เรื่องเด่น ขันธ์ ๕ ต่างหากจากจิต / ดับอวิชชา จิตเป็น"วิสุทธิจิต"

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 19 สิงหาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    ขันธ์ ๕ ต่างหากจากจิต



    ?temp_hash=6c25dbecf07b4150c1c99c304dfc39ce.jpg




    สิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ มีอยู่ทั่วไปตลอดเวลาเมื่อมีสิ่งรับทราบกัน สิ่งเหล่านั้นจะสัมผัสสัมพันธ์ไม่ขาดวรรคขาดตอนกับสิ่งภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความมีสติ มีปัญญาเครื่องพิสูจน์กลั่นกรองกับสิ่งที่มาสัมผัสย่อมได้อุบายขึ้นมาเรื่อยๆ ท่านเรียกว่าฟังเทศน์ เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาสัมผัสสัมพันธ์กับตัวเราย่อมเป็นการปลุกความรู้สึกขึ้นมา เมื่อจิตใจมีความตั้งมั่นต่อเหตุผลหรืออรรถธรรมอยู่แล้ว ก็ทราบได้ทั้งสิ่งดีและชั่วที่มาสัมผัส การพิจารณาตามนั้นเรียกว่าเรียนธรรม ปฏิบัติธรรม การเกิดข้อข้องใจขึ้นมาก็เกิดจากสิ่งเหล่านั้น



    การพิจารณาแก้ไขข้อข้องใจจนปลดเปลื้องตนไปได้ ก็อาศัยปัญญาพิจารณาให้ถูกทางตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ จนผ่านพ้นไปได้เป็นพักๆ เป็นตอนๆ เรื่อยไปเรียกว่า เรียนความจริง ไม่ใช่เรียนให้เป็นความจำ เรียนเป็นความจำก็อย่างเราเรียนเราท่องตำรับตำราต่างๆ เรียกว่าเรียนเพื่อจำ นี้เรียนเพื่อความจริง คือ ความรู้จริงเห็นจริงตามหลักธรรมชาติที่เป็นจริงซึ่งมีอยู่ทั้งภายนอกภายใน



    เรียนเพื่อความจริงย่อมจะไม่มองข้ามสิ่งดีและชั่วที่มีอยู่กับตัว และสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เสมอ จะเห็นได้ตอนปัญญาเริ่มไหวตัวนั่นแหละ สมาธิมีความสบายมีความสงบ จิตไม่ค่อยวุ่นวาย เป็นความสะดวกสบายภายในใจ คือจิตไม่รบกวนตัวเองด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่ได้รับจาก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่เคยเกี่ยวข้อง แล้วนำอารมณ์อดีตเข้ามาครุ่นคิด มายุแหย่ก่อกวนจิตใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา



    เราจะไปตำหนิว่ารูปไม่ดี เสียงไม่ดี กลิ่นไม่ดีก็ไม่ได้ ถ้าหากเราพิจารณาให้เป็นธรรมไม่ลำเอียงไปทางฝ่ายกิเลสก็ทราบได้ชัดว่า จิตใจเราไม่ดีเอง เราโง่เอง ใจคะนองไปรักสิ่งนั้น ไปชังสิ่งนี้ ไปเกลียดสิ่งนั้น ไปโกรธสิ่งนี้ ความรักความชัง ความเกลียดความโกรธ เป็นเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงต้องใคร่ครวญด้วยดีเพื่อทราบความคิดปรุงต่างๆ กระเพื่อมขึ้นจากตัวเอง โดยอาศัยสิ่งที่มาสัมผัสนั้นเป็นสาเหตุให้กระเพื่อมขึ้นมา เรียนธรรมะจำต้องเรียนอยู่ที่ตรงนี้



    จิตเมื่อมีความสงบย่อมมีความสบาย เพราะไม่มีอะไรกวนใจเหมือนจิตที่หาหลักเกณฑ์ไม่ได้ จิตไม่เคยสงบเลย คือจิตไม่มีหลัก ย่อมจะถูกสิ่งก่อกวนราวีอยู่ไม่หยุดและย่อมก่อกวนตนเองอยู่เสมอ เมื่อถูกก่อกวนให้ขุ่นมัวอยู่เสมอ ใจก็หาความสงบสุขไม่ได้ ปลงที่ไหนก็ปลงไม่ลง



    ถ้าจิตปลงตัวเองไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ไหนเป็นที่ควรปลง จะปลงที่ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ ในน้ำ บนบกก็ปลงไม่ลง ถ้าไม่ปลงที่ต้นเหตุซึ่งมันเกิดขึ้น คือ ใจอันเป็นตัวมหาเหตุ



    มันเกิดที่ตรงไหนให้พิจารณาลงที่ตรงนั้น มันว้าวุ่นขุ่นมัวที่ตรงไหนให้สนใจดูและพิจารณาที่ตรงนั้น คำว่าตรงนั้นก็คือใจเรานั่นเอง ต้องหาสารส้มมาแกว่งลงไป คำว่าสารส้มก็หมายถึง การบริกรรมภาวนา ในขั้นริเริ่มเป็นอย่างนั้น เช่น กำหนดอานาปานสติหรือกำหนดพุทโธเป็นต้น ตามแต่อัธยาศัยชอบ นำธรรมบทนั้นมาเป็นคำบริกรรม จิตในขณะที่บริกรรมอยู่ด้วยความไม่พลั้งเผลอ ย่อมเป็นเหมือนกับกลั่นกรองอารมณ์ให้เข้าสู่จุดเดียวให้แน่วแน่ลงไป เช่นเดียวกับสารส้มที่แกว่งลงไปในน้ำ ตะกอนก็ต้องนอนก้นลงไป น้ำก็ใสสะอาด แน่ะ เบื้องต้นต้องทำอย่างนี้ก่อน



    พอใจมีความสงบอารมณ์ก็ไม่กวน ถ้าเป็นตะกอนก็ลงนอนก้นโอ่ง ขั้นเริ่มแรกต้องทำอย่างนั้น เพียงเท่านี้ก็สบาย แต่ยังไม่ค่อยเกิดความฉลาดหรือเกิดความแยบคายในแง่ต่างๆ เพราะจิตเป็นเพียงความสงบ เมื่อได้ความสงบก็เท่ากับเราได้ความสบาย เพราะความสงบเป็นบาทฐานให้เกิดความสุขความสบาย เรียกว่ามีที่พักของจิต มีหลักมีเกณฑ์พอปลงจิตปลงใจลงได้ นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย เพียงขั้นสงบเท่านี้ก็สบาย เห็นผลประจักษ์ใจ



    เวลาเจอความสบายจะไม่เจอที่ไหน จะเจอที่จิต เพราะจิตเป็นตัวยุ่งเป็นตัวไม่สบาย เมื่อได้อบรมตนในทางที่ถูกที่ควรตามหลักธรรมแล้ว ก็ปรากฏเป็นจิตสงบเป็นจิตสบายขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัดภายในใจ ในอิริยาบถต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย อยู่ที่ไหนก็พออยู่คนเราเมื่อจิตมีความสบายเสียอย่างเดียว เรื่องอดเรื่องอิ่ม ขาดตกบกพร่อง มั่งมีศรีสุขอะไรนั้นมันเป็นสิ่งภายนอก ไม่ใช่ของจำเป็นยิ่งกว่าจิตได้หลักยึดได้ธรรมเป็นที่อาศัย ไม่ระเหเร่ร่อนเหมือนแต่ก่อน



    สิ่งของปัจจัยเครื่องอาศัยภายนอกก็ไม่เป็นภัย เพราะตัวเองฉลาด มีความรอบคอบต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับตน ท่านให้ชื่อว่าสมาธิ ความสงบ เป็นผลเกิดขึ้นจากการอบรมด้วยอารมณ์ของสมถะ คือ บทบริกรรมภาวนา



    อารมณ์แห่งธรรม คือ ความคิดความปรุงในคำบริกรรมนี้ แม้จะเป็นความปรุงเหมือนกันกับความคิดปรุงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสผลักดันให้คิดให้ปรุง แต่ความคิดปรุงประเภทนี้เป็นความคิดปรุงในแง่ธรรมเพื่อความสงบ ผิดกับความคิดปรุงธรรมดาของกิเลสพาให้ปรุงอยู่มาก กิเลสพาให้คิดปรุงนั้น เหมือนเราเอามือหรือเอาไม้ลงกวนน้ำที่มีตะกอนอยู่แล้ว แทนที่มันจะใสแต่กลับขุ่นมากขึ้นฉะนั้น แต่ถ้าเอาสารส้มลงกวนนั้นผิดกัน น้ำกลับใสขึ้นมา



    นี่การนำอารมณ์เข้ามากวนใจ แทนที่ใจจะสงบ แต่กลับไม่สงบและกลับแสดงผลขึ้นมาให้เป็นความทุกข์ร้อนเสียอีก ถ้าเอาพุทโธเป็นต้น เข้าไปบริกรรมหรือแกว่งลงในจิต โดยบริกรรมพุทโธๆ แม้จะเป็นความคิดปรุงเหมือนกันก็ตาม แต่คำว่าบริกรรมนี้ซึ่งเปรียบเหมือนสารส้ม จึงทำให้ใจสงบเย็นลงไป



    ท่านผู้สั่งสอนท่านมีเหตุมีผล เพราะท่านได้ดำเนินมาก่อนพวกเรา และรู้มาก่อนแล้วจึงได้นำมาสอนพวกเรา จึงไม่ใช่เป็นทางที่ผิด ความคิดปรุงเช่นนี้เรียกว่าเป็นฝ่ายมรรค เป็นฝ่ายระงับดับทุกข์ทั้งหลาย ความคิดปรุงตามธรรมดาของสามัญชนเราซึ่งไม่มีข้ออรรถข้อธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นความคิดปรุงที่เป็นสมุทัยอันเป็นแดนผลิตทุกข์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นผลเดือดร้อน



    ในขั้นแรกก็ให้ได้ทรงสมาธิสมบัติภายในใจ อย่าให้ใจว่างเปล่าจากสมบัติอันมีค่าตามลำดับ ต่อไปพิจารณาด้านปัญญา ฝึกหัดคิดอ่านไตร่ตรอง อะไรเข้ามาสัมผัสก็เทียบเคียงหาเหตุหาผล หาต้นหาปลายของมัน ไม่ปล่อยให้อารมณ์นั้นๆ มาคว้าเอาของดีไปกินเปล่าดังที่เคยเป็นอยู่เสมอ อารมณ์นั้นมีอยู่เกิดอยู่เสมอ เดี๋ยวก็มีเรื่องหนึ่งขึ้นมาสะดุดใจให้ได้คิดเป็นเงื่อนต่อไปอีก และเข้าใจในเงื่อนนั้นเข้าใจในเงื่อนนี้ แล้วปล่อยไปๆ นี่เป็นวาระที่จะตัดกิเลส ส่วนสมาธิเป็นเพียงควบคุมกิเลสเข้ามาสู่จุดรวมคือใจ ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายขุดค้นหากิเลส และตัดฟันหรือทำลายทีละชิ้นละอันโดยลำดับลำดา



    นักปฏิบัติเราไม่สามารถปฏิบัติเพื่อทรงมรรคผลนิพพานได้แล้ว ไม่มีใครจะมีโอกาสสามารถยิ่งกว่าพระที่เป็นเพศอิสระ อยากพูดเต็มปากอย่างนี้ เพราะพวกเราเป็นนักปฏิบัติด้วย เป็นเพศนักบวชด้วย ซึ่งเป็นเพศที่ปลดเปลื้องภาระต่างๆ ออกมาแล้ว โลกเขารับรองชีวิตจิตใจความเป็นอยู่ทุกด้านทุกทาง ปัจจัยสี่ก็เหลือเฟือครอบโลกธาตุแล้ว ความเป็นอยู่ของเราสมบูรณ์แล้ว ถ้าเป็นน้ำก็ท่วมลิ้นท่วมปากท่วมท้องแทบตลอดเวลา เช่น น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำส้ม น้ำหวาน น้ำโกโก้ กาแฟ สารพัดน้ำ



    คำว่าปัจจัย ๔ ที่ได้มาจากประชาชนทำบุญให้ทาน ด้วยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระศาสนาเรื่อยมามิได้ขาดนั้นคือ



    จีวร เครื่องนุ่งห่มใช้สอยต่างๆ เช่น ผ้าสังฆาฏิ สบง จีวร ผ้าอาบน้ำ ตลอดผ้าเพื่อใช้สอยต่างๆ ที่จำเป็น



    บิณฑบาต คือ อาหารการบริโภคทุกประเภท เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในการประพฤติพรหมจรรย์



    เสนาสนะ ที่อยู่ที่อาศัย เช่น กุฏิ กระต๊อบ ร้านเล็กๆ พอได้อาศัยบังแดดกันฝนและนั่งสมาธิภาวนาหรือพักผ่อนนอนหลับ



    คิลานเภสัช ยาแก้โรคชนิดต่างๆ ในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย



    สิ่งเหล่านี้มีสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง นอกจากผู้รับทานจากศรัทธาทั้งหลายจะบกพร่องในหน้าที่ของตนเสียเอง จนกลายเป็นนอนใจ ไม่คิดอ่านขวนขวายเท่านั้น



    เพศนักบวชผู้ปฏิบัตินี้แลเป็นเพศที่เหมาะสม หรือใกล้ชิดติดกับอรรถกับธรรมกับมรรคผลนิพพานอย่างยิ่ง ถ้าทำให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นไปตามเจตนาดั้งเดิมที่บวชมาเพื่อมรรคผลนิพพาน งานของพระทุกชิ้นทุกอันจะเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น เพราะงานโดยตรงของพระเป็นงานเพื่อถอดถอนกิเลส เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ตั้งสติมีความรู้สึกตัว ระวังไม่ให้เผลอ ปัญญามีความคิดอ่านไตร่ตรองอยู่เสมอในสิ่งที่ควรละควรถอน สิ่งที่ควรบำเพ็ญ สิ่งที่ควรจะรู้แจ้งเห็นจริง พยายามทำ พยายามพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นผู้ทำงานเพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ด้วยอำนาจของความเพียรมีสติปัญญาเป็นเพื่อนสองอยู่โดยสม่ำเสมอ



    กิเลสจะมาจากที่ไหน จะยกกองพันกองพลมาจากที่ไหนก็ยกมาเถอะ มันพังทลายทั้งนั้นแหละ แต่กิเลสมีอยู่ที่ใจ เหตุที่กิเลสมีมากจนให้เกิดทุกข์เป็นไฟทั้งกองภายในใจก็เพราะความไม่รู้ทันมัน ความไม่เข้าใจวิธีการแก้ การถอดถอนมัน และความเกียจคร้านอ่อนแอ ความสะเพร่ามักง่ายแบบสุกเอาเผากิน อยู่ไปวันๆ ซึ่งมีแต่เรื่องสั่งสมขึ้นมาโดยถ่ายเดียว กิเลสจะหาทางออกทางสิ้นไปช่องไหนได้เมื่อมีแต่เปิดประตู คือทวารทั้งหกรับมันเข้ามาอยู่ตลอดเวลาดังที่เป็นอยู่นี้ ไม่ยอมปิดและขับไสไล่มันออกไปบ้าง



    หลักธรรมท่านสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมไม่มีทางต้องติ ฉะนั้นเราควรทำหน้าที่ให้เต็มภูมิ อย่าให้เสียเวล่ำเวลาในความเป็นนักบวชเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ที่ไหนให้ถือว่างานเป็นของสำคัญประจำใจ อย่าเห็นงานใดมีความสำคัญยิ่งกว่างานถอดถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ผู้นี้แหละผู้ที่ใกล้ชิดต่อมรรคผลนิพพาน ใกล้ต่อความสำเร็จ สุดท้ายก็ผ่านไปได้อย่างหายห่วง



    สิ่งที่ปิดบังลี้ลับไม่ให้รู้ให้เห็นก็ไม่ใช่สิ่งใดที่ไหน ได้เคยพูดอยู่เสมอ มีแต่กิเลสทั้งนั้นที่ปิดบังไว้ ไม่ใช่กาล ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่เวล่ำเวลา ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดมาปิดกั้นจิตใจไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น จะมีกี่แขนงก็รวมชื่อว่ากิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาอะไร มันเป็นเรื่องของกิเลสแตกแขนงออกไป



    เหมือนกับต้นไม้ที่แตกกิ่งแตกก้านแตกแขนงออกไป ออกจากไม้ต้นเดียวนั่นแหละกิเลสก็ออกจากใจดวงเดียว รากฐานของกิเลสแท้ท่านเรียกว่า อวิชชา มันตั้งรากตั้งฐานอยู่ภายในใจนั่นแล และครอบงำจิตใจไว้ แล้วก็แตกแขนงออกไปเป็นกิ่งเป็นก้านสาขาดอกใบไม่มีประมาณ ดังธรรมท่านว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดอะไรเหล่านี้ มันเป็นกิ่งก้านสาขาของกิเลสอวิชชานั่นแล



    เพราะฉะนั้น การพิจารณาจึงต้องพิจารณาตามกระแสของจิตที่เกี่ยวพันกันกับกิเลส ซึ่งทำให้ลุ่มหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เครื่องสัมผัสต่างๆ พิจารณาคลี่คลายโดยทางปัญญาจะถอดถอนได้ กิเลสผูกมัดจิตใจ กิเลสทำให้มืด กิเลสทำให้โง่ ตัวกิเลสเองมันไม่ได้โง่ มันฉลาด แต่เวลามันมาครอบครองใจเรา เราก็เป็นคนโง่ไม่ทันกลมายาของมัน เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กิเลสกลัว นำมาขับไล่ปราบปราม



    นักบวชต้องเป็นผู้มีความอดทน ตามหลักของนักบวชเป็นอย่างนั้น มีความขยันหมั่นเพียรก็คือนักบวช ชอบคิดอ่านไตร่ตรองก็คือนักบวช ความไม่ลืมเนื้อลืมตัวก็คือนักบวช ความเอาจริงเอาจังในสิ่งที่ชอบธรรมทั้งหลายก็คือนักบวช นักบวชต้องเอาจริงเอาจังทุกงาน ไม่ว่างานภายนอกงานภายใน มีสติคอยกำกับรักษาใจเป็นประจำ มีปัญญาคอยพิจารณาไตร่ตรองเลือกเฟ้น สอดส่องดูว่าอันใดผิดอันใดถูก ปัญญาแนบนำอยู่เสมอ



    ทุกข์ก็ทน คำว่าทุกข์มันไม่ใช่ทุกข์เพราะความเพียรเท่านั้น มันทุกข์เพราะการฝืนกับกิเลสเป็นสำคัญ ความขี้เกียจก็คือเรื่องของกิเลส ความอ่อนแอคือเรื่องของกิเลส เราฝืนความอ่อนแอ เราฝืนความเกียจคร้านซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเอาจริงเอาจังจึงเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะความต่อสู้กับกิเลส ถ้าเรายังเห็นว่าความต่อสู้กับกิเลสเป็นเรื่องความทุกข์แล้ว ก็ไม่มีทางต่อสู้กับกิเลสได้ และไม่มีวันชนะกิเลสไปได้เลยแม้ตัวเดียว



    เราต้องหาวิธีแก้ไขไม่นอนใจ ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ภายในใจ การทำความเพียรต้องทำอย่างเข้มแข็งอยู่ตราบนั้นถอยไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้กิเลสบดขยี้แหลกเหลวน่ะ การนั่งนานเกิดความเจ็บปวด นั่นมันเป็นธรรมดา เดินนานก็เหนื่อย เราเปลี่ยนได้พลิกได้ แต่สำคัญที่ความทุกข์เพราะการต่อสู้กับกิเลสนี้มันไม่มีเวล่ำเวลา ถ้าเราไม่ต่อสู้มัน มันยิ่งเอาเราหนัก การต่อสู้มันก็เพื่อชัยชนะ จึงไม่ถือว่าเป็นความลำบากลำบนเพราะเราต้องการอยู่เหนือกิเลส เราต้องการชนะกิเลส เรากลัวกิเลสเราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน



    เหมือนนักมวยเขาขึ้นชกกันบนเวที ถ้ากลัวกันอยู่แล้วก็ไม่ได้ต่อยกัน เพราะต่างคนก็ต่างหวังเอาชนะกันนั้นเอง หวังชนะทุกคน มันพลีชีพด้วยกันในขณะนั้น จะไปขี้เกียจอ่อนแอในขณะชกกันอยู่บนเวทีได้หรือ ขาดกำลังใจนิดหนึ่งก็ต้องแพ้ เผลอนิดเดียวก็ต้องแพ้ถูกหามลงเปลว่าไง ดีแล้วหรืออย่างนั้นน่ะ



    เราเป็นนักรบก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นเหมือนนักมวยขึ้นต่อยกันบนเวที จิตใจอยู่กับความชนะทั้งนั้น กำลังใจเป็นรากฐานแห่งความชนะก็มีประจำใจ การตั้งความชนะกิเลสไว้เป็นรากฐานสำคัญ แล้วก้าวเดินเข้าไป ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์เพราะต่อสู้กัน เราเข้าสงครามระหว่างกิเลสกับจิต ในธรรมท่านกล่าวไว้ โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน,เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ,ส เว สงฺคามชุตฺตโม. การชนะสงครามที่คูณด้วยล้าน ก็หาได้เป็นความชนะอันประเสริฐไม่ เพราะการชนะเหล่านั้นเป็นเครื่องก่อเวร ผู้แพ้ก็เป็นทุกข์ ผู้ชนะก็ต้องได้ระมัดระวังตัว และเป็นต้นเหตุแห่งความก่อเวรผูกพันกันไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด แต่ผู้ชนะกิเลสภายในใจของตนเพียงคนเดียวนั่นแล เป็นผู้ประเสริฐสุดยิ่งกว่าการชนะในสงครามที่คูณด้วยล้านนั้นเป็นไหนๆ ความชนะเหล่านั้นสู้ความชนะกิเลสของตนไม่ได้ นี่เป็นพุทธภาษิต



    พวกเราอยู่ๆ ก็จะให้เกิดความชนะขึ้นมาโดยไม่มีการต่อสู้ อย่าหาญคิด กระรอกกระแตที่มันเคยกัดกัน ต่อสู้กันเพื่อเอาชนะกันจะหัวเราะเอา แหละว่า โอ้โฮ้ พระวัดป่าบ้านตาดนี่โง่ชะมัดเชียว พากันวาดมโนภาพนั่งเอาชนะ นอนเอาชนะ สัปหงกงกงันเอาชนะโดยไม่คิดหาทางต่อสู้บ้างเลย พระเหล่าที่นอนชนะ กินชนะนี่มาจากที่ไหนกันบ้างวะ ดูว่ามาจากหลายจังหวัด หลายภาค หลายประเทศด้วยนี่ เวลาพากันมาอยู่วัดป่าบ้านตาดแล้ว สอบไล่ได้ระดับปริญญาเอกมีนัยน์ตาข้างเดียวกันหมด พวกเรามองไปไหนเห็นแต่พระปริญญาเอกแบบนี้เต็มวัด ถามองค์ไหนตอบเป็นเสียงเดียวกันอย่างคล่องปากว่า พวกข้า(พระ)มันพวกนอนกิน กิเลสแตกกระเจิงโดยไม่ต้องทำความเพียรหรือต่อสู้ให้ลำบากเหมือนพวกแกหรอก



    นี่ถ้าไม่อยากให้กระรอกกระแตแตกหนีจากวัดกันหมดละก็ ต้องเป็นนักต่อสู้ ต้องมีสติปัญญา ไม่ฉลาดไม่ได้ มีสักแต่ว่าตนทำความเพียร เดินจงกรมไปเรื่อยๆ เฉยๆ โดยไม่มีสติสตัง ก็ไม่จัดว่าเป็นความเพียรเพราะโลกเขาเดินได้ทั้งนั้น แม้แต่เด็กก็ยังเดินได้ เดินไม่มีสติรักษาตน ไม่มีความรู้สึกตัวในความเพียรของตัวไม่จัดว่าเป็นความเพียร สติขาดระยะใดก็ชื่อว่าความเพียรได้ขาดระยะนั้น ถ้าลงว่าสติได้ขาดแล้วความเพียรก็ขาดทันที สติเป็นธรรมจำเป็นทุกกาลสถานที่ ปล่อยไม่ได้



    สติเป็นของสำคัญ เป็นพื้น เราพูดอย่างเต็มปาก เพราะเคยเห็นคุณค่าของสติตอนเริ่มฝึกหัดมาอย่างนั้นด้วย ล้มลุกคลุกคลานเราก็เคยเป็นมาเสียจนพอตัว ไม่กลัวใครจะมาแข่ง จนบางครั้งเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจตนเองว่า ตนมีวาสนาน้อย เกิดมารกศาสนา เพื่อนฝูงทั้งหลายท่านมีความสงบเย็นใจ มีอรรถมีธรรมได้เล่าถวายครูบาอาจารย์ฟังให้ท่านได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นขั้นเป็นตอนไป แต่เราไม่เห็นมีอะไร มีแต่ความล้มลุกคลุกคลาน มองดูทีไรมีแต่จิตถูกกิเลสมันเผาอยู่ตลอด เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ บางทีแทบจะร้องไห้ก็มี แต่นี่เป็นเพียงขณะใดขณะหนึ่ง ไม่เป็นตลอดไป



    แต่อีกขณะหนึ่งจิตก็พลิกกันปั๊บว่า ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ท่านก็เป็นคนๆ หนึ่ง ท่านสอนเราเพื่อให้เป็นคนอย่างท่าน เพื่อให้รู้ให้เห็นอย่างท่าน ทำไมเวลานี้เราก็มุ่งหน้าและตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติธรรมกับท่านด้วยความเต็มใจ ทำไมมาตำหนิติเตียนตนไม่เข้าเรื่องเข้าราวอย่างนี้ เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง เรามาเพื่อความรู้เห็นอรรถธรรม ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน ทำไมทำไม่ได้รู้ไม่ได้เมื่อเรามีความเพียรอยู่ เอาซิเป็นอะไรเป็นกัน คิดยุ่งให้เสียเวลาทำไม จิตก็เกิดความห้าวหาญขึ้นมาและตะเกียกตะกายต่อไป



    จิตเมื่อได้รับการอบรมการฝึก การปลุกปลอบด้วยอุบายต่างๆ อันเป็นการช่วยจิตอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมมีความเพียร มีกำลังใจและมีความสะดวกราบรื่นสงบเย็นลงได้ นี่แหละหลักการประพฤติปฏิบัติต่อจิตใจที่มีกิเลสครองอำนาจ ย่อมลำบากทรมานพอๆ กันนักปฏิบัติเรา



    เราพร้อมทุกอย่างแล้วเวลานี้ ว่างที่สุดไม่มีใครว่างเกินพระสำหรับเมืองไทยเราผู้นับถือพุทธศาสนา ถือพระเป็นสิริมงคลต่อจิตใจ เขาเคารพเลื่อมใส การทำบุญให้ทานเท่าไรไม่อัดไม่อั้น ไม่เสียดาย อยากได้บุญกับพระผู้ตั้งใจฆ่ากิเลสตัวมหาโจรตัวมหาพินาศ ทำโลกให้พินาศก็คือกิเลสที่เข้าสิงจิตหรือหนุนจิตให้เป็นไป เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากใจแล้ว ธรรมสมบัติเริ่มปรากฏขึ้นมา ตั้งแต่สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติ จนกระทั่งวิมุตติสมบัติ ท่านผู้นั้นย่อมเป็นที่พึงใจทั้งตนทั้งผู้สนับสนุน



    เพราะฉะนั้นเวลานี้เราไม่มีอะไรบกพร่อง อาหารการบริโภคก็ดูเอา อยากได้น้อยเท่าไรก็ยิ่งมีมามาก วันหนึ่งๆ ถ่ายบาตรไม่ทราบกี่ครั้งกี่หน นี่คือน้ำใจของประชาชนที่มีความยินดีต่อผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส เขาอยากได้บุญด้วย เขาทำอย่างเราไม่ได้เขาก็อยากได้บุญ ให้เท่าไรไม่เสียดาย ให้มากให้น้อยเท่าไรเป็นที่พอใจ มีความยิ้มแย้มแจ่มใส ตื้นตันใจ พอใจ อิ่มเอิบ ข้าวยังไม่ตกถึงท้องก็ไม่หิวเพราะอิ่มทานการบริจาคด้วยความพอใจ



    เราผู้ตั้งหน้ารบก็เอาให้จริงให้จัง เป็นเจตนาคนละอย่าง เขามีเจตนาอย่างนั้นกับเรา เรามีเจตนาอย่างนี้กับตน เพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะให้หมดไปๆ อย่าคุ้นกับความทุกข์ ไม่ใช่เป็นของน่าคุ้น ไม่ใช่เป็นของน่าชิน เหมือนดอกไฟกระเด็นมาถูกเรา เราชินไหม กระเด็นมาถูกน้อยก็เจ็บร้อนน้อยทุกข์น้อย ถูกมากก็ร้อนมาก ทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากไฟคือกิเลสที่ทำให้เราร้อนก็เหมือนกัน ไม่ว่าประเภทใดเกิดขึ้นมา มันเป็นธรรมชาติที่ร้อนที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งนั้น แล้วเราจะมีความเคยชินกับมันได้อย่างไร สิ่งที่เคยชินไม่ได้ก็คือทุกข์ แสดงขึ้นเมื่อไรก็ต้องเดือดร้อนเมื่อนั้น เราจึงไม่ควรนอนใจกับมัน ให้เร่งความพากเพียรเข้าไปอย่าท้อถอย การเร่งความเพียรทุกประโยคก็คือการก้าวหนีทุกข์ การวิ่งหนีทุกข์ จะเป็นสิ่งที่ขี้เกียจได้อย่างไร



    สติเป็นของสำคัญ ปัญญาเป็นของสำคัญ นี้เป็นหลักสำคัญมากในการประกอบความเพียร อย่าปล่อย นี่สอนเสมอ สอนหมู่เพื่อนเรื่องสติเรื่องปัญญา เพราะไม่เห็นอันใดที่เด่นมากในการแก้กิเลสอาสวะทุกประเภท จนกระทั่งหมดความสงสัยภายในใจที่นอกเหนือไปจากสติปัญญา โดยมีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุนนี้เลย เราเคยเห็นคุณค่าของสติปัญญามาอย่างนี้ เราจึงพูดเต็มปาก สติไม่มี สติล้มลุกคลุกคลานก็เคยเป็นมาแล้วอย่างที่เล่าให้ฟัง ปัญญาไม่มี ไม่ทราบจะคิดอะไรให้เป็นอรรถเป็นธรรมให้เป็นสติปัญญา ท่านพูดว่าปัญญาๆ ก็ไม่รู้ นี่ก็เคยเป็นมาพอแล้ว เวลาพิจารณาจิตอบรมจิตหลายครั้งหลายหนอย่างเอาจริงเอาจัง ก็ไม่ทนต่อความเอาจริงเอาจังด้วยความมีสติจดจ่อ ใจสงบลงจนได้ เมื่อสงบลงได้แล้วก็ปรากฏเป็นความสุข ความแปลกประหลาด ยิ่งกว่านั้นก็เป็นความอัศจรรย์ตามขั้นของจิต



    ความเพียรเริ่มละที่นี่ เพราะเห็นผล เมื่อเห็นผลของงานแล้วความเพียรหากเป็นมาเอง เอ้า ทีนี้พิจารณาแยกแยะทางด้านปัญญาอย่างเอาจริงเอาจัง จดจ่อพิจารณาหาอุบายพลิกแพลงตนเอง ไม่คอยแต่ครูบาอาจารย์บอกวิธีนั้นวิธีนี้ นั่นไม่ใช่เป็นเรื่องของตนผลิตขึ้นมาเอง ไม่ดีไม่เหมาะ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากความคิดความเห็นของตัวเอง เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นกินไม่หมด ยิ่งแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ คิดเท่าไรพิจารณาเท่าไรยิ่งแตกแขนงออกไปไม่มีสิ้นสุด จนกระทั่งกระจายไปรอบตัวรอบจักรวาล นั่งอยู่ที่ไหนมีแต่สติกับปัญญาทำหน้าที่คุ้ยเขี่ยขุดค้นปราบปรามกิเลส



    ถ้ากิเลสเป็นด้านวัตถุ ลงสติปัญญานี้ได้ออกก้าวเดินแล้วด้วยความสง่าผ่าเผยองอาจกล้าหาญ มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว เราเดินไปตามทางก็ดี หรือในทางจงกรมก็ดี ก็เหมือนว่าเราฆ่ากิเลสเผากิเลสอยู่ตลอดเวลา ฆ่ากิเลสตายระเนระนาด ทั้งการเดินการนั่งมีแต่การฆ่ากิเลส นั่งก็ฆ่ากิเลส ยืนก็ฆ่ากิเลส ยืนที่ไหนฆ่าแต่กิเลส ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรทั้งนั้น หากกิเลสเป็นวัตถุแล้วซากศพของกิเลสเกลื่อนไปหมด แต่ก่อนล้วนกิเลสมันสั่งสมตัวมันไว้กัปกี่กัลป์ ทำลายจิตใจ ทีนี้ถูกสติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป ตายระเนระนาด ไปที่ไหนมีแต่เรื่องกิเลสตาย นี่สติปัญญาขั้นนี้เป็นอย่างนี้



    ต้องให้รู้จักการรู้จักงาน รู้จักวิธีรบ วิธีรับ วิธีต่อสู้ วิธีหลบหลีก จึงเรียกว่าปัญญาอันคมกล้า ถ้ามีแต่กิเลสคมกล้า ไอ้เราก็มืดดำกำตาหรือมืดแปดทิศแปดด้าน ถ้าปัญญาได้สว่างจ้าขึ้นมาภายในใจแล้วจะรอบตัว กิเลสมาแง่ไหน คิดขึ้นมาเรื่องใด อะไรมาสัมผัสสติปัญญาทันทั้งนั้น นอกจากทันกับอารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันแล้ว ยังตามวินิจฉัยกันจนเป็นที่เข้าใจ ปล่อยวางๆ ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา



    ที่นี่เอาละ เรื่องความขี้เกียจเรื่องความกลัวทุกข์นั้นหายหน้าไปหมดเลย ไม่มีคำว่ากลัวทุกข์ ไม่มีคำว่ากลัวตาย มีแต่จะเอาให้รู้ เป็นก็ให้รู้ตายก็ให้รู้ หรือว่าเป็นก็ให้พ้นตายก็ให้พ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลสไปโดยถ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ต้องการ คำว่าแพ้นี้ให้ตายเสียดีกว่า อย่าให้แพ้แบบหมอบราบทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่นี้เลย เป็นไปไม่ได้ ถ้าแพ้ก็ให้แพ้แบบตายเลย เป็นมวยบนเวทีก็ให้ถูกน็อกล้มลงไป ตายเลย อย่างนี้จึงว่าแพ้ อยู่ๆ ก็ไปยกมือไหว้เขา ว่ายอมแพ้ไม่ได้



    จิตขั้นนี้สติปัญญาขั้นนี้ เชื่อตัวเองขนาดนั้นแล ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอาเอง เมื่อถึงขั้นเชื่อตัวเองเชื่ออย่างนั้น คือ เชื่อกำลังความสามารถของสติปัญญา อยากพบเห็นข้าศึกคือกิเลสเท่านั้น กิเลสตัวไหนที่มาขวางใจ อยู่ตรงไหนบ้าง มันพิจารณาซอกแซกซิกแซ็ก คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจนแหลก เพราะเมื่อสติปัญญามีกำลังกล้าขึ้นมาแล้ว ข้าศึกมันหลบตัวมันซ่อนตัว จึงต้องขุดค้นคุ้ยเขี่ย พอเจอกันก็ฟาดกันละที่นี่ เรียกว่าได้งานหรือเจอข้าศึกแล้ว ฟาดลงไป พอเหตุผลพร้อมแล้วกิเลสขาดสะบั้นลงไปเห็นชัด นี่ตัวนี้ขาดลงไปแล้ว ทีนี้คุ้ยเขี่ยหาอีก หางาน พอเจอเข้าก็ได้งานและต่อสู้ขาดลอยไปอย่างนี้เรื่อยๆ จิตก็เพลินในความเพียร



    ใจยิ่งเด่นขึ้นๆ เห็นชัดเจนโดยลำดับลำดา กิเลสมีมากมีน้อยเห็นชัดว่าเป็นภัยต่อจิตอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะนอนใจได้อย่างไร เอาดำเนินไปซิ เมื่อความเพียรมีอยู่ไม่หยุดไม่ถอย จะไม่พ้นจากคำที่กล่าวนี้ไปได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ในทางความเพียรนี้ ต้องเป็นไปอย่างนี้จริงๆ ไม่สงสัย เอาให้จริง



    ทำอะไรอย่าทำแบบจับๆ จดๆ อย่าหัดนิสัยจับๆ จดๆ ให้มีความจดจ่อ ให้มีความจริงใจกับสิ่งนั้นจริงๆ ทำอะไรก็เพื่อผลประโยชน์ อย่าสักแต่ว่าทำผ่านมือๆ ไปเป็นนิสัยจับจดใช้ไม่ได้ เวลาจะทำความพากเพียรถอดถอนกิเลสก็จะทำแบบจับๆ จดๆ ปล่อยๆ วางๆ เป็นคนหลักลอย เลยไม่มีอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นของตัวได้เลย มีแต่ความเหลาะแหละเต็มตัว นั้นหรือเป็นตัว เป็นตัวไม่ได้ เชื่อตัวเองไม่ได้



    เอาให้เชื่อตัวเองได้ซิ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อตัวเอง จาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือ ความหวังพึ่งตนเอง ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรของตัวเอง พระองค์มอบไว้แล้วทุกอย่าง เครื่องมือถูกต้องหมดแล้ว เอ้า นำมาประกอบ นำมาฟาดฟันกิเลส กิเลสจะตายด้วยสติปัญญา กิเลสกลัวสติปัญญา กิเลสประเภทใดก็ตามไม่พ้นจากสติปัญญานี้ไปได้ นี่กิเลสกลัวมาก และตายด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรนี้ด้วย ไม่ได้ตายด้วยอย่างอื่น สิ่งที่พอกพูนกิเลสอย่าสนใจนำมาใช้ สิ่งใดที่กิเลสจะยุบยอบลงไป หรือจะสลายลงไปจากจิต ให้นำสิ่งนั้นมาใช้เสมอ สติปัญญาเอาให้ดี



    เราอยากเห็นหมู่เพื่อน เราอยากได้ยินหมู่เพื่อนมีความพากเพียร ว่าได้รู้อย่างนั้นว่าได้เห็นอย่างนั้นมันมีกำลังใจ โอ้ การเทศน์มานี้ไม่เสียเวล่ำเวลา ไม่เสียอรรถเสียธรรมที่สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถอดจากหัวใจออกมาสอนทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วได้ปรากฏผลออกมาเป็นสักขีพยาน เหมือนพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ,อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญติ พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ นั่นแล



    เหตุเบื้องต้นก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รู้เห็นธรรม บรรลุอริยธรรมขั้นต้น คือพระโสดาบัน แล้วเปล่งอุทานออกมาต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ด้วยความถึงใจว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วต้องดับทั้งนั้น ด้วยความรู้ซึ้งถึงใจจริงๆ วาระสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานอนุโมทนาธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญติ. พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ อิติหิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส, อญฺญาโกณฺฑญฺโญเตฺวว นามํ อโหสีติ. อันนี้จึงได้เป็นมิตตกนามของพระอัญญาโกณฑัญญะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



    นี่คือพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นผู้ที่รู้เห็นธรรมคนแรก ที่เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้า ไม่เสียพระทัย ไม่เสียพระกำลัง ไม่เสียเวลาที่ทรงสั่งสอนเป็นปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าครั้งแรกแห่งความเริ่มเป็นศาสดาของโลก และทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรให้แก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าฟัง รูปํ อนิจฺจํ,เวทนา อนิจฺจา,สญฺญา อนิจฺจา,สงฺขารา อนิจฺจา, วิญฺญาณํ อนิจฺจํ, รูปํ อนตฺตา, เวทนา อนตฺตา, สญฺญา อนตฺตา, สงฺขารา อนตฺตา,วิญฺญาณํ อนตฺตา. ฟังซิ เอาฟังให้ซึ้งซิ มันอยู่ในตัวของเรานี้น่ะ รูปํ อนิจฺจํ มันแปรอยู่ตลอดเวลา อย่าชินชากับคำว่ามันแปรอยู่ตลอดเวลา ให้ซึ้งด้วยปัญญา จะทราบว่าสิ่งที่เราอาศัยอยู่นี้แปรอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ด้วยความแปร ความแปรปรวน อยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน อยู่กับของหาหลักเกณฑ์อันแน่นอนไม่ได้ อยู่กับความว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา



    รูปํ อนตฺตา ถือเป็นตัวเป็นตนที่ไหน คือ ธาตุสี่ดินน้ำลมไฟ เราไปถือมาเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ก็ชัดๆ อยู่แล้ว ลมก็เป็นลม ไฟก็เป็นไฟ ชัดๆ อยู่แล้ว ไปถือว่าเป็นคนได้อย่างไร ไปถือว่าเป็นเราได้อย่างไร ดินน้ำลมไฟน่ะ ไม่ละอายเขาบ้างเหรอ ปัญญาให้ซึ้งลงไปตามนั้นซิ



    สัญญา ความจำได้หมายรู้ จำอะไรก็ลืมๆ ไปหมด เมื่อต้องการจำอีกก็ปรุงขึ้นมาอยู่อย่างนั้น



    สังขาร ความปรุง ความคิด ไม่ว่าคิดดีคิดชั่ว คิดเรื่องอดีตอนาคต คิดอะไรดับทั้งนั้น เอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน อาการเหล่านี้มันก็เหมือนพยับแดดนั่นเอง มองดูไกลๆ ก็เหมือนเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตนเป็นตัว เวลาเข้าไปใกล้ๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไร นี่พิจารณาค้นเข้าไปจริงๆ แล้ว



    ในที่ว่าอัตภาพร่างกายนี้มันไม่มีอะไร เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น มันมีเราอยู่ที่ตรงไหนพอจะถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เราไม่อายความจริงบ้างเหรอ เราไม่อายกิเลสบ้างเหรอ หรือเราก็เป็นกิเลส เป็นตัวเดียวกับกิเลส เป็นตัวหลงถึงไม่อายกัน นั่นก็ยิ่งเพิ่มความโง่เข้าไปอีกซิ เวลานี้เราไม่ต้องการความโง่ ต้องการพิจารณาเพื่อความฉลาด



    เมื่อท่านแสดงถึงอนัตตลักขณสูตรแก่พระเบญจวัคคีย์ วาระสุดท้ายก็ถึง รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนา สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในสัญญา สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย คือ ความคิดปรุงต่างๆ และทั้งสังขารอันหยาบคือร่างกายนี้ก็เป็นกองรูปอยู่แล้ว สงฺขาเรสุปิ นี้หมายถึง ความคิดปรุงล้วนๆ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ หมด ขันธ์ห้าก็มีเท่านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ญาณความรู้แจ้งว่าจิตหลุดพ้นแล้วย่อมมี นี่อนัตตลักขณสูตรท่านแสดงไว้อย่างนี้



    แต่สำหรับเราผู้ปฏิบัติ คิดว่าสูตรนี้ท่านผู้จดจารึกจะตัดทอนออก ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะต้องหยั่งเข้าถึงจิต เพียงรู้เท่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เท่านั้น จิตหลุดพ้นไปได้อย่างไร เราปฏิบัติมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่ มันค้านกันได้อย่างจังๆ คือ ค้านกันด้วยภาคปฏิบัติ ไม่ได้ค้านกันด้วยความด้นเดาแต่อย่างใด



    ทำไมถึงค้านกันได้ ก็ยกอาทิตตปริยายสูตรมาซิ อันนั้นเรายอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์หาที่ค้านไม่ได้ หมอบราบเลย อันนั้นท่านแสดงถึง มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในจิต ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ทั้งหลาย พูดย่นย่อเอาใจความสำคัญมาเทียบกัน เมื่อเบื่อหน่ายในอารมณ์แล้ว สิ่งที่สัมผัสก็เบื่อหน่าย เวทนาที่เกิดขึ้นจากความสัมผัสก็เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายไปหมด ไม่มีอะไรเหลือภายในนั้น



    เข้าถึงจิต….
    อาทิตตปริยายสูตร จกฺขุ โสต ฆาน ชิวฺหา กาย มโน เอ้า เราพูดย่อๆ เบื่อหน่ายในตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้แล้ว เบื่อหน่ายในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ และเบื่อหน่ายในจิตอีก นี่ซิมันเข้าถึงจิต เมื่อเบื่อหน่ายในจิตแล้วมันก็หมด............................... คำว่าเบื่อหน่ายในจิต คือ รู้เห็นเหตุผลภายในจิต รู้ว่าสิ่งที่แทรกอยู่ในจิตนั้นมันเป็นตัวภัย นั่น ถึงขั้นอวิชชาเต็มตัวทีเดียว ถ้ายังไม่เข้าถึงจิตก็ยังไม่เข้าถึงอวิชชา



    เมื่อพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วยังพิจารณาตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วยังพิจารณาใจด้วย อารมณ์ที่เกิดจากใจ อะไรพาให้อารมณ์เกิดขึ้นมาในใจนั้นถ้าไม่ใช่อวิชชา อะไรเป็นผู้พาปรุง เป็นผู้ผลักดันออกมา เชื้อแห่งความคิดปรุงทั้งหลายมันคืออะไร พิจารณาเข้าไปตรงนั้น ทีนี้มันก็รู้ชัดเหมือนสภาวธรรมทั่วๆ ไป เหมือนรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วก็เหมือนตา หู จมูก ลิ้น กาย เวลาพิจารณาใจพิจารณาเหมือนกันนั้น รู้ก็รู้เหมือนกันนั้น ปล่อยก็ปล่อยเสมอกันไปหมด



    เมื่อถึงจิตแล้วไม่มีทางไป มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ,ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ ต่อจากนั้นก็ไป นิพฺพินฺทํ อันเดียวกัน อันนี้เรายอมรับในภาคปฏิบัติ เราปฏิบัติจริงนี่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในภาคปฏิบัติ ส่วนอนัตตลักขณสูตรนี้ พอไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เบื่อหน่ายสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังไม่ถึงตัวจิตอวิชชาก็ผ่านไป นี่เราเข้าใจว่าท่านตัดออก นี่เราได้พิจารณาแล้ว พิจารณารูป รู้เท่ารูปปล่อยรูป ภายในใจก็รู้ชัด ๆ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้เท่าหมด ปล่อยหมด แต่มันยังไปติดอยู่ในใจ มันไม่พ้นนี่นะเวลาปฏิบัติ มันก็ไปถือใจอยู่นั้นเสีย ถือใจก็คือ มานะ อวิชชา ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องบนนั่นแลจะเป็นอะไรไป ถ้าไม่เป็นตัวใจล้วนๆ กับอวิชชากลมกลืนกันอย่างสนิทติดจมน่ะ เราพิจารณาอย่างนั้น



    มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันก็อยู่ที่ใจทั้งหมดนี่ เมื่อเข้าถึงใจแล้วมันถึงได้รู้ตัวมานะคือ ความถือใจมันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ท่านเรียกสังโยชน์เบื้องบน คือ กิเลสประเภทละเอียดที่จิตยังติดข้องอยู่ ยังไม่รอบตัว พูดง่ายๆ อวิชชาฟังดูซิ จะอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่จิต ไม่ได้อยู่ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นะ ไล่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอาการทั้งห้านี้ ด้วยสติปัญญารอบไปหมด ปล่อยไปหมดแล้วมันยังไม่เห็นพ้นจากทุกข์นี่ ไม่เห็นพ้นจากกิเลสนี่นะ



    พอไล่เข้าไปถึงจิต มันก็ไปโดนเอาตัว มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จนได้ พอหมดอันนั้นแล้ว ไม่ต้องบอก บอกทำไม นิพพานอยู่ที่ไหนไม่ต้องบอก ไม่ต้องถามใครด้วยพ้นหรือยังจิตที่นี่ ไม่ถามใคร ถามทำไม สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงผูกขาด เมื่อปฏิบัติให้รู้เห็นตามหลักนี้แล้วมันก็รู้ชัดเจนขึ้นมาเอง แม้พระองค์ประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถาม ไม่ว่าสาวกองค์ใดจะไม่ถามเลย เพราะความจริงเท่ากัน



    นี่การปฏิบัติ อันไหนที่มันแย้งกันเราก็บอกว่าแย้ง ทางภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่น อาทิตตปริยายสูตรนี้ไม่มีทางแย้งได้เลย เอานั้นมาเทียบกับอันนี้ถึงแย้งกัน ระหว่างอาทิตตปริยายสูตรกับอนัตตลักขณสูตร แต่เรายังถือว่าท่านแสดงเพียงสรุปเอา ถ้าแสดงเต็มภูมิแล้วจะต้องถึงจิตอันเป็นตัวการ ไม่ถึงจิตจะหลุดพ้นไปไม่ได้ ขัดต่อหลักความจริงของการปฏิบัติ ของปัญญาที่จะเข้าถึงกัน



    นี่เข้าถึงเพียงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปล่อยนี้ไปแล้ว ก็ไปแบกทุกข์ไว้ที่ใจ แบกอวิชชาไว้ที่ใจ ก็เหมือนตัดต้นไม้ ตัดกิ่งตัดก้านตัดอะไรมันออก รากแก้วไม่ถอนขึ้นมามันก็งอกขึ้นมาอีกละซิ ถอนรากแก้วพรวดขึ้นมาหมดแล้ว กิ่งก้านไม่ต้องไปตัด มันก็แหลกหมด มันตายด้วยกันหมดนั่นแหละ อวิชชาเป็นตัวสำคัญมาก



    เราเห็นอย่างนั้นการปฏิบัติ จริงจังอยู่ภายในจิต รู้ชัด การปฏิบัติธรรมจึงไม่จำเป็นต้องให้ถูกตามปริยัติเปรี๊ยะๆ ไปทีเดียว ตรงไหนแยกก็ให้ทราบว่าแยกด้วยภาคปฏิบัติของตน ตรงไหนเข้าร่วมกันก็ให้รู้โดยภาคปฏิบัติของตัว ไม่ให้คาดไม่ให้เดา



    ดัง สมาธิ ปัญญา นี่ก็เหมือนกัน ของแต่ละรายๆ แต่ละนิสัย เอา สมาธิของเราเป็นอย่างไร ความสงบของเราเป็นแบบไหน ให้รู้ภายในตัวเอง อย่าเอาเรื่องของคนอื่นมาคาดหมายเทียบเคียง มาเป็นสมบัติของตน มันเป็นสิ่งหยิบยืม มันไม่ใช่ของจริง ของจริงแล้วเป็นขึ้นมาอย่างไร นั้นแลคือของเราแท้ ของเรามีความสงบแบบนี้ ปัญญาของเราเดินแบบนี้ หนักในการพิจารณาทางนั้นๆ องค์นั้นท่านชอบอย่างนั้น องค์นี้ท่านหนักไปในทางนี้ เป็นเรื่องของแต่ละท่านๆ อย่าเอามาคละเคล้ากัน ปฏิบัติให้จริงจังอย่างนี้โดยอยู่ในหลักสัจธรรมด้วยกัน



    มรรคผลนิพพานจะอยู่ที่ไหนละที่นี่ เมื่อสติปัญญาได้หยั่งเข้าไปถึงจิตซึ่งเป็นที่รวมของอวิชชาตัวภพตัวชาติแล้ว และกระจายมันออก ทำลายมันได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่แล้ว อะไรจะมาเป็นภพเป็นชาติอีก มันไม่มี แล้วก็ไม่มีอะไรจะเทียบด้วย ถ้าว่าว่างเสียหมดอย่างนี้ คนก็จะคาดว่าว่าง…..อย่างไหนไม่รู้ ความจริงมันเป็นอยู่นี่รู้อยู่ชัดๆ เต็มหัวใจแต่พูดไม่ออก ยกเอามาสมมุติ เพราะอันนั้นไม่ใช่สมมุติ จะมาพูดแบบสมมุติจะให้มันตรงแบบธรรมชาตินั้นมันตรงไม่ได้ เพราะอันนั้นเป็นวิมุตติอันนี้เป็นสมมุติ เป็นแต่เพียงข้อเทียบเคียงกันไปเท่านั้น



    จงพากันตั้งใจปฏิบัติอย่าท้อถอยอย่าลดละ อยู่ที่ไหนอย่าเผลอ อย่าลืมเนื้อลืมตัวอย่าหลงกับสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เป็นของเก่าแก่เคยมีมาดั้งเดิม วัตถุอารมณ์ต่างๆ มีอยู่เต็มแผ่นดิน ไปที่ไหนก็มีแต่อันนี้ ดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ภูเขา เราเห็นอยู่แล้วด้วยตาตั้งแต่วันเกิดมา ตื่นเต้นกับมันอะไรกัน ฟังแต่ว่าโลกสมมุติเป็นไร อะไรๆ ก็สมมุติ สมมุติกันขึ้นมาๆ เมื่อสมมุติกันขึ้นมาแล้วก็หลงกัน โลกทั้งโลกมีแต่ความหลงสมมุติกัน ไม่มีใครรู้สมมุติกันบ้างเลย ความหลงสมมุติ ความติดสมมุติ ก็คือ ความติดทุกข์ ความจมอยู่ในทุกข์นั่นแลจึงไม่ใช่ความฉลาด สมมุติก็ให้รู้ว่าสมมุติ เมื่อรู้สมมุติรอบหมดแล้วก็เป็นวิมุตติขึ้นมาเอง ภายในใจดวงที่เคยหลงเคยติดนั่นแล เอาละ




    ที่มา: เทศน์อบรมพระสงฆ์ www.luangta.com


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    10302a72b.jpg

    ธรรมทายาท

    หลวงตามหาบัว

    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

    10302a764.jpg

    ตัดทอนมาบางส่วนบางช่วงตอน

    ...จาก...

    http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=855&CatID=3

    http://www.luangta.com/archive1/Audio/y21w/a31-10-21b.wma

    10302c574.jpg

    ตอนที่เห็นความอัศจรรย์ก็เห็นตอนนั่งภาวนาตลอดรุ่ง

    ตั้งแต่เริ่มคืนแรกเลยพิจารณาทุกขเวทนา แหม มันทุกข์แสนสาหัสนะ

    ทีแรกก็ไม่นึกว่าจะนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่ง

    นั่งไปๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นๆ พิจารณายังไงก็ไม่ได้เรื่อง

    เอ๊ะ มันยังไงกันนี่ว่ะ เอ้า วันนี้ตายก็ตาย เลยตั้งสัจจอธิษฐานในขณะนั้น

    เริ่มนั่งตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงสว่างถึงจะลุก

    เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ฟาดกันเลยทีเดียว

    จนกระทั่งจิตซึ่งไม่เคยพิจารณา ปัญญายังไม่เคยออกแบบนั้นนะ

    แต่พอเวลามันจนตรอกจนมุมจริงๆ

    โอ๋ย ปัญญามันไหวตัวทันเหตุการณ์ทุกแง่ทุกมุม

    จนกระทั่งรู้เท่าทุกขเวทนา รู้เท่ากาย รู้เรื่องจิต

    ต่างอันต่างจริงมันพรากกันลงอย่างหายเงียบเลย

    ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อนเลย

    กายหายในความรู้สึก ทุกขเวทนาดับหมด

    เหลือแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่รู้เด่นๆ ชนิดคาดๆ หมายๆ ได้นะ

    คือสักแต่ว่ารู้เท่านั้น

    แต่เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุด อัศจรรย์ที่สุดในขณะนั้น

    พอถอนขึ้นมาก็พิจารณาอีก

    แต่การพิจารณา

    เราจะเอาอุบายต่างๆ ที่เคยพิจารณามาแล้วมาใช้ในขณะนั้นไม่ได้ผล

    มันเป็นสัญญาอดีตไปเสีย

    ต้องผลิตขึ้นมาใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ในขณะนั้น จิตก็ลงได้อีก

    คืนนั้นลงได้ถึง ๓ ครั้งก็สว่าง โอ๋ย อัศจรรย์เจ้าของละซิ


    10302c574.jpg


    พอออกจากสมาธิ

    ด้วยอำนาจธรรมอันเผ็ดร้อนของท่านอาจารย์มั่นเขกเอาอย่างหนัก

    จึงออกพิจารณา

    พอพิจารณาทางด้านปัญญาก็ไปได้อย่างคล่องตัวรวดเร็ว

    เพราะสมาธิพร้อมแล้ว

    เหมือนกับเครื่องทัพสัมภาระที่จะมาปลูกบ้านสร้างเรือนนี้มีพร้อมแล้ว

    เป็นแต่เพียงเราไม่ประกอบให้เป็นบ้านเป็นเรือนเท่านั้น

    มันก็เป็นเศษไม้อยู่เปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร

    นี่สมาธิก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้น

    เมื่อไม่นำมาประกอบให้เป็นสติปัญญามันก็หนุนอะไรไม่ได้

    จึงต้องพิจารณาตามอย่างที่ท่านอาจารย์ใหญ่ท่านเขกเอา

    พอท่านเขกเท่านั้นมันก็ออก

    พอออกเท่านั้นมันก็รู้เรื่องรู้ราว

    ฆ่ากิเลสตัวนั้นได้ ตัดกิเลสตัวนี้ได้โดยลำดับๆ

    เกิดความตื่นเนื้อตื่นตัวขึ้นมา

    โธ่ เราอยู่ในสมาธิเรานอนตายอยู่เฉยๆ มากี่ปีกี่เดือนแล้ว

    ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร

    คราวนี้ก็เร่งทางปัญญาใหญ่

    หมุนติ้วทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีห้ามล้อบ้างเลย


    10302c574.jpg

    ทีนี้วาระสุดท้ายนะ

    เวลาจะได้ความจริงก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า

    จิตกำหนดอสุภะไว้ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น

    ไม่ให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

    คือตั้งให้คงที่ของมันอยู่นั้นละ

    จะเป็นหนังห่อกระดูกหรือว่าหนังออกหมดเหลือแต่กองกระดูก

    ก็ให้มันรู้อยู่ตรงหน้านั้น

    แล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ

    อยากรู้อยากเห็นความจริงจากอสุภะนั้นว่า

    เอ้า มันจะไปไหนมาไหน

    กองอสุภะกองนี้จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน

    คือเพ่งยังไงมันก็อยู่อย่างนั้นละ

    เพราะความชำนาญของจิต ไม่ให้ทำลายมันก็ไม่ทำ

    เราบังคับไม่ให้มันทำลาย

    ถ้ากำหนดทำลายมันก็ทำลายให้พังทลายไปในทันทีนะ

    เพราะความเร็วของปัญญา

    แต่นี่เราไม่ให้ทำลาย ให้ตั้งอยู่ตรงหน้านั้น

    เพื่อการฝึกซ้อมทดสอบกันหาความจริงอันเป็นที่แน่ใจ


    พอกำหนดเข้าไปๆ

    อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้น มันถูกจิตกลืนเข้ามาๆ อมเข้ามาๆ หาจิตนี้

    สุดท้ายเลยรู้เห็นว่าเป็นจิตเสียเองเป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ

    จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้นน่ะมันกลืนเข้ามาๆ

    เลยมาเป็นตัวจิตเสียเองไปเป็นสุภะและอสุภะหลอกตัวเอง

    จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะข้างนอก

    ว่าเข้าใจแล้วที่นี่เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้ซิ

    นี่มันเป็นเรื่องของจิตต่างหากไปวาดภาพหลอกตัวเอง ตื่นเงาตัวเอง

    อันนั้นเขาไม่ใช่ราคะ อันนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ

    ตัวจิตนี้ต่างหากเป็นตัวราคะ โทสะ โมหะ

    ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว

    จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน

    พอจิตแย็บออกไปมันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก

    ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ

    10302c574.jpg

    หลังจากภาพภายในดับไปหมดแล้วจิตก็ว่าง ว่างหมดที่นี่

    กำหนดดูอะไรก็ว่างหมด

    มองดูต้นไม้ภูเขาตึกรามบ้านช่องเห็นเป็นเพียงรางๆ เป็นเงาๆ

    ส่วนใหญ่คือจิตนี้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด

    แม้แต่มองดูร่างกายตัวเองมันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ

    ส่วนจิตแท้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด

    ถึงกับออกอุทานในใจว่า

    โอ้โฮ จิตนี้ว่างถึงขนาดนี้เชียวนา

    ว่างตลอดเวลา ไม่มีอะไรเข้าผ่านในจิตเลย

    ถึงมันจะว่างอย่างนั้นมันก็ปรุงภาพเป็นเครื่องฝึกซ้อมอยู่เหมือนกัน

    เราจะปรุงภาพใดก็แล้วแต่เถอะ

    เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้มีความว่างช่ำชองเข้าไป

    จนกระทั่งแย็บเดียวว่างๆ

    พอปรุงขึ้นแย็บมันก็ว่างพร้อมๆ ไปหมด


    ตอนนี้แหละตอนที่จิตว่างเต็มที่

    ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ที่นี่

    คือรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี

    มันรู้รอบหมดแล้ว มันปล่อยของมันหมดไม่มีอะไรเหลือ

    เหลือแต่ความรู้อันเดียว

    มันมีความปฏิพัทธ์

    มันมีความสัมผัสสัมพันธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุมมาก

    ยากจะอธิบายให้ตรงกับความจริงได้

    มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว

    พออาการใดๆ เกิดขึ้นพับมันก็ดับพร้อม มันดูอยู่นี่

    สติปัญญาขั้นนี้ถ้าครั้งพุทธกาลท่านก็เรียก มหาสติ มหาปัญญา

    แต่สมัยทุกวันนี้เราไม่อาจเอื้อมพูด

    เราพูดว่าสติปัญญาอัตโนมัติก็พอตัวแล้วกับที่เราใช้อยู่

    มันเหมาะสมกันอยู่แล้ว

    ไม่จำเป็นจะต้องให้ชื่อให้นามสูงยิ่งไปกว่านั้น

    มันก็ไม่พ้นจากความจริงซึ่งเป็นอยู่นี้เลย

    จิตดวงนี้ถึงได้เด่น

    ความเด่นอันนี้มันทำให้สว่างไปหมด


    วันหนึ่งเดินจงกรมอยู่ทางด้านตะวันตกวัดดอยธรรมเจดีย์

    เราอดอาหารมาได้ ๓-๔ วันแล้ว

    วันนั้นเขาจะมาใส่บาตรวันพระในวัด

    เราก็ไปเดินจงกรมอยู่โน้นตั้งแต่สว่าง

    จนกระทั่งถึงเวลาไปบิณฑบาตที่บริเวณหน้าศาลาวัดถึงได้มา

    ตอนยืนรำพึงอยู่ทางจงกรม

    มันเกิดความอัศจรรย์พิลึกพิลั่น ถึงกับอุทานออกมาว่า

    แหม จิตนี้ทำไมถึงอัศจรรย์นักหนานะ

    มองดูอะไรแม้แผ่นดินที่เหยียบไปมานี้ก็เห็นอยู่ชัดๆ ด้วยตา

    แต่ทำไมจิตซึ่งเป็นส่วนใหญ่มันว่างไปเสียหมด

    ต้นไม้ ภูเขาไม่มีในจิต มันว่างไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย

    เหลือแต่ความว่างอย่างเดียวเต็มหัวใจ

    ยืนรำพึงอยู่สักประเดี๋ยวความรู้ชนิดหนึ่งเกิดขึ้น

    “ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ใด นั้นแลคือตัวภพ”

    ว่าอย่างนั้นเรางงเลย


    ความจริงคำว่าจุดก็หมายถึง จุดผู้รู้นั้นเอง

    ถ้าเราเข้าใจปัญหานี้ตรงตามความจริงที่ผุดบอกขึ้นมา

    มันก็ดับกันได้ในขณะนั้นแหละ

    แต่นี้มันกลับงงไปเสียแทนที่จะเข้าใจ เพราะเราไม่เคยรู้เคยเห็น

    ถ้ามีจุดก็จุดผู้รู้ ถ้ามีต่อมก็หมายถึงต่อมผู้รู้

    อยู่สถานที่ใดก็ที่จิตดวงรู้ๆ นั้นแลคือตัวภพ

    อุบายที่ผุดขึ้นภายในจิตนั้นก็บอกชัดๆ แล้วไม่ผิดอะไรเลย

    แต่เรามันงงไปเอง เอ๊ะ นี่มันยังไงกันนะไปเสียอีก

    จึงไม่ได้ประโยชน์จากอุบายที่ผุดขึ้นบอกนั้นเลยในเวลานั้น

    ปล่อยให้เวลาผ่านไปเปล่าๆ เป็นเวลา ๓ เดือนกว่า

    ทั้งที่ปัญหานั้นก็แบกอยู่ในจิตนั่นแล ยังปลงวางกันไม่ได้


    ทีนี้ถึงเวลามันจะรู้นะ

    ก็พิจารณาจิตอันเดียวไม่ได้กว้างขวางอะไร

    เพราะสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนหยาบมันรู้หมด

    รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วโลกธาตุมันรู้หมดเข้าใจหมด

    และปล่อยวางหมดแล้ว มันไม่สนใจพิจารณา

    แม้แต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    ยังไม่ยอมสนใจพิจารณาเลย

    มันสนใจอยู่เฉพาะ

    ความรู้ที่เด่นดวงกับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น

    สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไปพิจารณามา

    แต่ก็พึงทราบว่าจุดที่ว่านี้มันยังเป็นสมมุติ

    มันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหนก็สง่าผ่าเผยอยู่ในวงสมมุติ

    จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหนก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงสมมุติ

    เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้น


    อวิชชานั้นแลคือตัวสมมุติ

    จุดแห่งความเด่นดวงนั้นก็แสดงอาการลุ่มๆ ดอนๆ

    ตามขั้นแห่งความละเอียดของจิตให้เราเห็นจนได้

    บางทีก็มีลักษณะเศร้าหมองบ้าง ผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้าง

    ตามขั้นละเอียดของจิตภูมินี้ให้ปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นแล

    สติปัญญาขั้นนี้เป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน

    แทนที่มันจะจ่อกระบอกปืนคือสติปัญญาเข้ามาที่นี่มันไม่จ่อ

    มันส่งไปที่อวิชชาหลอกไปโน้น

    จึงได้ว่าอวิชชานี้แหลมคมมาก

    ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่าอวิชชาซึ่งเป็นจุดสุดท้าย

    ความโลภมันก็หยาบๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกันโลภ

    คิดดูซิ ความโกรธก็หยาบ ๆ โลกยังพอใจโกรธ

    ความหลง ความรัก ความชัง ความเกลียดความโกรธอะไร

    เป็นของหยาบ ๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกัน


    อันนี้ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเลยมาหมด ปล่อยมาได้หมด

    แต่ทำไมมันยังมาติดความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนี้

    ทีนี้อันนี้เมื่อมันมีอยู่ภายในนี้

    มันจะแสดงความอับเฉาขึ้นมานิดๆ

    แสดงความทุกข์ขึ้นมานิดๆ

    ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอนไม่คงเส้นคงวา

    ให้จับได้ด้วยสติปัญญาที่จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา

    ไม่ลดละความพยายามอยากรู้อยากเห็นความเป็นต่างๆ ของจิตดวงนี้

    สุดท้ายก็หนีไม่พ้น

    ต้องรู้กันจนได้ว่าจิตดวงนี้ไม่เป็นที่แน่ใจตายใจได้

    จึงเกิดความรำพึงขึ้นมาว่า

    จิตดวงเดียวนี้ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ

    เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง

    เดี๋ยวเป็นความผ่องใส

    เดี๋ยวเป็นสุข

    เดี๋ยวเป็นทุกข์

    ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป

    ทำไมจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้วจึงยังแสดงอาการต่างๆ อยู่ได้


    พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้

    ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า

    ความเศร้าหมองก็ดี

    ความผ่องใสก็ดี

    ความสุขก็ดี

    ความทุกข์ก็ดี

    เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ

    เท่านั้นแลสติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า

    เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียวไม่ควรยึดถือเอาไว้

    หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้น

    บอกเตือนสติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้น

    ผ่านไปครู่เดียว

    จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์

    ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใดๆ ในขณะนั้น


    จิตเป็นกลางๆ ไม่จดจ่อกับอะไร

    ไม่เผลอส่งใจไปไหน

    ปัญญาก็ไม่ทำงาน

    สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด


    ขณะจิต,สติ,ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล

    เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต

    อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจได้กระเทือน

    และขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ


    กลายเป็นวิสุทธิจิตขึ้นมาแทนที่

    ในขณะเดียวกันกับอวิชชา

    ขาดสะบั้นหั่นแหลกแตกกระจายหายซากลงไป

    ด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกร

    ขณะที่ฟ้าดินถล่มโลกธาตุหวั่นไหว (โลกธาตุภายใน)

    แสดงมหัศจรรย์บั้นสุดท้ายปลายแดนระหว่างสมมุติกับวิมุตติ

    ตัดสินความบนศาลสถิตยุติธรรม

    โดยวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผู้ตัดสินคู่ความ

    โดยฝ่ายมัชฌิมาปฏิปทา มรรคอริยสัจเป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง


    ฝ่ายสมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อกแบบหามลงเปล

    ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    ?temp_hash=3c80aa49de4a16f6ab961a58d638040c.jpg

    ?temp_hash=3c80aa49de4a16f6ab961a58d638040c.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    [​IMG]


    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๑


    อย่าตะครุบเงา

    การฝึกหัดอบรมเรา ที่ใจกำลังถูกแผดเผาด้วยกิเลสทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ทุกขณะจิตที่คิดถ้าไม่มีสติ มีแต่ใจถูกแผดเผาอยู่ตลอดเวลา ยังไม่เข็ดไม่หลาบกันแล้วเราจะเข็ดหลาบที่ไหน ความทุกข์อยู่ที่ไหนเวลานี้ พระพุทธเจ้าสอนว่าความทุกข์อยู่ในสถานที่ใด ความสุขอยู่ในสถานที่ใด อาศัยดินฟ้าอากาศอาหารการบริโภคก็เพียงพอประมาณเท่านั้น หลักใหญ่ต้องใจเป็นทุกข์ใจเป็นสุข เพราะฉะนั้นการสอนจึงสอนลงในหลักใหญ่ได้แก่ใจ เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติต่อตนเอง แก้ไขดัดแปลงจิตใจให้เป็นไปเพื่อถูกทาง แล้วความร่มเย็นก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับลำดา ท่านสอนโดยถูกต้องที่สุดหาที่แย้งไม่ได้ เอ้า ปฏิบัติไปซิจะค้านพระพุทธเจ้าได้ที่ตรงไหน

    ต้องปฏิบัติ อย่าเรียนเอาความจำมาถกมาเถียงมารบรากันด้วยน้ำลาย ศาสนาพระพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสนาน้ำลาย ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนเพื่อปฏิบัติ นั่นฟังซิ เรียนรู้เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะ รู้วิธีการแล้วให้พยายามปฏิบัติตาม เรียกว่าปฏิบัติ การปฏิบัติได้ผลมากน้อยเรียกว่าปฏิเวธ ค่อยรู้แจ้งไปโดยลำดับ ๆ ตามหลักความจริง จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดในความจริงทั้งหลาย ท่านเรียกว่าสัจธรรม อยู่ที่ตรงนี้

    เรายังไม่ทราบว่าศาสนาให้ความร่มเย็นแก่โลกอยู่เหรอ ไม่ทราบว่าศาสนาให้ความร่มเย็นแก่เราอยู่เหรอ เรายังไม่ยอมรับความร่มเย็นจากศาสนา เรายอมรับแต่ความรุ่มร้อนกับเรื่องกิเลสมาเป็นเวลานานแล้ว เรายังไม่เข็ดหลาบเหรอเราคิดซิ ปัญญามีต้องคิดเรื่องเหล่านี้ ผู้ที่จะเอาตัวรอดได้ต้องใช้ปัญญา พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันหลายคม ไม่งั้นไม่ทันกลมายาของกิเลส

    พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นคนโง่ สาวกทั้งหลายไม่ใช่เป็นคนโง่ ฉลาดจอมปราชญ์ก็คือพระพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพระสาวกทั้งหลาย เรายังเห็นว่าท่านโง่อยู่เหรอ ใครที่พ้นจากทุกข์ไปได้ ในบรรดาสัตวโลกในสามภพนี้นอนตายกองกันอยู่ในทุกข์ พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านผ่านพ้นไปได้ ใครจะว่าใครฉลาด ใครจะว่าใครโง่ เอามาเทียบเคียงกันซิ แล้วคำสอนหรืออุบายวิธีการต่าง ๆ ใครเยี่ยม อุบายวิธีสอนนี้ที่เรียกว่าเป็นนิยยานิกธรรม นำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ก็เนื่องมาจากสวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่ผิดไม่เพี้ยน ไม่เปลี่ยนตามกาลตามฤดูตามสถานที่อะไร ๆ ทั้งนั้น

    เพราะกิเลสไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นกิเลสอยู่ตายตัว ความโลภก็ตายตัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา เป็นของตายตัวและฝังอยู่ภายในจิต จะให้พระพุทธเจ้าสอนไปทางไหน จะให้เปลี่ยนแปลงอรรถธรรมไปได้อย่างไร ต้องแสดงธรรมให้ถูกต้องตามหลักความจริงซิ

    ใครจะเห็นโทษถ้าไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งได้ศาสนามาเป็นเครื่องมือไตร่ตรองพินิจพิจารณาตามเรื่องความเป็นโทษเป็นคุณ ซึ่งมีอยู่กับเราด้วยกันทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งมีอยู่กับใจ ใจเป็นผู้ผลิต วัฏจักรมันผลิตความคิดความปรุงในแง่ต่าง ๆ ออกมา กระทบอะไรไม่กระทบอะไรไม่สำคัญ มันคิดมันปรุงของมันอยู่นั้น

    รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส คำว่ารูปมีกี่ประเภท เต็มแผ่นดิน เสียงก็เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่เป็นภัยมากก็คือเสียงมนุษย์เรา เอาแค่ธาตุแค่มนุษย์ก็พอ ในพระไตรปิฎกท่านพูดถึงเรื่องนักปฏิบัตินี้ย่นเข้าไปอีก รูปใดก็ตามไม่ได้เป็นภัยต่อนักบวชยิ่งกว่ารูปหญิง ท่านว่า อิตฺถี รูปํ ในพระไตรปิฎก เสียงใดก็ตามไม่มีเสียงที่จะเป็นพิษเป็นภัยเสียดแทงเข้าในขั้วหัวใจยิ่งกว่าเสียง อิตฺถี สทฺโท กลิ่น รส ความสัมผัสถูกต้องอยู่ในตัวรูปอันนี้ทั้งนั้น นี้เป็นภัยอันดับหนึ่งทีเดียวท่านว่า ท่านสอนในพระไตรปิฎก

    ย่นสอนภิกษุทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายให้เธอทั้งหลายได้เห็นโทษ นี้แลสิ่งที่ให้โลกตายกองกันเพราะอันนี้เป็นเครื่องล่อ ถ้าหมดอันนี้แล้วไม่กลับมา เช่นอย่างพระอนาคามี สำเร็จจากขั้นนี้แล้วท่านไม่กลับมา เป็นอัตโนมัติเหมือนกันกับผลไม้ที่แก่ ควรจะสุกโดยลำพังตนเองแล้ว ตัดมาบ่มก็สุกไปเลยหรือไม่บ่มก็สุกไป แม้ต้นไม้ต้นนั้นจะตายจากไปเสียในขณะที่ผลไม้ต้นนั้นมันแก่แล้ว มันควรจะสุกโดยลำพังตัวเองได้แล้วมันก็สุกของมันได้ นั่นพิจารณาซิ ซึ่งพระอนาคามีก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิด คือเลื่อนไปโดยลำดับ ค่อยแก่กล้าไปโดยลำดับเป็นอัตโนมัติของจิตในขั้นนั้น

    เราอยู่ในโลกนี้เราก็ทราบ ในขันธ์ของเราเราก็ทราบ จิตเมื่อก้าวเข้าถึงขั้นอัตโนมัติแล้วจะไม่ถอยหลัง มีแต่หมุนติ้ว ๆ เป็นอัตโนมัติของตนเองโดยลำดับ นี่ละที่พระอนาคาท่านไม่กลับมา เพราะสิ่งทั้งห้านี้ที่กล่าวมาตะกี้นี้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ก็กับอันนี้แหละ กับ ๕ อย่างนี้มาบวกเข้าเป็นธรรมารมณ์ ก็เป็นอารมณ์กับสิ่งเหล่านี้ ได้ผ่านกันไปแล้ว ได้ขาดจากกันไปแล้ว ท่านถึงไม่มีเยื่อใย ไม่ต้องกลับมา แล้วนิพพานไปเลยทีเดียว

    ผู้ได้เพียงระดับขั้น เช่นอย่างสอบได้ในระดับสอบได้ เช่น ๕๐ % ได้ขั้นนี้ก็หมายความว่า ขั้นนี้จะไม่กลับแล้ว ขั้นพระอนาคามี ผู้ได้ ๖๐ % ๗๐ % ๘๐ % ก็แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ เวลาเปลี่ยนภูมิก็เปลี่ยนไปตาม ชั้นอวิหาเป็นชั้นต่ำ อตัปปา ชั้นสูงขึ้นไป สุทัสสา ชั้นที่สาม สุทัสสี ชั้นที่สี่ อกนิฏฐา ออกจากนั่นก็ก้าว นี่ก็ก้าวขึ้นจาก อวิหา แล้วไป อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี แล้วก็อกนิฏฐา แล้วนิพพานเลย ท่านเหล่านี้ไม่กลับมาเพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจ เราจะเห็นได้จากการปฏิบัติของเรา เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไปจากจิตใจแล้ว จะไม่มีสิ่งเหล่านี้มาดึงดูดจิตใจให้ล่มให้จมให้กดถ่วงให้ทนทุกข์ทรมานเลย สิ่งที่ฝังจมที่สุดก็คือตัวนี้แหละ ทำความวุ่นวายแก่จิตใจก็อันนี้

    การฝึกจิตเพื่อจะให้เห็นสิ่งเหล่านี้ก็ยากที่สุด มันยากอยู่ที่จิตนี้ ยากมากต้องฝืน ถ้ารู้ว่าเป็นสาเหตุแห่งทุกข์แล้วต้องฝืน เหมือนหนามยอกในฝ่าเท้าของเรา เราถอนหนามออกไม่ได้เพราะเราเจ็บ คนนั้นต้องยอมตายให้เท้าเปื่อยไปหมด ไม่ยอมถอนหนามเพราะเจ็บ ความเห็นแก่เจ็บเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงเหตุผลว่าเมื่อหนามฝังจมอยู่นั้นจะทำอันตรายแก่ร่างกายไปได้มากน้อยเพียงไร จะเกิดความเสียหายเพียงไร ไม่ได้คิดเหตุผลถึงขนาดนั้น ผู้ที่คิดเหตุผลอย่างนั้นแล้ว หนักเบาขนาดไหนต้องถอนออกให้ได้ นั่นละผู้มีเหตุผลมันต่างกัน ว่าเจ็บแล้วก็หยุดเสีย ๆ ผู้นั้นละผู้จะได้เจ็บตลอดไป

    นี่ก็เหมือนกัน การฝึกหัดอบรมจิตใจ ให้เทียบเคียงเหตุเคียงผลซิ เราไม่ต้องไปคำนึงคำนวณว่าเราได้เคยเกิดมาหรือไม่เคยเกิดมาในชาติใดภพใด หรือพึ่งมาเกิดเป็นมนุษย์ชาติเดียวนี้ เราอย่าไปคิดให้เสียเวลา เอ้า ฟาดลงไปเรื่องข้อปฏิบัติมีมากน้อยเพียงไร พระพุทธเจ้าสอนแล้วด้วยความจริงทุกอย่าง เกิดพระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องความเกิด สาเหตุให้เกิดคืออะไรพระพุทธเจ้าก็สอนแล้วเราสงสัยที่ตรงไหน

    อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ, วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เรื่อยไปเลย จนกระทั่งเป็นรูปเป็นนามขึ้นมานี้เพราะอวิชชาเป็นต้นเหตุ นี่ท่านก็บอกอยู่แล้ว เราพิจารณาลงไปซิ อวิชชาอยู่ที่ตรงไหนมันจึงพาให้เกิดเสมอ อวิชชากับใจเป็นเพื่อนกันอย่างสนิทมิตรสหาย อย่างแน่นแฟ้นทีเดียว ไม่สามารถที่จะทราบได้อย่างง่าย ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องถากต้องถางเข้าไปหาองค์กษัตริย์คืออวิชชา ซึ่งเป็นจอมไตรภพนั่นแหละ ได้แก่อวิชชา พิจารณาลงไป ถากถางลงไปตั้งแต่การพิจารณา

    ให้ทำความสงบใจ เวลาจะภาวนาให้ใจสงบเอาสงบให้ได้ เราเป็นนักบวชเราเป็นนักปฏิบัติ ทำไมทำใจให้สงบไม่ได้มีอย่างเหรอ มันจะฟุ้งไปไหน มันฟุ้งขนาดไหน เครื่องมือ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทน ฟาดกันลงไปทุ่มกันลงไปเราอย่าไปถอย พระพุทธเจ้าได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเพราะธรรมเหล่านี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่เรียกว่า พละ ๕ กำลัง ๕ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่ ฉันทะ พอใจที่จะแก้ที่จะถอดจะถอน วิริยะ เพียรเสมอไม่ถอย จิตตะ ไม่ให้จิตห่างเหิน ไม่ให้สติห่างเหินจากหน้าที่การงานของตน วิมังสา ทำอะไรอย่าให้ขาดปัญญา พิจารณาใคร่ครวญเสมอ นี่เรียก อิทธิบาท สิ่งที่สมตามความมุ่งหมายก็คืออิทธิบาท ๔ ถ้าเราไม่สามารถใครจะสามารถ เราถอนทุกข์ไม่ได้จะให้ใครมาถอนให้เรา เราต้องคิดถึงเรื่อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ซึ่งเป็นธรรมจริงร้อยเปอร์เซ็นต์หรือความจริงสุดส่วน สุดท้ายเราต้อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ

    การประพฤติปฏิบัติครูบาอาจารย์พูดแนะนำสั่งสอนได้ ดังพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา การประกอบความพากเพียรเพื่อถอนตนให้พ้นจากทุกข์นั้น เป็นเรื่องของท่านทั้งหลายทำเอง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้แก้กิเลสให้ นั่นฟังซิ เมื่อได้อุบายจากท่านแล้วก็นำอุบายนั้นเข้าไปช่วยตัวเอง

    หนักก็หนัก เบาก็เบา เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่ต้องถอย ชื่อว่านักรบไม่ใช่นักหลบ นักหลบเป็นอย่างหนึ่งนักรบเป็นอย่างหนึ่ง ถ้ายากมีแต่หลบ ๆ ใช้ได้ยังไง หลบหน้ากิเลสจะหลบไปไหน กิเลสอยู่ที่หัวใจ ฟาดกันให้มันแหลกไปเป็นไร หลบไปไหนก็ไม่พ้นกิเลส ถ้าลงหลบแล้วต้องตายเพราะกิเลสทั้งนั้นแหละ ถ้าสู้กิเลสแล้วกิเลสมีวันตาย เราจะเอาแบบไหน นี้อุบายวิธีแก้ไขตนเอง พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์ซิ

    ยิ่งเวลามันจนตรอกจนมุมมันฉลาดเอง เพราะมันหาทางออกนี่คนเรา อยู่เฉย ๆ ก็มีแต่กินแล้วนอน กอนแล้วนินอยู่นั้นไม่ได้ประโยชน์ สติปัญญาไม่เกิด เวลาจนตรอกจนมุมมันเกิด หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเจ้าของ ถึงเรียกว่าปัญญา ต้มแกงกินไม่ได้นอกจากจะมาใช้ในสิ่งที่ควรแก่ตน แก่ฐานะของตนเท่านั้นเอง ปัญญามีฐานะทางพิจารณาสอดส่องมองดูเหตุผลดีชั่ว หรือควรจะปลดเปลื้องแก้ไขด้วยวิธีหรือด้วยอาการใด นี่คือเรื่องของปัญญา สติเป็นผู้ควบคุมงาน ให้ทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอในการประกอบความพากเพียร

    ไม่มีอะไรจะสงสัยเรื่องเกิดเรื่องตาย ออกจากภพนี้จะต่อไปภพหน้าอีก อวิชชาพาให้ไป นี่ละความจริงเป็นอย่างนี้ เรียนเข้าให้ถึงเราจะได้รู้ว่าอวิชชาเป็นตัวกงจักรสำคัญ ถ้าไม่เห็นแล้วงมเงาอยู่นั่นละ ตัวเกิดมาก็เข้าใจว่าตายแล้วสูญ ๆ มันสูญไปไหน พูดเรื่องสูญ ๆ ด้วยความมืดดำกำตาต่างหาก มืดบอดต่างหาก ไม่ใช่พูดด้วยความรู้ด้วยปัญญา ได้พิจารณาเห็นตามความจริงแล้วมาพูดดังพระพุทธเจ้านั้น หาที่ค้านไม่ได้ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เรื่อย พออวิชชาดับเท่านั้นสิ่งเหล่านั้นดับ ๆ ไปเลย นิโรโธ โหติ ดับสนิทหมดไม่มีอะไรเหลือ นั่นฟังซิ สุดท้ายท่านก็สรุปความว่า จตฺตาริ อริยสจฺจานิ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ, สมุทัย อริยสจฺจํ, นิโรโธ อริยสจฺจํ, นิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ นี่คืออริยสัจ อวิชฺชาปจฺจยา อยู่ที่ไหนเวลานี้

    อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ที่ดวงใจของเรานี้อยู่ที่ไหน นี้ละอริยสัจอยู่ที่ตรงนี้ เรียนอริยสัจให้มันถึงซิ เมื่อถึงแล้วก็รู้เรื่องภพเรื่องชาติ จะไม่พ้นไปจากดวงจิตที่กลมกลืนกับอวิชชาพาให้เกิดให้ตาย ภพน้อยภพใหญ่อยู่ไม่หยุดไม่ถอยนี้ รู้อย่างเด่น ๆ อยู่ภายในหัวใจนี่ เวลาตัดขาดจากกันพังทลายลงไปไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่จิตบริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วไม่ต้องไปถามพระพุทธเจ้าอีก ถามทำไมความจริงเป็นอันเดียวกัน เหมือนกันถามกันทำไม

    ยกตัวอย่างเช่น พระอัญญตรภิกขุ กำลังจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องอวิชชานี่ ธรรมะขั้นสูงแล้วละเอียดพอแล้ว พอขึ้นไปจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าไปเห็นฝนตก พอดีไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎีก็ฝนตก ก็พิจารณาอยู่นั่น เรื่องสังขารกับเรื่องน้ำที่กระทบกันตั้งเป็นฟอง ๆ ขึ้นมาแล้วดับไป ๆ ไม่มีอะไร แล้วก็มาเทียบเรื่องความคิดความปรุง ปรุงดีก็ดับ ปรุงชั่วก็ดับ ปรุงเรื่องอะไร ๆ ดับ ๆ เกิดขึ้นมาจากไหน อันใดเป็นสาเหตุที่พาให้ผลักดันสังขารเหล่านี้ให้คิดให้ปรุงอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ค้นลงไป ๆ ก็เจออวิชชาซิ พอเจอแล้วก็สะดุดพับเดียวเท่านั้น อวิชชาขาดกระเด็น เลยไม่ทูลถามพระพุทธเจ้า กลับไปกุฏิเฉยเลยอย่างสบายหายห่วง นั่นละความจริงเป็นอันเดียวกัน

    ถามพระพุทธเจ้าก็จะได้อะไรมา ไม่ได้ประมาทพระพุทธเจ้านะ ความจริงพระองค์สอนไว้แล้วทุกแง่ทุกมุม สนฺทิฏฺฐิโก จะพึงเห็นเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะพึงรู้โดยลำพังตนเอง โดยเฉพาะผู้ปฏิบัตินั้นเท่านั้น เเน่ะ ก็บอกไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาถามตถาคต เพราะความจริงประกาศสอนไว้แล้วทุกแง่ทุกมุมให้รู้ ดังพระสารีบุตรท่านพูด พระตาบอดหูหนวกก็หาว่าท่านดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธเจ้า ว่าเราเชื่อความจริงเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าให้ยิ่งกว่าความจริงว่างี้ ความจริงใดถ้าเรายังไม่ถึงเสียก่อน ความเชื่อนั้นก็ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้จะเชื่อพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนอย่างไรก็ตาม ความเชื่ออันนั้นก็เป็นความเชื่อคาดคะเนเดาเอา ยังไม่ถึงความจริงแล้วไม่จัดว่าเป็นความเชื่อที่เต็มตัว

    พระสงฆ์ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ตาบอดปุถุชนจะว่าไง ว่าพระสารีบุตรว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็รับสั่งมาให้เข้าเฝ้า การรับสั่งพระพุทธเจ้ามีความหมายนี่ ไม่ใช่ว่าพระองค์ไม่เชื่อพระสารีบุตร ว่าทำไมจึงมีทิฐิมานะกับเราอย่างนี้ พระองค์ไม่มีอย่างนั้น อาศัยเหตุนี้เท่านั้น รับสั่งให้พระสารีบุตรเข้ามาเฝ้า และทรงรับสั่งถาม ไหนพระสารีบุตรได้ทราบว่าเธอไม่เชื่อเราจริงไหม จริงพระเจ้าข้า ไม่เชื่อเราเพราะเหตุใด นั่นฟังซิพระพุทธเจ้าถามหาต้นเหตุ ไม่เชื่อในเรื่องหลักธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ข้าพระองค์เชื่อด้วยเพียงความด้นเดาเท่านั้นยังไม่ถึงความจริง ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้ประพฤติปฏิบัติเห็นตามความจริงแล้ว ข้าพระองค์เชื่อความจริงนี้อย่างเต็มใจ การเชื่อพระพุทธเจ้าก็เชื่ออย่างเต็มใจเต็มหัวใจคราวนี้ เอาละถูกต้องแล้วสารีบุตร ธรรมเราตถาคตสอนไว้เพื่ออย่างนั้น

    ในธรรมขั้นละเอียดก็อย่างที่ทรงแสดงแก่กาลามชน คือแสดงยกกาลามสูตรขึ้นมาแสดงแก่กาลามชนว่า อย่าเชื่อตำรับตำรา อย่าเชื่อครูบาอาจารย์ที่ถือว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ อย่าเชื่อคนที่ถือว่าควรเชื่อได้ แล้วก็อย่าเชื่อนั้นเชื่อนี้ อย่าเชื่อไปเรื่อยให้เชื่อตัวเอง แน่ะ สุดท้ายแล้วให้มาเชื่อตัวเอง ก็หมายถึงธรรมบทนี้เอง แต่ทีนี้ผู้ที่ฟังผู้ที่อ่านทั้งหลายไม่ได้คิดถึงธรรมบทนี้ เพราะไม่เคยเห็นธรรมบทนี้ ไม่เคยรู้ธรรมบทนี้ประจักษ์ใจ เลยหาว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อตำรับตำราแล้วจะสอนโลกไปทำไม ก็ตำรานี้ก็ว่าเป็นตำราที่ถูกต้อง เรียกว่าสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว จารึกลงในคัมภีร์ใบลานก็ดี สอนคนก็ดี ก็สอนเพื่อให้เข้าถึงความจริง แล้วทำไมไม่ให้เชื่อตำรา นี่คิดไปอย่างนั้นเสีย ที่ว่าไม่ให้เชื่อตำราก็หมายถึงธรรมขั้นนี้ต่างหาก ไม่ให้เชื่อครูเชื่ออาจารย์แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้เชื่อ ในธรรมขั้นนี้ให้เชื่อตัวเอง ด้วยความรู้ความเห็นของตนเองนั้นจึงเป็นที่ไว้ใจตนเองได้อย่างสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าทรงรับรองได้เพราะเรารับรองเราแล้ว ด้วยความสมบูรณ์บริสุทธิ์เต็มที่ นั่นเอาตรงนี้ต่างหาก

    เมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้วตัวเองต้องเชื่อตัวเอง จึงเรียกว่า ปจฺจตฺตํ เวฯ หรือ สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเอง เชื่อตนเองได้เป็นอันดับหนึ่ง เชื่อครูบาอาจารย์ทั้งหลายซึ่งเป็นแนวทางที่จะให้เข้ามาถึงธรรมขั้นนี้นั้นเป็นอันดับสอง เมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้วอันนี้เป็นอันดับหนึ่ง นี่ละที่แสดงในกาลามสูตรแก่กาลามชน พระองค์ทรงหมายถึงอันนี้ เราจะเห็นได้เวลากาลามชนฟังเทศน์ สำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมายก่ายกอง ก็เพราะเขาสมควรแก่ธรรมขั้นนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอย่างนี้ ไม่ใช่สอนแบบสุ่มแบบเดา คนตาสีตาสาไม่รู้อะไร ๆ ไม่มีอุปนิสัยพอที่จะรู้แจ้งเห็นจริงกับธรรมที่พระองค์สอนในขั้นนี้ แต่พระองค์สอนแบบด้นเดาอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ เราดูผลที่พระองค์สอนซิ พวกกาลามชนทั้งหลายนั้นได้สำเร็จมรรคผลนิพพานมากน้อยเพียงไร มันก็เหมาะสมกับธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนอย่างนี้

    นี่ก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่สั่งสอนแล้ว ทำลงไปให้มันเห็นความจริงในตัวเอง เมื่อเห็นความจริงในตัวเองอันใดแล้วมันจะปล่อย ๆ หมดกังวล ๆ ไปเลย อย่าลืมว่ากิเลสเป็นภัยต่อเราอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถทุกอาการแห่งความเคลื่อนไหวของจิตที่คิดออกมาเพื่อสิ่งใด ส่วนมากถ้าไม่มีสติจะมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้น ทำงานทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนและทุกขณะจิต ถ้ามีสติปัญญาห้ำหั่นกันอยู่ตลอดเวลาแล้ว นั้นละธรรมทำงานแล้วที่นี่ ไม่ใช่กิเลสทำงาน ธรรมทำงานเพื่อมรรคเพื่อผลแล้วถอดถอนกันได้โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถอดถอนได้โดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ

    เอาให้จริงจังนักปฏิบัติ อย่าท้อถอยอย่าอ่อนแอไม่ใช่เรื่องของธรรม พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกทีเดียวที่เป็นตัวอย่างของโลก ทั้งความพากเพียรทั้งความอดทน ทั้งความเฉลียวฉลาด ทั้งความเป็นนักต่อสู้ไม่ใช่นักล่าถอย เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตแม้ไม่เห็นองค์พระศาสดาก็ตาม ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโนโหติ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ชื่อว่าผู้นั้นบูชาเราตถาคตด้วยการปฏิบัติ และเป็นผู้เดินตามตถาคต ไม่จำเป็นจะต้องให้ตถาคตพาเดิน ว่าเดินก่อนเดินหลังไม่สำคัญ เช่นพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานไปแล้ว ไม่เห็นมีความสำคัญอะไรกับความนานไม่นาน เป็นกาลเวลาซึ่งเป็นสมมุติอันหนึ่งต่างหาก

    การปฏิบัติตามหลักแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นธรรมศูนย์กลางเหมาะสมกับการแก้กิเลสทุกประเภท ให้ถูกต้องเหมาะสม นี้แลเป็นการตามเสด็จพระพุทธเจ้าโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นตามเสด็จพระพุทธเจ้าได้ทันท่วงที ใครสิ้นกิเลสเมื่อไรก็ผู้นั้นแหละได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเต็มองค์ เห็นตถาคตเต็มองค์

    ดังธรรมท่านว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ก็หมายถึงสัจธรรมนี้ เริ่มเห็นในเบื้องต้นตั้งแต่สมาธิไปก็เริ่มเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว สมาธิขั้นหนักลงไปก็เริ่มเห็นชัดขึ้น ปัญญาก็ดำเนินทางปัญญา ก็เริ่มเห็นพระพุทธเจ้าเข้าเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัญญาเต็มภูมิ ถอดถอนกิเลสออกหมดโดยสิ้นเชิง เห็นพระพุทธเจ้าเต็มพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ใช่รูปร่าง อันนี้เป็นเรือนร่างของพุทธะ ของพระพุทธเจ้าอันแท้จริงต่างหาก ซึ่งเป็นเหมือนกับพวกเรา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ องค์พุทธะแท้ ๆ คือความบริสุทธิ์ในพระทัยของพระองค์ นั่นละที่ว่าเห็นตถาคตเห็นที่ตรงนั้นไม่ใช่เห็นที่ตรงไหน

    เอาละพูดไปพูดมารู้สึกเหนื่อย ๆ

    พูดท้ายเทศน์

    เราภาวนาไม่ยุ่งแหละที่นี่ พอไม่ยุ่งเท่านั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ มันก็ตั้งหน้าทำงาน เป็นอีก พอเผลอ ๆ มันก็เป็นอีก เผลอเริ่มไปยุ่งอีกแล้ว ขยับอีกเป็นบ้าเข้าอีก จะเอาให้เป็นอย่างนั้นอีก ๆ เลยจิตไปยุ่งอยู่โน้นเสียไม่เข้าทำงานตามหลักความจริง มันก็ไม่ได้เรื่อง

    เพราะฉะนั้นเวลาออกปฏิบัติ คราวนี้จะไม่เอาอะไร มีหนังสือปาฏิโมกข์เล่มเล็ก ๆ ปาฏิโมกข์พก หนังสือพกเหมือนปฏิทินพก ติดย่ามอันเดียวเท่านั้นเอง ทีนี้จะเอากันละ จิตดวงนี้เอาให้ได้เราเห็นมา ๓ หนแล้วนี่ เร่งใหญ่เลยทั้งวันทั้งคืน แต่ดีไม่มีงานอะไรมายุ่งเหยิง ตั้งแต่เราเริ่มปฏิบัติมาเป็นเวลา ๙ ปีเต็ม ๆ นี่เรียกว่าตะลุมบอนกันเลยเทียว ไม่มีงานอะไรมายุ่งเราได้เลย มีแต่หน้าที่ภาวนาอย่างเดียว ไม่ไปอยู่กับวัดที่ไหนที่ท่านก่อสร้างเลย เพราะเราไม่ชอบมันขาดงานเรา ประกอบกับนิสัยเราเป็นอย่างนั้น ถ้าทำอะไรทำอย่างนั้นจริง ๆ พอปล่อยแล้วปล่อยจริง ๆ

    ตะลุมบอนกันเข้าไม่นานนะ ประมาณเดือนกว่าเท่านั้นแหละได้หลักจิตเลย ทีแรกก็ได้บ้างเสียบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้างเรื่อย ๆ ต่อไปก็ได้ ๆ ๆ ได้ทุกคืน ได้ทุกวันทุกเวลา จนแน่วแน่จิตแน่นปึ๋งเป็นสมาธิ แล้วก็รักษาไม่ได้รักษาไม่เป็น ไม่รู้วิธีรักษา เผลอตัวมาทำกลดหลังหนึ่ง พอทำกลดยังไม่เสร็จจิตเข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง เผ่นเลยพอทำกลดเสร็จ ถึงขนาดนั้นมันยังเสื่อมลงไป ๆ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือในตัวเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟ ร้อนไม่มีใครที่จะร้อนยิ่งกว่าผู้ปฏิบัติ ซึ่งเคยได้ผลมาแล้วแต่เสื่อมไป เทียบแล้วเหมือนกับคนที่มีเงินเป็นจำนวนล้าน ๆ แต่ได้ล่มจมเสียด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้เงินอยู่ในธนาคารที่ฝากเอาไว้ หรืออยู่ในบ้านในเรือนมีเป็นแสน ๆ ก็ตาม เงินเหล่านี้ไม่มีความหมายเลย มันไปมีความหมายอยู่กับเงินที่สูญหายไปแล้วโน้น นั้นละที่ทำให้คนนั้นเสียอกเสียใจจนแทบเป็นบ้าไปได้

    ถ้าจิตไม่เคยเป็นอะไรเลย ไม่เคยมีสมาธิ ไม่เคยเป็นอะไร อยู่ตามประสีประสา มันก็เหมือนกับชาวบ้านเขาที่ไม่มีเงินถึงหมื่นถึงแสนก็ตาม เขาก็มีความสุขยิ่งกว่าคนที่มีเงินเป็นล้าน ๆ แต่ล่มจมไปเสียด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งนั้นมากมาย เขามีความสุขกว่ากันอยู่มากนะ ทีนี้ผู้ที่ภาวนายังไม่เคยเห็นจิตได้รับความสงบ ได้เป็นหลักเป็นฐานพอเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอบอุ่นจิตใจ ให้เกิดเป็นความอัศจรรย์ของใจ จะอยู่ยังไงก็อยู่ได้ ความเพียรก็ขี้เกียจ ไม่อยากทำความพากความเพียร ขี้เกียจ เพราะยังไม่เคยเห็นผล พอได้ปรากฏผลแล้ว ความเพียรก็ขยับเข้า ๆ แต่ถ้ารักษาไม่เป็นมันก็เสื่อมอย่างที่ว่าละ

    ความเสื่อมนั้นแหละทำให้เราประจักษ์ใจจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่จืดไม่จางเลย เสื่อมจนขนาดที่ว่าไม่มีอะไรเหลือเลย เพียงเข้าได้สงบบ้างไม่สงบบ้างรีบออกไป มันเอาเสียจนไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่สงบจะว่าไง ทีนี้มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจ เพราะเสียดายจิตดวงนั้น เป็นปีนะไม่ใช่เล่น ๆ มันเสื่อมลงไปไม่นาน แต่เวลามันเสื่อมลงไปตั้งปีมันก็ไม่ฟื้นให้ บทเวลาจะฟื้นก็เพราะยกอารมณ์ปัจจุบัน ภาวนาแต่พุทโธเท่านั้น จิตจะเสื่อมไปไหนเสื่อมไปเถอะ เราได้วิงวอนเราได้ขอร้องพอแล้ว ความห่วงใยเสียดายก็แทบเป็นแทบตายก็ไม่เห็นได้ผลอะไรเลย คราวนี้ปล่อยทิ้ง เอ้าจะเสื่อมก็เสื่อมไปแต่พุทโธเราจะไม่ละ

    เราชอบพุทโธเราภาวนาพุทโธไม่ยอมปล่อย อยู่ที่บ้านนาสีนวน ตะวันออกวัดดอยธรรมเจดีย์ อยู่กับท่านอาจารย์มั่น มาพักอยู่วัดร้างกับเขา ๓ องค์ เร่งภาวนาพุทโธ ตอนนั้นท่านไปเผาศพท่านอาจารย์เสาร์ให้เราเฝ้าวัด เราก็ยิ่งสนุกเร่งความเพียร เอ้าเสื่อมก็เสื่อมไป คราวนี้เรียกว่าทอดอาลัยตายอยากหมดแล้ว จะเอาแต่พุทโธ เสื่อมก็ไม่ปล่อยพุทโธ ไม่เสื่อมก็ไม่ปล่อยพุทโธ เจริญแค่ไหนก็ไม่ปล่อยพุทโธที่นี่ เราเคยปล่อยไปแล้วต้องการอะไรไม่ได้ มีแต่พุทโธเท่านี้อยู่ทุกอิริยาบถไม่ให้เผลอ ปัดกวาดลานวัดลานวาทำอะไรมีแต่พุทโธนี้ติดแนบอยู่นี้ ทีนี้มันก็ค่อยสงบเข้า ๆ ก็ลงได้ที่นี่ จิตสงบลงแน่ว พอถอนขึ้นมาก็เอาอีก พุทโธอัดเข้าไป ๆ ไม่ถอย เอ้าจะเสื่อมไปไหนก็เสื่อม จนกระทั่งจิตขึ้นถึงขนาดที่เคยเป็นนะ เอ้ามันจะเสื่อมหรือไม่เสื่อมก็ปล่อยมัน ไม่เสียดายไม่เสียใจไม่ดีใจกับความเสื่อมความเจริญขึ้น แต่พุทโธจะไม่ยอมปล่อย

    จึงได้พุทโธไม่ถอย มันเลยไม่เสื่อมที่นี่ เราถึงรู้ว่า อ๋อ นี่เป็นเพราะจิตไปคาดหมายสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนต่างหากถึงได้เป็นอย่างนั้น ทีนี้พอตั้งหน้าทำงานกับพุทโธนี่ จิตไม่เผลอจากหลักที่จะให้เจริญ มันก็เจริญขึ้นมาได้ รู้แล้วที่นี่ หลังจากนั้นก็เอากันอย่างหนัก โห ไม่ทราบเป็นยังไงมันโมโหเจ้าของ เคียดแค้นให้เจ้าของ ถ้าหากว่าเป็นแบบฆราวาสหรือเป็นอะไร ถ้าลงได้เคียดแค้นให้คนถึงขนาดนั้น ยังไงก็ต้องฆ่าคนแน่ ๆ นี่ละความเคียดแค้นมันถึงขนาดนั้นนะ

    พอได้ที่แล้วเอากันหนักเลย เอาซิคราวนี้ เร่งกันใหญ่เลย เป็นก็เป็น ตายก็ตายไม่เสียดายชีวิตนี้ เพราะเคยทุกข์เพราะความเสื่อมของจิตนี้มาเป็นเวลานานแล้ว และเห็นประจักษ์เข็ดหลาบที่สุดแล้ว หากจะเสื่อมคราวนี้ขอให้ตายเสียเลยดีกว่า ตายไปพร้อมกันกับความเสื่อม ดีกว่าที่จะมายังเป็นมนุษย์แบกไฟสุมอยู่ภายในหัวใจนี้อีก

    จึงเป็นเหตุให้คิดถึงพระโคธิกะที่ท่านเจริญฌานแล้วเสื่อม ๆ ถึง ๕ หน หนที่ ๖ คิดว่าจะฆ่าตัวตาย เข้าได้ที่นี่ อันนี้เข้ากันกับเราได้เลย เพราะมันเสียใจขนาดหนัก แต่สุดท้ายพระโคธิกะท่านก็เป็นพระอรหันต์ ท่านพิจารณาปลงตกตอนจะฆ่าตัวเอง เลยปลงตกตอนนั้น ได้บรรลุพระอรหันต์ขึ้นมาเลย เราถึงได้เข็ด แต่นั้นมาจึงไม่เสื่อมเลยที่นี่ เสื่อมไม่ได้ ความระมัดระวังรักษาตัวเองนี้เป็นยอดของตัวเองพูดง่าย ๆ คือมันเข็ด ความเข็ดนั่นละพาให้ไม่นอนใจ

    ไปอยู่ที่ไหนไม่สะดวกในความเพียรหนีทันที ๆ ไม่เอาใครมาเป็นอารมณ์ ไม่เกรงอกเกรงใจใครทั้งนั้น นิมนต์ไปฉันที่ไหนไม่ไป ไม่มีใครมาช่วยเรา เวลาเราจมลงไปไม่เห็นมีใครช่วย เราเคยจมมาแล้วหนหนึ่งแล้วเป็นเวลาตั้งปี เอานี้เป็นหลักนะ ใครนิมนต์ฉันในบ้านในเรือนที่ไหนไม่ยอมรับเลย เอาถึงขนาดนั้น จากนั้นมันก็เรื่อย ๆ จิตแน่นเหมือนกับหินเทียว เรื่องสมาธินี่เต็มที่ถึง ๕ ปีเต็ม ๆ ๕ ปี ๖ ปีนี้ละ ๖ ปีไม่เต็มนัก แต่ ๕ ปีนี่เต็ม จิตเป็นสมาธิเข้าได้ทุกเวลา อยู่ที่ไหนมันเป็นสมาธิอยู่แล้ว จำเป็นอะไรเข้าหรือไม่เข้า มันเป็นเหมือนกับหินอยู่แล้ว คือความมั่นคงของจิตในฐานสมาธิ ชัดเจ้าของ

    จากนั้นถึงได้ถูกท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านอาจารย์มั่นนี้เขกเอาอย่างหนักถึงเรื่องการพิจารณา ถึงได้ออกพิจารณา พอออกพิจารณานี้ก็รวดเร็วเพราะสมาธิพร้อมแล้ว พอออกพิจารณาก็หมุนติ้ว ๆ เลย คราวนี้มันก็เหมือนกันอีก เป็นไฟไปเลยเรื่องสติปัญญา ทำความเพียรลืมหลับลืมนอน จนนอนไม่ได้ ๒ คืน ๓ คืนก็มีแทบเป็นแทบตาย อันนี้มันเป็นไปด้วยความเพลินในความเพียร ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กลางวันก็เดินจงกรม เลยไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ค้นพิจารณาตลอดเวลา แดดเปรี้ยง ๆ นี้ โอ้โห ไม่หนีไม่รู้สึกว่าร้อนอะไร ใจไม่ได้ส่งมาหาดินฟ้าอากาศ นั่นเรื่องความเพียรเป็นอย่างนั้นนะ

    เบื้องต้นมันลำบากให้เอาให้ดี เอาลงไป สู้นักสู้ ตายก็ตาย ตายเพื่อบูชาธรรมเป็นไรไป เรามีชีวิตอยู่ร้อยปีพันปีได้บูชากิเลสไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ตายด้วยการบูชาธรรมนี้เลิศ เอาตรงนี้เป็นหลักใจ เอาให้เห็นซิความจริงอยู่ภายในจิตทุกองค์ ว่านิพพาน ๆ จะอยู่ที่ไหน ขอให้จิตบริสุทธิ์เถอะรู้เองไม่ต้องไปถามใคร นิพพานคืออะไรก็รู้เอง อย่าไปตื่นเงา

    เอาลงในองค์สัจธรรม ตัวไหนเป็นตัวสำคัญมากในวงสัจธรรม ที่มันปิดอย่างมิดชิดมืดแปดทิศแปดด้าน คือตัวสมุทัย กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เรื่องของสมุทัยทั้งนั้น ความคิดความปรุงออกมาจากสิ่งนี้เป็นผู้ผลักดันให้คิดให้ปรุง จึงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นเส้นเป็นสายยาวเหยียดไปตั้งแต่เส้นสมุทัย แล้วก็มาพันเจ้าของ ๆ ให้เป็นฟืนเป็นไฟ ไม่เข็ดหลาบเหรอ ความทุกข์ร้อนเพราะกิเลสตัณหาเผาลนตัวเอง ความทุกข์เพราะประกอบความเพียรทุกข์เพียงร่างกาย ด้านใจมีความกระหยิ่มต่อธรรมนี้ เป็นนักสู้สู้มันไปเราอย่าไปถอย ถึงขั้นจะถึงหนองอ้อมันอ้อจนได้ คำว่าหนองอ้อก็หมายถึงว่า อ้อภายในจิตนี้เองจะอ้อที่ไหน อ้ออย่างนี้เหรอ ๆ ความจริงแต่ละขั้น ๆ แสดง อ้ออย่างนี้เหรอ นั่นมันรู้เอง ชัดเอง ๆ

    นี่พูดถึงเรื่องที่ว่าจิตเสื่อม ๆ นี่ก็เหมือนกัน พอเวลามันถึงขั้นมันปั๊บแล้ว เอ้ออย่างนี้ซิไม่เสื่อม รู้เลยทันทีนะ ไม่มีใครบอกก็ตามรู้ชัด ตอนที่จะรู้ก็เอากันขนาด..เอากันอย่างนั่งหามรุ่งหามค่ำนี่แหละ ตอนจะได้หลักเกณฑ์อย่างประจักษ์นะ อ้ออย่างนี้เหรอไม่เสื่อม นั่นแน่จริง ๆ มันรู้ชัด ทางนี้ก็ปีนขึ้นไป ๆ แล้วตกลงมา ปีนไปตกลง ปีนไปตกลงมา คือมันเสื่อม มันเจริญอยู่ตามขั้นของมัน ขั้นหยาบก็เสื่อมตามความหยาบของขั้น ขั้นละเอียดก็เสื่อมเจริญ ๆ ตามขั้นละเอียดนั่นแหละ ของธรรมไม่ใช่เสื่อมแบบขั้นต่ำ หากรู้ สติปัญญาทำไมจะไม่รู้ มันไม่ถนัดเดี๋ยวก็เจริญขึ้นเสื่อมลง ๆ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงกันไปกันมา พอได้ที่ปั๊บติดกึ๊ก เออต้องอย่างนี้ แน่ะมันเป็นอย่างนั้นนะ แต่อย่ามาคาด ที่พูดอย่างนี้ให้เป็นหลักธรรมชาติของตัวเอง อย่าไปคาดไปหมาย อย่าคาดหมายเป็นอันขาด ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ธรรมคาดหมาย เป็นผลของการปฏิบัติต่างหาก ให้เร่งทางด้านปฏิบัติ

    การพูดว่าเอ้อไม่เสื่อมนี้เป็นผล อย่ายึดอันนี้ไปเป็นอารมณ์จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินของตน งานที่ควรจะทำให้เป็นไปเพื่อขั้นนั้น ๆ จะไปไม่รอด ต้องได้บอกไว้เสมอ นิสัยของผู้ใดเป็นยังไงก็ตาม เรื่องสมาธิความสงบของจิต สงบยังไงให้รู้ในตัวเอง อย่าไปยึดเอาของใครมาเป็นสมบัติของตัว อย่าไปเอาอย่างใครทั้งหมด ลงเราได้ทำองค์สมาธิโดยถูกต้อง เช่นเรากำหนดนี้ด้วยสติในธรรมบทใดที่เหมาะสมกับเราแล้ว เราพิจารณาอย่างไรที่ตรงกับจิตของเราแล้ว ให้ดำเนินอย่างนั้นไป ผลเกิดขึ้นมาอย่างไร เราไม่ต้องไปเอาเรื่องของคนอื่นเข้ามาเป็นสมบัติของตัว จะมาเป็นการทำลายนิสัยตัวเองแล้วจะไม่ได้ผล

    ท่านอาจารย์มั่นนี่ไม่มีใครสอนท่าน ท่านบึกบึนโดยลำพังท่าน แทบล้มแทบตาย ทุกข์มาก ท่านทุกข์มากกว่าเราเป็นไหน ๆ เพราะทางไม่เคยเดิน ไม่มีใครบอกใครสอน เรานี่มีครูบาอาจารย์ท่านคอยแนะนำสั่งสอน ท่านอาจารย์มีท่านอาจารย์มั่นเป็นต้น ท่านอธิบายวิธี...รู้เรื่องรู้ราว ท่านเองไม่มีใครอธิบาย ท่านก็อุตส่าห์บึกบึนท่านจนผ่านพ้นไปได้ นี่เราก็มีผู้แนะนำสั่งสอนอยู่แล้ว มีแต่หน้าที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น

    เอาให้จริงให้จัง ฝึกหัดนิสัยให้จริงให้จังอย่าเหลาะแหละ พระไม่ใช่นิสัยเหลาะแหละ เพราะพระเป็นแนวหน้า ถ้าพูดถึงการรบก็ออกแนวหน้า เหลาะแหละอยู่ได้เหรอ เอาให้จริงให้จัง อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็นความจริง มีแต่เราสอนคนเดียวมันเหมือนกับหาเรื่องมาโกหกหมู่เพื่อนเล่นเปล่า ๆ ให้เห็นความจริงนะ อยู่ในใจนี่แท้ ๆ ไม่อยู่ที่ไหน ขอให้ความเพียรให้พอเถอะจะเห็นเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าสมาธิ ไม่ว่าขั้นปัญญา จะฉลาดแหลมคมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงหมุนตัวไปเอง ถ้าลงขนาดนั้นแล้วแหลมคมแน่ ๆ ไม่สงสัย อะไรผ่านมาพับรู้ทันปั๊บ ๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจให้รู้ก็รู้ เพราะสังขารความปรุงขึ้นภายในจิตใจก็เท่ากับเตือนสติปัญญา ปลุกสติปัญญาให้ตื่นในระยะเดียวกัน

    ปรกติสติปัญญาก็ไม่หลับอยู่แล้ว ตื่นเป็น ชาคระ ผู้ตื่นอยู่ ตื่นอยู่ในทางมรรค ท่านว่ามหาสติมหาปัญญาเรียกว่าชาคระ ความตื่นอยู่ในทางมรรค

    พอถึงขั้นวิสุทธิจิตแล้วเป็น ชาคระ โดยหลักธรรมชาติ ตื่นอยู่ตลอดเวลา ความหลับก็หลับไป เรื่องธาตุเรื่องขันธ์หลับไป เรื่องจิตบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา นั้นแลท่านเรียกว่าตื่นตลอดเวลา ไม่มีกาลใดที่กิเลสจะเข้าแทรกแซงได้ พอให้เห็นเป็นเงาของสมมุติแม้นิดหนึ่งภายในจิตดวงที่บริสุทธิ์นั้นเลย นั่นแหละธรรมชาติอันนั้นแล ท่านเรียกว่าชาครบุคคล นี่เป็นผล ชาครจิต หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์แล้ว ตื่นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ของตนตลอดเวลา ไม่คุ้นกับอะไรไม่ติดกับอะไร ไม่นอนใจกับสิ่งใดทั้งนั้นโดยหลักธรรมชาติ เราไม่ต้องไปบังคับว่าไม่ให้คุ้นสิ่งนั้นไม่ให้คุ้นสิ่งนี้ หากเป็นเองภายในจิต

    ส่วนชาครบุคคลประเภทมรรค ก็คือว่าดำเนินอรหัตมรรค มีสติอยู่ตลอดเวลาไม่มีพลั้งมีเผลอ หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่นั้นโดยหลักธรรมชาติ นี้เรียกว่าชาคระในทางมรรค พอชาคระนี้เต็มภูมิแล้วก็เป็นชาคระฝ่ายผล เป็นความบริสุทธิ์ นั่นเป็นชาคระโดยหลักธรรมชาติ นั้นละที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้ตื่น ตื่นอยู่ ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ด้วยสติ ท่านบอกอีกสติ ถ้าไม่มีสติก็ไม่เรียกว่าตื่น ชาคริยบุคคล ผู้ตื่นในทางความเพียรด้วยสติ

    จิตเป็นของฝึกได้ ฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาไม่ได้ สาวกเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ แล้วท่านสอนมาทำไม ท่านล้วนแล้วแต่ท่านฝึกแล้วทั้งนั้น อุบายวิธีต่าง ๆ เป็นอุบายที่ท่านได้ทรงฝึกพระองค์มาพอแล้วจึงได้มาฝึกพวกเรา จิตเป็นของฝึกได้ จิตเป็นสมบัติสองเจ้าของ เวลานี้เราจะแย่งเอามาเป็นสมบัติของเจ้าของคนเดียว ในขณะเดียวกันที่ความเพียรของเรายังไม่สามารถ มันเป็นสมบัติของกิเลสอยู่โดยตรง เวลานี้กำลังยื้อแย่งแข่งดีกัน สู้กันด้วยความพากเพียร ด้วยสติปัญญา

    ใครเฉลียวฉลาดก็ได้จิตดวงนี้มาครอง เมื่อได้จิตดวงนี้มาครองก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ กิเลสเอาไปครองมีแต่สกปรกโสมมทั้งนั้น แสดงอาการออกมาในกิริยาทางจิตก็ดี แสดงออกมาทางวาจาทางกายก็ดี ล้วนแล้วแต่ออกมาจากความสกปรกโสมมของกิเลสทั้งนั้น นั่นกิเลสเป็นเจ้าของของจิต จิตเป็นสมบัติสองเจ้าของ เพราะฉะนั้นจึงแยกแยะอันนี้ ต่อสู้กันเพื่อแก้ถอดถอนกิเลสออกหมด ให้จิตนี้มาเป็นสมบัติของธรรม เป็นสมบัติของเราแต่ผู้เดียว นั้นแหละเรียกว่าถึงแดนอันเกษม
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    จิต เจตสิก รูป นิพพาน
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    ... " นามขันธ์ เป็นธรรมจำเป็นที่ต้องพิจารณา ให้รู้แจ้งเห็นจริงทั้งที่ปรากฏขึ้นตั้งอยู่และดับไป โดยมีอนัตตาธรรมเป็นที่รวมลง คือพิจารณาลงในความว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล หญิง ชาย เรา เขา
    ไม่มีคำว่าสัตว์ บุคคล เป็นต้น เข้าไปแทรกสิงอยู่ในนามธรรมเหล่านั้นเลย

    ...การเห็นธรรมเหล่านี้ ต้องเห็นด้วยปัญญาหยั่งทราบตามหลักความจริง จริงๆ ไม่เพียงเห็นด้วยความคาดหมายหรือคาดคะเนเดาเอาตามนิสัยมนุษย์ ที่ชอบดั้นเดามาประจำสันดาน "

    จากประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล
    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
    วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

    h3U-SkgdEsd5DjtVXdUDsMz-2wfUWHIedaIdaaSpsCRa&_nc_ohc=hAWqBuYeAYwAX9_FXGC&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
     
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    อรหัตตมรรคเกิดขึ้นอย่างไร
    ****************
    “สัมมาทิฏฐิ ซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรมเท่าไรสนับสนุน”

    “สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการสนับสนุน คือ
    ๑. มีศีล สนับสนุน
    ๒. มีสุตะ สนับสนุน
    ๓. มีสากัจฉา สนับสนุน
    ๔. มีสมถะ สนับสนุน
    ๕. มีวิปัสสนา สนับสนุน

    สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการนี้แลสนับสนุน”

    ข้อความบางตอนใน มหาเวทัลลสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒
    http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=43

    คำว่า "อัน...ช่วยเกื้อหนุนแล้ว" คือ ได้รับอุปการะแล้ว.

    คำว่า "ความเห็นที่ถูกต้อง" คือ ความเห็นที่ถูกต้องในอรหัตตมรรค (ทางแห่งความเป็นพระอรหันต์) ความเห็นที่ถูกต้องในอรหัตตมรรคนั้นเกิดในขณะแห่งผล.

    ที่ชื่อว่า มีความเห็นหลุดพ้น เพราะจิตเป็นผล เพราะความหลุดพ้นเพราะปฏิบัติทางจิตเป็นผลของท่าน.

    ที่ชื่อว่ามีผลคือสิ่งที่ไหลออกมาจากความหลุดพ้นในทางจิตใจ เพราะผลคือสิ่งที่ไหลออกมากล่าวคือความหลุดพ้นในทางจิตใจของท่านมีอยู่.

    แม้ในบทที่สองก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ. และพึงทราบว่าในผลเหล่านี้ผลที่ ๔ ชื่อว่าความหลุดพ้น เพราะความรู้ชัด สิ่งที่เหลือเป็นความหลุดพ้นเพราะจิตใจ.

    ในคำเป็นต้นว่า "อันศีลเกื้อหนุนแล้ว" ศีลอันมีความบริสุทธิ์ ๔ อย่างชื่อว่าศีล.

    คำว่า "การฟัง" คือ การฟังเรื่องราวอันเป็นที่สบาย (ถูกอารมณ์).

    คำว่า "สากัจฉา" ได้แก่ ถ้อยคำที่ตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐาน.

    คำว่า "สมถะ (ความสงบ)" ได้แก่ สมาบัติ ๘ ที่มีวิปัสสนารองรับ.

    คำว่า "วิปัสสนา (ความเห็นแจ่มแจ้ง)" คือ การตามเห็น (อนุปัสสนา) ๗ อย่าง.

    ก็แหละ พระอรหัตตมรรคย่อมเกิดขึ้นแล้วให้ผลแก่ผู้ที่กำลังบำเพ็ญศีลอันมีความหมดจดสี่อย่าง
    ฟังเรื่องราวอันเป็นที่สบาย
    ตัดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในกัมมัฏฐาน
    ทำงานในสมาบัติแปดที่มีวิปัสสนารองรับ
    อบรมการตามพิจารณาเห็น ๗ อย่างอยู่.
    ……….
    ข้อความบางตอนในอรรถกถามหาเวทัลลสูตร
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php…

    rbd2hzgbscd2jwswxqun0u9byqiib5zmmnenildu-_nc_ohc-uyjiirmbdbkax_mvjbc-_nc_ht-scontent-fcnx3-1-jpg.jpg

    **********************************
    หมายเหตุ
    อนุปัสนาเจ็ดอย่าง

    1. อนิจจานุปัสนา
    2. ทุกขานุปัสนา
    3. อนัตตานุปัสนา
    4. นิพพิทานุปัสนา
    5. วิราคานุปัสนา
    6. นิโรธานุปัสนา
    7. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    อรหัตมรรคถอนขึ้นได้ซึ่งมานะว่าเรามี
    **********
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าปราศจากอัสมิมานะ และไม่พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นนี้’ แต่ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัยก็ยังครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่’

    ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวตักเตือนเธอว่า ‘อย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย ผู้มีอายุ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสอย่างนี้เลย

    ผู้มีอายุ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุปราศจากอัสมิมานะแล้ว และไม่พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นนี้’ แต่ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัยก็ยังครอบงำจิตของภิกษุนั้นอยู่’ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสภาวะที่ถอนอัสมิมานะนี้เป็นธาตุที่สลัดลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัย’
    …………
    ข้อความบางตอนใน นิสสารณียสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒
    http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=264

    บทว่า อสฺมีติ มานสมุคฺฆาโต ได้แก่ อรหัตมรรค. อธิบายว่า เมื่อเห็นพระนิพพานด้วยอรหัตมรรคแล้ว อัสมิมานะย่อมไม่มีอีก เพราะฉะนั้น อรหัตมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ถอนขึ้นได้ซึ่งมานะว่าเรามี.
    ........
    ข้อความบางตอนใน อรรถกถาเมตตาสูตร
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=284

    หมายเหตุ ถ้ามีใครกล่าวว่า ข้าพเจ้าปราศจากความเข้าใจว่าเป็นเรา ไม่เห็นว่า "เราเป็นนี้" "นี้เป็นเรา" แต่ยังสงสัยอยู่ แสดงว่าผู้นั้นกำลังพยากรณ์เรื่องไม่จริงและกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค

    oEZ-NcpbYoXbIOL-z18IlLn38hNFTcpA7oQX1S4dEzlm&_nc_ohc=3OvK5IqW52AAX_uxMdm&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
     
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,789
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,141
    ค่าพลัง:
    +70,535
    ?temp_hash=7715f6bb9a86c040e4f2ffe36be4d411.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...