อดีตที่ผ่านพ้น ตอนที่ ๔ : ครูกรรมฐานคนแรก

ในห้อง 'อดีตที่ผ่านพ้น' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 22 มิถุนายน 2019.

  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    4.jpg

    อดีตที่ผ่านพ้น ตอนที่ ๔ : ครูกรรมฐานคนแรก

    ข้าฯ ขอนอบน้อมคุณ...แด่ท่านครูผู้อารี
    กรุณาและปรานี...อุตส่าห์สอนทุกทุกวัน
    ยังไม่รู้ก็ได้รู้...ส่วนของครูสอนทั้งนั้น
    เนื้อความทุกสิ่งสรรพ์...ดีชั่วชี้ให้ชัดเจน
    จิตมากด้วยเอ็นดู...อยากให้รู้เหมือนแกล้งเกณฑ์
    รักไม่ลำเอียงเอน...หวังให้แหลมฉลาดคม
    เดิมมืดไม่รู้แน่...เหมือนเข้าถ้ำเที่ยวคลำงม
    สงสัยและเซอะซม...กลับสว่างแลเห็นจริง
    คุณส่วนนี้ควรไหว้...ยกขึ้นไว้ในที่ยิ่ง
    เพราะเราพึ่งท่านจริง...จึงได้รู้วิชาชาญ


    บทสรรเสริญคุณครูบาอาจารย์นี้ ท่านจางวางอยู่ เหล่าวัตร เป็นผู้ประพันธ์ ลิขสิทธิ์เป็นของหลวงปู่หลุย (พระโศภณสีลคุณ) วัดเทพศิรินทราวาส หลวงปู่มหาอำพันเมตตาท่องให้อาตมาฟังทุกคืน...

    คำว่า "ครู" มาจากภาษาบาลีว่า "ครุ" แปลตรงตัวว่า "หนัก" เพราะหน้าที่พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ ที่จะหล่อหลอมเยาวชนออกมาให้ได้ดีนั้น เป็นภาระที่หนักหนาสาหัสจริง ๆ ต้องเป็นทั้งพ่อแม่และครูอาจารย์ในเวลาเดียวกัน...

    สมัยอาตมาเรียนชั้นประถมอยู่นั้น ครูท่านเข้มงวดทั้งความรู้ และความประพฤติ ไม่ยอมปล่อยปละละวางเด็ดขาด เพื่อนรุ่นพี่ และรุ่นเดียวกันถูกปรับตกซ้ำชั้นคนละหลาย ๆ ปี ถ้าไม่ดีจริงไม่มีทางได้เลื่อนชั้นให้เสียชื่อครูหรอก... ที่เรียนซ้ำชั้นจนโตเป็นหนุ่มเป็นสาวไปเลยก็มาก ส่วนใหญ่พวกนี้มักจะเกเร จึงต้องมีไม้กว้างสามนิ้วยาวสองเมตรไว้คุมประพฤติ ฟาดแต่ละทีแทบจะลอยตามไม้ไปเลย สมัยนี้ทำอย่างนั้นคงถูกย้ายไปดาวอังคารโน่น...!

    ครูบางท่านตีนักเรียนมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นลูก มาจนถึงรุ่นหลาน ดังนั้น นักเรียนที่จะมาขึ้นเสียงกับครูจึงไม่มี ก็พ่อยังถูกครูตี ลูกมันจะดีกว่าพ่อได้อย่างไร มาฟ้องพ่อว่าถูกตีมีหวังโดนฟาดซ้ำอีกรอบ...

    สมัยนั้นจบป.๔ มา ก็มีการคัดตัวผู้ที่ต้องการเป็นครูเข้าสอนต่อ โดยได้รับการบรรจุเลย จึงไม่ต้องสงสัยว่า การเรียนนั้นโหดขนาดไหน ความรู้ถ้าไม่แน่นจริงจะออกไปเป็นครูเขาได้อย่างไร...

    อาตมาเองมีครูจบป.๔ หลายท่าน ขอเอ่ยนามไว้เป็นที่เคารพบูชาสัก ๒ ท่านคือ ครูเสงี่ยม หรั่งนิ่ม และ ครูพิส ถิ่นญวน จิตวิทยาในการสอนเด็กของท่านนั้น ผู้ที่จบครุศาสตร์บัณฑิตในสมัยนี้ เทียบไม่ได้แม้หนึ่งในหมื่น...?

    ขอกล่าวถึงครูกรรมฐานคนแรกของอาตมาเสียที ตอนนั้นอาตมาเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน วิชาที่เป็นยาขมหม้อใหญ่ของทุกคนคือ คณิตศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเลขคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ ไซคลิกออเดอร์ ฯลฯ....

    หลังจากถอดสมการสิบหกชั้น จนหน้ามืดตาลายกันทั่วหน้าแล้ว อาจารย์ณรงค์เดช บุญมี ก็ถามทุกคนว่า "นักเรียน มีใครอยากรู้โดยไม่ต้องเรียนบ้าง ?" ทุกคนยกมือกันสุดแขนเลย...

    ท่านอาจารย์เลยอธิบายวิธีรู้โดยไม่ต้องเรียน กลายเป็นว่าท่านสอนกรรมฐานแบบธรรมกาย ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ และอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ แบบผู้รู้จริง โดยบอกว่า ถ้าถึงธรรมกายแล้ว อยากจะรู้อะไรให้ถาม "พระ" ท่านจะบอกได้ทุกอย่าง...

    ในยุคนั้น...ใครปฏิบัติกรรมฐานมักถูกกล่าวหาว่า "บ้า" ดังนั้นบรรดาครู และนักเรียนทั้งหมด จึงลงความเห็นเป็นเสียงเดียวว่า อาจารย์ณรงค์เดช “บ้า” แล้ว ยกเว้นอาตมาที่ไม่ได้คิดแบบนั้น...!

    คำสอนของท่านอาจารย์เหมือนกับจุดไฟในกายอาตมาให้สว่างรุ่งโรจน์ขึ้น เหมือนม้าคะนองที่มีคนเปิดคอกให้โลดทะยานไป จิตของอาตมาได้รับความมหัศจรรย์ทางธรรมที่ใฝ่หามานานในคราวนี้เอง...!

    ท่านอาจารย์ณรงค์เดช บุญมี ประกอบด้วยปฏิปทาของผู้เสียสละอย่างเปี่ยมล้น ของทุกอย่างท่านสละให้แก่ผู้ต้องการโดยไม่ลังเล บ้านพักครูที่สมัยนั้นหายากกว่าทอง ท่านก็ยกให้เพื่อนครูไปอาศัยแทน...

    เงินเดือนของท่านจะแลกเป็นเหรียญบาทใส่พานไว้ นักเรียนคนไหนต้องการเงินซื้อข้าว ซื้อขนมไปหยิบเอาได้เลย...

    ถ้านึกสนุกขึ้นมาท่านจะบอกอดีตชาติของนักเรียนแต่ละคนว่าเป็นใคร มาจากไหน เกิดมาเพื่อทำหน้าที่อะไร...?

    ปัจจุบัน หากท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ คงจะชราภาพมากแล้ว ขอท่านอาจารย์โปรดทราบ...ศิษย์คนนี้ยังระลึกถึงอยู่มิรู้วาย...

    ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓
    พระใบฎีกาเล็ก สุธมฺมปญฺโญ

    บันทึกเพิ่มเติม :
    ได้ทราบข่าวมาจากคุณวัลษา บัวโต รุ่นพี่ที่เรียนโรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสนมาด้วยกันว่า คุณครูณรงค์เดช บุญมี ได้บวชหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ที่วัดปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จากนั้นก็ออกธุดงค์ไป ยังไม่มีข่าวคราวใด ๆ จนถึงปัจจุบันนี้

    ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ

    ที่มา www.watthakhanun.com
    ภาพประกอบโดย สำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี
    #๖๐ปีพระครูวิลาศกาญจนธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...