พลิกตำนาน ร.๕ เสด็จประพาสยุโรป เรื่องลับลมคมในที่ปกปิดอยู่ใน พระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน"

ในห้อง 'ประสบการณ์ ผลของการสวด' ตั้งกระทู้โดย Buddist Nephew, 3 ธันวาคม 2005.

  1. Buddist Nephew

    Buddist Nephew Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    31
    ค่าพลัง:
    +80
    พลิกตำนาน ร.๕ เสด็จประพาสยุโรป เรื่องลับลมคมในที่ปกปิดอยู่ใน พระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน"
    <HR style="COLOR: #ffffff" SIZE=1><!-- / icon and title --><!-- message -->ชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถูกทำให้เชื่อจนสนิทใจว่าการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้นเกิดขึ้นเพราะพระอาการประชวรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปจะเรียก ร.๕) เป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นสาเหตุให้ที่ประชุมคณะแพทย์ชาวยุโรปลงความเห็นว่า อากาศที่อบอ้าวและร้อนชื้นตลอดปีในสยามไม่เหมาะต่อการรักษาพระโรค จึงมีมติว่าอากาศแบบยุโรป และแพทย์ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง น่าจะสามารถเยียวยาได้ถูกโรคมากกว่าที่จะรักษาต่อไปในประเทศสยาม

    องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็มีพระราชวินิจฉัยเห็นพ้องดังพระราชดำรัสว่า

    "การที่มาครั้งนี้ เปนความคิดถูกไม่มีข้อระแวงเลย เชื่อว่ากลับไปแล้วคงจะได้กำไรส่วนความศุขกายไปบ้างเปนอันมาก ไม่เหนจะเหนื่อยเมื่อยล้าด้วยอากาศมันไม่ร้อนรน แต่ส่วนฉันเปนที่ถูกอารมณ์นับว่าสนุกเพลิดเพลินคือได้เที่ยวต้น การเที่ยวต้นที่นี่มันตัดกังวลได้หลายอย่าง เมื่อรวมความทั้งหมดในการมายุโรปคราวนี้ออกจะเปนธุดงค์ ตรงกันข้ามกับคราวก่อน เปนถูกงานพระราชพิธี"(๕)

    พระราชดำรัสในที่อื่นๆ ก็ยังทรงย้ำเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก

    "การที่จะคอยฟังข่าวขอให้เข้าใจว่า จะไม่ใคร่ได้ยินว่าผู้ใดได้รับรองเปนเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะไม่ได้มุ่งหมายมาเช่นนั้น ต้องการมารักษาตัวแลเที่ยวจริงๆ ถ้าคอยฟังข่าวเรื่องพระเกียรติยศแล้วจะเสียใจ ขอให้คอยฟังข่าวคราวแต่สบายไม่สบายเท่านั้น"(๔)

    เรื่องราวที่พบในพระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน" ถือเป็นภาพรวมของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังที่ละเอียดที่สุด แต่รายละเอียดจาก "ไกลบ้าน" ซึ่งประกอบด้วยพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จหญิงน้อย (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล) ก็เป็นเพียงการเล่าเรียงเหตุการณ์วันต่อวัน ทำนองบิดาเล่าให้บุตรฟังในครอบครัว ในสายตาคนทั่วไป "ไกลบ้าน" จึงเป็นภาพเบ็ดเสร็จของการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ ตามที่ทรงใช้คำว่า "ธุดงค์" เท่านั้น และไม่น่าจะมีจุดประสงค์อื่นปะปนอยู่

    แต่ "ไกลบ้าน" ก็ยังมีมิติอื่นๆ ที่ถูกบดบังไว้ ดังเช่นพระพจนาดถ์ที่ทรงเผลอตรัสออกมาในบางครั้งว่า

    "พ่อตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือบอกข่าวให้รู้เปนส่วนตัวต่างหาก จากที่รู้ทางราชการ" (พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑)

    ในที่สุด ร.๕ เสียเองกลับเป็นผู้ที่เปิดเผยความจริง ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒๔ ขณะประทับอยู่ที่กรุงปารีส

    "อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง"

    นอกจากนั้นยังพบว่าทรงกังวลพระทัยเรื่องข้อราชการบางอย่าง ถึงขั้นทรงปรับทุกข์กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

    "ฉันเปนกังวลเรื่องที่ปารีส ทราบข่าวว่าสัญญาฝรั่งเศสจะได้รติไฟ [Ratify คือให้สัตยาบัน] ในวีกนี้" แต่ที่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น คือการที่ตรัสว่าพระองค์จะทรงเป็นบุคคลสำคัญผู้มีส่วนในการลงพระนามรับรองสัญญาฝรั่งเศสฉบับนี้ด้วย

    "การแลกเปลี่ยนสัญญา ฉันจะได้เซนรติไฟที่นี่ [ปารีส] ถ้าจะยังไม่ได้เปลี่ยนก็เพราะกิงเดนมาร์กเสด็จปารีส แต่เขาว่าจะได้เปลี่ยนก่อนฉันไปถึง" (พระราชหัตถเลขาถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ จากเยอรมนี)

    และด้วยความโล่งพระทัยในความคืบหน้าของสัญญาซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสำเร็จเร็วขึ้น ทำให้มีพระราชดำรัสในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันเพิ่มเติมว่า

    "ความรัญจวนป่วนใจคิดถึงบ้านแรงจัดขึ้นทุกที แต่ฉันเปนคนมีทิฏฐิ ที่ทำอะไรอยากจะใคร่เหนความสำเรจ เมื่อเหนการล่วงไปก็มีความรื่นเริงในความสมปรารถนา ซึ่งเกิดขึ้นโดยลำดับนั้น จึงประทังสนุกอยู่ได้ไม่หงิมหงอยสร้อยเศร้าอย่างใด"(๕)

    นอกจากข้อมูลเชิงลึกที่ซุกซ่อนอยู่ในพระพจนาดถ์เหล่านี้แล้ว "ภาพหลักฐาน" บางอย่างใน "ไกลบ้าน" สามารถชี้เบาะแสต่อไปอีกว่า ยังมีบุคคลอื่นๆ นอกเหนือจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวข้องกับสัญญาปรากฏตัวร่วมอยู่ในการเดินทางด้วย รูปภาพฝรั่งร่างเพรียวลมคนหนึ่งปรากฏอยู่บนเรือซักซันเป็นระยะๆ ในหนังสือ "ไกลบ้าน" ภายหลังตรวจสอบภาพโดยวิธีเทียบรูปกับที่ปรึกษาชาวต่างประเทศทุกคนในสมัยนั้น พบว่าฝรั่งผู้ติดสอยห้อยตาม ร.๕ อยู่ตลอดเวลา น่าจะเป็นนายเวสเตนการ์ด (Jens I. Westengard) ซึ่งอยู่ในทีมที่ปรึกษาชาวอเมริกัน และเป็นมือขวาของนายสโตรเบล (Edward Strobel) อีกทีหนึ่ง คำอธิบายว่าฝรั่งในรูปเป็นคนๆ เดียวกันกับนายเวสเตนการ์ด ได้รับการยืนยันถึง ๒ ครั้งใน "ไกลบ้าน" ว่าเขาคือฝรั่งคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในคณะผู้ติดตามอย่างแน่นอน

    ครั้งที่ ๑ ในรายชื่อคณะผู้ติดตามเขียนว่า "กับมีมิศเตอร์เวสเตนกาด ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จฯ ไปถึงเมืองเยนัวอีกคน ๑" ครั้งที่ ๒ ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑๐ มีพระราชดำรัสสั้นๆ ว่า "มิศเตอร์เวสเตนกาดมาลา" ทำให้พออนุมานได้ว่า เยนัว ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของอิตาลี ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนฝรั่งเศสที่สุด จึงเป็นไปได้ที่นายเวสเตนการ์ดจะจับรถไฟตรงเข้าปารีสจากที่นั่น

    แต่ข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลับถูกตัดทอนให้สั้นลงไปอีก เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงขอพระบรมราชานุญาตจัดพิมพ์พระราชหัตถเลขาทั้งหมดรวมขึ้นเป็นเล่มหนังสือ (ชื่อไกลบ้าน) ทรงตอบรับทันที แต่ได้ทรงปรามไว้ว่าไม่ควรจะพิมพ์เนื้อหาทั้งหมด "แต่จะต้องตัดความซึ่งไม่ควรโฆษณาออกเสียบ้าง"(๓)

    แม้จนบัดนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าเรื่องอะไรบ้างที่ถูกตัดออกไป เพราะ ๑. อาจกระทบกระเทือนผู้หนึ่งผู้ใด และ ๒. อาจนำทางไปถึงความลับของทางราชการที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ข้อมูลอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยไม่รู้เท่าไรที่พลอยอันตรธานหายไปกับความระแวงหน้าพะวงหลังของพระองค์ด้วย

    ทว่า ยังพอมีเค้าโครงเดิมที่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทันตัดตบลบแต่งออกไปทันทีทันใด นั่นคือรายละเอียดที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแย้มไว้ในจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้านตามสำนวนเดิมว่า

    "ในเวลาเมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยุโรปนั้น รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสปฤกษาหาทางที่จะปรองดองระงับเหตุบาดหมางกันมาแต่ก่อน ด้วยเรื่องคนในบังคับฝรั่งเศส แลเรื่องเขตรแดน ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ ฝ่ายไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณอันเปนหัวเมืองเขมรให้แก่ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสยอมให้คนชาวตะวันออกในบังคับฝรั่งเศสอยู่ในอำนาจศาลไทย แลยอมคืนเมืองตราดให้แก่ไทย กับทั้งยอมถอนทหารที่ได้มาตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีถึง ๑๒ ปีนั้นกลับไป หนังสือสัญญานี้ได้รับอนุมัติในปาลิเมนต์ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ เวลาเมื่อตกลงกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในยุโรป จึงมีพระราชประสงค์จะใคร่เสด็จไปเยี่ยมเยือนทรงแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวเมืองตราดและเมืองจันทบุรี"(๑)

    เพื่อสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น ขอลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดอีกที ดังนี้

    การเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๕๐ มิได้มีจุดหมายเพื่อบำรุงรักษาพระพลานามัยตามที่เข้าใจกันอย่างเดียว ยังมีสนธิสัญญาฉบับล่าสุดกับฝรั่งเศสเป็น "เดิมพัน" อีกด้วย แต่ที่ทำให้วิธีประชาสัมพันธ์การเสด็จครั้งนี้แตกต่างไปจากการเสด็จครั้งแรกคือ ในคราวแรก ร.๕ ทรงไม่มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุมาเป็นเครื่องบีบคั้นพระทัย โดยทรงปล่อยให้สถานการณ์พาไปเท่านั้น ในขณะที่การเสด็จครั้งหลัง นอกจากที่กำลังทรงพระประชวรอยู่แล้ว ประเทศสยามกำลังดำเนินการตกลงขั้นสุดท้ายกับศัตรูหมายเลข ๑ คือฝรั่งเศส โดยมีอธิปไตยของชาติเป็นเดิมพันอยู่ ทั้งยังไม่รู้แน่นอนว่าจะสำเร็จหรือไม่? เพราะอยู่ระหว่างการต่อรอง การเปิดเผยความจริงใดๆ อย่างวู่วาม อาจทำให้ทุกอย่างล้มเหลวได้ นี่คือเหตุผลให้การเดินทางครั้งนี้ดูมีลับลมคมในตั้งแต่ต้น จึงเป็นความจำเป็นต้องเบี่ยงเบนประเด็นไปที่การเปลี่ยนอากาศเป็นสาเหตุของการเดินทางแทน

    แต่การปกปิดความจริงก็มิได้ส่งผลดีแม้แต่น้อย เพราะมันเปิดช่องโหว่ให้คนพาลซึ่งต้องการใส่ร้ายป้ายสีพระเจ้าอยู่หัว ใช้สาเหตุของการเสด็จประพาสที่สามารถตีความหมายว่าไปเที่ยว เป็นเครื่องมือโจมตีพระองค์อย่างขาดสามัญสำนึก ภายหลังจากที่เสด็จออกจากพระนครไม่นาน ก็มีบัตรสนเท่ห์กล่าวโจมตีการเสด็จครั้งนี้ว่าไร้ประโยชน์ และถึงแม้จะทรงทราบด้วยความน้อยพระทัย อย่างไรก็ตามยังต้องทรงนิ่งเฉยไว้ด้วยไม่มีพระราชประสงค์จะตอบโต้ด้วย และได้ทรงนำเรื่องดังกล่าวไปถ่ายทอดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ฟังดังนี้



    วันที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖

    ถึงพระยาสุขุม

    ...แต่เซนเตนส [หมายถึงประโยค] ที่ลงโทษต่อไปข้างท้ายเหนว่าควรจะร้องอุทธรณ์ "เห็นจะไม่พ้นเปนขี้ค่าฝรั่งเปนแน่ หรือจะเปนชะตาของบ้านเมือง จึงเปนได้ดังนี้" ความอันนี้อ่านไม่ออกว่าได้ทำอะไรซึ่งสมควรจะเป็นขี้ค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ จะว่าเพราะใช้เงินพระคลังข้างที่มากจึ่งจะต้องเป็นขี้ค่าฝรั่งก็ไม่ใช่...หรือไปทำหนังสือยอมอยู่ในโปรเตกชัน [เมืองขึ้น] หรือทำหนังสือยอมยกเมืองโดยวิลล์ [ด้วยความสมัครใจ] ให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใด ถ้าหากความเห็นของคนว่าข้าเปนเช่นนั้นได้แล้ว ไม่มีอย่างอื่นที่ควรทำยิ่งกว่า ให้ออกเสียจากราชสมบัติเพื่อจะรักษาแผ่นดินไว้...นี่จะนึกว่าเอาเจ้าแผ่นดินออกมาโชว์สักครั้งหนึ่งไม่ได้หรือ และได้กุศลทำให้อายุยืนยาวไป ดูไม่ควรจะดุร้ายถึงเพียงนี้...รวมใจความว่าไม่มีความพอใจทั้งเจ้าแผ่นดิน และทั้งที่ประชุมเซนเซอร์การปกครองแผ่นดินสยามในเวลานี้...ความคิดของข้าไม่เดือดร้อนอันใด เพราะพูดไม่มีที่จบอยู่เพียงไหน ถ้าจะเอาเรโซลูชันเข้าก็จนเท่านั้น นี่เสียใจที่สิ่งซึ่งไม่คาดว่าจะเปนมาเปนขึ้น เปนของที่จะเปลื้องให้ลืมเสียได้ยากอย่างยิ่ง

    จุฬาลงกรณ์ ปร.(๔)



    หมายเหตุ : ข้อความบางตอนขาดหายไปจากต้นฉบับ



    คำว่าเรโซลูชัน (Resolution) หมายถึง "ความตั้งใจ" ของการเสด็จ ซึ่งไม่อาจเปิดเผยได้ แต่ถ้าชี้แจงได้ก็จะทำให้ผู้กล่าวหาเข้าตาจนเท่านั้น พระพจนาดถ์ตอนท้ายพระราชดำรัส มีนัยที่มีความหมายทั้งสิ้น ดังนั้นหากว่าพวกมิจฉาทิฐิจะล่วงรู้ความจำเป็นว่ามีความสำคัญขนาดไหนแล้ว คนพวกนั้นก็คงจะต้องแทรกแผ่นดินหนีด้วยความละอายใจอย่างที่สุด

    และด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงดังกล่าว การเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังจึงมีความลับลมคมในที่ต้องปิดบังไว้ต่อไป

    ถ้าปฏิญญาฉบับ พ.ศ. ๒๔๓๙ (Anglo-French Declaration 1896) ที่พวกอังกฤษ-ฝรั่งเศสคบคิดกันเพื่อล้อมกรอบสยามให้อยู่โดดเดี่ยวเป็นจริง จนกลายเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ ร.๕ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปยุโรปครั้งแรก ประวัติศาสตร์ก็กำลังจะซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสลงนามร่วมกันในความตกลงฉันมิตรฉบับ พ.ศ. ๒๔๔๗ (Anglo-French Entente 1904) ซึ่งมีผลให้พระองค์ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเสด็จไปยุโรปอีกเป็นครั้งที่ ๒

    ความตกลงฉบับใหม่นี้เป็น "ปัจจัยภายนอก" อันจะเป็นบ่อเกิดของความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในราชสำนักสยามที่ถูกกล่าวถึงน้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย และกลายมาเป็นอีกเหตุผลหนึ่งนอกเหนือจาก "ปัจจัยภายใน" ของการตัดสินพระทัยที่จะเสด็จไปรักษาพระองค์ในยุโรป

    Anglo-French Entente หรือบางทีเรียก Entente Cordial (1904) เป็นความตกลงระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ภายหลังจากที่สองมหาอำนาจตระหนักว่าผลประโยชน์ของตนเร่งเร้าให้ต่างฝ่ายต่างต้องสามัคคีกันแทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่แล้วๆ มา โดยทั้ง ๒ ประเทศเห็นพ้องกันว่าปัญหาในอาณานิคมของตนเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะปรองดองกันได้ อันเป็นการรับรองให้ทั้ง ๒ ฝ่ายมีสิทธิ์และผลประโยชน์เท่าเทียมกัน โดยมีเจตนารมณ์แห่งการประนีประนอม เพื่อขจัดปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอียิปต์ โมร็อกโก แอฟริกาตะวันตก มาดากัสการ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือประเทศสยาม(๖)

    ความตกลงฉันมิตรระบุไว้ว่า ดินแดนในครอบครองของสยามทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อนี้ไปถือว่าอยู่ใต้อิทธิพลฝรั่งเศส ในขณะที่บริเวณทางภาคตะวันตกของแม่น้ำนี้และของอ่าวไทยอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้แบ่งสยามออกเป็น ๓ เขตปกครอง คือ ภาคตะวันออกเป็นเขตอิทธิพลฝรั่งเศส ภาคตะวันตกเป็นเขตอิทธิพลอังกฤษ ส่วนภาคกลางให้ถือเป็นเขตเป็นกลาง (Neutral Zone) ทั้ง ๒ มหาอำนาจสามารถกระทำการได้อย่างเสรีในเขตอิทธิพลที่กำหนดไว้ ความตกลงนี้มิใช่เพื่อประโยชน์ของสยามเลย และแทบจะทำให้ความเชื่อมั่นอื่นๆ ภายหลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก รวมถึงปฏิญญา ค.ศ. ๑๘๙๖ ที่ตั้งให้สยามเป็นรัฐกันชนและอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ เป็นหมันไป แน่นอนความตกลงนี้ไม่สามารถยับยั้งให้ ร.๕ ทรงนิ่งเฉยได้ แต่จะทำอย่างไร?

    พงศาวดารไทยตัดบทเรื่องความตกลงฉันมิตรออกไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่อยู่ดีๆ ก็เปิดเผยเรื่องสัญญาฝรั่งเศสขึ้นมาแทนที่ ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแย้มไว้ ซึ่งบังเอิ๊นบังเอิญตกลงกันได้ในขณะที่ ร.๕ เสด็จประพาสกรุงปารีสอยู่พอดี ช่างเป็นความประจวบเหมาะที่แนบเนียน ทั้งที่มีพระราชดำรัสว่าทางกรุงเทพฯ จะ "ไม่ใคร่ได้ยินว่าผู้ใดได้รับรองเปนเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะไม่ได้มุ่งหมายมาเช่นนั้น ต้องการมารักษาตัวแลเที่ยวจริงๆ"(๓)

    ในทางตรงกันข้าม นายพันเอก หม่อมนเรนทรราชา ผู้ตามเสด็จคนหนึ่งได้เขียนไว้ว่า "วันที่ ๑๘ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ โดยรถไฟถึงกรุงปารีส มิสเตอร์เวสเตนกาดพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากมารอรับที่สถานีรถไฟ...ต่อมาวันรุ่งขึ้น เวลา ๔ โมงเย็น เสด็จฯ โดยรถม้าพระที่นั่งไปยังทำเนียบที่พำนัก [เอลิเซ พาเลส์] ของมงสิเออฟาลิแยร์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส มีทหาร ๑ กองพันเป็นกองเกียรติยศตั้งแถวรอรับเสด็จ...ในการนี้พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ แด่ ม.ฟาลิแยร์ด้วย วันที่ ๒๐ มิถุนายน จึงมีงานเลี้ยงใหญ่ที่ทำเนียบอีกครั้ง เพื่อฉลองสนธิสัญญาฉบับใหม่และถวายต้อนรับการเสด็จอย่างเป็นทางการซึ่งคณะรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ การต้อนรับอย่างเอิกเกริกนี้ สร้างความขัดแย้งกับพระราชปรารภแต่แรกที่จะมาแบบธุดงค์ หรือประพาสต้น หรือแม้แต่การมารักษาพระองค์ ก็ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย"(๒)

    ความลับเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เอกสารสิ่งตีพิมพ์ร่วมสมัย ในรูปหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกในระยะนั้น โยงใยความสัมพันธ์ของสัญญาฝรั่งเศสเข้ากับความก้าวหน้าทางการเมืองในเดนมาร์กและเยอรมนีด้วย ทำให้ราชสำนักทั้ง ๒ ประเทศดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องทางอ้อมกับการเสด็จในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

    ร.๕ มีพระราชดำรัสใน "ไกลบ้าน" อ้างถึงคำทูลเชิญอย่างกะทันหันของเจ้าชายเดนมาร์กพระองค์หนึ่ง ซึ่งจะกระทบแผนเสด็จประพาสยุโรปอย่างคาดไม่ถึง สืบเนื่องจากพระราชปรารภตั้งแต่แรกว่า จะไม่ทรงขอพักพิงหรือพึ่งพาอยู่ในราชสำนักใดตลอดการเดินทาง แต่แล้วเมื่อเจ้าชายวัลเดอมาร์แห่งเดนมาร์กทราบเรื่อง จึงมีพระราชสาส์นด่วนฝากมากับพระยาชลยุทธโยธิน (กัปตันริชลิเออ) โดยหวังว่าการไหว้วานคนสนิทของพระเจ้าอยู่หัว จะทำให้พระองค์ไม่ทรงปฏิเสธได้ พระราชสาส์นนั้นเป็นคำทูลเชิญให้ ร.๕ เสด็จไปประทับที่พระราชวังเบินสตอฟในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระองค์และเจ้าหญิงมารี ออเล-อง พระชายาชาวฝรั่งเศส(๓)

    อันว่าเจ้าหญิงมารีองค์นี้ หนังสือพิมพ์เลอมาแตง (Le Matin) ของฝรั่งเศสกำลังลุ้นระทึกให้เธอใช้อิทธิพลของพระสวามีกดดันให้ ร.๕ ทรงเห็นพ้องกับข้อแลกเปลี่ยนที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังเสนออยู่ในสัญญา โดยในกระแสข่าวผูกมัดเจ้าหญิงมารีอย่างโจ่งแจ้งว่า

    "การสิ้นสุดอำนาจของฝรั่งเศสในดินแดนของพระองค์ [สยาม] ไม่ใช่เหตุบังเอิญ พระองค์รายล้อมไปด้วยพันธมิตรที่ไม่น้อยหน้าใครในยุโรป มีปรินซ์วัลเดอมาร์ ผู้มีพระชายาเป็นเจ้าหญิงฝรั่งเศส คือปรินเซสมารี ทำให้เดาได้ไม่ยากนักว่าใครคือผู้ปกป้องอาณาจักรเล็กๆ นี้ มันเป็นความบีบคั้นสำหรับฝรั่งเศสในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งถึงแม้ฝรั่งเศสจะเดินหน้าไปก่อน แต่แท้ที่จริงกลับเป็นเดนมาร์กที่แซงหน้าเราขึ้นไป...พวกเราหมดสิ้นแล้วในสยาม ถ้าจะมีอะไรเหลืออยู่ก็คงเป็นเจ้าหญิงมารี ออเล-อง เท่านั้น ที่จะช่วยผลักดันทางอ้อมให้สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นจริงขึ้นมา การที่จะได้เขมรส่วนในกลับมาเป็นของเรา เท่ากับเรียกขวัญและกำลังใจทั้งหมด ที่ฝรั่งเศสทุ่มเทลงไปในเขมรคืนมาด้วย"(๙)

    นอกจากเจ้าหญิงมารี ซึ่งอาจจะเป็นผู้หนึ่งที่บงการสัญญาฉบับนี้อยู่ข้างหลังแล้ว การที่ ร.๕ ทรงเลือกประเทศเยอรมนี ในการเสด็จมารักษาพระองค์ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เคยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยจากสื่อมวลชนเยอรมัน หนังสือพิมพ์ Die Garten Laube ของเยอรมนีฉบับหนึ่ง ประจำเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๗ เปิดเผยว่า "การเสด็จประพาสเยอรมนีของพระเจ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นก้าวสำคัญทางพระราชไมตรีกับไกเซอร์ของเรา พระองค์ทรงได้รับการทูลเชิญให้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เมืองบาเดน บาเดน และบาดฮอมบวร์ก ในค่ำวันนี้โปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยงต้อนรับ ณ พระบรมมหาราชวัง [พระราชวังชลอซเรสิเดนต์ เมืองเฮสคัสเซล] ที่ซึ่งใช้เป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการด้วย"(๘)

    ข่าวสั้นๆ นี้อาจจะไม่มีความหมายอะไรมากมาย แต่สำหรับนักวิเคราะห์ข่าวการเมืองมันสื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาเลย ระหว่างจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจยุโรปกับกษัตริย์จากราชอาณาจักรเล็กๆ ที่ผู้นำยุโรปไม่เคยให้ความสำคัญมากนัก ทว่าเบื้องหลังความสนิทสนมนี้มีผลประโยชน์เล็กๆ ที่ประมุขทั้ง ๒ พระองค์ทรงหวังพึ่งพากันอยู่ พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ แห่งเยอรมนีกำลังใช้อิทธิพลส่วนพระองค์กับ ร.๕ ด้วยความมุ่งหวังพระบรมราชานุมัติ เพื่อเอกสิทธิ์พิเศษสำหรับเยอรมนีในทำเลเหมาะๆ ตามชายฝั่งอันเหยียดยาวของสยาม ในการจัดตั้งสถานีเชื้อเพลิงและสร้างท่าเรือน้ำลึก ภายหลังจากที่เยอรมนีประกาศใช้โครงการเทอร์พิตซ์ (Tirpitz Plan) เพื่อสร้างแสนยานุภาพทางทะเล และขยายตลาดการค้าของตนในเอเชียอาคเนย์ และที่เป็นจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ของสยามเช่นกัน คือการที่พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเคยสนับสนุนให้มหาอำนาจทั้งสี่ ประกอบด้วย เยอรมนี รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมกันรับประกันเอกราชของสยาม ซึ่งถึงแม้จะได้รับการปฏิเสธและต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสมาครั้งหนึ่งก็ตาม แต่พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ก็มิได้ทรงละความพยายามเนื่องมาจากผลประโยชน์และความหวังที่จะรักษาอิทธิพลของเยอรมนีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดำรงอยู่ตลอดไป

    และสำหรับการเสด็จมาเยอรมนีครั้งนี้ พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงได้ตระเตรียมแผนการใหม่ที่จะสร้างความประหลาดใจให้ ร.๕ ไม่น้อย กล่าวคือ เนื่องจากทรงมีความปรารถนาดีต่อสยาม จึงมีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือประเทศสยามให้พ้นจากการคุกคามของมหาอำนาจที่เห็นแก่ตัวอื่นๆ ทรงเสนอว่า ถ้าประเทศสยามถูกรุกรานโดยมหาอำนาจใดๆ ก็ตาม เยอรมนีจะจัดให้มีการประชุมทำนองเดียวกันกับการประชุมที่เมืองอัลเจซีรัสในประเทศสเปน

    การประชุมที่อัลเจซีรัส ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๖) ถือเป็นความสำเร็จทางการเมืองของพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งสามารถพิสูจน์ศักยภาพของเยอรมนีในเวทีการเมืองโลก ในครั้งนั้นทรงตั้งพระองค์เป็นหัวเรือใหญ่ ให้มีการจัดอภิปรายการบริหารประเทศโมร็อกโกของนานาชาติ ทั้งยังเป็นการทดสอบความมั่นคงของความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส หรือความตกลงฉันมิตร ซึ่งเพิ่งจะสร้างความตะขิดตะขวงพระทัยให้ ร.๕ มาสดๆ ร้อนๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าการประชุมเป็นจุดประสงค์ของเยอรมนีที่จะขัดขวางอิทธิพลของฝรั่งเศสในโมร็อกโก และด้วยการแทรกแซงอย่างไม่ลดละของเยอรมนี จึงเกิดความเห็นพ้องนำไปสู่การลงนามในพระราชบัญญัติอัลเจซีรัส ค.ศ. ๑๙๐๖ (Algeciras Act) ประกอบด้วยสาระสำคัญคือ ข้อบังคับให้ฝรั่งเศสและสเปนมีส่วนร่วมกันบริหารกิจการภายในของโมร็อกโก โดยให้มีชาติที่เป็นกลางคือสวิส เป็นผู้ตรวจการ แทนที่จะให้อำนาจเด็ดขาดแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น "ฝรั่งเศส" หรือสเปนแต่ผู้เดียว(๖)

    คำเสนอของเยอรมนี เรื่องการประชุมทำนองเดียวกันอีกครั้งเหนือปัญหาสยาม จึงเป็นความพยายามครั้งใหม่ที่โดนพระทัย ร.๕ เป็นอย่างยิ่ง ทรงแน่พระทัยว่าการแสดงออกของพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทำให้เยอรมนีกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสยามอย่างจริงจัง ดังนั้นทันทีที่พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงทูลเชิญให้เสด็จมารักษาพระอาการประชวรในเยอรมนี ร.๕ จึงมีพระราชดำรัสกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทันทีว่า "ถ้าเป็นคนอื่นก็อินคอนวิเนียน [ไม่สะดวก] แต่นี่เปนเอมเปอเรอเยอรมันเลยต้องฮุบ"(๕)

    ความตกลงฉันมิตรของอังกฤษ-ฝรั่งเศส เป็นแรงกดดันให้สยามหันมาคบหาเยอรมนีมากเป็นพิเศษในระยะนี้

    แต่อังกฤษและฝรั่งเศสก็มองแผนการของสยามอย่างทะลุปรุโปร่งและรู้ทัน "เกมซ้อน" ของนโยบายสร้างพันธมิตรของสยามเป็นอย่างดี เกมหนึ่งนั้นคือ แสวงหาหลักประกันเอกราช จากการทำให้ผลประโยชน์ของคู่แข่งคืออังกฤษ-ฝรั่งเศสขัดกัน อีกเกมหนึ่งคือ อำนวยผลประโยชน์ทางการค้าและอภิสิทธิ์พิเศษแก่มหาอำนาจอื่นๆ (เช่น เยอรมนี) เพื่อสามารถพึ่งพาประเทศนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็น และนำหลักประกันของชาตินั้นไปขัดกับหลักประกันซึ่งได้มายากเย็นระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส เช่นในคราวนี้

    อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ ร.๕ ทรงให้ความสนพระทัย และทรงทุ่มเทเวลาให้กับเยอรมนีมากกว่ารัสเซีย เพราะนับได้ ๑๐ ปี ตั้งแต่การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ที่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย เคยทรงแสดงบทบาทเจรจากับฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือประเทศสยาม แต่สนธิสัญญาทวิภาคี (Dual Alliance) ระหว่างฝรั่งเศส-รัสเซีย ได้กลายเป็นตัวถ่วงมิให้เกิดความสำเร็จมากนัก และที่สำคัญความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามกับญี่ปุ่น ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๗ (ค.ศ. ๑๙๐๔) ติดตามด้วยการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซีย ทำให้เกียรติภูมิของรัสเซียมัวหมองลงอย่างมาก ในทรรศนะของ ร.๕ และเป็นเหตุผลใหญ่ให้ทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จไปรัสเซียคราวนี้ การคบหากับเยอรมนี ซึ่งก็เป็นมหาอำนาจใหญ่ แถมไม่มีพันธะผูกมัดกับขั้วมหาอำนาจใดๆ เป็นทางเลือกใหม่ที่มีความหมายยิ่งต่อสถานการณ์ในขณะนั้น

    แต่ข้อมูล "หยุดโลก" เบื้องหลังการเสด็จประพาส ไม่ได้จบอยู่ที่พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ แห่งเยอรมันเพียงเท่านั้น ข้อมูลใหม่ยังชี้ไปที่ "เจ้าเขมร" อีกคนหนึ่ง ผู้มีพระนามว่าพระเจ้าศรีสวัสดิ์ และเจ้าเขมรผู้นี้ต่างหากที่พลิกแผนเสด็จประพาสยุโรปอย่างถล่มทลาย พระองค์ทรงมีส่วนเร่งรัดและกดดันให้โครงการของ ร.๕ ที่จะมายุโรปเร็วขึ้นอีก ๑ ปี ข้อมูลที่น่าทึ่งชิ้นนี้ ปรากฏอยู่ในวารสารการเมืองของฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ชื่อ A Travers Le Monde หัวข้อข่าวที่เหลือเชื่อระบุอยู่อย่างใจเย็นว่า

    เบื้องหลังสนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าจุฬาลงกรณ์และพระเจ้าศรีสวัสดิ์

    "เกียรติยศซึ่งเราได้ถวายแด่พระเจ้าศรีสวัสดิ์เมื่อปีที่แล้ว [พ.ศ. ๒๔๔๙] มีผลสะท้อนอย่างมหาศาลต่อความคืบหน้าในอินโดจีน และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การต้อนรับอย่างกระตือรือร้นที่เรามอบแด่เจ้าประเทศราชเก่าแก่ของสยาม ทำให้พระเจ้าจุฬาลงกรณ์ไม่สบายพระทัย พระองค์จึงทรงเร่งให้การเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งตอนแรกกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ ต้องเร็วขึ้นอีก ๑ ปี เพื่อสะสางพระราชกรณียกิจของพระองค์ในปารีส"(๗)

    อันที่จริงผู้เขียนไม่มีจุดประสงค์จะถ่ายทอดข้อความจากวารสารฉบับนี้มาแสดงทั้งหมด เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเขียนขึ้นโดยคนฝรั่งเศส ที่ให้ท้ายผู้นำเขมรอยู่ดี แต่เมื่อลองอ่านดู ได้พบข้อเท็จจริงหลายประการสอดแทรกอยู่ ช่วยให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่ายังไม่เห็นด้วยเสียทั้งหมด แต่คิดว่ามันจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติของคนในสมัยนั้นดีขึ้น จึงขอตัดตอนแปลบางส่วนมาให้พิจารณาดังต่อไปนี้

    ๑. ในทัศนะเขมร ผู้เขียนที่ใช้นามว่าฟรานซิส มูรี (Francis Mury) กล่าวว่า "เป็นเรื่องจริงที่ว่า ร.๕ และ ร.๔ ของประเทศสยามก็ได้อ้างว่าจังหวัดดังกล่าว [เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ] เป็นของบรรพบุรุษของพระองค์เช่นเดียวกัน และในการที่ได้มีการขนย้ายสมบัติที่มีค่ามากมายจากปราสาทนครวัดไปไว้ตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ก็เนื่องมาจากความเกี่ยวข้องในการอ้างดังกล่าว เพียงแต่มิได้กล้าให้พระสงฆ์ชาวสยามมาทำหน้าที่แทนพระสงฆ์ชาวเขมรในการดูแลรักษาตัวนครวัด ด้วยเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ชาวเขมรมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการอ้างสิทธิ์โดยชอบธรรมของชาวเขมรจะมีเหตุผลมากกว่า ทั้งนี้เพราะทางราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ยังมีเชื้อสายจีนค่อนข้างมาก จึงไม่ได้ช่วยให้ราชสำนักสยามเลื่อมใสศรัทธาโบราณสถานของเขมรมากไปกว่าชาวเขมรเอง ซึ่งมีความเป็นเขมรเข้มข้นกว่า"

    ๒. ในทัศนะสยาม นายฟรานซิสเข้าใจว่า "ร.๕ มีพระราชประสงค์อันแรงกล้าที่จะขจัดระบบของคนในบังคับ และศาลกงสุลให้หมดสิ้นไปจากพระราชอาณาจักร เนื่องจากมีผลต่ออธิปไตยของประเทศ การที่ประเทศอื่นเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องภายในของประเทศย่อมแสดงให้เห็นว่า ประเทศนั้นยังคงป่าเถื่อนและฐานะต่ำต้อย ประเทศสยามจึงได้ยอมรับการสูญเสีย [๓ จังหวัด] นอกรั้วบ้านอันใหญ่หลวงนี้ เพื่อที่จะได้เป็นใหญ่ในบ้านของตน ทั้งนี้ประเทศสยามถืออย่างมีเหตุผลว่า หากสามารถทำให้ฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิคุ้มครองได้ ก็จะสามารถบังคับให้มหาอำนาจอื่นๆ ยินยอมยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวเช่นเดียวกัน ร.๕ จึงทรงยอมสละดินแดนที่มีความหมายต่อพระองค์ เพื่อสิ่งตอบแทนที่มีความหมายมากกว่าสำหรับพระองค์"

    ๓. ในทัศนะฝรั่งเศส นายฟรานซิสเชื่อว่า "สนธิสัญญาที่เพิ่งจะได้มีการลงนามกัน [ในปารีส] ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่สำหรับประเทศสยาม ซึ่งเพิ่งจะพ้นจากการหลับใหลอันยาวนาน จึงเต็มไปด้วยพลังคนหนุ่มไฟแรง อนาคตเท่านั้นที่จะบอกเราได้ว่า ร.๕ ได้ทรงตั้งความหวังไว้สูงเกินไปหรือไม่ การที่สยามเร่งขีดความสามารถของตนเองเพราะต้องการพบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ก็เท่ากับได้ยอมแลกพิมเสนกับเกลือในเวลานี้ แต่เราคงจะไม่บ่นอะไรมาก เนื่องจากฝ่ายที่ได้พิมเสนก็คือพระเจ้าศรีสวัสดิ์ ผู้อยู่ในความคุ้มครองของเรา และอาณาจักรของพระองค์ก็คืออินโดจีนของเรา"

    พระเจ้าศรีสวัสดิ์ทรงตระหนักว่า "ปราสาทนครวัด" มีความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเขมรอย่างยิ่ง เมื่อทรงสบโอกาสจึงร้องขอที่จะเสด็จไปฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยอ้างว่าจะได้เสนอแนะโครงการปฏิรูปมากมายในประเทศของพระองค์ตามที่ฝรั่งเศสต้องการ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นโอกาสที่จะเรียกร้องดินแดนของพระองค์คืนด้วย

    ฝรั่งเศสตระหนักว่าปัญหาหอกข้างแคร่เรื่องเมืองตราด ที่ฝ่ายฝรั่งเศสครอบครองอยู่อาจจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่มีอยู่ ในไม่ช้าความคิดเรื่อง "แลกเปลี่ยน" ดินแดนก็มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้น ทีมที่ปรึกษาต่างประเทศชาวอเมริกัน ประกอบด้วยนายสโตรเบลและนายเวสเตนการ์ดเห็นว่าการแลกเปลี่ยนดินแดนอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ซึ่ง ร.๕ ก็ทรงเห็นชอบ แต่ได้ทรงเสนอให้เรียกร้องดินแดนด่านซ้ายในเขตจังหวัดเลย ที่ฝรั่งเศสเคยยื้อแย่งไปกลับคืนมาด้วย และถ้าจำเป็นพระองค์ก็จะทรงใช้อิทธิพลส่วนพระองค์เจรจาในระหว่างที่เสด็จประพาสยุโรปด้วย

    สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ปีฝรั่งเป็น ค.ศ. ๑๙๐๗ แล้ว) จึงเกิดขึ้น รัฐบาลสยามตกลงยกเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อเป็นการตอบแทนฝรั่งเศสยกด่านซ้าย ตราด และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่สยาม และจะเป็นด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ร.๕ ประทับอยู่ในกรุงปารีสระหว่างที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้สัตยาบันกันในรัฐสภา ทันทีที่เสร็จเรื่องพระองค์ก็เสด็จออกจากฝรั่งเศสไปอังกฤษโดยไม่รอช้า มีพระราชดำรัสอธิบายมายังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกว่า

    "การไปอิงค์แลนด์คงเปนการเรี่ยๆ เช่นครั้งก่อนมันหายไม่ได้ เพราะถึงยังจะไม่ทำในเวลานี้ [สัญญากับอังกฤษทำนองที่เพิ่งจะทำสำเร็จกับฝรั่งเศส] มันก็เปนความคิดที่ปองร้ายกินใจกันอยู่ แต่ในเมืองฝรั่งเศสนั้นเชื่อได้ว่าดี เพราะมันเปนผีเข้าผีออก เวลานี้กำลังผีออก"(๑๒)

    คำว่า "ผีออก" นั้น หมายถึงฝรั่งเศสกำลังล่าถอยจากจุดยืนอันดื้อดึงที่เคยมีต่อประเทศสยาม

    หนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อ The Times ตอบรับการมาถึงของ ร.๕ ว่าเป็นความสำเร็จทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทรงใช้เวลายาวนานถึง ๑๔ ปี ตั้งแต่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จนบรรลุการเจรจาขั้นสุดท้ายกับฝรั่งเศส ทำให้ข้อพิพาทต่างๆ ยุติลงได้อย่างราบรื่น การเสด็จประพาสกรุงปารีสช่วงวันที่ ๑๘-๒๑ มิถุนายน ๒๔๕๐ เป็นประเด็นที่นักการเมืองในอังกฤษตั้งข้อสังเกตและจับตาดูอย่างใกล้ชิด(๑๐)

    พระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน" ยังยืนยันไว้สั้นๆ ว่า ฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลียอง ดอนเนอร์ ชั้นสามารถให้นายสโตรเบลไว้เพื่อเป็นเกียรติยศ ส่วนประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่ ร.๕ พระราชทานในปารีสเที่ยวนี้ มีนัยมากกว่าการมอบให้คนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน โดยปราศจากเหตุผลอันควร(๓)

    สรุป การเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ใน ร.๕ ได้รับการประชาสัมพันธ์ออกไปว่า เป็นการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ เพื่อรักษาพระอาการประชวร ซึ่งได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในพระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน"

    แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกที่ถูกยกขึ้นมาเป็นสาเหตุหลักแทนที่เมื่อถึงคราวจำเป็น แม้แต่การเลือกประเทศเยอรมนีเป็นสถานที่รักษาพระองค์ก็ยังมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงอยู่ ความตกลงฉันมิตรระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ เมื่อทั้ง ๒ มหาอำนาจแบ่งเขตอิทธิพลในสยามโดยไม่ชอบธรรมเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เสด็จมาหาทางออกด้วยพระองค์เองอีกครั้งกับผู้นำในทวีปยุโรป

    ทว่า ภายหลังที่การสนับสนุนจากพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ แห่งเยอรมนีไม่เป็นผลอีก เพราะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากอังกฤษและฝรั่งเศส พระองค์จึงทรงกลับมาใช้กลยุทธ์เก่าคือ นโยบายลู่ตามลม กล่าวคือ ทรงเดินหน้าหาข้อตกลงฉันมิตรกับรัฐบาลฝรั่งเศสโดยตรง เป็นเหตุให้เกิดสนธิสัญญาฉบับใหม่และฉบับสุดท้ายกับฝรั่งเศสในรัชกาลนี้ ความลับลมคมในที่ถูกปกปิดไว้ใน "ไกลบ้าน" เป็นพระราชกุศโลบายทางการเมืองที่แนบเนียนที่สุดเรื่องหนึ่งในพระบรมราชวิเทโศบายที่ไม่มีใครคาดถึง

    <!-- / message -->
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 20 เมษายน 2008

แชร์หน้านี้

Loading...