในมนุษยโลก
    แล้วก็รับพรจากพระอินทร์ ลําดับนั้น พระภิกษุสงฆ์ก็ถวายพระพรลา กลับลงมาสู่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์อีก

    พระโรหนเถระได้รับมอบธุระ

    เพื่อให้นาคเสนกุมารได้บรรพชา

    เมื่อมาถึงแล้วพระอัสสคุตตเถระจึงถามพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นว่า
    “ ดูก่อนท่านทั้งหลายภิกษุที่ไม่ได้มาในที่ประชุมสงฆ์นี้มีอยู่หรือ ? ”

    มีพระภิกษุองค์หนึ่งตอบว่า “ มีอยู่ขอรับ คือพระโรหนเถระท่านไปเข้านิโรธสมาบัติ อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ได้ ๗ วันแล้วพวกเราควรจะใช้ทูตไปหา ”

    พอดีในขณะนั้น พระโรหนเถระ ก็ออกจากนิโรธสมาบัติ นึกรู้ความประสงค์พระอรหันต์ทั้งหลายว่าต้องการพบเรา
    จึงได้หายวับจาก ภูเขาหิมพานต์ มาปรากฏที่ ถ้ำรักขิตเลณะ ต่อหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ
    ครั้งนั้นพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิจึงกล่าวขึ้นว่า
    “ นี่แน่ะ ท่านโรหนะ เมื่อพระศาสนากําลังถูกกระทบกระเทือน เหตุไรท่านจึงไม่รู้จักช่วยเหลือไม่เหลียวแลกิจเหมือนสงฆ์ ? ”
    พระโรหนะจึงตอบว่า “ เป็นเพราะข้าพเจ้ามิได้กําหนดจิตไว้ ”
    พระสงฆ์จึงบอกว่า “ ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะลงทัณฑกรรทท่าน เพราะเหตุที่ท่านไม่ได้ใส่ใจในกิจของพระศาสนา ”
    พระโรหนะจึงถามอีกว่า “ จะลงทัณฑกรรมข้าพเจ้าอย่างไร ? ”
    พระสงฆ์ตอบว่า
    “ นี่แน่ะ ท่านโรหนะ มีบ้านพราหมณ์ตำบลหนึ่งชื่อว่าชังคละ ข้างป่าหิมพานต์ มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าโสนุตระ อยู่ในบ้านนั้น เขามีบุตรชื่อว่านาคเสนกุมาร ท่านงพยายามไปบิณบาตรที่ตระกูลนั้น ให้กุมารออกบรรพชาให้ได้ เมื่อนาคเสนกุมารได้บรรพชาแล้วท่านจึงจะพ้นจากทัณฑณกรรมนั้น..."
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ธันวาคม 2009
  3. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ตอนที่ ๒

    มหาเสนะเทพบุตรจุติจากเทวโลก

    ฝ่ายมหาเสนะเทพบุตร ก็ได้จุติจากเทวโลกลงมาถือกําเนิดในครรภ์ของนางพราหมณี ในขณะนั้นก็มีอัศจรรย์ ๓ ประการปรากฏขึ้น คือ
    1. บรรดาอาวุธทั้งหลายได้รุ่งเรืองเป็นแสงสว่าง
    2. ฝนตกใหญ่นอกฤดูกาล
    3. เมฆใหญ่ตั้งขึ้น
    ( ตอนนี้ใน ฉบับพิสดาร กล่าวว่า อัศจรรย์ทั้งนี้ด้วยบารมีของมหาเสนะเทพบุตรที่ได้กระทํามาบอกเหตุที่เกิดมานี้ว่า จะได้ทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวัสสา )
    จาก ฉบับ ส. ธรรมภักดี ได้บรรยายต่อไปว่า ลําดับนั้น พระโรหนเถระก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น เริ่มแต่วันนั้นไปตลอด ๗ ปี กับ ๑๐ เดือน แต่ไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่การยกมือไหว้หรือการแสดงความเคารพก็ไม่ได้ ได้แต่การด่าว่าเท่านั้น
    เมื่อล่วงมาจาก ๗ ปีนั้น จึงได้เพียงคําไต่ถามเท่านั้นคืออยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์นั้นกลับมาจากดูการงานนอกบ้าน
    ก็ได้พบพระเถระเดินสวนมา จึงถามว่า
    “ นี่แน่ะบรรพชิตท่านได้ไปที่บ้านเรือนของเราหรือ? ”
    พระเถระตอบว่า “ ได้ไป ”
    พราหมณ์จึงถามต่อไปว่า “ ท่านได้อะไรบ้างหรือ? ”
    ตอบว่า “ ได้ ”
    พราหมณ์นั้นก็นึกโกรธ จึงรีบไปถามพวกบ้านว่า “ พวกท่านได้ให้อะไรแก่บรรพชิตนั้นหรือ? ”
    เมื่อพวกบ้านตอบว่า ไม่ได้ให้อะไรเลย พราหมณ์ก็นิ่งอยู่ เวลารุ่งขึ้นวันที่สองพราหมณ์นั้นจึงไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านด้วยคิดว่าวันนี้แหละบรรพชิตนั้นมา เราจักปรับโทษมุสาวาทให้ได้ พอพระเถระไปถึง พราหมณ์นั้นก็กล่าวขึ้นว่า
    “ นี่แน่ะ บรรพชิต เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้วัตถุสิ่งใดไปจากบ้านเรือนของเราเลย ทําไมจึงบอกว่าได้ การกล่าวมุสาวาทเช่นนี้ สมควรแก่ท่านแล้วหรือ? ”
    พระโรหนะจึงตอบว่า
    “ นี่แน่ะ พราหมณ์ เราเข้ามาสู่บ้านเรือนของท่านตลอด ๗ ปีกับ ๑๐ เดือนแล้วยังไม่เคยได้อะไรเลย พึ่งได้คําถามของท่านเมื่อวานนี้เพียงคําเดียวเท่านั้น เราจึงตอบว่าได้ ”
    เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนี้ก็ดีใจ จึงคิดว่า พระองค์นี้เพียงแต่ได้คําปราศรัยคําเดียวเท่านั้น ก็ยังบอกในที่ประชุมชนว่าได้ ถ้าได้ลาภอย่างใดอย่างหนึ่งไปจะไม่สรรเสริญหรือ นี่เพียงแต่ได้คําถามคําเดียวเท่านั้นก็ยังสรรเสริญ
    เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงสั่งพวกบ้านว่าพวกท่านจงเอาข้าวของเราถวายบรรพชิตนี้วันละ ๑ ทัพพีทุกวันไป ต่อนั้นพราหมณ์ก็เลื่อมใสต่ออิริยาบถ และความสงบเสงี่ยมของพระเถระยิ่งขึ้นเป็นลําดับไปจึงขอนิมนต์ว่า
    “ ขอท่านจงมาฉันอาหารประจํา ที่บ้านเรือนของข้าพเจ้าทุกเช้าไป ”
    พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่พราหมณ์ก็ได้ถวายอาหารคาวหวาน อันเป็นส่วนของตนแก่พระเถระทุกเช้าไป พระเถระฉันแล้วเวลาจะกลับ ก็กล่าวพระพุทธพจน์วันละเล็กละน้อยทุกวันไป

    คราวนี้จะย้อนกล่าวถึงนางพราหมณีนั้นอีก กล่าวคือ นางพราหมณีนั้นล่วงมา ๑๐ เดือน ก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า “ นาคเสน ”


    นาคเสนกุมารศึกษาไตรเพท

    เมื่อนาคเสนกุมารเติบโตขึ้นอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาก็ให้ศึกษาไตรเพททั้ง ๓ กับศิลปะศาสตร์อื่น ๆ สําหรับตระกูลพราหมณ์ร่ำรียนสืบ ๆ กันมา นาคเสนกุมารรับว่าจะเรียนเอาให้ได้
    ส่วนว่าโสนุตตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้ว ก็ให้ทรัพย์ประมาณ ๑ พันกหาปณะเป็นค่าจ้าง ฝ่ายนาคเสนกุมารฟังพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกวิชาเพียงครั้งเดียว ก็สามารถจําได้จบครบทุกประการ จึงได้มีวาจาถามว่า
    “ ข้าแต่บิดา คําสอนสําหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ.. หรือว่ายังมีอีกประการใดเล่า? ”
    พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงตอบว่า
    “ นี่แน่ะนาคเสน คําสอนสําหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้น ก็จบเพียงแค่นี้ ”
    เมื่อนาคเสนร่ำรียนศึกษาจากสํานักพราหมณาจารย์แล้ว ก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ได้รับเอาซึ่งกําใบลานที่อาจารย์ให้เป็นกําใบลานหนังสือพราหมณ์ สําหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพ และศิลปะศาสตร์ทุกสิ่งอัน
    อยู่มาวันหนึ่ง นาคเสนกุมารจึงลงจากปราสาท ไปยืนพิจารณาเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดแห่งไตรเพททั้ง ๓ กับศิลปศาสตร์ทั้งปวง อยู่ที่ศาลาข้างประตูทุกวันไปจนตลอดถึง ๓ วันเมื่อไม่เห็นมีแก่นสารอันใด จึงเกิดความไม่สบายใจว่าสิ่งเหล่านี้เปล่าทั้งนั้นไม่มีสาระประโยชน์อันใดเลย



    พระโรหนะไปนํานาคเสนกุมาร เพื่อจะให้บรรพชา
    ในคราวนั้น พระโรหนเถระ นั่งอยู่ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ได้ทราบความคิดของนาคเสนกุมาร จึงหายวับไปปรากฏขึ้นข้างหน้านาคเสนกุมารทันที พอนาคเสนกุมารได้แลเห็น ก็เกิดความร่าเริงดีใจว่าบรรพชิตองค์นี้คงรู้จักสิ่งที่เป็นสาระเป็นแน่จึงถามขึ้นว่า
    “ ผู้มีศีรษะโล้นนุ่งเหลืองเช่นนี้เป็นอะไร? ”
    พระเถระตอบว่า “ เป็นบรรพชิต ”
    “ เหตุไรจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต? ”
    “ เหตุว่าเว้นเสียซึ่งบาป เว้นเสียซึ่งโทษจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต ”
    “ ท่านรู้จักศิลปศาสตร์บ้างหรือ? ”
    “ รู้จัก ”
    “ ศิลปศาสตร์อันใดที่สูงสุดในโลกมีอยู่ท่านจะบอกศิลปศาสตร์อันนั้นให้แก่กระผมได้หรือ? ”
    “ อาจบอกได้..พ่อหนู! ”
    “ เหตุใดผมและหนวดของท่านจึงไม่เหมือนคนอื่น? ”
    “ นี่แน่ะ พ่อหนู บรรพชิตทั้งหลายเห็นความกังวล ๑๖ ประการ จึงได้โกนผมโกนหนวดเสีย
    ความกังวล ๑๖ ประการนั้นคือ
    1. กังวลด้วยอาภรณ์คือเครื่องประดับ
    2. กังวลด้วยช่างทอง
    3. กังวลด้วยการขัดสี
    4. กังวลด้วยการเก็บเครื่องประดับ
    5. กังวลด้วยการฟอกผมสระผม
    6. กังวลด้วยดอกไม้
    7. กังวลด้วยของหอม
    8. กังวลด้วยเครื่องอบ
    9. กังวลด้วยสมอ
    10. กังวลด้วยมะขามป้อม
    11. กังวลด้วยดินเหนียว ( สมอ มะขาม ป้อม ดิน ทั้ง ๓ ประการนี้ ทําเป็นยาสระผม )
    12. กังวลด้วยเข็มปักผม
    13. กังวลด้วยผ้าผูกผม
    14. กังวลด้วยหวี
    15. กังวลด้วยช่างตัดผม
    16. กังวลด้วยการอาบน้ำชําระผมรวมเป็น ๑๖ ประการด้วยกัน
    ในเส้นผมแต่ละเส้นย่อมมีหมู่หนอนอาศัยอยู่ที่รากผม ทําให้รากผมเศร้าหมองคนทั้งหลายได้เห็นผมเศร้าหมอง ก็เศร้าใจเสียใจ ไม่สบายใจ เมื่อมัวแต่ยุ่งอยู่กับผมด้วยเครื่องกังวล ๑๖ อย่างนี้ ศิลปะศาสตร์ที่สุขุมยิ่งก็เสียไป เพราะฉะนั้นแหละ บรรพชิตทั้งหลายจึงต้องโกนผมโกนหนวดทิ้งเสีย ”
    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้น่าอัศจรรย์เพราะเมื่อคนทั้งหลายกังวลอยู่กับเครื่องกังวล ๑๖ ประการอย่างนี้ ศิลปะศาสตร์ที่สุขุมยิ่ง ต้องไม่ปรากฏเป็นแน่ ข้อนี้กระผมเชื่อ แต่ขอถามอีกทีว่า เหตุไรผ้านุ่งผ้าห่มของท่านจึงไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ? ”
    “ อ๋อ..การที่ผ้านุ่งผ้าห่มของเราไม่เหมือนคนอื่น ๆ นั้นเพราะว่าผ้านุ่งผ้าห่มอย่างพวกคฤหัสถ์ทําให้เกิดความกําหนัดยินดีใน สังขารร่างกายได้ง่าย ทําให้มีภัยอันตรายบังเกิดขึ้น เครื่องนุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ ”
    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจสอนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดยิ่ง ให้แก่กระผมได้หรือ? ”
    “ ได้...พ่อหนู! ”
    “ ถ้าได้ขอได้โปรดสอนให้เดี๋ยวนี้เถิด ”
    “ เออ...พ่อหนู เวลานี้เรายังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน ยังสอนให้ไม่ได้หรอก ”
    ลําดับนั้น นาคเสนกุมารจึงรับเอาบาตรของพระโรหนเถระ แล้วนิมนต์ให้ขึ้นไปฉันที่เรือน เมื่อฉันแล้วจึงกล่าวว่า
    “ ขอท่านจงบอกศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผมเดี๋ยวนี้เถิด ”
    “ โอ....พ่อหนู! ตราบใดที่พ่อหนูยังมีกังวลอยู่ ตราบนั้นเรายังสอนให้ไม่ได้ ต่อเมื่อพ่อหนูขออนุญาตมารดาบิดาแล้ว ถือเพศอย่างเรา คือโกนผมนุ่งเหลืองห่มเหลืองเหมือนเรา เราจึงจะสอนให้ได้"
    นาคเสนกุมารจึงไปขออนุญาตต่อมารดาบิดา เมื่อมารดาบิดาไม่อนุญาต จึงนอนอดอาหาร ต่อเมื่อมารดาบิดาอนุญาต จึงบอกพระเถระว่า
    “ กระผมจักถือเพศอย่างท่าน ขอท่านจงสอนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผม ” พระโรหนเถระจึงพานาคเสนกุมารกลับไปที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ค้างอยู่คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงพาไปหาพระอรหันต์ ๑๐๐โกฏิ ที่อยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ


    นาคเสนกุมารบรรพชา

    ในคราวนั้น พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ได้ให้นาคเสนกุมารบรรพชาอยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ นาคเสนกุมารบรรพชาแล้ว
    จึงกล่าวต่อพระโรหนเถระว่า

    “ กระผมได้ถือเพศเหมือนท่านแล้ว ขอท่านจงสอนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งให้กระผมเถิด ”

    พระโรหนเถระจึงคิดว่า เราจะสอนอะไรก่อนดีหนอ นาคเสนนี้มีปัญญาดี เราควรจะสอนอภิธรรมปิฎกก่อน
    ครั้นคิดแล้วจึงบอกว่า

    “ นาคเสน...เธอจงตั้งใจเรียนศิลปะศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งของเรา ”
    กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มแสดงอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ คือ

    คัมภีร์อภิธรรมสังคิณี ว่า “ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ” เป็นต้น และ คัมภีร์วิภังค์ ธาตุกถา
    ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกะ ปัฏฐาน เป็นลําดับไป

    นาคเสนสามเณรก็สามารถจําได้สิ้นเชิง พอมาถึงตอนนี้ ฉบับพิสดาร พรรณนาว่า ในขณะที่ฟังเพียงครั้งเดียว จึงได้กล่าวว่าขอได้โปรดบอกเพียงเท่านี้ก่อนเถิด เมื่อกระผมท่องจําได้แม่นยําแล้ว จึงค่อยบอกให้มากกว่านี้อีก

    ต่อมา "นาคเสนสามเณร" ก็ได้นําความรู้ที่เรียนมาพิจารณา เช่น ในบทว่า กุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อกุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อัพยากตา ธัมมา ได้แก่อะไร ดังนี้เป็นต้น

    ท่านได้พิจารณาเพียงครั้งเดียว ก็คิดเห็นเป็นกรรมฐานว่า มีความหมายอย่างนั้น ๆ ด้วยปัญญาบารมีที่ได้บําเพ็ญไว้
    มาแต่ชาติก่อนโน้น

    เมื่อคิดพิจารณาธรรมะอย่างถ้วนถี่แล้ว นาคเสนสามเณร จึงได้เข้าไปกราบนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลาย พร้อมกับ
    กล่าวว่า
    “ กระผมจะขอแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ตามที่ได้เรียนมาจากพระอุปัชฌาย์ โดยขออธิบายความหมายให้ขยาย
    ออกไปขอรับ ”

    พระอรหันต์ทั้งหลาย ได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงอนุญาตให้สามเณรแสดงได้ตามความประสงค์ สามเณรได้วิสัชนาอยู่
    ประมาณ ๗ เดือนจึงจบ ในขณะนั้น เหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นคือแผ่นดินใหญ่ก็เกิดหวั่นไหว เทพยดานางฟ้าทั้งหลาย
    ก็แสดงความชื่นชมยินดี พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ

    ทุกท่านต่างก็ร้องซ้องสาธุการ สรรเสริญปัญญาบารมีของสามเณร ได้โปรยปรายผงจันทน์ทิพย์ และ ดอกไม้ทิพย์
    บ้างก็เลื่อนลอย บ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมา หอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณนั้น

    พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้สาธุการแสดงความชื่นชมยินดีว่า แต่นี้ไปศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตร จะรุ่งเรือง
    วัฒนาถาวรตลอดไป


    นาคเสนอุปสมบท

    เมื่ออยู่นานมาจนกระทั่ง นาคเสนสามเณร มีอายุครบอุปสมบทแล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้อุปสมบทเป็น
    พระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา

    ในเวลาเช้า พระนาคเสนครองบาตรจีวร จะเข้าไปบิณฑบาตก็นึกขึ้นว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเห็นจะเปล่าจาก
    คุณธรรม อื่น ๆ คงรู้แต่อภิธรรมเท่านี้ อย่างอื่นคงไม่รู้

    ขณะนั้น พระโรหนเถระ จึงออกมากล่าวขี้นว่า
    “ นี่แน่ะ นาคเสน การนึกของเธอไม่สมควรเลย เหตุไรเธอจึงนึกดูถูกเราอย่างนี้? ”

    ฝ่ายพระนาคเสนก็นึกอัศจรรย์ใจว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเป็นบัณฑิตแท้ เพียงแต่เรานึกในใจก็รู้ เราจักต้องขอโทษ
    ครั้นคิดแล้ว จึงกล่าวขึ้นว่า

    “ ขอจงอดโทษให้กระผมด้วยเถิด กระผมจะไม่นึกอย่างนี้ อีกจะไม่ทําอย่างนี้อีก ”



    “ นาคเสน เรายังอดโทษให้ไม่ได้ ต่อเมื่อเธอทําให้ พระเจ้ามิลินท์ ผู้เสวยราชย์อยู่ในสาคลนครเลื่อมใสได้ ด้วยการแก้ปัญหานั้นแหละ เราจึงจะอดโทษให้ ”

    “ ท่านขอรับ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เพียงองค์เดียวเลย ต่อให้พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น เรียงตัวกันมาถามปัญหา
    กระผมก็จะทําให้เลื่อมใสได้สิ้น ขอท่านจงได้อดโทษให้กระผมเถิด ”
    เมื่ออ้อนวอนอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เป็นผล จึงถามว่า
    “ ในพรรษานี้ ท่านจะให้กระผมอยู่ที่สํานักนี้ หรือว่าจะให้กระผมไปอยู่ในสํานักผู้ใดขอรับ? ”

    พระโรหนเถระ จึงบอกว่า
    “ เธอจงไปหา พระอัสสคุตตเถระ ถามถึงความสุขของท่าน และบอกความทุกข์สุขของเราแทนเรา แล้วอยู่ใน
    สํานักของท่านเถิด ”

    ลําดับนั้น พระนาคเสนจึงอําลาพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทางไปหาพระอัสสคุตตเถระ กราบไหว้แล้วก็ถามถึงทุกข์สุข
    ตามคําสั่งของพระอุปัชฌาย์ แล้วขออาศัยอยู่

    พระอัสสคุตตเถระ จึงถามว่า
    “ เธอชื่ออะไร?"

    “ กระผมชื่อนาคเสนขอรับ ”

    พระอัสสคุตต์ ใคร่จะลองปัญญาจึงถามว่า

    “ ก็ตัวเราล่ะชื่ออะไร? ”

    “ พระอุปัชฌาย์ของกระผม รู้จักชื่อของท่านแล้วขอรับ ”

    “ อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร? ”

    “ อุปัชฌาย์ของกระผมท่านรู้อยู่แล้ว ”

    “ ดีละ ๆ นาคเสน ”

    พระอัสสคุตต์ จึงรู้ว่าพระภิกษุองค์นี้มีปัญญา จึงคิดว่าพระนาคเสนนี้ปรารถนาจะเรียนพระไตรปิฎก เราได้สําเร็จ
    มรรคผลก็จริงแหล่ แต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฎกรู้เป็นเพียงกลาง ๆ ก็อย่าเลยเราจะกระทํากิริยาไม่เจรจาด้วย ทําทีเหมือน
    จะลงพรหมทัณฑ์ด้วยภิกษุรูปนี้

    ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงได้ลงพรหมทัณฑ์ คือไม่พูดกับพระนาคเสนถึง ๓ เดือน แต่พระนาคเสนก็ปรนนิบัติได้ปัดกวาด
    บริเวณและตักน้ำใช้น้ำฉันไว้ถวายตลอดทั้ง ๓ เดือน ส่วนพระอัสสคุตต์จึงกวาดบริเวณด้วยตนเอง และล้างหน้าด้วยน้ำอื่น


    พระนาคเสนแสดงธรรมเป็นครั้งแรก

    พระอัสสคุตต์นั้นมีอุบาสิกาคนหนึ่ง เป็นผู้อุปัฏฐากมาประมาณ ๓๐ พรรษาแล้ว เมื่อล่วง ๓ เดือนนั้นไปแล้ว

    อุบาสิกานั้น จึงออกไปถามพระเถระว่า
    “ ในพรรษานี้มีภิกษุอื่นมาอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบ้างหรือ? ”

    พระเถระก็ตอบว่า
    “มี คือพระนาคเสน ”

    อุบาสิกานั้นจึงกล่าวว่า
    “ ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้เช้าขอพระผู้เป็นเจ้ากับพระนาคเสน จงเข้าไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านของโยมด้วย ”
    พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่

    พระอัสสคุตตเถระมิได้สนทนากับพระนาคเสน จนตลอดถึงวันปวารณาออกพรรษา เช้าวันนั้นพระเถระจําต้อง
    เจรจากับพระนาคเสน จึงกล่าวว่าอุบาสิกาเขามานิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าด้วยกัน แล้วจึงพาพระนาคเสนเข้าไป
    ฉันที่บ้านของอุบาสิกานั้น ครั้นฉันแล้ว จึงบอกให้พระนาคเสนอนุโมทนา ส่วนตัวท่านเองขอกลับไปก่อน ฝ่ายอุบาสิกานั้น
    จึงกล่าวต่อพระนาคเสนว่า

    “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมแก่แล้ว ขอท่านจงอนุโมทนาด้วยคาถาที่ลึกซึ้งเถิด ”
    พระนาคเสนก็อนุโมทนาด้วยคาถาอันลึกซึ้ง เมื่อจบคําอนุโมทนาลง อุบาสิกานั้นก็ได้สําเร็จพระโสดาปัตติผล
    ในขณะนั้น พระอัสสคุตตเถระกําลังนั่งอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ในวิหาร ได้ทราบความเป็นไปด้วยทิพจักขุญาณ
    จึงให้สาธุการว่า

    “ สาธุ..สาธุ..นาคเสน! ในที่ประชุมชนทั้งสอง คือมนุษย์และเทวดา เธอได้ทําลายให้คลายจาก
    ความสงสัยด้วยลูกศรเพียงลูกเดียว กล่าวคือได้แสดงธรรมเพียงครั้งเดียว ก็ทําให้ผู้รับฟังบรรลุมรรคผล
    ได้ สาธุ..เราขอชม สติปัญญาของเธอนี้ประเสริฐนักหนา ”

    ในเวลาเดียวกันนั้น เหล่าเทพยดานางฟ้าอีกหลายพัน ต่างก็ได้ตบมือสาธุการ ผงจันทน์ทิพย์ในสวรรค์ ก็โปรยปราย
    ลงมาดังสายฝน ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนานั้น

    ฝ่ายพระนาคเสนก็กลับไปกราบพระอัสสคุตตเถระแล้วนั่งอยู่ พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวว่า
    “ ตัวเธอมาอยู่ที่นี่นานแล้ว จงไปขอเรียนพระพุทธวจนะจาก พระธรรมรักขิต ผู้อยู่ในอโศการามด้านทิศอุดร
    แห่งเมืองปาตลีบุตรนครเถิด ”

    พระนาคเสนจึงเรียนถามว่า
    “ ท่านขอรับ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลจากนี้สักเท่าใด? ”

    “ ไกลจากนี้ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ”

    “ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลมาก อาหารในระหว่างทางก็จะหาได้ยาก กระผมจะไปได้อย่างไรขอรับ? ”

    “ เธอจงไปเถิด ในระหว่างทางเธอจะได้อาหารล้วนแต่ข้าวสาลีไม่มีเมล็ดหัก พร้อมทั้งกับข้าวอีกเป็นอันมาก ”
    พระนาคเสนจึงกราบลาพระอัสสคุตต์ แล้วออกเดินทางไปตามลําดับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ธันวาคม 2009
  4. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    ตอนที่ ๓
    พระนาคเสน ไปศึกษาพระไตรปิฎกกับ พระธรรมรักขิต

    ในคราวนั้น มีเศรษฐีชาวเมืองปาตลีบุตร คนหนึ่ง ได้เดินทางมาค้าขายตามชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรทุกสินค้าใหญ่น้อย ลงในเกวียน ๕๐๐ เล่ม ออกเดินทางกลับเมืองปาตลีบุตร ได้เห็นพระนาคเสนออกเดินทางไป จึงให้หยุดเกวียนไว้ แล้วเข้าไปกราบนมัสการไต่ถามว่า
    " พระคุณเจ้า จะไปไหนขอรับ ? "
    พระนาค เสนตอบว่า
    " อาตมา จะไปเมืองปาตลีบุตร "
    เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงกล่าวว่า
    " ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับโยมเถิดจะสะดวกดี "
    " ดีแล้ว คหบดี "
    ลําดับนั้น เศรษฐีจึงจัดอาหารถวาย เวลาฉันเสร็จแล้ว เศรษฐี จึงถามว่า
    " พระคุณเจ้า ชื่ออะไรขอรับ ? "
    "อาตมา ชื่อนาคเสน"
    " ท่านรู้พระพุทธวจนะหรือ ? "
    " อาตมา รู้เฉพาะอภิธรรม "
    " เป็นลาภอันดีของโยมแล้ว โยมก็ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็รู้อภิธรรม ขอท่านจงแสดงอภิธรรม ให้โยมฟังสักหน่อย"



    เมื่อพระนาคเสนแสดงอภิธรรมจบลง เศรษฐีก็ได้สําเร็จพระโสดาบัน แล้วพากันออกเดินทางต่อไป ครั้นไปถึงที่ใกล้เมืองปาตลีบุตร เศรษฐีจึงกล่าวว่า
    "ข้าแต่พระนาคเสน ทางนั้นเป็นทางไปสู่อโศการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปทางนี้เถิด แต่ทว่าอย่าเพิ่งไปก่อน ขอนิมนต์ให้พรแก่โยมสักอย่างหนึ่งเถิด"
    พระนาคเสน ตอบว่า
    " อาตมา เป็นบรรพชิต จักให้พรอะไรได้ "
    " พรใดที่สมควรแก่สมณะ ขอท่านจงให้พรนั้น "
    " ถ้ากระนั้นโยมจงรับเอาพร คือการกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริต "

    ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพล พร้อมกับบอกว่า
    " ขอท่านจงกรุณารับผ้ากัมพลอันยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ของโยมนั้นไปนุ่งห่มเถิด "
    พระนาคเสนจึงรับเอาผ้านั้นไว้ ส่วนว่าเศรษฐีถวายนมัสการแล้ว จึงกราบลามาสู่ปาตลีบุตรนคร
    ส่วนพระนาคเสนก็ออกเดินทางไปสู่สํานัก พระธรรมรักขิต ที่อโศการาม กราบไหว้แล้วจึงเรียนว่า
    " ขอท่านได้โปรดสอนพระพุทธวจนะ ให้กระผมด้วยเถิดขอรับ "


    ศึกษาร่วมกับภิกษุชาวลังกา

    ในคราวนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า พระติสสทัตตะ ได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ในเมืองลังกาจบแล้ว ปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นภาษามคธ จึงโดยสารสําเภามาสู่สํานักพระธรรมรักขิตนี้ เมื่อกราบไหว้แล้วจึง
    กล่าวว่า
    " กระผมมาจากที่ไกล ขอท่านจง บอกพระพุทธวจนะให้แก่กระผมด้วยเถิด "
    ลําดับนั้น พระธรรมรักขิตจึงบอกพระนาคเสนว่า
    " เธอกับพระติสสทัตตะควรเรียนพระพุทธวจนะด้วยกัน จะได้เป็นเพื่อนสาธยายด้วยกัน อย่าร้อนใจไปเลย "
    พระนาคเสน จึงกล่าวว่า
    " กระผมมิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะ พร้อมกันด้วยคําภาษาสิงหลได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นภาษาสิงหล"

    เป็นคําถามว่า เหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่าจะให้พระติสสทัตตะกับพระนาคเสน เรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน
    พระนาคเสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตตะกล่าวคําภาษาสิงหล ( อันเป็นภาษาของชาวลังกา )

    แก้ความนั้นว่า พระนาคเสนเข้าใจว่า อาจารย์คงจะบอกพระพุทธวจนะ เป็นคําภาษาสิงหล ด้วยภาษาสิงหลนี้เป็น
    คําวิเศษ กลัวว่าชาวประเทศสาคลราชธานีจะไม่เข้าใจ พระนาคเสนนั้นตั้งใจจะเรียนพระพุทธวจนะ ที่จะให้เข้าใจของชาว
    สาคลนคร มีพระเจ้ามิลินท์เป็นประธาน

    พระธรรมรักขิตจึงบอกขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
    " เธอจงเรียนพร้อมกับพระติสสทัตตะ เพราะพระติสสทัตตะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ผู้ไม่รู้จักภาษา "
    พระนาคเสนจึงคิดได้ว่าอาจารย์ คงไม่บอกเป็นภาษาสิงหลดอก อาจจะบอกเป็นภาษามคธ เราผิดเสียแล้ว จะต้อง
    ขอโทษพระติสสทัตตะ
    เมื่อพระนาคเสนคิดได้อย่างนั้น จึงกราบขอโทษ แล้วเริ่มเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน โดยเรียนอยู่ ๓ เดือนก็จบพระไตรปิฎก ซักซ้อมอีก ๓ เดือนก็ชํานาญ


    พระนาคเสนสําเร็จ พระอรหันต์

    ฝ่ายพระธรรมรักขิต เห็นพระนาคเสนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคําอุปมาว่า

    "นี่แน่ะ..นาคเสน ธรรมดาว่านายโคบาลได้แต่เลี้ยงโค ไม่ได้รู้รสแห่งนมโค มีแต่ผู้อื่นได้ดื่มรสแห่งนมโคฉันใด ปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ถึงแม้จะทรงพระไตรปิฎก ก็มิได้รู้รสแห่งสามัญผล คือมรรคผลอันควรแก่สมณะ เปรียบเหมือนกับนายโคบาล ที่รับจ้างเลี้ยงโคและรีดนมโคขาย แต่มิได้เคยลิ้มชิมรสแห่งนมโคฉันนั้น"
    พระนาคเสน ได้ฟังคําเช่นนั้นก็เข้าใจ จึงมีวาจาว่า
    " คําสั่งสอนของท่านเท่านี้พอแล้วขอรับ "
    ท่านกล่าวเพียงเท่านี้แล้ว ก็ลามาสู่อาวาส ต่อมาก็ได้พยายามเจริญสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สําเร็จพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ในเวลากลางคืน อันเป็นวันที่พระธรรมขิตให้นัยนั้นเอง

    ในขณะที่พระนาคเสน สําเร็จพระอรหันต์นั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินอันใหญ่นี้ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรสาคร ก็ตีฟองนองละลอก ยอดภูเขาก็โอนอ่อนโยกคลอนไปมา เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลาย ก็ตบมือสาธุการ ห่าฝนทิพย
    จุณจันทน์และดอกไม้ทิพย์ ก็ตกลงมาบูชาในกาลนั้น


    พระอรหันต์ให้ทูตไปตาม พระนาคเสน

    เมื่อพระนาคเสนได้สําเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ไปประชุมกันที่ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาหิมพานต์ แล้วส่งทูตไปตามพระนาคเสน

    เมื่อพระนาคเสนทราบแล้ว ก็หายวับจากอโศการาม มาปรากฏข้างหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่ถ้ำรักขิตเลณะ
    ในภูเขาหิมพานต์ กราบไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วจึงถามว่า
    "เพราะเหตุไรขอรับ จึงให้ทูตไปตามกระผมมา ? "
    พระอรหันต์ผู้เป็นหัวหน้าตอบว่า
    " เป็นเพราะ มิลินทราชา เบียดเบียนพวกเราด้วยการไต่ถามปัญหา เธอจงไปทรมานมิลินทราชานั้นเถิด "
    พระนาคเสนจึงเรียนว่า
    " อย่าว่าแต่มิลินทราชาเลย บรรดาพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่มีปัญหาเหมือนมิลินทราชานี้ จะซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด กระผมจะแก้ให้สิ้นสงสัย ให้มีพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายจงไปสู่สาคลนคร ด้วยความไม่สะดุ้งกลัวเถิด "


    พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล

    ในคราวนั้น ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งมีชื่อว่า พระอายุบาล ท่านเป็นผู้ชํานาญในนิกายทั้ง ๕ ( ทีฆนิกาย
    มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตนิกาย ขุททกนิกาย ) ได้อาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ

    ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ทรงดําริว่า ราตรีนี้ดีมาก เราควรจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใดดีหนอ
    ใครหนอจะสามารถสนทนากับเราได้ ใครหนอจะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดําริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการ
    ตรัสถามพวกราชบริพารโยนกทั้ง ๕๐๐ ก็กราบทูลว่า
    " มีพระเถระอยู่องค์หนึ่งชื่อว่า พระอายุบาล ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสดงธรรมวิจิตร
    มีปฏิภาณดี ชํานาญในนิกายทั้ง ๕ อยู่ที่อสงไขยบริเวณ ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปถามปัญหาต่อพระอายุบาลเถิด พระเจ้าข้า" "ถ้าอย่างนั้นขอจงไปแจ้งให้พระผู้เป็นเจ้าทราบก่อน"

    ลําดับนั้น เนมิตติยอํามาตย์ จึงใช้ให้คนไปแจ้งแก่พระอายุบาลว่า พระเจ้ามิลินท์จะเสด็จมาหาพระอายุบาล ตอบว่า เชิญเสด็จมาเถิด ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์ พร้อมกับหมู่โยนกเสนา ๕๐๐ ก็เสด็จขึ้นรถไปที่อสงไขยบริเวณ เมื่อไปถึงจึงตรัสสั่งให้หยุดรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่า เข้าสู่สํานักพระอายุบาล นมัสการแล้ว กระทําปฏิสันถารโอภาปราศรัยกันไปมา จึงมีพระราชดํารัสตรัสถามว่า
    " ข้าแต่พระอายุบาล บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์เยี่ยมของท่าน ? "
    พระอายุบาล ตอบว่า
    "ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร การบรรพชามีประโยชน์ เพื่อจะได้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ อันจะทําให้เกิดประโยชน์สุขแก่เทพยดา และ มนุษย์ทั้งหลาย"
    " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ จะมีคุณวิเศษบ้างหรือไม่ ? "


    จํานวนคฤหัสถ์ผู้ได้มรรคผล

    "ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ที่ประกอบไปด้วย ความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ทรงศีล ๕ หรือศีล ๘ ไว้มั่นคง ให้ทานและภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ตนเอง

    ดังตัวอย่าง เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระทศพลยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองพาราณสี โปรดประทานธรรมเทศนา พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน

    ครั้นจบลงแล้วพรหมทั้ง ๑๘ โกฏิ ได้สําเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้

    ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เวสสันดรชาดก ขทิรังคชาดก ราหุโลวาทสูตร และทรงแสดงธรรมที่ประตูเมืองสังกัสสนคร มีผู้สําเร็จมรรคผลประมาณ ๒๐ โกฏิ คนทั้งหลายนั้น กับเทพยดาและ พรหมทุกชั้น ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น ไม่ใช่บรรพชิตเลย"

    กรรมของพระที่ถือธุดงค์

    เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า “ ข้าแต่ท่านอายุบาล ถ้าอย่างนั้นบรรพชาก็ไม่มีประโยชน์อะไร พวกสมณะทั้งหลาย ที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่ได้บรรพชารักษาธุดงค์ต่าง ๆ ทําให้ลําบากกายใจนั้น ล้วนเป็นด้วยผลแห่งบาปกรรม ในปางก่อนทั้งนั้น ”

    นี่แน่ะ ท่านอายุบาล พวกพระที่ถือ “ เอกา ” ฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจร เที่ยวปล้นชาวบ้าน ไปแย่งชิงอาหารเขา ครั้นชาตินี้เล่า ผลกรรมนั้นดลจิตให้ฉันหนเดียว ดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีล รักษาตบะ รักษาพรหมจรรย์ ก็ไม่มีผลอันใด

    ประการหนึ่งเล่า พวกที่ถือธุดงค์ “ อัพโพกาส ” คืออยู่ในกลางแจ้งนั้น เมื่อชาติก่อนต้องได้เป็นพวกปล้นบ้านเผาเรือน มาชาตินี้จึงไม่มีที่กินที่อยู่ ส่วนพวกถือ “ เนสัชชิกธุดงค์ ” คือถือไม่นอนเป็นกิจวัตร ได้แต่เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น พวกนั้นต้องเป็นโจรปล้นคนเดินทางไว้เมื่อชาติก่อน จับคนเดินทางได้แล้วก็ผูกมัดให้นั่งจับเจ่าอยู่เท่านั้น

    โยมคิดดู ซึ่งธุงดค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีล จะเป็นตบะ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปเพื่ออะไร ปฏิบัติในเพศคฤหัสถ์ ก็ได้มรรคผลเหมือนกัน เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือ พระผู้เป็นเจ้า ?

    เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้ พระอายุบาลก็ขี้คร้าน ที่จะตอบจึงนั่งนิ่งไป มิได้ถวายพระพรโต้ตอบ ต่อข้อปัญหานั้น พวกโยนก ๕๐๐ จึงกราบทูลขึ้นว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระภิกษุองค์นี้ เป็นนักปราชญ์ ได้สดับเล่าเรียนมาก แต่ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบต่อคําถามของพระองค์

    พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังคําข้าราชบริพารทูลเฉลยก็หาสนใจไม่ ทอดพระเนตรดูแต่พระอายุบาล เห็นพระอายุบาลนิ่งอยู่ก็ทรงพระสรวล ( หัวเราะ ) พร้อมกับตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า

    “ ชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ใดๆ อาจสนทนากับเราได้ อาจแก้ความสงสัยของเราได้เลย เห็นทีจะสิ้นสุดครั้งนี้แล้วหนอ... ”

    ฝ่ายหมู่โยนกได้ฟัง ก็มิได้ตอบคําสนองพระราชโองการ ส่วนพระอายุบาลได้เห็นอาการของพระเจ้ามิลินท์ อย่างนั้น จึงคิดว่าเราเป็นสมณะไม่สมควรทะเลาะโต้เถียงกับใคร ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็ได้ แต่เป็นเพราะ พระราชาถามปัญหาที่ไม่ควรถาม คิดอย่างนี้แล้ว จึงเก็บอาสนะลุกไปเสีย

    หลังจากพระเจ้ามิลินท์เสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว จึงทรงดําริว่า จะต้องมีภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอาจสนทนากับเราได้อย่างไม่สงสัย จึงตรัสถามเนมิตติยอํามาตย์ขึ้นอีกว่า “ นี่แน่ะ..เนมิตติยะ ภิกษุผู้จะโต้ตอบกับเราได้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่ ? ”


    กิตติศัพท์ของ พระนาคเสน

    ในคราวนั้น พระนาคเสนผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สมณะ ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวาร ชํานาญในพระไตรปิฎก สําเร็จไตรเพท มีความรู้แตกฉาน มีอาคมพร้อม สําเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม ในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา อันประกอบด้วยองค์ ๙ ถึงแล้วซึ่งบารมีญาณ

    เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งปวง เหมือนกับ พญาเขาสิเนรุราช องอาจดั่งราชสีห์ มีใจสงบระงับเป็นอันดี มีปรีชาญาณล้ำเลิศ ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคํา อันเป็นปฏิปักษ์แก่พระพุทธศาสนา ได้อย่างเด็ดขาด

    เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนํา ชํานาญในอรรถธรรมทั้งปวง ไม่มีผู้ต่อสู้ ไม่มีผู้กั้นกางได้ ไม่มีผู้ล่วงเกินได้ ละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งปวง กระทําซึ่งแสงสว่างให้เกิด กําจัดเสียซึ่งความมืด

    เป็นผู้มีถ้อยคําประเสริฐ แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ล่วงลุถึงซึ่งบารมีญาณ มีปรีชาญาณเปรียบดัง ลูกคลื่นในท้องมหาสมุทร เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่คณะทั้งหลาย ล่วงรู้ลัทธิของหมู่คณะที่ไม่ดีทั้งหลาย ย่ำยี่เสียซึ่งลัทธิเดียรถีย์ทั้งปวง
    เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมแกล้วกล้าสามารถ มากไปด้วยความสุขกายสบายใจ เป็นผู้ทําสงฆ์ให้งดงาม เป็นพระอรหันต์ผู้ล้ำเลิศ เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัททั้งสี่

    เป็นผู้ที่จะแสดงบาลี อรรถกถา อันทําให้เกิดความเลื่อมใสแก่บัณฑิตทั้งหลาย ผู้มีความรู้ ผู้ประกาศคําสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเจ้า อันประกอบด้วยองค์ ๙ ผู้จะเชิดชูซึ่งแก้วอันประเสริฐในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ

    เป็นผู้จะยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาพระธรรม ผู้จะตั้งขึ้นซึ่งยอดพระธรรม ผู้จะยกขึ้นซึ่งธงชัยคือพระธรรมผู้จะเป่าสังข์คือพระธรรม ผู้จะตีกลองคือพระธรรมให้นฤนาท ผู้จะดีดกระจับปี่ สีซอ โทน รํามะนา ดนตรี อันได้แก่อริยสัจ ๔

    เป็นผู้ที่จะบันลือเสียงดังพญาช้าง พญาอุสุภราช พญาราชสีห์ ผู้จะทำให้โลก เอิบอิ่มด้วยห่าฝนอันใหญ่ คือพระธรรมให้พิลึกกึกก้อง เรืองรองดังสายฟ้าด้วยญาณปรีชา


    พระนาคเสนไปถึง อสงไขยบริเวณ

    เมื่อพระนาคเสนได้กราบลาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิแล้ว ก็ได้จาริกไปตามคามนิคมชนบท เทศน์โปรดประชาชนทั้งหลายโดยลําดับ ก็บรรลุถึงซึ่งสาคลนคร อันเป็นที่ประทับของพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นปิ่นแห่งโยนก

    พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาล ในกาลนั้น เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
    พระนาคเสนเถระผู้เป็นพหูสูต มีการแสดงธรรมประเสริฐ มีสติปัญญาสุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าสามารถในที่ประชุมชน ฉลาดในเหตุผลทั้งปวง มีปฏิภาณว่องไวหาผู้เปรียบมิได้ ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกอันประเสริฐ มีหมู่พระภิกษุสงฆ์ล้วนแต่ทรง พระไตรปิฎกห้อมล้อมเป็นบริวาร ได้ไปถึง อสงไขยบริเวณ แล้วพักอยู่ในที่นั้น

    พระนาคเสนเถระนั้น ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดั่งตาชั่ง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด เหมือนกับพญาไกรสรราชสีห์ ในป่าใหญ่ฉะนั้น พระนาคเสนนั้น เป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีความฉลาดรอบคอบ ในสิ่งที่ควรและไม่ควรทั้งปวง เป็นผู้ประกาศซึ่งอรรถธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณธรรมปรากฏ ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นพหูสูตทรงพระไตรปิฎก ไม่มีผู้เสมอเหมือนดังนี้


    พระเจ้ามิลินท์ ได้ยินชื่อ ทรงตกพระทัยกลัว

    ในคราวนั้น เทวมันติยอํามาตย์ ก็ได้ฟังข่าวเล่าลือ ซึ่งเกียรติคุณของพระนาคเสนดังแสดงมา จึงกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า “ ขอได้โปรดก่อนเถิดมหาราชเจ้า บัดนี้มีข่าวเล่าลือว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อว่า นาคเสน เป็นผู้แสดงธรรมอันวิเศษ มีสติปัญญาเฉียบแหลม แกล้วกล้าสามารถในที่ทั้งปวง ”

    เป็นผู้สดับเล่าเรียนมาก มีถ้อยคําไพเราะเสนาะโสต มีปฏิภาณดี แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ถึงซึ่งบารมีญาณ ไม่มีเทพยดาอินทร์พรหม ผู้ใดผู้หนึ่งจะสู้ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ พระเจ้าข้า

    เมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับคําว่า “พระนาคเสน ” เท่านี้ ก็ตกพระทัยกลัว มีพระโลมาลุกชันขึ้นทันที พระบาทท้าวเธอ จึงตรัสถามเทวมันติยอํามาตย์ว่า เวลานี้พระนาคเสนอยู่ที่ไหน เราใคร่เห็น ขอให้พระนาคเสนทราบ ?
    เทวมันติยอํามาตย์ จึงใช้ให้ทูตไปแจ้งแก่พระนาคเสนว่า พระเจ้ามิลินท์มีพระราชประสงค์จะพบเห็น เมื่อทูตไปแจ้งแก่พระเถระแล้ว พระเถระจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นขอจงเสด็จมาเถิด


    พระ เจ้ามิลินท์ เสด็จไปหา พระนาคเสน



    ลําดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารชาวโยนก ๕๐๐ เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมากเสด็จไปหาพระนาคเสนที่อสงไขยบริเวณ คราวนั้น พระนาคเสนกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ พอพระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า
    “ บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร ? ”
    เทวมันติยะทูลตอบว่า
    บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของ พระนาคเสน พระเจ้าข้า
    พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็น พระนาคเสนแต่ที่ไกลเท่านั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลมชาติชูชัน ( ขนลุก ) เสียแล้ว

    คราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนักหนา อุปมาดังพญาช้าง ถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ และเหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้ เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้ เหมือนกับหมี ถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตาม เหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม เหมือนกับงูมาพบหมองู เหมือนกับหนูมาพบพบแมว

    เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู เหมือนกับนกอยู่ในกรง เหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย เหมือนกับยักษ์ทําผิดต่อท้าวเวสสุวัณ เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุ รู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวตัวสั่นฉันใด พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัยฉันนั้น

    แต่พระบาทท้าวเธอทรงนึกว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูถูกเราได้เลย จึงได้ทรงแข็งพระทัย ตรัสขึ้นว่า
    “ นี่แน่ะ..เทวมันติยะ เธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะให้รู้จักพระนาคเสนเอง ”
    เทวมันติยอํามาตย์จึงกราบทูลว่า ขอให้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า

    ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ คือนั่งอยู่ข้างหน้าของพระภิกษุ ๔ หมื่นองค์ ที่มีพรรษาอ่อนกว่า แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก ๔ หมื่นองค์

    ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตร ดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า
    “เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้นหรือ..เป็นพระนาคเสน ? ”
    เทวมันติยะกราบทูลว่า
    “ ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบพระนาคเสนได้ดีแล้ว ”
    พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระบาทท้าวเธอ แลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชัน

    เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวไว้ว่า
    พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดีแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์ และ บัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลาย มาเป็นอันมากแล้ว ไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้ จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลยดังนี้


    จบเรื่องเบื้องต้น

    ที่มา : http://www.tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=127#third
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 ธันวาคม 2009
  5. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]
     
  6. บุญญสิกขา

    บุญญสิกขา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,863
    ค่าพลัง:
    +14,471
    พระนาคเสน



    การสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลิน กับ พระนาคเสน เป็น “กรอบอ้างอิง” ที่อธิบายถึงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของ “พุทธศาสนา” การที่ทั้งสองสนทนาธรรมและมีความเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งผู้ถาม (พระเจ้ามิลิน) และผู้ตอบ (พระนาคเสน) ในตอนท้าย แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติธรรม ที่แท้จริงต้องเข้าใจในหลักธรรมคำสอนเพื่อมุ่งเข้าสู่การ “นิพพาน” ตามหลักของศาสนา ระดับปัญญาชน ไม่ใช่การทำเพื่อ “ผลบุญในชาตินี้ ชาติหน้าเกิดมาจะได้อยู่ดีกินดี” ตามหลัก “ศาสนาระดับชาวบ้าน” โดยมิได้หวังให้ตน “หลุดพ้น (นิพพาน)”



    หลักธรรมที่สำคัญของการสนทนาธรรมคือ ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์ อันเป็น “ส่วนประกอบ” และ “องค์ประกอบ” ที่ก่อร่างสร้างทุกข์อย่างในตัวมนุษย์ เมื่อมนุษย์ถูกสร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบต่างๆ ทำให้มนุษย์มีกิเลส มีรัก มีโลภ มีโกรธ มีหลง ที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายในสังคม ต้นต่อที่สำคัญของปัญหาจึงเกิดจากการไม่เข้าใจตนเอง ไม่รู้กิเลสและทางสกัดกิเลสในตน การสนทนาธรรมเรื่องขันธ์ ๕ จึงเป็นการจุดประกายนำทางในการแก้ปัญหาทั้งมวลของ “มนุษย์” จากความเข้าใจผิดของมนุษย์ที่เชื่อมั่นใน “ความมีอยู่ของตัวตน” และทำทุกอย่างเพื่อตัวตน



    เรื่องขันธ์ ๕ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา การไม่เข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” จึงทำให้ไม่เข้าใจ “พุทธศาสนา” นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อย่างที่สังคมเผชิญอยู่ทุกวันนี้




    เรียนเชิญญาติธรรมผู้สนใจใฝ่ธรรม
    ติดตามรับฟังเสียงอ่านมิลินทปํญหา
    คลิ้กที่นี่ เร็วๆ นี้







    ที่มาข้อมูล เกร็ดความรู้ โลกทัศน์พุทธศาสนาในวรรณคดีเรื่อง มิลินทปัญหา <SUP></SUP>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 ธันวาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...